PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562

ผ่าทางรอด 'วิกฤติฝุ่นพิษ'

ผ่าทางรอด 'วิกฤติฝุ่นพิษ'


    

      ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปกคลุมทั่วเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา   ชาวกรุงเทพฯ ที่เดินทางออกจากบ้านต่างสวมหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 โดยหลายพื้นที่ระดับฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐานจากระดับที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ที่ 25 ไมโครกรัม ผู้คนกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฝุ่นพิษปกคลุมจนทัศนวิสัยของเมืองทั้งเมืองเป็นสีเทา กลายเป็นเมืองในหมอก (ฝุ่น) ซึ่งแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง
      สำหรับมลพิษทางอากาศ PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดทั้งจากการเผาไหม้ยานพาหนะ การเผาวัสดุทางการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม ฝุ่นจิ๋วนี้สามารถทะลุลวงเข้าไปถึงถุงลมในปอดและเข้าสู่กระแสโลหิตได้ ส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจและโรคปอดต่างๆ ถ้าได้รับปริมาณมากหรือสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นตัวการก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ
      หน่วยงานรัฐได้ตอบสนองต่อความหวาดวิตกของประชาชน ด้วยการออกมาตรการระยะสั้นในช่วงวิกฤติดังกล่าว เพิ่มความเข้มข้นของงานป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว   ทั้งการสั่งเพิ่มด่านตรวจจับควันดำไม่ว่ารถเล็กหรือรถใหญ่  ประกาศห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาดตลอด 2 เดือนทั้งกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ห้ามจอดรถบนถนนสายหลักตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มีพื้นผิวจราจรรองรับรถที่สัญจร ขสมก.ได้ปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันรถเมล์จำนวน 800 คัน ใช้บี 20 แทน บี 7 ลดฝุ่นลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ด้านกรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็ติดตามสภาพอากาศ วิเคราะห์ หากฟ้าอากาศเอื้อหน่วยเคลื่อนที่เร็วเริ่มปฏิบัติการทำฝนเทียมให้กรุงเทพฯ ทันที

 
 ภาครัฐฉีดพ่นน้ำขึ้นสู่ท้องฟ้าแก้ปัญหาลดระดับฝุ่น นอกจากการทำฝนเทียม  
     
     ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะเผชิญสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จากนี้ไปอีก 1-2 เดือน คนกรุงจะต้องทนอยู่ในสภาพอากาศปิดเช่นนี้  
      ปัญหามลพิษทางอากาศถือว่าก่อปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ถ้าเทียบกับเชียงใหม่และภาคเหนืออีกหลายจังหวัดล้วนเคยเจอกับมลภาวะจากฝุ่นควันมาแล้วทั้งสิ้น แต่ความแตกต่างอยู่ที่ฝุ่นควันภาคเหนือ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ฝุ่นจิ๋ว หรือมีขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน เหมือนในเขตกรุงเทพฯ ที่ฝุ่นระดับ PM2.5 เกินค่าความปลอดภัย เนื่องจากมีการเผาไหม้จากรถยนตร์เครื่องดีเซลหนาแน่นมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัด   และเมื่อคนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับสภาพมลภาวะแย่เป็นครั้งแรก จึงอยู่ในสภาพตื่นตระหนก เกิดคำถามมากมาย  เรียกร้องให้รัฐหามาตรการรับมือและแนวทางแก้ไข แก้ปัญหาที่ชัดเจนตรงจุด อีกทั้งยังตั้งประเด็นไปถึงอนาคตด้วยว่า คนกรุงจะต้องสำลักควันพิษอีกหรือไม่ รวมทั้ง ประเทศไทยตั้งเป้าควบคุมคุณภาพอากาศอย่างไร
      รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขนส่งเป็นสาเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 ที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหา  จากการที่สภาพอากาศปิด ฝุ่นจิ๋วไม่สามารถระบายออกไปได้ ปัญหานี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถ้าต้นเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะมลพิษจากเครื่องยนต์รถที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ รถเก่าที่ไม่บำรุงรักษา รถดีเซล ในอียูมีหลายประเทศสนับสนุนห้ามใช้รถดีเซลเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศ ระยะเร่งด่วนการแก้ปัญหาคือ การลดการเดินทาง ลดใช้ยานพาหนะ ส่งเสริมการใช้ระบบรถรางทั้งบีทีเอส เอ็มอาร์ที และจักรยาน ส่วนรถโดยสารเก่าลดจำนวนเที่ยวลงเพื่อลดฝุ่นควันให้ออกจากวิกฤติไปได้ก่อน
      "ในระยะยาวต้องยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิง เพราะจะช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้ชัดเจน อีกแนวทางต้องส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือเอ็นวี อย่างเป็นระบบ ส่งเสริมพัฒนาเมืองให้คนใช้จักรยานและเดินมากขึ้น เพื่อจะไม่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งจะต้องสร้างทางเดินที่มีหลังคา ให้การเดินร่มรื่นกันแดดกันฝนยิ่งขึ้น ระยะกลาง ให้เข้มงวดเรื่องตรวจสภาพรถยนต์ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงส่งเสริมให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเป็นระบบ รัฐต้องเชื่อมตั้งแต่รถไฟฟ้า รถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ที่สำคัญคือ ต้องปลอดภัย ตรงเวลา ปรับปรุงรถเมล์ให้ได้มาตรฐาน รถเมล์เก่าควันดำต้องห้ามวิ่งบริการ ส่วนมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องนำรถชัตเตอร์บัสพลังงานไฟฟ้ามาบริการทั้งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนที่สัญจรในมหาวิทยาลัย ในส่วนของจุฬาฯ ก็ทำได้แล้ว" รศ.ดร.มาโนช กล่าว


ปรากฏการณ์ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 โจมตีกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปกคลุมจนทำให้ทั้งเมืองกลายเป็น "เมืองในหมอก"
      ด้าน รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวะ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นพิษมาจาก 2 ปัจจัย คือ มลพิษจากแหล่งกำเนิดและวิกฤติสภาพอากาศปิด ซึ่งปัจจัยหลังเราทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้สภาพอากาศดีขึ้นเท่านั้น เหตุนี้ หน่วยงานรัฐและกรุงเทพมหานครได้ออกมาตรการแก้ปัญหาที่แหล่งกำเนิด อย่างไรก็ตาม การลดมลพิษอากาศต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาไทยทำเรื่องฝุ่น PM 10 ใช้เวลา 10-20 ปี ถึงจะลดระดับฝุ่นประเภทนี้ได้ ขณะที่การตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ในประเทศไทย เพิ่งถูกผนวกเมื่อ ต.ค.61 ทำให้ปีที่แล้วมีการสะท้อนปัญหาหมอกควันกรุงเทพฯ และปีนี้วิกฤติอากาศทำให้ชาวกรุงเทพฯ ตื่นตัวมากยิ่งขึ้น หลายหน่วยงานก็วางแนวทาง เปลี่ยนรถเก่า ปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน รวมถึงกรมโรงงานจัดทำร่างกฎหมายปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงในโรงงาน โดยจะกดค่าเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษให้ลดลง ซึ่งถ้ากฎหมายออกมามีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม
      "รถยนต์ 10 ล้านคันที่วิ่งในกรุงเทพฯ สร้างมลพิษทางอากาศมหาศาล ทุกคนเป็นแหล่งกำเนิด ก่อเกิดมลพิษ เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องร่วมมือซึ่งกันและกัน ไม่รวมหมอกควันที่ข้ามพรมแดนกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาค ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน อย่าโทษใคร แต่คนกรุงต้องช่วยลดควันจะดีกว่าและเร็วกว่ารอให้เพื่อนบ้านลดฝุ่นละอองอย่างแน่นอน" รศ.ดร.ศิริมากล่าว
      สำหรับมาตรการฉีดพ่นน้ำในอากาศเพื่อลดฝุ่นละออง ซึ่ง กทม.ดำเนินการทุกวันในช่วงวิกฤติ เธอเห็นว่า ฝุ่น PM 2.5 บางกว่าเส้นผมของมนุษย์ 20 เท่า การฉีดพ่นช่วยลดฝุ่นขนาดใหญ่ได้ส่วนหนึ่ง แต่ฝุ่นละอองจิ๋วจะไม่หายไป ถ้าจะให้ค่าฝุ่นลงตามค่ามาตรฐานของ คพ. คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรได้ กทม.มี 50 เขต พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร ต้องใช้เครื่องฉีดพ่นราว 3 หมื่นตัว ฝุ่นละอองถึงจะลง
      "เรื่องคุณภาพอากาศยังยืนยันว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประกาศตัวเลขค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นตัวแทนเรื่องมลพิษหรือสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกที่จะอยู่บนความเสี่ยง จะใส่หน้ากากหรือไม่ใส่ หรือจะอยู่ให้ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดมลพิษ  ซึ่งการตัดสินใจรับมือปัญหาต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นสำคัญ" นักวิชาการจุฬาฯ ฝากถึงรัฐ
ประชาชนที่สัญจรเดินทาง ใส่หน้ากากอนามัยเยอะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
      แน่นอนว่า ฝุ่นพิษเวลานี้กว่าครึ่งมาจากควันดำรถ แต่แหล่งกำเนิดรองลงมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลร้ายของการพัฒนา เหตุนี้มีนักวิชาการจี้ให้ตรวจสอบอุตสาหกรรมรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล
      รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ กล่าวประเด็นนี้ว่า มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รอบกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แม้จะปล่อยมลพิษต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็มีฝุ่น หน่วยงานรัฐต้องติดตามมอนิเตอร์ระบบดักจับฝุ่นและระบบวัดการปลดปล่อยมลพิษให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ  แต่ที่น่ากังวลเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก มีข้อสงสัยว่า ระบบดักจับฝุ่นได้มาตรฐานหรือไม่ แล้วที่ไม่ฟันธงว่าเป็นตัวการฝุ่นละออง มีโรงงานอุตสาหกรรมใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับ Boiler ที่กระจายตัวในภาคกลางและกรุงเทพฯ      แต่มีแนวโน้มใกล้เคียงกับพื้นที่การกระจายตัวของฝุ่น PM 2.5
      ปัญหาฝุ่นละอองในทัศนะของ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่คนกำลังประสบฝุ่นควันคลุมเมือง เพราะเมืองใหญ่อื่นๆ ทางซีกโลกเหนือเผชิญสภาพปัญหานี้เช่นกัน กรุงโซลเกาหลีมลพิษพุ่งสูง รัฐบาลก็ออกมาตรการฉุกเฉินรับมือ ซึ่งแต่ละเมืองจะใช้มาตรการควมคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดเข้มข้นต่างกัน การเพิ่มความเข้มข้นแก้ปัญหาฝุ่นกระทบผู้ใช้รถในการเดินทาง แต่ต้องทำ เพราะลดมลพิษจากเครื่องยนต์ที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ ถ้าจะช่วยให้อากาศในเมืองสะอาดมากขึ้นทุกภาคส่วนต้องทำ จะลดฝุ่นได้มาก การฉีดพ่นน้ำหรือทำฝนเทียมบรรเทาได้เพียง 10% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ช่วงสถานการณ์หมอกควันห่มกรุง ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้น แสบ เคือง แดง ผื่นคัน จาม ไอ จนถึงไอหอบ  หากรับควันพิษสะสมจะป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด หลอดลมเรื้อรัง เส้นสมองตีบ ขอให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะช่วงเย็นถึงเที่ยงคืน เพราะอากาศปิด ปัญหาฝุ่นจะมากขึ้น
      "ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 เกิดจากรถติดขัดและปล่อยมลพิษมาก แนวทางต้องทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น ซึ่งมีข้อเสนอจากนักวิชาการให้ใช้มาตรการรถวิ่งเข้าเมืองได้ตามป้ายทะเบียนเลขคู่เลขคี่ เพื่อลดจำนวนรถเข้าเมือง แต่ถ้าใช้มาตรการนี้ทันทีจะมีคนต่อต้าน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบชีวิตประจำวันประชาชน ซึ่งต้องพยายามสร้างความเข้าใจ ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ต้องร่วมมือกันคนละเล็กละน้อย อีกแนวทางหนึ่งซึ่งแก้ปัญหาได้ทันทีคือ ขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน โดยให้ข้าราชการ พนักงาน สลับกันทำงานที่บ้าน Work at home เพราะลักษณะงานบางอย่างสามารถทำที่บ้านได้ ส่งงานผ่านอินเทอร์เน็ต ลดการเดินทาง แต่งานบริการประชาชนต้องมา แนวทางนี้รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล" ดร.สุพัฒน์เสนอทางออกของปัญหา
      ขณะที่ ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปีหน้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเผชิญปัญหาฝุ่นละอองอย่างแน่นอน แต่จะหนักหรือเบาขึ้นกับสภาพอากาศ ณ ช่วงเวลานั้น ปีที่แล้วก็ประชุมหามาตรการป้องกัน PM 2.5 ปีนี้ก็ระดมทุกหน่วยงานประชุมวางแนวทางแก้ปัญหา จะฝ่าวิกฤติฝุ่นจิ๋วได้ ต้องสื่อสารข้อเท็จจริง ภาวะวิกฤติคุณภาพอากาศมาจากการเผาไหม้รถดีเซล รถเก่า รถที่ก่อควันดำเหล่านี้ต้องเอาออกจากระบบ ต้องไม่อนุญาตให้วิ่งในเมืองหลวง
      "รถดีเซลเป็นพระเอกของเรื่องนี้ ต้องปรับเปลี่ยน มีมาตรการกวดขันอย่างเข้มงวด รวมทั้งส่งเสริมการใช้น้ำมันบี 20 เพราะการเผาไหม้เครื่องยนต์สมบูรณ์ ช่วยลดฝุ่นละออง แต่สุดท้ายโลกนี้ไม่มีเทคโนโลยีใดที่มีประสิทธิภาพ 100% ทุกเชื้อเพลิงมีข้อจุดอ่อนและข้อบกพร่อง สิ่งที่ดีที่สุดคือ การลดใช้รถยนต์ ฝุ่นทุกเม็ดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ฉะนั้น ทุกคนต้องมีส่วนร่วมลดฝุ่นควัน รัฐต้องส่งเสริมคนเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะให้ได้ มีทางเลือกให้คนกรุงเดินทางแทนขับรถออกจากบ้าน ควบคู่กับการจัดทำโซนนิ่ง มีผังเมืองชัดเจนในการพัฒนา นักวิชาการบางคนเสนอให้ใช้ยาแรงเลยแก้ปัญหาฝุ่นเหมือนต่างประเทศ แต่บริบทของประเทศไทยอาจใช้ไม่ได้ มีข้อจำกัดหลายด้าน รวมถึงต้นทุนที่รัฐ ประชาชน ต้องแบกรับเมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง" คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มก.กล่าวทิ้งท้าย พร้อมฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วนร่วมกันตั้งเป้าหมายควบคุมคุณภาพอากาศระยะยาว และร่วมกันปฏิบัติภารกิจตามภาระหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อสภาพอากาศและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของคนไทย
      อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นตรงกันในประเด็นการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เป็นสิ่งสำคัญและอย่าตื่นตระหนก โดยแนะนำให้ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง รวมทั้งข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ www.air4thai.pcd.go.th และ แอปพลิเคชัน air4thai เพราะได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดฟรีทั้งระบบ ios และ Android.

‘บิ๊กตู่’ มอบ ‘บิ๊กป้อม’ แก้ปัญหาฝุ่นพิษ ผุดไอเดียพ่นน้ำจากตึกใบหยก

‘บิ๊กตู่’ มอบ ‘บิ๊กป้อม’ แก้ปัญหาฝุ่นพิษ ผุดไอเดียพ่นน้ำจากตึกใบหยก




“บิ๊กตู่” มอบ “บิ๊กป้อม” แก้ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ผุดไอเดียพ่นน้ำจากตึกใบหยก พร้อมบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด


เมื่อเวลา 14.15 น.วันที่ 29 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงถึงปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม.และ 5 จังหวัดรอบ กทม.ว่า ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดในระยะเวลาอันใกล้ได้ จึงต้องหามาตรการที่เหมาะสม ระยะสั้น-ยาว และมาตรการเบาไปหาหนัก ซึ่งวันนี้หารือกันและจะให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้ขับเคลื่อนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งระบบ หารือภาพรวม อย่างมาตรการเร่งด่วนที่ได้ทำไปแล้ว เช่น การฉีดพ่นน้ำสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง วันนี้มีความคิดใหม่ ให้เพิ่มพ่นละอองน้ำจากตึกสูง เช่น จากตึกใบหยกลงมา ซึ่งเอกชนได้เสียสละเงินส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือตรงนี้ด้วย โดยส่วนนี้กระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการ


พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 ก็ไม่ได้ตำหนิว่าใคร วันนี้ต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ทั้งในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม ว่าจะสามารถช่วยลดมลภาวะนี้อย่างไร ซึ่งมีกฎหมายในการบังคับใช้อยู่แล้ว ต้องไปดูพอบังคับใช้หรือไม่ หรือต้องมีมาตรการพิเศษหยุดเครื่องจักรในช่วงเช้า ช่วงเย็นได้หรือไม่ แต่หากเราไปบังคับมากๆ ก็จะส่งผลกระทบในส่วนอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้มีการเสนอว่าหลายประเทศมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงบูรณาการในภาพรวมว่ากลุ่มอุตสาหกรรม ในภาคการเกษตร แต่ต้องปรับบริบทให้สอดคล้องกับสังคมไทย

อดีตผู้พิพากษากางรธน.หาก'บิ๊กตู่'ลาออกจากนายกฯ'รมต.'ทั้งคณะก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง

อดีตผู้พิพากษากางรธน.หาก'บิ๊กตู่'ลาออกจากนายกฯ'รมต.'ทั้งคณะก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ถามแล้วผู้ใดจะทำหน้าที่รับผิดชอบจัดพระราชพิธีฯ


30 ม.ค.62 - นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  Chuchart Srisaeng    โดยมีเนื้อหาดังนี้
....รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
....มาตรา ๒๖๔ วรรคแรกบัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
....มาตรา ๑๖๗ บัญญัติว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตําแหน่ง เมื่อ
......(๑) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๐
....มาตรา ๑๗๐ บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ 
......ฯลฯ
......(๒) ลาออก
....ตามบทบัญของรัฐธรรมนูญดังกล่าวหมายความว่า ถ้านายกรัฐมนตรีลาออก รัฐมนตรีทั้งคณะก็พ้นจากตำแหน่งไปด้วย
....มีนักการเมืองบางกลุ่มเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แสดงว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ยอมรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๔ 
....ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะตามมาตรา ๑๖๗ และมาตรา ๑๗๐ แล้ว จะให้ใครทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ประเทศชาติที่ไม่มีรัฐบาลรับผิดชอบบริหารจะอยู่ได้อย่างไร 
....โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ ๔ ถึง ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีกำหนดการพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒ 
....ถ้าในช่วงเวลาอันสำคัญสำหรับคนไทยทั้งชาตินี้ไม่มีรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่จะให้ผู้ใดทำหน้าที่รับผิดชอบจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
....ขอถามว่าท่านทั้งหลายที่ออกเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกว่า มีเจตนาต้องการบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายเพราะไม่มีรัฐบาลและไม่ให้มีผู้รับผิดชอบในการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใช่ไหม ?

แพทย์รุมจวกปิดรร.แค่แก้ปัญหาปลายเหตุ รัฐต้องหารือด่วนฉุกเฉินทำเป็น"วาระแห่งชาติ"



30 ม.ค.62-ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่   ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการสั่งปิดโรงเรียน จากปัญหาฝุ่นละออง PM 25 ในการแถลงข่าว “ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว” ว่าในฐานะแพทย์ยอมรับว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพแต่ จากมาตรการที่ปรากฏออกมา นั้นการสั่งปิดโรงเรียนเสมือนกับเป็นการแก้ปัญหา ซึ่งจริงๆ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนและยังก่อให้เกิดการตื่นตระหนกของประชาชนมากยิ่งขึ้นโดยที่ประชาชนไม่ทราบว่าจะต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครอย่างไรจึงเป็นที่มาของการจัดงานแถลงข่าววันนี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากนักวิชาการ อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการดูแลด้านสุขภาพก็เริ่มมีการออกมาให้ข้อเท็จจริง แนวทางที่ถูกต้องแก่ประชาชน ซึ่งสิ่งสำคัญต้องมีแนวทาง 4 ประเด็น คือ 1.รัฐบาลในฐานะที่ดูแลประชาชนทั้งระบบ จะต้องมีการประชุมหารือที่เร่งด่วนเพราะเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อกำหนดแนวทาง คำแนะนำ ที่ไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความตระหนก และสับสนในสังคม  2. สธ.ในฐานะกระทรวงที่ดูแลสุขภาพประชาชน อยากจะให้ออกมาให้คำแนะนำแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลรักษาตัวเอง 3. ประชนชนต้องตระหนักรู้ปัญหานี้จริงๆ ต้องมีการติดตามสถานการณ์ ซึ่งแต่ละคนต้องมีวิธีในการดูแลตนเอง และ4. สังคมต้องมาตระหนักแล้วว่าเราต้องมาร่วมช่วยกันที่จะลดมลวะที่เป็นปัญหาในขณะนี้  เพราะหากไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหา ประเทศไทยก็จะยังสอบตกต่อปัญหามลภาวะนี้ และก่อให้เกิดความเจ็บป่วยมากขึ้นทุกวัน
“การสั่งปิดโรงเรียนหรือแม้กระทั่งการแจกหน้ากาก ก็เป็นอีกมาตรการที่จะทำให้ประชาชนได้ป้องกันตัวเอง แต่เป็นมาตรการในระยะสั้นเท่านั้น และเป็นการตระหนกไม่ใช่การตระหนก เพราะขณะนี้แต่ละที่ถามแต่ว่าต้องเอาหน้ากาแบบไหนที่จะป้องกันได้ ซึ่งเรื่องนี้แพทยสมาคมฯ มีความห่วงใยอย่างมาก ในปรากฏการณ์มลภาวะในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาของประเทศไทยไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช้านี้มีการสั่งปิดโรงเรียน 23 แห่ง ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีการปิดอะไรอีก”ศ.นพ.รณชัย กล่าว.

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ  กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋วที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนกรุงเทพฯ โดยผลกระทบที่รุนแรงในระยะสั้นคือเพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบการหายใจ หัวใจ และหลอดเลือดสมองให้สูงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนผลกระทบในระยะยาวที่ร้ายแรงคือ อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในพื้นที่บ้านเกิด โดยพบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม ของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่เกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นสั้นอายุขัยสั้นลงลง 0.98 ปี ซึ่งหากสามารถลดระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลงมาตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำค่าเฉลี่ยต่อปีไว้คือ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาสก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะทำให้อายุขัยของประชาชนยืนยาวเพิ่มขึ้นอีก 5.53, 4.37 และ 2.41 ปีตามลำดับ ส่วนผลกระทบในระยะยาวยังไม่มีการศึกษาในประเทศไทย แต่มีการศึกษาทั่วโลก ของ WHO ว่าทุกๆ 10 ไมโครกรัมของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8-14 % โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กันจากการศึกษาในระยะ 3 -20 ปีในระยะยาว ซึ่งจากข้อมูลทางอ้อมในประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์กันเราพบว่าสถิติเป็นมะเร็งสูงสุดในภาคเหนือตอนบน ซึ่งไปสอดคล้องพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยของPM 2.5 สูงกว่าพื้นที่อื่นๆของประเทศ  ซึ่งหากมีการศึกษาคงต้องมีการศึกษาขึ้นไปอีกในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไป หรือ ต้องมีการศึกษาย้อนหลัง
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า ล่าสุดมีข่าวดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะเชิญคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเข้าหารือในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้  ก็ต้องรอดูว่าจะมีผลอย่างไรออกมา อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอยากให้ชัดก่อน ว่า สาเหตุฝุ่นจิ๋วมาจากอะไรกันแน่ และควรมีแหล่งข้อมูลหลักจากแหล่งเดียว ออกมาให้ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุจริงๆ และจะแก้ไขอย่างไร  โดยต้องดูว่าผลกระทบต้องชัด เช่น ผลกระทบเฉียบพลัน หากฝุ่นสุงมากๆ จะเฉียบพลัน เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก แต่ผลจากระยะยาว ซึ่งวัดค่าเฉลี่ยรายปี อย่างค่าสูงเกิน 30-40. จะไม่มีอาการ แต่จะส่งผลระยะยาว เช่นมะเร็ง สมองเสื่อม พัฒนาการเด็ก โดยไทยกำนหดไว้ที่ปี 2553 กำหนดตั้งแต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสมัยอภิสิทธิ์ แต่ทุกปีกลับไม่มีการปรัปบรุง มีแต่การตื่นเต้นเป็นครั้งคราว ทุกวันนี้เราก็ยังใช้ค่ามาตรฐานเดิมคือ รายวัน 50 รายปี 25. ดังนั้น เราต้องมีข้อมูลวิชาการว่า ค่ารายวันรายปี จะทำอย่างไรให้อยู่ในค่ามาตรฐาน และต้องมีการปรับปรุงทุกปี
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ดังนั้น การดูแลผลกระทบจากฝุ่นจิ๋ว ควรต้องดูแลระยะสั้น และระยะยาวด้วย อย่างคนไข้หลายคนเป็นมะเร็งปอด โดยไม่ได้สูบบุหรี่ ตนมีความเชื่อส่วนตัวว่าสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแน่ๆ ตรงนี้ก็ต้องมีการติดตามเพื่อให้ได้ผลระยะยาวด้วย ดังนั้น รัฐต้องมีเป้าให้ชัด วัดให้ได้ และไปให้ถึง อย่างคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หลายคนก็มีเป้าหมายที่อาจไม่ตรงกับสุขภาพ ซึ่งตอนนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่ามีพรรคการเมืองไหนเอาเรื่องนี้ขึ้นเป็นนโยบายว่า พีเอ็ม 2.5 ในกี่ปีจะเหลือเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ ทางการแพทย์ เป้าสำคัญคือ สุขภาพของประชาชน นั่นคือผลระยะยาว แต่หากใครจะเอาผลทางธุรกิจ มันคือระยะสั้น ระยะยาวเจ๊งแน่นอน
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกิน 70บับ เรามีความสามารถในการออกกฎหมาย แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เราจะต้องทำอย่างไร ลดการใช้เชื้อเพลิง เราจะทำอย่างไรอย่างโรงเรียนหนึ่ง เด็กๆจะใส่หน้ากากหมด แต่พ่อแม่ยังขับรถไปส่งรถหน้าโรงเรียน เราต้องกล้าปิดโรงเรียน เราต้องกล้าบังคับใช้เรื่องควบคุมต่างๆด้วย และในเรื่องการจัดการเรื่องงบประมาณ จริงๆ เรามีพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2535 มีการเก็บภาษีน้ำเสียจากโรงงาน เราน่าจะเอาตรงนี้มาทำในเรื่องฝุ่นได้ด้วย อย่างเรื่องภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยจูงใจเรื่องมาตรการภาษี และก็เอาตรงนี้มาชดเชยผู้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม. สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องดี และควรทำ แต่ก็ต้องมาดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมด้วย .