PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

ตร.จ่อออกหมายจับผู้ต้องสงสัยอีก 3 คนพันบึ้มสมุย คนสนิท"บิ๊กจิ๋ว"โวย

ตร.จ่อออกหมายจับผู้ต้องสงสัยอีก 3 คนพันบึ้มสมุย "บิ๊กตู่" ย้ำโยงอดีตนักการเมือง เรียกให้เข้ามาอยู่ในกติกา ด้าน "เสธ.หมึก" อัด ตร.อยากเป็นใหญ่ใส่ไฟ "บิ๊กจิ๋ว" ชักใยเหตุระเบิด


ความคืบหน้าเหตุคาร์บอมบ์ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ล่าสุดตำรวจเตรียมออกหมายจับผู้ต้องหาที่พัวพัน 3 คนแล้วจ่อออกหมายจับ 3 มือบึ้มสมุย

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ตร.เปิดเผยว่า ล่าสุดการสอบสวนของเจ้าหน้าที่มีความคืบหน้ามากพอสมควร โดยขณะนี้ตำรวจพอจะรู้จำนวนรถยนต์ รู้เส้นทาง และรู้ตัวผู้ที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นแล้ว และน่าจะออกหมายจับคนร้าย 2-3 คน ภายในสัปดาห์นี้


เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ สภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ วังสุภา ผู้บังคับการตำรวจภูธรงจังหวัดยะลา ได้ประชุมร่วมกับ พ.ต.ท.เจริญ นวลทอง สวญ.สภ.ปะแต พ.ต.อ.ปพนวัฒน์ ขัตติยะวรานันท์ ผกก.สภ.ยะหา เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีคนร้ายปล้นรถกระบะมาสด้า 4 ประตู สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน กข 4892 ยะลา ไปก่อเหตุคาร์บอมบ์ในพื้นที่ เกาะสมุย


จากนั้น พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่ สภ.ปะแต ครั้งนี้เพื่อมารับฟังความคืบหน้า และประเมินสถานการณ์ในพื้นที่หลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 1 ราย เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง แต่ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย ได้ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ส่วนข่าวการควบคุมตัวบังยี เจ้าของเต็นท์รถ ตามที่เป็นข่าวในขณะนี้นั้น ขอยืนยันว่า ในพื้นที่ยะลาเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 รายเท่านั้น ไม่ได้ควบคุมตัวเจ้าของเต็นท์รถที่ชื่อ บังยี ตามข่าวแต่อย่างใด


บิ๊กตู่ย้ำบึ้มสมุยพันการเมืองในอดีต


วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าเหตุระเบิดที่เกาะสมุยว่า ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในอดีต ซึ่งต้องพิจารณาดูก่อนว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร คำว่าการเมืองนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการเมืองนี้หรือการเมืองไหนอาจจะเป็นคนการเมืองเก่าก็ได้ที่ทำให้เกิดขึ้นว่า 1.เป็นเรื่องของการเมืองเพื่อสร้างความไม่สงบให้รัฐบาลมีปัญหาหรือไม่ 2.เรื่องของอิทธิพล และ 3.เรื่องธุรกิจส่วนตัว ซื้อรถราคาถูก ซื้อรถผี ตอนนี้เจ้าหน้าที่ต้องให้น้ำหนักทุกประเด็น อย่าเพิ่งไปลงชี้ชัดว่า เป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยควรดีใจว่า สามารถจับกุมได้และสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือกระทำจริงและนำรถจากที่นั่นที่นี่มา


"นายกฯ" นิ่งข่าว "บิ๊กจิ๋ว" ยันรู้ตามที่สื่อรู้


"สิ่งที่พิจารณาในขณะนี้คือ ทำไมจึงต้องวางแผนซับซ้อนขนาดนั้นในเรื่องการไปซื้อรถ มีการมอบหมายให้คนไปรับรถในที่ต่างๆ เปลี่ยนสีรถ ซึ่งในปกติหากการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ทำซับซ้อนเช่นนี้ จะเป็นแค่ไปขโมยรถมาแล้วไปก่อเหตุระเบิด ดังนั้นจึงต้องไปสอบต่อ เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และบังเอิญว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องสังกัดพรรคการเมืองเก่า เป็นอดีต ส.ส." พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานข่าวว่าเกี่ยวโยงกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนตัวรู้ตามที่พวกท่านรู้ แต่อย่ามาบอกว่า พูก็แล้วกัน ส่วนที่ถามว่าการรายงานว่าทุกอย่างเป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏตามสื่อใช่หรือไม่นั้น ก็เป็นไปตามข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอไว้ ซึ่งก็ดูตามนั้นว่า จริงหรือเปล่าและได้เช็กกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รายงานว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบอยู่ส่วนจะเชิญตัวผู้ที่มีชื่อว่าเกี่ยวข้องมาสอบสวนข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องรายงาน เพราะเมื่อได้ข้อมูลแล้วเจอหลักฐานอะไรก็คงปล่อยกลับบ้าน ให้ไปดูแลและพักผ่อน กฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน


ชี้อย่าเอาเรื่องบึ้มโยงเรื่องโรดแม็พ


เมื่อถามว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น มีหลักฐานโยงกับการเมืองและความมั่นคงเช่นนี้จะกระทบกับโรดแม็พหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่ามาถาม ถ้าถามก็บอกมาทุกครั้งแล้วว่า โรดแม็พคือโรดแม็พก็ต้องดูว่าปัญหาต่างๆ จะทำให้โรดแม็พเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ และถ้าไปต่อไม่ได้จะทำกันอย่างไร อยากถามว่า วันนี้ประเทศต้องการปฏิรูปหรือไม่ ถ้าต้องการปฏิรูป จำเป็นจะต้องมีกลไกพิเศษขึ้นมา เพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบเดิม คงได้ผลแบบเดิม
"อย่างความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ในเรื่องว่า ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ขอร้องว่า อย่าน้ำเรื่องนี้มาปนกัน ผมพยายามทำทุกอย่างให้เดินหน้าไปได้ และเท่าที่อยู่ทำงานมา 6 เดือน ทุกอย่างชัดเจนแล้ว อย่าบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลงาน ไม่มีความก้าวหน้า เพราะงานที่สำเร็จแล้วก็มี อยู่ระหว่างดำเนินการก็มี" นายกรัฐมนตรี กล่าว


ชี้กลุ่มการเมืองพยายามดิ้นรน


เมื่อถามว่า กลุ่มการเมืองที่ยังเคลื่อนไหวขณะนี้ขยายตัวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ขยายตัว แต่พยายามดิ้นรถเพื่อต่อสู้ในทางการเมืองของเขา บางทีลืมว่า วันนี้ประเทศมีทั้งกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ แม้แต่การประกาศใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ออกไปหมดแล้ว ดังนั้นถ้าจะเข้ามาปกครองประเทศ ทุกคนจะต้องเคารพกฎหมาย วันนี้จะเอากฎหมายอะไรกันอีก จะให้ใช้แรงกว่านี้หรืออย่างไร พอประกาศใช้กฎหมายก็วิจารณ์ว่า ละเมิดสิทธิเสรีภาพ พอใช้กฎหมายเบาๆ ไม่เชื่อกัน


"อย่าลืมว่าวันนี้ประเทศต้องการปฏิรูปหากต้องการทำให้ประเทศมีความเข้มแข็ง มีเศรษฐกิจยั่งยืนต้องไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก และรัฐธรรมนูญต้องมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น อาจจะต้องมีประบวนการปฏิรูปใส่ลงไปด้วยทั้งหมดนี้เรียกว่า การปฏิรูป ถ้าปฏิรูปแล้วยังใช้กฎหมายเดิม คนเดิมๆ ยังเข้ามาในการเลือกตั้งอีก ทุกอย่างจะเหมือนเดิมหมด สื่อช่วยไปถามอีกฝ่ายได้หรือไม่ว่า ถ้าอนาคตเข้ามาเป็นนักการเมืองจะทำอะไรบ้าง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


ยันเล่นตามกติกาไม่อยากใช้อำนาจ


เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่ากลุ่มการเมืองที่ยังพยายามดิ้นรนอยู่ในขณะนั้นจะไม่สามารถเอาชนะโรดแม็พที่วางไว้ได้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าให้ใช้อำนาจทั้งหมด มั่นใจอยู่แล้วแต่คงถามว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายอะไรขึ้นหรือไม่ อย่าให้จำเป็นจะต้องใช้แบบนั้น มันยังมีอีกหลายวิธีการ แต่ประชาชนจะต้องอยู่ด้วยกัน ส่วนจะใช้อำนาจเด็ดขาดจัดการตรงนี้หรือไม่นั้น ยืนยันว่ายัง เพราะไม่อยากให้มี และไม่อยากให้ต้องใช้ สื่อต้องช่วยกันหามาตรการไปกดดันอีกฝ่ายหนึ่งบ้าง ไม่ใช่มากดดันข้างเดียว สื่อจะต้องทำตัวเหมือนเป็นกรรมการกลาง ตั้งคำถามกับทั้ง 2 ฝ่าย ยืนยันว่า วันนี้เล่นตามกติกา แต่อีกฝ่ายกลับเล่นนอกกติกา มันถึงจำเป็นจะต้องมีวันนี้ เนื่องจากทุกอย่างปนเปเรรวนไปหมด ระบบข้าราชการเสียหาย เกิดการทุจริตไม่โปร่งใส แต่พอตรวจสอบก็ร้องว่าไม่เป็นธรรม กล่าวหาว่าเล่นเพียงข้างเดียว


ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช.กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจของกฎหมายพิเศษที่มีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ และยืนยันว่า การควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนสาเหตุการก่อเหตุดังกล่าวนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบความเชื่อมโยงจึงไม่ขอชี้ชัดว่าเป็นการจ้างวานของอดีตนักการเมืองในพื้นที่อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การก่อเหตุดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขยายพื้นที่ก่อเหตุความไม่สงบจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด แม้จะพบอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อเหตุบางส่วนมาจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


ทหารเผยปล่อยตัวเอ็มเสื้อแดง


ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.เปิดเผยถึงกรณ๊เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว นายนรินทร์ อ่ำหนองบัว หรือ "เอ็ม เสื้อแดง" มือโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องระเบิดที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัว ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ว่า จากการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องหลังจากควบคุมตัวนายเอ็มตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งครบกำหนดการควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน ทางทีมสอบสวนได้ปล่อยตัวนายเอ็มไปแล้ว และไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาอะไร

ฉุน ตร.อยากได้ดีใส่ร้าย "บิ๊กจิ๋ว"


พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ หรือ เสธ.หมึก นายทหารใกล้ชิด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวพาดพิงไปถึง พล.อ.ชวลิตเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่าเป็นการโยงใยแบบจับแพะชนแกะ โดยการนำเหตุการณ์ที่ พล.อ.ชวลิตเดินทางไปร่วมงานรำลึกวีรชนช่องช้างมาผูกโยงว่าได้ไปพบกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ไปแค่ร่วมงานโดยเข้าไปวางพวงรีด และกล่าวกับกำลังพลของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ถึงวิถึทางประชาธิปไตร โดยมีนายทหารยศพันเอกพิเศษ ตำแหน่งรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี มาบันทึกเทปคำกล่าวไปซึ่ง พล.อ.ชวลิต อนุญาต และไม่ได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด จากนั้นก็ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนจะเดินทางกลับ


"ท่านไปทั้งเหนือและอีสาน เพราะงานทำบุญ รำลึก ผรท.มีอยู่ทุกพื้นที่ เหมือนเป็นหนี้ทางใจ เมื่อคนเหล่านั้นเขาวางอาวุธ เราสัญญาที่จะดูแล ต้องตอบแทนเขา พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ตำรวจที่อยากได้ดีก็ใส่ร้ายไว้ก่อน อยากขึ้นเป็นใหญ่ ต้องไปดูว่าใครให้ข่าว ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิต ท่านเป็นคนเสียสละให้บ้านเมืองมหาศาล จะมาทำเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร คนที่อยากได้ดีบนความทุกข์ของคนอื่น ขอให้ดูว่าผลจะเป็นอย่างไร ขอให้นึกไว้ว่า เป็นคน ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางใหญ่ไปกว่าโลงได้" พล.ท.พิรัช กล่าว--จบ--
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2558 (กรอบบ่าย)--

ฝากขัง 'เสี่ยบั๊ก' ผัด 3 วืดประกันตัวยกทีมฆ่าพระหมอ

ฝากขัง 'เสี่ยบั๊ก' ผัด 3 วืดประกันตัวยกทีมฆ่าพระหมอ
"เสี่ยบั๊ก" คอตก! นอนคุกต่อ ศาลไม่ให้ประกันตัวยกทีมฆ่าพระหมอ โดยฝากขังเป็นผัดที่ 3 หวั่นหลบหนีออกนอกประเทศ และเกรงว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยาน...
จากกรณี นายบรรเจิด ฉัตรไพฑูรย์ หรือ เสี่ยบั๊ก อายุ 64 ปี ประธานบริหารโรงพยาบาลเอกอุดร ผู้ต้องหาจ้างวาน ด.ต.ชาญชัย สร้อยสังวาล นายปัญจ๋า ชารีแสน และนายบุญนาค หงษาคำ สังหารพระอาจารย์บัณฑิต สุปันฑิโต หรือ พระหมอ เจ้าอาวาสวัดป่าตอสีเสียด ต.บ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี และโอนสำนวนให้กองปราบฯ ดำเนินคดี ซึ่งศาลมณฑลทหารบกที่ 24 ได้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ที่เรือนจำกลางอุดรธานี โดยฝากขังเป็นครั้งที่ 2 และครบในวันที่ 20 เม.ย.นั้น
ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 21 เม.ย. 58 พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล ผกก.ป.3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับนายบรรเจิดได้ฝากขังครั้งที่ 2 ครบในวันที่ 20 เมษายน สารวัตรทหารและผู้คุมเรือนจำกลางอุดรธานีได้ควบคุมตัวมาขอฝากขังครั้งที่ 3 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 ญาติและทนายความได้ขอยื่นประกันตัว พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะเกรงว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยาน และหนีออกนอกประเทศ ศาลจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายบรรเจิด กลับไปควบคุมไว้ที่เรือนจำกลางอุดรธานี ขณะที่ ด.ต.วิชาญ นายปัญจ๋า และนายบุญนาค ซึ่งครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 3 ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเดียวกัน.


อียูแจกใบเหลืองไทย ประมง

“นายกฯ”รู้แล้ว อียูจ่อคว่ำบาตรไทย-“บัวแก้ว”ผิดหวังแจงใบเหลืองไม่กระทบส่งออกอียู

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
21 เมษายน 2558 18:03 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
“นายกฯ”รู้แล้ว อียูจ่อคว่ำบาตรไทย-“บัวแก้ว”ผิดหวังแจงใบเหลืองไม่กระทบส่งออกอียู

“บิ๊กตู่”รู้แล้ว "อียู"เตรียมคว่ำบาตรไทย“บัวแก้ว”ผิดหวัง อียูออกใบเหลือง จ่อ ห้ามนำเข้าอาหารทะเลภายในสิ้นปีนี้ จี้ไทย 6 เดือนแก้ไขนโยบายการทำประมงให้ถูกกฎหมาย เวปไซด์กระทรวงฯ แจงไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปอียู “ไก่อู”ชี้เป็นเรื่องดีให้ทุกหน่วยงานร่วมมือแก้ปัญหาให้ทันเวลา เล็งใช้ ม.44 ปลดล็อกทุกปม หากหน่วยงานเสนอ
       
       วันนี้(21 เม.ย.) มีรายงานว่า กรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) ยื่นคำขาดให้เวลาไทย 6 เดือน สำหรับการแก้ไขนโยบายการทำประมง หรือจับปลาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงทางอียูจะคว่ำบาตรด้วยการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้
       
       ขณะที่เวปไซด์กระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงเรื่องที่ สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกใบเหลือง ว่า อย่างไรก็ตาม การประกาศเตือนครั้งนี้ยังไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไป EU แต่อย่างใด
       
       กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งว่า ไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออกประกาศเตือนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่า EU มิได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการแก้ปัญหา IUU รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับ EU ในการต่อต้าน การประมง IUU ที่มีมายาวนาน
       
       ไทยเรียกร้องให้ EU พิจารณาการดำเนินการของไทยในเชิงเทคนิคตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มี ความโปร่งใสและเที่ยงตรง อย่างไม่เลือกประติบัติ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย
       
       ไทยจะสานต่อความร่วมมือกับ EU เพื่อให้ไทยออกจากกลุ่มที่ถูกประกาศเตือน รวมทั้งสามารถแก้ไขและป้องกันการทำประมงแบบ IUU ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
       
       รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบ IUU เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นผู้นำในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนงานหลัก 6 แผนงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
       
       (1) การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง (2) การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU (3) การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง (4) การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าออกท่าของเรือประมง (5) การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System - VMS) และ (6) การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
       
       ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ การรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำประมงเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลนี้ และรัฐบาลจะยังคงดำเนินการอย่างแข็งขันในการแก้ปัญหาภายใต้การนำของผู้นำระดับสูงต่อไป
       
       ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ปรารภในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ และเป็นระบบ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวสะสมมานาน จนเป็นเหตุให้อียูมีการประกาศยื่นคำขาดดังกล่าว
       
       ทั้งนี้ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ และมีคณะอนุกรรมการย่อยอีก 5 ชุด ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาแรงงานประมง ที่มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มอายุลูกเรือ การจดทะเบียนเรือ และการติดตั้งจีพีเอส ซึ่งได้มีการแก้ไขปัญหาเป็นขั้นตอนมาโดยตลอด และมีการรายงานในเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างละเอียด ซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และเดินมาถูกทางแล้ว ส่วนการแจ้งเตือนดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ทราบมาก่อนหน้านี้ และถ้ามีการประกาศอย่างเป็นทางการจริง ก็จะถือว่าพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นและร่วมกันทำตามแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในเวลา 6 เดือน และจะทำให้ทุกส่วนได้รู้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลกังวลไปเอง แต่เกิดขึ้นจริง จึงต้องช่วยกันให้ผ่านจุดนี้ไปให้ได้ เพราะถ้าครบกำหนดแล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อการส่งออก และเกิดผลเสียต่อประเทศเป็นอย่างมาก
       
       "เรามั่นใจในแผนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ซึ่งปลายปีที่แล้วเราได้มีการทำ แต่อยู่ในช่วงกำลังตั้งไข่ จึงยังไม่เป็นระบบ พอมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบในบางจุดแล้ว แต่คงเก็บข้อมูลที่ยังไม่ตอบโจทย์เขาทั้งหมด จึงมีการประกาศออกมาแบบนี้ แต่หลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการ มีการตรวจสอบ เราก็มั่นใจว่าเราเดินมาถูกทาง หลังจากนี้ก็ขอให้ทุกคนตระหนักและร่วมมือกัน"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
       
       พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี แต่ต้องยอมรับว่าเรือประมงมีจำนวนมาก การจดทะเบียนจึงไม่สามารถทำเสร็จภายใน 1-5 วัน ประกอบกับต้องมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จึงต้องใช้เวลา ส่วนจะมีการใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ดำเนินการในเรื่องนี้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึง เพราะเรื่องนี้มีระบบของมันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปลดล็อกเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่หากมีบางประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใหม่ แล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเวลาที่กำหนด นายกรัฐมนตรี ก็พร้อมใช้มาตรา 44 ที่จะปลดล็อกในเรื่องดังกล่าว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอมา.

โฆษกกระทรวงกลาโหม ยันการฝึก "คอบร้าโกลด์" ยังมีการฝึกต่อเนื่อง

โฆษกกระทรวงกลาโหม ยันการฝึก "คอบร้าโกลด์" ยังมีการฝึกต่อเนื่อง ระบุเป็นเพียง เลื่อนการประชุมเตรียมการ ย้ำสหรัฐฯ ต้องการแสดงบทบาทในภูมิภาค ยากจะประกาศยกเลิก เพราะได้ประโยชน์จากการฝึก วอนสื่อไทยอยากรู้ให้ถามฝ่ายอเมริกา ขณะที่โฆษกสถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ชี้แจง การประชุมวางแผนฝึก คอบร้าโกลด์จะมีขึ้นตลอดทั้งปี

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ความคืบหน้าจากกรณี เว็บไซต์สตาร์สแอนด์สไตรพ์ รายงานเมื่อ 16 เม.ย.ว่า กองทัพสหรัฐอเมริกาได้เลื่อนการประชุมวางแผนการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ ในปี 2559 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากได้เลื่อนการประชุมในเรื่องการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมของนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ฮาวาย เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์สตาร์ส แอนด์ สไตรพ์ รายงานว่า ทางสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยืนยันยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ในปีหน้า และกองบัญชาการของสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก กล่าวว่า การซ้อมรบคอบร้าโกลด์ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ จากการปรึกษาหารือกับทางการไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในการฝึกซ้อมรบในหลายเดือนข้างหน้า

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เผยว่า ทางกองทัพไทยยังไม่ได้รับการแจ้งมาจากสหรัฐฯ เพียงแต่ได้รับแจ้งว่าเป็นเพียงการเลื่อนการประชุมเตรียมการในเดือนมิถุนายนนี้ออกไปก่อน ซึ่งการประชุมเตรียมการจะมีการประชุมหลายครั้งด้วยกัน เพราะการฝึกร่วมกันคอบร้าโกลด์ครั้งนี้ จะเป็นการฝึกแบบหนัก จากครั้งที่แล้วฝึกแบบเบา โดยเราจะมีการฝึกเบา-หนัก สลับกันไปแต่ละปี

"ไม่ได้ยกเลิก แต่เป็นเพียงเลื่อนการประชุมเตรียมการ การจะยกเลิกการฝึกนั้น ควรจะต้องไปถามฝ่ายสหรัฐฯ ไม่ใช่มาถามฝ่ายกองทัพไทย เพราะการฝึกต้องถามว่าใครได้ประโยชน์ในภูมิภาคนี้ ใครเป็นฝ่ายที่ต้องการเข้ามาฝึกและแสดงบทบาทในภูมิภาคนี้ และหากยกเลิกจริงกองทัพไทยก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร" โฆษกกลาโหมกล่าว

พล.ต.คงชีพ กล่าวด้วยว่า อยากให้สื่อลองไปถามฝ่ายสหรัฐฯ ดูว่า ข่าวที่สื่อสหรัฐฯ นำมาลงนั้น เป็นข้อเท็จจริงแค่ไหน เพราะการฝึกแต่ละครั้งในภูมิภาคทางสหรัฐฯ เป็นฝ่ายอยากให้มีการฝึก และใครจะได้ประโยชน์ที่แท้จริง จึงยืนยันได้ว่าไม่มีการยกเลิกการฝึกคอบร้าโกลด์เด็ดขาด

ต่อมา  เมื่อไทยรัฐออนไลน์สอบถามไปยัง เมลิสซา สวีนีย์ โฆษกสถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า  การประชุมเกี่ยวกับการวางแผนการฝึกคอบร้า โกลด์นั้น จะมีการประชุมหลายครั้งตลอดทั้งปี2558  เพียงแต่ขณะนี้ ยังไม่มีการตัดสินใจ เกี่ยวกับการฝึกคอบบร้า โกลด์ ในปี 2559 เนื่องจากการตัดสินใจฝึกซ้อมคอบบร้าโกลด์นั้น จะขึ้นอยู่กับการปรึกษาหารือระหว่างสหรัฐฯ กับทางการไทย ตลอดจน ประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมคอบร้า โกลด์
////////////////////
รัฐบาลสหรัฐเลื่อนการประชุมวางแผนการซ้อมรบ "คอบร้าโกลด์" กับไทยในปี 2559 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

เว็บไซต์ข่าว "สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส" ของสหรัฐ รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐได้เลื่อนการประชุมวางแผนการซ้อมรบ "คอบร้าโกลด์" กับไทยในปี 2559 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังลดระดับการซ้อมรบครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป

เดิมนั้น แผนการประชุมคอบร้าโกลด์มีกำหนดจัดขึ้นที่หมู่เกาะฮาวายของสหรัฐในเดือนมีนาคมปีหน้า แต่ล่าสุด ทางการสหรัฐได้เลื่อนกำหนดดังกล่าวออกไป หลังประเมินว่าไทยมีสัญญาณคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยล่าช้า นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ประจำปี 2559 โดยการซ้อมรบดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจภายใต้การปรึกษาหารือกับไทยในฐานะเจ้าภาพร่วม รวมถึงประเทศที่จะเข้าร่วมการซ้อมรบอื่น ๆ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนต่อ ๆ ไป

ขณะที่กองทัพไทยระบุว่า กำลังรอการติดต่อจากรัฐบาลสหรัฐเพื่อกำหนดวาระการประชุมดังกล่าว ซึ่งปกติจะมีขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี

ทั้งนี้ คอบร้าโกลด์ เป็นการซ้อมรบทางทหารประสานกับการฝึกซ้อมเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการรับมือกับภัยพิบัติ ถือเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาค

สำรวจการนำเข้าอาวุธของไทย 8 ปี เกือบ 7 หมื่นล้าน – 10 ปีงบกลาโหมจาก 8 หมื่นล้าน พุ่ง 2 แสนล้าน

ไอเอชเอส (IHS) บริษัทวิจัยด้านการตลาด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงาน “การค้าอาวุธทั่วโลก” (Global Defense Trade Report) ซึ่งทำการวิจัยใน 65 ประเทศทั่วโลก วิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่าในปี 2557 ที่ผ่านมา การใช้จ่ายด้านการทหารของโลกสูงขึ้นจากเดิมมูลค่า 56.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 64.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากความต้องการด้านอากาศยานทหารและความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียแปซิฟิก
ในรายงานของไอเอชเอส ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าอินเดียขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง จีนอยู่ในอันดับที่สาม โดยเมื่อปี 2556 จีนอยู่ที่อันดับห้า ในรายงานยังบอกอีกว่าเมื่อปีที่แล้วการซื้อขายอาวุธเพิ่มขึ้นกว่า 13% โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากความต้องการอาวุธที่สูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อเครื่องบินรบ รวมทั้งความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นแชมป์ผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่สุดในโลก ตามด้วยรัสเซีย และฝรั่งเศส
คำโปรยกลาโหม_2
สถานการณ์การค้าอาวุธโลก
ในปี 2557 ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นลูกค้าอาวุธที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มากกว่ายุโรปตะวันตก ตัวเลขการนำเข้าอาวุธของซาอุดิอาระเบีย คิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกอาวุธทั้งหมดของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ได้ไต่ขึ้นมาเป็นดาวดวงใหม่ของเอเชียแปซิฟิกในการส่งออก ในขณะที่ยอดส่งออกของรัสเซียกลับเริ่มลดลง และซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย สวีเดน และไนจีเรีย ได้กลายเป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของอังกฤษ
จากการที่ซาอุดีอาระเบียได้ขึ้นแท่นผู้นำเข้าอาวุธแทนอินเดียนั้น ผู้เชี่ยวชาญของไอเอชเอสระบุว่า ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ยังจะไม่ลดลงในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะในระหว่างปี 2556-2557 ตัวเลขการนำเข้าเพิ่มขึ้น 54% และจะเพิ่มขึ้น 52% หรือมูลค่า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 นี้ นอกจากนี้ หากดูภาพรวมทั้งหมดของภูมิภาคตะวันออกกลาง ตัวเลขการนำเข้าอาจพุ่งถึง 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกสิบปีที่จะถึงนี้

จีน-เกาหลีใต้ ขึ้นแท่นดาวเด่นค้าอาวุธในเอเชีย

นอกจากการสั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ของภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว ในรายงานของไอเอชเอสระบุว่า ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังมีการนำเข้าอาวุธจากอังกฤษถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากรัสเซีย 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากฝรั่งเศส 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากเยอรมัน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
บริษัทผลิตอาวุธสงครามที่ส่งออกมากสุด
เมื่อหันมามองในภูมิภาคเอเชีย จีนและเกาหลีใต้กำลังเป็นดาวเด่นในเรื่องค้าอาวุธ ในปี 2557 จีนได้กระโดดขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของการนำเข้าอาวุธ โดยเฉพาะด้านการบินทหารและอวกาศ และมีการทำนายว่าจีนจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เกาหลีใต้จะกลายเป็นผู้ส่งออกอาวุธหน้าใหม่ไฟแรงของภูมิภาคภายใน 10 ปีนี้ เนื่องจากมีตัวเลขการทำสัญญาค้าอาวุธไปแล้วกว่า 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ารัสเซียจะมีอนาคตสดใสด้านการค้าอาวุธ แต่ในปี 2557 พบตัวเลขการค้าล่าสุดว่า รัสเซียส่งออก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 9% เท่านั้นจากปี 2556 แน่นอนว่าจีนเป็นลูกค้าหลักของรัสเซียซึ่งมีมูลค่าสั่งซื้อถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วยอินเดีย 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวเนซุเอลาและเวียดนามประเทศละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี หลังจากมีความเติบโตทางการค้าอาวุธหลายปี ขณะนี้รัสเซียกำลังพบกับช่วงเวลาที่ท้าทาย การตกลงของการส่งออกในปี 2558 ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางการเมืองส่งผลให้เกิดการแซงก์ชัน มากไปกว่านั้น จากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงทำให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อลูกค้าหลักของรัสเซียอย่างเวเนซุเอลาและอิหร่าน ซึ่งปัญหานี้รวมถึงการที่จีนพึ่งพาเทคโนโลยีรัสเซียน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย

ยอดนำเข้าอาวุธของไทย 8 ปี เกือบ 7 หมื่นล้าน ปืน-กระสุน นำโด่ง

จากภาพรวมสถานการณ์การค้าอาวุธโลกข้างต้น ถึงแม้ว่าจะพบความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งร้อนระอุขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่มีผลกระทบเกี่ยวข้องต่อไทยมากนัก ทว่าสะท้อนทิศทางของการกระจุกตัวของอาวุธได้เป็นอย่างดี ในมุมกลับกัน ตัวเลขการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธของไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา สะท้อนนัยสำคัญของมูลค่าการนำเข้าที่อาจสอดคล้องกับงบประมาณด้านความมั่นคงทางการทหาร
Print
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รวบรวมรายการการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธที่ไทยนำเข้าประกอบไปด้วย 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก สินค้าประเภทอาวุธและกระสุน รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของของดังกล่าว (Arms Ammunition) กลุ่มที่สอง ผลิตภัณฑ์จำพวกระเบิด พลุไฟ (Explosive Pyrotechnic Product) และกลุ่มสุดท้าย สินค้าประเภทรถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่นๆ
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์กรมศุลกากร พบว่าในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550-2557 ไทยนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธและกระสุนจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิสราเอล และจีน มากที่สุด ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าการนำเข้าสินค้าประเภทระเบิด พลุไฟ รถถัง และยานหุ้มเกราะอื่นๆ นอกจากนี้ ในปี 2554-2555 พบว่ายอดรวมการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธของไทยพุ่งสูงที่สุด และค่อยๆ ลดน้อยลงในปี 2556-2557(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
การนำเข้าอาวุธ
ทั้งนี้ ไทยมีการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธและกระสุนสูงที่สุดในปี 2554 มูลค่า 8 พันกว่าล้านบาท นำเข้าสินค้าประเภทระเบิด พลุไฟ สูงสุดในปี 2556 มูลค่า 1,800 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าประเภทรถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่นๆ สูงสุดในปี 2555 มูลค่ากว่า 3,300 ล้านบาท หากพิจารณาตัวเลขโดยรวม พบว่าไทยนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธทั้ง 3 ประเภท รวมกันมูลค่า 65,000 ล้านบาท ในระยะ 8 ปี
รายละเอียดการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธ
กลุ่มแรก สินค้าประเภทอาวุธและกระสุน รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของสินค้าดังกล่าว รวม 8 ปี มูลค่า 43,960.23 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่อยู่ในหมวดนี้ ได้แก่ อาวุธที่ใช้ในทางทหาร ปืนลูกโม่ ปืนพก ปืนใหญ่ เฮาวิทเซอร์ ปืนครก เครื่องยิงจรวด เครื่องพ่นไฟ เครื่องยิงลูกระเบิด รวมทั้งท่อยิงตอร์ปิโดและเครื่องยิงที่คล้ายกัน ปืนลูกซอง ปืนเล็กยาวที่ใช้ในการกีฬา ปืนแก๊ป ปืนพลุสัญญาณ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ออกแบบเพื่อใช้ยิงพลุสัญญาณเท่านั้น ปืนพกและปืนลูกโม่สำหรับใช้ยิงกระสุนหลอก ปืนพกยิงเข็มฉีดยา ปืนยิงส่งสายเชือก
รวมถึง ระเบิด ระเบิดมือ ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด ขีปนาวุธ ลูกปืน กระสุนปืนอื่นๆ จรวด ลูกปราย หมอนลูกปืน กระสุนปืนลม ลูกปืนอื่นๆ และกระบี่ ดาบ ดาบปลายปืน ทวนและอาวุธที่คล้ายกัน
กลุ่มที่สอง ผลิตภัณฑ์จำพวกระเบิด พลุไฟ รวม 8 ปี มูลค่า 10,801.76 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่อยู่ในหมวดนี้ ได้แก่ ดินขับ สายชนวนจุดระเบิด ชนวนระเบิด แก๊ปก้นกระสุนปืน หรือแก๊ปหัวชนวนระเบิด เชื้อจุดระเบิด เชื้อปะทุไฟฟ้า สำหรับจุดระเบิด สายชนวนจุดระเบิดกึ่งสำเร็จรูป แก๊ปแบบอีลีเมนเต็ด ซิกแนลทูป ดอกไม้เพลิง พลุสัญญาณ พลุสัญญาณตัดฝน พลุสัญญาณตัดหมอก และของจำพวกดอกไม้เพลิงอื่นๆ เครื่องอุปกรณ์ให้สัญญาณขอความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ยังมีอาวุธยุทธภัณฑ์จำลองจำพวกดอกไม้เพลิง และแก๊ปก้นกระสุนปืนสำหรับของเล่น ไม้ขีดไฟ เฟอร์โรซีเรียมและแอลลอยที่ทำให้เกิดประกายไฟอื่นๆ รวมทั้งของทำจากวัตถุที่สันดาป เชื้อเพลิงเหลวหรือเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซเหลวบรรจุในภาชนะชนิด ใช้บรรจุหรือเติมไฟแช็กหรือเครื่องขีดไฟที่คล้ายกัน และมีความจุไม่เกิน 300 ลูกบาศก์เซนติเมตร เชื้อเพลิงแข็งหรือกึ่งแข็ง แอลกอฮอล์ที่ทำเป็นของแข็ง และเชื้อเพลิงปรุงแต่งที่คล้ายกัน หินเหล็กไฟสำหรับเครื่องขีดไฟ เฟอร์โรซีเรียมอื่นๆ แอลลอยที่ทำให้เกิดประกายไฟอื่นๆ คบเพลิงเรซิน เชื้อไฟ และสิ่งที่คล้ายกัน
กลุ่มสุดท้าย รถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่นๆ ที่ขับด้วยมอเตอร์ จะติดตั้งอาวุธด้วยหรือไม่ก็ตาม และส่วนประกอบของยานดังกล่าว รวม 8 ปี มูลค่า 10,244.50 ล้านบาท

งบกระทรวงกลาโหม 10 ปี จาก 8 หมื่นล้าน พุ่ง 2 แสนล้าน ทัพบกแชมป์

ในรายงานของดิอีโคโนมิสต์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 นับเป็น 8 เดือนหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหาร ระบุว่า กว่าทศวรรษที่ผ่านมา การทะเลาะกันของนักการเมืองกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของการเมืองไทยไปแล้ว และระบุอีกว่า นายพลราว 1,600 คน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งมีอำนาจเหนือพื้นที่ทางการเมือง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนในการลงเลือกตั้งได้ ทว่ากลับไล่บี้ศัตรูทางการเมืองด้วยการทำรัฐประหารในปี 2549 และในปี 2557 ในการเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรมของประเทศ นั่นเท่ากับว่าการให้ความสำคัญของงบประมาณด้านการทหารจึงอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทยตลอดมานั่นเอง
สำหรับงบประมาณกระทรวงกลาโหมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งตรงกับมูลค่าการนำเข้าอาวุธของไทยโดยรวมในช่วงปี 2554-2555 พุ่งสูงที่สุด และค่อยๆ ลดน้อยลงในปี 2556-2557 นอกจากนี้ยังพบว่า ในบรรดาเหล่าทัพทั้ง 3 เหล่านั้น กองทัพบกนับเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงมาก โดยมีความแตกต่างของงบประมาณสูงกว่ากองทัพเรือและกองทัพอากาศอย่างเห็นได้ชัด
10ปีงบประมาณกลาโหม
งบประมาณกระทรวงกลาโหม
นอกจากนี้เว็บไซต์ดีพเซ้าท์วอชท์ ชี้ถึงความสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้กองทัพไทยยังคงต้องรักษาอำนาจและความมั่นคงทางอาวุธไว้ อาจเป็นเพราะสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งอย่างโดดเด่นในปี 2547 และยืนระยะอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง (protracted conflict) ที่กัดกินสังคมในชายแดนใต้มานานหลายปี

การใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีกับบรรดาอาเซียน ไทยสูงกว่าลาว อินโดฯ ฟิลิปปินส์

หากเทียบค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีของบรรดาประเทศในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2553-2556 โดยข้อมูลของธนาคารโลกหรือ World Bank พบว่า อัตราค่าใช้จ่ายทางทหารต่อจีดีพีของไทย ตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 2549 งบทหารของไทยยังพุ่งไม่หยุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยกเว้นกัมพูชาที่มีการพุ่งสูงขึ้นชัดเจนที่สุด ขณะที่ประเทศอื่นคงที่ ลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยค่าใช้จ่ายทางการทหารของไทยอยู่อันดับที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน สูงกว่าลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ในขณะที่สิงคโปร์ครองแชมป์อันดับหนึ่ง ส่วนเมียนมาร์ไม่มีรายงานตัวเลข
Screen Shot 2558-04-12 at 1.47.42 AM
กราฟแสดงค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีของประเทศในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2553-2556 http://data.worldbank.org/indicator/MS.MIL.XPND.GD.ZS/countries/TH-BN-VN-PH-KH?display=default
ค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีของประเทศในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2553-2556
  1. สิงคโปร์ 3.4, 3.3, 3.3 และ 3.3
  2. บรูไน 3.2, 2.5, 2.4 และ 2.6
  3. เวียดนาม 2.3, 2.0, 2.2 และ 2.2
  4. กัมพูชา 1.6, 1.6, 1.5 และ 1.6
  5. มาเลเซีย 1.6, 1.7, 1.5 และ 1.5
  6. ไทย 1.5, 1.6, 1.5 และ 1.5
  7. ฟิลิปปินส์ 1.2, 1.2, 1.2 และ 1.3
  8. อินโดนีเซีย 0.7, 0.7, 0.9 และ 0.9
  9. ลาวอยู่ที่ 0.2, 0.2, 0.2 ส่วนในปี 2556 ไม่มีรายงาน

อ่านหมากการทูตระหว่างปท.ยุค”คสช.” ก่อนบิ๊กตู่ไปนิวยอร์ค-เดวีส์มากรุงเทพ

อ่านหมากการทูตระหว่างปท.ยุค”คสช.” ก่อนบิ๊กตู่ไปนิวยอร์ค-เดวีส์มากรุงเทพ
Cr:สำนักข่าวอิศรา

อีกไม่นานจากนี้ "เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์" จะมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ หลังจาก สถานทูตสหรัฐอเมริกาว่างเว้นตำแหน่งนี้มานานร่วมจะครึ่งปีแล้วนับแต่ "นางคริสตี เคนนีย์" ได้ครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ไปตั้งแต่ พฤศจิกายน 2557

ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า เร็วๆนี้เช่นกัน พลเอกซู่ชินเลี่ยง รองประธานคณะกรรมการทหารกลางกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่ว่ากันว่าเป็นบิ๊กกองทัพของจีน คนหนึ่ง ก็มีข่าวว่าจะเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการและเข้าพบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมที่เพิ่งกลับจากการเยือนจีนเมื่อช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์

ขณะเดียวกันแม้ยังไม่แน่ชัดว่า สุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จะเดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการทันในสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของ ดมิตรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียหรือไม่ และยากจะรู้เช่นกันว่า วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะตอบรับเทียบเชิญรัฐบาลมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการหรือไม่ 

แต่ที่แน่ๆ อีกหลายเดือนข้างหน้าต่อจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จะเดินทางไปยังนครนิวยอร์ค เพื่อร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติแน่นอนแล้ว รวมถึงจะขึ้นไปกล่าวปาฐกถาด้วย ตามคำยืนยันของผู้บริหารในกระทรวงการต่างประเทศ

การเมือง-การทูตระหว่างประเทศในยุครัฐบาล คสช.ต่อจากนี้ไปจนถึงวันที่ก้าวลงจากอำนาจ ที่เหลือเวลาอีกร่วมปี จะเป็นอย่างไรต่อไป?

รัฐบาลจะไปจับมือกับ “จีน-รัสเซีย”แบบแน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศในอียู ที่ไม่ยอมรับรัฐบาลคสช.จริงอย่างที่หลายฝ่ายวิเคราะห์หรือไม่ แล้วหากเกิดขึ้นจริงจะมีผลอย่างไรกับการเมืองระหว่างประเทศในระยะยาว

มีความเห็นหลากหลายตามมาในเรื่องนี้ จากการสัมภาษณ์ของทีมข่าวการเมืองเฉพาะกิจ "อิศรา" ดังนี้
เริ่มที่ “อ. สุรัตน์ โหราชัยกุล”อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า เขาไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับสิ่งที่หลายคนออกมาวิเคราะห์ว่าการที่ช่วงหลังคสช.พยายามยกระดับความสัมพันธ์กับบางประเทศที่เป็นประเทศใหญ่เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย เพื่อต้องการบาลานซ์กับสหรัฐอเมริกาตลอดจนกลุ่มประเทศในอียู ที่แสดงท่าทีไม่ยอมรับรัฐบาลคสช.มาตลอดร่วมหนึ่งปี

โดย อาจารย์จุฬาฯ ผู้นี้ ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะตอนนี้โลกของเราผ่านช่วงสงครามเย็นมาแล้ว แม้แต่ในช่วงสงครามเย็น ก็มีการปรับเปลี่ยนแปลงอะไรมากหลายอย่าง ถามว่าไทยมีความสัมพันธ์กับรัสเซียไหม ก็พบว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานานแล้ว และไม่ใช่แค่รัสเซีย ที่ผ่านมาหลายสิบปี ไทยก็มีการเปิดความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ทั้งจีน สหรัฐ อินเดีย ในแง่หนึ่งมันเป็นความสัมพันธ์ที่อิงพื้นฐานอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ต้องยอมรับตรงนี้ที่เป็นโครงสร้างรากฐานไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบไหนจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาล คสช.มันก็มีฉันทานุมัติตรงนี้อยู่

ส่วนกรณีที่อย่างผู้นำรัสเซีย เข้ามาไทยแล้วจะมีประโยชน์อื่นการเมืองว่า ไปผูกสัมพันธ์ด้วยแล้ว จะเป็นการคานอำนาจกับบางประเทศอันนี้เราก็ไม่รู้ได้ว่าในใจผู้นำเขาคิดยังไงกัน แต่ประเทศไทยไม่ได้มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับใคร แล้วเราก็พยายามแก้ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับบางประเทศอยู่เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่มีปัญหาจากกรณีเพชรซาอุ ในส่วนของรัสเซีย ไทยเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ไทยไม่ได้คิดจะเป็นศัตรูกับใครอยู่แล้ว กับเรื่องการค้าขาย ไทยกับรัสเซีย ก็มีมาตลอด เรื่องที่สหรัฐกับอียู ไม่ยอมรับรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นการแสดงออกที่ใครต่อใครก็คาดได้อยู่แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ แม้สหรัฐจะถูกมองว่ากับกรณีของไทยเทียบกับกรณีของอียิปต์ สหรัฐฯ กลับใช้คนละบรรทัดฐานกัน เพราะพอเกิดเหตุที่อียิปต์ สหรัฐฯกลับไม่แสดงท่าทีใดๆ จนถูกมองว่ามือถือปากสากถือศีล
ในแง่หนึ่งอาจเป็นการตีความมากเกินไปหรือเปล่า แต่ในใจของผู้นำ พลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรคิดอะไร เราไม่รู้เขาคิดอะไร แต่ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่อยากมีปัญหากับใคร แม้แต่กับเกาหลีเหนือ ไทยก็ยังค้าขายด้วยเลย

กระนั้น”อาจารย์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ”บอกว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในยุครัฐบาลคสช. ช่วงนี้ ใครจะหยิบยกโอกาสจากตรงนี้ต่อไปมันอาจจะมีได้ แต่ผมกำลังยกหลักมาอธิบายว่าในรากฐานการต่างประเทศ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยก็มีพื้นฐานต้อนรับผู้นำจากต่างประเทศอยู่แล้ว อย่างตอนที่ไทยมีส่วนร่วมในการจับกุม วิคเตอร์ บูท( วิกเตอร์ บูท ชาวรัสเซียที่ทำธุรกิจบริษัทรับขนส่งทางอากาศ ซึ่งถูกต้องการตัวโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ด้วยข้อหาค้าอาวุธสงคราม โดยวิกเตอร์ บูทถูกจับกุมตัวที่กรุงเทพเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551 ) ตอนนั้นไทยก็มีความลำบากใจเพราะเวลานั้นไทยกับรัสเซียก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอยู่
“ถามว่าตอนนี้ รัสเซียเห็นว่าสหรัฐกดดันเรา แล้วรัสเซียอยากได้โอกาสมากขึ้นหรือไม่ มันก็เป็นไปได้แต่จะมากน้อยเพียงใดหรือจะมีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ตรงนี้ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ ผมก็ยังตั้งคำถามอยู่ว่า เขาต้องการมาเจรจาเพื่อให้ซื้ออาวุธรัสเซียให้มากขึ้นหรือไม่ เพราะตอนนี้การส่งออกของรัสเซียเน้นการส่งออกเรื่องการขายอาวุธอย่างมาก เพื่อแข่งกับจีนและอินเดีย"
ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องการคานอำนาจกับสหรัฐหรือไม่ ก็เป็นเสียงวิจารณ์กันมากอยู่ แม้แต่ในสหรัฐ เองฝ่ายที่โจมตีพรรค พรรคเดโมแครตและนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลโอบามา ก็มีการอภิปรายและวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าทำไมรัฐบาลกำลังทำให้สหรัฐสูญเสียเพื่อนคนสำคัญอย่างประเทศไทยไปได้ ขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทการทำหน้าที่ของ คริสตี เคนนีย์ จนมีการขยายประเด็นไปเรื่อยๆ
จุดนี้จะทำให้จีนพยายามเฝ้ามองเราไหม ว่าเมื่อไทยกับสหรัฐ ไม่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จีนจะเข้ามาแทรกได้ไหม มาหาประโยชน์ได้ไหม อันนี้มันเป็นนิสัยของทุกประเทศอยู่แล้วโดยเฉพาะมหาอำนาจ แต่ถามว่าการมาไทยของนายกฯรัสเซียก่อนหน้านี้ จะทำให้ไทยเปลี่ยนวิถีทางการต่างประเทศ อันนี้ผมยังมีคำถามและมีข้อกังขาอยู่”เป็นมุมวิเคราะห์ของนักวิชาการจากจุฬาฯ

ถามถึงว่า ไม่ใช่แค่รัสเซีย กับ จีน และอินเดีย โดยเฉพาะจีน ก็มีการให้ความมากเป็นพิเศษ จนมีข่าวจะเพิ่มระดับความร่วมมือด้านความมั่นคง มีการเสนอขายเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทย มุมมองของ”สุรัตน์”เขาเห็นว่า ถ้าให้เราไปตีความโดยให้สมมุติตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ ทันทีเมื่อมีการยึดอำนาจ สิ่งที่ผวามากก็คือปฏิกริยาของประชาคมระหว่างประเทศ ว่าจะมีปฏิกริยาอย่างไรอีกทั้งคนไทยก็ไวมากเมื่อมีปฏิกริยาจากตางชาติมาวิพากษ์วิจารณ์เรา ถ้าเราไปมองในมุมมองของพลเอกประยุทธ์ก็เป็นไปได้ที่เมื่อมีการโจมตีรัฐบาลคสช.จากต่างประเทศโดยประเทศอย่างสหรัฐ ออสเตรเลีย อียู การที่จีนจะหยิบยื่นความสัมพันธ์บางอย่างมาแล้วทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ดูดี มีความชอบธรรม มีการยอมรับจากบางประเทศอย่างจีน มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นตระกะเหตุผลของผู้นำที่ขึ้นมาอยู่แล้ว แต่คำถามสำคัญคือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้มันจะไปเปลี่ยนปทัสถานวิถีการทางการต่างประเทศของไทยอยางสิ้นเชิงเลย ผมว่ามันไม่งาย เพราะโลกของเรามีความสลับซับซ้อนหลายอย่างทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง

ที่ผ่านมาไทยไปอิงกับสหรัฐมากโดยเฉพาะนับแต่หลังสงครามเย็น และตอนนี้เมื่อสงครามเย็นยุติไปแล้ว ความเป็นพหุภาคีก็มีมากขึ้น ทำให้ไทยต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ เยอะแยะมากมาย เราจึงไม่น่าไปมองแบบนั้นทั้งหมด เพราะฐานก็ต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะหากไทยจะไปอิงผลประโยชน์ต่างๆ ไปที่สหรัฐทั้งหมดโดยไม่มองไปที่จีน อินเดีย ตะวนอออกกลาง รัสเซีย มันก็ไปไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด ภาวะพึ่งพาเศรษฐกิจโลก มันก็ทำให้ประเทศต้องมองทุกอย่างเป็นพหุภาคีมากขึ้นไปด้วย

ส่วนระยะยาวต่อจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ใหม่หรือไม่ หลังสหรัฐฯส่งเอกอัครราชทูตคนใหม่มาประจำประเทศไทยแล้ว เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ มีความรู้สึกอะไรบางอย่างต่อกัน “สุรัตน์”ให้ความเห็นว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้น มีอันไหนช่วยเหลือกันได้ โดยไม่ได้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย มันก็เข้าทางพลเอกประยุทธ์อยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าไทยคบรัสเซียแล้วมีผลประโยชน์อะไรกับฝ่ายไทยเช่นเรื่องเศรษฐกิจ ไทยก็คงไม่หยุดแค่รัฐบาลชุดนี้ กลไกต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติ มันคงต้องดำเนินของมันไป ในขณะที่เราสนิทกับจีน ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะไม่สนิทกับอินเดีย เพราะเราก็ค้าขายกับอินเดียจนตัวเลขเพิ่มมากขึ้น ยังไงก็ตาม ทั้งหมดเป็นเรื่องกลไกต่างๆของโลกที่มันเป็นพหุภาคี มากขึ้นด้วย

“สุรัตน์”ยังอ่านความสัมพันธ์รัฐบาลคสช.กับรัฐบาลสหรัฐฯต่อจากนี้จะดีขึ้นหรือไม่ เมื่อทูตสหรัฐฯมาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้วว่า ขึ้นอยู่กับการวางตัวของท่านทูต จะวางตัวอย่างไร จะมีปฏิกริยาอย่างไร จะมองไทยเป็นมิตรแล้วจะส่งเสริมให้ไทยไปสู่การเลือกตั้ง ไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนไหม เพราะที่ผ่านมาสหรัฐก็ไม่ได้ช่วยอะไรไทย จะมาเรียกร้องให้ไทยไปสู่การเลือกตั้งอย่างเดียวแล้วสุดท้ายพอเลือกตั้งเสร็จก็นำไปสู่ความขัดแย้ง การชุมนุมกันอีก มันก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้มีทางออกให้กับเรา

“ส่วนว่าต่อจากนี้ไทยกับสหรัฐ มันจะไปยังไงต่อ ก็อยู่ที่สหรัฐจะทำตัวสร้างสรรค์และมีวิถีทางในการดีลกับประเทศไทยอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา นางคริสตี เคนนีย์ ทำมันไม่ค่อยดี คือมันอาจไปได้ใจคนกลุ่มหนึ่งแต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับเกลียดชังไปเลย จนคนเข้าไปเขียนด่าในเฟสบุ๊กสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เช้ายันเย็น ผมคิดว่าอันนี้สำคัญมากว่าทูตสหรัฐคนใหม่จะเข้าใจปัญหาไทยอย่างไร จะส่งเสริมให้ระบบมันยั่งยืนได้อย่างไร”

ไม่ใช่ว่าพอมีการชุมนุมแล้วมีระเบิด ก็มาประณามคนใช้ระเบิด แต่มันไม่ได้แก้ไขอะไร เมื่อทางบ้านเมืองแก้ไขไปแล้ว สหรัฐมาบอกว่ามันไม่ถูกเพราะมันไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย แล้วจะให้ทำยังไง เพราะคสช.ก็บอกจะให้มีการปฏิรูปจะให้มีเฟสต่างๆ ในช่วงคสช. คือไม่ใช่มานั่งติอย่างเดียว มันก็ไม่อะไรดีขึ้น เพราะขณะเดียวกันหลักการประชาธิปไตยของสหรัฐก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยใช้แบบนี้แต่บางประเทศเช่น อียิปต์ สหรัฐฯ กลับทำอีกแบบหนึ่ง หรือตอนที่ไทยมีการประท้วง แต่สหรัฐกลับไปแสดงออกอะไร แต่พอมีการประท้วงที่ยูเครน สหรัฐกลับไปสนับสนุนการประท้วงที่ยูเครน

รัฐบาลคสช.ในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงช่วงคืนอำนาจ การกดดันจากต่างประเทศต่อรัฐบาลคสช.จะมีมากขึ้นไหม เพื่อให้เร่งคืนอำนาจ?

ผมคิดว่าตะวันตกกำลังกดดันและตั้งคำถามว่าแล้วประเทศไทยต่อจากนี้ คืออะไรต่อไป what is next? เรื่องในอดีตอย่างรัฐประหาร ไม่มีการพูดอีกต่อไปแล้ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นแบบไหน รัฐธรรมนูญออกมาแล้วเป็นอย่างไร มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดแล้วแผนในการคืนอำนาจให้ประชาชนจะเป็นอย่างไร ถ้ารัฐบาลทำให้มันชัดเจนมากขึ้น แรงกดดันจากต่างประเทศก็จะน้อยลง

เชียร์กระชับสัมพันธ์หมีขาว แต่อย่าทำแค่หวังผลเชิงสัญลักษณ์

ด้านความเห็นจาก“สุรพงษ์ ชัยนาม” อดีตนักการทูตคนดัง ที่ผ่านการเป็นทูตมาแล้ว 5 ประเทศ รวมถึงยังเป็นอดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เขาวิเคราะห์เรื่องนี้ในฐานะอดีตนักการทูต โดยบอกว่า การเดินทางไปร่วมประชุมใหญ่สหประชาชาติของพลเอกประยุทธ์ที่สหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นการไปร่วมประชุมในระดับสหประชาชาติ ที่สหรัฐไม่สามารถจะมาแทรกแซงกิจการใดๆของยูเอ็นได้ ผู้นำของหลายประเทศที่สหรัฐเคยไม่รับรองหรือมีปัญหา เช่นฟีเดล กัสโตร ของคิวบา หรือ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบียก็เคยไป แต่การที่พลเอกประยุทธ์จะไปสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้หมายถึงว่ารัฐบาลสหรัฐจะมีอะไรกับพลเอกประยุทธ์แล้วเพราะเป็นเรื่องของเวทีสหประชาชาติ
“อดีตทูตสุรพงษ์”ออกตัวว่า ยังไม่ขอวิจารณ์เรื่องว่า เมื่อ เกล็น เดวีส์ มาทำหน้าที่ทูตสหรัฐฯแล้วจะมีผลกับความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯอย่างไร เพราะเขายังไม่ได้มาทำหน้าที่ การไปวิจารณ์อะไรตอนนี้ก็คงไม่เหมาะสม แต่ไม่ว่าจะเป็นทูตคนไหน เขาก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ประสบความสำเร็จ
พร้อมกันนี้ “สุรพงษ์”อธิบายขั้นตอนการส่งทูตสหรัฐฯไปประจำการในประการส่งเอกอัครราชทูตมาไทย การที่สหรัฐจะส่งทูตไปประจำยังประเทศต่างๆ ว่า ตามขั้นตอนทางกฎหมายของสหรัฐฯ มีดังนี้คือเอกอัครราชทูตที่ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี พอได้ชื่อมาแล้ว ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องส่งชื่อไปให้กระบวนการทางรัฐสภาของเขามีส่วนในการร่วมพิจารณาคือ คนที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา สหรัฐ
ทางกมธ.ต่างประเทศ เขาก็จะตั้งคำถามเช่น เกล็น เดวีส์ คุณรู้จักประเทศไทยแค่ไหน คุณมีประสบการณ์ในภูมิภาคนี้อย่างไร คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเทศไทย หรือมีความ คิดเห็นอย่างไรในเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ ในปัจจุบัน มีข้อดีข้อเสียอย่างไรแล้วหากไปทำหน้าที่ทูตแล้ว คุณจะดำเนินการในฐานะทูตสหรัฐอย่างไรเพื่อให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐดีและอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน
คำถามเหล่านี้ นายเกล็น เดวีส์ จะถูกถาม มันเป็นกระบวนการ ความช้าหรือเร็ว ตรงนี้ผมไม่อยากตีความว่าที่เขาส่งนายเกล็น เดวีส์ มาช้าเพราะว่าเขาไม่พอใจที่รัฐบาลไทยชุดนี้มาจากรัฐประหารอะไร ผมว่าคงไม่ใช่ เพียงแต่กระบวนการการส่งทูตมานอกจากผ่านรัฐสภาของสหรัฐแล้ว อย่าลืมว่าในเดือนพ.ย.นี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อันนี้ก็มีอิทธิพลเพราะตอนนี้ในสภาและวุฒิสภาของสหรัฐ ทางฝ่ายพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเกี่ยวกับนโยบายด้านต่างประเทศของสหรัฐ เป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกัน ตอนนี้ถือว่าเริ่มฤดูเลือกตั้งหาเสียง อะไรที่ฝ่ายเดโมแครตทำทางรีพับลิกันก็แย้งตลอด เรื่องเกล็น เดวีส์ ส่วนหนึ่งก็อาจตกเป็นเหยื่อของฤดูหาเสียง การเลือกตั้งของประธานาธิบดี
“สุรพงษ์”ให้ความเห็นด้วยว่า การที่สหรัฐฯ ส่ง เกล็น เดวีส์ มาช้า ไม่ใช่ว่าเพราะนายเกล็นมาทำหน้าที่แล้วจะทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐต่อไทยจะเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะอย่าลืมว่าในด้านต่างประเทศ ของสหรัฐหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเดโมแครตหรือรีบพับลิกัน ใครเป็นรัฐบาล นโยบายต่างประเทศของสหรัฐก็ไม่เคยเปลี่ยน เพียงแต่วิธีการของสองพรรคจะต่างกัน แต่เป้าประสงค์ในเรื่องนโยบายต่างประเทศของสองพรรคมีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าวิธีการในการดำเนินการจะแตกต่างกันบ้างรวมถึงการจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาจะแตกต่างกัน แต่เป้าประสงค์ไม่แตกต่างกัน ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านนี้
นอกจากนี้ เขาวิเคราะห์เรื่องทิศทางการต่างประเทศในยุครัฐบาลคสช.ว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย ไทยกับจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานานแล้วอย่างจีน ก็มีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่ปี 2518 ที่ไทยมีการไปผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ตลอดจนความใกล้ชิดกันด้วยเรื่องต่างๆ เช่นยุทธศาสตร์ความมั่นคง เช่นตอนที่เวียดนามได้เข้าไปรุกรานกัมพูชา ทำสงครามกับเขมรแดง เราก็มองว่าเวียดนามเป็นภัยโดยตรงต่อความมั่นคงของไทย ทำให้เมื่อเขมรแดงร่นถอยมาอยู่ฝั่งไทย ทำให้ไทยจึงไปสนับสนุนเขมรแดง ขณะเดียวกัน จีนเองก็ขัดแย้งกับเวียดนาม และรัสเซียที่เป็นสหภาพโซเวียตตอนนั้นไปถือหางเวียดนาม จีนก็ถือหางเขมรแดง จากนั้นมาพอสิ้นสุดสงครามเย็น ไทยกับจีน ก็มีความสนิทแนบแน่นกันมาโดยตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมาและมีความร่วมมือกันหลายด้าน
ส่วนไทยกับรัสเซีย ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีของรัสเซียมาไทยที่เป็นการบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยไปสหภาพโซเวียตในอดีต ความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซีย มีมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลายยุคสงครามเย็น การที่ทางรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เชิญนายกรัสเซียมาไทย ก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ไทยให้ความสำคัญกับรัสเซีย และรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก่อน เพราะหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย บทบาทของรัสเซียในภูมิภาคเรามันลดลงไปมาก
“ผมมองว่าการที่นายกรัสเซียมาไทยเป็นสัญญาณที่ดี เป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนที่ว่าเป็นการดำเนินนโยบายเพื่อปรับสมดุลอำนาจในภูมิภาค เพื่อให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาค ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถมองได้ว่ารัฐบาลเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของไทยที่จะปรับดุลแห่งอำนาจของมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์อยู่ในประเทศไทยและมีผลประโยชน์อยู่ในภูมิภาคนี้ ทั้งจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
การดำเนินการของรัฐบาลคสช.ในการให้ความสำคัญกับประเทศอย่างรัสเซีย เป็นนโยบายที่ถูกต้องในการปรับดุลอำนาจ ระหว่างมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์อยู่ในประเทศไทยและในภูมิภาค
แต่ข้อสำคัญคือนโยบายที่รัฐบาลทำเช่นการเชิญนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาไทย ทำเพื่อต้องการแสดงสัญลักษณ์บางอย่างเฉยๆ ว่าไม่พอใจสหรัฐแค่นั้น แล้วหลังจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องคลื่นกระทบฝั่งไป ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย”
“อดีตนักการทูตผู้นี้”กล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียจะเป็นอย่างไรต่อไป มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคนในรัฐบาลได้เจรจาหรือพูดอะไรกันกับรัสเซีย ผมเข้าใจเองว่ารัฐบาลได้วางนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการเมืองก่อนที่จะเชิญนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาไทย คงมีการคิดปรึกษาหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันแล้ววัตถุประสงค์การเชิญแล้วเมื่อมาแล้ว ไทยจะได้อะไร ผลประโยชน์เฉพาะหน้าคืออะไร และระยะยาวคืออะไร ทางรัฐบาลคงคุยกันมาก่อนแล้ว
“ก็ต้องดูกันต่อไปว่าที่รัฐบาลไปเชิญนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาไทยเพื่อต้องการสร้างภาพเฉยๆให้สหรัฐฯรู้ว่าไม่พอใจ ที่มาก้าวก่าย สั่งการประเทศไทยตามอำเภอใจ ประเทศไทยไม่ใช่เมืองขึ้น แต่เป็นประเทศอิสระ มีเอกราชและอธิปไตยของตัวเอง ถ้าต้องการให้รู้อันนี้ก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเพียงแค่นี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย มันไม่ใช่ ถ้าต้องการปรับดุลอำนาจจริงๆ“เขากล่าวย้ำ
และเสนอแนะต่อไปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย ไทยกับจีน ไทยกับสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้มันต้องมีการวางยุทธศาสตร์ไว้แล้วและต้องรักษาระยะห่าง ที่เหมาะสมอย่างไร เราจะได้อะไรหากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย จีน สหรัฐฯ เราจะได้ประโยชน์อะไร โดยไม่ต้องไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องคิดในแนวนี้
ทูตหลายปท.รุกถามโรดแม็พ กมธ.สนช.รับเหน้าเสื่อแจงให้
ส่วนมุมมองความเห็นจากฝ่ายนิติบัญญัติต่อกรณีเดียวกัน ก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเราได้สอบถามความเห็นเรื่องเดียวกันนี้ไปยัง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เป็น”กรรมาธิการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เพื่อให้วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้
“อนุศาสน์ สุวรรณมงคล สนช.และเลขานุการคณะกรรมาธิการ ต่างประเทศ สนช.” มีมุมมองว่า เท่าที่ดูภาพรวมการเคลื่อนไหวเรื่องนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ก็พบว่า มีการให้ความสำคัญกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย สหรัฐ อินเดีย หรือกลุ่มประเทศ อียู ไม่ได้มีการไปลดความสำคัญกับบางประเทศ อย่างความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐเอง มองดูแล้วก็เห็นว่า ก็มีความสัมพันธ์กันดีอยู่ รัฐบาลคงไม่ได้หวังจะเทน้ำหนักไปที่บางประเทศ เพราะในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลต้องผูกสัมพันธ์ทุกประเทศ แต่ก็มีบางประเทศมาให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น ยิ่งการที่สหรัฐฯจะส่งทูตมาประจำประเทศไทยในเร็วๆนี้ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างดี ที่จะส่งมา เดิมคิดว่าจะใช้เวลายาวนานกว่านี้ แต่ดูแล้ว ก็เป็นไปตามขั้นตอน ถือเป็นเรื่องที่ดี
“กมธ.ต่างประเทศ สนช.”เปิดเผยด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้มีทูตจากหลายประเทศ ได้เดินทางมาพูดคุยกับกมธ.ต่างประเทศ สนช. ไม่ว่าจะเป็นทูตของ ออสเตรเลีย อังกฤษ อินโดนีเซีย สวิสเซอร์แลนด์ ทางกมธ.ต่างประเทศ ก็ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นและร่วมชี้แจงเรื่องปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
“พบว่าทูตหลายคน ก็มีการตั้งคำถามกับกมธ.ต่างประเทศ เช่น เรื่องโรดแม็พการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของประเทศ มีการสอบถามความคืบหน้าและขอความชัดเจนเรื่องการร่างรธน.ฉบับใหม่ว่าเป็นอย่างไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร ทางกมธ.ต่างประเทศก็ได้ชี้แจงไปว่า ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนตามโรดแม็พที่วางกันไว้เพื่อนำไปสู่การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศในแต่ละช่วงมีอย่างไร และแต่ละช่วงมีขั้นตอนอย่างไง หากมีการทำประชามติร่างรธน. โรดแม็พจะมีผลอย่างไร”

“ยิ่งลักษณ์” โผล่หัวทำบุญตัดกรรมนครพนม อดีต ส.ส.-นายกเล็กตบเท้ารับ

“ยิ่งลักษณ์” โผล่หัวทำบุญตัดกรรมนครพนม อดีต ส.ส.-นายกเล็กตบเท้ารับหน้าสลอน
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะเดินทางทำบุญที่ จ.นครพนม
“ยิ่งลักษณ์” ควงอดีต รมว.พาณิชย์ อดีต รมช.คลัง ลูกชาย พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่นครพนมพบชาวบ้าน ทำบุญไหว้พระธาตุพนม ขณะที่อดีต ส.ส.อีสาน ตลอดจนนายกเล็กเมือง ตบเท้าต้อนรับหน้าสลอน ยันไม่เกี่ยวการเมือง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (21 เม.ย.) ที่ท่าอากาศยานสนามบินนครพนม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และคณะ พร้อมด้วย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือ น้องไปป์ บุตรชาย เดินทางมาพบปะชาวนครพนมและถือโอกาสทำบุญนมัสการองค์พระธาตุพนม
โดยมีนายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่ม ส.ส.อีสาน นายชูกัน กุลวงษา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ นางมนพร เจริญศรี นายยุทธจักร เรืองวรบูรณ์ อดีต ส.ส.นครพนม รวมถึงอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ภาคอีสานและแกนนำกลุ่มพลังมวลชน ประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ภายหลังเดินทางถึง จ.นครพนม นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม พร้อมคณะผู้บริหาร และผู้นำท้องถิ่นได้ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมหอสมุดเมืองนครพนม ซึ่งดำเนินการก่อสร้างเป็นสถานที่รวบรวมประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองนครพนม บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนที่ให้การสนับสนุนแห่มามอบดอกไม้ให้กำลังใจ ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมหอเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี บริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำหนองญาติ ต.หนองญาติ อ.เมือง ที่รวบรวมประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีตเกี่ยวกับ จ.นครพนม
นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปรับประทานอาหารที่บ้านของนายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม พร้อม นางสุจินดา ศรีวรขาน รองนายก อบจ.นครพนม ที่ อ.เรณูนคร พร้อมพบปะชาวบ้านชนเผ่าผู้ไทยเรณูนคร ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมประเพณี
ในโอกาสนี้ได้มีการแสดงรำผู้ไทยเรณูนคร รำบายศรีสู่ขวัญ ก่อนทำพิธีผูกข้อมือตามประเพณีเพื่อเป็นสิริมงคล และเดินทางไปทำบุญนมัสการ สรงน้ำองค์พระธาตุพนม ตามประเพณี
นายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม แกนนำกลุ่ม ส.ส.อีสาน กล่าวว่า ในการเดินทางมาครั้งนี้ของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง และไม่มีนัยการเมือง แต่เป็นการมาพบปะ ท่องเที่ยวเป็นการส่วนตัวในฐานะประชาชน ซึ่งตนอยากให้เข้าใจว่าไม่ได้มาสร้างกระแสการเมือง เพราะเราเข้าใจสถานการณ์บ้านเมือง และทุกคนไม่มีเจตนาให้ประเทศชาติวุ่นวาย
พร้อมจะสร้างความสามัคคีให้ประเทศชาติมีความสงบสุข ที่สำคัญเราทางฝ่ายการเมืองเคารพในกฎกติกาบ้านเมือง ส่วนในครั้งนี้ถือเป็นการต้อนรับส่วนตัวตามประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น และใครจะมาต้อนรับหรือชอบเป็นการส่วนตัวถือเป็นเรื่องธรรมดา