PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559

ร่างรัฐธรรมนูญเปิดทาง "นายกฯ คนนอก" เฉพาะคนแรกหลังเลือกตั้ง



หนึ่งในข้อถกเถียงต่อร่างรัฐธรรมนูญที่สังคมสนใจ คือ ร่างรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือ 'นายกฯ คนนอก' ได้หรือไม่ ประเด็นนี้สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทยมายาวนาน และเป็นประเด็นหลักของการต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำไปลงประชามติก็เปิดทางให้รัฐสภาตั้ง 'นายกฯ คนนอก' ได้อีกครั้ง สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงครั้งเดียว
 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 กำหนดไว้ในมาตรา 88, 158 และ 159 ว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง พรรคละไม่เกินสามรายชื่อ 
 
แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่ารายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอจะต้องเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ทำให้อาจเข้าใจได้ว่า คนที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี อาจไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ แต่เนื่องจากพรรคการเมืองต้องเสนอสามรายชื่อก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นหากประชาชนไม่ชอบรายชื่อใดก็ยังพอจะตัดสินใจไม่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองนั้นได้ ระบบเสนอสามรายชื่อก่อนเลือกตั้งนี้อาจจะเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องเป็นส.ส.ได้ แต่ไม่ถึงกับเป็นช่องทางให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งเสียทีเดียว
 
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มีมาตรา 272 อยู่ในหมวดบทเฉพาะกาล ที่กำหนดว่า 
 
"มาตรา 272 ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดําเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้"
 
หลักการตามมาตรา 272 เปิดโอกาสให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ก่อนการเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มี "นายกฯ คนนอก" ที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งได้โดยตรง โดยก่อนที่จะมี "นายกฯ คนนอก" ได้นั้น จะต้องมีสามขั้นตอนประกอบกัน คือ 
 
1) ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา
2) รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้
3) ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน
 
อีกหนึ่งข้อสังเกตต่อมาตรา 272 คือ มีคำว่า "ในวาระเริ่มแรก" ซึ่งน่าจะหมายถึงวาระที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ เท่ากับว่าหลักการที่เปิดช่องให้มี 'นายกฯ คนนอก' ได้ตามมาตรา 272 น่าจะใช้กับการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงได้ครั้งเดียว หลังจากนั้นไม่ว่าจะเลือกตั้งกันอีกกี่ครั้งก็ไม่อาจนำมาตรา 272 มาใช้เพื่อตั้งนายรัฐมนตรีจากนอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้อีกแล้ว
 
 
 
 
ร่างแรกของ กรธ. ไม่ได้เปิดช่อง 'นายกฯ คนนอก' ไว้ชัดเจน แต่ถูก คสช.-สนช. ท้วงติง
 
จากร่างแรกที่ กรธ.เคยเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ในมาตรา 83 กำหนดไว้ว่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองส่งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกินสามรายชื่อ โดยไม่ได้กำหนดว่าสามรายชื่อนั้นจะต้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ และเมื่อเลือกตั้งแล้วมาตรา 154 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้
 
เท่ากับว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของ กรธ.ยังไม่ได้เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไว้ชัดเจนนัก 
 
แต่หลังจากร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก เผยโฉมออกมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับไม่เห็นด้วยกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีนี้ ดังปรากฏในข้อเสนอของ คสช. ต่อ กรธ. ให้แก้ไข โดยให้เหตุผลไว้ตอนหนึ่งว่า
 
"เรื่องนี้เป็นมาตรการที่เพิ่งจะนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยหลังการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมาและอาจเป็นครั้งแรกในโลกด้วย การพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกติกาสากลเป็นเรื่องจำเป็นแต่การดำเนินการทุกอย่างและโดยทันทีอาจยังไม่เหมาะสมเพราะอ่อนไหวสุ่มเสี่ยงและอันตรายสำหรับระยะเปลี่ยนผ่าน"
 
"ในกรณีนี้ควรพิจารณาถึงอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นเพราะเหตุที่มีเงื่อนไขเข้มงวด เช่น ผู้มีชื่อในบัญชีถอนตัวหรือตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในภายหลัง หรือไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากจนจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองอื่น แต่ไม่อาจตกลงในชื่อบุคคลผู้สมควรเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของแต่ละพรรคได้ อันจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลประสบปัญหา ทั้งที่พรรคการเมืองเหล่านั้นอาจเห็นชอบร่วมกันให้เสนอชื่อบุคคลอื่นนอกบัญชี แต่ย่อมไม่อาจทำได้"
 
"ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการหาทางออกในยามวิกฤติในระยะแรกตามบทเฉพาะกาล ก็ควรงดเว้นไม่นำเรื่องการแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 ชื่อตามมาตรา 83 และมาตรา 154 มาใช้บังคับ"
 
 
เท่ากับคสช.ยังกังวลว่า การเขียนเงื่อนไขว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากบุคคลตามรายชื่อที่ประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้งอาจทำให้ไม่ได้นายรักฐมนตรีที่ทุกพรรคการเมืองเห็นชอบร่วมกัน และนำไปสู่ความขัดแย้งในช่วงที่ประเทศยังอยู่ในวิกฤติได้ แม้ คสช. จะไม่ได้เสนอตรงๆ ว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี 'นายกฯ คนนอก' ได้ แต่ก็ได้กล่าวเป็นนัยๆ เอาไว้ด้วยว่า พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งอาจเห็นชอบร่วมกันเสนอชื่อบุคคลอื่นนอกบัญชีก็ได้
 
ด้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาและจัดทำข้อเสนอต่อกรธ. โดยมีสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธานกรรมาธิการ สนช. เสนอแก้ไขประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีอีกเช่นกัน ข้อเสนอมีเนื้อหาโดยสรุปว่า คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วมีมติไม่เห็นด้วยกับหลักการที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้เท่านั้น จึงเสนอให้ตัดมาตรา 83 และ 84 ออก 
 
โดยคณะกรรมาธิการของสนช.ให้เหตุผลเอาไว้ด้วยว่า ถ้ารายชื่อที่ถูกเสนอนั้นคัดเลือกมาจากกลุ่มผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วแพ้การเลือกตั้ง บุคคลเหล่านั้นก็จะไม่มีสถานภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดูไม่เหมาะสมที่จะนำรายชื่อเหล่านั้นมาเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรรับรองเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้ารายชื่อที่ถูกเสนอคัดเลือกจากบุคคลที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะเป็นจุดอ่อนให้พรรคการเมืองอื่นโจมตีได้ว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย
 
 
ย้อนดูร่างบวรศักดิ์ ก็ให้มี 'นายกฯ คนนอก' ด้วยเสียง 2 ใน 3 ของส.ส.
 
ข้อเสนอให้มีช่องทางสำหรับ 'นายกฯคนนอก' ปรากฏชัดเจนก่อนหน้านี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ซึ่งมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ที่เผยโฉมออกมาในปี 2558 และถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 165 ในเรื่องการได้มาของนายกรัฐมนตรีไว้ว่า
 
มาตรา 165 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ แต่ในกรณีที่บุคคลได้รับการเสนอชื่อมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 
 
ถือว่า มาตรา 165 เขียนไว้ให้เห็นโดยชัดเจนแล้วว่า สภาผู้แทนราษฎรอาจลงมติด้วยคะแนน 2 ใน 3 ให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีได้
 
 
หลักการ 'นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง' เกิดขึ้นหลังพฤษภา 2535 
 
ในเดือนพฤษภาคม 2535 เกิดกระแสที่ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ทั้งที่เคยกล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไม่รับตำแหน่งนี้ แต่เมื่อหลังการเลือกตั้งณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมที่มีผู้แทนมากที่สุด ไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพราะถูกแบล็คลิสต์จากสหรัฐอเมริกา หลายพรรคการเมืองจึงรวมคะแนนเสียงกันเสนอชื่อพล.อ.สุจินดา ซึ่งไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนนำมาสู่เหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ และเหตุการณ์ความรุนแรง
 
สาเหตุหนึ่งที่สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นสามารถเลือกพล.อ.สุจินดา ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ซึ่งร่างโดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
การชุมนุมขนาดใหญ่ของประชาชน ทำให้กระแสเรียกร้องว่า "นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง" กลายเป็นกระแสความคิดหลักของสังคมไทยในสมัยนั้น แม้กระชุมนุมจบลงด้วยความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ก็ตามมาด้วยการลาออกของพลเอกสุจินดา และมอบหมายให้มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนเป็นการชั่วคราว และตามมาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 159 วรรคสอง กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
รัฐธรรมนูญอีกสองฉบับหลังจากนั้น คือ ฉบับปี 2540 และ 2550 ก็ยึดถือหลักการนี้ไว้แน่นหนาเช่นกัน โดย รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 171 วรรคสอง และ รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดไว้ในมาตรา 201 วรรคสอง ว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
แต่หากย้อนดูตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากรัฐธรรมนูญทั้งหมด 19 ฉบับของ มีเพียง 4 ฉบับที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517, ฉบับปี 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535, ฉบับปี 2540 และ ฉบับปี 2550 เท่านั้น ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนทำให้การมี 'นายกฯ คนนอก' เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการเมองไทยในอดีตมาอย่างยาวนาน
 
 

"เฉลิม" แจงภาพคนใส่รองเท้าให้ยันเป็น "คนสวน" ชื่อ "ไอ้หยอง" ไม่ใช่ตำรวจ ชี้รู้ตัวมือโพสต์รูปแล้ว

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 17:14:00 น
(ข่าวเก่า)




ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า จากกรณีนักนักท่องอินเตอร์เน็ต และสมาชิกเฟซบุ๊ก ส่งต่อภาพ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ขณะยืนอยู่ท่ามกลางตำรวจ และมีชายคนหนึ่งก้มลงถอดรองเท้าให้ จนทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นโลกออนไลน์ว่า เหมาะสมหรือไม่ พร้อมกันนั้นนักท่องเน็ตบางรายยังตั้งคำถามโจมตีว่าชายคนที่ใส่รองเท้าให้ร.ต.อ.เฉลิม เป็นตำรวจหรือไม่ ถ้าเป็นถือเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวถูกโพสท์ขึ้นครั้งแรกที่ แฟนเพจของ Bangkok Post Learning โดยให้รายละเอียดไว้ว่า  “It looks like when you are an important deputy prime minister you can expect help with just about everything. Photo by Somchai Poomlard”

ล่าสุด วันที่ 29 ก.พ. ร.ต.อ.เฉลิม ได้ชี้แจงกล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่รูปคนใส่รองเท้าให้ตนเองบนหน้าเฟซบุ๊ก ว่า เป็นคนสวนชื่อ “ไอ้หยอง” เวลาป่วยก็มาเฝ้า มาคอยช่วยนวด ภาพนั้นจะขึ้นไปกราบศาล ต้องถอดรองเท้าและจะล้ม ไอ้หยองก็ไปดึงให้ อาการปวดศีรษะมันเป็นบางครั้ง ถ้าแดดร้อนจะเป็น ถ้าแดดไม่ร้อนก็ปกติ อายุ 64 ปีแล้ว ลูกน้องตนไม่ได้เป็นข้าราชการ คนสวนที่บ้านมาช้อนรองเท้าใส่ให้

"ถ้าอย่างนี้มันเลวบ้านเมืองมันก็ลำบาก ถ้าตนไปใช้ตำรวจ ไม่ให้เกียรตินายตำรวจ อันนี้ไม่เหมาะสมเพราะตนเป็นนักการเมือง ถ้าอย่างนั้นเวลาอยู่บ้านไปเรียกเขาตักข้าวต้องกราบเหรอ ไปกันใหญ่แล้ว ส่วนคนที่เอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเป็นผู้หญิงคนหนึ่งอยู่จังหวัดสระบุรี แป๊บเดียวตนก็รู้แล้ว" ร.ต.อ.เฉลิม ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภาพดังกล่าวถ่ายโดยนายสมชาย ภูมิลาด ช่างภาพของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยนายสมชายยอมรับว่าเป็นผู้ถ่ายภาพดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่ารูปดังกล่าวใครเป็นผู้นำไปโพสต์ทางอินเตอร์เน็ต
จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์  พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่รองนายกรัฐมนตรีกำลังสักการะศาล หน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)  สวนพลู   ระหว่างเดินทางไปมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 27 กุมภาพันธ์  2555 ที่ผ่านมา  ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้สื่อข่าวในพื้นที่ว่า ร.ต.อ.เฉลิมเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าวจริง ในช่วงเวลาดังกล่าว

"บิ๊กตู่" ฉุนขาด หงุดหงิดโพสต์ภาพถอดรองเท้า ชี้คนเผยแพร่จิตใจต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
และ หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีมีผู้โพสต์ภาพขณะ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรี
ช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้ามาช่วยถอดรองเท้าให้นายกฯ ระหว่างที่ตัวแทนนักเรียนอาชีวะ
จากวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพฯ ได้นำเครื่องสแกนรูปเท้า “ฟุตสแกนเนอร์” เพื่อใช้เป็นโมเดลวัด
ขนาดแผ่นยางรองรองเท้าเพื่อสุขภาพจากแนวคิดของนักเรียน โดยนายกฯ กล่าวด้วยอารมณ์หงุดหงิด
ว่า คนเผยแพร่มีจิตใจต่ำ  

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากที่ให้รุ่นน้องของผมถอดรองเท้าวัดให้เมื่อเช้านี้ เจตนาของผมไม่มีอะไร 
เเต่คนที่ส่งภาพออกไป อยากจะบอกว่าจิตใจมันต่ำ ใครไม่รู้ ว่าจะไม่โมโหละนะ ผมไม่เคยดูถูกคน 
มันเป็นเรื่องของความผูกพัน ถ้าเห็นว่าไม่สมควร ผมก็ขอโทษด้วยละกัน

“ใครถ่ายว่ะ มันเป็นเรื่องภายในของผม” นายกฯ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานข่าว ระบุว่า ระหว่างพล.อ.สุรเชษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาช่วย
ถอดรองเท้าให้ทำให้บิ๊กตู่ถึงขนาดเอามือไปจับหลังบิ๊กน้อย พร้อมยิ้มและกล่าวคำขอบคุณ โดยนายก
รัฐมนตรีได้หันมาพูดแก้เขินว่า “เท้าฉันสะอาด ไม่ต้องห่วง”

อย่างไรก็ตาม ผลการสแกนเท้านายกฯ มีรูปเท้าที่ปกติ ถือว่าเป็นคนที่มีสุขภาพเท้าดี ทั้งนี้ ทางตัวแทน
นักเรียนจะนำรูปเท้าที่ได้จากการสแกนมาผลิตเป็นแผ่นรองเท้าขนาดเบอร์ 42 นิ้ว มอบให้นายกฯ ไว้ใช้ 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.สุรเชษฐ์ ถือเป็นนายทหารที่สนิทกันมานาน โดยพล.อ.ประยุทธ์ เป็น
นักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 23 ขณะที่พล.อ.สุรเชษฐ์ เป็นนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 25

"วรชัย เหมะ" ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 3 คืน

"วรชัย เหมะ" ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 3 คืน พร้อมระบุ ยังคงยืนยันจะแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้องต่อไป และเห็นควรให้มีการจัดตั้งเวทีเปิดกว้างเรื่องรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่แท้จริง
***************************************************************************
นายวรชัย เหมะ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ได้รับการปล่อยตัวจากเจ้าหน้าที่ทหารภายหลังจากถูกควบคุมตัวที่บ้านพักส่วนตัวย่านสมุทรปราการเพื่อปรับทัศนคติ เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา จากกรณีที่นายวรชัยวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ
.
นายวรชัย เปิดเผยว่า ขอบคุณสื่อที่ติดตามข่าวตลอดระยะเวลาสองวันสามคืนที่ถูกควบคุมตัว ซึ่งได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ทหารอย่างเป็นกันเอง เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการกดดันอะไร แต่มีนายทหารบางท่านมานั่งพูดคุยและขอร้อง ว่าอย่ามีการพูดลักษณะที่มีการหมิ่นเหม่ กดดันหรือชักนำให้ใครเสียหาย ซึ่งตนเองเป็นนักการเมืองที่มาจากประชาชน สิ่งที่พูดไปไม่ได้มีเจตนาให้ร้ายแต่พูดตามข้อเท็จจริง นักการเมืองทุกคนไม่ใช่คนเลวร้ายทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่ต้องดูด้วยว่าการพูดของแต่ละคนมีลักษณะอย่างไร หากอนาคตของชาติจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องบอกให้ประชาชนทราบ
.
ส่วนสิ่งที่กระทำอยู่บางครั้งในการปกครองประเทศภายใต้กรอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ควรรับฟังความคิดเห็นเนื่องจากบางครั้งความคิดเห็นแบบทหารและนักการเมืองย่อมแตกต่างกัน พร้อมยืนยันว่า จะยังคงพูดในสิ่งที่ควรทำว่าจะทำอย่างไรต่อไป และควรมีการจัดตั้งเวทีในการเปิดกว้างเรื่องรัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้ คสช.ปลดล็อคการทำประชามติภายใต้กรอบประชาธิปไตยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งการบริหารประเทศควรมีแนวทางการเมืองที่ถูกต้อง คือ ต้องให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง จะได้มีต้องมีการแก้ไขเกิดขึ้น และยืนยันว่าการมีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะประเทศไทยเสียเวลามามากพอแล้ว ตนเองต้องการแก้ปัญหาให้ประเทศอย่างจริงจัง ต้องการให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องคอรัปชั่น
.
สำหรับกรณีที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะมีการจัดหลักสูตรอบรม 3 ถึง 7 วันให้กับนักการเมืองที่ถูกเรียกปรับทัศนคตินั้น นายวรชัย ระบุว่า ยังไม่ถึงขั้นมีหลักสูตรมานั่งอบรมตามที่เป็นข่าว แต่เป็นเพียงการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเท่านั้น

ช็อตเด็ด! ไม่รัก-ไม่ทำให้ บิ๊กน้อย คุกเข่าถอดรองเท้าให้ ‘บิ๊กตู่’

ช็อตเด็ด! ไม่รัก-ไม่ทำให้ บิ๊กน้อย คุกเข่าถอดรองเท้าให้ ‘บิ๊กตู่’


ชุลมุน...รุมช่วยกัน ทั้งถอดและใส่รองเท้าให้นายกฯ หลังถอดรองเท้าสแกนเท้า เพื่อตัดรองเท้า บิ๊กตู่ เบอร์42นิ้ว นายกฯคุยเท้าสะอาด เตะหนัก
ก่อนการประชุม ครม. พลเอกประยุทธ์ ร่วม อีเว้นท์ การจัดงาน “การศึกษาสร้างชาติ ตลาดคลองผดุงฯ...สร้างสุข” ซึ่งจะจัดขึ้นบริเวณตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 1-24 เมษายนนี้
โดยนักเรียนอาชีวะจากวิทยาลัยศิลปหัตกรรมกรุงเทพฯ ได้นำเครื่องสแกนรูปเท้า “ฟุต สแกนเนอร์”เพื่อใช้เป็นโมเดลวัดขนาดแผ่นยางรองรองเท้าเพื่อสุขภาพจากแนวคิดของนักเรียน
โดยนักเรียนขอให้นายกฯประชาสัมพันธ์เครื่องสแกนรูปเท้า โดยการทดลองสแกนเท้า แต่นายกฯ ไม่สามารถถอดรองเท้าเองได้ ก้มไม่ถนัด เลยเรียกให้ บิ๊กน้อย พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาช่วยถอดรองเท้าให้
ผลการสแกนเท้า นายกฯมีรูปเท้าที่ปกติ ถือว่าเป็นคนที่มีสุขภาพเท้าดี ทั้งนี้ทางตัวแทนนักเรียนจะนำรูปเท้าที่ได้จากการสแกนมาผลิตเป็นแผ่นรองเท้าขนาดเบอร์ 42 นิ้ว มอบให้นายกฯ ไว้ใช้
นายกฯ เปรยว่า เท้าฉันสะอาด สวย แถมเตะหนักด้วย


ด่วน! บิ๊กตู่ใช้ ม.44 เด้งผู้ว่าราชการรวดเดียว 4 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ ๑๒/๒๕๕๙
เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง
เพื่อให้การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินด้านการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการในกระทรวงคมนาคมมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้บุคคลดังต่อไปนี้ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม เพื่อย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี
ตามข้อ ๑ แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๖/๒๕๕๘ เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
(๑) นายยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
(๒) นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
(๓) นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
(๔) นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
การย้ายหรือโอนบุคคลไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เป็นอัตรากำลังชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง
ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ในกรณีนี้ให้สำนักงานปลัด
สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมกันกำหนดชื่อตำแหน่งหน้าที่
ความรับผิดชอบ และสิทธิประโยชน์ของบุคคลดังกล่าวโดยอนุโลมตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
ข้อ ๒ ให้ นายธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
ข้อ ๓ ให้ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
ข้อ ๔ ให้ นายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
ข้อ ๕ ให้ นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงมหาดไทยรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
ข้อ ๖ ให้ นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงกระทรวงคมนาคม และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
ข้อ ๗ ให้ข้าราชการตามข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๕ ปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่ง
ตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป
ข้อ ๘ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยด่วนและให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๒๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
ข้อ ๙ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นายกฯของขึ้นให้ไก่อูดู โดนล้อน้ำพริกนรก"ประยุทธ์"

“นายกฯ” ชี้ปมปัญหา “น้ำพริกแม่ประนอม” เป็นเรื่องภายในครอบครัว ถามกลับวันนี้สังคมรู้ข้อเท็จจริงแล้วหรือยัง
เมื่อเวลา 14.50 น. วันที่ 29 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีปัญหาของน้ำพริกแม่ประนอมว่า สื่อรู้สาระแล้วหรือยังว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องพิสูจน์กันไป ทำไมต้องไปตัดสินเขา มันเป็นเรื่องในครอบครัว เขามีลูกกันกี่คน การบริหารธุรกิจในครอบครัวเขาคิดตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันก็ไปขึ้นศาล หรือจะต้องให้ตนตัดสิน
“จะให้ผมสั่งอะไรอีก จะน้ำพริก จะปลาทู อะไรอีกล่ะ แล้วก็บอกว่าผมทำแต่เรื่องเล็ก ทั้งที่เรื่องใหญ่ก็ทำ ปกติเล็กๆ มิต้าเขาไม่หรอก แต่อันนี้ทำหมดเล็กก็ทำ ใหญ่ก็ทำ เพราะเรื่องเล็กมันเป็นผลกระทบต่อประชาชน ใหญ่ๆ เรื่องโครงสร้างผมก็ทำ” นายกฯกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างนั้นนายกฯได้ขอดูรูปในโทรศัพท์มือถือผู้สื่อข่าวที่โลกโซเชียลมีเดียได้ทำภาพตัดต่อล้อเลียนกระปุกน้ำพริกนรก “พ่อประยุทธ” และระบุสโลแกน “ของแท้มีอะไรกันนักกันหนา ปั๊ดโธ่” โดยมีรูปนายกฯ อยู่บนฉลากด้วย โดยนายกฯ กล่าวว่า “เรื่องนี้ฉันควรจะโกรธ ฉันขี้เกียจโกรธ มันไม่ผิดเพราะมันเขียนชื่อไม่ใช่ชื่อฉัน แต่เอารูปฉันไปแพร่ ผิดรึเปล่าให้ไก่อูไปดู”