PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

หลวงปู่' พร้อมถอดจีวรเดินเข้าคุก ลั่นภูมิใจตำแหน่งกบฏต่อรัฐบาลขี้โกง

หลวงปู่ขอเป็นกบฏด้วยอีกคน
'หลวงปู่' พร้อมถอดจีวรเดินเข้าคุก ลั่นภูมิใจตำแหน่งกบฏต่อรัฐบาลขี้โกง
25 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 18:51 น.
25 ม.ค. 61 - พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีกบฎหลังอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลพร้อมแกนนำ-แนวร่วมกปปส.เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุดวันนี้ หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) ว่า "วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมานี้ลุงกำนันพร้อมแกนนำอีก ๙ คนเดินทางไปรับฟังคำสั่งคดีกบฏและอั้งยี่ จากสำนักงานอัยการพิเศษ
ซึ่งที่จริงมีแกนนำผู้ถูกกล่าวหา ๕๓ คน
พุทธะอิสระเป็นผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ ๔๐ แต่ติดภารกิจ
จึงให้ทนายนำหนังสือไปยื่นขอเลื่อนนัด
อัยการพิเศษก็ได้กรุณาเลื่อนให้ไปฟังคำสั่งศาลในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑
นับว่าเป็นความกรุณาต่อพุทธะอิสระเป็นอย่างยิ่ง
เพราะจะได้ใช้ช่วงเวลาที่เหลือนี้จัดเตรียมหาเงินเอาไว้ประกันตัว
อีกทั้งยังได้ให้ทนายขอใช้สิทธิ ร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมไม่รู้ว่าจักได้หรือเปล่า
หากไม่ได้ เรื่องมันก็ง่ายมาก แค่ถอดจีวรแล้วไปนอนคุก ก็จบเพราะไม่รู้จักไปเอาเงินที่ไหนไปประกันตัว
และต้องขอขอบคุณ ขอบใจ ในน้ำจิตน้ำใจของทุกท่านที่กรุณาส่งกำลังใจแรงเชียร์ ต่อพุทธะอิสระและแกนนำทุกคน ขออย่าได้ตัดพ้อ น้อยใจ ต่อชะตากรรมที่เกิดขึ้นแก่พวกเรา เพราะนี่คือ ชะตากรรมที่พวกเราเลือกเอง
ด้วยเพราะหากพวกเราไม่เลือกที่จะออกมาสู้ ออกมาเสียสละเราก็ไม่รู้ว่า วันนี้และอนาคตแผ่นดินไทย จะมีสภาพเช่นไร
พวกเราจึงไม่เคยรู้สึกเสียใจในชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเราเลย
เมื่อพวกเราไม่เสียใจ แล้วท่านทั้งหลายจักกังวลใจ ทุกข์ใจไปทำไมกัน
นอกจากไม่เสียใจแล้ว เรายังรู้สึกภาคภูมิใจเสียด้วยซ้ำที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้มีโอกาสทดแทนบุญคุณแผ่นดินด้วยเลือดเนื้อและชีวิตจนได้ตำแหน่งกบฏต่อรัฐบาลขี้โกง
สิ่งที่พวกเราและแกนนำทุกคนทำมา เมื่อเทียบกับวีรกรรมของบรรพบุรุษไทย นับว่าน้อยนิดนัก
ฉะนั้นชะตากรรมที่พวกเราได้รับจึงคู่ควร และกลับรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ชีวิตนี้ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม รักษาความซื่อตรงจนเป็นผลสำเร็จ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบอยู่ได้ทุกวันนี้
สำหรับพุทธะอิสระแล้ว เมื่อไม่มีตัวผู้ติดคุกแล้วอารมณ์เป็นทุกข์ที่ถูกกักขังจะมาจากไหน"
ไทยโพสต์

อดีต40สส.ยื่นปปช.ยุติคดีนิรโทษสุดซอย อ้างกม.ตกไปแล้วไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น!

อดีต40สส.ยื่นปปช.ยุติคดีนิรโทษสุดซอย อ้างกม.ตกไปแล้วไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น!
25 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 11:17 น.

 40 อดีตส.ส. ที่เคยร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ได้ยื่นหนังเรื่องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นำโดย นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ,นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี,นางสมหญิง บัวบุตร อดีต ส.ส.อำนาจเจริญ, นายธวัชชัย สุทธิบงกช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ผ่านนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ เพื่อขอความเป็นธรรมและคัดค้านกรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมไต่สวนคดีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานคณะอนุกรรมไต่สวนฯ

เนื้อหาในหนังสือระบุว่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคาสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ไต่สวน กรณีกล่าวหา นายวรชัย เหมะ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม 40 คน เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทาความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองฯ เมื่อปี พ.ศ.2556 โดยกล่าวหาว่า เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เหมารวมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนาให้พ้นผิด ย่อมเป็นการตรากฎหมายที่เอื้อประโยชน์กับผู้ทุจริตโดยเจตนาด้วย จึงเป็นการสมคบกันในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ เพื่อผ่านกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการยุติธรรม การใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทาความผิดต่อตาแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ2552 โดยมี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ฯ

หลังจากได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนดังกล่าวแล้ว คณะ 40 ส.ส. ได้มีหนังสือกราบเรียนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ทบทวนการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยเห็นว่าสั่งดังกล่าวเป็นการกระทาโดยไม่มีอานาจและเป็นการ กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ต่อมาสานักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา สรุปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจทบทวนการมีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น นางสมหญิง บัวบุตร ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าว ได้ยื่นฟ้อง พลตำรวจเอกวัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน เป็นจาเลยที่ 1 ถึง 9 และนายบวร ยสินทร ผู้ยื่นคำร้องกล่าวหาเป็นจาเลยที่ 10 ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

ในวันนี้คณะ 40 ส.ส. จึงได้ร่วมกันยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวน ให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การเสนอร่างพระราชบัญญัติ เป็นกระบวนการใช้สิทธิของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด
กล่าวคือ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการตราพระราชบัญญัติ โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนมีอานาจเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ตามมาตรา 142 ซึ่งในขณะนั้นได้มีการตราข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ขึ้นใช้บังคับเป็นการเฉพาะ มีหลักเกณฑ์มีขั้นตอนกาหนดไว้ชัดเจน ตั้งแต่การเสนอญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติ การอภิปราย การลงมติ การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ การลงมติทั้งวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ วาระที่ 2 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ และวาระที่ 3 ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ดังนั้นการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อเนื่องไปจนถึงการลงมติวาระที่ 3 จึงเป็นกระบวนการเดียวกัน ของการตรากฎหมายโดยสภาผู้แทนราษฎร ดังที่มาตรา 130 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้บัญญัติรับรองเอกสิทธิ์ไว้ว่า ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่วุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นทางใดมิได้ ดังนั้น คณะ 40 ส.ส. จึงได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองอย่างเด็ดขาด คณะอนุกรรมการ ไต่สวนจะนำการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปเป็นเหตุฟ้องหรือว่ากล่าว เช่นตั้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาในทางใดมิได้เป็นอันขาด

ประเด็นที่ 2 การเสนอร่างพระราชบัญญัติเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญและเป็นกระบวนการหนึ่งในการตรากฎหมาย
โดยที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการแบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ออกจากกัน ภายใต้กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้ โดยอำนาจนิติบัญญัติใช้โดยรัฐสภา ซึ่งการเสนอร่างพระราชบัญญัติเป็นกระบวนการหนึ่งในขั้นตอนของการตรากฎหมาย ส่วนร่างพระราชบัญญัติฉบับใดจะได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ก็เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การดำเนินการต่อไปในขั้นตอนที่ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่หนึ่ง วาระที่สอง วาระที่สาม หรือไม่ ก็ถือเป็นอำนาจอิสระของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งต้องดาเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการและขั้นตอนตามที่รัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรบัญญัติไว้ และเมื่อร่างพระราชบัญญัติผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ต้องส่งให้วุฒิสภาได้พิจารณาก่อน หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงจะนำไปสู่ขั้นตอนการนาร่างพระราชบัญญัติเสนอขั้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรง ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นเรื่องที่อยู่ในวงงาน ของรัฐสภาโดยเฉพาะ นอกเหนือจากนี้แล้วไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายให้อำนาจองค์กรใดเข้ามาตรวจสอบได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ประเด็นที่ 3 การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเป็นหลักการทำกฎหมายปกติที่ผ่านมา มีการตรากฎหมายเช่นนี้ ถึง 23 ฉบับ
การนิรโทษกรรมนั้นเป็นหลักการทางกฎหมายที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลว่าเป็นไปเพื่อลบล้างความผิดให้กับบุคคลซึ่งต้องกระทาโดยองค์กรที่มีอำนาจในการตรากฎหมาย โดยกฎหมาย ให้ถือว่าการกระทำนั้น ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป หากผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาแล้วก็ให้ถือว่า ผู้นั้นไม่เคยกระทำความผิด และไม่เคยได้รับโทษมาก่อน หากรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นยุติลง อันมีผลเป็นการยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษให้กับบุคคล เจตนารมณ์ของกฎหมายนิรโทษกรรม ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนลืมการกระทำนั้นเสีย

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแล้ว จำนวน 23 ฉบับ ซึ่งเนื้อหาของการก่อกบฏและรัฐประหารมีโทษถึงประหารชีวิต ก็มีการนิรโทษกรรมมาแล้ว ทั้งในรูปแบบพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด รวมถึงการนิรโทษกรรมไว้ในบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง การเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับดังกล่าว หาได้เป็นการขัดหรือแย้ง ต่ออนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอรัปชั่นไม่ว่าฉบับหนึ่งฉบับใด เพราะเป็นการตรากฎหมายภายในขึ้นบังคับใช้ มิใช่เรื่องการปฏิบัติระหว่างรัฐต่อรัฐ และโดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อกติกาสากลระหว่างประเทศดังกล่าว ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติอีก 23 ฉบับ ที่ได้เคยประกาศใช้ด้วย

ประเด็นที่ 4 ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ได้มีเนื้อหาเป็นการไปเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะและการทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ถือเป็นการบิดผันการใช้อำนาจ
สาหรับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวนี้ มีหลักการและสาระสำคัญเป็นไปทำนองเดียวกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เคยประกาศใช้มาแล้ว ส่วนกรณีใดจะเข้าเงื่อนไข ที่จะได้รับประโยชน์หากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วย่อมเป็นดุลพินิจของศาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องที่จะพิจารณาไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะคิดและวินิจฉัยได้เอง สำหรับข้อกังวลว่าร่างกฎหมายนี้จะมีผลต่อคดีของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่ถูกศาลฎีกามีคาสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 46,000 ล้านบาท นั้น จะเห็นว่า ตามร่างมาตรา 5 ก็บัญญัติชัดเจนว่าผลของการนิรโทษกรรม ไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใดๆ แก่ผู้ได้รับนิรโทษในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และคดีดังกล่าว เป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญาที่อยู่ในขอบเขตของร่างพระราชบัญญัตินี้

ประเด็นที่ 5 มีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในคราวเดียวกันนี้ถึง 6 ฉบับ
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนั้นสถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะที่เกิดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในสังคม ซึ่งรัฐบาล ที่เข้ามาบริหารประเทศต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ จึงได้ประกาศ เป็นนโยบายของรัฐบาลและได้แถลงต่อรัฐสภา

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รวมถึงร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปรองดองซึ่งมีเนื้อหาเป็นการนิรโทษกรรมเช่นกัน จำนวนหลายฉบับต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรวมได้ในขณะนั้นเป็น จำนวน 10 ฉบับ แต่ขณะนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุระเบียบวาระ เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จานวน 6 ฉบับ

ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทั้งหมด มีเนื้อหาเป็นการนิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งทุกฉบับล้วนมีเจตนาที่ต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นของคนในชาติ ลืมความขัดแย้งและอดีตที่ขมขื่นและให้อภัยต่อกัน เพียงแต่มีสาระสำคัญที่แตกต่างกันในรายละเอียดบางประการเท่านั้น

ประเด็นที่ 6 ร่างพระราชบัญญัตินี้ในที่สุด ไม่ถูกตราขึ้นเป็นกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับใช้
ตามข้อเท็จจริงเมื่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ปรากฏว่าร่างพระราชบัญญัติได้ถูกยับยั้งไว้ และต่อมามีพระราชกฤษฎีกายุบสภา ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจึงตกไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างรอบคอบและเป็นขั้นเป็นตอน จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำความผิดใดๆ จากการร่วมกันลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ซึ่งได้ตกไป ในที่สุด ไม่อาจกล่าวได้ว่าเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นจากการเสนอร่างพระราชบัญญัติ อีกทั้ง โดยหลักการก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการพยายามกระทำความผิด เพราะการเสนอร่างพระราชบัญญัติ หาใช่การลงมือกระทำความผิดและเป็นการใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 7 กรณีเทียบเคียงกับกรณีประธานกรรมการ ป.ป.ช. และประธานอนุกรรมการ ไต่สวนได้ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ....
จะเห็นได้ว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติของคณะ 40 ส.ส. และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของกรรมาธิการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นลักษณะเดียวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั่วไป โดยขอยก กรณีเทียบเคียงกับการที่ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. (พลตารวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ)

และประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ) เข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.... ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีการเสนอแก้ไขจากหลักการของร่างเดิมหลายประการ อาทิเช่น การให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนครบวาระการเพิ่มอำนาจให้กรรมการ ป.ป.ช. ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการดักฟังสื่ออิเลคโทรนิคส์ต่างๆ ได้นั้น ล้วนเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลทั้งสองและบุคคลทั้งสองได้ประโยชน์โดยตรงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ควรกระทำ หากจะถือว่าเป็นการกระทำในฐานะการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งมีความชัดเจนและความร้ายแรงเสียยิ่งกว่ากรณีของคณะ 40 ส.ส. ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงใดสนับสนุนว่ามีการกระทำความผิดเลย ดังจะเห็นได้จากพฤติการณ์ข้อเท็จจริงที่ประธานอนุกรรมการไต่สวนในคดีนี้ แม้ขณะพิจารณามาตราดังกล่าวจะไม่ได้เข้าประชุม แต่ก็ได้สมยอมหรือมีพฤติการณ์ร่วมกันกับ สนช. ด้วยการให้เหตุผลต่างๆ ในที่ประชุม สนช. เพื่อให้ต่ออายุการทาหน้าที่ของตนและกรรมการ ป.ป.ช ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม จนในที่สุด สนช. ได้มีมติต่ออายุการทำหน้าที่ของประธานอนุกรรมการไต่สวนและกรรมการ ป.ป.ช. อีกหลายคนอันอยู่ในประการที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นการบิดผันการใช้อานาจอย่างแท้จริง

ดังที่คณะ 40 ส.ส. ได้ยื่นหนังสือ ขอความเป็นธรรมและเสนอเหตุผลเพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยุติการไต่สวนตามสำระสำคัญทั้ง 7 ประเด็น ดังกล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่า เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและคณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนอยู่นั้น มิใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวนได้ แต่เป็นการก้าวล่วงการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติโดยรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมายและหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง คณะ 40 ส.ส. จึงได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยุติการไต่สวนเสียทันที.

ศาลยกฟ้อง 'รินดา' มือโพสต์หา 'บิ๊กตู่-ภรรยา' ถ่ายเททรัพย์หมื่นล้านไปสิงคโปร์

ศาลยกฟ้อง 'รินดา' มือโพสต์หา 'บิ๊กตู่-ภรรยา' ถ่ายเททรัพย์หมื่นล้านไปสิงคโปร์
25 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 19:22 น.
25 ม.ค.61 - ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3530/2559 คดีที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางรินดา ปฤชาบุตร หรือพรศิริพิทักษ์ ชื่อเล่นหลิน จำเลยคดีความผิดตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6-7 ก.ค. 2558 จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี รินดา พรศิริพิทักษ์ ซึ่งเป็นของจำเลย ใส่ความ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และภรรยา มีใจความทำนองว่า "มาช่วยกันสกัดการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา ฝากถึงเพื่อนๆ และคนไทยทุกคน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทางการเงินการธนาคาร ทางบัญชีและตรวจสอบทรัพย์สิน และพวกไฟแนลเชี่ยลในทุกสถาบันข่าวมาแรงตอนนี้ กลุ่มประยุทธ์ และภรรยา ได้ทำธุรกิจขายทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบไปฝากไว้ที่ประเทศสิงคโปร์" ซึ่งเป็นข้อความเท็จ ซึ่งความจริงแล้ว พล.อ.และภรรยามิได้มีการทำธุรกิจที่ได้มาโดยมิชอบไปฝากไว้ที่ประเทศสิงคโปร์ และไม่ได้กระทำอย่างที่จำเลยใส่ความ เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. และทั่วราชอาณาจักร

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความดังกล่าวอาจจะกระทบกระเทือนหรืออาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง แต่ยังไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคง และฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าข้อความเป็นจริงหรือเท็จอย่างไรจึงพิพากษายกฟ้องนางรินดา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้สืบนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2558 นางรินดาถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมจากบ้านพักย่านคลองสาม จ.ปทุมธานีโดยเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวนางรินดาไปควบคุมตัวที่กรมทหาราบที่ 11 รักษาพระองค์ เป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนถูกนำตัวส่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท.เพื่อทำการสอบสวน

ครั้งนั้น พล.ต.ท.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการ ปอท. แถลงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีที่มีการแชร์ข้อความกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมภรรยา โอนเงินไปที่ธนาคารในประเทศสิงคโปร์จำนวน 10,000 ล้านบาท ตำรวจปราบปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) หน่วยงานความมั่นคงและทหารได้ประชุมร่วมกันเพื่อทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำรายนี้

ทางเจ้าหน้าที่สืบทราบว่ามีผู้โพสต์สู่สาธารณะโดยเฟซบุ๊กเมื่อเมื่อวันที่ 6ก.ค. 2558 โดยใช้ชื่อบัญชีว่า “รินดา พรศิริพิทักษ์" จากการสืบสวนสืบทราบว่าผู้โพสต์คือรินดา ปฤชาบุตร จึงนำมาสู่การฟ้องร้องตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาผิดตามมาตรา 116 ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และผิดตามมาตรา 384 ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14(2).

'วิษณุ'ชูกฎหมายปราบโกง 'ผู้มีอำนาจ' รอดวันนี้แต่ไม่รอดวันต่อไป

'วิษณุ'ชูกฎหมายปราบโกง 'ผู้มีอำนาจ' รอดวันนี้แต่ไม่รอดวันต่อไป

25 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 17:41 น.

25 ม.ค.60 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริต ในกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐอยากเล่า" ตอน "กฎหมายหลายรส เพื่ออนาคตประเทศ" ที่ได้มีการเชิญคอลัมนิสต์และผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริต ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการฟองเงิน(ปปง.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และวันนี้มีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) มาบูรณาการทำงานร่วมกัน และผลงานที่เห็นคือเรื่องการตรวจสอบข้าราชการพัวพันการทุจริตที่มีคำสั่งและประกาศคสช.ที่มีพักงานไปแล้ว และในอนาคตศอตช.อาจจะยกฐานะขึ้นมา

นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกฎหมายป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการเล็ดลอดที่เกี่ยวข้องการปราบปรามการทุจริต พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม หรือกฎหมาย 4 ชั่วโคตร ที่อยู่ระหว่างการปรับแก้ของสนช. และร่างพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่เห็นผู้ที่มีอำนาจและปกปิดอะไรต่างๆ จะถูกกฎหมายเหล่านี้จัดการได้เลย นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ยกเว้นให้ผู้ใด ไม่ได้ยกเว้นให้กับผู้ที่มีอำนาจวาสนา ถ้าจะเล็ดลอดจริงๆก็เพราะใช้กฎหมายไม่ได้ผล กฎหมายก็เหมือนกระดาษ เหมือนดาบ ถ้าไม่ชักหรือถอดออกจากฝักก็ไม่สามารถฟันใครได้ อยู่ที่เจ้าหน้าที่บังคับการ ของอย่างนี้อายุความไม่มี หรือมีอายุความยาว ต่อให้รอดวันนี้ แต่ไม่รอดวันต่อไป วันหนึ่งก็ต้องโดนจนได้ ไม่ว่าจะทุจริตเรื่องใด 

เมื่อถามว่า รวมถึงการจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกเรื่อง หลายเรื่องที่เป็นคดีความไม่ได้เพิ่งมาเกิด เมื่อรัฐบาลพ้นไปก็สมารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้ วันนี้มีศาลอาญาทุจริตแล้ว กรรมตามทันติดจรวดแน่นอน เพราะทำให้คดีทุจริตพิจารณาได้รวดเร็วขึ้น

เมื่อถามว่า มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เปิดเผยว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติแล้ว นายวิษณุ กล่าวว่า ไทยไม่ได้ถอนตัว เพราะไทยไม่เคยเป็นสมาชิก เป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชน.

ด่วน ! มติสนช.196 ต่อ 12 เสียงโหวตเลื่อนโรดแมปยืดใช้กม.ส.ส. 90 วัน

ด่วน ! มติสนช.196 ต่อ 12 เสียงโหวตเลื่อนโรดแมปยืดใช้กม.ส.ส. 90 วัน


มติสนช.196 ต่อ 12 เสียงโหวตเลื่อนโรดแมป เห็นชอบวาระสอง ยืดใช้กม.ส.ส. 90 วัน

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฉบับที่ พ.ศ…. ในวาระ2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ส.ส.พิจารณาเสร็จแล้ว มีจำนวน 178 มาตรา ซึ่งสาระสำคัญที่ถูกจับตามองคือ มาตรา 2 การให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วันนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยนายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวชี้แจงว่า ความจำเป็นการเลื่อนเวลาบังคับใช้ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ 90 วันเพื่อให้ประชาชน พรรคการเมือง ได้ศึกษา ทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคน จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 90 วัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกฎหมายหลายฉบับที่มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย


ต่อมา เวลา 20.30 น.ภายหลังที่สมาชิกอภิปรายครบถ้วนทั้ง 178 มาตรา ที่ประชุม สนช.ได้เริ่มลงมติเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 โดยมาตรา 2 ว่าด้วยการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผลปรากฏที่มีประชุมเห็นด้วย 196 ต่อ 12 งดออกเสียง 14 คะแนน

ปลด ‘เปรมศักดิ์’เหตุจับนักข่าวแก้ผ้า - อุ้ม‘บิ๊กป้อม’นาฬิกาหรู เรื่องส่วนตัว

ปลด ‘เปรมศักดิ์’เหตุจับนักข่าวแก้ผ้า - อุ้ม‘บิ๊กป้อม’นาฬิกาหรู เรื่องส่วนตัว

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 25 มกราคม 2561 เวลา 13:13 น.
เขียนโดย
isranews


พลิกคำสั่ง หัวหน้า ม.44 ที่ 50/2559 พักงาน ‘หมอเปรมศักดิ์’ ปมพฤติกรรมจับนักข่าวแก้ผ้า เทียบเคียง ประเด็นทรัพย์สินนาฬิกาหรู อุ้ม พล.อ.ประวิตร ‘บิ๊กตู่’ชี้เรื่องส่วนตัว
250118 scoop1fds
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่หยุด กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะใช้อำนาจออกคำสั่งมาตรา 44 ปลดหรือพักงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเนื่องมาจากนาฬิกาหรู โดย พล.อ.ประยุทธ์ให้เหตุผลสรุปว่า
1.การใช้คำสั่ง ม.44 ในช่วงที่ผ่านมาเป็นการใช้ตามข้อเสนอของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เสนอขึ้นมา กรณีนี้ก็ต้องรอฟัง ป.ป.ช.จะเสนอเรื่องขึ้นมา
2. เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความบกพร่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน
“ขอให้แยกแยะให้ออกว่าอันไหนใช้งบประมาณของรัฐ อันไหนเป็นเรื่องส่วนตัว ท่านก็ต้องไปแก้ไขในเรื่องส่วนตัวของท่านในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระให้ได้ เท่านี้ดีกว่า” คำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 23 ม.ค.2561
จากกรณีดังกล่าวพลิกข้อมูลการใช้คำสั่ง ม.44 ของหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งพักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ (ข้าราชการ และ นักการเมืองท้องถิ่น) ในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวน 9 ครั้ง ประมาณ 328 ราย มีอย่างน้อย 1 รายที่เหตุผลในการสั่งพักงานมาจากการสอบสวนในเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว คือ คำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 50/2559 วันที่ 25 ส.ค.2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 พักงาน นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น (คำสั่งนี้พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกรุงเทพฯด้วย)
คำสั่งฉบับดังกล่าวระบุว่า
“โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบางรายซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มูลกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือมีพฤติกรรมซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ แม้ผลการตรวจสอบหรือการสอบข้อเท็จจริงในขณะนี้ ยังไม่อาจสรุปความผิดได้ แต่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชน และมีการดำเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคยมีคำสั่งให้ใช้มาตรการชั่วคราวในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจง พิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างโปร่งใสไม่เป็นที่ครหาและเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและประชาชน ตลอดจนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน”
กรณีของนายเปรมศักดิ์ ก่อนถูกคำสั่ง ม.44 ถูกสอบสวนเนื่องมาจากพฤติกรรมจับนักข่าวแก้ผ้า และกักขังหน่วงเหนี่ยว ภายหลังจากสื่อมวลชนใน จ.ขอนแก่นเสนอข่าวนายเปรมศักดิ์กำลังผูกข้อมือแต่งงานกับเด็กสาว ต่อมากระทรวงมหาดไทยตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนและมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเเมืองบ้านไผ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.2560 (หลังคำสั่งพักงาน ม.44 ประมาณ 8 เดือน)
เห็นได้ว่า การใช้คำสั่ง ม.44 กรณีของนายเปรมศักดิ์ มาจากเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณรัฐ  ขณะที่เรื่องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นการตรวจสอบบุคคลในการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ และ กฎหมาย ป.ป.ช. หัวหน้า คสช.ยก‘เรื่องส่วนตัว’มาเป็นเหตุผล ไม่พักงาน พล.อ.ประวิตร
250118 scoop1

สุดๆไปเลย! สมาชิกสนช. เอาใจคสช. เสนอ ‘เลื่อนเลือกตั้ง5ปี’ หวั่น ปท. เป็นแบบเดิม

สุดๆไปเลย! สมาชิกสนช. เอาใจคสช. เสนอ ‘เลื่อนเลือกตั้ง5ปี’ หวั่น ปท. เป็นแบบเดิม


วันที่ 25 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งพิจารณามาตรา 2 การให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วันนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีกมธ.เสนอทั้งการขยายเวลา 90 วัน และ 120 วัน ด้วยเหตุผลเพื่อให้ประชาชนและพรรคมีความเข้าใจและดำเนินการกิจกรรมทันตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดนั้น
ปรากฎว่า มีพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สมาชิกสนช. อภิปรายเสนอว่า ถ้าประเทศไทยไม่มีวันที่ 22 พ.ค. 2557 เราจะไม่มีประเทศไทยแบบทุกวันนี้ จะมีแต่การเผาบ้านเผาเมือง แบ่งแยกประเทศ จับอาวุธสงครามมากมาย แต่การพัฒนาประเทศจะไม่เกิดขึ้น ขอถามว่าที่ผ่านมานักการเมืองทำอะไรเพื่อประเทศและประชาชนบ้าง มีแต่ใช้วาทะกรรมบิดเบือน ชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งเรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น ขอเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือนหรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โปรดอดใจรอ

โปรดอดใจรอ


ลืม...ลืมกันแล้วหรือยัง
ย้อนหลังไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หน.คสช.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้เสร็จภายใน 120 วัน
วันนี้ (25 ม.ค.2561) ครบกำหนดเส้นตาย 120 วันพอดี!
“แม่ลูกจันทร์” ยังไม่ได้เห็นโฉม หน้าร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านของ คสช.ว่าบรรจุเนื้อหารายละเอียดอย่างไร??
เนื่องจากต้องเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเอง ลงมติเห็นชอบเสียก่อน แล้วจึงเสนอให้ที่ประชุม ครม.ลงมติเห็นชอบซ้ำอีกที
จากนั้นจึงส่งร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสนอที่ประชุม สนช.ทำคลอดออกมาประกาศใช้ภายในเดือนมิถุนายน
ปัญหาคือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาล คสช.คิดเองเขียนเองชงเองใช้เองโดยไม่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิดร่วมทำตามสมควร
ฉะนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติจะออกมาอย่างไร ย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของรัฐบาล คสช.ฝ่ายเดียว
“แม่ลูกจันทร์” ขออนุญาตทบทวนความจำ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้แบ่งซอยเป็น 6 ด้านดังนี้คือ...
1, ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
2,ยุทธศาสตร์ชาติด้านความสามารถในการแข่งขัน
3, ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคนไทย
4, ยุทธศาสตร์ชาติด้านสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม
5,ยุทธศาสตร์ชาติด้านคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6, ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
ร่างแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านจะนำมาขยำรวมเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บังคับให้รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติตามห้ามหือห้ามอือ
รัฐบาลใดขัดขืน หรือฝ่าฝืน ไม่เดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่จัดงบสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือกำหนดนโยบายไม่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติของ คสช.
ถือว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ!!
ต้องโดนโทษหนักตั้งแต่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือถูกตัดสิทธิการเมือง หรือถูกศาลตัดสินติดคุกหัวโต
พูดง่ายๆแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ คสช.ยาวต่อไปและยาวไปๆๆ อีก 20 ปี
โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดใหญ่ เป็นผู้กำกับดูแลไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง
“แม่ลูกจันทร์” สรุปหัวใจสำคัญของร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือมุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
วาดอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้าให้เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ ระดับหัวแถวของเอเชีย
20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะหลุดจากประเทศรายได้ปานกลาง เป็นประเทศรายได้สูงตามมาตรฐานอินเตอร์
อีก 20 ปีข้างหน้า การทุจริตคอร์รัปชันจะสูญพันธุ์จากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง
อีก 20 ปีข้างหน้า รายได้เฉลี่ยขั้นต่ำของคนไทยจะกระเด้งขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนบาทต่อปี หรือ 3.75 หมื่นบาทต่อเดือน
อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆและเป็นประเทศที่ส่งออกเทคโนโลยีเต็มตัว
จริงไม่จริงไม่รู้....ต้องรอพิสูจน์ไปอีก 20 ปี
อย่ารีบแก่ตายเสียก่อนก็แล้วกัน.
“แม่ลูกจันทร์”

ชนักปัก ‘ตัวป่วน’ เดี้ยง

ชนักปัก ‘ตัวป่วน’ เดี้ยง


กรรมตกค้างจากเกม “ชัตดาวน์” กรุงเทพฯ
ล่าสุดศาลประทับรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.และพวกที่เป็นแกนนำรวม 9 คน
ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ยุยงปลุกปั่น กระทำให้ปรากฏแก่วาจาฯ อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุมกันเกิน 10 คน ประทุษร้าย ขัดขวางการเลือกตั้ง รวม 8 ข้อหา
กรณีชุมนุมขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อปี 2556-2557
โดยนายสุเทพ และนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ อัยการได้สั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อการร้ายอีก 1 กระทงด้วย
อย่างไรก็ดี ทนายความแกนนำ กปปส.ทั้ง 9 คน ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ มูลค่าคนละ 800,000 บาท เพื่อขอประกันตัวจำเลยระหว่างต่อสู้คดี
ถึงจุดนี้ “ลุงกำนัน” กับทีมงานม็อบ กปปส.โดนชนักปักกลางหลังแล้ว
ตามแนวโน้มแบบที่มีตัวอย่างเทียบเคียงกับคดีม็อบพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบิน ศาลฎีกาตัดสินให้แกนนำชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท การท่าอากาศยานฯ อ่วมอรทัย ถึงขั้นล้มละลาย
รายของทีม กปปส.ก็คงอยู่ในข่ายใกล้เคียงกัน คงไม่จบแบบแล้วๆกันไป
ก่อนอื่นเลย โดยเงื่อนไขสถานการณ์ที่จะส่งผลต่อการเมืองภาพรวม เมื่อ “ลุงกำนัน” และทีมงานติดบ่วง โดนชนักปักหลังคดีก่อการร้ายปิดกรุงเทพฯ เกมชิงอำนาจการนำในพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างขั้วของ “เทพเทือก” กับฝั่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ก็คงพลิกไปพลิกมา
สถานะของฝั่ง “ลุงกำนัน” น่าจะตกเป็นรอง
และคงต้องประคองเกมเกาะกับฝ่ายคุมเกมอำนาจพิเศษไว้ก่อน เพื่อความสบายเนื้อสบายตัว
แบบที่โชว์ตัวแสดงตนตั้งแต่หัววัน ประกาศหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หัวหน้า คสช.ให้เป็นผู้นำเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูปประเทศนั่นแหละ
ที่แน่ๆโดยกรรมตกค้างจากยุทธการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของทีม “ลุงกำนัน” และแกนนำ กปปส. บทสรุปคดียึดสนามบินของเหล่าแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯย้อนไปถึงชะตากรรมของเหล่าแกนนำม็อบแดง นปช.ที่พาเหรดเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในคุก
เกมปลุกม็อบเป็นเรื่องที่ต้องชดใช้ด้วย “อิสรภาพ” หรือไม่ก็ทรัพย์สินเงินทอง
ถึงวันหนึ่งก็หนีไม่พ้นกฎหมาย ขื่อแปบ้านเมือง
การใช้ “มวลชน” เป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจ คงฝ่อลงไปอีก
และนั่นก็ยิ่งเข้าทางรัฐบาล คสช.ของ “นายกฯลุงตู่” ที่มีจุดขายในเรื่องความมั่นคง คุมสถานการณ์ให้ประเทศสงบ ไร้ม็อบป่วนเมืองมาตลอด 3 ปีขึ้นปีที่ 4
ยิ่งเป็นอะไรแบบที่ล่าสุดทนายความส่วนตัวของ “เสี่ยโอ๊ค” นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในประเด็นที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอตัดพยานของฝ่ายผู้ต้องหาในคดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กลุ่มกฤษดามหานครโดยมิชอบ
จากที่อ้างไป 18 ปาก เหลือแค่ 3 ปาก
โดยฝั่งเพื่อไทยเชื่อและสงสัยว่ามีการแทรกแซงทางคดี และเกรงว่าผู้ต้องหาจะเสียความยุติธรรม
คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยส่อปิดกล่องเร็ว ล้อกับข่าววงในจากแบงก์ชาติที่ออกมาในมุมฟันธง “จุดตาย” อยู่ที่ “ต้นขั้วเช็ค” 6–7 ใบ
ชะตากรรมของ “เสี่ยโอ๊ค” มีผลเต็มๆกับการเดินหมากของ “ทักษิณ”
เอาเป็นว่าถึงตรงนี้ “ตัวเงื่อนไข” ที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ป่วนเมืองได้ ล้วนติดชนักทางคดี
นี่คือสภาวการณ์ “ดุลอำนาจ” แท้จริงทางการเมือง ณ ห้วงปัจจุบัน
จะเขย่าจะขย่มกันยังไง สุดท้ายมันก็ไหลกลับมาเข้าทาง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ดี
ถึงแม้จะมีกระแสเรื่องนาฬิกาหรูของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม มาคั่นรายการ แต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลกระแทกโดยตรงกับ “นายกฯลุงตู่” อย่างที่เจ้าตัวชิงตัดเกม “คัตเอาต์” ไปแล้วว่า เป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด
และถึงที่สุดถ้า “บิ๊กป้อม” ทนอึดไม่ไหว ต้องตัดสินใจถอนสมอออกไป
“บิ๊กตู่” ก็คงไม่สะดุ้งเท่าไหร่ ตามสถานะของคนที่ถูกเลือกไว้แล้ว.
ทีมข่าวการเมือง

จับตาผลสอบปปช.นาฬิการหรูบิ๊กป้อมส่อรอด

จับตาผลสอบป.ป.ช. ‘บิ๊กป้อม’ส่อรอดคดีนาฬิกาหรู?

หลังจากที่นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะมีเซอร์ไพรส์ในการแถลงข่าวความคืบหน้าผลสอบกรณีอื้อฉาวนาฬิกาหรู 25 เรือนมูลค่าหลายสิบล้านบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ “บิ๊กป้อม” รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง แต่ในการแถลงล่าสุดของเลขาธิการป.ป.ช.กลับไม่มีอะไรในกอไผ่โดยแค่การถอนตัวจากการสอบสวนกรณีนี้ของพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ หรือ “บิ๊กกุ้ย” ประธานป.ป.ช.ซึ่งเคยเป็นลูกน้องคนใกล้ชิดของ “บิ๊กป้อม” ท่ามกลางการคาดหวังของสื่อสำนักต่างๆ ที่คิดว่าเซอร์ไพรส์ที่ว่าจะเป็นข้อมูลเด็ดความคืบหน้าผลการสอบสวนของคณะทำงานของป.ป.ช.

ในการแถลงข่าว นายวรวิทย์ ก็แค่เท้าความว่า กรณีนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” จากเดิมมีแค่เรือนเดียว แต่ล่าสุดปรากฏภาพนาฬิกาหรูบนข้อมือของ “บิ๊กป้อม” ตามสื่อต่างๆ ถึง 25 เรือน ซึ่งป.ป.ช.กำลังตรวจสอบความมีอยู่จริงของบัญชีการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของ “บิ๊กป้อม” ที่ยื่นไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อเดือนก.ย.2557

สำหรับนาฬิกาหรูนั้นป.ป.ช.ทราบจากสื่อว่า “บิ๊กป้อม” ชี้แจงว่านาฬิกาทั้งหมดไม่ใช่ของตัวเองแต่เป็นของเพื่อนและคืนไปหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี่จะมีการตรวจสอบข้อมูล แต่เนื่องจากนาฬิกามีจำนวนถึง 25 เรือนซึ่งภาพที่มีการเผยแพร่มีบางภาพที่ชัดเจน แต่บางภาพมีแต่ตัวเรือนหรือมีแต่สาย แต่มีการระบุว่าเป็นนาฬิกายี่ห้อนั้นรุ่นนั้น จึงเกิดคำถามว่านาฬิกาที่ “บิ๊กป้อม” ใส่มีจำนวนถึง 25 เรือนตามที่เป็นข่าวหรือไม่ หรือเป็นเรือนที่ซ้ำกันซึ่งอาจมีแค่ 15 เรือนจึงต้องมีการตรวจสอบต่อไปเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และต้องตรวจสอบด้วยว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งมีการตรวจสอบหมดแล้วเหลืออีก 1 รายซึ่งเป็นพยานสำคัญที่ยังไม่ได้ตรวจสอบเพราะพยานปากนี้อยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศจะกลับในสัปดาห์หน้า

นายวรวิทย์กล่าวอีกว่าจะมีการตรวจสอบไปยังตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาหรู 13 แห่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวโดยเจาะทีละเรือนว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งต้องใช้เวลาเยอะ โดยคาดว่าน่าจะรวบรวมหลักฐานแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.นี้ พร้อมเปิดเผยปิดท้ายว่า “บิ๊กกุ้ย” ในฐานะประธานป.ป.ช.ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้

การถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ของ “บิ๊กกุ้ย” ไม่ได้ถือว่าเป็นการแสดงสปิริตหรือมีความสำคัญอะไรมากนัก ตรงกันข้ามหาก “บิ๊กกุ้ย” ยังยืนกรานทำหน้าที่ประธานในการลงมติของกรรมการป.ป.ช.ว่าจะชี้มูลความผิด “บิ๊กป้อม” หรือไม่นั่นจึงถือว่าผิดปกติ เพราะโดยมารยาท “บิ๊กกุ้ย” ในฐานะลูกน้องเก่าของ “บิ๊กป้อม” จะดันทุรังอยู่ทำหน้าที่ไม่ได้อยู่แล้ว หากขืนอยู่ทำหน้าที่มีหวังถูกสังคมโห่และทำให้ป.ป.ช.หมดความน่าเชื่อถือ

เมื่อนักข่าวถามว่าในกรณีหากนาฬิกาที่ “บิ๊กป้อม” ใส่เป็นของคนอื่นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.หรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวชี้ช่องทางรอดของ “บิ๊กป้อม” ว่าไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพราะการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจะยื่นเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของตัวเองและคู่สมรสพร้อมบุตร

และเมื่อถามต่อไปว่าหากนาฬิกาเป็นของบุคคลอื่นๆจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 103 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เกี่ยวกับการให้หรือรับสิ่งของที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท หรือไม่ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ให้หรือยังยังไม่ทราบเพราะเจ้าตัวยังไม่ได้บอกเลยว่าเป็นการให้ที่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของตน

การที่ “บิ๊กกุ้ย” ถอนตัวคงไม่ส่งผลอะไรมากนักต่อความน่าเชื่อถือของป.ป.ช.ท่ามกลางความคลางแคลงใจของสังคมที่เกิดกระแสไม่เชื่อว่า
นาฬิกา 25 เรือนที่ “บิ๊กป้อม” ใส่ยืมมาจากเพื่อน

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือผลสรุปการสอบสวนของคณะทำงานป.ป.ช. ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำแถลงของเลขาธิการป.ป.ช.ที่แพลมออกมาว่าหากเป็นนาฬิกาที่เพื่อนให้ยืมถือว่าไม่ผิดแล้วเริ่มมองเห็นสัญญาณแนวโน้มว่า คดีนี้ “บิ๊กป้อม” ส่อเค้ามีสิทธิ์รอดด้วยช่องทางที่ว่าเป็นนาฬิกาของเพื่อนที่ให้ยืมใส่ไม่ใช่ให้เลยจึงไม่ผิด ซึ่งประเด็นนี้มันพิสูจน์มัดยากว่าเป็นเรื่องจริงหรือเป็นการจัดฉากลวงโลก

ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือผลการสอบสวนของป.ป.ช.ครั้งนี้จะมีคำชี้แจงที่มีน้ำหนักสมเหตุสมผลขจัดข้อเคลือบแคลงของสาธารณชนได้หรือไม่
แค่ไหน ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานตลอดจนตัวชี้ว่าความน่าเชื่อถือของป.ป.ช.ชุดนี้ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าอยู่ภายใต้เงาของอำนาจรัฐคสช. ขณะที่หลายกลุ่มกำลังจับตาผลการตรวจสอบของป.ป.ช.ซึ่งหากผลออกมาแบบค้านสายตามหาชนเชื่อว่ากรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นจะไม่จบลงง่ายๆ โดยจะมีการขุดคุ้ยตีแผ่และเคลื่อนไหวโจมตีจนอาจกลายเป็นไฟลามทุ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อวิกฤติศรัทธาทั้งต่อป.ป.ช.และอำนาจรัฐคสช.

ทีมข่าวการเมือง

เปลวสีเงิน:ตายในสนามรบคือวีรบุรุษ

ตายในสนามรบคือวีรบุรุษ


    
    ก็....กลยุทธ์ของทหารเขาล่ะ!
   

    บางครั้ง บางสถานการณ์ ต้องทำตัวให้เล็กลงบ้าง
    เรื่องนาฬิกาเพื่อน ไงซะ...ไม่มีทางสลัดให้พ้นได้ 
    สลัดไม่ได้ แต่ลากยาวได้ 
    ทำให้สังคมเห็นว่ากระบวนการตรวจสอบกำลังเดินอยู่ อย่างน้อยก็ลดกระแสเดือดดาลนายพลโรเล็กซ์ลงได้บ้าง
    ครับ...วานนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  นอกจากพยายามทำให้เรื่องราวมันลดความร้อนแรงลง 
    พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ขอถอนตัวจากคดี เพื่อความโปร่งใส ไม่ใช่เซอร์ไพรส์ เพราะท่านไม่ควรเข้ามาใน ป.ป.ช.ตั้งแต่แรก
    มาแล้วเกิดข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อนในอำนาจ มันก็เป็นปัญหาอย่างที่เห็น
    ซึ่งก็คือปัญหาเก่าๆ ของบ้านเมืองที่ไร้การปฏิรูป
    ประธาน ป.ป.ช.กับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ถูกมองว่าเป็นลูกน้องกับนายเก่า 
    แล้วจะสลัดข้อสงสัยองค์กรตรวจสอบถูกแทรกแซงได้อย่างไร
    ต้องอยู่ในสภาพนี้กันไปอีกพักใหญ่ 
    แต่.....อย่าเพิ่งด่า ป.ป.ช.ครับ!
    คดีแม้ว หมู หมา กา ไก่ ล้วนต้องใช้เวลาตรวจสอบ สอบสวน ใช่ว่ารับคำร้องปั๊บ จะฟันปุ๊บ แบบนั้นมันก็ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกร้อง 
    คดีแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน ก็เช่นกัน คืบหน้านิดหน่อย 
    ที่จริงว่าจะเลิกคุยเรื่องนาฬิกา ปล่อยให้ว่ากันไปตามกรรม แต่มันอดไม่ได้ เห็นท่านเลขาฯ ป.ป.ช.แถลงข่าวแล้ว มันข้องใจ
    หลังจากถูกแฉไปถึงเรือนที่ ๒๕ ป.ป.ช.ก็บอกให้ "บิ๊กป้อม" ชี้แจงอีกรอบ
    เป็นครั้งที่ ๓ 
    นี่ถ้าเพิ่มเป็น ๓๐ เรือน ก็คงต้องชี้แจงเป็นคำรบที่ ๔ ซินะ!
    เอาแค่เบื้องต้นตามนี้ มันสะท้อนให้เห็นความจริงบางอย่างเช่นกัน 
    ยืมเขามากี่เรือนทำไมไม่แจกแจงไปคราวเดียว เพราะตัวเองรู้อยู่ 
    แต่ละเรือนไม่ใช่บาทสองบาท ยืมมั่วคงไม่ได้
    หรือยืมเยอะจนจำไม่ได้ 
    ยืมเยอะจนจำไม่ได้นี่ก็แปลก 
    แต่ที่มากกว่าแปลกคือ....
    มันมีคนแบบนี้จริงหรือ?
    นี่...ถามในฐานะมนุษย์ขี้เหม็น คนที่ชอบอะไรบางอย่างถึงขั้นคลั่งไคล้ จะมีสักกี่คนที่ไม่มีสิ่งนั้นไว้ในครอบครองเลย 
    เอาแต่ยืมเพื่อนตลอด มันผิดธรรมชาติ
    เรือนร้อยเรือนพันไม่ใส่ ใส่ไม่เป็น 
    ต้องเรือนแสนเรือนล้านเท่านั้นถึงจะยืมใส่  
    ย้ำอีกที ในโลกใบนี้ จะมีคนแบบนี้สักกี่คน 
    ไปดู "วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช." แถลงข่าวซะหน่อย 
    "ต้องตรวจสอบว่าข้อมูลเท็จจริงเป็นอย่างไร มี ๒๕ เรือนจริงหรือไม่ หรืออาจเป็นภาพซ้ำ ความจริงแล้วอาจมีแค่ ๑๕  เรือนก็ได้ และต้องตรวจสอบว่าเป็นนาฬิกาของใคร ใครเป็นเจ้าของ"
    “คิดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบสักพัก เพราะต้องตรวจสอบนาฬิกาทั้ง ๒๕ เรือน คาดว่าถ้ารวบรวมข้อมูลครบถ้วนเรียบร้อยข้อเท็จจริงยุติตามแผน จะสามารถสรุปได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้” 
    "หากนาฬิกาเป็นของบุคคลอื่น พล.อ.ประวิตรไม่ต้องแสดง เพราะจะต้องแสดงเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของตัวเอง และคู่สมรส พร้อมบุตร" 
    ใช่...เป็นของคนอื่นจะแสดงทำไม แต่ ป.ป.ช.ควรมีทัศนะในฐานะองค์กรตรวจสอบที่รอบด้านกว่านี้   อย่าเลือกพูดให้ชัดเฉพาะบางประเด็น 
    แล้วปล่อยให้บางประเด็นคลุมเครือต่อไป
    ก็ทุบโต๊ะไว้ล่วงหน้า สิ้นกุมภาพันธ์ ป.ป.ช.จะขยายเวลาตรวจสอบออกไปอีก 
    มีเหตุผลครับ!
    บริษัทนาฬิกาชี้แจงมาไม่ครบ ก็คล้ายกับสินบนโรลส์-รอยซ์ ให้เอกสารหลักฐานตามที่ขอไปไม่ครบ      ลากยาวกันไป....
    ตามท้องเรื่องนาฬิกาเพื่อน มันมีหลายประเด็นขัดความรู้สึกของประชาชน แต่กลับไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาล
    แม้กระทั่งการแถลงข่าวของ ป.ป.ช.วานนี้ นายกรัฐมนตรียังรู้ก่อนกรรมการ ป.ป.ช.บางคนเสียอีก  ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
    ท่ามกลางเสียงเตือนว่าอย่างน้อยให้พักงาน "บิ๊กป้อม" เสีย เพื่อเคลียร์นาฬิกาให้จบก่อน แต่เสียงที่ว่าไปไม่ถึงหู "ลุงตู่" 
    สดๆ ร้อนๆ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๒๑-๒๕๖๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน 
    กรรมการชุดนี้มีหน้าที่ทำอะไร?
    เบื้องต้นคือไปขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) 
    รวมทั้งยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ
    คณะกรรมการมีใครบ้าง เยอะครับ 
    มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 
    ส่วนรองประธานก็เรียงตามลำดับไหล่ 
    "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองประธานเบอร์ ๑ 
    มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการบูรณาการขับเคลื่อนงาน โครงการของส่วนราชการของหน่วยงานต่างๆ ที่มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน ชุมชนร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ 
    สนับสนุนในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล/ชุมชน ฯลฯ
    โดยสรุปคือ นี่คือ "กรรมการไทยนิยม"
    แน่นอนครับ "บิ๊กป้อม" คนเดียวกำหนดทิศทางอะไรไม่ได้
    แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นายกฯ ไม่อยู่ ไม่ว่าง "บิ๊กป้อม" ก็นั่งหัวโต๊ะ 
    เมื่อ "บิ๊กป้อม" มาเป็นโลโก้ "ไทยนิยม" จะเกิดอะไรขึ้น
    ที่จริงไม่มีใครรังเกียจรังงอน "บิ๊กป้อม" หรอกครับ ถ้าไม่มีกรณีนาฬิกาเพื่อน 
    ก็ดูซิครับ....
    "ป้อมเรือดำน้ำ" 
    "ป้อมรถถัง" 
    ถึงจะมีคนด่า แต่ส่วนใหญ่เขาไม่เอาด้วยก็เงียบไป 
    แต่ "ป้อมนาฬิกา" มันไม่ได้เป็นแบบนั้น 
    ที่ผู้คนออกมาแหกปากบอก ให้ "บิ๊กป้อม" สละเรือ เพื่อ คสช.ส่วนรวมได้อยู่แก้ปัญหาชาติต่อ อย่าคิดว่านั่นคือพวกจ้องล้มรัฐบาล
    ต้องแยกให้ออก!
    การตรวจสอบไม่ว่าฝ่ายไหน ต้องถูกตรวจสอบเท่าเทียมกัน ฝ่ายแม้ว ฝ่ายมาร์ค ฝ่าย คสช. ต้องเสมอกัน
    ไม่ใช่เชียร์ฝ่ายไหน ก็ไม่อยากให้ฝ่ายตัวเองถูกตรวจสอบ แบบนั้นมันไปไม่ได้แน่ 
    นักการเมือง ๔.๐ ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ นักการเมือง ๐.๐ ก็ยังเป็นไม่ได้    
    ก็นึกภาพไม่ออกว่า "บิ๊กป้อม" จะหามไทยนิยมไปได้อย่างไร ในขณะที่ขา ๒ ข้างยังพันด้วยนาฬิกาเพื่อน แบบนี้ 
    เท่าที่รู้มา มีความพยายามที่จะให้ออกมาในรูป ยืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่ จึงไม่ต้องแสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินตามที่ เลขาฯ ป.ป.ช. แถลงเอาไว้จริงๆ
    มีความพยายามรวบรวมที่มาของนาฬิกาแต่ละเรือน ที่หามาไม่ได้ก็อ้างเจ้าของเสียชีวิตแล้ว ติดตามไม่ได้ สุดท้ายก็ยกประโยชน์ให้จำเลย 
    มันจะออกมาแบบนั้น ไม่มีพลิกเป็นอย่างอื่น 
    ก็อยู่ที่สังคมไทยจะยอมรับหรือไม่ 
    แต่ในทางการเมือง "บิ๊กป้อม" คือตัวถ่วงของรัฐบาล คสช.
    และถ้า "ลุงตู่" ไปเป็นนายกฯ คนนอก ก็น่ากังวลแทนจริงๆ
    เพราะแม้ ป.ป.ช.ทำให้จบเรื่องไปแล้ว แต่เรื่องนาฬิกาเพื่อนยังไม่จบแน่นอน 
    หาก "ลุงตู่" ยังสลัดไม่พ้น แล้วยังใช้งาน "บิ๊กป้อม" อีก บอกได้คำเดียว สภาผู้แทนฯ ต่างจากสภาสนช.ราวฝ่ามือกับหลังตีน 
    ฉะนั้นมองการเมืองไกลไปอีก ๑-๒ ปี หาก คสช.ยังเล่นการเมือง นาฬิกาเพื่อนก็ยังคงอยู่กวนใจต่อไป 
    ตัดฉากไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด วานนี้ แกนนำ กปปส.เข้ารายงานตัวฟังคำสั่งคดีกบฏ เพื่อส่งฟ้องต่อศาลอาญา
    ก็ต้องยอมรับจุดหนึ่งว่า กปปส.ทำให้เกิดกระแสปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แม้สุดท้ายยากที่จะเกิด แต่กปปส.ทำบางอย่างสำเร็จไปแล้วนั่นคือ 
    สังคมตื่นตัวกับการปฏิรูปประเทศ! 
    สงครามย่อมมีการบาดเจ็บล้มตาย แกนนำ กปปส.มีคดียาวเป็นหางว่าว ทั้งกบฏ ก่อการร้าย โทษตายก็หลายคน 
    ทหารตายในสงครามจะได้รับการยกย่องเชิดชูจากคนรุ่นหลังในฐานะวีรบุรุษ  
    แต่แม่ทัพที่เอาแต่หลบซ่อน ไร้ความกล้าหาญ ไม่ยอมรับความจริง  
    อนาคตมีแต่เสียงสาปแช่งไล่หลัง.
                                ผักกาดหอม