PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ผู้ใหญ่บ้านยังผวา! ประกาศปิดที่ทำการหนีตาย หลังถูก ตร.ตั้งด่านลอยล็อกคอตรวจยัดข้อหา

4 กุมภาพันธ์ 2559 20:23 น. (แก้ไขล่าสุด 5 กุมภาพันธ์ 2559 10:27 น.)
ผู้ใหญ่บ้านยังผวา! ประกาศปิดที่ทำการหนีตาย หลังถูก ตร.ตั้งด่านลอยล็อกคอตรวจยัดข้อหา
         
       นครศรีธรรมราช - ผู้ใหญ่บ้านขึ้นป้าย “หนีตาย ไปร้องทุกข์” เผยสาเหตุ อส.ตร.ทำเกินหน้าที่ ล็อกคอเหมือนนักโทษขณะขับรถ จยย.ตรวจพื้นที่ พร้อมแจ้งความ ตร.หัวหน้าชุดที่อยู่ในเหตุการณ์ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
       
       วันนี้ (4 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงายว่า ที่หน้าบ้านพักริมถนนทุ่งสง-นาบอน เลขที่ 68/1 ม.6 ต.ชะมาย อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช บ้านของ นายวีระวัฒน์ เรืองจรัส อายุ 52 ปี หรือ “ผู้ใหญ่บ่าว” ได้มีการขึ้นแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ปิดอยู่ที่ประตูรั้วหน้าบ้าน โดยตลอดทั้งวันมีชาวบ้านที่ขับรถสัญจรไปมาแวะดู และอ่านป้ายไวนิลดังกล่าวตลอดเวลา เนื่องจากเห็นว่าข้อความที่เขียนไว้ระบุถึงการถูกคุกคามต่างๆ นานา จากผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่บางหน่วยงาน
       
       โดยข้อความที่เขียนในป้ายไวนิลดังกล่าวมีใจความว่า “ผู้ใหญ่บ่าวหนีตาย เดินทางไปร้องทุกข์ ปิดที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ปิดร้านค้า กลัวอิทธิพล กลัวเครือข่ายเจ้าหน้าที่ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีสังกัด ไม่มีผู้บังคับบัญชา แอบซุกยาเสพติด สมคบคิดชี้มูลให้เจ้าหน้าที่ชั่ว (บางคน) ที่อยู่ในคราบโจร เข้ามาตรวจค้นจับกุมยัดเยียดข้อกล่าวหา จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขออนุญาตพ่อแม่พี่น้องประชาชนเดินทางไปร้องเรียน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ และขอความเป็นธรรม และจะนำข้อร้องเรียนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในกรณีค้นบ้าน ค้นบุคคล หรือยานพาหนะ ในพื้นที่ตำบลชะมาย ต้องเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มีตำแหน่ง มีสังกัด มีผู้บังคับบัญชา มีบัตรประจำตัวข้าราชการตามที่กฎหมายกำหนด สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย”
         
ผู้ใหญ่บ้านยังผวา! ประกาศปิดที่ทำการหนีตาย หลังถูก ตร.ตั้งด่านลอยล็อกคอตรวจยัดข้อหา
         
       ขณะที่ภายในบ้านดังกล่าวไม่พบใครอยู่ ผู้สื่อข่าวจึงประสานงานทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามนายวีระวัฒน์ เรืองจรัศ หรือ “ผู้ใหญ่บ่าว” ได้รับการเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ขณะที่ตนขี่รถจักรยานยนต์ออกตรวจพื้นที่ในหมู่บ้านตามปกติ ได้เจอด่านตรวจที่บริเวณรอยต่อระหว่าง ม.6 และ ม.8 ของ ต.ชะมาย ซึ่งมีตำรวจ สภ.ทุ่งสง และอาสาสมัครตำรวจ (อส.ตร.) ประมาณ 10 คน ตั้งเป็นด่านลอยไม้รู้ทำถูกตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งหรือไม่ แล้วคอยตรวจค้นผู้ที่ขับรถผ่านไปมา
       
       หลังจากตนขี่รถจักรยานยนต์ผ่านไป มี อส.ตร.คนหนึ่งกระโดดเข้าล็อกคอตนเหมือนจับเป็นนักโทษหนีคดี แล้วตรวจค้นพบอาวุธปืนขนาด .357 ซึ่งเป็นปืนพกประจำตัว มีทะเบียน และใบอนุญาตพกพาถูกต้อง ออกโดย นายทศพร จันทรประวัติ นายอำเภอทุ่งสง เมื่อเห็นใบพกแล้วบอกว่าเป็นอนุญาตที่ไม่ถูกต้อง เป็นแค่บัตรอนุเคราะห์เท่านั้น ก่อนพาตนไปที่โรงพัก ปรากฏว่าเมื่อ พ.ต.อ.สมชาย ซื่อต่อตระกูล ผกก.สภ.ทุ่งสง เห็นก็ได้ขอโทษ และปล่อยตัวกลับโดยไม่แจ้งข้อหาใดๆ
         
ผู้ใหญ่บ้านยังผวา! ประกาศปิดที่ทำการหนีตาย หลังถูก ตร.ตั้งด่านลอยล็อกคอตรวจยัดข้อหา
         
       ต่อมา ตนเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.สมศักดิ์ แก้วแสน พนักงานสอบสวน สภ.ทุ่งสง ให้ดำเนินคดีต่อตำรวจหัวหน้าชุดตั้งด่านลอย และพวกในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งมีการลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว หลังจากนั้น ตนได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ต้องมาผวาหนัก และเหมือนว่ากำลังตนเองถูกคุกคามมาตลอด เพราะมีชายฉกรรจ์มาเดินป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณบ้านบ่อยครั้งในยามวิกาล ทำให้เกรงว่าตนเอง และครอบครัวจะไม่ปลอดภัย
       
       นายวีระวัฒน์ หรือ “ผู้ใหญ่บ่าว” กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำให้มีความขัดข้องในเป็นอย่างมากคือ อส.ตร.มีอำนาจแค่ไหนที่แสดงอำนาจบาตรใหญ่ใส่ชาวบ้าน กระโดดล็อกคอกอดรัดฟัดเหวี่ยงยังกับจับโจรผู้ร้าย ทั้งๆ ที่ตนบอกแล้วว่าเป็นผู้ใหญ่ มาจากตรวจตราหมู่บ้านก็ยังไม่ฟัง จึงอยากจะทราบว่า อส.ตร.มีบทบาทอย่างไร มีกฎหมายอะไรรับรอง ทำถูกต้องหรือไม่ ที่ผ่านมา ชาวบ้านโดนกันมาเยอะ และในวันนี้ (4 ก.พ.) ตนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนเรื่องนี้ต่อไป
       
       อย่างไรก็ตามทางนายทศพร จันทรประวัติ นายอำเภอทุ่งสง ได้ทราบเรื่องแล้ว พร้อมสั่งการให้ นายศรีวิทย์ ช่วยสง ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงอำเภอทุ่งสง ไปพบ นายวีระวัฒน์ หรือ “ผู้ใหญ่บ่าว” เพื่อรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมขอร้องให้ปลดแผ่นป้ายไวนิลลง และจะส่งกำลัง อส.ของอำเภอทุ่งสงเดินทางไปคอยดูแล และให้ความปลอดภัยต่อ นายวีระวัฒน์ หรือ “ผู้ใหญ่บ่าว” และครอบครัวต่อไป
         

คดีจ้างพรรคเล็ก

คุกจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง ปลาซิวโดน‘ธรรมรักษ์’รอด
Thursday, February 4, 2016 - 00:00

ศาลฎีกาพิพากษาคดีจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งปี 2549 สั่งจำคุกเจ้าหน้าที่ กกต. 3 ปี 4 เดือน และจำคุกอดีต 3 ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพัฒนาชาติไทยคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมออกหมายจับ "ชวการ-สุขสันต์" ที่ยังหลบหนี ขณะที่ "พล.อ.ธรรมรักษ์" รอดหลังชั้นอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง โดยอัยการโจทก์ไม่ยื่นฎีกาต่อ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ห้องพิจารณาคดี 913 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.961/2553ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อายุ 76 ปี อดีต รมว.กลาโหม และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, นายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายชวการ หรือกรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย, นายสุขสันต์ หรือจตุชัย ชัยเทศ อดีต ผอ.การเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และ 11

โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 สรุปว่า ระหว่างวันที่ 2-7 มีนาคม 2549 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 จ้างวานให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต โดยมอบเงินค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้ดำเนินการตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อ ข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยไม่ครบ 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง,แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร และแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. เกี่ยวพันกัน

สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ว่า จำเลยที่ 1, 3-5 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ให้จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. มีความผิดตาม พ.ร.บ.เดียวกัน มาตรา 6 ให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด และให้ริบเงินสดของกลางจำนวน 30,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1-5 ยื่นอุทธรณ์

โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ว่า นายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 โจทก์มีพยานซึ่งเป็นผู้บริหารและพนักงานของ กกต.เบิกความสอดคล้องกันว่า การจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกพรรคการเมือง จะมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบและเป็นบุคคลเดียว ที่มีรหัสผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกข้อมูล ขณะที่เมื่อได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบฐานข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เคยแจ้งกับ กกต.ไว้เพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2548 กับข้อมูลที่มีการบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าแม้ตัวเลขที่กำกับลำดับที่ของข้อมูลสมาชิกพรรคจะตรงกัน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อ ผลจากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ มีการบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคอีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม 2549 เวลา 09.30 น. และโอนถ่ายข้อมูลเสร็จสิ้น ในเวลา 10.44 น. ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่า เป็นผู้บันทึกข้อมูลดังกล่าว ส่วนเงิน 30,000 บาท ที่จำเลยที่ 5 มอบให้เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่มานานกว่า 2 ปีเศษ ย่อมที่จะเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติที่ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาก่อนการบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์

แต่พบว่า จำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปรับข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย จากนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 ที่แยกลำสาลี ในยามวิกาล ถือว่าผิดวิสัยและผิดปกติ และยังมีการรีบเร่งบันทึกข้อมูลในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า ที่สำนักงาน กกต.ได้เปิดเวลาทำการ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนบันทึกเลขสารบรรณและเสนอผู้บังคับบัญชาก่อน ส่วนจำเลยที่ 3-5 ที่เป็นสมาชิกและผู้บริหารพรรคพัฒนาชาติไทยนั้น ปรากฏว่าช่วงเกิดเหตุได้มีการประชุมพรรค ดังนั้น น่าเชื่อว่าจะได้ร่วมรู้เห็น เรื่องที่จำเลยที่ 5 นำเงิน 30,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อสนับสนุนการกระทำดังกล่าว

จึงพิพากษาลงจำคุกนายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3-5 เห็นควรแก้โทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วน พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 เห็นว่าแม้โจทก์จะมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่ได้จากศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ที่พวกจำเลยเดินอยู่บนระเบียง โดยภาพช่วงที่เข้าไปยังกระทรวงกลาโหมและออกจากกระทรวงกลาโหมแตกต่างกันตรงที่ปรากฏซองสีขาวในมือของบุคคลที่ปรากฏในภาพวงจรปิด แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าพวกจำเลยได้เข้าไปพบจำเลยที่ 1 ภายในห้องรับรองและจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้มอบซองที่อาจจะมีการบรรจุเงินในซองดังกล่าวให้กับจำเลยที่ 3 เพื่อไปมอบต่อให้กับจำเลยที่ 4 และ 5 นำไปให้จำเลยที่ 2 จริงหรือไม่

ขณะที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด คงมีเพียงคำให้การของจำเลยที่ 3 และ 4 ในชั้นสอบสวนเท่านั้นว่าไปพบจำเลยที่ 1 ซึ่งคำให้การดังกล่าวเสมือนเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเพราะคดีมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี ซึ่งในชั้นสืบพยานจำเลยที่ 3 และ 4 ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันตามคำให้การชั้นสอบสวน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3-5 สนับสนุนจำเลยที่ 2 กระทำผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัย ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1

อย่างไรก็ดี ในวันนี้ เมื่อถึงเวลานัด นายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 มาจากเรือนจำ ส่วนนายนายชวการ จำเลยที่ 3 และนายสุขสันต์ จำเลยที่ 4 ซึ่งศาลได้ออกหมายจับไปก่อนหน้านี้ ขณะนี้ครบกำหนด 1 เดือนแล้วยังไม่สามารถติดตามจับกุมตัวจำเลยได้ จึงอ่านคำพิพากษาในวันนี้

ศาลฎีกาประชุมสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นมีน้ำหนักรับฟังได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ พร้อมออกหมายจับนายชวการ จำเลยที่ 3 และนายสุขสันต์ จำเลยที่ 4 ให้มารับโทษด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์แล้วที่ให้ยกฟ้อง เนื่องจากอัยการโจทก์ไม่ยื่นฎีกาต่อ.