PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ธีรชัย :รัฐบาลต้องแก้ไขกติกาในการบริหารเศรษฐกิจ

ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2555 ผมได้เสนอแนวคิดใน Facebook หน้านี้

ผมมีข้อกังวลว่ากติกาในการกำกับดูแล และการขอบเขตการบริหารด้านเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล ทั้งแก่รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลในอนาคต กติกาที่มีกำหนดอยู่ในปัจจุบัน ในกฎหมายต่างๆ ทั้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และในกฎหมายลูก หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้ยังไม่รัดกุมมากพอ

การที่กติกายังไม่รัดกุมพอ จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการคลังได้ในอนาคต

ผมจึงเสนอว่า สมควรมีการคิดแก้ไขกติกาในการบริหารเศรษฐกิจ เพื่อให้มีความยั่งยืนมากกว่านี้

เนื่องจากขณะนี้ ได้มีผู้ที่เข้ามาอ่านหน้านี้มากขึ้น ผมจึงขอนำข้อคิดดังกล่าว กลับมาเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง

......

ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่

- ในต้นปีหน้า กระแสเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้มข้นมากขึ้น ผมจึงเห็นว่านักวิชาการควรใช้โอกาสนี้ ตั้งคำถามแก่กันว่า ควรแก้ไขกติกาด้านการบริหารเศรษฐกิจอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องกติกาด้านเศรษฐกิจนั้น เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกติกาต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตยังไม่ได้เน้นเรื่องนี้

- ที่ผ่านมา ได้มีการเน้นเรื่องทุจริตเลือกตั้ง เรื่องให้คนดีเข้ามาเป็นรัฐบาล และเรื่องการป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น

- แต่กติกาในด้านการบริหารเศรษฐกิจนั้นยังไม่รัดกุม และหากไม่ทำการแก้ไขปรับปรุงเสียขณะนี้ ในอนาคตประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะประสบหายนะ

- กติกาที่ควรแก้ไขนั้นมีสามเรื่อง คือ (ก) เรื่องนโยบายประชานิยม (ข) เรื่องการป้องปรามคอร์รัปชั่น และ (ค) เรื่องการคุ้มครองข้าราชการ

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องประชานิยม ก็เพราะในอนาคต จะมีพรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงมากขึ้น และเมื่อแข่งกันลดแลกแจกแถม ในที่สุดประเทศไทยจะเข้าสภาวะหนี้ล้นพ้นตัว

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องป้องปรามคอร์รัปชั่น ก็เพราะนักธุรกิจเอกชนหลายรายให้ข้อมูลผมว่า การเรียกเงินใต้โต๊ะได้ขึ้นไปสูงถึงระดับร้อยละ 40 แล้ว หากไม่แก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาดเสียที ประเทศไทยก็มีแต่จะล่มจม

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องข้าราชการ ก็เพื่อทำให้ข้าราชการเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อทำให้ข้าราชการกล้าที่จะฝืนปฏิเสธนักการเมือง จึงควรจะมีมาตรการคุ้มครองข้าราชการให้มากขึ้น

- ผมจึงขอเชิญชวนให้นักวิชาการช่วยกันคิดหาวิธีในการปรับปรุงกติกาเรื่องเหล่านี้

- และในสี่ห้าวันต่อจากนี้ ผมจะทะยอยเสนอแนวคิดของผมเอง เพื่อขอให้นักวิชาการช่วยกันพิจารณาข้อดีข้อเสีย
----------
ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ (2)

- ตามที่ผมเสนอให้มีการแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ โดยดำเนินการสามเรื่อง คือ (ก) เรื่องนโยบายประชานิยม (ข) เรื่องป้องปรามคอร์รัปชั่น และ (ค) เรื่องคุ้มครองข้าราชการ นั้น

- ในวันนี้ ผมจะขอเสนอแนวคิด เกี่ยวกับกติกานโยบายประชานิยม

- ข้อที่หนึ่ง ควรจำกัดการกู้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมที่ไม่จำเป็น

- เราไม่ควรห้ามพรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยม เพราะนโยบายบางเรื่องก็เป็นความคิดที่ดี และใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้

- แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด ก็คือรัฐบาลจะใช้เงินจากแหล่งใดเพื่อการนี้

- หากรัฐบาลใช้แหล่งเงินจากการเก็บภาษี หรือหารายได้ หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นชดเชย ก็จะไม่ค่อยมีความเสี่ยง อาจจะเข้าหลักเก็บรายได้จากคนรวย มาช่วยคนจน

- แต่หากรัฐบาลใช้แหล่งเงินจากการกู้ยืมพร่ำเพรื่อ ก็จะทำให้ฐานะของประเทศมีความเสี่ยงสูง

- จึงควรแบ่งนโยบายประชานิยมเป็นสองประเภท (ก) ประเภทที่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิต เช่น เรื่องรักษาพยาบาล หรือเรื่องการศึกษา เป็นต้น และ (ข) ประเภทที่ไม่ใช่ความจำเป็นแห่งชีวิต เช่น เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร หรือเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ เป็นต้น

- และควรจำกัดขอบเขตการกู้เงิน โดยเปิดให้รัฐบาลใช้แหล่งเงินกู้ เฉพาะสำหรับนโยบายประเภทที่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิตเท่านั้น

- แต่สำหรับนโยบายที่ไม่ใช่ความจำเป็นแห่งชีวิต ควรให้รัฐบาลหารายได้หรือลดรายจ่ายอื่นๆ มาชดเชย

- ข้อที่สอง ควรให้พรรคการเมืองประกาศแหล่งเงินสำหรับนโยบายประชานิยม

- พรรคใดที่หาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมควรจะต้องประกาศว่า (ก) นโยบายดังกล่าวจะใช้เงินเป็นจำนวนเท่าใด (ข) จะใช้เงินจากแหล่งใด (ค) หากจะเก็บภาษี ก็ให้ระบุว่าเป็นภาษีชนิดใด เป็นเงินเท่าใด (ง) หากจะหารายได้อื่น ก็ให้แจงรายละเอียด

- แต่นอกจากนี้ ผมเห็นว่าควรแก้ไขกติกาในการแทรกแซงสินค้าเกษตรอีกด้วย ซึ่งผมจะขอเสนอแนวคิดเรื่องนี้ในวันพรุ่งนี้
--------------
ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ (3)

- ตามที่ผมได้เสนอแนวคิดเรื่องกติกาประชานิยมไว้แล้ว ในวันนี้ ผมขอเพิ่มเติมกติกาเรื่องการแทรกแซงสินค้าเกษตร

- ข้อที่หนึ่ง ควรห้ามการรับจำนำเกินราคาตลาด

- การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ควรยึดหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ (ก) โปร่งใส (ข) ป้องกันทุจริต และ (ค) ตกไปถึงมือของเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย

- การช่วยเหลือนั้นมีสองลักษณะ และแต่ละลักษณะไม่ควรดำเนินการปะปนกัน ลักษณะที่หนึ่งคือการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง (cash flow) ซึ่งควรใช้วิธีการจำนำ สำหรับลักษณะที่สองคือการช่วยเหลือชดเชยต้นทุน (subsidy) ซึ่งไม่ควรใช้วิธีการจำนำ

- กรณี cash flow นั้น ควรแก้ไขกติกาเพื่อห้ามมิให้รัฐบาลรับจำนำสินค้าใดเกินร้อยละ 80 ของราคาตลาด เพื่อให้มีผลเป็นการจำนำอย่างแท้จริงที่เกษตรกรจะมีโอกาสไถ่ถอนคืน

- กรณี subsidy นั้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือต้นทุนของเกษตรกร ควรยังให้ทำได้ และถึงแม้หากรัฐบาลต้องการช่วยเกษตรกรสูงกว่าราคาตลาดไม่ว่าจะมากเท่าใด ก็ยังควรให้ทำได้

- แต่ควรกำหนดให้รัฐบาลต้องใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาไปเลย มิให้บิดเบือนไปใช้รูปของการจำนำอีกต่อไป

- การกำหนดให้รัฐบาลใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาแทนการจำนำ จะป้องกันการทุจริตได้ เนื่องจากขั้นตอนการรับซื้อและการเก็บรักษา จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด

- การกำหนดให้รัฐบาลใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาแทนการจำนำ จะทำให้เกษตรกรได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย

- ข้อที่สอง ควรกำหนดนิยามของการขายแบบ G to G ให้รัดกุม

- กรณีที่รัฐบาลต้องการจะขายสินค้าเกษตรในสต๊อคนั้น กฎระเบียบขณะนี้กำหนดให้รัฐบาลต้องใช้วิธีประมูลเพื่อให้ได้ราคาสูงที่สุด ยกเว้นเฉพาะการขายแบบ G to G ไม่ต้องทำการประมูล

- อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีปัญหาว่าการขายกรณีใดเป็นการขายแบบ G to G หรือกรณีใดเป็นการขายให้แก่บุคคลภายในประเทศ จึงควรมีการกำหนดนิยามให้รัดกุมมากขึ้น

- นิยามควรมี 3 เรื่อง คือ (ก) การทำสัญญาซื้อขาย : ต้องทำสัญญาโดยตรงระหว่างผู้ซื้อต่างประเทศกับหน่วยงานของรัฐ (ข) การชำระเงิน : ผู้ซื้อในต่างประเทศต้องเปิดแอลซีหรือจ่ายเงินตรงไปที่หน่วยงานของรัฐ และ (ค) การส่งออก : ผู้ที่ทำพิธีการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ

- หากไม่เข้านิยามนี้ต้องขายโดยวิธีการประมูลทุกกรณี

- ข้อที่สาม ควรกำหนดให้รัฐบาลชดเชยทุกปี

- ที่ผ่านมา มีปัญหาว่ากว่ารัฐบาลจะรับรู้ตัวเลขผลขาดทุนโครงการสินค้าเกษตรนั้น ก็ต่อเมื่อมีการปิดโครงการเป็นทางการแล้วเท่านั้น

- แต่บางโครงการมีขั้นตอนการปิดโครงการที่ใช้เวลาเนิ่นนาน ดังนั้น การรับรู้ขาดทุนและภาระต่อรัฐ จึงล่าช้าไปด้วย และตัวเลขของหนี้สาธารณะก็ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง

- จึงควรกำหนดให้ ธกส. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลขาดทุนทุกๆ โครงการทุกสิ้นปี แล้วให้รัฐบาลชดเชยเงินตามตัวเลขดังกล่าวไปก่อนทันที แล้วค่อยปรับตัวเลขกันภายหลังเมื่อปิดโครงการเป็นทางการ

- แต่นอกจากนี้ น่าจะมีการปรับปรุงเรื่องการกำกับดูแลการเก็บรายได้และการก่อหนี้สาธารณะอีกด้วย ซึ่งผมจะเสนอแนวคิดในวันพรุ่งนี้

(อนึ่ง ภายหลังจากที่ผมได้เขียนบทความนี้ ผมได้รับฟังแนวคิดของหม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร ที่เสนอว่าวิธีที่สะดวกที่สุด ในการที่รัฐบาลจะชดเชยให้แก่เกษตรกรนั้น ก็คือการให้เงินตรงๆแก่เกษตรกร ตามจำนวนผลผลิต โดยจ่ายเงินผ่านบัญชี ธกส. ซึ่งผมเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นวิธีที่สะดวก และรัดกุมมากที่สุด รวมทั้งเม็ดเงิน จะผ่านลงไปถึงมือเกษตรกร อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ)

ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ (4)

- ตามที่ผมได้พยายามชักชวนนักวิชาการให้ช่วยกันพิจารณา ในโอกาสที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น การแก้ไขกติกาด้านเศรษฐกิจอย่างไร จึงจะทำให้กรอบบริหารประเทศยั่งยืนอย่างมีเสถียรภาพ

- และสามวันที่ผ่านมาผมได้เสนอแนวคิดเรื่องประชานิยม และเรื่องแทรกแซงสินค้าเกษตรไปแล้วนั้น

- ก่อนที่จะเข้าประเด็นเรื่องการป้องปรามคอร์รัปชั่น ผมเห็นว่าน่าจะมีการศึกษาปรับปรุงกติกาเรื่องรายได้และการก่อหนี้สาธารณะอีกด้วย ดังนี้

- ข้อที่หนึ่ง ควรให้รัฐสภากำกับดูแลเรื่องรายได้และหนี้สาธารณะ

- ขณะนี้ ในด้านรายจ่ายนั้น รัฐสภาทำหน้าที่กำกับอย่างละเอียดอยู่แล้วโดยผ่านขบวนการงบประมาณ แต่ในด้านรายได้และด้านหนี้สาธารณะนั้น รัฐสภายังมิได้มีบทบาทเท่าที่ควร

- จึงควรแก้ไขกติกา ให้รัฐบาลต้องประกาศต่อรัฐสภาทุกปี (ก) เป้าหมายการหารายได้ และ (ข) เป้าหมายหนี้สาธารณะ และต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภาเป็นระยะๆ

- และหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่ให้สัญญาไว้แก่รัฐสภา ก็น่าศึกษาความเป็นไปได้และข้อดีข้อเสีย ว่าสมควรหรือไม่ที่จะมีบทบัญญัติห้ามมิให้รัฐบาลจ่ายเงินบางประเภทเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน จนกว่ารัฐบาลจะเสนอแนวทางแก้ไขให้เป็นที่พอใจของรัฐสภา ในทำนองเดียวกับข้อกำหนดเรื่องหน้าผาการคลัง (fiscal cliff) ของประเทศสหรัฐ

- ข้อที่สอง ควรแสดงภาระอนาคตของรัฐเป็นประจำทุกไตรมาส

- เพื่อให้ภาระอนาคตของรัฐโปร่งใส ควรให้กระทรวงการคลังประเมินภาระอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากทุกๆ โครงการของรัฐบาลเป็นประจำทุกไตรมาส (Mark to market estimate) แล้วให้ประกาศตัวเลขดังกล่าวต่อสาธารณะ

- ข้อที่สาม ควรประเมินภาระการเพิ่มทุนสำหรับธนาคารรัฐทุกปี

- ที่ผ่านมารัฐบาลมีการดำเนินนโยบายกึ่งประชานิยมผ่านธนาคารของรัฐด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้กำไรลดลงแล้ว ยังอาจสร้างปัญหาหนี้สูญอีกทางหนึ่ง

- ภาระใดๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อธนาคารของรัฐนั้น สุดท้ายจะตกเป็นภาระของรัฐในที่สุด เนื่องจากรัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารเหล่านี้ในอนาคต

- ดังนั้น ทุกสิ้นปี จึงควรให้กระทรวงการคลังประเมินว่าธนาคารของรัฐทั้งหมด มีวงเงินที่จะต้องเพิ่มทุนในอนาคตเพื่อให้ครบถ้วนตามมาตรฐาน BIS เป็นเงินเท่าใด และให้นับเงินดังกล่าวรวมเข้ากับตัวเลขภาระอนาคตของรัฐที่กระทรวงการคลังจะประกาศตัวเลขทุกไตรมาสด้วย

เปิดใจครั้งแรก"วัฒนา อัศวเหม"


วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 18:35:02 น.






"อย่าว่าแต่ติดคุก1-2 วัน นาทีเดียวก็ไม่ยอม ผมไม่ผิดจะยอมได้อย่างไร"


บทสัมภาษณ์ครั้งแรกของ "วัฒนา อัศวเหม" หลังจากเปลี่ยนสถานะเป็น"คนต่างแดน" ในหนังสือรู้จัก"วัฒนา" รู้จริง "คลองด่าน" ได้เปิดเผยถึงเรื่องราว ความรู้สึก วันพิพากษาคดีคลองด่านนั้น น่าสนใจอย่างยิ่ง

@ย้อนวันฟังคำพิพากษาคดีคลองด่านเป็นอย่างไร

วันจะไปฟังคำพิพากษา ผมเต็มปรี่ เพราะคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด กำลังขึ้นรถจะไปศาล แต่มีผู้หวังดีที่น่าเชื่อถือโทรศัพท์มาบอกว่า"อย่ามา" แต่โปรดอย่าถามผมว่าผู้หวังดีเป็นใคร ทุกวันนี้ยังคิดถึงเขาอยู่ แสดงว่าผมไม่ใช่คนบาป ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครโทร.มาบอก
 
เมื่อรู้อย่างนั้นจิตใจไม่ดีแน่ สองปีแรกเครียดมาก เครียดจนจะบ้าตาย ใช้เวลานานกว่าจะปรับตัวได้  เดือนแรกๆจะบ้าให้ได้  นอนไม่หลับ กินยานอนหลับเป็นกำๆ  คิดว่าถ้ายังขืนกินยานอนหลับอยู่อย่างนี้  สุขภาพผมแย่แน่ ผมขว้างยาทิ้งเลย แล้วก็นอนไม่หลับอยู่แบบนี้เป็นหลายเดือน ผมเดินทางไปหลายที่ ด้วยความที่มีเพื่อนเยอะ ไม่เคยคิดร้ายใคร ไปที่ไหนมีเพื่อนฝูงดูแล จนสุดท้ายผมก็ปรับตัวได้ ผมตั้งใจทุ่มเทแรงใจแรงกายให้กับวัดเหมอัศวาราม ผมขายที่ดินไปแล้วหลายแปลงเพื่อนำเงินมาสร้างวัดแห่งนี้
 
ชีวิตผมไม่ได้หวาดหวั่นอะไรตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เป็นคนจริง ทำจริง ไม่เคยเอาทรัพย์สินใคร ไม่เคยเอาทรัพย์สินของรัฐมาเป็นของตัวเอง มีกำลังที่จะทำเอง ไม่ได้ทำความผิด ที่ผ่านมามีคนมาติดต่อประสานผ่านมาหลายทาง บอกให้รีบกลับเถอะ ไปรับผิด ผมติดคุกสักพัก จากนั้นจะได้รับการช่วยเหลือ
 
นิสัยผม ถ้าผมทำผิด ผมยอมรับ แต่นี่ผมไม่ได้ทำผิด จะให้ผมยอมรับ ผมทำไม่ได้ ผมบอกกับมั่น (นายมั่น พัธโนทัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด) ว่า อย่าว่าแต่ให้ติดคุกวันสองวันเลย แม้แต่เพียงนาทีเดียว ผมก็ไม่ยอม เพราะไม่ได้ทำผิดจะยอมรับผิดได้อย่างไร
 
ตั้งแต่ออกมาจากเมืองไทย คิดถึงบ้านทุกวัน คิดทุกลูก คิดถึงหลาน  คิดถึงญาติพี่น้อง คนรู้จัก คิดถึงไปหมด ผมเดินทางไปหลายที่ ผมว่าประเทศไทยน่าอยู่ที่สุดแล้ว ผมอยากให้คนไทยได้ตระหนักเหมือนผม อยากให้รักประเทศไทยให้มากๆ ไม่มีที่ไหนที่ดี ประเสริฐ และมีความสุขสมบูรณ์เหมือนประเทศไทยอีกแล้ว อยากให้ร่วมกันหวงแหนและปกป้องบ้านเรา อย่าทำลาย และทำร้ายบ้านเราให้แย่ไปกว่านี้เลย รักและสามัคคีกัน 

ปกติคนที่สิ้นหวังจะนึกถึงธรรมะ แต่ผมไม่ใช่คนสิ้นหวัง ผมมีมันสมอง พละกำลัง จึงได้เข้าถึงธรรมะ เพราะฉะนั้น คนเข้าถึงธรรมะต้องมีขวัญและกำลังใจ ธรรมะจะเกิด
 
...ความดีกับธรรมะคู่กัน อย่างที่สมเด็จเกี่ยวท่านเคยบอก ธรรมะเกิดจากความสุจริต ...และคนอย่างวัฒนา บุญคุณทดแทนเต็มที่ แต่แค้นไม่ชำระ

@ที่บอกว่าแค้นไม่ชำระ คิดได้เมื่อไหร่

ตอนที่ผมออกมาใหม่ๆ ผมคิดทุกวัน ว่าจะชำระแค้นอย่างไร แต่พอมาสร้างวัด ความคิดที่จะชำระแค้นค่อยๆลดจนหายไป และปล่อยให้ตัวผมเองชดใช้กรรมไป ผมตระหนักว่า เพราะมีกรรมถึงมาอยู่อย่างนี้ คนที่ก่อกรรมกับผม เขาต้องชดใช้กรรมเองเช่นกัน เท่าที่รู้หลายคนก็ชดใช้กรรมไปแล้ว โดยผมไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ กรรมก็สนองเขาเหล่านั้นเอง  

@ต่อสายกับนักการเมืองรุ่นเดียวกันบ้างหรือไม่

ก็มีหลายคนที่โทร.มาถามข่าวคราวด้วยความเป็นห่วง ท่านเสนาะ เทียนทอง ก็โทร.มา  ส่วนท่านบรรหาร (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ไม่ได้โกรธกัน แต่ขอให้ไปถามว่าเขารู้จักวัฒนาหรือไม่ (หัวเราะ)  มีนักการเมืองมาขอเบอร์โทรศัพท์แต่ตอนหลังไม่ได้ให้ เพราะให้ไปแล้วโทร.มาก็เกิดกิเลส กับอดีตนายกฯทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ก็ได้พบกันบ้างแต่ไม่บ่อย
 
ปรากฎว่าหลังจากบทสัมภาษณ์ของนักการเมืองลายครามผู้นี้ได้ตีพิมพ์ออกไป "บรรหาร ศิลปอาชา"นักการเมืองลายครามรุ่นพี่ ได้ยกหูไปหา"วัฒนา"สอบถามสารทุกข์สุขดิบทันที"ตามประสานักการเมืองรุ่นเก่าแม้มี"ปม"ในใจต่อกัน แต่ให้อภัยกันได้เสมอ
 
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ตัดตอนมาจากหนังสือ ถ้าจะให้หนำใจ ต้องไปหาอ่าน ฉบับเต็มรู้จัก"วัฒนา" รู้จริง "คลองด่าน"

ม.บูรพา จัดหนัก!! "ปลดรูป-ชื่อ" ดร.ณัชชา ออกจากบอร์ดประชาสัมพันธ์รายชื่ออาจารย์ประจำ

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา จัดหนัก!! "ปลดรูป-ชื่อ" ดร.ณัชชา ออกจากบอร์ดประชาสัมพันธ์รายชื่ออาจารย์ประจำ หลังมหาวิทยาลัยมีมติไล่ออก กรณีทุจริต เบิกเงินโครงการศึกษาดูงานที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมคลอดกฎ คุ้มเข้มห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งของ โดยไม่ได้รับอนุญาต 

กรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยบูรพา มีมติไล่ออก ดร.ณัชชา คุณาทัพพ์ จากตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หลังจากถูกตรวจสอบพบว่า มีการทุจริตเบิกเงินโครงการศึกษาดูงานที่ จ.เชียงใหม่ โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา 
แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยสำนักข่าวอิศราwww.isranews.org ว่า ขณะนี้ผู้บริหารคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ได้ทำการปลดรูปและชื่อของ ดร.ณัชชา ออกจากบอร์ดประชาสัมพันธ์อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์แล้ว 
และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา นายสมคิด เพชรประเสริฐ รองคณบดี ปฏิบัติราชการแทนคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ได้ออกบันทึกข้อความ แจ้งไปยัง ผู้รักษาการแทนหน้าสำนักงานคณบดี, ผู้ปฏิบัติงานการเจ้าหน้าที่, เจ้าหน้าที่ภาควิชาทุกภาควิชา และผู้ปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุ
เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บทรัพย์สินส่วนตัวและเคลื่อนย้ายสิ่งของอันเป็นทรัพย์สินของทางราชการ
โดยระบุเนื้อหาว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะรัฐศาสตร์ฯ ขอเรียนแจ้งเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการเก็บทรัพย์สินส่วนตัว และเคลื่อนย้ายสิ่งของอันเป็นทรัพย์สินของทางราชการในความครอบครองของบุคลากร กรณีบุคคลหลุดพ้นจากการปฏิบัติงานในคณะฯ มีข้อปฏิบัติทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้
1.การดำเนินการเก็บทรัพย์สินอันเป็นของส่วนตัว ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์แจ้งวันเวลาในการเข้ามาเก็บทรัพย์สินส่วนตัวต่อหัวหน้าภาควิชาที่สังกัด หรือผู้รักษาการแทนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงนัดหมายเวลาเข้ามาดำเนินการได้ กรณีมอบหมายบุคคลอื่นให้ดำเนินการแทนให้ดำเนินการทำเป็นหนังสือมอบอำนาจโดยชอบตามกฎหมาย
2.ทรัพย์สินอันเป็นของราชการในความครอบครองของผู้นั้น ให้ผู้นั้นหรือผู้รับมอบหมายโดยชอบตามกฎหมาย ทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมอบแก่งานพัสดุฯ ให้ครบถ้วน
3.ในการเข้ามาดำเนินการจัดเก็บทรัพย์สินตามข้อ 1 และ 2 ให้มีพยานฝ่ายผู้ปฏิบัติงานการเจ้าหน้าที่ และฝ่ายงานการเจ้าหน้าที่บุคคลผู้เกี่ยวข้องอยู่ด้วยอย่างน้อย 2 คน ตลอดเวลาในการดำเนินการ และให้ดำเนินการเสร็จสิ้นในหนึ่งรอบ ในวันและเวลาราชการ
4.คณะฯ ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินใด ๆ โดยเด็ดขาด หากปราศจากการดำเนินการตามข้อ 1, 2 และ 3
5.ให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการขนย้ายโดยปฏิบัติด้วยความเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
6.กรณีมีข้อขัดข้องให้นำเสนอผู้บริหารคณะฯ ตัดสินใจ
แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ดร.ณัชชา ไม่ได้เดินทางเข้ามาที่คณะฯ หลายวันแล้ว และยังไม่ได้เข้ามาเก็บของใช้และทรัพย์สินส่วนตัวจากโต๊ะทำงานแต่อย่างใด
(ดูบันทึกข้อความประกอบ)