PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ปรากฏการณ์แห่ซบ ‘พปชร.’ ‘สูตรชนะ’ ในการเมือง ‘ลูปเดิม’


     แม้ยังไม่ได้มีการ ปลดล็อก แต่บรรยากาศการเลือกตั้งที่ร้างลาไปนาน 7 ปี กลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคมที่จะถึงนี้
                โดยการมีผลบังคับใช้ของ “กฎหมาย ส.ส.” ถือว่ามีความสำคัญอย่างที่จะทำให้ประเทศไทยขยับเข้าใกล้ “การเลือกตั้ง” มากที่สุด เพราะถือเป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ หลังรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากนั้น
                เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่างๆ มากมายของพรรคการเมือง แม้จะยังมีบางส่วนหวาดระแวงว่า การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ก็ตาม
                กระนั้นก็ไม่ได้เป็นความกังวลในระดับที่มากเหมือนที่ผ่านๆ มา นั่นเพราะทุกคนรู้ดีว่า ต่อให้การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่คงไม่เกินวันที่ 5 พฤษภาคมไปได้ ซึ่งในเมื่อรอมาได้ถึงขนาดนี้แล้ว หากจะต้องขยับออกไปอีกไม่เกิน 3 เดือน คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร
                 และหลายคนยังเชื่อว่า ความเป็นไปได้สำหรับวันเข้าคูหาเลือกตั้งยังเป็น 24 กุมภาพันธ์ ตามเดิมยังมีสูง หากมองท่าทีและองค์ประกอบต่างๆ จากผู้กำหนดอย่าง รัฐบาล
                 ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 เรื่อง เลื่อนการประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกไป ซึ่งแม้บางฝ่ายจะมองว่า คสช.พยายามจะ เลื่อนเลือกตั้ง อีกครั้ง
                 แต่เมื่อดูจากความพร้อมของ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นองคาพยพหลักทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง กลับดูจะมีความเพียบพร้อม และอยากจะให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุดด้วยซ้ำไป
        ขณะเดียวกัน ในทางปฏิบัติแล้ว นอกจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 16/2561 จะไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ จะเลื่อนออกไป ยังเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะ “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งมีคนในรัฐบาลอยู่จำนวนมาก
                 อีกทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ดูจะส่งผลต่อ “พรรคเพื่อไทย” มากที่สุด หลังสร้างปัญหาให้กับยุทธศาสตร์ “แยกกันตี” ซึ่งทำให้การจัดทัพว่า ใครจะไปอยู่พรรคไหนในบรรดา “พรรคสาขา” เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า กกต.จะแบ่งเลือกตั้งออกมาอย่างไร
        ในขณะที่เดดไลน์เรื่องคุณสมบัติ ซึ่งผู้ที่จะลงรับสมัคร ส.ส.จะต้องเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันตามรัฐธรรมนูญ จะครบกำหนดในวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ในกรณีว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
        โดยการประกาศเขตเลือกตั้งของ กกต.นั้น เป็นไปได้ยากมากที่จะเสร็จก่อนวันที่ 26 พฤศจิกายน ดังนั้น “เพื่อไทย” และพรรคสาขา ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อธรรม หรือพรรคอื่นๆ จะต้องรีบเข้าสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งไปก่อน เพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติการลงรับสมัคร ส.ส.
                ซึ่งการเข้าไปเป็นสมาชิกก่อน อาจจะเกิดปัญหาทับซ้อนในเรื่องพื้นที่ได้ หากเขตเลือกตั้งที่ กกต.กำลังจะประกาศออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทย และพรรคสาขากะเก็งเอาไว้
                 นอกจากนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของ กกต.ยังอาจส่งผลให้ฐานคะแนนของพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลงได้ หากออกมาแล้วพื้นที่หลักถูกกระจายออกไป
        มีการตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าว แท้จริงคือ “การแก้เกม” ยุทธศาสตร์กระจายและไปกระจุกกันที่ “รัฐสภา” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี
                 อย่างไรก็ดี การที่จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ยังทำให้เห็นรูปร่างหน้าตาของแต่ละพรรคการเมืองที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้อีกด้วย
                 โดยเฉพาะ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มีความเคลื่อนไหวน่าตื่นตาตื่นใจตลอดสัปดาห์ หลังก่อนหน้านี้ซาไปสักระยะหนึ่งตอนหมดกระแส “ดูด”
        มีนักการเมือง ทั้งที่มีข่าวมาสักระยะว่าจะมาร่วมงาน หรือพวกที่ เหนือความคาดหมาย เข้ามาสมัครสมาชิกพรรคจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่า แม้แต่ในวันสุดท้ายของพวกที่จะลงรับสมัคร ส.ส. 26 พฤศจิกายนนี้ ก็ยังจะมี บิ๊กเซอร์ไพรส์ เข้ามาอีกแน่
        บุคคลที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทิ้งพรรคเพื่อไทยอย่าง วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และอดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจหอบอดีต ส.ส.กำแพงเพชร มาร่วมงานกับ “พลังประชารัฐ” ยกจังหวัด
                 หรือแม้แต่ ตระกูลอัศวเหม แห่งสมุทรปราการ ที่ร่วมงานกับพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ “วัฒนา อัศวเหม” อดีต รมช.มหาดไทย ยังไม่ได้หลบหนี และอีกหลายคนที่เคยโจมตี คสช. หรือดูจงรักภักดีกับ “ทักษิณ” มากก็ยังมาซบกับพรรคใหม่แกะกล่องที่รู้กันดีว่า เป็นที่มั่นหลักของ “ทหาร”
                 จนมาถึงตรงนี้ มีอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย มาร่วมงานกับ “พลังประชารัฐ” แล้วไม่น้อยกว่า 50 ชีวิต ท่ามกลางการถูกเพ่งเล็งว่า นี่ไม่ใช่การมาร่วมเพราะอุดมการณ์ หากแต่เป็นการ แลกเปลี่ยน กับอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความ อยู่รอด เพราะอดีต ส.ส.เหล่านี้ เกือบจะทั้งหมดต่างมีคดีติดตัวกันแทบทั้งสิ้น
                ขณะที่บางส่วนก็ไม่มั่นใจกับกระแสข่าวยุบพรรคเพื่อไทย จึงตัดสินใจหนีออกเพื่อเลี่ยงการโดนล้างน้ำเป็นครั้งที่ 3 อันจะทำให้เส้นทางทางการเมืองดับลง
                มันจึงทำให้ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ประกาศชูคนรุ่นใหม่ และทางเลือกใหม่ เต็มไปด้วยนักการเมืองจากอีกฝั่งตรงข้ามที่หันมาสวามิภักดิ์เต็มไปหมด
                นอกจากนักการเมืองหน้าเดิม วิธีการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงไม่มีมิติใหม่จากในอดีต เพราะยังใช้วิธีกวาดต้อนเพื่อ เน้นปริมาณ มากกว่า คุณภาพ เป็นการแย่งอำนาจจากอีกขั้วไปอีกขั้ว
                ซึ่งมันเป็นวิธีที่ “ทักษิณ” เคยทำกับพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพียงแต่วันนี้เป็น “พลังประชารัฐ”
                ขณะที่วิธีการสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนยังคงเป็นรูปแบบเดิม นั่นคือ การลด แลก แจก แถม เพื่อซื้อใจ แนวทางความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กลับถูกพับไปเพื่อ “ชัยชนะ” ในสนามเลือกตั้ง
                 รัฐบาลใช้งบจากกองทุนประชารัฐ ซึ่งมีชื่อคล้ายกับ “พรรคพลังประชารัฐ” อนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยคนจน คนชรา ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงที่การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งในทางการเมืองถือเป็นการสร้างความได้เปรียบ
        ในส่วนของคนรุ่นใหม่ แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นลูกหลานและทายาทของนักการเมืองที่ถูกส่งมา เพื่อเล่นกับกระแส “เลือดใหม่” ที่หลายพรรคชู ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ที่มีฝีไม้ลายมือจริงๆ
                 ทั้งการก่อตั้งพรรค รวมถึงแนวทางการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง แทบไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปจากเดิม
        เหตุนี้แม้การเลือกตั้งจะจบลง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ และรัฐบาลอีกสมัย แต่เมื่อการได้มาซึ่งอำนาจไม่ได้เกิดจากการ “ปฏิรูป” มันจึงเป็นเพียงอำนาจที่เปลี่ยนมือจากขั้วหนึ่งมาอยู่อีกขั้วหนึ่งเท่านั้น
                 โอกาสที่ไทยจะหลุดจากวังวนความขัดแย้งจึงเป็นไปได้ยาก พร้อมกับวนลูปวงจรอุบาทว์ทางการเมืองอยู่แบบนี้!!!.

ที่่มา ไทยโพสต์ 25พ.ย.61

พลังแห่งการ"ดูด"ของพลังประชารัฐ

· 
THE STANDARD
1 ชม.
หากการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 โดยไม่ถูกเลื่อนออกไป วันจันทร์ที่ 26 พ.ย. 2561 คือวันสุดท้ายของการย้ายพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมืองที่กำหนดให้ผู้ลงสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง
.
บรรยากาศการย้ายพรรคการเมืองจึงคึกคัก แต่ดูเหมือน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ จะสนุกอยู่ข้างเดียว
.
‘วิเชียร ชวลิต’ นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐเปิดรับบุคคลเพื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรค จนถึงวันนี้วันที่ 26 พ.ย. มีผู้มาสมัครสมาชิกพรรคจำนวนมากกว่า 1,300 คน
ในจำนวนนี้ THE STANDARD รวบรวมเฉพาะอดีต ส.ส. จากพรรคต่างๆ และคนดังที่เรียกเสียงฮือฮาที่มาสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
.
(27 พ.ย.) นายแพทย์เหวง โตจิราการ สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยรายชื่ออดีต ส.ส. เพื่อไทย ที่ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 40 คน ขณะที่ THE STANDARD ตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่ามีอดีต ส.ส. ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยอย่างน้อยกว่า 44 คน ที่ย้ายขั้วเปลี่ยนข้างตามรายชื่อดังนี้
1. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
2. สมศักดิ์ เทพสุทิน
3. วราเทพ รัตนากร (อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
4. สันติ พร้อมพัฒน์
5. สุพล ฟองงาม
6. ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข
7. วีระกร คำประกอบ
8. ฐานิสร์ เทียนทอง
9. จำลอง ครุฑขุนทด
10. สุรพร ดนัยตั้งตระกูล
11. จักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล
12. วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์
13. เอี่ยม ทองใจสด
14. จักรัตน์ พั้วช่วย
15. สุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์
16. จรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์
17. อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์
18. ไผ่ ลิกค์
19. พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์
20. ปริญญา ฤกษ์หร่าย
21. อนันต์ ผลอำนวย
22. สุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์
23. เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข
24. วันชัย บุษบา
25. สุทธิชัย จรูญเนตร
26. สุชาติ ตันติวณิชชานนท์
27. เวียง วรเชษฐ์
28. ดนัยฤทธิ์ วัชราภรณ์
29. ศุภสิธ เตชะตานนท์
30. ชูกัน กุลวงษา
31. วิรัช รัตนเศรษฐ
32. ทัศนียา รัตนเศรษฐ
33. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ
34. สุภรณ์ อัตถาวงศ์
35. ตรีนุช เทียนทอง
36. พล.อ. สมชาย วิษณุวงศ์
37. อำนวย คลังผา
38. ฉลอง เรี่ยวแรง
39. ทวี สุระบาล
40. กล่ำคาน ปาทาน
41. สุชาติ ตันเจริญ
42. อนุชา นาคาศัย
43. นิพนธ์ คนขยัน
44. ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า
.
ขณะที่อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มีอย่างน้อยกว่า 14 คนที่ย้ายมาอยู่กับพลังประชารัฐ โดยกลุ่มใหญ่สุดคือโซนภาคตะวันออก ได้แก่
1. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ (กทม. ประชาธิปัตย์)
2. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ (กทม. ประชาธิปัตย์)
3. ธวัชชัย อนามพงษ์ (จันทบุรี ประชาธิปัตย์)
4. ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา (จันทบุรี ประชาธิปัตย์)
5. บุญเลิศ ไพรินทร์ (ฉะเชิงเทรา ประชาธิปัตย์)
6. พล.ต.ท. พิทักษ์ จารุสมบัติ (ฉะเชิงเทรา ประชาธิปัตย์)
7. สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ (ชลบุรี ประชาธิปัตย์)
8. ทวี สุระบาล (ตรัง ประชาธิปัตย์ )
9. ทศพล เพ็งส้ม (นนทบุรี ประชาธิปัตย์)
10. วิชัย ล้ำสุทธิ (ระยอง ประชาธิปัตย์)
11. แสนคม อนามพงษ์ (บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์)
12. กัลยา รุ่งวิจิตรชัย (สระบุรี ประชาธิปัตย์)
13. อัฏฐพล โพธิพิพิธ (กาญจนบุรี ประชาธิปัตย์)
14. ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ (บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์)

.
นอกจากนี้ยังมีอดีต ส.ส. พรรคการเมืองอื่นๆ อีก อาทิ พรรคพลังชล อย่างน้อย 5 คน ได้แก่ อิทธิพล คุณปลื้ม, สุชาติ ชมกลิ่น, รณเทพ อนุวัฒน์, พันธุ์ศักดิ์ เกตุวัตถา และปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์
.
อดีต ส.ส. พรรคชาติพัฒนา อย่างน้อย 3 คน ได้แก่ รัตนา จงสุทธานามณี, มงคล จงสุทธานามณี และจำลอง ครุฑขุนทด
.
อดีต ส.ส. พรรคชาติไทย อย่างน้อย 2 คน ได้แก่ มณเฑียร สงฆ์ประชา และภิญโญ นิโรจน์
.
อดีต ส.ส. พรรคความหวังใหม่ อย่างน้อย 2 คน ได้แก่ ศุภสิธ เตชะตานนท์ และกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่
.
และอดีต ส.ส. พรรครวมชาติพัฒนา อย่างน้อย 1 คน คือ สมชัย ฉัตรพัฒนศิริ อดีต ส.ส. นครราชสีมา
.
ส่วนคนดังที่สร้างกระแสให้กับพรรคพลังประชารัฐ มีดังนี้
- กลุ่มตระกูลอัศวเหม
- วทันยา วงษ์โอภาสี (มาดามเดียร์)
- สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ (ทนายความ)
- เดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ (ลูกชายของบุญทรง เตริยาภิรมย์)
- เชษฐวุฒิ วัชรคุณ (นักแสดง)
- เวสป้า อาร์สยาม (ศิลปิน)
- อ้อแอ้-นพวรรณ หัวใจมั่น (พริตตี้)

.
เรื่อง: พลวุฒิ สงสกุล
ภาพ: Dreaminem

เลือกตั้ง 2562 : เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ เผชิญอดีตส.ส. แหกค่าย-ย้ายพรรคนับร้อย

พรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าสู่ภาวะวิกฤต เมื่อยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งที่วางไว้ผิดพลาด-คลาดเคลื่อน จากเคยตั้งเป้า "ปักธง" ชนะเลือกตั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่การณ์ที่ปรากฏคืออดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภาคเหนือ อีสาน และกลางอย่างน้อย 39 คนได้ย่องเงียบออกจากพรรค พลิกขั้ว-แหกค่าย-ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
สื่อมวลชนไทยหลายสำนักใช้คำว่า "กระอัก" "ทะลักซบ" "ดูดหนัก" ขึ้นเป็นพาดหัวข่าวเช้าวันที่ 27 พ.ย. หลังพ้น "เส้นตายย้ายพรรค"
การตัดสินใจของนักเลือกตั้งเหล่านี้มาจากทั้ง "แรงดูด" และ "แรงผลัก" สะท้อนผ่านคำอธิบายของเหล่าสมาชิก พท. เอง
ตัวอย่าง "แรงผลัก" จากเพื่อนร่วมพรรคที่ชัดเจนที่สุด หนีไม่พ้นกรณี เดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ บุตรชายของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว. พาณิชย์ กลุ่มวังบัวบาน ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่ระบายความรู้สึกผ่านสื่อมวลชนอย่างไม่ปิดบังว่า "พ่อผมถูกโจมตีเสีย ๆ หาย ๆ จากฝั่งทนายของอดีตนายกฯ" และพอพ่อเจ็บป่วยก็มีคนนำไปเชื่อมโยงกับคดีความต่าง ๆ จนไม่มีใครอยากช่วยเหลือ
เดชนัฐวิทย์ประกาศลงสมัคร ส.ส. เชียงใหม่ เขต 7 แทนบิดา พร้อมเปรียบเปรยผู้สมัคร ส.ส. เป็นเหมือนลาบ ส่วนพรรคการเมืองคือภาชนะ "ถ้าประชาชนอยากกินลาบ จะไปอยู่บนจาน ในถ้วย หรือในแก้ว ประชาชนก็อยากกินเหมือนเดิม"
อีกคนที่เผ่นหนีไปเพราะ "แรงผลัก" คือ ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส. สุพรรณบุรี ที่ขอยุติการเป็นสมาชิก พท. ไว้เพียงเวลาเดือนเศษ กลับไปเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ตามเดิมท่ามกลางกระแสข่าวหนาหูเรื่องยุบ พท. ทำให้เขาทบทวนการตัดสินใจใหม่ "เชื่อว่ามันมีเชื้ออยู่ แต่จะไปถึงขั้นนั้นหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่นักการเมืองจะต้องหาที่ที่มั่นคงที่สุดให้ตัวเอง"
แต่ถึงกระนั้น แกนนำ พท. ประเมินว่าคดียุบพรรคจะเกิดขึ้นในเร็ววัน แผนตั้ง "พรรคสำรอง" อย่างพรรคเพื่อธรรม (พธ.) จึงพับไป ทั้ง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ พงศกร อรรณนพพร ทิ้งหัวโขนหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค กลับมาตั้งหลักที่ พท. ดังเดิม ทิ้ง นลินี ทวีสิน อดีต รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่โยง "เฝ้าพรรค" แบบเหงา ๆ ไป
กราฟฟิค
4 ปัจจัยดันปฏิบัติการ "ดูด"
ขณะที่สมาชิก พท. ที่ย้ายไปสังกัด พปชร. ด้วย "แรงดูด" มีหลากหลายกลุ่ม แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาที่สุดชนิดต้นสังกัดเดิม "ไม่คาดคิดมาก่อน" และทำได้เพียง "ตั้งรับ" คือกลุ่มกำแพงเพชรของ วราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผู้ไม่เคยถูกปรับ-ปลด-ย้ายออกจากตำแหน่งทั้งที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 10 ครั้ง
หลังพ้น "เส้นตายย้ายพรรค" ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการ พท. สรุป 4 ปัจจัยที่ส่งผลให้ปฏิบัติการ "ดูด" เกิดขึ้นอย่างคึกโครม ประกอบด้วย การให้สินทรัพย์/เงินทอง, การเอื้อประโยชน์ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง, การช่วยเหลือในทางคดี และการคลายทุกข์ให้เครือญาติ
กลยุทธ์ที่ พท. เตรียมนำมาใช้เพื่อ "กู้คะแนนเสียง" ที่หายไปคือการให้ พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสมัครเป็นสมาชิก พท. เรียบร้อย ปรากฏตัวในภาคเหนือและอีสานร่วมกับทีมหาเสียงของพรรคโดยไม่ขึ้นเวทีปราศรัย เพื่อเรียกคะแนนจาก "ชาวรากหญ้า" แต่การให้ "ทายาททักษิณ" มาเปิดหน้าก็อาจเป็นปัจจัยเร่งคดีปล่อยกู้กรุงไทยที่พานทองแท้ตกเป็นจำเลย และไม่เป็นคุณแก่ตัวเขานัก จึงเป็นเรื่องที่พ่อ-แม่ต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
3 พรรคเฉือนเนื้อ-ตัดแต้มกันเอง
นอกจากต้องเสียนักเลือกตั้งเจ้าของพื้นที่เดิมให้พรรคคู่แข่ง พท. ยัง "เฉือนเนื้อตัวเอง" แบ่งสมาชิกคนสำคัญ 20 คนให้พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ภายใต้ยุทธศาสตร์ "แยกกันเดิน ร่วมกันตี" หวังแบ่งบท-กำหนดเกมต่อสู้ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นคุณแก่พรรคใหญ่ ซึ่งถูกพรรคคู่แข่งเรียกว่าการ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย"
Image copyrightกองโฆษก ทษช.
คำบรรยายภาพแกนนำ ทษช. ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อหาสมาชิกพรรค
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ถูกส่งไปเป็นตัวยืน-หวังเก็บคะแนนเสียงตกน้ำจากผู้สมัคร ส.ส. ภาคใต้และภาคตะวันออกมาเป็นแต้ม ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้ ทษช. แทน พท. ที่ไม่มีโอกาสได้ ส.ส. ในระบบนี้
แต่เอาเข้าจริง ตัวละครที่ ทษช. ได้ไปก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก แม้มีอดีตรัฐมนตรีอย่างน้อย 9 คน และอดีต ส.ส. นับสิบ แต่ก็ไม่มีฐานเสียงเป็นกิจลักษณะเพราะส่วนใหญ่เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ยกเว้น ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส. ขอนแก่น ที่เคยกำคะแนนเสียงทะลุ 7 หมื่นเสียงในการเลือกตั้งปี 2554
ส่วนคะแนนเสียงที่หวังเก็บจากมวลชนคนเสื้อแดง ก็คล้ายถูกพรรคเพื่อชาติ (พช.) ตัดแต้มกันเอง จากเดิมที่ดูเหมือนจะเป็นพรรคเล็ก ทว่าด้วยทุนของ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรค และเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับ "ภารกิจพิเศษ" ของ จตุพร พรหมพันธุ์ โดยมีการจัดการแบบ ยงยุทธ ติยะไพรัช สอดแทรกเข้ามา ก็ทำให้ พช. ได้แนวร่วมคนเสื้อแดงไปอยู่ในพรรคหลายคน นอกจากนี้ยังมีทีมโคราชของ "ตระกูลเชิดชัย" และ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ร่วมด้วย
อดีต กรธ. เย้ย "คนแก่แยกสองพรรค" ไม่เข้าเป้า
ภายใต้ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ของ พท. อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้ร่วมออกแบบระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมในรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งคำถามว่าแน่ใจได้อย่างไรว่าคะแนนเศษของพรรคที่แตกออกไปจะมากกว่าเศษของพรรคอื่น
ศ. อุดม รัฐอมฤต กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่ค่อยเชื่อในทฤษฎีของพรรคที่ตั้งใจส่งผู้สมัคร "บุกไปแพ้" แล้วโกยคะแนนเข้าส่วนกลางเป็นคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่เชื่อว่าการเปิดหน้าคนใหม่ ๆ คือการสร้างโอกาสให้พรรคมากกว่า
"อย่างพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ผมมองว่าเขาเป็น 'ซับเซ็ทของเพื่อไทย' นะ แต่เขาน่าจะมีโอกาสมากกว่า ทษช., พช., พธ. ที่แตกออกไปพรรคเดิม เพราะชูจุดขายคนรุ่นใหม่" และ "กลุ่มนักการเมืองหน้าเดิมที่เป็นพวก 'คนแก่แยกสองพรรค' เขาแค่เปลี่ยนยี่ห้อ แต่ฐานเสียงก็เป็นฐานเดิม ชาวบ้านก็รู้ว่าของเดิม ยุทธศาสตร์แตกแบงก์นี้จะบรรลุผลได้ เขาต้องรักษาฐานเสียงเดิมได้ และต้องหาคะแนนใหม่มาเพิ่ม"
ทั้งปรากฏการณ์ "แตกแบงก์ย่อย" และ "ดูด ส.ส." แบบอึกทึกครึกโครม ทำให้นักวิชาการและนักการเมืองระบุตรงกันว่าสวนทางกับความพยายามปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล คสช. ศ. อุดมยืนยันว่าในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดถึงการสกัดกั้นพรรคไหน หรือเอื้อให้พรรคไหนชนะการเลือกตั้ง แม้แกนนำ พปชร. จะระบุว่า "รัฐธรรมนูญดีไซน์ (ออกแบบ) มาเพื่อพวกเรา" ก็ตาม
อภิสิทธิ์ทำนายได้อดีต ส.ส. เยอะทั้งก่อน-หลังเลือกตั้ง
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งฐานที่มั่นหลักอยู่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็อยู่ในภาวะระส่ำระสายไม่แพ้กัน เพียงแต่ไม่มีใครออกมาร้องระงงผ่านสื่อ
สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ รปช. เดินหาสมาชิกพรรคที่ จ. สุราษฎร์ธานีImage copyrightกองโฆษก รปช.
คำบรรยายภาพสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ รปช. เดินหาสมาชิกพรรคที่ จ. สุราษฎร์ธานี
บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า พรรค 7 ทศวรรษต้องเสีย "เจ้าของที่นั่งเดิม" 9 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสุราษฎร์ธานี ให้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่ง รปช. ก็ต้องไปฟาดฟันกับพรรคประชาชาติ (ปชช.) ของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ต่อไปเพื่อช่วงชิงเสียงในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
ส่วนกำลังหลักใน กทม. ก็แตกออกไปอยู่กับ พปชร. เมื่อก๊วน "3 หนุ่ม กปปส." ประกอบด้วย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และสกลธี ภัททิยกุล หอบหิ้วเอาอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) บางส่วนย้ายพรรคตามไปด้วย
ยังไม่รวมตระกูลการเมืองในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ. ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ที่ว่ากันว่าบางส่วนไหลไปตามอานิสงส์ของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล รวมเบ็ดเสร็จแล้ว ปชป. เสียอดีตนักเลือกตั้งให้ "พรรคอายุ 2 เดือน" อย่าง พปชร. ไปอย่างน้อย 14 คน
ภายใต้ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ของ พท. และยุทธศาสตร์ "รวมแบงก์ร้อยเป็นแบงก์พัน" ของ พปชร. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. บอกสื่อมวลชนว่าไม่ได้สนใจเรื่องแบงก์ แต่สนใจยกระดับการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากการใช้เล่ห์เหลี่ยม ใช้ช่องของกฎหมายหรือวิธีต่อรองเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์
สมชัย ศรีสุทธิยากรImage copyrightกองโฆษก ปชป.
คำบรรยายภาพสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ไม่เคยจัดการเลือกตั้งสำเร็จ สมัครเข้าเป็นสมาชิก ปชป.
เขาบอกด้วยว่าเป็นเรื่องดีที่การโยกย้ายสิ้นสุดลงแล้ว เพราะประชาชนจะได้เห็นภาพชัดเจน และเตือนบรรดานักยุทธศาสตร์การเมือง-นักคณิตศาสตร์การเมืองทั้งหลายว่าสมการอาจไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะทุกการเลือกตั้งจะมีคนใหม่เข้ามาร้อยละ 20-30
"ที่คิดว่ามีอดีต ส.ส. เยอะ เผลอ ๆ หลังเลือกตั้งแล้วก็ยังมีอดีต ส.ส. เยอะอยู่ เช่น พปชร. ได้อดีต ส.ส. ไปเยอะก็อาจจะได้อดีต ส.ส. เยอะหลังการเลือกตั้งด้วย" อภิสิทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามอดีต ส.ส. ผู้ทำคะแนนเสียงทะลุ 7 หมื่นแต้มส่วนใหญ่ 12 จาก 14 คน ยังอยู่ในสังกัด ปชป. มีเพียง เชน เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส. สุราษฎร์ธานี คนเดียวที่ย้ายไปอยู่พรรคพี่ชาย และอีกรายเสียชีวิต แต่พรรคได้เปิดตัวบุตรสาวของเขาลงสนามเลือกตั้งในนามกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ NEW DEM
นายพล คสช. ปัดบงการ "ดูด" ส.ส.
การเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคถึงเที่ยงคืนที่ผ่านมาของ พปชร. ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง ล่าสุด วิเชียร ชวลิต นายทะเบียน พปชร. เปิดเผยว่า มีบุคคลกว่า 1,300 คนสมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยหลังจากนี้จะเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตเข้าเป็นสมาชิกในลำดับต้นก่อน พร้อมยอมรับว่าตัวเลขของผู้สมัคร "เกินการคาดหมาย"
ด้านนายพลในรัฐบาล คสช. ออกมาประสานเสียงว่าไม่รู้-ไม่เห็นกับความคึกโครมที่เกิดขึ้น โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง-สั่งการให้เกิดการย้ายพรรค แต่เชื่อว่าเป็นการย้ายเพราะ "เห็นว่านโยบายทางการเมืองตรงกัน อยากแก้ไขปัญหาความบกพร่องในอดีต
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ก็ปฏิเสธข่าวว่ามีการใช้เงื่อนไขคดีความกดดันให้อดีตนักการเมืองย้ายมาเป็นสมาชิก พปชร. "..ผมไม่สามารถช่วยได้ คนที่โดนคดีจะเกี่ยวข้องอะไรกับผม เพราะไม่เกี่ยวกับพรรค ไม่มีใครไปควบคุมศาลได้"
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์Image copyrightกองโฆษก พท.
คำบรรยายภาพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พท. เปิดศูนย์ประสานงานพรรคที่ จ. นครพนม โดยฝากบอกสมาชิกที่ย้ายพรรคว่า "ขอให้โชคดี"

การคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพเริ่มแล้ว! แต่ให้คสช. เป็นคนเลือกด่านสุดท้าย

iLaw
2 ชม.
การคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพเริ่มแล้ว! แต่ให้คสช. เป็นคนเลือกด่านสุดท้าย
.
วันนี้ (27 พ.ย. 61) เป็นวันที่สองที่ กกต. เปิดรับสมัครผู้ที่ต้องการสมัครคัดเลือกเป็น ส.ว. ตามกลุ่มอาชีพ ต่างๆ จำนวน 10 กลุ่ม
.
โดย "พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว." มาตรา 90 (1) (ก) กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการคัดเลือก ส.ว.กลุ่มอาชีพจำนวน 200 คน ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน จากนั้นให้คสช. พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 50 คน
.
และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ทีผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษามีการเผยแพร่ “พระราชกฤษฎีกา ให้เลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)” และถือเป็นการเริ่มต้นการสรรหาคัดเลือก ส.ว. โดยกำหนดรับสมัคร ส.ว. ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2561 และคาดว่าจะเสนอชื่อให้คสช. พิจารณาภายในวันที่ 16 มกราคม 2561
.
+วิธีการสมัครคัดเลือกเป็น ส.ว. กลุ่มอาชีพมีสองวิธี คือ “สมัครเอง” กับ “องค์กรเสนอชื่อ”+
.
สำหรับการคัดเลือก ส.ว. ตามกลุ่มอาชีพจะแบ่งวิธีการรับสมัครเป็นสองส่วน ได้แก่
.
1) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ของแต่ละกลุ่มอาชีพที่มีทั้งหมด 10 กลุ่ม
.
2) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมแสดงหนังสือแนะนําชื่อผู้สมัครจากองค์กร ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีและมิได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากําไรมาแบ่งปันกันหรือดําเนินกิจกรรมทางการเมือง และให้องค์กรดังกล่าวเลือกส่งผู้สมัครได้เพียง 1 กลุ่มอาชีพ
.
+วิธีการคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ ในระดับอำเภอ+
.
1) ให้ผู้สมัคร เลือก ผู้สมัครที่ต้องการเลือกในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกัน ไม่เกิน 2 คน โดยจะลงคะแนนให้ตนเองก็ได้
.
2) นับคะแนนของแต่ละกลุ่ม และแต่ละวิธีการสมัคร
.
3) ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกทั้งสมัครด้วยตนเอง และ รับรองโดยองค์กร ของการเลือกระดับอำเภอ รวม 60 คน แล้วส่งไปเลือกในระดับจังหวัด
.
+วิธีการคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ ในระดับจังหวัด+
.
1) ผู้มีสิทธิ์เลือกกันเองในกลุ่มและวิธีการสมัครเดียวกัน (เหมือนในระดับอำเภอ)
.
2) นับคะแนนแล้ว ผู้ได้คะแนนสูงสุด 4 ลำดับแรก รวมการเลือกระดับจังหวัด รวม 80 คน แล้วส่งไปเลือกในระดับประเทศ
.
+วิธีการคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ ในระดับประเทศ+
.
1) ใช้วิธีเดียวกัน เลือกผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 10 คนในแต่ละกลุ่ม และสองวิธีการสมัคร รวม 200 คน แล้วส่งให้ คสช.เลือกให้เหลือ 50 คน
.
ดูรายละเอียดได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5042

ยอมให้มีเลือกตั้งเพราะรู้ว่าไม่มีความหมาย?

สภาวะที่น่ากลัว : สิ่งที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ คือการพยายามเข้ามารื้อและล้มล้างระบบกฎหมายเดิม แล้วเขียนกฎหมายของตัวเองขึ้นมาใหม่ กระบวนการนี้ทำให้คำว่า"รัฐธรรมนูญ"ไม่มีความหมาย... และทำให้ทหารมีที่ยืนอย่างถาวรในรัฐบาล "เพื่อให้การแทรกแซงกลายเป็นเรื่องปกติ”


 


ดุลยพงษ์ ดวงทาทอน สิ่งที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ คือการพยายามเข้ามารื้อและล้มล้างระบบกฎหมายเดิม แล้วเขียนกฎหมายของตัวเองขึ้นมาใหม่ กระบวนการนี้ทำให้คำว่า"รัฐธรรมนูญ"ไม่มีความหมาย.......
... "ซึ่งเป็นสภาวะที่น่ากลัว"

ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิใดๆ เลย เพราะอำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว กระทั่งคนๆ เดียวด้วยซ้ำ .....

เขาทำประชามติก็จริง แต่ทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง โดยควบคุมเงื่อนไขต่างๆ ไว้หมดแล้ว ห้ามไม่ให้คนต่อต้าน ไม่ให้คนวิจารณ์ ถ้าต่อต้านหรือวิจารณ์ก็โดนจับ มันจะยิ่งอำนวยให้สิ่งที่"ไม่เป็นประชาธิปไตย"ให้แผ่ขยายไปมากขึ้น 

.....การที่เขายอมให้มีรัฐธรรมนูญ ก็เพราะเขารู้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่มีความหมาย......
ในลักษณะเดียวกัน "เขาจะยอมให้มีการเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อเขามั่นใจว่าการเลือกตั้งนั้นไม่มีความหมาย"

แม้กระบวนการเลือกตั้งอาจทำให้เราเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น แต่คนที่ได้รับเลือกมา ก็อาจทำอะไรไม่ได้อยู่ดี
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อกีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ฉะนั้นประชาชน"จึงไม่มีความหมาย."

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้ทหารมีที่ยืนอย่างถาวรในรัฐบาล "เพื่อให้การแทรกแซงกลายเป็นเรื่องปกติ”
.

Pundit K Nant สรุปกลโกงเผด็จการเพื่อสืบทอดอำนาจ

1.ร่างกติกาให้ตัวเองมีฟรีคิก250เสียง
2.ให้ตัวเองหาเสียงได้ โดยมัดมือมัดเท้าคู่แข่งขันโดยไม่ยอมปลดล็อค
3.ใช้เงินภาษีปชช.แจกซื้อคะแนนเสียงล่วงหน้า
4.ใช้คดีความแบล็คเมล์ และตำแหน่งผลประโยชน์ล่อให้คนมาเข้าพวก
5.ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อเอาเปรียบคู่แข่งขัน
6.ตั้งกรรมการที่ไม่เป็นกลางให้ควบคุมการแข่งขัน
7.ข่มขู่จะยุบพรรค ทำให้คู่แข่งขันออกหมัดได้ไม่เต็มที่

ooo


 

หาก พปชร.หรือพรรคการเมืองใด เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนต่อไป และเจ้าตัวตอบรับ โอกาสได้เป็นนายกฯ ก็คงจะไม่ยากเท่าคนอื่นๆ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.มีสิทธิในการตั้ง ส.ว. 250 คน ที่ ส.ว.เหล่านี้จะมีโอกาสเข้าร่วมเลือกนายกฯ พร้อมกับ ส.ส.อีก 500 คน นั่นอาจแปลได้ว่าเจ้าตัวมีเสียงอยู่ในมือแล้ว 250 เสียง ต้องการอีกเพียง 126 เสียง ก็จะได้เป็นนายกฯ
.
ต่างกับแคนดิเดตอื่นๆ ที่ต้องหา ส.ส.มาสนับสนุนให้ได้ถึง 376 คน
.
และนี่คือการปฏิรูปการเมืองในสมัย คสช. ที่หลายๆ คนใฝ่ฝันถึง?

ooo

เลือกตั้ง 62 เป็นการต่อสู้ระหว่างสองแนวทาง สองความเชื่อ

แนวทางหนึ่งคือ สืบทอดอำนาจเผด็จการ บนฐานความเชื่อว่า ปชช.โดยเฉพาะในชนบทนั้นจน โง่ โลภ สายตาสั้น เห็นแก่ปย.เล็กน้อยเฉพาะหน้า ขายสิทธิ์ขายเสียง ไม่สนใจพรรคการเมือง อาศัยแค่ทุ่มเม็ดเงินกับใช้เครือข่ายอิทธิพลและสส.เก่าในพื้นที่ ก็ได้คะแนนเสียงเป็นกอบกำ ผนวกกับกลไกหมกเม็ดในรธน.60 ก็จะได้นายกฯ รัฐบาลและสภาฯ

อีกแนวทางหนึ่งคือ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ บนฐานความเชื่อว่า ปชช.จำนวนมากนั้นฉลาด รับรู้ผลปย.ตัวเองทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว มองภาพรวมทั้งตัวบุคคลนักการเมือง-พรรคการเมือง รู้จักสรุปว่า สี่ปีมานี้ พวกเขาได้อะไรจากใครที่ยั่งยืนและเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง? และจะอยู่อย่างเดิมหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น?

ความเชื่อในแนวทางที่หนึ่งคือทัศนะของอภิสิทธิ์ชนผู้ปกครองที่มองปชช.ผู้ถูกปกครองเสมอมาไม่เคยเปลี่ยน แต่พ้นสมัยไปแล้วนับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งครั้งแรกปี 2544 ที่ทำให้การเลือกตั้งทุกครั้งนับแต่นั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

บทพิสูจน์แนวทางใดความเชื่อใดชนะ? ให้ดูคะแนนเลือกตั้งเฉพาะสส.ระหว่างสองค่าย - พวกสืบทอดอำนาจ vs พวกไม่เอาสืบทอดอำนาจ!

ชวนเข้าใจ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอภิมหาเศรษฐีอย่าง 'แจ็ค หม่า' เป็นสมาชิก

ชวนเข้าใจ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอภิมหาเศรษฐีอย่าง 'แจ็ค หม่า' เป็นสมาชิก

ดูสถานะ หน้าที่ และการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และความสัมพันธ์รัฐ-ทุน เมื่อมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศอย่าง ‘แจ็ค หม่า’ เป็นสมาชิกพรรค และสองผู้ก่อตั้งกิจการอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่อย่างเท็นเซ็นต์และไป่ตู้จ่อได้รับรางวัลกิตติมศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาชี้ ชนชั้นนายทุนเป็นสมาชิกพรรคมากขึ้นหลังเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสังคมนิยมสู่เสรีนิยม
แจ็ค หม่า (ที่มา: Flickr/UNCTAD)
27 พ.ย. 2561 เป็นที่ฮือฮาเมื่อสำนักข่าวพีเพิลเดลี สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.) คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.)  เผยแพร่รายชื่อของคนจำนวน 100 คนที่จะได้รับรางวัลกิตติมศักดิ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศที่เริ่มในสมัยประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อปี 2521 ซึ่งในรายชื่อและแถลงการณ์นั้นมีชื่อแจ็ค หม่า อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอาลีบาบา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นอกจากแจ็ค หม่าแล้ว ในรายชื่อผู้รับรางวัลกิตติมศักดิ์ยังมีชื่อของผู้ก่อตั้งกิจการด้านอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าวโพนี่ หม่า ซีอีโอของบริษัทเท็นเซ็นต์ และโรบิน ลี่ ซีอีโอของบริษัทไป่ตู้ ที่ได้รับการระบุว่าเป็นผู้มีส่วนในการผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัว แจ็ค หม่านั้น ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย
นอกจากแวดวงธุรกิจแล้วยังมีคนจากแวดวงอื่นๆ ปรากฏในรายชื่อไม่ว่าจะเป็น เหยา หมิง อดีตนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอชาวจีน หรือหลาง ผิง โค้ชวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนที่อยู่ในโผดังกล่าวร่วมกับบุคคลจากแวดวงวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ไปจนถึงศิลปิน ซึ่งส่วนมากก็เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ โดยรายชื่อดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่และเปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศจนถึงวันที่ 30 พ.ย. นี้
สถานะของแจ็ค หม่า ที่เพิ่งมีการยืนยันอย่างเป็นทางการและชัดเจนในฐานะสมาชิก พคจ. กลายเป็นที่พูดถึงตามหน้าสื่อไทยและเทศ ในการนี้ ประชาไทชวนเข้าใจที่มา หน้าที่ และปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นสาเหตุว่า ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมาชิกเป็นชนชั้นนายทุน และเป็นนายทุนที่รวยที่สุดในประเทศไปเสียได้

รู้จักสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ ‘ชนชั้นนายทุน’ เป็นกันมากขึ้น

ปัจจุบัน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของ พคจ. มีจำนวนประมาณ 90 ล้านคน กระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศจีน ซึ่งมีประชากรราว 1,400 ล้านคน โดยสมาชิกนั้นมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางหรือนโยบายของพรรค สื่อเดอะสเตรตไทม์ให้ข้อมูลว่า การจะเป็นสมาชิกพรรคได้นั้นจะต้องได้รับการคัดเลือกจากพรรคซึ่งใช้เวลานานและผ่านหลายกระบวนการ ผู้สมัครที่เข้ามานั้นผ่านมาได้จากสมัครหรือได้รับการแนะนำ แต่ก็มีที่ พคจ. ส่งคำเชิญให้บุคคลเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ ผู้เป็นสมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านสถานะทางสังคม หลายคนถือเป็นช่องทางในการได้รับทุนการศึกษาหรือมีหน้าที่การงานในหน่วยงานราชการ
รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ให้ข้อมูลว่าการที่มีนายทุนเข้ามาเป็นสมาชิก พคจ. คือภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดเศรษฐกิจและการเมืองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หลังนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 40 ปีก่อน
“ก่อนที่ พคจ. จะปฏิรูปเมื่อปี 1979 คนที่เป็นสมาชิกพรรคนั้นส่วนใหญ่จะมาจากชนชั้นกรรมกร ชาวนา และปัญญาชน แต่หลังการปฏิรูปไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อกลางทศวรรษ 1990 พคจ. ก็เปลี่ยนนโยบายการรับสมาชิกใหม่ นั่นคือ แต่เดิมซึ่งเป็นแต่กรรมกร ชาวนา และปัญญาชน ก็เพิ่มนักธุรกิจ หรือถ้าเราพูดภาษาแบบซ้ายๆ ก็คือชนชั้นนายทุนนั่นเอง ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าบุคคลเหล่านี้เป็นคนที่สร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติ กับการปฏิรูปเพราะการปฏิรูปของจีนเป็นการเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจจากสังคมนิยมเป็นเสรีนิยม เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลเหล่านี้ ที่อาจเริ่มต้นจากคนที่ทำงานระดับล่าง รายได้ไม่สูง ก็กลายมาเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาก็มีคนเหล่านี้ทั่วประเทศ และรับคนเหล่านี้เป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น”
“เราก็ลองคิดดูง่ายๆ ว่า ถ้าเอารายชื่อสมาชิกพรรคมากางไว้แล้วดูภูมิหลัง มันจะเหลือคนที่มีภูมิหลังเป็นกรรมกร ชาวนาสักกี่คน ก็คงมี แต่ไม่เท่ากับสมัยที่เขาไม่ปฏิรูป ตรงนี้ผมก็รวมถึงคนที่จบการศึกษาสูงแล้วเข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ประเภทที่ใช้มันสมอง อย่างวิศวกร สถาปนิก นายแพทย์ กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่กรรมกร ชาวนาแล้ว เรียกว่าเป็นชนชั้นกลางก็ได้”
วรศักดิ์กล่าวถึงหน้าที่ของสมาชิกพรรคว่าเป็นการทำหน้าที่ในประเด็นสาธารณะ เช่น เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนที่มีวิกฤตโรคซาร์ส สมาชิกพรรคเมื่อเลิกงานก็ต้องประชุม ปรึกษาหารือเรื่องความตื่นตระหนกของประชาชนที่มีต่อโรค หรือในปัจจุบันที่มีนโยบายเรื่องหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road - OBOR) สมาชิกพรรคก็ต้องมานั่งประชุม ศึกษาเรื่อง OBOR ว่าดีอย่างไร จะช่วยกันผลักดันนโยบายให้เป็นจริงได้อย่างไร นอกจากนั้นยังต้องคอยติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอีกด้วย
ต่อคำถามว่าจะมีผลกระทบอะไรกับไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนจากอาลีบาบาและตัวละครทางเศรษฐกิจของจีนอยู่หรือไม่นั้น วรศักดิ์ยังไม่คิดว่ามี
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจและการเมืองไม่ชัดเจนมากขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนมีดำริให้ พคจ. มีบทบาทนำในทุกแง่มุมของสังคม  ทำให้มีความตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่อผลประโยชน์ของนักธุรกิจไปขัดกับส่วนของภาครัฐ ที่ผ่านมา ธุรกิจเกมในจีนต่างก็ประสบปัญหาในการวางจำหน่ายและเก็บรายได้จากเกมเมื่อรัฐบาลจีนมีนโยบายป้องกันปัญหาเด็กติดเกมและตรวจสอบเนื้อหาในโลกออนไลน์
แจ็ค หม่า ปัจจุบันมีอายุ 54 ปี เขาประกาศไว้ว่าจะลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทอาลีบาบาในปีหน้า เขาคือบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีนด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งสิ้นจำนวน 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอาลีบาบานั้นก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก่อนที่จะขยายเครือข่ายกิจการออกไปในธุรกิจอื่นๆ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินจำนวน 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก โดยที่ผ่านมา แจ็ค หม่า เคยพูดวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาในจีนอยู่บ้างเป็นระยะไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษ หรือเรื่องอำนาจของ พคจ. แต่ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง บทบาทของแจ็ค หม่า ก็เปลี่ยนไปเป็นการช่วยปกป้องรัฐบาลต่อคำวิพากษ์วิจารณ์เอง นอกจากนั้น เขายังเคยพูดสนับสนุนนโยบายของสีจิ้นผิงในปี 2559 โดยเสนอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศใช้บิ๊กดาต้าป้องกันอาชญากรรม และยอมรับการที่จีนสร้างระบบการตรวจตราโลกออนไลน์กับประชากรหลักพันล้านด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก
Jack Ma Confirmed as Chinese Communist Party Member, Bloomberg, Nov 27, 2018
Beijing to honor founders of three internet giants, The People's Daily, Nov. 26, 2018
How Jack Ma Made Rich Capitalists Acceptable in Communist China, Bloomberg, Sep. 11, 2018
ที่มา : ประชาไท