PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

จากประชานิยมสู่ไทยนิยม ประชารัฐ และ วิเศษนิยม : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

จากประชานิยมสู่ไทยนิยม ประชารัฐ และ วิเศษนิยม : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์



“ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลได้วิจารณ์นโยบายประชานิยมมาโดยตลอด แต่กลับออกนโยบายประชานิยมมาเช่นกัน (….) เรื่องนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้บอกแล้วว่าโครงการนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อาจจะเป็นวิเศษนิยมกระมัง (หัวเราะ)”
รัฐบาลนี้ให้ความสนใจกับเรื่องของการประดิษฐ์ประดอยคำเป็นพิเศษ ก่อนที่เราจะมาพูดเรื่องของเนื้อหาของนโยบาย สิ่งที่สำคัญคืออาการที่รัฐบาลชอบแสดงออก โดยการพยายามรื้อแล้วสร้างคำใหม่ๆ จากคำเดิมที่เคยมีในรัฐบาลก่อนๆ โดยเฉพาะคำว่า “ประชานิยม” ซึ่งเป็นคำฮิตติดปากในสมัยของระบอบทักษิณ มาสู่คำใหม่ๆ เช่น ไทยนิยม ไทยนิยมยั่งยืน ประชารัฐ มาจนถึงเรื่องของวิเศษนิยม
คำว่าประชานิยมนั้นเป็นคำที่น่าสนใจ และอยู่คู่กับบ้านเมืองเรามานานมากกว่าหนึ่งทศวรรษ แม้ว่าคำดังกล่าวมักจะมาในรูปของการให้นิยามและการวิจารณ์จากนักวิชาการ ปัญญาชน และขบวนการต้านระบอบทักษิณในยุคสมัยนั้นว่าเป็นนโยบายที่ส่งผลในแง่ลบ เป็นการซื้อเสียงผ่านการเอาใจประชาชนโดยไม่คำนึงถึงผลในระยะยาว
แต่เอาเข้าจริงผู้คนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ก็มีไม่น้อย และรัฐบาลที่เสนอประเด็นเหล่านี้ก็ได้รับเลือกตั้งก็เข้ามาโดยตลอด แม้ว่าจะรักษาตำแหน่งของตนไม่ได้ถึงสามครั้ง และจบลงจากการชุมนุมประท้วงที่นำไปสู่ตุลาการภิวัฒน์ และ/หรือการทำรัฐประหาร
ในทางรัฐศาสตร์นั้น การพิจารณาเรื่องประชานิยมไม่ได้ให้ความสำคัญแต่ในเรื่องของนโยบายของประชานิยม แต่ให้ความสนใจไปในเรื่องของ “การเมืองประชานิยม” (populist politics) ที่มีความกว้างขวางครอบคลุมกว่าเรื่องของนโยบายประชานิยม ด้วยว่าสนใจทั้งฐานความคิดเบื้องหลัง พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการเมืองประชานิยม รวมไปถึงการเปรียบเทียบการเมืองประชานิยมในพื้นที่ที่แตกต่างหลากหลายกัน หรือที่เรียกอีกอย่างว่าเราสนใจประชานิยมในฐานะรูปแบบของปฏิบัติการทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง (a form of political practice)
ที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ การเมืองประชานิยมนั้นไม่ได้เน้นไปที่การวัดประเมินนโยบายประชานิยมและผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายประชานิยม รวมทั้งการประเมินความเสียหายของบ้านเมือง และการล่มสลายของนโยบายประชานิยม แต่สนใจเรื่องของความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองประชานิยม กับการเมืองแบบประชาธิปไตย
การหาความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองแบบประชานิยม และการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้น จะไม่ทำให้เราติดกับการประเมินง่ายๆ ว่า ประชานิยม “อย่างน้อย” ก็ให้ประโยชน์กับประชาชน และทำให้เรา “ต้องยอมรับ” ว่าประชานิยมอย่างน้อยก็สะท้อนความต้องการของประชาชน และเมื่อเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์เพราะเลือกรัฐบาลประชานิยมเข้ามา
ดังนั้น ประชานิยมก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย และประชาธิปไตยยังไงก็ดีกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

มาถึงวันนี้เรามีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากวิถีประชาธิปไตย แต่อ้างถึงประชาชนโดยตลอด แถมยังมีนโยบายที่คล้ายคลึงกับนโยบายประชานิยมหลายด้าน จนเป็นที่เข้าใจกันไปแล้วว่า จะเรียกว่าประชานิยมหรือไม่ก็ตาม แต่นโยบายที่คล้ายคลึงกับประชานิยมราวกับเป็ดกับห่านแบบนี้ ก็สามารถเกิดขึ้นจากระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยได้เช่นกัน (อย่างน้อยวัดที่องค์ประกอบของการมีหรือไม่มีการเลือกตั้ง) แถมยังไม่ได้รับการต่อต้านจากเหล่าชนชั้นกลางเมืองผู้เต็มไปด้วยเหตุผลและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และการปฏิรูปประเทศเหมือนที่เคยเป็นมามากกว่าหนึ่งทศวรรษ
การพิจารณาเรื่องการเมืองแบบเป็ดๆ ห่านๆ เอ้ยการเมืองแบบประชานิยม (populist politics) มักจะเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่า ประชานิยมนั้นไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมืองที่ทำความเข้าใจง่ายๆ ในแบบที่อยู่ในระนาบเดียวกับการทำความเข้าใจอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้าย-ขวา หรือเผด็จการ-ประชาธิปไตย หรืออธิบายง่ายๆ บนระนาบทางความคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม-รัฐนิยม หรือเสรีนิยม-รัฐสวัสดิการ หรือเอกชนนิยม-รัฐนิยม หากแต่การเมืองแบบประชานิยมทั้งในฐานะของขบวนการทางการเมือง ระบอบการเมือง และภาวะผู้นำแบบประชานิยม ล้วนแล้วแต่มีแก่นแกนของคุณค่าและลักษณะวาทกรรมบางอย่างร่วมกันสักห้าประการ
1.เชื่อว่าประชาชนนั้นมีความรู้และภูมิปัญญาพอที่จะตัดสินใจทางการเมืองได้เอง และความรู้ของประชาชนนั้นมาจากสามัญสำนึกที่เรียนรู้มาจากการทำงานจริงทำมาหากินจริง ไม่ใช่มาจากทฤษฎีหรือตำรับตำราและปัญญาชน หรือกล่าวง่ายๆ การเมืองประชานิยมจะมีลักษณะ ต่อต้านปัญญาชนและพวกขุนนางนักวิชาการ อีกทั้งสนับสนุนประชาธิปไตยที่ให้อำนาจกับประชาชนมากๆ อาทิ การอธิบายว่าทุกเรื่องนั้นควรตัดสินใจโดยประชาชนเอง (เช่น ถ้าอะไรไม่ดีหรือผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในการเลือกตั้งครั้งหน้า)
2.การเมืองประชานิยมจะอิงกับผลประโยชน์ของชาติมากกว่าความเป็นสากล จะเห็นว่า ไม่ว่า “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” ไปถึง “ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง” หรือ จาก “ไทยรักไทย” ถึง “ไทยนิยม” ซึ่งทั้งหมดนั้นนอกจากเรื่องของความเป็นชาติแล้วยังหมายถึงประชาชนในชาตินั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในนามของ “คนไทย” ที่ต้องไม่แตกแยก หรือแม้กระทั่ง “มวลมหาประชาชน” เป็นต้น
3.พวกชนชั้นนำที่ปกครองพวกเราอยู่เป็นพวกที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวและคดโกงทางคุณธรรม และความขัดแย้งระหว่างประชาชน/มวลชนนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องของการเผชิญหน้ากันระหว่างความดีกับความชั่วร้าย ในการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำกับมวลชนนั้นเป็นเรื่องของสงครามที่จะต้องมีกับศัตรู และบ่อยครั้งศัตรูนั้นก็เป็นคนต่างชาติ หรืออาจตีความว่า แม้จะอ้างว่าเป็นคนชาติเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นชาวต่างชาติจะได้ประโยชน์มากกว่าคนในประเทศ
4.เอาเข้าจริงการเมืองแบบประชานิยมก็มีลักษณะต่อต้านการเมืองในตัวเอง คือมองว่า เมื่อสงครามระหว่างความถูกต้องดีงาม และความชั่วร้ายนั้นจบลง คือเมื่อชนชั้นนำในฐานะศัตรูของประชาชนนั้นถูกกำจัดหรือส่งออกไปให้พ้นจากการเมืองแล้ว สังคมอุดมคติก็จะเกิดขึ้นและสังคมดังกล่าวก็ไม่มีเรื่องทางการเมืองอีกต่อไป ..
ดังนั้น การเมืองแบบประชานิยมก็ไม่จำเป็นต้องมีการพูดถึงการพัฒนาสถาบันทางการเมือง ไม่ต้องพูดถึงการพัฒนาทางการเมือง สิ่งที่ต้องการก็คือผู้นำที่เข้มแข็ง และด้วยเหตุผลที่ว่า การพึ่งพาตัวผู้นำนั้นกลายเป็นเรื่องหลักในการเมืองแบบประชานิยม อีกทั้งเรื่องของความนิยมในตัวบุคคลนั้นมีลักษณะที่ขึ้นลงได้ง่าย และไม่ค่อยจะยั่งยืน การเมืองแบบประชานิยมนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจรัฐในการจำกัดสิทธิประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างที่อาจจะท้าทายตัวระบอบการเมืองแบบประชานิยม และตัวผู้นำแบบประชานิยม นี่จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำไมระบอบการเมืองแบบประชานิยมถึงถูกมองว่ามีลักษณะเผด็จการ
ในอีกด้านหนึ่ง เราอาจจะเริ่มเห็นว่า หากเราไม่ได้มองว่าประชานิยมเป็นเพียงการเมืองที่เน้นนโยบายเศรษฐกิจลดแลกแจกแถมแบบธรรมดา แต่มีอุดมการณ์การเมืองบางอย่างกำกับอยู่ การเมืองแบบประชานิยมเป็นการเมืองที่ต่อต้านกับระบบอำนาจแบบแนวดิ่งที่มีชนชั้นนำ และมวลชน/ประชาชน และมองว่าการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของชนชั้นนำ และจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เป็นอยู่เพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อนั้นบ้านเมืองจะไม่แตกแยก การเมืองประชานิยมจึงไม่ใช่การเมืองแบบที่ใช้อำนาจจากชนชั้นนำมาปกครองประชาชนในนามของการยุติความขัดแย้ง แต่การยุติความขัดแย้งต้องมาจากการยุติการอยู่ในอำนาจของพวกชนชั้นนำต่างหาก
ในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการเมืองแบบชาตินิยมนั้นจะพบว่า ประชานิยมในยุคแรกๆ จะให้ความสำคัญไปที่การทำงานของผู้นำประชานิยมกับแรงสนับสนุนจากเครือข่ายขบวนการชาวนา ขบวนการแรงงานและขบวนการทางสังคมอื่นๆ เพื่อต่อกรกับบรรดาชนชั้นนำที่อยู่ในอำนาจ ขณะที่ประชานิยมในยุคหลังมักเป็นเรื่องที่ผู้นำการเมืองแบบประชานิยมพึ่งพาสื่อสมัยใหม่และอาจจะมีลักษณะประนีประนอมกับแนวคิดแบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ หรืออาจจะมีแนวโน้มต่อต้านอเมริกาได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นจากกรณีของอาร์เจนตินาในยุคเปรอง ชิลีในยุคฟูจิโมริ และเวเนซุเอลาในยุคของชาร์เวช ตามลำดับ
ส่วนในกรณีของเอเชียนั้น ส่วนสำคัญในการเกิดการเมืองแบบประชานิยมก็มาจากเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ที่ทำให้เกิดผู้นำหน้าใหม่ๆ นอกวงอำนาจเดิมเข้ามาในพื้นที่การเมืองในนามของการเป็นตัวแทนของประชาชนที่ไม่ใช่แค่จนและมีจำนวนมาก แต่จนและมีจำนวนมากเพราะเป็นเหยื่อของระบบที่ทำให้พวกเขาจนและมีจำนวนมากด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะการเมืองนั้นวนเวียนอยู่ในมือของชนชั้นนำในอำนาจแบบเดิม ซึ่งอาจจะอยู่ได้ด้วยการเลือกตั้งหรือไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่มีเครือข่ายอำนาจในวงที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง หรือชนชั้นนำที่อาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอาจจะยินยอมให้มีการเลือกตั้งตราบเท่าที่การเลือกตั้งนั้นไม่ไปสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจและความชอบธรรมของการมีอำนาจของชนชั้นนำเหล่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: