PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

"ชาญวิทย์"ปัดพันแก๊งบิึ้มยันไม่รู้จัก"เดียร์"

ตำรวจนำตัว 4 ผู้ต้องหาบึ้มศาลอาญา ขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังผลัดแรก พร้อมคัดค้านการประกันตัว ชาญวิทย์ปฏิเสธทุกข้อหา ยืนยันไม่รู้จัก ‘เดียร์-อเนก’
วันนี้ (16 มี.ค.) พนักงานสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล คุมตัวนายสรรเสริญ หรือสัน ศรีอุ่นเรือน, นายชาญวิทย์ จริยานุกูล, นายวิชัย อยู่สุข และนายนรภัทร หรือบาส เหลือผล ผู้ต้องหาชุดที่2 ร่วมกันวางแผนก่อเหตุปาระเบิดอาร์จีดี 5 ใส่ลานจอดรถศาลอาญารัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา
ชาญวิทย์ แก๊งบึ้มศาลอาญา ปัดทุกข้อหายันไม่รู้จัก 'เดียร์'
ชาญวิทย์ แก๊งบึ้มศาลอาญา ปัดทุกข้อหายันไม่รู้จัก ‘เดียร์’
มายื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังผัดแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-27 มี.ค.2558 พร้อมคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากเป็นคดีสำคัญ มีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หลังได้รับส่งมอบตัวจากทหารที่ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก
ในข้อกล่าวหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน,กระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น,มีและใช้กระสุนปืนสงคราม,มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน,พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์, มียุทธภัณฑ์ทางทหารไว้ในครอบครองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือชุมชน รวมถึงฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่50/2557 ทั้งนี้ ในส่วนของนายนรภัทรได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจรเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้นายชาญวิทย์ กล่าวก่อนเข้ารับฟังการพิจารณาคำร้องของศาลทหารกรุงเทพฯ โดยยอมรับว่าได้มีการประชุมจริงที่จ.ขอนแก่น แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการวางแผนปาระเบิดศาลอาญา โดยเป็นเพียงการประชุมหารือทางการเมือง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตนจะปฎิเสธทุกข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน โดยที่ผ่านมาตนให้ความร่วมมือในการตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมยืนยัน ไม่รู้จักนางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือนางเดียร์ และนายมนูญ ชัยชนะ หรืออเนก ซานฟราน แต่ยอมรับว่าเคยติดตามข้อมูลข่าวสารของอเนกผ่านโซเชียลมีเดีย
สำหรับคดีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับผู้ต้องหารวม 14 คน สามารถจับกุมได้แล้ว 12 คน และอยู่ระหว่างหลบหนีอีก 2 คน

บิ๊กตู่ไล่ส่งปึ้งเว้นวรรคทางการเมือง

16 มี.ค. 58 เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้มีการทำประชามติภายหลังการร่างรัฐธรรมนูญว่า เดี๋ยวตนจะขอตัดสินใจเมื่อถึงเวลาใกล้ๆ ก่อน ซึ่งอำนาจการตัดสินใจสุดท้ายรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของ คสช. แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการทำประชามติ "เพราะฉะนั้นทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้อยู่ที่ผมตัดสินใจ พิจารณาร่วมกันว่าควรหรือไม่ควร วันนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้นก็ทะเลาะกันจะเป็นจะตายอยู่แล้ว ทุกคนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทุกคนจะเอาแบบเดิมกันทั้งหมด ถามว่าแล้วเราจะปฏิรูปได้ไหม ต้องกลับไปถามคนที่ออกมาเรียกร้องซิว่า เขาต้องการอะไร หนึ่งเขาต้องการปฏิรูปใช่หรือไม่ เมื่อมีการปฏิรูปก็ย่อมมีอะไรที่ไม่เหมือนเดิมบ้าง มีกลไกที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นธรรมเข้าใจคำว่าเสียเวลาเปล่าไหม เราพูดกันเสมอ เสร็จแล้วพอทำไม่ได้ พอมีปัญหา ท่านก็บอกว่าตัวผมไม่รู้จะเข้ามาทำไม เสียเปล่า ถ้าจะแก้ก็พยายามทำให้ พอแก้ไม่สำเร็จเพราะมีการต่อต้าน จนเจ้าหน้าที่ทำไม่ได้ก็มาโทษผมอีกว่าเสียเปล่า"
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีมั่นใจใช่หรือไม่ว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะไม่เสียเปล่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ผมจะไม่ยอมให้เสียเปล่า"
 
เมื่อถามว่า แต่มีบางกลุ่มนักการเมืองอาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประกาศว่าหากกติกายังไม่ชัดเจนก็จะขอเว้นวรรคทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็ดีสิ ก็ไปสิ ให้เว้นจริงๆ ก็แล้วกัน จะได้เลิกทะเลาะกันเสียที" เมื่อถามว่า จะเรียกมาปรับความเข้าใจอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่เรียก มันปรับไม่ได้แล้ว อายุเยอะแล้ว เขาก็คิดแบบเขา จะไปอะไรกันนักหนา แต่ตนก็ฟังไว้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การจะตัดสินใจทำประชามติหรือไม่จะต้องประเมินจากอะไร หรือต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องรอประเมินดูจากสถานการณ์ วันนี้การร่างยังไม่ไปไหนเลย ถ้าตกลงกันเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไรกัน สามารถทูลเกล้าฯ ได้ มันก็จบ โปรดเกล้าฯ ลงมาก็เลือกตั้ง แต่เมื่อเถียงกันมากๆ เดี๋ยวค่อยว่ากัน ว่าจะทำอย่างไรต่อ "มีอยู่สองอย่าง ไม่งั้นก็ต้องล้มกันทั้งหมด เริ่มใหม่ เอาไงก็ไปเลือกกันมา ถ้าล้มทั้งหมดก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนั้น ผมถึงเวลากลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ คิดถึงคำตอบที่จะมาตอบกับสื่อ"
 
เมื่อถามว่า ถ้าล้มทั้งหมดจะไม่เป็นการเสียเวลาหรือสูญเปล่าอย่างนั้นหรือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เสียเวลา เสียสมอง" เมื่อถามว่า ปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องล้มใหม่ทั้งหมด เป็นเพราะสถานการณ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิเสธว่าไม่ใช่ หมายความว่ากลุ่มการเมืองเขาจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้หรือไม่ ถ้าเขาไม่รับแล้วจะทำอย่างไร ถ้าเขาไม่รับก็ต้องไปหาทางทำกันมา จะมาถามตนทำไมต้องไปถามคนที่ไม่รับ เมื่อถามว่า มีแผนสำรองไว้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี ถึงมีก็ไม่บอก ทำไมจะต้องบอกทุกเรื่อง
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันคล้ายวันเกิดวันที่ 21 มี.ค. นี้จะไปทำบุญที่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "อยู่บ้าน อยู่ในกรมนั่นแหละ ไม่ต้องมายุ่งกับผม ผมเกิดคนเดียว ไม่ต้องกวนใคร"

“นายกฯ” เผย เตรียมหากฏหมาย มาแทนอัยการศึก ขอเวลาคิดก่อน ยันยังเลิกไม่ได้ เพราะมีคนจ้องรอเคลื่อนไหว


“นายกฯ” เผย เตรียมหากฏหมาย มาแทนอัยการศึก ขอเวลาคิดก่อน ยันยังเลิกไม่ได้ เพราะมีคนจ้องรอเคลื่อนไหวอยู่ ระบุที่ผ่านมามีการใช้ทุกอย่างแล้ว ทั้งพ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนกระทั่งมาถึงกฎอัยการศึก ถึงหยุดได้/ ยอมรับ นักลงทุนกังวล นั่งหัวโต๊ะถกคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เล็งหาแนวทางประกันแก่นักลงทุน รับจะดูแลให้
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2558
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้มีการพูดคุยหลายประเด็น ทั้งเรื่องของสิทธิประโยชน์ โดยในแต่ละพื้นที่มีการกำหนดโรดแมป ซึ่งอาจจะมีอุตสาหกรรมหลายด้านรวมกัน ทั้งภาคการผลิต ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว รวมทั้งโรงงานขนาดเล็ก เพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน ซึ่งในวันนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นได้ทำสองอย่างทั้งในเรื่องของนิคมอุตสาหกรรม และที่ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม
"ในวันนี้ผมได้กลับมาคิดใหม่ในพื้นที่ มีนิคมอุตสาหกรรมดูแลส่วนหนึ่ง ให้เอกชนอีกส่วนหนึ่ง โดยการนำมาเช่าเพื่อจะได้เร่งรัดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นเกิดขึ้นได้เร็ว
นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมให้โรงงานที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งขึ้น ทั้งหมดนี้จะทำให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมแปรรูปเติบโตอย่างรวดเร็ว"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการดำเนินการนั้นจำเป็นต้องพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเรื่องของสิทธิประโยชน์ ภาษี เงินทุน และระยะเวลาในการประกอบการ ทั้งนี้ต้องเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด และไม่สูญเสียสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
ถามว่าการยังคงกฎอัยการศึกจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในเรื่องของการประกัน หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราให้เฉพาะการท่องเที่ยวที่ตั้งไว้ 200ล้าน แต่ถ้ามาลงทุน เราก็ให้ได้ และจะรับเรื่องนี้ไป
สำหรับกฎอัยการศึกนั้น นายกฯ เผยว่า รัฐบาลกำลังหากฎหมายเข้ามาดูแลอยู่ รัฐบาลมีความเป็นห่วง ไม่น้อยไปกว่าทุกคน และใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง
เมื่อถามว่ามีการเตรียมกฎหมายที่เบากว่าเข้ามาดูแลหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี แต่จะดูแลให้ได้ ซึ่งทุกคนรู้อยู่ว่ามีคนที่รอออกมาเคลื่อนไหว แม้จะมีกฎอัยการศึกก็ยังไม่กลัว ยังมีการวางระเบิด
“แล้วยังมาถามผมอีกว่า แสดงว่าเขาไม่กลัวกฎอัยการศึก แล้วจะมีไว้ทำไม แต่ถามอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ถ้าอะไรท่านก็ไม่รับ เขียนอะไรมาก็ไม่รับ ผมร้อนใจอยู่เหมือนกัน คิดว่าจะทำอย่างไรให้มันสงบ” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการนำพ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้แทนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง เขาเคยใช้หรือยัง แล้วใช้ได้หรือไม่ ที่ผ่านมามีการใช้ทุกอย่างแล้ว ทั้งพ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนกระทั่งมาถึงกฎอัยการศึก ถึงหยุดได้
“ขอถามว่าจะถอยหลังกลับไปมากๆได้หรือไม่ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำ ก็จะถูกกล่าวหาในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่พอทำไปมีการกระทบกระทั่งกันมากเจ้าหน้าที่ก็เดือดร้อนอีก นั่นล่ะคนไทย อย่าไปคิดเรื่องกฎหมายเลย
"เดี๋ยวผมจัดการเอง แต่หาทางทำก่อน วันนี้ถ้าประชาชนร่วมมือกันไม่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ต้องออกมาทำงาน การกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนก็จะไม่เกิด ผมทราบดีว่าคนไทยมีอิสระเสรีกันมานาน วันนี้เวลาของรัฐบาลมีอีกไม่เท่าไร 7-8 เดือนเอง ถ้าจะให้ทุกอย่างมันเสร็จแล้วรีบๆไป มันก็มีโรดแมปอยู่แล้ว”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี และกฎอัยการศึกก็มีอยู่แล้วในเขตชายแดนภาคใต้ 30กว่าอำเภอ ยังไม่เคยยกเลิกเลย แต่พอเอามาใช้ตรงนี้หน่อย ก็ตื่นเต้นกันสำหรับกฎอัยการศึก ถ้าไม่ทำความผิดไม่ต้องกลัว แล้วผมจะดูแลให้ ซึ่งกำลังหาทางอยู่


สถานการณ์ข่าว16/3/58

Jab16Mar15
-------------------
ถอดถอน

"ปานเทพ" ระบุ ถอดถอน 250 อดีต ส.ส. กำลังสรุปหลักฐาน คาดส่ง สนช. ได้ต้นเดือน เม.ย. - อสส. แจ้ง 17 มี.ค. ฟ้องอาญา "บุญทรง" กับพวก

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง ความคืบหน้ากรณี ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดถอดถอนอดีต ส.ส. 250 ราย กรณีแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด และประสานกับทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะต้องดูว่า สนช. มีความพร้อมมากน้อยเพียงไหน เนื่องจากช่วงนี้ สนช. มีงานต้องทำมากมาย แต่คาดว่าไม่เกินช่วงต้นเดือนเมษายนแน่นอน ซึ่งหาก ป.ป.ช. ส่งสำนวนเข้ามา สนช. ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน

ส่วนกรณีที่อัยการจะยื่นฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพวกรวม 21 ราย ในความผิดกรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 17 มีนาคม หากทาง อสส. มีหนังสือส่งมายัง ป.ป.ช.เพื่อให้แจ้งต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 21 ราย มารายงานตัวต่อ อสส. ในวันดังกล่าว แต่หากผู้ถูกกล่าวหา ไม่เดินทางมาพบ อสส. หรือส่งตัวแทนมาเองนั้น เข้าใจว่ากระทำได้เช่นเดียวกับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี
-------------------
"พรเพชร" เผย สนช.บรรจุคำร้องคดีถอดถอน "บุญทรง-ภูมิ" ปมข้าวแล้ว พิจารณานัดแรก 2 เม.ย. นี้

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงข่าวว่ามีคำสั่งบรรจุคำร้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหา นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรณีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี โดยจะประชุมนัดแรก เพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนในวันที่ 2 เม.ย. นี้ พร้อมได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบแล้วตามกระบวนการภายใน 15 วัน

ซึ่งตามคำร้อง ป.ป.ช. ชี้มูลว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งหากผู้ถูกกล่าวหาถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี
//////////////
คดีมั่นคง

คสช. แจง ปัดคุมตัว น้องแหวน พยาน 6 ศพ วัดปทุม หวั่น โดนแอบอ้าง ย้ำ ยึด กฎหมาย

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกและทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีที่มีการแชร์ข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ว่า "น้องแหวน" พยาบาลอาสา ผู้เป็นพยานปากสำคัญในคดี 6 ศพ วัดปทุม ถูกทหารนำตัวไปจาก บ้านพัก ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 นั้น จากการประสานข้อมูลกับหลายหน่วยในพื้นที่ ยังไม่พบว่ามี ทหารไปขอควบคุมตัว น้องแหวน ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด เพราะปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการเชิญไปพูดคุย หรือขอเข้าควบคุมตัว จะมีการให้เหตุผลและมีการแสดงตนชัดเจน  เกรงว่าบางกรณีอาจมีผู้ไม่หวังดีไปแอบอ้าง เพื่อต้องการให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ขอให้มั่นใจว่าทุกภารกิจการปฏิบัติใด ๆ จะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายก็เท่าที่จำเป็นแบบมีเหตุมีผลอย่างแน่นอน โดยหลัก ๆ คงจะมีผลกระทบกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย หรือผู้มีส่วนสนับสนุน หรือเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น
--------------------
ศาลทหารอนุมัติฝากขังอีก 4 ผู้ต้องหา ระเบิดศาลอาญาผลัดแรก 12 วัน รวม 6 ข้อหา หนักสุดก่อการร้าย

ความเคลื่อนไหวที่ศาลทหารกรุงเทพ ล่าสุด ศาลอนุญาตฝากขัง นายชาญวิทย์ จริยานุกูล, นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, นายวิชัย อยู่สุข และ นายนรพัฒน์ เหลือผล หรือ บาส 4 ผู้ต้องหาที่ร่วมกันก่อเหตุปาระเบิด บริเวณลานจอดรถหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผลัดแรกตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม ถึง 27 มีนาคม เป็นระยะเวลา 12 วัน ในข้อหา ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น มีและใช้เครื่องกระสุนปืนที่ใช้เฉพาะแก่การสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาต พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือชุมชนและร่วมกันก่อการร้ายและความผิดฐานอั้งยี่ เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนิน และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
------------------------
ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษา กรณี ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้องอดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ฐานหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา

ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีต ส.ส. - โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 สืบเนื่องจากช่วงเดือน ก.พ. 2555 จำเลยได้แถลงข่าวหมิ่นประมาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ว่า มีพฤติการณ์และความประพฤติผิดจริยธรรม ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เสียชื่อเสียง

โจทก์จึงขอให้ยึดทำลายเอกสารที่มีข้อความดังกล่าว และโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วันและศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว ในวันนี้เวลา 09.00 น.
-----------------
ศาลอาญา พิพากษายกฟ้อง ชวนนท์ แถลงหมิ่น ยิ่งลักษณ์ ประชุมร่วมธุรกิจ รร.โฟร์ซีซั่น ระบุเป็นการแถลงข่าวปกป้องประเทศ 

ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีต ส.ส.- โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีที่ นายชวนนท์ ได้แถลงข่าวทำนองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่เข้าประชุมสภา แต่กลับไปประชุมร่วมกับนักธุรกิจที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพฤติการณ์ ที่พยานโจทก์นำสืบว่าในวันดังกล่าวเป็นการเข้าร่วมประชุมกับนักธุรกิจ รวม 5 คน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นั้น ศาลเห็นว่าแม้การประชุมดังกล่าวจะไม่เป็นความลับ แต่ก็ไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ นายชวนนท์ ในฐานะโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านในขณะนั้น เกิดความสงสัย และมีเหตุสมควรที่จะออกมาแถลงข่าว และแม้ว่าในส่วนข้อความที่แถลงข่าวเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ จึงพิพากษายกฟ้อง
---------------------------
โฆษก ตร. เผย ตัวบงการคดีบึ้มศาลอาญา มีมากกว่า 14 คน เร่งประสานตำรวจสากล ล่า "เอนก ซานฟราน" ประสาน ป.ป.ง. ยึดทรัพย์

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าคดีระเบิดศาลอาญา รัชดา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ว่า ได้มีการแจ้งข้อหา อั้งยี่ และก่อการร้าย ไปแล้ว 5 คน ส่วนผู้ต้องหารายอื่น หากมีการสืบสวนแล้วพบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม รวมทั้ง น.ส.สุภาพร มิตรอารักษ์  หรือ เดียร์  ผู้จ้างวานกับพวก ที่ทหารจะมอบให้ ตำรวจดำเนินคดี ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ด้วย

สำหรับ ผู้ต้องหาในคดีนี้ มีทั้งหมด 14 คน ยังคงหลบหนีอยู่ 2 คน คือ นายมนูญ ชัยชนะ หรือ เอนก ซานฟราน  และ นายวีระศักดิ์  โตวังจร โดยในส่วนของ นายเอนก ผู้บงการ ได้มีการประสานกับ ป.ป.ง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่ออายัด พร้อมประสานตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล ติดตามตัว หลังมีข้อมูลยืนยันได้ว่า หลบหนีอยู่ต่างประเทศ  ส่วน นายวีระศักดิ์ ผู้จัดหาอาวุธ เชื่อว่ายังหลบหนีอยู่ในประเทศ แต่ยังไม่มีเบาะแสเพิ่มเติม ขณะเดียวกันจากแนวทางการสืบสวน เชื่อว่ายังมีผู้ร่วมขบวนการในคดีนี้อีกหลายระดับ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ขณะนี้ ไม่พบความเคลื่อนไหว แต่ตำรวจยังคงเฝ้าระวัง รวมทั้งตรวจสอบด้านการข่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมยืนยันว่า เหตุระเบิดนี้เป็นกลุ่มและขบวนการเดียวกันกับหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. โดยผู้บงการเป็นกลุ่มเดียวกัน

ส่วนการข่าวที่ กลุ่มผู้ต้องหา ระบุจะก่อเหตุกว่า 100 จุด  เมื่อวานที่ผ่านมานั้น  จากการตรวจสอบไม่พบความเคลื่อนไหวผิดปกติแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่จะยังคงเฝ้าระวัง และจัดกำลังตำรวจดูแลให้ความปลอดภัยประชาชนอย่างเต็มที่
--------------------------
แกนนำ กปปส.ชลบุรี บุก ตร. จี้เอาผิด ณัฐวุฒิ จ้างล้มประชุม อาเซียน ซัมมิท พัทยา

นายกันตภณ สุขุมาลินทร์ อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองชลบุรี และแกนนำกลุ่ม กปปส.ชลบุรี นำหลักฐานเป็นแผ่นซีดี คลิปเสียงการปราศรัยของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับ พลตำรวจโท ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินคดีกับ นายณัฐวุฒิ ฐานใช้และจ้างวานให้ กลุ่ม นปช. ก่อเหตุขัดขวางการประชุม อาเซียน ซัมมิท ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่ โรงแรม รอยัล คลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อเดือนเมษายน ปี 2552 โดยมีเสียงยืนยันการปราศรัยของ นายอริสมันต์ ที่ระบุว่า นายณัฐวุฒิ ได้สนับสนุนเงินจำนวน 1.8 แสนบาท ในการก่อเหตุครั้งนี้

นายกันตภณ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นศาลจังหวัดพัทยา ได้มีการพิพาษาลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. 15 คน ไปแล้ว จึงเห็นว่า นายณัฐวุฒิ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้สั่งการก็ควรได้รับการลงโทษด้วยเช่นกัน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลในขณะนั้น ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเมืองพัทยา และทำให้การประชุมในวันนั้นต้องล้มเลิกไป ซึ่งถือเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ด้าน พลตำรวจโทประวุฒิ ได้รับเรื่องไว้ พร้อมเตรียมเสนอให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) นายกันตภณ จะนำพยานหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุ หรือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้แนวทางการสืบสวน ยังไม่พบความเชื่อมโยงกับ พล.อ.ชัยสิทธิ์  ชินวัตร  อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์  ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่อย่างใด
----------------
พบลูกระเบิดสังหาร M67 ซุกฝาเพดานคอนโดริมน้ำ ย่านพระโขนง สภาพพร้อมใช้งาน - ผกก.EOD เชื่อ ไม่ใช่การป่วนเมือง

พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ  ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฎิบัติการพิเศษ  191 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ EOD ได้รับแจ้งให้เข้าเก็บกู้วัตถุระเบิด ภายในคอนโดริมน้ำ พื้นที่ สน.พระโขนง จากการเข้าตรวจสอบพบว่า คอนโดดังกล่าว ผู้เช่าได้ย้ายออกไปแล้ว ตรวจสอบบริเวณฝาเพดานในห้องน้ำ พบลูกระเบิดสังหารชนิดขว้าง M67 จำนวน 1 ลูก สภาพพร้อมใช้งาน ซุกอยู่ในภาชนะ  จึงเข้าเก็บกู้เพื่อไปทำลายเรียบร้อยแล้ว

พ.ต.อ.กำธร กล่าวว่า ลูกระเบิดดังกล่าวถูกเก็บไว้อย่างดี จึงเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์อย่างแน่นอน ส่วนการติดตามเจ้าของลูกระเบิดดังกล่าว ชุดสืบสวนตำรวจ สน.พระโขนง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ด้าน พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  กล่าวว่า  เบื้องต้น ยังไม่ได้รับรายงานเหตุดังกล่าว แต่ได้กำชับให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและตรวจสอบอยู่ตลอด

------------------
ผกก.สน.พหลโยธิน ยันเตรียมคุมตัว 4 ผู้ต้องหา คดีบึ้มศาลอาญา ฝากขังศาลทหาร   

พ.ต.อ.ภาณุเดช สุขวงศ์ ผกก.สน.พหลโยธิน เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ยืนยันว่า ในวันนี้พนักงานสอบสวนเตรียมควบคุมตัว นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายวิชัย อยู่สุข
และ นายนรพัฒน์ เหลือผล หรือ บาส  ผู้ต้องหาที่ร่วมกันวางแผนขว้างระเบิดอาร์จีดีไฟว์ ใส่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ฝากขังผลัดแรกต่อศาลทหารกรุงเทพ หลังเมื่อวานนี้
เจ้าหน้าที่ทหารได้ส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวออกจาก สน.พหลโยธิน ในเวลา 09.00 น. นี้
--------------

น.1 ยัน มีอีกเอี่ยวบึ้มศาลอาญา ชี้ ระดับปฏิบัติการ เตรียมออกหมายจับเพิ่ม

พลตำรวจโท ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับเครือข่ายผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญาเพิ่ม ซึ่งเป็น
ระดับปฏิบัติการ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีทั้งหมดกี่คน ส่วนจะเคยมีประวัติก่อเหตุ หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนหรือไม่ ต้องตรวจสอบพยานหลักฐานอีกครั้งนอกจากนี้ ตำรวจ ยังเร่งติดตามตัว นายวีระศักดิ์ โตวังจร หรือ ใหญ่ พัทยา ผู้ทำหน้าที่จัดหาวัตถุระเบิด และ นายมนูญ ชัยชนะ หรือ เอนก ซานฟราน ผู้ใช้จ้างวานให้ก่อเหตุระเบิด ซึ่งในส่วนของ นายเอนก ไม่พบมีการเดินทางเข้าประเทศไทยแต่อย่างใด ส่วนเงินสนับสนุนให้มีการก่อเหตุระเบิดครั้งนี้ หลักฐานยังถึงแค่ นายมนูญ แต่หากพยานหลักฐานพาดพิงถึงบุคคลใดเพิ่มเติม ยืนยัน ตำรวจจะดำเนินการโดยไม่ละเว้น

/////////////////
เคลื่อนไหวมวลชน
-------------------
บิดาของน้องเฌอที่เสียชีวิตในการชุมนุม ปี 53 เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม ในชั้น พนง.สอบสวน คาดส่งฟ้องวันนี้

นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ น้องเฌอ เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 53 นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ หรือ กึ๋ย อาชีพขับแท็กซี่ และ นายสิริวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ในนามกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มายัง สน.ปทุมวัน ตามนัดของพนักงานสอบสวนเรียกรายงานตัวในคดีฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ชุมนุมเกินกว่า 5 คน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

โดย นายพันธ์ศักดิ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้เดินมาให้ปากคำเพิ่มเติมในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งคาดว่าพนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนให้กับอัยการศาลทหาร และมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลทหารภายในวันนี้ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า กระบวนการยุติธรรมความรวบรัดเกินไป ซึ่งหากเป็นคดีอื่นกระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้เวลาและขั้นตอนมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์ต่อสู้ในคดี จึงอยากให้ประชาชนไตร่ตรองว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นมีความยุติธรรมหรือไม่

ด้าน พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว และเตรียมนำสำนวนและตัวผู้ถูกกล่าวหาส่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพได้ภายในวันนี้ โดยยืนยันว่าตำรวจไม่มีการเร่งรัดในการทำคดี เนื่องจากมีเวลาถึง 30 วัน รวมถึงคดีไม่มีความซับซ้อนและเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ แต่ตำรวจก็พร้อมให้สิทธิ์ผู้ถูกกล่าวหายื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นศาล

ขณะที่ด้าน นายอานนท์ ได้ฟ้องกลับพนักงานสอบสวนในฐานผิดมาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งส่วนตัวมองว่าถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้
------------------
ประชาคม สธ. แต่งชุดดำ พร้อมขึ้นป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมให้ ปลัด สธ.

คณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี รวมตัวกันแต่งชุดดำ พร้อมขึ้นป้ายสานงานต่อ พร้อมสนับสนุนนโยบาย น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หลังมีคำสั่งย้ายให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ข้อความในป้ายยังระบุว่า "ถ้าประเทศไทยไม่มีธรรมาภิบาล ข้าราชการ และประชาชนจะอยู่ได้อย่างไร" ซึ่งเป็นไปตามมติของประชาคมสาธารณสุขที่ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศร่วมกันแต่งดำ ตั้งแต่วันที่ 16-31 มี.ค. เพื่อเรียกร้องและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการโยกย้ายปลัดกระทรวงสาธารณสุข

โดย น.พ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ สมาชิกประชาคมสาธารณสุข ยืนยันว่า การรวมตัวกันครั้งนี้ไม่ได้ต้องการที่จะคัดค้านการทำงานของรัฐบาล แต่อยากให้รัฐบาลสนใจในเรื่องของธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุข และให้มีการตรวจสอบธรรมาภิบาลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประชาคมสาธารณสุขและเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอปลด น.พ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และ น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกจากตำแหน่ง และไม่กลัวว่าการออกมาเคลื่อนไหวจะเป็นชนวนให้มีความแตกแยกในองค์กรเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ก็ไม่สามารถที่จะพูดคุยและทำงานตามนโยบายร่วมกันได้อยู่แล้ว

//////////////
สปช./กมธ.ยกร่างฯ

เทียนฉาย งดประชุม สปช. ขณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาทบทวนรายมาตราต่อเนื่อง ผ่านแล้ว 140 มาตรา

ความเคลื่อนไหวที่รัฐสภา เช้านี้ การรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด ถึงแม้ไม่มีการประชุมใหญ่ โดย นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีคำสั่งงดประชุม สปช. ในวันจันทร์ 16 มีนาคมและวันอังคารที่ 17 มีนาคม เนื่องจากตัวแทนจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช. สนช. กกต. และนักวิชาการ รวม 9 คน เดินทางไปยังสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อศึกษาดูงานด้านการเลือกตั้ง ขณะที่การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังประชุมต่อเนื่อง แม้ว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการฯ และกรรมาธิการบางส่วน จะเดินทางไปเยอรมัน แต่กรรมาธิการที่เหลือ ก็ยังมีการประชุมตามปกติ โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถพิจารณาทบทวนบทบัญญัติรายมาตรา และบันทึกเจตนารมณ์ไปแล้วประมาณ 140 มาตรา หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้
----------------------
กมธ.ยกร่าง ทบทวนไปแล้ว 171 มาตรา สัดส่วนหญิง 1 ใน 3 คุยจบ 31 มี.ค. รับมีการหารือประชามติแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป 

นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การพิจารณาทบทวนเนื้อหารายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญ มีความคืบหน้าไปเป็น
อย่างมาก ผ่านไปแล้ว 171 มาตรา จากทั้งหมด 315 มาตรา ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจทานเนื้อหา รายละเอียด ความเชื่อมโยงความถูกต้องครบถ้วน แต่ไม่มีการปรับแก้ไขในหลักการแต่อย่างใด โดยจะมีการแก้ไข หลักจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณาเนื้อหา รวมถึง แม่น้ำสายต่าง ๆ มีความเห็นเพิ่มเติม หลังจากเห็นร่างแรก

ส่วนเรื่องของสัดส่วนหญิง 1 ใน 3 ที่ยังแขวนอยู่นัดที่จะพูดคุยหาข้อสรุปให้ได้ในวันที่ 31 มี.ค. นี้ ขณะที่เรื่องการปฏิรูปตำรวจ ยังต้องรอให้ สปช. ส่งข้อมูลมาให้อีกครั้งก่อนที่จะพิจารณา พร้อมกันนี้ ยังได้ชี้แจงถึงกรณีที่พรรคการเมืองต่าง ๆ แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะรัฐธรรมนูญใหม่เพิ่มอำนาจในการตรวจสอบของประชาชนมากขึ้น ย่อมทำให้นักการเมืองเกิดความวิตกกังวลเป็นธรรมดา และหันมาโจมตีกรรมาธิการยกร่าง

นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า กรรมาธิการได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องประชามติบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปหรือมีมติแต่อย่างใด แม้ส่วนใหญ่จะเห็นว่าควรมีประชามติ แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดไว้ ก็ต้องปล่อยให้การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวเป็นของคณะรักษาความสงบแก่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล เพราะหากต้องทำก็จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว และกระทบกับโรดแมป รวมถึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากด้วย
--------------------
"คำนูณ" คาด ภายในสัปดาหนี้ ทบทวนครบ 315 มาตรา พร้อมเขียนบันทึกเจตนารมณ์เสร็จ เตรียมส่ง สปช.พิจารณา

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้จะเป็นการพิจารณาทบทวนความถูกต้องและความสมบูรณ์ในแต่มาตรา โดยจะไม่มีการแก้ไขในหลักการ และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทบทวนครบ 315 มาตรา เช่นเดียวกับการบันทึกสรุปเจตนารมณ์ที่ดำเนินการเกือบครบทั้งหมดแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนเวลาในการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ โดยวันจันทร์และพฤหัสบดี จะประชุมเวลา 09.00-12.00 น. เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมาธิการยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เข้าร่วมประชุม สปช. และ สนช. ขณะที่วันอังคาร พุธ และศุกร์ จะเริ่มประชุมเวลา 13.30 น. เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมาธิการยกร่างฯ ได้เข้าร่วมประชุมอนุกรรมาธิการคณะต่าง ๆ
---------------
คำนูณ โต้เสียงวิจารณ์ที่มานายกฯ-ระบบเลือกตั้ง ยัน ฟังทุกความเห็น แจง ยังไม่แก้ รอข้อคิดเห็นจากที่ประชุม สปช. เตรียมลงพื้นที่สอบถามประชาชน

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่มานายกรัฐมนตรีและระบบการเลือกตั้ง โดยยืนยันว่า คณะกรรมาธิการฯ พร้อมความรับฟังคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่ขณะนี้จะไม่มีการแก้ไขในร่างแรก เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยจะนำทุกเรื่องไปพูดคุยในช่วง 60 วันสุดท้ายของการยกร่างรัฐธรรมนูญคือ วันที่ 25 พฤษภาคม - 23 กรกฎาคม 2558 ซึ่งหลังวันที่ 23 กรกฎาคม จะไม่สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้

ขณะเดียวกัน เตรียมลงพื้นที่เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใน 4 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ วันที่ 3 - 4 เมษายน ที่ จังหวัดเชียงใหม่ , วันที่ 2-3 พฤษภาคม ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช , วันที่ 16-17 พฤษภาคม ที่ จังหวัดขอนแก่น  และปิดท้ายที่ กรุงเทพมหานคร วันที่ 23-24 พฤษภาคม
---------------------
กลุ่มเสรีชน ไทยแลนด์ 58 ยื่น กมธ.ยกร่างทบทวน ที่มานายกฯ - ส.ว. ชี้ เปิดโอกาสให้บุคคลไม่ผ่านการเลือกตั้งบริหารนโยบายสาธารณะ

บรรยากาศที่รัฐสภาล่าสุด นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ ประธานกลุ่มเสรีชน ไทยแลนด์ 58 เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องการเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากระบบเลือกตั้งทางอ้อม เนื่องจากทางกลุ่มเล็งเห็นผลเสียในระบบเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเข้าบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ เพราะไม่ได้สัมผัสกับปัญหาต่าง ๆ อย่างแท้จริง จึงไม่น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงเป้าหมาย

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ AEC ซึ่งอาจส่งผลให้ขาดความชอบธรรมในสายตานานาประเทศ จึงอยากขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่ากังวลจนเกินเหตุ และอย่าคิดแทนประชาชน
-----------------
เริ่มประชุม สปช. ตัวแทน กมธ.ยกร่าง เข้าชี้แจงความคืบหน้า ก่อนพิจารณารายงานศึกษากรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ฯ

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ล่าสุด เปิดการประชุมแล้ว โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รายงานความคืบหน้าของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 315 มาตรา จากนั้นจะพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง วาระการขับเคลื่อนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ : ระบบการศึกษา การพัฒนาคุณภาพคน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และปัญญาของประเทศ วาระที่ 20 ระบบวิจัยเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของประเทศ วาระที่ 21 ระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ (ระยะที่ 1 ระดับหลักการและสาระสำคัญ)
--------------------
"วิษณุ" ติงคนวิจารณ์ ร่าง รธน. ควรเสนอความเห็นไป กมธ.ยกร่าง ชี้ การสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ ใกล้ได้คำตอบควรมีประชามติหรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า สังคมไทยยังเหมือนกันทุกยุคสมัยที่ติดใจในประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่าเป็นใคร ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีหลายประเด็นที่ควรจะอ่านและตั้งข้อสังเกต แต่กลับไม่ค่อยมีการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งคนที่จะเข้ามารับภาระของประเทศในอนาคตต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าคนร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นคนใช้เพียงฝ่ายเดียว เพราะยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่มีการพูดถึง ดังนั้น หากมีข้อเสนอแนะก็ให้เสนอต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนข้อเสนอที่ระบุว่าให้การเลือกตั้งแบบเลือกตัวบุคคล หรือโอเพนลิสต์ มองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงนั้นก็ถือเป็นจุดอ่อนข้อหนึ่ง แต่ก็ยังมีจุดแข็งอย่างอื่น ทางกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ต้องไปชั่งน้ำหนักและเลือกเอา

ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การสร้างความเข้าใจในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย ได้เน้นย้ำให้กรรมาธิการไปสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะคำใหม่ที่ไม่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เพื่อให้รู้ถึงเจตนาที่แท้จริง ส่วนจะมีการทำประชามติหรือไม่ก็ต้องว่ากันอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ใกล้จะได้คำตอบในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งหากมีการทำประชามติจริง จะต้องทำความเข้าใจมากกว่าเป็นสิบเท่า มิเช่นนั้นประชาชนจะไม่รับทราบข้อมูลทำให้การลงคะแนนผิดพลาดได้
------------------------
"วิษณุ" ไม่กังวล พรรคการเมืองเว้นวรรค  ถ้า รธน.ไม่สมบูรณ์  เชื่อ ยังมีเวลาทำความเข้าใจ  ส่วน "ยิ่งลักษณ์" ไปนอก ขึ้นอยู่กับศาล

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงข้อกังวล หากพรรคการเมืองจะเว้นวรรคทางการเมือง ถ้ารัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ว่า ไม่เป็นไร เพราะยังมีเวลาทำความเข้าใจอีกมาก และที่ผ่านมาในกรณีของ นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ที่เคยระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นฉบับครึ่งใบ จึงประกาศเว้นวรรค แต่สุดท้ายเมื่อทำความเข้าใจแล้ว ก็กลับมาลงสมัครเลือกตั้งนอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวต่อว่า กรณีที่ ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่งในคดีที่ อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายใน

กรณีโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 19 มี.ค.นั้น เป็นเพียงการพิจารณาว่า จะรับฟ้องหรือไม่  ส่วนการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล
---------------
"เทียนฉาย" สั่งสมาชิกประชุม 20-26 เมษายน ไม่เว้นวันหยุด เพื่อพิจารณา รธน.ร่างแรก

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยประธานได้แจ้งให้สมาชิกทราบว่า คณะกรรมาธิการข้อมูลข่าวสาร สปช. มีมติให้ข้อมูลของคณะทำงานของสมาชิก สปช. ทั้งหมด ตามที่มีผู้ร้องขอ ประกอบด้วย สำนักข่าวอิสรา สำนักข่าวเนชั่น สถานีโทรทัศน์ไบรท์ทีวี และ นายศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งข้อมูลที่ส่งให้จะเป็นตารางสรุปรายชื่อ

นอกจากนี้ ประธานได้สั่งสมาชิก สปช. ให้งดการประชุมทุกอย่าง เพื่อเข้าร่วมประชุม สปช. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ในวันที่ 20-26 เมษายน 2558 ที่จะประชุมต่อเนื่องโดยไม่เว้นวันหยุดตั้งแต่เช้าถึงเย็น

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะส่งร่างมาให้วันที่ 17 เมษายนนี้ ส่วนตัวแทนจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้ งดชี้แจงความคืบหน้าต่อที่ประชุม สปช.
------------------
กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ เสนอไม่อนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการประชานิยม ชี้ทุกนโยบายที่ต้องพึ่งการคลังของประเทศต้องให้ ครม.เห็นชอบ

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวถึงความคืบหน้าของการพิจารณาเรื่องงบประมาณของคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรฐกิจ การเงิน และการคลัง ว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าจากนี้ไปจะมีการเสนอเรื่องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาทำงบประมาณไม่ให้อนุมัติงบประมาณที่จะไปดำเนินการในนโยบายประชานิยม โดยนโยบายและกิจกรรมของรัฐที่ออกมาในลักษณะที่ต้องพึ่งการเงินการคลังของประเทศจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการเสนอให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแต่ละปี ซึ่งต้องระบุให้ชัดเจนว่าจำนำไปใช้จ่ายดำเนินการในส่วนใดบ้าง ต้องใช้งบประมาณใด และจะมีผลผูกพันกี่ปี ส่วนระบบการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องของการจัดการงบประมาณนั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้เองตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
///////////////
เคลื่อนนำไหวนายกฯ

นายกฯ เข้าทำเนียบติดตามงานตามปกติ ขณะช่วงบ่าย ประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ความเคลื่อนไหวที่ ทำเนียบรัฐบาล ล่าสุด ในช่วงเช้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เช้าแล้ว โดยคาดว่า เป็นการติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติงานของฝ่ายต่าง ๆ ตามปกติ เนื่องจากในช่วงเช้าวันนี้ นายกรัฐมนตรี ไม่มีวาระงาน หรือการประชุมอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ก่อนที่ในช่วงบ่าย จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2558 ที่ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

ส่วนบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลโดยทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามปกติ
--------------------
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.นโยบายเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ก่อนเข้าห้อง ทักทายผู้สื่อข่าวอย่างเป็นกันเอง

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่ายวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เดินจากตึกไทยคู่ฟ้า ไปยังตึกสันติไมตรี เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2558 ที่ตึกสันติไมตรีแล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ ที่แต่งกายด้วยชุดข้าราชการสีกากีทุกวันจันทร์ ได้กล่าวทักทายกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าร่วมการประชุม ซึ่งมีบรรดารัฐมนตรีรวมถึงผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางมาร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามปกติ
------------------------
นายกฯ เล็งดูกฎหมายอื่นมาใช้แทนอัยการศึก - ประชามติรอข้อสรุป เมิน "สุรพงษ์" ขู่เว้นวรรค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวว่า สำหรับเรื่องกฎอัยการศึกนั้น ได้พยายามหากฎหมายอื่นมาดูแลแทนกฎอัยการศึก โดยจะสามารถดูแลบ้านเมืองได้ ซึ่งขณะนี้กำลังร่างอยู่ แต่อย่ามองว่าเบาลงหรือหนักขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีกฎอัยศึกแต่ยังคงมีการเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงอยู่ แต่ทั้งนี้ยังคงจะไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ ซึ่งหากไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกังวล

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวโน้มการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กำหนดไว้ โดยจะมีการพิจารณาร่วมกันกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะประเมินจากสถานการณ์อีกครั้ง พร้อมยืนยันจะไม่ยอมให้การปฏิรูปประเทศเสียเปล่า ส่วนกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะขอยุติบทบาททางการเมือง หากรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่า ขอเว้นวรรคจริง ๆ และจะไม่มีการเรียกมาพูดคุย
------------------
นายกฯ เผยประชุม ศก.พิเศษเน้นสร้างรายงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์คนไทยมากที่สุด พร้อมพิจารณาการประกันนักลงทุนในพื้นที่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2558 ว่า การประชุมวันนี้มีการพูดคุยในเรื่อง สิทธิประโยชน์ รวมถึงการกำหนดโรดแมปในแต่ละพื้นที่ที่อาจมีอุตสาหกรรม หรือกิจกรรมหลาย ๆ อย่างในพื้นที่ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจรวมไปถึงการผลิต การเกษตร และการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ ซึ่งในอนาคตพื้นที่ที่กำหนดไว้นั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้คนมาลงทุน ส่วนที่สองจะเปิดพื้นที่บางส่วนให้ภาคเอกชนเช่า และส่วนที่สามคือส่งเสริมโรงงานในพื้นที่เดิมให้มีความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้ต้องมีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของ สิทธิประโยชน์ ภาษี เงินทุน และระยะเวลาในการประกอบการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยมากที่สุด และต้องไม่เสียในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

ส่วนความกังวลเรื่องการขอประกันของนักลงทุนภายใต้กฎอัยการศึกในพื้นที่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ให้การประกันไว้เฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากมีการลงทุนในพื้นที่ก็สามารถให้ได้และจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาอีกครั้ง
------------------
"สุวพันธุ์" เผย "น.พ.ณรงค์" เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แล้ว ใช้ ก.พ. เป็นสถานที่ทำงาน - ให้มาช่วยงานวิชาการนโยบายยุทธศาสตร์สุขภาพ

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของ น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามคำสั่งให้มาช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ทราบว่าได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แล้ว โดยใช้สถานที่ของอาคารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นสถานที่ทำงาน เช่นเดียวกับที่บุคคลที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้มาช่วยงานวิชาการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพแห่งชาติ
--------------------
"สรรเสริญ" ยันรัฐบาลยังไม่มีนโยบายยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 พร้อมสนับสนุนประชาชนใช้พลังงานทางเลือก

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อเรียกร้องของสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 (อี 10) และเปลี่ยนมาใช้
แก๊สโซฮอล์อี 20 เป็นพื้นฐานของน้ำมันแทนนั้น ขอยืนยันว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 โดยต้องมีการศึกษาข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถ

นอกจากนี้ พบว่ายังมีประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้แก๊สโซฮอล์ 91 อีกจำนวนมาก โดยรัฐบาลยืนยันสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทนที่ถือนโยบายสร้างความมั่นคงยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ แต่การดำเนินการปรับโครงสร้างชนิดน้ำมันสำเร็จรูปโดยยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91ในขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าวในขณะนี้ ซึ่งการดำเนินการจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงพลังงาน และคาดว่าไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ รัฐบาล ต้องคำนึงถึงความสามารถในการผลิตเอทานอล เพื่อรองรับการขยายของความต้องการใช้เอทานอลในการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ความพร้อมของโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าน้ำมันในการจัดเตรียมถังที่สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น
////////////////
เศรษฐกิจ

ภาษีบ้านที่ดิน

รัฐมนตรีฯคลัง เร่งเดินหน้า พ.ร.บ.บ้านและที่ดิน รองรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในอนาคต

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า หากตนยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเร่งเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติภาษีบ้านและที่ดินต่อไป  เนื่องจากเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบการคลังและการหารายได้ของภาครัฐ เพื่อรองรับการใช้จ่ายในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในอนาคต โดยภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปภาษี เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับสมบูรณ์ ไม่มีการปรับแก้ไข เพื่อส่งต่อให้ภาคสังคม วิชาการ ไปพิจารณาภาษี ทั้ง 4 อัตรา คือ

ที่ดินสำหรับการเกษตร ที่อยู่อาศัย ที่ใช้เชิงพาณิชย์ และที่รกร้างว่างเปล่า ว่าอัตราที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร และเมื่อรัฐบาลมีความพร้อมจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดิน จะสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 2 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนนี้ไม่ได้เข้ารัฐบาลกลาง ซึ่งหากไม่เดินหน้าภาษีที่ดิน ในระยะต่อไปจะส่ง ผลให้รัฐบาลมีความเสี่ยงด้านการคลัง เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำงบประมาณแบบขาดดุลมานาน และใช้อย่างสิ้นเปลืองมาเป็นเวลานาน  ดังนั้นไม่ควรชะล่าใจกับเพดานหนี้สาธารณะ แม้ว่าในวันนี้จะยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง

ภาษีที่ดินที่จะจัดเก็บสำหรับที่อยู่อาศัย ในหลักการต้องการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเพิ่มอัตราลดหย่อน จากเดิมอัตราจัดเก็บที่ 0.1% ของราคาประเมิน โดยเก็บล้านละ 1 พันบาท ให้ยกเว้นเป็น 1-2 ล้านบาทแรก เสียภาษี 25% ของอัตรา 0.1% จากราคาประเมิน หรือล้านละ 250 บาท บ้าน 2 ล้านเสีย 500 บาทต่อปี โดยบ้านราคาที่ 3-4 ล้านบาท เสียภาษี 50% ของอัตรา 0.1% จากราคาประเมิน หรือล้านละ 500 บาท ดังนั้น ถ้าบ้านไม่เกิน 4 ล้านบาท จะเสียภาษีไม่เกิน 1,500 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เป็นภาระมาก
-------------
รมว.อุตสาหกรรม ร่วมลงนาม รมว.คลัง ส่งเสริมการใช้รถยนต์ยั่งยืน ด้วยระบบภาษี C02 ยัน ไม่กระทบประชาชน ชะลอตัดสินใจซื้อ

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดตัวระบบป้ายข้อมูลรถยนต์ Eco Sticker และร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์อย่างยั่งยืน ด้วยกลไก ECO Sticker และภาษีที่คำนวณจากการปล่อยค่าคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ว่า การปรับโครงสร้างภาษี CO2 ที่บังคับใช้ ในปี 2559 กับรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศทุกรุ่น จะไม่ส่งผลให้ประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์มากนัก โดยตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคมปี 2558 จะเริ่มให้ผู้ผลิตรถยนต์ติด ECO Sticker ซึ่งจะระบุถึงข้อมูลเครื่องยนต์ ช่วยลดปัญหาระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค อีกทั้ง ผู้ประกอบการสามารถศึกษาข้อมูล เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับขึ้นอัตราภาษี โดยรถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซCO2 จะเสียภาษีในอัตราที่ถูก

ขณะที่ ประชาชน ที่ใช้รถยนต์รุ่นเก่า จะเสียภาษีในอัตราเดิมปกติ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหากนำภาษีโครงสร้างใหม่ ไปใช้กับรถรุ่นเก่า อาจไม่เกิดความยุติธรรม เพราะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
----------------
20 มี.ค. กฟผ. เตรียมขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ลดใช้ไฟฟ้าในช่วงที่แหล่งก๊าซยาดานาและซอติก้า ประเทศเมียนมา ที่จะหยุดซ่อมระหว่างวันที่ 7-13 มิถุนายนนี้

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กล่าวว่า ปกติผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จำนวน 8 ราย มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 320 เมกะวัตต์ โดยในวันที่ 20 มีนาคมนี้ กฟผ. เตรียมประสานขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่แหล่งก๊าซยาดานาและซอติก้า ประเทศเมียนมา ที่จะหยุดซ่อมระหว่างวันที่ 7-13 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้ คาดว่าช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 70-80 เมกะวัตต์ พร้อมยอมรับว่าหากไม่ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตกระแสไฟฟ้า จำเป็นต้องใช้น้ำมันเตาและดีเซล ซึ่งมีราคาแพงกว่าทดแทน โดยคาดว่าตลอดระยะเวลาการปิดซ่อมท่อก๊าซจะมีปริมาณการใช้น้ำมันเตาและดีเซลอยู่ที่ 130 และ 56 ล้านลิตร

อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะทำหน้าที่รวบรวมปริมาณความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าของผู้ร่วมโครงการให้ได้ตามเป้าหมายที่ระบบต้องการ (Load Aggregator) โดยเป็นผู้เชิญชวนและรับสมัครผู้ร่วมโครงการ ทำการวัดและคำนวณผลการลดกำลังการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
-------------------
ธปท. ชี้เงินบาทอ่อนค่า 0.5% หลัง กนง. ลดดอกเบี้ยแตะ 32.80-32.94 บาทต่อดอลลาร์ ย้ำมีเสถียรภาพ

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้ยังมีเสถียรภาพ ซึ่งหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 0.5 จากที่เคลื่อนไหวที่ 32.30-32.00 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 32.80-32.94 บาทต่อดอลลาร์ และการปรับลดดอกเบี้ยลงได้ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี (บอนด์) ปรับลดลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.49 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.74 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ส่วนสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ในระดับปกติ โดยตลาดการเงินส่วนใหญ่จะติดตามถึงทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาในวันพุธที่ 17 มีนาคมนี้
------------------------
ธปท. ชี้ กนง. ลดดอกเบี้ยช่วยพยุงความมั่นใจเศรษฐกิจ ถือเป็นโอกาสดีขยายการลงทุน ย้ำ 20 มี.ค. หั่นเป้าจีดีพี

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยลงถือเป็นการช่วยพยุงความมั่นใจเศรษฐกิจระหว่างที่รอการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลงได้ช่วยให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินขณะนี้อยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจในการเร่งขยายการลงทุนการผลิตเพิ่มศักยภาพในระยะยาว โดยปัจจัยสำคัญที่นำมาพิจารณาประกอบการลดดอกเบี้ย คือ ภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งมองว่านโยบายการเงินจะเข้าไปช่วยเหลือได้ ขณะเดียวกันความเห็นบางส่วนกังวลว่าการลดดอกเบี้ยจะมีผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ซึ่งในส่วนนี้ กนง. ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน แต่มองว่าผู้ที่จะกู้เงินส่วนใหญ่ก็จะคำนึงถึงสถานะทางการเงินและหนี้ของตัวเองอยู่แล้ว และจากนี้ยังคงต้องติดตามว่าธนาคารพาณิชย์ตอบรับทิศทางการลดดอกเบี้ยอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีเพียงธนาคารไทยพาณิชย์แห่งเดียวที่ตอบรับปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ธปท.

ทั้งนี้ ธปท. จะมีรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน รวมถึงจะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรรษฐกิจอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคมนี้ ซึ่งยอมรับว่า ความท้าทายในระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขัน และความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านภาษี
------------------------
พล.อ.ฉัตรชัย รอดูไตรมาส 1 ก่อนปรับเป้าส่งออกปี 58 หลังหลายประเทศยังโต จี้ทูตพาณิชย์เจาะตลาด

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายผลักดันการส่งออกแก่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการระหว่างประเทศ หรือ ทูต พณ. ทั้ง 61 แห่ง ทั่วโลกว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ร้อยละ 4 แม้จะมีบางประเทศในสหภาพยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังมีหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส รวมทั้งตลาดอื่น ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหลังสิ้นสุดไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เน้นยุทธศาสตร์ผลักดันการส่งออกใน 4 ตลาด ได้แก่ กลุ่มที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง กลุ่มที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจปานกลาง กลุ่มที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ และกลุ่มอาเซียน เพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน พบว่า ตลาดสหรัฐอเมริกาและอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ขณะที่ตลาดยุโรปมีโอกาสขยายตัวได้
----------------
พล.อ.ฉัตรชัย ย้ำบทบาททูตพาณิชย์ต้องทำงานเชิงรุก รายงานผลการทำงานทุก 3 เดือน ไม่เข้าเป้าต้องปรับออก

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการประชุมมอบนโยบายผลักดันการส่งออกแก่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการระหว่างประเทศ หรือ ทูต พณ. 61 แห่ง ทั่วโลก ว่า ตนได้เน้นย้ำถึงบทบาทของทูต พณ.ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นนักธุรกิจให้มากขึ้น โดยจะต้องทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน และรัฐบาลของประเทศที่ไปประจำอยู่ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลความต้องการของตลาดนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศ และจากนี้ไปกระทรวงพาณิชย์ จะปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกทูต พณ. ที่จะไปประจำการใหม่ โดยจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณา มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ในการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความเชี่ยวชาญ และมีความตั้งใจในการทำงานเชิงรุก โดยให้ทูตพาณิชย์ต้องรายงานผลดำเนินงานทุก 3 เดือน ก่อนประเมินผลงานในทุก 6 เดือน หากไม่เป็นไปตามเป้าจะถูกเรียกตัวกลับ ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดข้อครหาระบบเส้นสายภายใน

“วิษณุ” ชี้ 19 มีนาฯ “ปู” ไม่จำเป็นต้องมาปรากฏตัวที่ศาลในคดีจำนำข้าว

รองนายกฯ ระบุ 19 มี.ค.ศาลนัดฟังคำสั่งรับฟ้องคดีจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ไม่จำเป็นต้องมาปรากฏตัว ส่วนเรื่องการประกันตัวอยู่ที่ศาล 
       
       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ในวันที่ 19 มี.ค.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องไป เพราะเป็นการพิจารณาเพื่อจะสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ถ้ารับฟ้องศาลก็จะนัดวันที่จะพิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งในวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องไป
       
       ส่วนเรื่องการประกันตัวอยู่ที่ศาลจะพิจารณาอย่างไร และถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการจะไปวันที่ 19 มี.ค.ก็ไม่เป็นไร ไปได้ แต่ศาลไม่มีเรื่องอะไรที่จะพูดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ศาลมีเรื่องจะพูดกับอัยการเท่านั้น และจะนัดวันพิจารณาคดีในนัดแรก จะแจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องมาวันไหน และรวมถึงจะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่ แต่ถ้าศาลไม่รับก็แล้วไป ส่วนการขออนุญาตไปต่างประเทศก็ขึ้นอยู่ที่ศาลจะพิจารณา