PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ผู้แทนรัฐสภายุโรปย้ำ รัฐบาลไทยต้องเปิดให้อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี

ผู้แทนรัฐสภายุโรปย้ำ รัฐบาลไทยต้องเปิดให้อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี ไม่เช่นนั้นการปรองดองจะไม่เกิดขึ้น 

คณะสมาชิกรัฐสภายุโรป นำโดยนายแวร์เนอร์ ลันเก้น ประธานกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน (DASE)  พร้อมด้วยคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภายุโรป รวม 8 ราย  เข้าพบตัวแทนจากกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย รวมถึงคณะกรรมการการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แกนนำของพรรคการเมืองหลักในไทย รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี 2 ราย ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. นี้


นายลันเก้นกล่าวย้ำว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการดำเนินตามแผนสู่ประชาธิปไตยของรัฐบาลไทย จะต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดต้องสามารถอภิปรายถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเปิดเผย ครอบคลุม และมีเสรีภาพ การออกกฎหมายที่ระบุว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอาจถูกลงโทษ จึงเป็นเรื่องที่สมาชิกรัฐสภายุโรปค่อนข้างกังวล เพราะอาจทำให้ตีความไปได้ว่า กระบวนการลงประชามติไม่มีเสรีภาพเพียงพอ และการปรองดองไม่อาจจะเกิดขึ้นได้หากไม่มีการเคารพความคิดเห็นของคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากการลงมติของประชาชน จะมีมาตรการคว่ำบาตรไทยหรือไม่ นายลันเก้นระบุว่าจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง และหารือกับตัวแทนสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากสมาชิกสภายุโรปไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ พร้อมย้ำว่าสมาชิกสภายุโรปเข้าใจดีว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์และธรรมเนียมปฏิบัติของตนเอง และไม่คิดที่จะชี้นำในเรื่องใด

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภายุโรปเกรงว่า รัฐบาลทหารอาจยื้ออำนาจและทำให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว ทั้งการที่ประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะถูกกองทัพแทรกแซงในทุกครั้งที่เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในขึ้น ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความหวังว่า ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้ในที่สุด โดยประเมินจากการพูดคุยกับตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ ของไทย พบว่าแต่ละฝ่ายมีความตั้งใจที่จะผลักดันกระบวนการปรองดอง รวมถึงพยายามสานต่อด้านความร่วมมือต่าง ๆ ตลอดจนต้องการรื้อฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ที่หยุดชะงักไปนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารปี 2557

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่รัฐบาลไทยและสมาชิกรัฐสภายุโรปได้หารือกันนอกจากนี้ ได้แก่ การสานต่อความร่วมมือด้านการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้แรงงาน การทำประมงผิดกฎหมาย สถานการณ์แรงงานข้ามชาติ และปัญหาการค้ามนุษย์

บิ๊กป้อม ยัน รัฐบาล-คสช.เปิดกว้างรัฐสภาEU มาพบ"ยิ่งลักษณ์" บอก ไม่เป็นไร ขอแค่พูดความจริง



บิ๊กป้อม ยัน รัฐบาล-คสช.เปิดกว้างรัฐสภาEU มาพบ"ยิ่งลักษณ์" บอก ไม่เป็นไร ขอแค่พูดความจริง อย่าบิดเบือน เราไม่มีอะไรปิดบัง ชี้ 2ปีคสช.อยู่กับความจริง ไม่มีอะไรอยู่"ใต้พรม" ยัน ไม่ปรับทัศนคติแล้ว แต่ดำเนินการตามกม.
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม. กล่าวถึงการที่ ตัวแทนรัฐสภา EU มาพบ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ไม่เป็นไร เขาจะมา เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้. แต่เขาก็มาพบ หลายฝ่าย แต่ไม่ได้มาพบ คสช. แต่เราไม่มีปัญหาอะไร เราเปิดกว้าง ไม่มีอะไรปืดบัง
เมื่อถามว่า เป็นห่วง ข้อมูล ที่ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชี้แจง หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่ห่วง เพราะ ต่องชี้แจงความจริง
"เพราะ 2ปี ที่คสช.ทำงานมา เราอยู่กับความจริง ไม่มีอะไรซ่อนเร้น ไม่มีอะไรอยู่"ใต้พรม"
อีกทั้งเชื่อว่า อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ จะให้ข่อมูล ที่เป็นข้อเท็จจริง. ส่วนเรื่องความคิดเห็น ท่านจะคิดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของท่าน. แต่จะบิดเบือนไม่ได้. แต่ถ้าทางสภาEU เห็นว่า ข้อมูลที่ได้ไม่ตรง ก็จะมาถาม คสช. -รัฐบาล เราก็ได้. โดยทาง กต.พร้อมที่จะชี้แจง อยู่แล้ว
ส่วนเริ่องการปรับทัศนคติ ตามแนวทาง คสช.นั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า เมื้อเรียกมาปรับทัศนคติแล้ว ไม่รู้เริ้อง ก็ไม่เรียกแล้ว. มีอะไรก็เชิญมา แล้วก็ดำเนินการตามกฏหมาย

ประวิตรหนุนแนวคิด ผบ.ทบ.เลิกปรับทัศนคติ เปิดช่องนักการเมืองวิจารณ์ร่างรธน. เชื่อคลี่คลาย

ประวิตรหนุนแนวคิด ผบ.ทบ.เลิกปรับทัศนคติ เปิดช่องนักการเมืองวิจารณ์ร่างรธน. เชื่อคลี่คลาย

ประวิตรหนุนแนวคิด ผบ.ทบ.เลิกเรียกคนปรับทัศนคติ เปิดช่องให้นักการเมืองวิจารณ์ร่างรธน. เชื่อคลี่คลาย บอกผู้ต้องหาบึ้มราชประสงค์โวยสื่อ แค่สร้างเรื่อง-รอยแผลอาจทำเอง การันตีเลขาฯปปง.ใหม่เชี่ยวชาญงานยุติธรรม แถมยังเคยเป็นหัวหน้าทีถอดยศทักษิณ
แฟ้มภาพ จาก ศูนย์สื่อทำเนียบฯ
18 พ.ค. 2559 จากกรณีวานนี้ (17 พ.ค.59) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุถึงการทำงานของ คสช.ครบรอบ 2 ปี ว่า เราไม่ได้มีการเตรียมการอะไรเพราะมีการดำเนินการอยู่แล้วเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งเราดูแลทุกวันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดี ทั้งนี้ประชาชนต้องอยู่ด้วยความสงบและใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข ซึ่งพวกที่ก่อกวน คสช.จะไม่ปล่อยไว้ เราดูแลทุกเรื่องอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการปรับทัศนคติจะไม่เรียกแล้ว เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้เน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษ เพราะเราดูแลสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี เราไม่ห่วงกลุ่มใดเป็นพิเศษ เพราะเราติดตามทุกกลุ่มที่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย

ประวิตรหนุนแนวคิด ผบ.ทบ.เลิกเรียกคนปรับทัศนคติ เชื่อคลี่คลาย

ล่าสุดวันนี้ (18 พ.ค. 59) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี พล.อ.ธีรชัย มีแนวคิดยกเลิกเรียกบุคคลมาปรับทัศนคติ เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ว่า ปรับมาหลายครั้งก็ไม่มีอะไร ก็จะเรียกมาว่าทำผิดอะไรบ้าง ส่วนจะผิดหรือไม่ผิดต้องว่าไปตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า แสดงว่าจะมีการยกเลิก พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พูดไปหลายครั้งแล้ว และผบ.ทบ.พูดไปแล้ว ก็ว่าไปตามที่ ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์
เมื่อถามว่า การยกเลิกเรียกปรับทัศนคติ และเปิดให้นักการเมืองสามารถซักถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คิดว่าจะคลี่คลาย ไม่เช่นนั้นจะทำไปทำไม ขณะนี้ก็คลี่คลายไปแล้ว มีแต่นักข่าวเท่านั้นที่ทำให้ไม่คลี่คลาย เพราะถามให้เป็นเรื่องอยู่เรื่อย

เปิดช่องให้นักการเมืองวิจารณ์ร่างรธน.

นอกจากนี้ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เป็นเจ้าภาพเตรียมจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญ ที่สโมสรทหารบก วันพรุ่งนี้ (19 พ.ค.) เพื่อให้นักการเมืองและทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ห้ามใครเลยแม้กระทั่งคนที่ลงนามกับคสช. ไว้ว่าจะไม่วิจารณ์การเมือง ซึ่งตอนนี้ก็ให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกับตัวแทนต่าง ๆ ในสิ่งที่สงสัย เมื่อบอกว่าไม่มีช่องทางแสดงความเห็น เราก็จะเปิดช่องให้ เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ และไม่มีคสช.ไปเกี่ยวข้องเลย
ส่วนกรณีที่แกนนำคนเสื้อแดง ระบุ การทำประชามติจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นถึงร้อยละ 80 นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า  คิดไปเองทั้งนั้น  เมื่อวานได้เห็นคนไทยแสดงความรักกันในงานพฤษภาทมิฬ ตนก็ดีใจแล้ว และชื่นใจที่ได้เห็นคนไทยปรองดอง แบบนี้ตนนอนหลับฝันดีแล้ว
ต่อข้อถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ มีแนวคิดจะตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร  พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องอนาคต หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาหารัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป ซึ่งความกังวลว่าจะยืดระยะเวลาโรดแมปออกไปอีก ก็ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด แต่อาจเป็นไปได้ที่จะเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่า ๆ มาปรับใช้ แต่ทุกอย่างจะต้องเข้าคณะกรรมการหารือถึงแนวทางที่ชัดเจน  ส่วนเรื่องการเลือกตั้งขอยังไม่พูด ขอให้ผ่านประชามติไปให้ได้ก่อน

บอกผู้ต้องหาบึ้มราชประสงค์โวยสื่อ แค่สร้างเรื่อง-รอยแผลอาจทำเอง

ต่อกรณีผู้ต้องหาในคดีลอบวางระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์แสดงอาการขัดขืนขณะถูกนำตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวานนี้ (17 พ.ค.) และระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น  พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เจ้าหน้าที่จะไปทำเช่นนั้นได้อย่างไร
 
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อถามว่า แต่นายอาเด็มได้เปิดเสื้อเพื่อแสดงให้เห็นร่องรอยว่าถูกทำร้ายร่างกาย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี เขาทำเองหรือไม่ ตนดูอยู่ยืนยันว่าไม่มีการเปิดเสื้ออะไร เมื่อถามย้ำถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำตามกฎหมาย ตนไม่ทราบ และไปสั่งให้ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของศาลดำเนินการ ตนไม่เกี่ยว
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเปลี่ยนเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครชัยศรี มณฑลทหารบกที่ 11  (มทบ.11) ไปเรือนจำอื่นหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณา ขอยืนยันว่าดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน
 

การันตีเลขาฯปปง.ใหม่เชี่ยวชาญงานยุติธรรม แถมยังเคยเป็นหัวหน้าทีถอดยศทักษิณ

สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งพล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอําพันธ์กุล จเรตำรวจแห่งชาติ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คนใหม่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)ว่า เป็นไปตามขั้นตอนการแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องผ่านความเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องการให้พล.ต.อ.ชัยยะ ดํารงตําแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านงานยุติธรรม และยังเคยเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับถอดยศ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในระดับรองผู้บังคับการและสารวัตรที่มีความล่าช้า พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งหลังจากมีคำสั่งแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะเข้าปฏิบัติงานตามหน้าที่ต่อไป

สหรัฐฯ ผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมียนมาเพิ่มเติม

สหรัฐฯ ผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมียนมาเพิ่มเติม
รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีคำสั่งยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่ 10 บริษัทซึ่งเป็นกิจการของรัฐบาลเมียนมา ได้แก่ ธนาคาร ธุรกิจค้าไม้ และกิจการเหมืองแร่ต่างๆ หลังประธานาธิบดีเมียนมาซึ่งเป็นพลเรือนคนแรกในรอบกว่า 50 ปีเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การผ่อนผันทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะส่งผลต่อเมียนมาในวงจำกัด เพราะนักธุรกิจใหญ่ของเมียนมากว่า 100 คนยังอยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลต้องห้ามที่รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามประชาชนและภาคเอกชนของอเมริกันร่วมทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยอย่างเด็ดขาด และกองทัพเมียนมายังคงเป็นผู้กุมอำนาจในการถือครองกิจการอีกหลายประเภท แต่คำสั่งของสหรัฐฯ ที่มีต่อเมียนมาครั้งล่าสุด มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนทางการค้า และเปิดช่องทางให้มีการทำธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้น
รัฐบาลสหรัฐฯ ยังพยายามกดดันรัฐบาลเมียนมาอย่างต่อเนื่องเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านประชาธิปไตย และเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ยังคงกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา
สหรัฐฯ เริ่มผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรแก่เมียนมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยคาดว่าการค่อยๆ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจะช่วยให้การเข้าไปประกอบธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ง่ายดายขึ้น ขณะที่บริษัทสัญชาติอเมริกันที่สำคัญอย่างบริษัทเจเนรัล อิเล็กทริก และบริษัทโคคาโคล่า ได้เข้าไปตั้งกิจการในเมียนมาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้
นายปีเตอร์ ฮาร์เรล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของสถาบันวิเคราะห์ความมั่นคงอเมริกัน Center for a New American Security เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าหากไม่สามารถทำธุรกิจร่วมกับกิจการที่ทหารเมียนมาเป็นเจ้าของ การเข้าถึงส่วนอื่นๆ ของธุรกิจในเมียนมาก็เป็นเรื่องยากเกินเอื้อม