PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

บิ๊กป้อมชงบินขับไล่8ลำเข้าครม.

วันที่ 10 ก.ค. 60 — ผู้สื่อข่าวรายงานวาระการประชุม ครม. วันที่ 11 ก.ค. นี้ มีวาระสำคัญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะนำเรื่องการจัดหาเครื่องบิน T-50TH จำนวน 8 เครื่อง เพื่อให้ครบ 12 เครื่อง วงเงิน 8,800 ล้านบาทเศษ ผูกพัน 3 ปี ให้กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นการจัดหาต่อเนื่องในระยะที่ 2 หลังจากที่ ครม. อนุมัติเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไว้จำนวน 16 เครื่อง โดยจัดหา 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 4 เครื่อง, ระยะที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง และระยะที่ 3 จำนวน 4 เครื่อง ให้กองทัพอากาศ

 

 

ทั้งนี้ ในการจัดหา T-50TH มาเป็นเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น เพื่อทดแทนเครื่อง L-39 ที่เก่าใช้งานมานาน ใช้เทคโนโลยีเก่า และใกล้สิ้นสภาพ เป็นเครื่องที่มีสมรรถนะสูง นอกจากนำมาเป็นเครื่องฝึกแล้ว ยังสามารถใช้ปฏิบัติการทางอากาศได้หลากหลาย มีเทคโนโลยีทันสมัย ผลิตจากประเทศในเอเชีย มีใช้งานอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย คาดว่า ในอนาคตมีอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงของชาติและภูมิภาคอาเซียน

พลเรือนควบคุมทหาร : หนทางสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง
“It is not reasonable for an armed man to obey an unarmed one.
นิคโคโล แมคเคียเวลลี

ในวรรณกรรมเรื่อง The Prince แมคเคียเวลลีกล่าวไว้ว่า มันช่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ที่คนถืออาวุธจะเชื่อฟังคนไร้อาวุธ อย่างไรก็ตาม โลกความเป็นจริงนั้นต่างจากมุมมองของแมคเคียเวลลี – ไม่ใช่ทุกประเทศที่กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน
รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร (civil-military relation) ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน (civilian control) ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง ทหารกลับมีบทบาทสูง ประเทศเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ในบางประเทศ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่อง จนกระทั่งทหารกลายเป็นฉากหลังของการเมืองในที่สุด

“หากกองทัพมีอำนาจทางการเมืองเหนือรัฐบาลพลเรือน … เป้าหมายของการบริหารประเทศจะกลายเป็นความมั่นคงของ ‘กองทัพ’ แทนที่ความมั่นคงของ ‘ประชาชน’ “

การควบคุมทหารโดยพลเรือน


การควบคุมทหารโดยพลเรือน คือการที่รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ในขณะที่กองทัพมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้รับจากรัฐบาลพลเรือน ที่มีฐานความชอบธรรมมาจากประชาชน และรับผิดรับชอบ (accountable) ต่อประชาชน
การควบคุมทหารโดยพลเรือนเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองโดยกองทัพ หากอำนาจการตัดสินใจด้านความมั่นคงเป็นของรัฐบาลพลเรือน การดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงก็จะต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนเป็นตัวแทนทางการเมืองของประชาชน
ในทางตรงกันข้าม หากกองทัพ ซึ่งให้คุณค่ากับการรักษาความมั่นคงของประเทศในแบบทหาร มีอำนาจทางการเมืองเหนือรัฐบาลพลเรือน การดำเนินนโยบายต่างๆ ก็จะเป็นไปเพื่อให้เกิดความมั่นคงตามนิยามกองทัพเป็นหลัก เพราะไม่มีกลไกที่จะทำให้ทหารเกิดความรับผิดรับชอบต่อประชาชน ต่างจากในกรณีของรัฐบาลพลเรือน อีกนัยหนึ่งก็คือ เป้าหมายของการบริหารประเทศจะกลายเป็นความมั่นคงของ ‘กองทัพ’ แทนที่ความมั่นคงของ ‘ประชาชน’
หากเราต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ปราศจากการแทรกแซงโดยกองทัพ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน สองคำตอบสำคัญที่ถกเถียงกันในทางวิชาการ คือ ‘ความเป็นทหารอาชีพ’ และ ‘แรงจูงใจของกองทัพ’

“เราไม่อาจสรุปได้ว่า ความอ่อนแอของสถาบันการเมืองพลเรือนโดยเปรียบเทียบนั้นเป็น ‘เหตุ’ ของการแทรกแซงทางการเมือง เพราะสถาบันทางการเมืองของพลเรือนที่อ่อนแอนั้นอาจเป็น ‘ผล’ มาจากการที่ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง และไม่เปิดโอกาสให้การเมืองพลเรือนพัฒนา”

คำตอบแรก: ความเป็นทหารอาชีพ


งานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารที่มีอิทธิพลที่สุดชิ้นหนึ่ง คืองานของแซมมวล พี. ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของแนวคิดคลื่นลูกที่ 3 ของประชาธิปไตย
ฮันติงตันเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นทหารอาชีพไว้ในหนังสือ The Solider and the State ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ว่า การควบคุมกองทัพโดยพลเรือนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทหารมีความเป็นทหารอาชีพ เพราะความเป็นทหารอาชีพจะทำให้ทหารมีความรับผิดชอบต่อสังคม และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความเห็นชอบจากตัวแทนของสังคม ซึ่งก็คือรัฐบาลพลเรือนเท่านั้น
นอกจากนี้ ความเป็นทหารอาชีพจะทำให้กองทัพไม่แทรกแซงการเมือง เพราะความหลากหลายของผลประโยชน์ทางการเมืองอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการบริหารจัดการความรุนแรง ลดทอนความเป็นหนึ่งเดียวของกองทัพ ตลอดจนทำให้ค่านิยมที่สำคัญที่สุดของกองทัพ ซึ่งได้แก่ ความจงรักภักดีและการเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ถูกแทนที่ด้วยค่านิยมอื่น
ตัวอย่างเช่น ในช่วง พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2555 ที่กองทัพอียิปต์เข้าเป็นรัฐบาลรักษาการหลังการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัก ทิศทางการบริหารประเทศของกองทัพเป็นไปอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ มีการปรับเปลี่ยน road map สำหรับการกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการแสดงอำนาจท้าทายประชาชน จนต้องกลับมาขอโทษภายหลัง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากความแตกแยกภายในกองทัพ เนื่องจากแนวคิดและผลประโยชน์ทางการเมืองมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ กองทัพอียิปต์ยังใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง โดยกลุ่มผู้เห็นต่างนี้ยังรวมไปถึงทหารอียิปต์ส่วนหนึ่งด้วย เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อกองทัพเข้าแทรกแซงการเมือง ค่านิยมการเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาของทหารได้ถูกแทนที่ด้วยค่านิยมทางการเมือง และทำให้กองทัพขาดความเป็นหนึ่งเดียวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความเป็นทหารอาชีพไม่ได้ป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพเสมอไป ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ทหารก็ยังคงแทรกแซงการเมืองแม้ว่าจะมีความเป็นทหารอาชีพก็ตาม
ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้นักรัฐศาสตร์อีกคนหนึ่งคือ แซมมวล อี. ไฟเนอร์ (Samuel E. Finer) เสนอแนวคิดที่แทบจะตรงกันข้ามกับฮันติงตันในหนังสือเรื่อง The Man on Horseback (ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2505) ว่า ความเป็นทหารอาชีพต่างหากที่เอื้อให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา เพราะสถาบันทางการเมืองของพลเรือนเพิ่งจะเริ่มก่อร่างสร้างตัว กองทัพที่เกิดขึ้นมานานกว่าจึงเป็นสถาบันที่เข้มแข็งกว่า ความเข้มแข็งโดยเปรียบเทียบดังกล่าวทำให้ทหารมีสำนึกในการเป็นผู้รับใช้ ‘รัฐ’ มากกว่าเป็นผู้รับใช้ ‘รัฐบาล’ เช่นกรณีของกองทัพตุรกี ที่มองว่าตัวเองเป็นผู้คุ้มครองรัฐนับตั้งแต่การสถาปนารัฐตุรกีสมัยใหม่
แนวคิดของทั้งฮันติงตันและไฟเนอร์แสดงให้เห็นว่า ความเป็นทหารอาชีพอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน
แม้เราจะเห็นการแทรกแซงทางการเมืองของทหารได้บ่อยกว่าในประเทศที่กองทัพเข้มแข็งแต่สถาบันทางการเมืองของพลเรือนอ่อนแอ แต่เราก็ไม่อาจสรุปได้ว่า ความอ่อนแอของสถาบันการเมืองพลเรือนโดยเปรียบเทียบนั้นเป็น ‘เหตุ’ ของการแทรกแซงทางการเมือง เพราะสถาบันทางการเมืองของพลเรือนที่อ่อนแอนั้นอาจเป็น ‘ผล’ มาจากการที่ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง และไม่เปิดโอกาสให้การเมืองพลเรือนพัฒนา
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือประเทศไทยเอง ที่ทหารเข้ามามีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนบ่อยครั้งและต่อเนื่องตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง พ.ศ. 2490  สถาบันการเมืองของพลเรือนที่ยังไม่พัฒนาในไทยจึงน่าจะเป็น ‘ผล’ มากกว่า ‘เหตุ’ ของการแทรกแซงทางการเมืองโดยกองทัพ

“ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพก็คือกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ที่เป็นตัวแสดงทางการเมือง”

คำตอบที่สอง: แรงจูงใจของกองทัพ


เพื่อตอบคำถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ นอกจากความเป็นทหารอาชีพ ปัจจัยที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอคือ ‘แรงจูงใจ’ ของกองทัพในการแทรกแซงการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะหลัง
แรงจูงใจในการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพที่พบบ่อยคือ (1) ภัยคุกคามจากภายนอกซึ่งมักเกิดจากภาวะสงคราม และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (2) ปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ จากความแตกต่างด้านศาสนา ภาษา ชนชั้น เชื้อชาติ อุดมการณ์ ตลอดจนการแบ่งแยกดินแดน และ (3) ความไร้เสถียรภาพของการเมืองพลเรือน ทั้งปัญหาด้านความชอบธรรม ความไร้ประสิทธิภาพ คอร์รัปชั่น นโยบายของรัฐบาลพลเรือน และการแทรกแซงกิจการทหาร
การอ้างปัจจัยเหล่านี้เพื่อเป็นเหตุผลในการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า ทหารเป็นผู้คุ้มครองรัฐที่แยกขาดจากการเมือง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพก็คือกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ที่เป็นตัวแสดงทางการเมือง เพราะบทบาทและอิทธิพลของกองทัพในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคง ทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในเวทีจัดสรรพื้นที่ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
หากเราศึกษาผลประโยชน์ของกองทัพ ทั้งในด้านโครงสร้างหน่วยงาน งบประมาณ และความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ทั้งก่อนและหลังการแทรกแซงทางการเมืองแต่ละครั้ง ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้กองทัพเข้าแทรกแซงการเมือง คือการเสียผลประโยชน์จากการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเรือน
ตัวอย่างเช่น ในตุรกี อำนาจของกองทัพที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ทำให้เกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2503 และนำไปสู่การจัดตั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council: NSC) เพื่อเป็นเครื่องมือให้กองทัพตุรกีมีอำนาจในการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ เหนือรัฐบาลพลเรือน
สำหรับประเทศไทย งบประมาณของกองทัพที่ถูกปรับลดลงในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยหลังการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ก็กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน
ความเป็นทหารอาชีพไม่ได้แปลว่าทหารไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะในความเป็นจริงแล้ว กองทัพเกือบทุกประเทศมีอิทธิพลต่อการออกนโยบายด้านความมั่นคง ทหารจึงเป็นตัวแสดงทางการเมืองเสมอ ดังนั้น การปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารเพื่อทำให้เกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน นอกจากจะต้องเพิ่มความเป็นทหารอาชีพให้ทหารหันมาให้ความสำคัญกับหน้าที่ที่พึงทำของตนในด้านการรักษาความมั่นคงแล้ว ยังต้องออกแบบโครงสร้างผลประโยชน์ของกองทัพให้เหมาะสมด้วย

“ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลซูฮาร์โต ทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากลุกฮือเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ”

การปฏิรูปเพื่อให้เกิดการควบคุมทหารโดยพลเรือน : กรณีอินโดนีเซีย


หนึ่งในประเทศที่พยายามเปลี่ยนแปลงไปสู่การควบคุมกองทัพโดยพลเรือนคือ อินโดนีเซีย
ก่อนหน้านี้ ทหารอินโดนีเซียในยุคของประธานาธิบดีซูฮาร์โตปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักการ “Dwifungsi” (Dual Function) หรือ“บทบาทสองด้าน” ที่ระบุว่า กองทัพอินโดนีเซียต้องรักษาความมั่นคงของชาติจากภัยคุกคามภายนอก และต้องดูแลรักษาระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หลักการดังกล่าวให้อำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่กองทัพอินโดนีเซียอย่างมาก
ในทางการเมืองนั้น ทหารจำนวนมากรับตำแหน่งข้าราชการพลเรือน เป็นคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจปกครองท้องถิ่นในทุกระดับจากโครงสร้างคำสั่งการตามพื้นที่ (territorial command structure) ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น ทหารเข้าควบคุมกิจการที่เป็นของรัฐ มีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และในกิจการเอกชนทุกขนาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ความไม่พอใจของประชาชนต่อซูฮาร์โตก็เพิ่มถึงขีดสุด ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจประกอบกับการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลซูฮาร์โต ทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากลุกฮือเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการใน พ.ศ. 2541
สถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากความต้องการประชาธิปไตย ประกอบกับความรู้สึกต่อต้านของสังคมต่อทหาร ทำให้กองทัพอินโดนีเซียและรัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปเพื่อให้ทหารออกจากการเมือง และกลับเข้าสู่กรมกอง
มาตรการปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซีย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ
(1) มาตรการเพื่อเพิ่มความเป็นทหารอาชีพ เช่น
  • เพิ่มทักษะด้านเทคนิคให้ทหาร
  • ปรับปรุงระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย
  • ยกเลิกบทเรียนด้านสังคมและการเมือง และเพิ่มเติมบทเรียนด้านกฎหมายมนุษยธรรมในหลักสูตรการเรียนการสอนของทหาร
  • เปลี่ยนแปลงบทบาทของกองทัพ โดยยกเลิกหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมาย การฝึกทหารกองหนุน และการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม
(2) มาตรการลดอำนาจของทหารในทางการเมือง เช่น
  • ถอดถอนตัวแทนของทหารออกจากองค์กรนิติบัญญัติ
  • โยกย้ายศาลทหาร จากเดิมที่เคยอยู่ภายใต้กองทัพ ไปอยู่ภายใต้ศาลสูงสุด
  • ออกกฎหมายให้การดำเนินนโยบายกลาโหมอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐสภา
  • ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ทหารมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และให้กองทัพปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน หลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ
  • จัดตั้ง “defense policy community” เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ ได้เข้าร่วมกับผู้ออกนโยบาย กองทัพ และสมาชิกรัฐสภา ในการอภิปรายและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงและการป้องกันประเทศ

การปฏิรูปดังกล่าวทำให้อำนาจของสถาบันทหารในโครงสร้างการเมืองที่เป็นทางการ (formal politics) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนอาจกล่าวได้ว่า กองทัพอินโดนีเซียไม่มีอำนาจยับยั้งการตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลพลเรือนแล้ว อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปในอินโดนีเซียยังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ที่ทำให้กองทัพยังคงมีอำนาจและอิทธิพลอยู่พอสมควร ได้แก่
หนึ่ง การคัดค้านจากภายในกองทัพอินโดนีเซีย  ทหารส่วนหนึ่งยังต่อต้านมาตรการลดผลประโยชน์ของกองทัพในโครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นทางการ (informal politics) อย่างรุนแรง ทั้งมาตรการปฏิรูปโครงสร้างคำสั่งการตามพื้นที่ และมาตรการเข้าครอบครองเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็กของทหารโดยรัฐ อย่างไรก็ตาม สัญญาณที่ดีสำหรับการปฏิรูปก็คือ ผู้นำกองทัพอินโดนีเซียเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปบทบาทของกองทัพ และแสดงความเข้าใจว่ากระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สอง งบประมาณทหารมีจำกัด ภายใต้งบประมาณที่จำกัด การเพิ่มความเป็นวิชาชีพและการพัฒนาศักยภาพทหารทำได้ยาก นอกจากนี้ การที่กองทัพไม่ได้รับการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม ยังทำให้ทหารมีแรงจูงใจที่จะเข้ามามีบทบาทในการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลให้กองทัพใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
สาม ทัศนคติของพลเรือนต่อทหาร  นักการเมืองยังคงพึ่งพิงทหารในฐานะผู้สนับสนุนทางการเมืองอยู่ การปฏิรูปจึงยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร ทั้งที่รัฐบาลสามารถดำเนินการเพื่อให้การปฏิรูปก้าวหน้ามากขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหมอย่างชัดเจน และการจัดตั้งคณะมนตรีความมั่นคงโดยมีพลเรือนเป็นผู้นำ

“การปฏิรูปกองทัพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ประสบการณ์ของอินโดนีเซียแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารไปสู่การควบคุมกองทัพโดยพลเรือน อันจะนำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ และปราศจากการแทรกแซงโดยกองทัพนั้น เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลา และจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการปฏิรูปเพื่อเพิ่มความเป็นทหารอาชีพ และออกแบบโครงสร้างผลประโยชน์และอำนาจของกองทัพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งพลเรือนและทหารเอง
หากประเทศไทยต้องการเดินกลับเข้าสู่เส้นทางพัฒนาประชาธิปไตย การปฏิรูปภายในกองทัพและโครงสร้างผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้.

อ่านเพิ่มเติม
  1. สุรชาติ บำรุงสุข. 2558. เสนาธิปไตย รัฐประหารกับการเมืองไทยกรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน.
  2. Droz-Vincent, P. 2014. “Prospects for “Democratic Control of the Armed Forces”?: Comparative Insights and Lessons for the Arab World in Transition,” Armed Forces & Society, 40(4), 696-723.
  3. Haseman, J. 2006. “Indonesian Military Reform: More Than a Human Rights Issue,” Southeast Asian Affairs, 111-125.
  4. Stepan, A. 1973. “The New Professionalism of Internal Warfare and Military Role Expansion,” Authoritarian Brazil: Origins, Policies, and Future, edited by Alfred Stepan. New Haven: Yale University Press, 47-65.

อ้างอิง
  1. Huntington, P. 1957. The Soldier and the State: The Theory and Politics of Civil-Military Relations. London: Harvard University Press.
  2. Finer, S. 1962. The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics. London: Transaction Publishers.
  3. Mietzner, M. 2006. Military Politics, Islam, and the State in Indonesia: From Turbulent Transition to Democratic Consolidation. Washington D.C.: East-West Center Washington.
  4. Sebastian, L. & Gindarsah, L. 2013. “Assessing Military Reform in Indonesia,” Defense & Security Analysis, 29(4), 293-307.

ทบ.ชี้ปฏิรูปทหารเป็นข้อเรียกร้องจากพวกเสียประโยชน์ ยันกองทัพปรับตัวตลอด

ทบ.ชี้ปฏิรูปทหารเป็นข้อเรียกร้องจากพวกเสียประโยชน์ ยันกองทัพปรับตัวตลอด

ทบ.ชี้ปฏิรูปทหารเป็นข้อเรียกร้องจากพวกเสียประโยชน์ ยันกองทัพปรับตัวตลอด
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก (แฟ้มภาพ)
        โฆษกกองทัพบก ยันกองทัพปรับตัวตลอด ได้สัญญาณค่อนข้างบวก ยันภารกิจไม่ใช่งานบริการ บอกพร้อมฟัง แต่ชี้เป็นข้อเรียกร้องจากพวกเสียประโยชน์ 
       
       วันนี้ (10 ก.ค.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทหารด้วย ภายหลังแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กองทัพได้มีการปรับตัวเรื่อยมาตามลำดับเวลา โดยทำในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ภารกิจทางการทหาร และภารกิจทางการทหารที่ไม่ใช่สงคราม โดยเฉพาะบทบาทในการช่วยเหลือและพัฒนาประเทศที่ระยะหลังได้รับสัญญาณค่อนข้างบวก
       
       พ.อ.วินธัยกล่าวว่า แม้ว่าภารกิจของทหารในภาวะปกติ ไม่ใช่การให้บริการในลักษณะสัมผัสตรงกับประชาชน เหมือนหลายๆ องค์กร แต่ทุกหน่วยงานในสังกัดยังคงมีการสำรวจเพื่อปรับตัวให้งานในแต่ละด้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้เหมาะสมกับความต้องการในภาพรวมของประเทศ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการเวลาที่เปลี่ยนไป
       
       “สำหรับเสียงเรียกร้องจากบางบุคคล เชื่อว่าทางกองทัพคงพร้อมรับฟังอย่างมีเหตุมีผล แต่ไม่อยากให้จำกัดอยู่เฉพาะบางกลุ่มบางพวก ที่สังคมส่วนใหญ่มองไปว่าอาจเป็นเรื่องของการเมือง หรือเข้าใจว่าเป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการทำหน้าที่ของทหารในช่วงภาวะพิเศษช่วงนี้เท่านั้น โดยมั่นใจว่าหลายหน่วยงานในสังกัดกองทัพ ยังคงที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อนำไปสร้างพัฒนาการใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติในแต่ละพื้นที่อยู่เสมอ จากข้อมูลที่ได้รับภาพรวมยังไม่พบเรื่องที่น่ากังวลอะไร” พ.อ.วินธัยกล่าว 

ท่าดีทีเหลว คสช.เสียของ

ท่าดีทีเหลว คสช.เสียของ

คิกออฟปฏิรูปตำรวจ “ชี้วัด” อนาคตปฏิรูปประเทศ 

เทศกาลวันพระใหญ่ อาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา

วันหยุดยาวสุดสัปดาห์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยพากันเข้าวัดทำบุญ ถือศีล ฟังเทศน์ ยึดหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ในการทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว

ละเว้นซึ่งความเสื่อมทั้งปวง

เป็นช่วง 2–3 วันที่เสียงเจี๊ยวจ๊าว ปมวุ่นวายทางการเมืองสงบลงตามบรรยากาศ

แต่นั่นก็แค่ชั่วขณะเท่านั้น เพราะโดยเงื่อนไขสถานการณ์ที่ไหลมาอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จุดเปลี่ยนสำคัญของกระบวนการโรดแม็ปในห้วงปฏิรูป

“นักอำนาจนิยม” ต้องขยับกันตามจังหวะ

โดยเฉพาะวันที่ 4 กรกฎาคม ครบกำหนด 90 วันของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ตามบท บัญญัติที่บังคับไว้ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี และกรรมการผู้มีตำแหน่งใน คสช.

ไฟต์บังคับทีมงานแม่น้ำ 5 สาย ที่มีเป้าประสงค์จะลงสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป ต้องลาออกจากตำแหน่งภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นก็ฟาวล์

ตามปรากฏการณ์ที่ สปท.25 คนร่อนใบลาออกก่อนครบกำหนดวาระในวันที่ 31 กรกฎาคม

ซึ่งส่วนใหญ่แสดงตัวชัดเจนว่า ทั้งกลับไปสังกัดป้อมค่ายเก่า หรือเดินสายหาแนวร่วมตั้งพรรคการเมืองใหม่ในการลงสนามเลือกตั้งรอบต่อไป

เปิดตัวกันโต้งๆ ไม่ต้องเม้ม ไม่ต้องกั๊ก

และก็ถือว่าชัดเจนโดยอัตโนมัติ ในส่วนของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ที่ต้องหมดสิทธิลงสนามเลือกตั้งแน่นอน

เพราะไม่ได้ลาออกตามเส้นตาย เดดไลน์รัฐธรรมนูญ

จบข่าวเรื่องลงสมัคร ส.ส. แต่ไม่เคลียร์ในมุมของนายกรัฐมนตรีคนนอก

ในอารมณ์ที่ผู้นำรัฐบาลทหาร คสช.ออกอาการฉุนเฉียว หงุดหงิด หัวร้อนทุกครั้งที่โดนนักข่าวจี้ถามรายวันเรื่องความชัดเจนอนาคตการเมือง

แต่เรื่องของเรื่อง “บิ๊กตู่” ก็ไม่ยืนยันว่าจะไม่รับเทียบเชิญเบิ้ลเก้าอี้นายกฯอีกรอบ

ไม่ตอบให้เป็นเงื่อนไขมัดคอตัวเอง

แม้จะเป็นเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ฟันธงคำตอบสุดท้ายกันไปแล้วก็ตาม แนวโน้มแบบที่เชื่อขนม กินได้ นายกฯคนต่อไปยังไงก็ไม่น่าพลาดไปจาก พล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม โดยโหมดเลือกตั้งเริ่มมีสีสัน

ตามเงื่อนเวลารัฐธรรมนูญบังคับทีมงานแม่น้ำ 5 สายให้ลาออกมาเตรียมตัวลงสนาม แต่กระบวนการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังวนอยู่กับที่

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ยังวุ่นวายไม่เลิกจากปม “เซ็ตซีโร่” กกต.ที่ยังคงมีการยื้อยุดฉุดกระชาก ลากไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

ตามอาการแบบที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. อุบไต๋เป็นอาวุธลับในการสู้เกมล้างกระดาน ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแง่ตีกัน กกต.ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่ได้บังคับใช้

ต่างฝ่ายต่างดื้อแพ่ง ไม่มีใครยอมใคร

โดยรูปการณ์เมื่อเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ยังไงก็ต้องกระทบเวลาตามโรดแม็ป

แนวโน้มคิวเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปแน่

และในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงแสดงความขอบคุณ สปท. โดยในงานจะมีผู้เข้าร่วมงานทั้ง คสช. ครม. สนช. สปท. และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

น่าจะถือโอกาสเคลียร์ปมขัดแย้ง เหยียบตาปลากันในหมู่ทีมงานแม่น้ำ 5 สาย

เพราะปล่อยไปอาจจะกระทบกับเป้าหมายการปฏิรูปที่วางไว้

ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาล คสช.ต้องเจอกับจังหวะสะดุดในการบริหารอำนาจพิเศษเป็นช่วงๆ ล่าสุดกรณีพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือ “พ.ร.ก.ต่างด้าว” ที่ต้องเจอปัญหาชักเข้าชักออก

ต้องงัดมาตรา 44 มายืดระยะการบังคับใช้ไปอีก 180 วัน

เพราะโดนกระแสต่อต้าน เสียงคัดค้านจาก

ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ โวยวายขาดแคลนแรงงาน จากการที่คนงานพม่า กัมพูชา ลาว หนีกลับประเทศกันหมด

ตามปรากฏการณ์สะท้อนภาวะที่ขัดแย้งกัน ระหว่างความเป็นจริงในทางปฏิบัติกับกฎหมายที่เดินตามแนวทางการปฏิรูปประเทศในระยะยาว

ผลจากการปล่อยปละละเลยกันมานาน จนยากต่อการแก้ไข

แต่ปมของแรงงานต่างด้าวว่ายากแล้ว ก็ยัง ไม่หินเท่ากระบวนการปฏิรูปตำรวจ

ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน

ตามโครงสร้างกรรมการทั้งหมด 36 คน โดยประธานเป็นคนที่ไม่ใช่ตำรวจ มีข้าราชการโดยตำแหน่ง 5 คน กรรมการอีก 30 คน แบ่งเป็นข้า-ราชการตำรวจ 15 คน และไม่ใช่ตำรวจ 15 คน

เป็นภาคบังคับตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องดำเนินการภายใน 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้
เริ่มกระบวนการผ่าตัดใหญ่วงการสีกากี

เบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์การันตีเอง พล.อ.บุญสร้างไว้ใจได้ เพราะเป็นอาจารย์ของตนเอง

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เชื่อว่า ภายในเวลา 9 เดือนจะเห็นผลในดำเนินการ แม้จะไม่ถึงขั้นพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือ แต่ทุกอย่างต้องดีขึ้น

ถือเป็นการแสดงให้เห็นความพยายามของรัฐบาล คสช.ในการเดินหน้าปฏิรูปตำรวจ

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ดักคอตั้งแต่เริ่มต้น คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแต่เต็มไปด้วยตำรวจ เสือไม่กินเนื้อเสือ จะกล้าทุบหม้อข้าวพวกเดียวกันเองหรือไม่

โห่กันตั้งแต่คณะกรรมการฯยังไม่เริ่มทำงาน

ตามธรรมชาติของตำรวจไทยที่มีโจทก์เยอะแยะไปหมด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในบรรดาพวกที่ออกโจมตีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาล คสช. ก็ล้วนแต่คุ้นหน้าขาประจำ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการชื่อดังอย่างนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ที่มีเรื่อง


ฟ้องร้องกันอยู่ในคดีหมิ่นประมาทสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หรือนักการเมือง ทีมงาน กปปส.อย่างนายวิทยา แก้วภราดัย นายถาวร เสนเนียม ก็เพิ่งมีเรื่องแฉโพยการซื้อขายเก้าอี้ตำรวจ แล้วโดนสวนกลับว่าฝากเด็กในพื้นที่ไม่ได้ เลยออกมาประจาน

โดยรูปการณ์ก็ยังเป็นเรื่องของการจองกฐิน แฝงวาระอคติส่วนตัว

แต่ทั้งหมดทั้งปวง สิ่งที่รัฐบาล คสช.ต้องคำนึงถึงจริงๆมันอยู่

ที่ภาพรวมของการปฏิรูปทั้งระบบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปฏิรูปตำรวจคือเงื่อนไขสำคัญอันจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปฏิรูประบบราชการของประเทศไทย

ต้องไม่ลืมว่า ตำรวจเป็นจุดเริ่มของความขัดแย้งที่นำมาซึ่งวิกฤติแตกแยกในชาติอย่างรุนแรง

เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกมองว่าผิดรูปผิดร่าง ไม่ได้มาตรฐาน

นำมาซึ่งวิกฤติศรัทธา สังคมเริ่มขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากสังคมดังกระหึ่มมาอย่างต่อเนื่อง ไม่อย่างนั้นคงไม่ต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ บังคับให้ปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี

ตามเงื่อนไขสถานการณ์ การ “คิกออฟ” ปฏิรูปตำรวจคือจุดประกายความหวัง เป็นจุดชี้วัดอนาคตของการปฏิรูปประเทศ ภารกิจเดิมพันที่รัฐบาล คสช.ทำสัญญาประชาคมไว้

“ท่าดี” แล้ว ถ้าผลออกมากลายเป็น “ทีเหลว”

ปฏิรูปตำรวจยังทำแบบลูบหน้าปะจมูก ไม่กล้าลงลึกรายละเอียดกันอย่างจริงๆจังๆ ทั้งเรื่องของการป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง การปิดช่องให้ตำรวจรีดไถ เก็บส่วยจากบ่อน ซ่อง ธุรกิจมืด ฯลฯ

การปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องหวังกระบวนการยุติธรรมจะทำให้สังคมกลับมาเชื่อมั่นได้

นั่นหมายถึงปฏิรูปจุดไม่ติด

ความหวังปฏิรูปทุกอย่างก็ส่อเค้าเหลวตั้งแต่เริ่มต้น.
“ทีมการเมือง”