PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รับเพื่อความสงบ? ทายท้าวิชามาร

ใบตองแห้ง
นักธุรกิจบางราย ออกมาเปิดตัวว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ “เพื่อให้บ้านเมืองสงบ” ฟังแล้วตลก พร้อมน่าสมเพช แม้ไม่แน่ใจว่าพูดเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจหรือเปล่า
ก็เข้าใจนะครับ ภาคธุรกิจไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย ต้องการความสงบ เพื่อทำมาหากิน ผมเข้าใจดีว่าคนทำมาค้าขายพึงพอใจบรรยากาศทางการเมืองใน 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่านี่คือความสงบชั่วคราว รอวันปะทุ
คนส่วนหนึ่งคิดเอาง่ายๆ อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เพราะกลัวจะมีการลุกฮือไล่ คสช. หรือกลัวบรรยากาศการเมืองกระทบความเชื่อมั่น เศรษฐกิจกำลังจะฟื้น หยวนๆ ยอมๆ กันดีกว่า ไม่แปลกอะไรนี่คือนิสัยคนไทยที่ชอบผลักภาระไปข้างหน้า
โดยไม่ยักมองว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ไม่รับ ภาคประชาสังคม NGO ไม่เอา จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ไง นำไปสู่ความสงบได้ไง
ย้อนคิดง่ายๆ สมมติประชามติครั้งนี้เปิดให้มีดีเบตรณรงค์เหมือนปี 2550 คุณว่าจะผ่านไหม ครั้งนั้นมีแค่พรรคไทยรักไทยกับผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง กรธ.ชูจุดขาย “รับรัฐธรรมนูญเลือกตั้งเร็ว” “รับไปก่อนแก้ทีหลัง” ก็ยังชนะกัน 14.7 ต่อ 10.7 ล้านเสียง ครั้งนี้เพิ่มพรรคประชาธิปัตย์ครึ่งพรรค เพิ่ม NGO อีกหลากหลาย เพียงแต่ฝ่ายไม่รับเสียเปรียบเพราะถูกปิดกั้นมีข้อห้ามเอาผิดกันมากมาย
ถ้าประชามติผ่านเพราะคนไม่เข้าใจ หรือผ่านเพราะคนลงประชามติใต้บรรยากาศหวาดกลัว แม้ผ่านได้ก็กลายเป็นพันธนาการนำไปสู่ความขัดแย้งที่แรงขึ้น
อย่าลืมนะครับ ปี 50 มีพรรคไทยรักไทยค้านอยู่กลุ่มเดียว ก็ยังวุ่นวายจนเกิดรัฐประหารใหม่ ครั้งนี้มีทั้งเพื่อไทย ปชป. ไม่นับภาคประชาสังคมที่คนต่างสียังเห็นตรงกัน แล้วมันจะสงบได้ไง แน่ละ ตราบใดที่มี ม.44 คสช.ก็ยังคุมอำนาจได้ แต่จะไปสู่เลือกตั้ง จะมีรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้อย่างไร ในสถานการณ์ที่คนไม่เห็นด้วยมีมากขึ้นทุกที
แน่ละ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ไม่สงบหรอก ต่อให้ผู้นำบอกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร โหวตแล้วกลับบ้านไปดูหนังดูละคร แต่ความจริงก็รู้แก่ใจ เสถียรภาพไม่เหมือนเดิม แม้กองทัพเป็นปึกแผ่น ยังไม่มีใครล้มได้ แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทางลงจากอำนาจ จะลำบากยากเย็น เว้นแต่จะหันกลับมา “ปรองดอง” หาทางออกร่วมกับทุกฝ่าย
แน่ละ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะปั่นป่วนระลอกใหญ่ เพราะต้องเกิดการเจรจาต่อรอง เรียกร้อง กดดัน ไปสู่การจัดระเบียบอำนาจในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ฝ่ายต่างๆ ยอมรับได้มากขึ้น แต่ถามว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายจนแตกหักหรือไม่ ยังหรอกครับ เพราะแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายยังไม่มีพลังพอจะเอาชนะกัน ภายใต้อำนาจกองทัพที่เป็นเอกภาพกว่า
เอ๊ะ พูดอย่างนี้แปลว่าเลือกทางไหนก็ไม่สงบ ใช่เลย ประชามติ 7 สิงหา มองอีกมุมคือจุดเปลี่ยนสถานการณ์ จุดเปลี่ยนขั้วแยกขั้วใหม่ ไม่มีทางเป็น“ประชามติรวมใจ” เพราะมีทางออกแค่ 2 ทาง
ร่างรัฐธรรมนูญผ่านคือระบอบอำนาจวันนี้ชนะ สามารถวางกฎเหล็กคุมประเทศอย่างน้อย 5 ปี แต่ก็ต้องเผชิญพลังต่อต้านที่กว้างขวางขึ้น ไม่มีทางกลับสู่สถานการณ์ปกติ ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านคือระบอบอำนาจวันนี้เพลี่ยงพล้ำ ต้องถูกกดดัน ให้ยอมหาทางออกร่วมกัน ซึ่งไม่ง่าย
ไม่ว่าอย่างไร “ความสงบชั่วคราว” ก็ใกล้ถึงจุดจบ อยู่ที่จะเลือกอย่างไรให้เห็นความสงบยั่งยืนในอนาคต

สุธาขัย ยิ้มประเสริฐ: โปรดระวังรัฐธรรมนูญของแท้

สุธาขัย ยิ้มประเสริฐ: โปรดระวังรัฐธรรมนูญของแท้



ในระยะที่ผ่านมา ฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการเลือกตั้ง กำลังลาติดตามจับและเอาผิดร่างรัฐธรรมนูญปลอมอย่างดุเดือด กล้า สมุทวณิช จึงได้เขียนเรื่อง “โปรดระวังของแท้” ขึ้นมาเสียดสี เพื่อแสดงถึงภัยจาก “ของแท้” ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ดีว่า ภัยร้ายของประชาธิปไตยไทย ไม่ได้มาจาก “รัฐธรรมนูญปลอม” ตามที่แกล้งว่ากัน แต่มาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง ที่มาจากคณะกรรมการร่างชุดเผด็จการของนายมีชัย ฤชุพันธ์
เมื่อมองไปที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับของแท้ที่จะนำมาสู่การลงประชามติ จะพบว่า มีประเด็นสำคัญอยู่หลายจุดที่สะท้อนลักษณะอำนาจนิยม แต่ที่อยากจะเล่าถึงในที่นี้คือ เรื่องการให้อำนาจล้นฟ้าแก่ศาลรัฐธรรมนูญ เหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหาร โดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนเลย สถานะที่ศาลรัฐธรรมมนูญจะกลายเป็นกลไกสูงสุด เช่น
สมมติว่าบ้านเมืองเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตามแบบประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบ้านเมืองเกิดวิกฤต แล้วไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญจะมาบังคับใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ตามมาตรา 5 ของร่างฉบับมีชัย ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดประชุมประมุขฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และประธานองค์กรอิสระทั้งหลายเพื่อวินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุดมีผลผูกพันทุกองค์กร อ่านดูแล้วอาจจะไม่แปลก แต่ถ้าพิจารณาจะเห็นว่า เสียงข้างมากของที่ประชุมเพื่อแก้วิกฤตมาจากฝ่ายศาล และคำวินิจฉัยก็มาจากศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง และจากบทเรียนที่ผ่านมาในสังคมไทย จะเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองขั้นวิกฤตนั้น สร้างขึ้นได้ หรือถ้าไม่วิกฤต ศาลรัฐธรรรมนูญก็ตีความให้วิกฤตได้ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญข้อนี้จึงยิ่งใหญ่มาก
ในกรณีที่บ้านเมืองยังไม่เกิดวิกฤต โดยที่รัฐบาลยังบริหารบ้านเมืองปกติ แต่อาจจะมีพวกสลิ่มเสื้อเหลืองบางกลุ่มไม่พอใจนโยบายบางอย่าง หรืออาจเกิดกรณีที่สภานิติบัญญัติยื่นญัตติของแก้ไขรัฐธรรมนูญ (เช่น แก้ไขให้ยุบทิ้งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น) พวกสลิ่มเสื้อเหลืองอาจจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติ “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ตามมาตรา 49 ของร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนแบบนี้ได้โดยตรง ไม่ต้องมีองค์กรกลั่นกรอง และสามารถใช้อำนาจสั่งให้รัฐบาลหรือรัฐสภาเลิกการดำเนินการเช่นนั้นได้ทันที ดังนั้น พอเพียงให้มีบุคคลไปยื่น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นอำนาจสูงสุด ควบคุมนโยบายของรัฐบาล และควบคุมการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติได้ทันที
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังทึกทักเอาว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องประกอบด้วยคนดี มีจริยธรรมสูงส่ง จึงกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันเขียน "มาตรฐานทางจริยธรรม" ให้เสร็จภายในหนึ่งปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว มีกรอบความคิดแบบนามธรรม เช่นระบุว่า “ต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ” อำนาจในการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ สอดคล้องกับการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีคนใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 คือ คือ ไม่มีความ "ซื่อสัตย์สุจริต" และ "มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” รัฐมนตรีผู้นั้นก็จะถูกถอนถอนและลงโทษ หมายถึงว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจอย่างมากในการควบคุมชี้เป็นชี้ตายบุคคลากรทางการเมือง เพราะสิ่งที่เห็นได้คือ ข้อกล่าวหาเป็นนามธรรม การพิจารณาจากหลักฐานและกระบวนการจึงเป็นการยาก (เช่น จะเอาหลักฐานอย่างไรมาพิจสูจน์การผิดจริยธรรม) การลงโทษหรือไม่ลงโทษจึงขึ้นกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อกล่าวหาลักษณะนี้ยังมีต่อในมาตรา 144 ที่เสนอว่า ส.ส. และ ส.ว. จะเสนอแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ใช้งบประมาณรายจ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนทำตัวไม่ได้ และถ้า ครม. หรือ กรรมาธิการมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การอนุมัติให้กระทําการหรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ก็จะมีความผิดไปด้วย กรณีนี้ก็เช่นกัน มีการใช้ข้อความที่คลุมเรือ เช่น “ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม” เพื่อเปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจ ซึ่ง ส.ส. ส.ว. หรือ ครม. ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย
จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจตรวจสอบแบบล้นฟ้า แต่ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์อีก 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากส่วนราชการอีก 2 คน เท่ากับตุลาการศาลทั้งคณะ มาจากศาลและระบบราชการ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาชนเลย
สรุปแล้ว เอาเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องเดียว ร่างรัฐธรรมนูญของแท้ก็อันตรายมากแล้ว นี่ยังไม่ต้องพิจารณาเรืองอื่น เช่น ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ส.ส.เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมเพื่อให้โอกาสพรรคที่แพ้เลือกตั้ง หรือการสอดใส่เรื่องการนิรโทษกรรมตลอดกาลให้กับทหารที่ก่อการรัฐประหาร ฯลฯ
และนี่เป็นเหตุผลแห่งการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของแท้ฉบับมีชัย

0000

คอนเสิร์ตวันเกิดป๋า โดย สุกรี เจริญสุข

วันที่ 26 สิงหาคม (พ.ศ.2463) เป็นวันเกิดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย (พ.ศ.2523-2531) ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ท่านมีอายุครบ 8 รอบ (96 ปี) ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี มีความจำเป็นเยี่ยม มีสมองเป็นเลิศ ช่วยตัวเองได้ เดินตัวตรง เป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้พบเห็นมีความศรัทธาในการดำเนินชีวิต เพราะความเชื่อว่าการได้พบผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีบุญ เสมือนได้พบกับพระ อนุโมทนาสาธุที่ได้พบคนแก่

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนที่มีระเบียบมีวินัยในการดูแลร่างกาย ดูแลตัวเอง เชื่อฟังปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เป็นคนแก่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดูแลเรื่องอาหารการกิน ดูแลการพักผ่อน “นอนอิ่มดีกว่ากินอิ่ม” และท่านออกกำลังกายทุกวัน ท่านเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ มีหลักการที่มั่นคง พูดน้อย แต่เมื่อพูดแล้ว “คำไหนคำนั้น” ที่สำคัญก็คือ เป็นสุภาพบุรุษ
“ป๋า” ไม่ได้เป็นคำไทย มาจากไหนก็ไม่รู้ ที่รู้น่าจะมาจากภาษาจีนก็แปลว่า “พ่อ” บางครั้งก็ใหญ่กว่าพ่อเสียอีก เพราะเป็นเจ้าพ่อ หรือเป็นผู้ที่มีอำนาจ สมัยที่มีดนตรีเล่นในบาร์ ในไนต์คลับ ตามภัตตาคาร อาบอบนวด หรืองานกลางคืน (พ.ศ.2510-2530) เด็กเสิร์ฟ เด็กที่ดูแลการจอดรถก็จะเรียกเจ้าของรถที่เป็นลูกค้าผู้ชายว่า “ป๋า” เรียกแขกที่มาเที่ยวบาร์ว่า “ป๋า” เพราะหวังว่าจะได้เงินค่าจอดรถแถมเงินค่าทิปพิเศษ คำว่าป๋าจะถูกใช้มากในหมู่ของคนทำงานกลางคืน งานรับบริการ งานในหมู่นักการพนัน และในหมู่ของนักเลง สรุปว่า “ป๋า” เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกผู้ชายสูงวัยในพื้นที่อโคจร หรือในพื้นที่มืด หรือพื้นที่สีเทา
“ป๋าเปรม” เป็นสุภาพบุรุษที่เรียกตัวเองว่า “ป๋า” เมื่อท่านได้รับยศเป็นพลตรี ตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า (พ.ศ.2511) ท่านมักจะเรียกตัวเองว่า “ป๋า” ต่อผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ป๋าเปรม” คนใกล้ชิดหรือคนสนิทก็จะถูกเรียกว่า “ลูกป๋า” ทำให้คำว่า “ป๋า” เปลี่ยนไปจากความหมายที่อยู่ในที่มืดหรือสีเทา เป็นศัพท์ที่อยู่ในพื้นที่สว่างแทน “ป๋า” จึงเป็นผู้สูงอายุที่มีบารมี มีความน่าศรัทธา น่าเกรงขาม และน่าเลื่อมใส
ป๋าเปรมท่านเป็นคนชอบดนตรีมาก ท่านเคยปรารภเรื่องความสำคัญของชีวิตที่มีอยู่ว่า “ชีวิตที่เหลืออยู่มีเพียง 2 อย่างคือ ปกป้องพระราชบัลลังก์และดนตรี” ท่านชอบร้องเพลง ชอบเล่นดนตรี และให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรีอย่างต่อเนื่อง ท่านชอบฟังดนตรีโดยเฉพาะเปียโน ท่านได้สั่งไว้เสมอๆ ว่า เมื่อใดที่มีรายการเปียโนให้บอกด้วย เพราะว่าอยากฟังคนเล่นเปียโน
สำหรับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับดนตรีนั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันหลายอย่าง ท่านเป็นคนที่ชอบร้องเพลง ท่านมีน้ำเสียงที่ดี ท่านยังให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรี นักเรียนดนตรีและนักร้อง ต่อมาท่านก็เรียนเปียโนด้วยความตั้งใจ ซื้อเปียโนมาไว้ในบ้าน ให้ครูสอนเปียโนมาสอนประจำ ฝึกซ้อมเล่นเปียโนอย่างมีวินัย เอาจริงเอาจัง หลังจากนั้นก็เริ่มแต่งเพลง โดยเรียนวิธีการแต่งเพลงเพิ่มเติม
ความชอบดนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำให้บทบาทวงดนตรีของกรมดุริยางค์ทหารบกโดดเด่น วงดนตรีกองทัพบกได้นำบทเพลงของท่านไปแสดงในโอกาสต่างๆ และมีรายการแสดงบทเพลงของท่านประจำปี ผลพลอยได้ทำให้กิจกรรมดนตรีของกรมดุริยางค์ทหารบกได้รับการสนับสนุนมาก นักดนตรีกองทัพก็มีกำลังใจ
การสนับสนุนการศึกษาดนตรีนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้ให้ทุนการศึกษาทุนเรียนดนตรีแก่นักเรียนกรมดุริยางค์ทหารบกตลอดมา ส่งเสริมให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโททางด้านดนตรี กระทั่งกองทัพบกได้เห็นความสำคัญของดนตรี จึงได้ขยาย “กองดุริยางค์” ให้เป็น “กรมดุริยางค์” ของกองทัพบก โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับกรม มีชั้นยศเป็นนายพลตรี ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้แก่นักดนตรีในกรมดุริยางค์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้มีเพียงกรมเดียวในกองทัพไทยที่เป็นกรมดุริยางค์ เกิดขึ้นในกองทัพบก
ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้ให้การสนับสนุนจัดตั้งทุนการศึกษาด้านดนตรี โดยผ่าน “กองทุนเปรมดนตรี” เพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีความสามารถแต่ขาดทุนทรัพย์ และใช้ทุนในการจัดกิจกรรมดนตรีต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เด็กที่ยากจนได้เรียนดนตรี เด็กที่ด้อยโอกาส และจัดกิจกรรมดนตรีให้เด็กได้สัมผัสกับดนตรีดีๆ ให้เด็กได้คิดทำสิ่งที่ดีในชีวิต
ในโอกาสที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีอายุครบ 8 รอบ (96 ปี) ในเดือนสิงหาคม 2559 นี้ ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ถือโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงเปียโน เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกในวันคล้ายวันเกิด โดยเชิญนักเปียโนที่มีฝีมือสุดยอดเท่าที่จะชักชวนได้ (ในเวลาอันสั้น) ซึ่งเป็นนักเปียโนที่ท่านชื่นชอบ นักเปียโนเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวม 8 รายการด้วยกัน มีเพลงแถมอีก 1 รายการ เป็นรายการที่ 9 เพื่อให้เป็นนิมิตใหม่ของการเริ่มก้าวเข้าสู่รอบที่ 9 ของชีวิต
สำหรับนักเปียโนที่ขอเชิญเพื่อร่วมแสดงในแต่ละรายการนั้น แต่ละท่านเป็นนักเปียโนที่มีฝีมือ มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามผลงาน มีมิตรรักแฟนเพลง มีลูกศิษย์ผู้ติดตามจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือ เป็นนักเปียโนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านชื่นชอบในฝีมือ ทั้งนักเปียโนรุ่นใหญ่และนักเปียโนรุ่นใหม่
ดร.เบนเน็ทท์ เลอร์เนอร์ เป็นนักเปียโนที่มีชื่อเสียงมาก มีลูกศิษย์มากมาย แม้จะเก็บตัวเงียบๆ อยู่ที่เชียงใหม่ ท่านจะเล่น 2 เพลงของเดอบุซซี (Debussy: Estampes (Pagodes), Golliwogg’s Cakewalk)
คนที่สอง ศาสตราจารย์แอเรนส์ รอล์ฟ เดียทเทอร์ เป็นอดีตอธิการบดีสถาบันดนตรีที่เมืองไวมาร์ เยอรมนี จะเล่นเพลงของวากเนอร์ (Wagner/Liszt: Rienzi paraphrase)
ดร.เอริ นาคากาว่า อาจารย์ชาวญี่ปุ่น ปักหลักสอนเปียโนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาตั้งแต่เริ่มตั้งวิทยาลัย เธอเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงระบบการเรียนดนตรีโดยเฉพาะเปียโนในเมืองไทย ทำให้เด็กไทยแข็งแรงมากขึ้น ที่สำคัญก็คือทำให้การศึกษาดนตรีแข็งแรงขึ้นด้วย ครั้งนี้เธอจะเล่นเพลงของโชแปง (Frederic Chopin: Barcarolle, Op. 60)
ณัฐ ยนตรรักษ์ ถือว่าเป็นนักเปียโนคนไทยที่ได้สร้างปรากฏการณ์ไว้มากพอสมควร เรียนสถาปัตยกรรมมาก่อน แล้วหันเหชีวิตมาเรียนดนตรีอย่างจริงจัง เป็นนักเปียโนที่ได้แสดงผลงานไว้มากมายทั้งในและต่างประเทศ เป็นนักประพันธ์เพลง เป็นครูเปียโนให้กับ พล.อ.เปรมด้วย วันนี้ก็จะเล่นเพลงกลิ่นนาง ผลงานของ พล.อ.เปรม
อาร์ตัส เบลาเคาสคัส กับอินทุอร ศรีกรานนท์ เปียโนคู่ (Piano Duet) ผลงานเพลงของราเวล (Maurice Ravel: La Valse) ทั้งคู่เป็นนักเปียโนรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงมาก ได้แสดงเปียโนคู่ร่วมกันเป็น 10 ปี ซึ่งได้สร้างสีสันให้แก่วงการดนตรีเปียโนเป็นอย่างมาก
คริสโตเฟอร์ จันวอง แมคคิแกน เกิดที่อังกฤษ เป็นนักเปียโนรุ่นใหม่ แม่เป็นคนไทย พ่อเป็นชาวอังกฤษ เรียนเปียโนจากพ่อตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เมื่ออายุได้ 7 ขวบก็ย้ายมาอยู่เมืองไทย เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ขณะนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ ครั้งนี้ก็จะแสดงผลงานของ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ (Three minds; Fierce, Hesitant) และชูมันน์ (Schumann/Liszt: Widmung)
ภูมิ พรหมชาติ เป็นนักเปียโนรุ่นใหม่ชาวไทยอีกคนหนึ่ง ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากเมืองไทย ต่อมาได้ศึกษาต่อที่สถาบันดนตรีนานยาง สิงคโปร์ ได้รับทุนเพื่อไปศึกษาต่อที่ราชวิทยาลัยดนตรีในประเทศอังกฤษ โดยได้รับการอุปการะทุนจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำหรับภูมิ พรหมชาติ ได้ผ่านการแข่งขันเปียโนหลายเวที เป็นที่รู้จักและได้รับเชิญไปแสดงทั้งในยุโรปและเอเชีย ครั้งนี้ก็จะเล่นเพลงของไครสเลอร์ (Kreisler/Rachmaninoff: Liebesfreud)
ดร.พรพรรณ บรรเทิงหรรษา เป็นนักเรียนเปียโนรุ่นใหม่ ได้รับทุนดนตรีคลาสสิกในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปเรียนดนตรี (เปียโน) ที่สถาบันดนตรีในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วไปเรียนการประพันธ์เพลงและเปียโนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐ เธอเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐ ครั้งนี้เธอจะเล่นผลงานเพลงของไฮเดิน (Joseph Haydn: Piano Sonata in C Major Hob. XVI: 50)
รายการสุดท้าย สุวิดา เนรมิตอร่าม (เปียโน) นักเปียโนรุ่นใหม่ ยังเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอยู่ ซึ่งจะเล่นคู่กับตปาลิน เจริญสุข นักเชลโล ในผลงานของรัคมานินอฟ (Rachmaninoff: Andante from Cello Sonata) และผลงานเพลงของราเวล (Maurice Ravel: Alborada del gracioso from Miroirs)
ทุกรายการ เชื่อว่าจะสร้างสีสันทางดนตรีและมอบความสุขให้แก่ผู้ฟังได้มากพอสมควร
การจัดแสดงเปียโนครั้งนี้ได้เชิญนักเปียโนที่มีชื่อเสียงทุกรุ่น เพื่อเป็นของขวัญให้แก่บุคคลสำคัญของไทย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับดนตรี เพราะดนตรีได้สร้างความอบอุ่นให้แก่ชีวิต ทำให้ผู้ฟังได้สัมผัสว่า ดนตรีทำให้ชีวิตมีความงดงามได้อย่างไร ดนตรีจะช่วยชีวิตมนุษย์ให้มีความหวังได้อย่างไร อย่างน้อยๆ ดนตรีจะช่วยให้มนุษย์ไทยได้รู้จักฟังคนอื่นมากขึ้น เป็นผู้ฟังที่ดี ฝึกการใช้หูฟังดนตรีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย