PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คอนเสิร์ตวันเกิดป๋า โดย สุกรี เจริญสุข

วันที่ 26 สิงหาคม (พ.ศ.2463) เป็นวันเกิดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย (พ.ศ.2523-2531) ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ท่านมีอายุครบ 8 รอบ (96 ปี) ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี มีความจำเป็นเยี่ยม มีสมองเป็นเลิศ ช่วยตัวเองได้ เดินตัวตรง เป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้พบเห็นมีความศรัทธาในการดำเนินชีวิต เพราะความเชื่อว่าการได้พบผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีบุญ เสมือนได้พบกับพระ อนุโมทนาสาธุที่ได้พบคนแก่

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนที่มีระเบียบมีวินัยในการดูแลร่างกาย ดูแลตัวเอง เชื่อฟังปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เป็นคนแก่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดูแลเรื่องอาหารการกิน ดูแลการพักผ่อน “นอนอิ่มดีกว่ากินอิ่ม” และท่านออกกำลังกายทุกวัน ท่านเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ มีหลักการที่มั่นคง พูดน้อย แต่เมื่อพูดแล้ว “คำไหนคำนั้น” ที่สำคัญก็คือ เป็นสุภาพบุรุษ
“ป๋า” ไม่ได้เป็นคำไทย มาจากไหนก็ไม่รู้ ที่รู้น่าจะมาจากภาษาจีนก็แปลว่า “พ่อ” บางครั้งก็ใหญ่กว่าพ่อเสียอีก เพราะเป็นเจ้าพ่อ หรือเป็นผู้ที่มีอำนาจ สมัยที่มีดนตรีเล่นในบาร์ ในไนต์คลับ ตามภัตตาคาร อาบอบนวด หรืองานกลางคืน (พ.ศ.2510-2530) เด็กเสิร์ฟ เด็กที่ดูแลการจอดรถก็จะเรียกเจ้าของรถที่เป็นลูกค้าผู้ชายว่า “ป๋า” เรียกแขกที่มาเที่ยวบาร์ว่า “ป๋า” เพราะหวังว่าจะได้เงินค่าจอดรถแถมเงินค่าทิปพิเศษ คำว่าป๋าจะถูกใช้มากในหมู่ของคนทำงานกลางคืน งานรับบริการ งานในหมู่นักการพนัน และในหมู่ของนักเลง สรุปว่า “ป๋า” เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกผู้ชายสูงวัยในพื้นที่อโคจร หรือในพื้นที่มืด หรือพื้นที่สีเทา
“ป๋าเปรม” เป็นสุภาพบุรุษที่เรียกตัวเองว่า “ป๋า” เมื่อท่านได้รับยศเป็นพลตรี ตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า (พ.ศ.2511) ท่านมักจะเรียกตัวเองว่า “ป๋า” ต่อผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ป๋าเปรม” คนใกล้ชิดหรือคนสนิทก็จะถูกเรียกว่า “ลูกป๋า” ทำให้คำว่า “ป๋า” เปลี่ยนไปจากความหมายที่อยู่ในที่มืดหรือสีเทา เป็นศัพท์ที่อยู่ในพื้นที่สว่างแทน “ป๋า” จึงเป็นผู้สูงอายุที่มีบารมี มีความน่าศรัทธา น่าเกรงขาม และน่าเลื่อมใส
ป๋าเปรมท่านเป็นคนชอบดนตรีมาก ท่านเคยปรารภเรื่องความสำคัญของชีวิตที่มีอยู่ว่า “ชีวิตที่เหลืออยู่มีเพียง 2 อย่างคือ ปกป้องพระราชบัลลังก์และดนตรี” ท่านชอบร้องเพลง ชอบเล่นดนตรี และให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรีอย่างต่อเนื่อง ท่านชอบฟังดนตรีโดยเฉพาะเปียโน ท่านได้สั่งไว้เสมอๆ ว่า เมื่อใดที่มีรายการเปียโนให้บอกด้วย เพราะว่าอยากฟังคนเล่นเปียโน
สำหรับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับดนตรีนั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันหลายอย่าง ท่านเป็นคนที่ชอบร้องเพลง ท่านมีน้ำเสียงที่ดี ท่านยังให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรี นักเรียนดนตรีและนักร้อง ต่อมาท่านก็เรียนเปียโนด้วยความตั้งใจ ซื้อเปียโนมาไว้ในบ้าน ให้ครูสอนเปียโนมาสอนประจำ ฝึกซ้อมเล่นเปียโนอย่างมีวินัย เอาจริงเอาจัง หลังจากนั้นก็เริ่มแต่งเพลง โดยเรียนวิธีการแต่งเพลงเพิ่มเติม
ความชอบดนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำให้บทบาทวงดนตรีของกรมดุริยางค์ทหารบกโดดเด่น วงดนตรีกองทัพบกได้นำบทเพลงของท่านไปแสดงในโอกาสต่างๆ และมีรายการแสดงบทเพลงของท่านประจำปี ผลพลอยได้ทำให้กิจกรรมดนตรีของกรมดุริยางค์ทหารบกได้รับการสนับสนุนมาก นักดนตรีกองทัพก็มีกำลังใจ
การสนับสนุนการศึกษาดนตรีนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้ให้ทุนการศึกษาทุนเรียนดนตรีแก่นักเรียนกรมดุริยางค์ทหารบกตลอดมา ส่งเสริมให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโททางด้านดนตรี กระทั่งกองทัพบกได้เห็นความสำคัญของดนตรี จึงได้ขยาย “กองดุริยางค์” ให้เป็น “กรมดุริยางค์” ของกองทัพบก โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับกรม มีชั้นยศเป็นนายพลตรี ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้แก่นักดนตรีในกรมดุริยางค์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้มีเพียงกรมเดียวในกองทัพไทยที่เป็นกรมดุริยางค์ เกิดขึ้นในกองทัพบก
ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้ให้การสนับสนุนจัดตั้งทุนการศึกษาด้านดนตรี โดยผ่าน “กองทุนเปรมดนตรี” เพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีความสามารถแต่ขาดทุนทรัพย์ และใช้ทุนในการจัดกิจกรรมดนตรีต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เด็กที่ยากจนได้เรียนดนตรี เด็กที่ด้อยโอกาส และจัดกิจกรรมดนตรีให้เด็กได้สัมผัสกับดนตรีดีๆ ให้เด็กได้คิดทำสิ่งที่ดีในชีวิต
ในโอกาสที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีอายุครบ 8 รอบ (96 ปี) ในเดือนสิงหาคม 2559 นี้ ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ถือโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงเปียโน เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกในวันคล้ายวันเกิด โดยเชิญนักเปียโนที่มีฝีมือสุดยอดเท่าที่จะชักชวนได้ (ในเวลาอันสั้น) ซึ่งเป็นนักเปียโนที่ท่านชื่นชอบ นักเปียโนเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวม 8 รายการด้วยกัน มีเพลงแถมอีก 1 รายการ เป็นรายการที่ 9 เพื่อให้เป็นนิมิตใหม่ของการเริ่มก้าวเข้าสู่รอบที่ 9 ของชีวิต
สำหรับนักเปียโนที่ขอเชิญเพื่อร่วมแสดงในแต่ละรายการนั้น แต่ละท่านเป็นนักเปียโนที่มีฝีมือ มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามผลงาน มีมิตรรักแฟนเพลง มีลูกศิษย์ผู้ติดตามจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือ เป็นนักเปียโนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านชื่นชอบในฝีมือ ทั้งนักเปียโนรุ่นใหญ่และนักเปียโนรุ่นใหม่
ดร.เบนเน็ทท์ เลอร์เนอร์ เป็นนักเปียโนที่มีชื่อเสียงมาก มีลูกศิษย์มากมาย แม้จะเก็บตัวเงียบๆ อยู่ที่เชียงใหม่ ท่านจะเล่น 2 เพลงของเดอบุซซี (Debussy: Estampes (Pagodes), Golliwogg’s Cakewalk)
คนที่สอง ศาสตราจารย์แอเรนส์ รอล์ฟ เดียทเทอร์ เป็นอดีตอธิการบดีสถาบันดนตรีที่เมืองไวมาร์ เยอรมนี จะเล่นเพลงของวากเนอร์ (Wagner/Liszt: Rienzi paraphrase)
ดร.เอริ นาคากาว่า อาจารย์ชาวญี่ปุ่น ปักหลักสอนเปียโนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาตั้งแต่เริ่มตั้งวิทยาลัย เธอเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงระบบการเรียนดนตรีโดยเฉพาะเปียโนในเมืองไทย ทำให้เด็กไทยแข็งแรงมากขึ้น ที่สำคัญก็คือทำให้การศึกษาดนตรีแข็งแรงขึ้นด้วย ครั้งนี้เธอจะเล่นเพลงของโชแปง (Frederic Chopin: Barcarolle, Op. 60)
ณัฐ ยนตรรักษ์ ถือว่าเป็นนักเปียโนคนไทยที่ได้สร้างปรากฏการณ์ไว้มากพอสมควร เรียนสถาปัตยกรรมมาก่อน แล้วหันเหชีวิตมาเรียนดนตรีอย่างจริงจัง เป็นนักเปียโนที่ได้แสดงผลงานไว้มากมายทั้งในและต่างประเทศ เป็นนักประพันธ์เพลง เป็นครูเปียโนให้กับ พล.อ.เปรมด้วย วันนี้ก็จะเล่นเพลงกลิ่นนาง ผลงานของ พล.อ.เปรม
อาร์ตัส เบลาเคาสคัส กับอินทุอร ศรีกรานนท์ เปียโนคู่ (Piano Duet) ผลงานเพลงของราเวล (Maurice Ravel: La Valse) ทั้งคู่เป็นนักเปียโนรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงมาก ได้แสดงเปียโนคู่ร่วมกันเป็น 10 ปี ซึ่งได้สร้างสีสันให้แก่วงการดนตรีเปียโนเป็นอย่างมาก
คริสโตเฟอร์ จันวอง แมคคิแกน เกิดที่อังกฤษ เป็นนักเปียโนรุ่นใหม่ แม่เป็นคนไทย พ่อเป็นชาวอังกฤษ เรียนเปียโนจากพ่อตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เมื่ออายุได้ 7 ขวบก็ย้ายมาอยู่เมืองไทย เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ขณะนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ ครั้งนี้ก็จะแสดงผลงานของ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ (Three minds; Fierce, Hesitant) และชูมันน์ (Schumann/Liszt: Widmung)
ภูมิ พรหมชาติ เป็นนักเปียโนรุ่นใหม่ชาวไทยอีกคนหนึ่ง ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากเมืองไทย ต่อมาได้ศึกษาต่อที่สถาบันดนตรีนานยาง สิงคโปร์ ได้รับทุนเพื่อไปศึกษาต่อที่ราชวิทยาลัยดนตรีในประเทศอังกฤษ โดยได้รับการอุปการะทุนจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำหรับภูมิ พรหมชาติ ได้ผ่านการแข่งขันเปียโนหลายเวที เป็นที่รู้จักและได้รับเชิญไปแสดงทั้งในยุโรปและเอเชีย ครั้งนี้ก็จะเล่นเพลงของไครสเลอร์ (Kreisler/Rachmaninoff: Liebesfreud)
ดร.พรพรรณ บรรเทิงหรรษา เป็นนักเรียนเปียโนรุ่นใหม่ ได้รับทุนดนตรีคลาสสิกในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปเรียนดนตรี (เปียโน) ที่สถาบันดนตรีในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วไปเรียนการประพันธ์เพลงและเปียโนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐ เธอเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐ ครั้งนี้เธอจะเล่นผลงานเพลงของไฮเดิน (Joseph Haydn: Piano Sonata in C Major Hob. XVI: 50)
รายการสุดท้าย สุวิดา เนรมิตอร่าม (เปียโน) นักเปียโนรุ่นใหม่ ยังเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอยู่ ซึ่งจะเล่นคู่กับตปาลิน เจริญสุข นักเชลโล ในผลงานของรัคมานินอฟ (Rachmaninoff: Andante from Cello Sonata) และผลงานเพลงของราเวล (Maurice Ravel: Alborada del gracioso from Miroirs)
ทุกรายการ เชื่อว่าจะสร้างสีสันทางดนตรีและมอบความสุขให้แก่ผู้ฟังได้มากพอสมควร
การจัดแสดงเปียโนครั้งนี้ได้เชิญนักเปียโนที่มีชื่อเสียงทุกรุ่น เพื่อเป็นของขวัญให้แก่บุคคลสำคัญของไทย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับดนตรี เพราะดนตรีได้สร้างความอบอุ่นให้แก่ชีวิต ทำให้ผู้ฟังได้สัมผัสว่า ดนตรีทำให้ชีวิตมีความงดงามได้อย่างไร ดนตรีจะช่วยชีวิตมนุษย์ให้มีความหวังได้อย่างไร อย่างน้อยๆ ดนตรีจะช่วยให้มนุษย์ไทยได้รู้จักฟังคนอื่นมากขึ้น เป็นผู้ฟังที่ดี ฝึกการใช้หูฟังดนตรีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: