PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

คสช.ลุยจับอาวุธสงคราม ที่พัทลุง ต่อ หลังจับที่นครศรีฯ เผย "พล.อ.อุดมเดช" สั่งการนโยบาย คสช. ปราบอบายมุข ผู้มีอิทธิพล และอาวุธสงคราม

คสช.ลุยจับอาวุธสงคราม ที่พัทลุง ต่อ หลังจับที่นครศรีฯ เผย "พล.อ.อุดมเดช" สั่งการนโยบาย คสช. ปราบอบายมุข ผู้มีอิทธิพล และอาวุธสงคราม
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารจากกองพันทหารช่างที่ 401 ได้ร่วมกันตรวจค้นเป้าหมายยาเสพติดโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ณ บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 8 บ.ควนพะเผยอ ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง
ผลการปฏิบัติได้จับกุมผู้ต้องหา 3 ราย พร้อมของกลางยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาไอซ์) จำนวน 1 กก. อาวุธและเครื่องกระสุนหลายรายการ ได้แก่ ปืนเล็กยาว เอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก พร้อมซองกระสุน จำนวน 5 ซอง กระสุนปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มม. จำนวน 1,975 นัด (ใช้กับปืนเล็กยาว เอ็ม 16) กระสุนปืนเล็กยาว ขนาด 7.62 มม. จำนวน 124 นัด (ใช้กับปืนเล็กยาวบรรจุเองแบบ 88) กระสุนปืนกล ขนาด 7.62 มม. จำนวน 2,202 นัด (ใช้กับปืนกล เอ็ม 60) ลูกระเบิดยิง ขนาด 40 มม. จำนวน 65 นัด (ใช้กับเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79) และระเบิดควัน เอ็ม 18 จำนวน 2 ลูก พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ อีกหลายรายการนั้น
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กห./ผบ.ทบ. ในฐานะ รอง ผอ.รมน.และ เลขาธิการคสช. ได้ฝากขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ร่วมกันในการปราบปรามยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล และอาวุธสงครามได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ/หน.คสช. ที่เน้นย้ำให้กวดขันจับกุมยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย โดยให้บูรณาการความร่วมมือของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบ สำหรับผู้ต้องหาที่จับกุมได้พร้อมกลาง ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะได้ขยายผลความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป


พระมหามงกุฎสูง ๕๑ ซม. ที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ส่งไป และโดนโจรกรรม

พระมหามงกุฎสูง ๕๑ ซม. ที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ส่งไป และโดนโจรกรรม ทาง Château de Fontainebleau ทำการประเมินทรัพย์สินทั้งหมด ที่มีอยู่ในพระราชวัง เมื่อปี ค.ศ.๑๘๖๕ (พ.ศ. ๒๔๐๘) ๑๕๐ ปีก่อน ปรากฏว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด สูงถึง ๗ หมื่นฟรังก์ ล่าสุด ยืนยันว่า โบราณวัตถุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานแก่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ในปี ๒๔๐๔ หายไปอีก ๖ ชิ้น ได้แก่ ๑.พระมหาพิชัยมงกุฎ ๒..พระแสง ๓.พระคนโฑ ๔.พระแสงกรรไกร ๑ ๕.พระแสงกรรไกร ๒ และ ๖ .พาน
ข้อมูลและบัญชีรายการสิ่งของ เครื่องมงคลราชบรรณาการ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน Le Siam a Fontainbleau, I’Ambassade du 27 juin 1861 ประกอบด้วย เครื่องราชอิสริยาภรร์มหาปถมาภรณ์ช้างเผือก พระวอสีวิกากาญจน์ ซึ่งเป็นเสลี่ยงที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน ตลอดจนเครื่องราชูปโภคทองคำ และทองคำลงยาอันงดงาม มหามงกุฎซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการที่งดงาม พระแสงและเครื่องราชาวุธองค์ต่างๆ ฉากเขียนพระแก้วมรกต ๓ ฤดู พร้อมลายพระราชหัตถเลขา ภาษาอังกฤษของรัชกาลที่ ๔ และอื่นๆ อีกมาก
เครื่องมงคลราชบรรณาการ มีความแตกต่างเชิงความหมาย และสถานะกับ "เครื่องราชบรรณาการ" เป็นอย่างมาก มีความหมายเป็นนัยว่า พระเจ้ากรุงสยามมีสถานะเทียบเท่า กับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ดังนั้นเครื่องมงคลราชบรรณาการ จึงเป็นเหมือนกับของขวัญแก่มิตรประเทศ เป็นการแสดงเกียรติยศ เปรียบเสมอกันระหว่าง ราชสำนักตะวันตก กับตะวันออก ไม่ใช่การโอนอ่อนยอมรับ อำนาจเป็นเมืองขึ้น เหมือนการส่งเครื่องบรรณาการแต่อย่างใด
การส่งเครื่องมงคลราชบรรณาการ เมื่อครั้งอดีตนับร้อยปีก่อน เปรียบได้กับการแสดงเกียรติยศของกษัตริย์ ทั้งสองซีกโลก การคัดเลือกสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆบรรจุลงหีบห่อขนขึ้นเรือข้ามมหาสมุทร จากสยามไปฝรั่งเศส ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพย์สมบัติ อันล้ำค่าระดับมรดกศิลป์ของชาติหรืออาจจะของโลก ที่ยากเกินการประเมินค่า ไม่ว่าจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระรูปของรัชกาลที่ ๔ กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ที่ถ่ายโดยบาทหลวงลาโนดี้ พระราชสาส์นจารึกในพระสุพรรณบัตร ห่อในแผ่นทองคำแล้วใส่ในฝักทองคำลงยา พระสังวาลลายกุดั่นประดับทับทิม พระสุพรรณศรี (กระโถน) ทองคำลงยา หรือสังขอุตราวัฏ เครื่องทองคำลงยาราชาวดี เป็นต้น


ธาม เชื้อสถาปนศิริ: จริยธรรมนักข่าว

ธาม เชื้อสถาปนศิริ: จริยธรรมนักข่าว

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 05 มีนาคม 2558 เวลา 12:48 น.
เขียนโดย
ธาม เชื้อสถาปนศิริ
หมวดหมู่
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งของตำราปริทัศน์ที่ชื่อว่า จริยธรรมนักข่าว: ประเด็นปัญหาวารสารศาสตร์ยุคสื่อใหม่? Ethics for Journalist ., Richard Keeble 2nd edition  โดย ธาม  เชื้อสถาปนศิริ  ตีพิมพ์ในวารสารอิศรา ปริทัศน์ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2557
“ธาม” มีความเห็นว่า หนังสือชื่อ “Ethics for Journalist” ., Richad Keeble., 2nd Edition., Routledge 2009 นั้น โดดเด่นมากในการยกสถานการณ์ปัญหาด้านจริยศาสตร์ที่นักข่าว ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และกองบรรณาธิการประสบในสภาพการทำงานสื่อปัจจุบัน
“Ethics for Journalist” ของ ริชาร์ด คีเบิ้ล เต็มไปด้วยข้อเสนออีกมากมายในการท้าทายสื่อมวลชนว่า สามารถต่อสู้กับปัญหาจริยธรรมที่เกิดขึ้นจากบทบาทหน้าที่ของตนเอง กับสภาวะแรงกดดันแวดล้อมทางวิชาชีพ และความเปลี่ยนแปลงไปของภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยีได้อย่างไร และสถานการณ์ปัญหาทางจริยธรรมแบบใด ที่นักข่าวต้องเผชิญ และมีนักข่าวคนไหน สำนักพิมพ์ใด ได้ลองผิดลองถูกและผ่านพ้นสถานการณ์แบบนั้นมาแล้วอย่างไร
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การรวบรวมและถ่ายทอดกรณีศึกษาของสื่อมวลชนอังกฤษและอเมริกา พร้อมทั้งลงลึกในรายละเอียดของปัญหา พัฒนาการ และข้อควรพิจารณาในเชิงจริยธรรม และมีข้อเสนอวิธีการตัดสินใจทางวารสารศาสตร์ที่แม่นยำ เที่ยงตรง ต่อพันธกิจของนักข่าว ว่า ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปรไปมากเช่นไร บทบาทของสื่อมวลชนก็จะยิ่งต้องปรับตัวรองรับและยืนหยัดต่อความถูกต้อง เกียรติยศและศักดิ์ศรีวิชาชีพได้เฉกเช่นนับตั้งแต่มีวิชาชีพนี้ในสังคม
สำนักข่าวอิศรา ตัดทอนเอาเฉพาะ หัวข้อ (ที่ 6) Dumbing down or dumbing up? The tabloidization controversy./ โง่ลง หรือ โง่ขึ้น: กับข่าวเร้าอารมณ์ มีเนื้อหาดังนี้ 
“ริชาร์ด” ตั้งสมมติฐานว่า ทุกวันนี้สื่อตกเป็นทาสเรื่องเซ็กส์ เรื่องเร้าอารมณ์ ทั้งหมดนี้เพื่อมุ่งแต่กำไรสูงสุดของตนเอง เพื่อเพิ่มผู้อ่าน และยอดจำหน่ายที่มากขึ้น?
ข้อพิสูจน์ของริชาร์ด ผ่านการค้นคว้างานวิจัยและคำกล่าวหามากมาย ชี้ชัดไปที่สัดส่วนของเนื้อหาข่าวทางเพศและเรื่องราวเร้าอารมณ์ที่เพิ่มสูงขึ้นบนข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง หรือแม้กระทั่ง
รายงานข่าวโทรทัศน์ทุกเช้าค่ำ น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันข้อสรุปที่ว่า “หนังสือพิมพ์กำลังทำให้คนโง่ลงเรื่อยๆ”
“เรื่องเพศ คำโกหก และการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของคนดัง เป็นจิตวิญญาณของสื่อมวลชนอังกฤษ”
ปัญหา คือ
(1) แนวทางการทำข่าวเร้าอารมณ์ ใส่สีสัน เน้นมิติเชิงอารมณ์ของหนังสือพิมพ์อังกฤษได้คุกคามเข้าไปสู่ข่าวสารทุกประเภท ทั้งข่าวการเมือง กีฬา สงคราม และข่าวต่างประเทศ ซึ่งนั่นทำให้แนวทางการเล่าเรื่อง การคัดเลือกคุณค่าข่าวเปลี่ยนไปมาก จากข่าวที่เน้นเนื้อหาสาระสำคัญของผลกระทบต่อสังคม หรือความเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชน กลับมาเน้นเรื่องความเข้มข้นเชิงอารมณ์และความกระหายใคร่รู้ของสังคมแทน
(2) ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เพื่อที่จะได้ข่าวเร้าอารมณ์มากขึ้น สื่อมวลชนจะยิ่งขวนขวายค้นหาข่าวร้ายอย่างบ้าคลั่ง พวกเขากระหายที่จะนำเสนอแต่เรื่องราวชวนโศกเศร้าเคล้าน้ำตา ซึ่งมักมาจากโศกนาฎกรรมและชะตาชีวิตอันแสนจะเหลือเชื่อ จากข่าวอาชญากรรม เรื่องราวชู้สวาทของดาราคนดัง และชะตากรรมอันพลิกผันของฮีโร่ และผู้ร้ายในทุกๆ แง่มุมที่จะสามารถขายได้
(3) รายการโทรทัศน์จอมปลอม ถูกผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อออกาอากาศฉายเรื่องราวอันสุดแสนหดหู่ ซาบซึ้ง ซึ่งนั่นก็มาพร้อมๆ กับแนวทางข่าวเบาๆ แบบ “soft news” ที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ รายการสนทนา เกมโชว์ และข่าวสั้นชั่วโมงบันเทิงมากมาย ต่างก็เร่งสั่งให้นักข่าวค้นหาเรื่องราวที่เร้าอารมณ์มากขึ้น
(4) รายการข่าวสืบสวนขาดหายไปจากหน้ากระดาษและผังโทรทัศน์ แต่ถูกแทรกแทนที่ด้วยรายการตลก
(5) รายการข่าวปรับตัวมาเป็นรายการคุยข่าวเล่าข่าว สถานีโทรทัศน์ปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอข่าวมากมายให้มีวิธีการสร้างความง่ายในการเสพข่าว พิธีกรที่มีลีลาชวนดู คำพูดที่ชวนฟัง ท่าทางที่ชวนมอง เนื้อหาข่าวที่ชวนสงสัย ผ่านเสียงสนทนาที่ชวนหัว ฯลฯ นั่นยิ่งทำให้เนื้อหาข่าวสารตกเป็นรองและสำคัญน้อยกว่าลีลาการนำเสนอข่าว และทำให้พิธีกรข่าวกลายเป็นตัวชูความสำคัญของรายการมากกว่าคุณภาพของข่าว
(6) นักข่าวกล้าตาย กล้าเสี่ยงมากขึ้น มีรายงานข่าวโทรทัศน์ในอังกฤษมากมาย ที่ผู้สื่อข่าวภาคสนามต้องทำอะไรแปลก เสี่ยง ท้าทายความตาย หรือต้องมีแก๊กตลก หรือชุดแต่งกายที่ดูไม่เข้ากันกับรายการไปทุกที ยังไม่นับว่านักข่าวเหล่านั้นต้องมีท่าทางประจำส่วนตัวเพื่อให้ผู้ชมจดจำเขาหรือเธอได้
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่กัดกร่อนความเข้มข้นของเนื้อหาข่าวให้กลายเป็นเนื้อหาเพื่อความบันเทิงไปหมดแล้ว

ประเทศไทย มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ทำการจัดอันดับ 15 ชาติ และดินแดนที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด โดยอ้างอิงจาก “ดัชนีความทุกข์ยาก” ที่ทางบลูมเบิร์กทำเอง ซึ่งคำนวณจากอัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ผลที่ได้ปรากฏว่าประเทศที่ทุกข์ยากต่ำที่สุด หรือเท่ากับมีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด คือ “ประเทศไทย”
บลูมเบิร์ก ระบุว่า ดัชนีความทุกข์ยากของตนนั้น คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไม่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจ ชาติที่มีคะแนนต่ำในดัชนีนี้จึงถือว่ามีความสุขในเชิงเศรษฐกิจ
ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจอันดับ 1 เนื่องจากมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาก ด้วยตัวเลข 0.56 เปอร์เซ็นต์ เมื่อช่วงสิ้นปี 2014 การมีตัวเลขที่ต่ำขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับไทย เพราะที่ผ่านมาตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยก็ต่ำมาโดยตลอด อัตราการว่างงานสูงที่สุดของไทย คือ 5.73 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2001
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กไว้ว่า การที่อัตราการว่างงานของไทยต่ำนั้น ไม่ได้เป็นเพราะไทยนิยามถึงคำว่า “ว่างงาน” ต่างจากชาติอื่น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้าง โดยภาคเกษตรจะคอยดูดซับเหล่าแรงงาน ส่วนกลุ่มคนที่หางานไม่ได้ก็มักจะได้งานจากธุรกิจนอกระบบหรือไม่ก็ทำธุรกิจของตนเอง
มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของชาวไทยอยู่ในภาคการเกษตร คนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้มีการศึกษาสูง แต่ไม่สามารถหางานทำได้หรือตกงาน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้สูญเสียงานประจำ ทันทีที่เขากลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำสวนทำนา ก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้มีงานทำในทันที
การที่ไทยไม่ค่อยมีหลักประกันให้กับผู้ว่างงานมากนัก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไทยอยู่ว่างงานนานมากไม่ได้ ต้องดิ้นรนเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ผู้ที่สูญเสียงานประจำจึงต้องหันไปทำงานนอกระบบ อาทิ พ่อค้าแผงลอย วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ หรือไม่ก็หางานพาร์ตไทม์ ซึ่งการทำเช่นนั้นถูกนับว่าเป็นผู้มีงานทำไปโดยปริยายเช่นกัน
15 ประเทศและดินแดนที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดของบลูมเบิร์กมีดังนี้
1. ไทย
2. สวิตเซอร์แลนด์
3. ญี่ปุ่น
4. เกาหลีใต้
5. ไต้หวัน
6. เดนมาร์ก
7. จีน
8. สหรัฐอเมริกา
9. นอร์เวย์
10. สหราชอาณาจักร
11. ออสเตรีย
12. นิวซีแลนด์
13. ไอซ์แลนด์
14. มาเลเซีย
15. เยอรมนี


"ปนัดดา"เชิญด่วน! ถกสัมปทานฯ รอบ 21 ที่ทำเนียบพรุ่งนี้

"ปนัดดา"เชิญด่วน! ถกสัมปทานฯ รอบ 21 ที่ทำเนียบพรุ่งนี้
Cr:ผู้จัดการ
"ม.ล.ปนัดดา"ออกหนังสือด่วนที่สุด เชิญตัวแทนภาคประชาชน-นักวิชาการ 10 คน อาทิ "ประสงค์-ธีระชัย-รสนา-ม.ล.กรฯ-ปานเทพ-อิฐบูรณ์" เข้าหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสนอความคิดเห็นต่อการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่ทำเนียบรัฐบาล วันพรุ่งนี้
วันนี้(5 มี.ค.) เมื่อเวลา 16.25 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 ได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจ "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"ว่า ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือเชิญประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพิจารณานำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2558 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 101 ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้เชิญบุคคล 10 คน ดังมีรายนามดังต่อไปนี้ 1. น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ, 2. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล 3. น.ส.รสนา โตสิตระกูล 4. รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร 5. ดร.นพ สัตยาศัย 6. นายคมสัน โพธิ์คง 7. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี 8. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 9. นายรุ่งชัย จันทสิงห์ 10. นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา
วาระการประชุม คือวาระที่ 1 เรื่องที่แจ้งให้ที่ประชุมทราบ วาระที่ 2 เรื่องที่พิจารณา การจัดทำและนำเสนอข้อมูลหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อรัฐบาล วาระที่ 3 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
อนึ่ง หนังสือดังกล่าว ม.ล.ปนัดดาได้ลงนามในวันนี้(5 มี.ค.) พร้อมประทับตราด่วนที่สุด
ด้าน มล.ปนัดดา กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำหนดวัน เวลาที่ชัดเจนแล้ว โดยนัดแรกจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ห้อง 101 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ภาคประชาชน 10 คน ฝ่ายผู้แทนกระทรวงพลงงาน และผู้เชี่ยวชาญในจำนวนที่ไล่เลี่ยกัน โดยการหารือจะเน้นหนักไปเรื่องการเสนอแนวทางเพื่อการแก้ไขข้อกฎหมาย
“ในการประชุมครั้งนี้ตนเองได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการการประชุม ดังนั้นจึงอยากเห็นบรรยากาศของการระดมความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทาง ไม่ใช่การโต้แย้งหรือสร้างความขัดแย้งระหว่างกัน”


สถานการณ์5/3/58

“บวรศักดิ์”แจงคืบหน้ายกร่างรธน.ต่อสนช.     

   

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ ได้ให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญรายงานความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาไปแล้ว 57 ครั้ง 400 กว่าชั่วโมง ซึ่งร่างแรกจะต้องทำให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ จากนั้นเดือน พ.ค. สปช. ,ครม. และคสช.สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อพิจารณาเป็นร่างสุดท้าย แล้วเสนอต่อที่ประชุมสปช.อีกครั้งภายในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อให้สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ภายในวันที่ 6 ส.ค. 
   
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ยกเว้นการพิจารณาเป็นการภายใน และมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่าวยงานก่อนพิจารณาลงไปในเนื้อหาแต่ละมาตรา ถ้ามีความเห็นต่างก็จะพิจารณาหลักการก่อน ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญยึดหลักเจตนารมณ์ 4 หลัก คือ 1.สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมคุณธรรม และ4.นำชาติสู่สันติสุข 
   
ส่วนที่มาส.ว.นั้นเราไม่ต้องการให้ ส.ว.เป็นกระจกส่อง ส.ส.อีกแล้ว เพราะในปี 49 ส.ว. 200 คน มี 47 คนที่เป็นเครือญาติของส.ส.ซึ่งการเลือกตั้งส.ว.ครั้งแรกไม่มีปัญหาเพราะพรรคการเมืองตั้งตัวไม่ได้ แต่พอเขาตั้งตัวได้ ก็มีการแบ่งพื้นที่กันเรียบร้อย ดังนั้นเราไม่ต้องการให้ส.ว.เป็นกระจกเงาส.ส.เราจึงต้องทำให้ส.ว.เป็นพหุนิยมของพลเมืองที่หลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับส.ส. ซึ่งสภาที่เป็นพหุนิยม ไม่ใช่ลากตั้ง คำว่าลากตั้งเป็นภาษาของสื่อบางฉบับที่ดูถูกการเลือกตั้ง ดังนั้นปัจจุบันส.ว.จึงต้องมาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งนั้นสำคัญน้อยกว่าบทบาทหน้าที่ 
    
ส่วนการเลือกตั้งส.ส.นั้นระบบเลือกตั้งเดิมทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้คะแนนมนิยมเกินกว่าที่ประชาชนให้จริง เราจึงสร้างสมดุลในความนิยม โดยใช้ระบบสัดส่วนผสมกับแขต ซึ่งวัดคะแนนได้จากทั่วประเทศ เราจึงต้องกำหนด ส.ส. 470 ที่นั่ง การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ซึ่งเอื้อต่อการปรองดอง ทำให้เกิดการพูดคุยของพรรคการเมือง ไม่คิดว่าข้าใหญ่คนเดียว เพราะที่ผ่านมาเมื่อพรรคใหญ่เป็นรัฐบาล แล้วเกิดการไม่พอใจ พรรคเล็กก็ออกมาบนท้องถนน หรือถ้าพรรคเล็กเป็นรัฐบาล พรรคใหญ่ก็ออกมาบนท้องถนนเช่นกัน ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 9 ปีแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เกิดความสมดุลของพรรคการเมือง 

____

กมธ.ยกร่างรธน.เผยรธน.ใหม่มี 315 ม.    

   รัฐสภา วันที่ 5 มี.ค.เมื่อเวลา 15.00 น.นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างฯ บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประมาณ 10 กว่ามาตรา โดยก่อนที่ตนจะมาแถลงข่าวนั้นที่ประชุมพิจารณาผ่านไปแล้วประมาณ 9 มาตรา ทั้งนี้บทเฉพาะกาลนั้นจะเริ่มตั้งแต่มาตรา 304 ซึ่งจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญจะมีทั้งสิ้นประมาณ 315 มาตรา โดยมาตรา 304 นั้นจะเป็นการรับรองสถานภาพของคณะองคมนตรี มาตรา 305 เป็นการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ของสนช. ซึ่งจะเป็นเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 293 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่มาตรา 306 ที่ให้สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯ สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเลือกตั้งถัดไปครั้งแรก และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปีนับแต่พ้นตำแหน่งนั้น ที่ประชุมจะมีการพิจารณากันในวันที่ 6 มี.ค. 
   
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า มาตรา 307 จะเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ที่สำคัญ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 295 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 308 จะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกและบัญญัติให้มีกระบวนการให้ได้มาซึ่งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นครั้งแรกขึ้น มาตรา 309 จะเป็นการรับรองครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 298 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 310 จะเป็นการรองรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการป.ป.ช. และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 299 300 และ 301 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 และมาตรา 311 ที่จะเป็นการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ขณะนี้เหลือที่ยังค้างพิจารณาอีก 2-3 มาตรา และประเด็นที่รอการพิจารณาอีก 2-3 ประเด็น ซึ่งจะนำมาประชุมในวันที่ 6 มี.ค.เป็นการภายใน 
   
“เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะเร่งส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้กับสนช. โดยสนช.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับร่างจากกรรมาธิการยกร่างฯ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาภายใน 30 วันว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องดำเนินการเลือกตั้งส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 180 วันจึงจะมีส.ส.ชุดใหม่ ขณะที่ส.ว.ชุดใหม่จะใช้เวลาประมาณ 240 วัน อย่างไรก็ตาม หากสนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทันกำหนด ให้ถือเสมือนว่าสนช.ได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว”โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว 
   
ผู้สื่อข่าวถามว่า การระบุว่าจะได้ส.ส.ชุดใหม่ภายใน 180 วันหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้นั้น มีการคำนวณถึงเวลาการทำประชามติไว้ด้วยหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ได้คำนวณว่าต้องทำประชามติหรือไม่ แต่คิดจากวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 6 มี.ค.กรรมาธิการยกร่างฯ จะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ อาทิ มาตรา 306 ที่กำหนดให้สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี2557 สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้ามกรรมาธิการยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี  
    
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอของนายเจษฏ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างฯ ที่เสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีนั้น จะนำไปหารือในที่ประชุมวันพรุ่งนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในการประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเลย รวมทั้งจะพูดคุยถึงเรื่องการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วด้วย อาทิ กรรมาธิการยกร่างฯ ที่จะต้องอยู่เพื่อผลักดันกลไกการปฏิรูปประเทศ สนช.ที่โดยหลักการแล้วควรจะอยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐสภาชุดใหม่เข้ามา และครม.ที่ต้องอยู่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ 

_____

“กมธ.ยกร่างฯ”ถกบทเฉพาะกาล ยังไม่สรุปปมแม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี

  เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยมีนพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาร่างบทบัญญัติบทเฉพาะกาล ซึ่งมีด้วยกันประมาณ 10 มาตรา ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ที่ประชุมได้กล่าวต้อนรับ 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล หลังได้รับเลือกจากที่ประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกมธ.ยกร่างฯแทนนางทิชา ณ นคร ที่ได้ลาออกไป โดยที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมนายกอบศักดิ์ ที่ได้เสียสละและอาสาเข้ามาทำหน้าที่นี้ โดยเชื่อมั่นว่าความรู้ ความสามารถที่นายกอบศักดิ์ มีอยู่นั้นจะสามารถช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เหลืออยู่ให้เกิดผลสำเร็จและลุล่วงได้ 
  
จากนั้นได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยฝ่ายเลขานุการฯได้ชี้แจงภาพรวมของเนื้อหาสาระของบทเฉพาะกาลว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งจะเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกเป็นการนำเอาบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็นหลักในการพิจารณาว่ามีส่วนใดบ้างที่ตรงกับร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนแนวทางที่สองเป็นการนำร่างบทบัญญัติในเรื่องของข้อยกเว้น ข้อห้าม ข้อจำกัด ที่จะเขียนยกเว้นไว้ ยกตัวอย่างอาจเป็นมาตราที่ยังไม่ให้ใช้บังคับในช่วงระยะเวลาหนึ่ง 
  
โดยมาตรา 304 เป็นการนำบทบัญญัติมาตรา 292 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาอ้างอิง โดยไม่มีการปรับแก้ไข มีสาระสำคัญคือ ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้  
เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ 
  
ขณะที่มาตรา 305 เป็นการนำบทบัญญัติของมาตรา 293 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาอ้างอิงเช่นกัน โดยกำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 136 เท่ากับกรณีของสนช.นั้นจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิจารณา 
ร่างกฎหมายต่างๆภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปประมาณ 7 เดือนหรือ 210 วัน 
  
ขณะที่มาตรา 306 ซึ่งกำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้ามกมธ.ยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปีนั้น ที่ประชุมได้ขออภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เสนอให้ยืดอายุการทำงานของกมธ.ยกร่างฯออกไปเป็น 7 เดือนเท่ากับสนช.เพื่อจะให้กมธ.ยกร่างฯสามารถได้ทำงานควบคู่ไปกับสนช.ในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆโดยเฉพาะกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมองว่าการต่ออายุการทำงานของกมธ.ยกร่างฯก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร เนื่องจากกมธ.ยกร่างฯไม่ใช่ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การยืดอายุการทำงานก็เหมือนเป็นการสืบทอดทางปัญหาเพื่อให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศสอดคล้องเป็นจริงตามเป้าหมายที่วางไว้ 
  
นอกจากนี้ก็มีกมธ.ยกร่างฯสายนิติศาสตร์ ได้เสนอความเห็นต่อประชุมถึงหลักการห้ามแม่น้ำทั้ง 5 สาย ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี สปช. สนช.และกมธ.ยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปีภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เช่นกัน ปรากฎว่ามีสมาชิกบางส่วนแสดงความเห็นว่าหลักการดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสมได้ ท้ายที่สุดที่ประชุมจึงตัดสินใจให้แขวนมาตราดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อรอรวบรวมภารกิจอำนาจหน้าที่ของสปช.และกมธ.ยกร่างฯว่า หลังจากดำเนินการยกร่างฯเสร็จ ว่ามีภารกิจและอำนาจหน้าที่อย่างไร  
โดยเฉพาะการร่างกฎหมายฉบับต่างๆ 
 ____

“นิพิฏฐ์”เตือนกำหนดเวลาบทเฉพาะกาลอาจเกิดปัญหาซ้อนปัญหา  

  

พรรคประชาธิปัตย์ 5 มี.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญลงรายมาตรา เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ตนเคยแสดงความเห็นไว้แล้วว่าจะมีหมวดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ระบุกำกับไว้ว่า ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้ก่อนกี่ปี ถึงตอนนี้เท่าที่ทราบข่าวก็มี แต่เป็นบทเฉพาะกาลที่ยังคงเงื่อนไขห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญห้วงระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องดูว่าจะระบุไว้ 5 ปีหรือกี่ปี โดยมีคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ต้องดูว่าจะให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าเป็นกรรมการชุดนี้ด้วยหรือไม่ หากเป็นได้ก็จะเกิดปัญหา เพราะส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่มาจากเลือกตั้งทางอ้อมหรือแต่งตั้งกลาย ๆ จะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม 
  
“ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นพลวัตร แต่ไม่ควรกำหนดเวลาตายตัวว่า ต้องไปก่อน 5-8 ปี เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นก่อนเวลาที่กำหนดให้แก้ไข เช่น เกิดเดตล็อคทางการเมืองขึ้นมา จะเกิดปัญหาซ้อนปัญหา จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ จึงควรบัญญัติเปิดช่องให้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องทำประชามติจากประชาชนเจ้าของอำนาจตัวจริงก่อน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญของคนทั้งชาติ ให้ยกเว้นห้ามไม่ให้มีการแก้ไข ในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทั้งหมด เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อนหน้านี้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

____

“พท.”หนุนแม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค 2 ปี

  
  
ที่พรรคเพื่อไทย วันที่ 5 มี.ค. 58 นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีว่า เมื่อตอนนี้แม่น้ำทั้ง 5 สายเข้ามาทำหน้าที่ทั้งแก้ไขปัญหาของประเทศและมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียก็ควรจะเว้นวรรคตามที่มีข้อเสนอ ทั้งนี้ สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไกลห่างออกไปจากการเป็นประชาธิปไตยทุกที ไม่ว่าจะเป็นที่มาของส.ส.หรือส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งจะดีมี่สุด เพราะเป็นการได้รับเลือกมาจากประชาชน ทำไมไม่มองถึงปัญหาที่ผ่านมาว่าเกิดจากวิกฤตเรื่องอะไร ที่เห็นก็คือ เกิดจากการที่มีบางพรรคการเมืองไม่ลงเลือกตั้งถึง 2ครั้ง และกกต.ก็ไม่ยอมจัดการเลือกตั้งหลังจากมีการยุบสภาฯ ทำไมไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย อยากเสนอว่า หากพรรคการเมืองใดไม่ลงเลือกตั้งก็ควรมีการตัดสิทธิทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองแบบคร่าวๆ แล้ว การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่ผ่าน เพราะไกลห่างออกไปจากการเป็นประชาธิปไตย