PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

สถานการณ์5/3/58

“บวรศักดิ์”แจงคืบหน้ายกร่างรธน.ต่อสนช.     

   

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ ได้ให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญรายงานความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาไปแล้ว 57 ครั้ง 400 กว่าชั่วโมง ซึ่งร่างแรกจะต้องทำให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ จากนั้นเดือน พ.ค. สปช. ,ครม. และคสช.สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อพิจารณาเป็นร่างสุดท้าย แล้วเสนอต่อที่ประชุมสปช.อีกครั้งภายในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อให้สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ภายในวันที่ 6 ส.ค. 
   
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ยกเว้นการพิจารณาเป็นการภายใน และมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่าวยงานก่อนพิจารณาลงไปในเนื้อหาแต่ละมาตรา ถ้ามีความเห็นต่างก็จะพิจารณาหลักการก่อน ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญยึดหลักเจตนารมณ์ 4 หลัก คือ 1.สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมคุณธรรม และ4.นำชาติสู่สันติสุข 
   
ส่วนที่มาส.ว.นั้นเราไม่ต้องการให้ ส.ว.เป็นกระจกส่อง ส.ส.อีกแล้ว เพราะในปี 49 ส.ว. 200 คน มี 47 คนที่เป็นเครือญาติของส.ส.ซึ่งการเลือกตั้งส.ว.ครั้งแรกไม่มีปัญหาเพราะพรรคการเมืองตั้งตัวไม่ได้ แต่พอเขาตั้งตัวได้ ก็มีการแบ่งพื้นที่กันเรียบร้อย ดังนั้นเราไม่ต้องการให้ส.ว.เป็นกระจกเงาส.ส.เราจึงต้องทำให้ส.ว.เป็นพหุนิยมของพลเมืองที่หลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับส.ส. ซึ่งสภาที่เป็นพหุนิยม ไม่ใช่ลากตั้ง คำว่าลากตั้งเป็นภาษาของสื่อบางฉบับที่ดูถูกการเลือกตั้ง ดังนั้นปัจจุบันส.ว.จึงต้องมาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งนั้นสำคัญน้อยกว่าบทบาทหน้าที่ 
    
ส่วนการเลือกตั้งส.ส.นั้นระบบเลือกตั้งเดิมทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้คะแนนมนิยมเกินกว่าที่ประชาชนให้จริง เราจึงสร้างสมดุลในความนิยม โดยใช้ระบบสัดส่วนผสมกับแขต ซึ่งวัดคะแนนได้จากทั่วประเทศ เราจึงต้องกำหนด ส.ส. 470 ที่นั่ง การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ซึ่งเอื้อต่อการปรองดอง ทำให้เกิดการพูดคุยของพรรคการเมือง ไม่คิดว่าข้าใหญ่คนเดียว เพราะที่ผ่านมาเมื่อพรรคใหญ่เป็นรัฐบาล แล้วเกิดการไม่พอใจ พรรคเล็กก็ออกมาบนท้องถนน หรือถ้าพรรคเล็กเป็นรัฐบาล พรรคใหญ่ก็ออกมาบนท้องถนนเช่นกัน ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 9 ปีแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เกิดความสมดุลของพรรคการเมือง 

____

กมธ.ยกร่างรธน.เผยรธน.ใหม่มี 315 ม.    

   รัฐสภา วันที่ 5 มี.ค.เมื่อเวลา 15.00 น.นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างฯ บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประมาณ 10 กว่ามาตรา โดยก่อนที่ตนจะมาแถลงข่าวนั้นที่ประชุมพิจารณาผ่านไปแล้วประมาณ 9 มาตรา ทั้งนี้บทเฉพาะกาลนั้นจะเริ่มตั้งแต่มาตรา 304 ซึ่งจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญจะมีทั้งสิ้นประมาณ 315 มาตรา โดยมาตรา 304 นั้นจะเป็นการรับรองสถานภาพของคณะองคมนตรี มาตรา 305 เป็นการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ของสนช. ซึ่งจะเป็นเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 293 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่มาตรา 306 ที่ให้สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯ สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเลือกตั้งถัดไปครั้งแรก และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปีนับแต่พ้นตำแหน่งนั้น ที่ประชุมจะมีการพิจารณากันในวันที่ 6 มี.ค. 
   
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า มาตรา 307 จะเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ที่สำคัญ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 295 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 308 จะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกและบัญญัติให้มีกระบวนการให้ได้มาซึ่งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นครั้งแรกขึ้น มาตรา 309 จะเป็นการรับรองครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 298 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 310 จะเป็นการรองรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการป.ป.ช. และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 299 300 และ 301 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 และมาตรา 311 ที่จะเป็นการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ขณะนี้เหลือที่ยังค้างพิจารณาอีก 2-3 มาตรา และประเด็นที่รอการพิจารณาอีก 2-3 ประเด็น ซึ่งจะนำมาประชุมในวันที่ 6 มี.ค.เป็นการภายใน 
   
“เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะเร่งส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้กับสนช. โดยสนช.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับร่างจากกรรมาธิการยกร่างฯ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาภายใน 30 วันว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องดำเนินการเลือกตั้งส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 180 วันจึงจะมีส.ส.ชุดใหม่ ขณะที่ส.ว.ชุดใหม่จะใช้เวลาประมาณ 240 วัน อย่างไรก็ตาม หากสนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทันกำหนด ให้ถือเสมือนว่าสนช.ได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว”โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว 
   
ผู้สื่อข่าวถามว่า การระบุว่าจะได้ส.ส.ชุดใหม่ภายใน 180 วันหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้นั้น มีการคำนวณถึงเวลาการทำประชามติไว้ด้วยหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ได้คำนวณว่าต้องทำประชามติหรือไม่ แต่คิดจากวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 6 มี.ค.กรรมาธิการยกร่างฯ จะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ อาทิ มาตรา 306 ที่กำหนดให้สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี2557 สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้ามกรรมาธิการยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี  
    
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอของนายเจษฏ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างฯ ที่เสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีนั้น จะนำไปหารือในที่ประชุมวันพรุ่งนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในการประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเลย รวมทั้งจะพูดคุยถึงเรื่องการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วด้วย อาทิ กรรมาธิการยกร่างฯ ที่จะต้องอยู่เพื่อผลักดันกลไกการปฏิรูปประเทศ สนช.ที่โดยหลักการแล้วควรจะอยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐสภาชุดใหม่เข้ามา และครม.ที่ต้องอยู่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ 

_____

“กมธ.ยกร่างฯ”ถกบทเฉพาะกาล ยังไม่สรุปปมแม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี

  เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยมีนพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาร่างบทบัญญัติบทเฉพาะกาล ซึ่งมีด้วยกันประมาณ 10 มาตรา ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ที่ประชุมได้กล่าวต้อนรับ 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล หลังได้รับเลือกจากที่ประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกมธ.ยกร่างฯแทนนางทิชา ณ นคร ที่ได้ลาออกไป โดยที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมนายกอบศักดิ์ ที่ได้เสียสละและอาสาเข้ามาทำหน้าที่นี้ โดยเชื่อมั่นว่าความรู้ ความสามารถที่นายกอบศักดิ์ มีอยู่นั้นจะสามารถช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เหลืออยู่ให้เกิดผลสำเร็จและลุล่วงได้ 
  
จากนั้นได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยฝ่ายเลขานุการฯได้ชี้แจงภาพรวมของเนื้อหาสาระของบทเฉพาะกาลว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งจะเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกเป็นการนำเอาบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็นหลักในการพิจารณาว่ามีส่วนใดบ้างที่ตรงกับร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนแนวทางที่สองเป็นการนำร่างบทบัญญัติในเรื่องของข้อยกเว้น ข้อห้าม ข้อจำกัด ที่จะเขียนยกเว้นไว้ ยกตัวอย่างอาจเป็นมาตราที่ยังไม่ให้ใช้บังคับในช่วงระยะเวลาหนึ่ง 
  
โดยมาตรา 304 เป็นการนำบทบัญญัติมาตรา 292 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาอ้างอิง โดยไม่มีการปรับแก้ไข มีสาระสำคัญคือ ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้  
เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ 
  
ขณะที่มาตรา 305 เป็นการนำบทบัญญัติของมาตรา 293 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาอ้างอิงเช่นกัน โดยกำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 136 เท่ากับกรณีของสนช.นั้นจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิจารณา 
ร่างกฎหมายต่างๆภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปประมาณ 7 เดือนหรือ 210 วัน 
  
ขณะที่มาตรา 306 ซึ่งกำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้ามกมธ.ยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปีนั้น ที่ประชุมได้ขออภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เสนอให้ยืดอายุการทำงานของกมธ.ยกร่างฯออกไปเป็น 7 เดือนเท่ากับสนช.เพื่อจะให้กมธ.ยกร่างฯสามารถได้ทำงานควบคู่ไปกับสนช.ในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆโดยเฉพาะกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมองว่าการต่ออายุการทำงานของกมธ.ยกร่างฯก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร เนื่องจากกมธ.ยกร่างฯไม่ใช่ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การยืดอายุการทำงานก็เหมือนเป็นการสืบทอดทางปัญหาเพื่อให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศสอดคล้องเป็นจริงตามเป้าหมายที่วางไว้ 
  
นอกจากนี้ก็มีกมธ.ยกร่างฯสายนิติศาสตร์ ได้เสนอความเห็นต่อประชุมถึงหลักการห้ามแม่น้ำทั้ง 5 สาย ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี สปช. สนช.และกมธ.ยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปีภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เช่นกัน ปรากฎว่ามีสมาชิกบางส่วนแสดงความเห็นว่าหลักการดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสมได้ ท้ายที่สุดที่ประชุมจึงตัดสินใจให้แขวนมาตราดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อรอรวบรวมภารกิจอำนาจหน้าที่ของสปช.และกมธ.ยกร่างฯว่า หลังจากดำเนินการยกร่างฯเสร็จ ว่ามีภารกิจและอำนาจหน้าที่อย่างไร  
โดยเฉพาะการร่างกฎหมายฉบับต่างๆ 
 ____

“นิพิฏฐ์”เตือนกำหนดเวลาบทเฉพาะกาลอาจเกิดปัญหาซ้อนปัญหา  

  

พรรคประชาธิปัตย์ 5 มี.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญลงรายมาตรา เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ตนเคยแสดงความเห็นไว้แล้วว่าจะมีหมวดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ระบุกำกับไว้ว่า ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้ก่อนกี่ปี ถึงตอนนี้เท่าที่ทราบข่าวก็มี แต่เป็นบทเฉพาะกาลที่ยังคงเงื่อนไขห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญห้วงระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องดูว่าจะระบุไว้ 5 ปีหรือกี่ปี โดยมีคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ต้องดูว่าจะให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าเป็นกรรมการชุดนี้ด้วยหรือไม่ หากเป็นได้ก็จะเกิดปัญหา เพราะส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่มาจากเลือกตั้งทางอ้อมหรือแต่งตั้งกลาย ๆ จะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม 
  
“ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นพลวัตร แต่ไม่ควรกำหนดเวลาตายตัวว่า ต้องไปก่อน 5-8 ปี เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นก่อนเวลาที่กำหนดให้แก้ไข เช่น เกิดเดตล็อคทางการเมืองขึ้นมา จะเกิดปัญหาซ้อนปัญหา จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ จึงควรบัญญัติเปิดช่องให้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องทำประชามติจากประชาชนเจ้าของอำนาจตัวจริงก่อน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญของคนทั้งชาติ ให้ยกเว้นห้ามไม่ให้มีการแก้ไข ในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทั้งหมด เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อนหน้านี้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

____

“พท.”หนุนแม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค 2 ปี

  
  
ที่พรรคเพื่อไทย วันที่ 5 มี.ค. 58 นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีว่า เมื่อตอนนี้แม่น้ำทั้ง 5 สายเข้ามาทำหน้าที่ทั้งแก้ไขปัญหาของประเทศและมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียก็ควรจะเว้นวรรคตามที่มีข้อเสนอ ทั้งนี้ สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไกลห่างออกไปจากการเป็นประชาธิปไตยทุกที ไม่ว่าจะเป็นที่มาของส.ส.หรือส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งจะดีมี่สุด เพราะเป็นการได้รับเลือกมาจากประชาชน ทำไมไม่มองถึงปัญหาที่ผ่านมาว่าเกิดจากวิกฤตเรื่องอะไร ที่เห็นก็คือ เกิดจากการที่มีบางพรรคการเมืองไม่ลงเลือกตั้งถึง 2ครั้ง และกกต.ก็ไม่ยอมจัดการเลือกตั้งหลังจากมีการยุบสภาฯ ทำไมไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย อยากเสนอว่า หากพรรคการเมืองใดไม่ลงเลือกตั้งก็ควรมีการตัดสิทธิทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองแบบคร่าวๆ แล้ว การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่ผ่าน เพราะไกลห่างออกไปจากการเป็นประชาธิปไตย 

ไม่มีความคิดเห็น: