PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

ฟ้อง 8 ข้อหาแกนนำกองทัพธรรม 'แซมดิน-มั่นแมน' ร่วม กปปส. ก่อกบฎ

ฟ้อง 8 ข้อหาแกนนำกองทัพธรรม 'แซมดิน-มั่นแมน' ร่วม กปปส. ก่อกบฎ
วันพฤหัสบดี ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561, 18.03 น.
วันที่ 19 เมษายน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ อายุ 60 ปี ผู้ประสานงานกองทัพธรรม และ นายมั่นแม่น กะการดี อายุ 38 ปี แนวร่วมกองทัพธรรม เป็นจำเลยฐานร่วมกันเป็นกบฏ และอื่น ๆ รวม 8 ข้อหา

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 56 - 1 พ.ค. 57 จำเลยทั้งสองได้ร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. เป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง
ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็น คดีหมายเลยดำ อ.1185/2561 พร้อมกำหนดนัดสอบคำให้การและตรวจหลักฐานในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
ต่อมาทนายความยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นฉลากออมสินมูลค่าคนละ 6 แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราวจากศาลไป โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีการชุมนุม กปปส. นั้น อัยการได้ทยอยยื่นฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2557 เรื่อยมา ซึ่งขณะที่นับรวมแล้ว 4 สำนวน จำเลย 29 ราย โดยทั้งหมดได้ประกันคนละ 600,000 บาท พร้อมถูกกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ขณะที่ยังเหลือแนวร่วม กปปส.ที่รอฟ้องอีก 25 ราย ส่วนสำนวนคดีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ-แนวร่วม 23 ราย ศาลนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

“2ม.” พี่น้อง"รูปขจร"

“2ม.” พี่น้อง"รูปขจร"
ถือเป็นนายทหารในประวัติศาสตร์ ทั้งคู่ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร นายทหารม้ายังเติร์ก จปร.๗ และ พล.อ.อ.มนัส รูปขจร น้องชาย คนดังดอนเมือง
ประวัติศาสตร์หลายบท หลายตอน ที่ พล.ต.มนูญกฤต อยู่เบื้องหลัง ในการขีดเส้น ขีดเขียน แต่หลายหน้า ประวัติศาสตร์ ก็ถูกเขียน โดยผู้ชนะ
โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา ฮาวาย” 2524 ระหว่าง พล.ต.มนูญกฤต ที่ในเวลานั้น เป็น พันเอกมนูญ รูปขจร ผู้หยิ่งในเกียรติ ผยองในเหล่าทหารม้า รักทหารม้า อย่างมาก กับผองเพื่อน ยังเติร์ก จปร.7 กับ “ป๋าเปรม” รุ่นพี่ ทหารม้า และ จปร.5 และทหารเสือราชินีฯ ร.21รอ.
ที่ยังคงมี “ความลับ” เบื้องหลังประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ ที่ พล.ต.มนูญกฤต ต้องเก็บซ่อนไว้คนเดียว ต่อไป บางเรื่องก็เล่าให้ ลูกหลานฟังได้ แต่หลายเรื่อง ก็เล่าไม่ได้
แต่ 2พี่น้องสายเลือดทหาร ตระกูลรูปขจร ได้ร่วมชะตากรรม กันในเหตุการณ์ กบฏ 9กันยายน 2528ล้มรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ล้มเหลว กลายเป็น กบฏ จนต้องหนีออกนอกประเทศ ไปอยู่เยอรมัน
ทั้ง พล.ต.มนูญกฤต และ พล.อ.อ.มนัส จึงเป็น 2พี่น้อง ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมชะตากรรมกันมา จึงรักแนบแน่น แม้วัยจะห่างกัน 10ปี
วันนี้18เมย. วันเกิด ครบ 73ปีของ พล.อ.อ.มนัส น้องชาย ผู้เป็นพี่ชาย ไม่เคยพลาดมาอวยพร น้องชาย เลยสักปี
แถมปรากฎตัว ด้วยสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แม้จะ 83 แล้วก็ตาม เพราะยังรักษาสุขภาพ เลือกทานอาหารคลีน และดื่มน้ำนมอุ่น ตลอด
พล.ต.มนูญกฤต บอกไม่คิดจะเล่นการเมือง เพราะ ในอดีต ตนเอง เกี่ยวข้องกับการเมือง มาตลอด แต่ไม่เคยคิดจะตั้งพรรคการเมือง หรือลงสมัคร สส. เพราะยังเชื่ออยู่ว่า ความเป็นคน จะสิ้นสุดลงทันที ที่เป็นนักการเมือง
ในฐานะรุ่นพี่ พร้อมฝากถึง บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. และ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร ด้วยว่า ให้รีบคืนอำนาจให้ประชาชน จัดการเลือกตั้ง อย่าใช้อำนาจจากปากกระบอกปืน ทำแบบนี้อีกเลย
และจะรอดูอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะตั้งพรรคการเมือง หรือจะกลับมาเป็น นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ว่าจะเป็นไปอย่างไร !!

ไม่ตื่นเต้น พรรคเพื่อไทย ตีกอล์ฟ"ตระกูลสะสมทรัพย์"

"บิ๊กตู่" ตีเนียน ....ไม่ตื่นเต้น พรรคเพื่อไทย ตีกอล์ฟ"ตระกูลสะสมทรัพย์" เทียบเหมือนตอนผมไปตีกอล์ฟ สนามนี้ เขามาต้อนรับ ไม่มองเป็น"นัยยะทางการเมือง"ไม่สน เพิ่อไทย"ดูด"สะสมทรัพย์ ใครดึงใคร ผมไม่เห็นมีใครเลย”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวถึงแกนนำพรรคเพื่อไทย ไปตีกอล์ฟและพบปะกับตระกูลสะสมทรัพย์ว่า ไม่มีนัยยะอะไร เป็นการตีกอล์ฟกันตามปกติ ก็เหมือนกับที่ตนเคยไป เมื่อเขาไป ก็มีคนมาต้อนรับ
"ตอนผมไป ก็มีคนมารับ เป็นธรรมดา แต่ความจริงเขาไม่ได้มารับผม เพราะเขาคุยกันอยู่แล้วทุกอาทิตย์ เขาอยู่กันครอบครัวครัวถ้วนหน้า อาจเป็นจังหวะที่ไปเจอกันพอดี "
แต่เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นว่าไปกันไม่ครบเพราะไม่สบาย อย่าไปมองว่าเป็นนัยยะทางการเมืองเลย
เมื่อถามว่ามีการมองว่าเป็นการดึงคนตระกูลสะสมทรัพย์ มาพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “อย่าไปมองเลย และผมไม่ได้ไป ถึงพวกเขา ใครดึงใคร ผมไม่เห็นมีใครเลย”
เมื่อถามถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้นายกฯ แสดงความชัดเจนทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า ชัดเจนเรื่องอะไร จะให้เปิดอย่างไร
เมื่อถามว่าให้แสดงความชัดเจนถึงการประกาศเล่นการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พอแล้ว ตนไม่ได้เล่นการเมือง ถ้าเล่นการเมือง ตนก็ต้องไปเลือกตั้ง เป็นส.ส. แล้วมันจะเป็นได้หรือไม่ เป็นไปไม่ได้
เมื่อถามว่าในใจอยากเข้าไปอยู่ ในรูปแบบนักการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าถามว่า อยากหรือไม่อยาก แต่ถ้าถามว่าอยากไหม ก็ต้องตอบว่าไม่อยาก แต่ถามว่ามันมีความจำเป็นอะไรหรือไม่ มันเป็นเรื่องอนาคต เป็นเรื่องของประชาชนกำหนด ไม่ใช่ว่าอะไรก็นักการเมืองคิดกันเอง
"ผมไม่เคยมองว่าตัวเองสำคัญกว่าใคร หรือเก่งกว่าใคร ไม่เคยคิดอย่างนั้น เป็นเรื่องของประชาชนว่าเขาต้องการอะไร"
เมื่อถามว่าคิดว่าสถานการณ์วันนี้นายกฯจำเป็นต้องอยู่ต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่รู้ ยังตอบไม่ได้ ต้องไปรอเดือนมิ.ย.ไปแล้วโน่น จบ รอเดือนมิ.ย.ก็แล้วกัน

เหวง ชี้ พรรคขั้วปชต.รวมกันต้องได้เกิน 250 เสียง เพื่อปิดประตูรปห.-สู้เผด็จการอยู่ยาว

เหวง ชี้ พรรคขั้วปชต.รวมกันต้องได้เกิน 250 เสียง เพื่อปิดประตูรปห.-สู้เผด็จการอยู่ยาว


“เหวง” ชี้ ปชช.ต้องเลือกพรรคขั้วประชาธิปไตยให้เกิน 250 เสียง ปิดประตูรัฐประหารยึดอำนาจ หวั่นเผด็จการยาว 20 ปี เหน็บ ปชป. 72 ปีที่ผ่านมา ใช้วาทะศิลป์กลบเกลื่อนการฉวยโอกาสทางการเมือง
เมื่อวันที่ 19 เมษายน นพ.เหวง โตจิราการ อดีตสส.พรรคเพื่อไทย โพสต์แสดงความเห็นกรณีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาล คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า
ประชาชนต้องเลือก พรรคขั้วประชาธิปไตย ให้เกิน250เสียงเท่านั้น จึงจะปิดประตูการยึดอำนาจรัฐประหารได้สิ้นเชิง แม้จะยังไม่มีการยื่นเพื่อจดจัดตั้งพรรค คสช. แต่ขณะนี้ก็ชัดเจนแล้วว่ามี “พรรค คสช.” จะชื่อเสียงใดไม่สำคัญ จะยื่นจดจัดตั้งเมื่อไรไม่สำคัญ

แต่นายกฯ บอกชัดว่า “เขากำลังปรึกษาหารือกันอยู่”“แต่เขายังไม่มาเชิญผม” เชิญเมื่อไรไม่ใช่เรื่องสำคัญ

แม้นายกรัฐมนตรี บอกว่า”ผมต้องพิจารณาดูก่อนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่” แต่เป็นคนกันเองทั้งนั้น “ที่กำลังปรึกษาหารือกันอยู่” เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล้วนยืนยันว่า “กำลังปรึกษากันอยู่”

พร้อมๆไปกับการ “ดูด” นายสกลธี ภัทธิยกุล เป็นรองผู้ว่ากทม. นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นที่ปรึกษานายกฯฝ่ายการเมือง นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อีกทั้งคสช.ได้เดินสายตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ไปพบ พรรคบรรหาร ไปพบ พรรคนายสมศักดิ์ ที่จ.สุโขทัย ไปพบพรรคนายอนุทิน ไปพบพรรคนายสุวัจน์ ที่โคราช แตะมือกับกลุ่มนายสุชาติ ตันเจริญ ยังมี “พรรคกปปส.ของสุเทพ เทือกสุบรรณ” อีกที่ยังมีฤทธิ์เดชอยู่

การทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านลงสู่มวลชนภายใต้ธง “ไทยนิยมยั่งยืน”ครอบคลุม 85,000 ชุมชนทั่วประเทศรวมกทม. ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นการ “เคลื่อนพลขนาดใหญ่”กรีฑาทัพไปในทุกปริมณฑล ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเพื่อสร้างปัจจัยให้บรรลุชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลคสช. ภายหลังการเลือกตั้งให้ได้อย่างมั่นคง

ไม่ต้องไปถามพรรคปชป.เลยว่าจะเข้าร่วม พรรค คสช.หรือไม่ “เมื่อถึงวันนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกไว้ชัดแล้วว่า “คอยดูว่าเขาจะพูดอย่างไร”

พรรคปชป.มีหรือจะไม่เข้าร่วมรัฐบาล(ขั้ว)คสช.?

โดยอ้างเหตุว่าประชาชนเรียกร้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามวิสัยที่เขาถนัดในการใช้วาทะเลิศหรูเพื่อกลบเกลื่อน “การฉวยโอกาสทางการเมือง” ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคนี้ถนัด และทำมาตลอดระยะเวลา72 ปี ของการตั้งพรรค ดังนั้น การสัปประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นการสัปประยุทธ์ครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งระหว่างสองขั้วการเมืองเท่านั้น คือ ขั้วที่สนับสนุนคสช. สนับสนุนรัฐประหาร กับ ขั้วต่อต้านคสช. ต่อต้านรัฐประหารต้องการประชาธิปไตย ไม่มี “สามก๊ก” ทางการเมืองแต่อย่างไร

เมื่อสภาพการณ์ชัดเจนเช่นนี้แล้ว เบื้องหน้าทุกพรรคการเมือง ย่อมมีเพียงสองทางเลือกเท่านั้น คือ ท่านจะเลือกขั้วคสช. ขั้วรัฐประหาร หรือ ท่านจะเลือกขั้วต่อต้านคสช. ขั้วต่อต้านรัฐประหาร ต้องการประชาธิปไตย ไม่ต้องมัว เชิดปี่ตีกลอง รำหน้าพาทย์อยู่เลยครับ ไม่ต้องมัวอิดๆออดๆม้วนไปม้วนมาอยู่เลยครับ ประกาศให้ชัดไปเลย “สนับสนุนคสช.สนับสนุนรัฐประหาร” หรือ “ต่อต้านรัฐประหารไม่เอาคสช.ต้องการประชาธิปไตย”

ไม่เพียงแต่พรรคการเมืองเท่านั้นที่ต้องแจ่มชัดตั้งแต่วินาทีนี้ ประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งก็ต้องตัดสินใจแล้วครับว่า “ท่านจะสนับสนุนคสช.สนับสนุนรัฐประหาร” หรือ “ท่านจะต่อต้านรัฐประหารสร้างประชาธิปไตยเพื่อปิดตายการรัฐประหารของประเทศ” เพราะหากครั้งนี้ ประชาชนเลือกพรรคขั้วประชาธิปไตยต่อต้าน คสช. เกินกว่า 250 เสียงขึ้นไป

พรรค คสช.ก็ยากที่จะเดินหน้าทางการเมือง แม้จะมีพรรค ส.ว. 250เสียง หนุนอยู่ก็ตาม อาวุธไม่ไว้วางใจทรงอานุภาพยิ่งในการหยุดยั้งรัฐบาลต่อท่ออำนาจ คสช. และเปิดทางให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงปัจจัยเผด็จการต่างๆให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้นได้ เป็นโอกาสอันงดงามที่ใช้เส้นทางสันติวิธีในการ “ปิดประตูตายสำหรับการรัฐประหารต่อไปในอนาคต” แต่หากผลออกมาตรงข้าม พรรคขั้วคสช. ได้มากกว่า 250 เสียง ประเทศไทยก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของ เผด็จการรัฐประหารไปอีกยาวนานอย่างน้อยก็ 20 ปี
ท่านต้องเลือกแล้วครับ

จม.จากใจ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ เลขาฯเพื่อไทย ถึง ‘อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์’ และปชช.

จม.จากใจ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ เลขาฯเพื่อไทย ถึง ‘อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์’ และปชช.


นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และคอลัมนิสต์ชื่อดัง จากกรณีที่ ศ.ดร.นิธิได้เขียนบทความเผยแพร่สู่สาธารณะเรื่อง “จดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย” โดยนายภูมิธรรมได้เขียนจดหมายจากใจ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ถึง ‘อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์’ และประชาชน มีรายละเอียดดังนี้
ผมได้อ่านจดหมายของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อย่างตั้งใจ ด้วยความตระหนักรู้ถึงความปรารถนาดีของอาจารย์ ซึ่งถือเป็นกัลยาณมิตรต่อพรรคเพื่อไทย ขอขอบคุณอย่างยิ่งต่อทุกความเห็น และจะนำไปขบคิดต่ออย่างจริงจัง
ผมมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่มั่นคงไม่น้อยไปกว่าพรรคใด
การต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้ประเทศหลุดพ้นจากอำนาจเผด็จการยังคงเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของพรรคเราไม่เปลี่ยนแปลง
ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยผ่านการร่วมชะตากรรมกับพี่น้องประชาชนที่รักเรา เชื่อมั่นและโอบอุ้มปกป้องเรามาโดยตลอด เราสำนึกและตระหนักดีว่าเราเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเขา
และขอให้มั่นใจได้ว่าเราจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและละทิ้งภารกิจที่พี่น้องประชาชนมอบหมายให้ได้
แม้นอาจมีบางท่านมองว่า ระหว่างหนทางนั้น พรรคเพื่อไทยอาจยังไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองได้ตามต้องการ และไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชนได้ทั้งหมด
แต่ผมยังยืนยันว่า ภายใต้อุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ นั้น พรรคยังคงยึดมั่นในประชาชนและหลักประชาธิปไตยไม่เปลี่ยนแปลง
และจะไม่ยอมรับการเมืองที่เป็นการตกลงกันเพื่อประโยชน์ร่วมของชนชั้นนำโดยละเลยหรือไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับอย่างยุติธรรม
การต่อสู้เพื่อคัดค้านอำนาจและกลไกการรัฐประหารที่เกิดขึ้นของพรรคเพื่อไทยนั้นที่ผ่านมามีหลากหลายรูปแบบ
หากแต่ตั้งอยู่บนความระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงและไม่ก่อให้เกิดเหยื่อทางการเมืองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
นั่นมิได้หมายความว่าเรายอมรับ นิ่งเฉย หรือคุ้นชินกับระบบเผด็จการที่คุกคามประชาชนมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จนหลงลืมไปว่าเจตนารมณ์ของพรรคที่เรายึดมั่นกันมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนนั้น คือการเป็นส่วน
หนึ่งในการร่วมสร้างสังคมที่ทุกคน ทุกฝ่าย ต่างก็ยอมรับและเคารพในสิทธิที่แต่ละคนพึงมี หรือพึงเลือกเพื่อกำหนดอนาคตของตนเองได้
ดังนั้น ภารกิจของพรรคต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ จึงยิ่งมีความสำคัญในฐานะของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยอีกครั้ง
ในขณะที่พรรคกำลังจะลงสนามแข่งขันในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่พิกลพิการและเต็มไปด้วยกลไกสุดพิสดารนั้น
ผมเห็นด้วยกับ อ.นิธิว่าพรรคการเมืองที่วางตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย มีความจำเป็นต้องยึดมั่นในยุทธศาสตร์การร่วมมือกันเพื่อสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
การร่วมมือกันของประชาชนและผู้รักประชาธิปไตย การประสานทุกกลุ่มพลังเข้าเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ร่วมกัน จึงเป็นภารกิจที่จำเป็นยิ่งในการหลุดพ้นจากระบบเผด็จการและสถาปนาความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงถือเป็น “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” ที่ไม่ใช่การต่อสู้แข่งขันกันเองของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่หมายถึงการร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่พรรคการเมืองต้องเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง และระดมสรรพกำลังทางยุทธศาสตร์ให้เข้ามามีบทบาทร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศและโครงสร้างการบริหารและกลไกต่างๆ เพื่อเพิ่มบทบาทและสัดส่วนของฟากฝ่ายประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองและประเทศในหลากหลายมิติ
ซึ่งถือเป็นหัวใจของนโยบายที่พรรคยึดถือมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยการดำเนินการภายใต้พรรคไทยรักไทย
สุดท้าย ผมต้องขอขอบคุณต่อประเด็นคำถามและข้อสังเกตของท่านที่ให้พรรคเราได้มีโอกาสทบทวนความคิดและตรวจสอบตัวเองอย่างจริงจังอีกครั้ง
ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า หากพรรคได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เด็ดขาด พรรคจะมุ่งมั่นสร้างนโยบาย มาตรการ กลไก และกระบวนการแก้ไขปัญหาในสังคมตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนมอบให้
และขอยืนยันจุดยืนของพรรคที่ชัดเจน คือ การแก้ไขทบทวนกติกาและกฎหมายต่างๆ ที่มีลักษณะบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดหลักนิติธรรม และขัดหลักความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากผลไม่เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น พรรคก็จะยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
และพร้อมทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด


ย้อนอ่านบทความ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์


จดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย
ในฐานะผู้เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย และอาจจะลงคะแนนให้อีก จึงขอกราบเรียนความต่อไปนี้แก่พรรค
พรรคคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่?
หากพรรคคิดว่านี่คือบทบาทสำคัญที่สุดของพรรคในตอนนี้ ขอให้เข้าใจด้วยว่า เป้าหมายทางการเมืองในช่วงนี้ไม่ใช่ชนะการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ลิดรอนอำนาจของฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้ จะชนะเลือกตั้งไปทำไม การต่อสู้ของพรรคไม่อาจจำกัดอยู่ที่หีบบัตรเลือกตั้งได้อีกต่อไป
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร อาจมี ส.ส.ของพรรคจำนวนไม่ถึงนิ้วของมือเดียวที่ออกมารณรงค์ต่อต้านการรัฐประหารอย่างกล้าหาญ แต่พรรคไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากหาทางประนีประนอมด้วยการเชื่อฟังคำสั่งของคณะรัฐประหารอย่างเซื่องๆ นายทุนพรรคอาจเลือกนโยบายประนีประนอมเพื่อเป้าหมายส่วนตัวของเขา แต่พรรคไม่ได้มีหรือไม่ควรมีเป้าหมายเดียวกับนายทุน ภารกิจของพรรคที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างท่วมท้นเช่นนี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากพันธะที่มีต่อประชาชนจำนวนมหึมาที่สนับสนุนพรรค และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ลองคิดดูเถิดว่า ในวันที่ 22 พ.ค.ของสี่ปีที่แล้ว หาก ส.ส.ของพรรคทุกคนที่ไม่ได้ถูกเชิญตัวไปเก็บไว้ในค่ายทหาร ออกมาชูสามนิ้วร่วมกับมวลชนทั่วประเทศ เราจะต้องทนอยู่กับอำนาจดิบของคณะทหารมาถึง 4 ปีเช่นวันนี้หรือ ส.ส.จำนวนมากอาจต้องลงเอยด้วยการติดคุกรัฐประหาร
แต่การเป็นนักการเมืองในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่มั่นคง นั่นไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมืองหรอกหรือ
แน่นอนว่า การประนีประนอมมีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ในการเมืองของทุกสังคม แต่ในบางกรณี การประนีประนอมกลับทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง และหาทางออกได้ยากขึ้น
ในกรณีเช่นนี้ การประนีประนอมจะทำให้เกิดผลเสียสองอย่าง
ประการแรก การประนีประนอมทำให้ต้องสูญเสียบางส่วนของเป้าหมาย โดยมากส่วนที่ต้องเสียไปคือส่วนที่มีความสำคัญต่อประชาชน เช่น จะใช้สิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐเสียก่อน เพราะผู้กำหนดว่าจะต้องเอาอะไรไปแลกกับอะไรไม่ใช่ประชาชน แต่เป็น “ผู้ใหญ่” ของพรรคเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ยิ่งการเจรจาเพื่อประนีประนอมทำกันอย่างไม่เปิดเผยมากเท่าไร ประชาชนก็ต้องเป็นฝ่ายสูญเสียมากเท่านั้น
ประการที่สอง ด้วยเหตุดังนั้น การประนีประนอมจึงตอบสนองแก่ความประสงค์ของบุคคลที่แคบมาก และมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกกลืนไปเป็นส่วนหนึ่งของความชั่วร้ายได้ง่าย ลองคิดดูเถิดว่า หากคุณทักษิณ ชินวัตร หรือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นของ คสช. (ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้) ใครจะได้อะไร นอกจากคนในตระกูลชินวัตรเท่านั้น
พรรคเพื่อไทยจึงควรประกาศอย่างชัดเจนหนักแน่นตั้งแต่ตอนนี้ว่า พรรคพร้อมจะเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าทั้งหมด นับตั้งแต่พรรคเสรีรวมไทย, พรรคอนาคตใหม่, พรรคเกรียน ฯลฯ ส่วนจะเป็นพันธมิตรในระดับใดและอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาร่วมกัน แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า การเป็นพันธมิตรทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อทำให้โครงการเปลี่ยนประเทศไทยกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย มีพลังที่จะทำได้อย่างเป็นผลมากที่สุด ทั้งในฐานะที่ได้จัดตั้งรัฐบาล และไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล
ภารกิจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรของพรรคก็คือ ทำให้มาตรการทุกอย่างทั้งการบริหารและกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างประเทศตกอยู่ภายใต้การรัฐประหาร ไม่มีผลลงทั้งหมด ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับอยู่เวลานี้ลงโดยเร็ว นำเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้พร้อมบทเฉพาะกาล ที่จะจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
สี่ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งกว่าครั้งใดว่า กลไกของรัฐไทยนั้นล้าหลังมาก รัฐไทยจึงไม่มีความสามารถจะนำชาติบ้านเมืองไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยได้เพียงลำพัง ด้วยเหตุดังนั้นพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรจะต้องผลักดัน “กติกา” ใหม่ ที่สังคมสามารถเข้ามามีบทบาทร่วมกับรัฐได้เต็มที่ ในฐานะผู้นำรัฐด้วย ไม่ใช่ผู้เสริมพลังของรัฐเท่านั้น สังคมต้องรับภาระการนำแทนรัฐล้าหลัง และการนำนี้ไม่ควรจำกัดอยู่แต่ในมือของพรรคการเมืองและนักการเมืองเท่านั้น แต่สังคมโดยรวมต้องเข้ามามีบทบาทโดยตรงด้วย เช่น สัดส่วนของกรรมการสภาพัฒน์ต้องประกอบด้วยบุคคลนอกภาครัฐด้วย (เพียงแต่ต้องคิดให้ดีว่า ทำอย่างไรจึงอาจเลือกตัวแทนของสังคมได้กว้างกว่านายทุนและนักวิชาการ ทั้งยังต้องคิดถึงการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายให้มากกว่าบุคคลที่เป็นกรรมการ)
สองเรื่องหลักที่ต้องลงทุนทำอย่างเต็มที่ (ไม่แต่เพียงเงินงบประมาณอย่างเดียว ควรนึกถึง “ทุน” ในรูปแบบอื่นๆ อีกมาก) คือ การศึกษา, สาธารณสุข, และการกระจายอำนาจการปกครอง ไม่แต่เพียงรื้อฟื้นการเลือกตั้ง อปท.ทุกระดับกลับคืนมา แต่ต้องทำให้ อปท.แต่ละระดับมีอำนาจบริหารในมือของตนเองที่อิสระ รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลของประชาชนในพื้นที่ (ไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทย) อปท.ต้องเข้ามารับผิดชอบด้านสุขภาพอนามัยและการศึกษาในท้องถิ่นมากกว่าที่เป็นอยู่อีกมาก
ความคิดเรื่องกระจายอำนาจด้วยการตั้งองค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นองค์กรอิสระจากรัฐ (เช่น สสส.) ไม่ใช่การกระจายอำนาจจริง เป็นแต่เพียงการถ่ายโอนอำนาจรัฐให้ไปอยู่ในมือของกลุ่มคนที่อ้างความเป็น “มืออาชีพ” ขึ้นมาเสวยผลประโยชน์เท่านั้น
ต้องชัดเจนมาแต่ต้นว่า เป้าหมายทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เพื่อกระจายความคิดในการเปลี่ยนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากอำนาจรัฐประหารโดยเร็ว และจะเปิดพื้นที่ให้สังคมเข้ามานำความเปลี่ยนแปลง แทนข้าราชการที่ยังคงล้าหลังเหมือนเดิมตลอดมา พรรคต้องกล้าชี้ให้ประชาชนเห็นความบกพร่องของตัวรัฐธรรมนูญและระบบการเมือง, เศรษฐกิจ ฯลฯ ที่คณะรัฐประหารได้จัดวางไว้
อย่ากลัวว่าพรรคจะถูกสั่งปิดหรือล้มเลิกไป สถานการณ์ในปัจจุบันกับ 2549 แตกต่างกันมาก และถึงถูกสั่งปิด นักการเมืองของพรรคก็ยังสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ในฐานะบุคคลธรรมดา (ความเป็นนักการเมืองไม่ได้อยู่ที่การรับรองของ กกต. แต่อยู่ที่ทรรศนะของประชาชน) พรรคเองก็ยังอาจดำรงอยู่ได้ในฐานะองค์กรทางการเมือง ที่ไม่ลงไปแข่งขันทางการเมืองในระบบ
ประการสุดท้ายที่มีความสำคัญเหมือนกันก็คือ การเป็นผู้สมัครของพรรคที่เสนอทางเลือกอย่างชัดเจนดังกล่าวข้างต้น หากจะได้รับเลือกในเขตของท่าน ก็จะได้รับเลือก หากจะไม่ได้รับเลือกก็จะไม่ได้รับเลือก ไม่ว่าจะมีนายทุนพรรคเป็นใคร ไม่มีครั้งไหนที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถปลดแอกจากตระกูลชินวัตรได้ง่ายเหมือนครั้งนี้ พรรคไม่อาจชูใครในตระกูลชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกแล้ว อีกทั้งงบหาเสียงก็มีความสำคัญน้อยลง เพราะมันชัด อย่างไม่เคยชัดเท่าการเลือกตั้งครั้งไหนเลยว่า จะเลือกใครไปทำไม
การเลือกตั้งครั้งนี้คือการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ หากพรรคเพื่อไทยยังพยายามรักษาความจืดของพรรคไว้เพื่อหวังจะได้เกี้ยเซี้ย นอกจากพรรคจะไม่มีโอกาสเกี้ยเซี้ยแล้ว ประชาชนก็จะเริ่มตื่นรู้ว่า ไม่อาจใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของเขาได้
การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์นั้นมีจริง แต่ไม่ใช่เพียงเพราะชื่อเพื่อไทยก็จะเป็นข้อได้เปรียบโดยอัตโนมัติ ประชาชนจำนวนมากรู้ว่า ความสะใจที่ได้จากการเอาชนะคณะรัฐประหารนั้น ไม่เพียงพอจะช่วยประเทศไทยให้หลุดจากหลุมดำที่ทหารบางกลุ่ม, นายทุนบางกลุ่ม, เนติบริกร และนักวิชาการบางกลุ่มได้เฝ้าเพียรขุดฝังบ้านเมืองให้มืดมิดตลอดไปได้
พรรคเพื่อไทยพร้อมหรือยัง?

สำรวจตลาด ส.ส. การเมืองฝุ่นตลบ ดีล-ดูด-เลือกขั้ว

สำรวจตลาด ส.ส. การเมืองฝุ่นตลบ ดีล-ดูด-เลือกขั้ว


ปฏิทินทางการเมืองหลังวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ เริ่มเปิดทำการในวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ก็ส่อเค้าจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
พลันที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง “เสี่ยแป๊ะ” นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล (พช.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการเมือง พ่วงด้วยการแต่งตั้งน้องชาย “เสี่ยแป๊ะ” อิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
พร้อมกับคำยืนยันของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมายืนยันถึงการแต่งตั้งทั้งสองพี่น้องจากตระกูลคุณปลื้มให้มารับตำแหน่งทางการเมืองด้วยว่า
“จำเป็นต้องมีคนเหล่านี้เข้ามาบ้าง เพื่อมาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเอาคนนี้มาเพื่อประโยชน์อะไรของผม มันไม่ใช่ วันนี้กำลังจะเดินหน้าไปสู่ตรงนั้น ผมก็ต้องมีคนที่รู้เรื่องเหล่านี้มาให้คำปรึกษาว่าเป็นอย่างไร เพราะผมก็ไม่รู้ว่าการเมืองมันทำกันมาอย่างไร ดังนั้น จึงต้องรู้บ้าง”
ในทางการเมืองถือว่าไม่เกินความคาดหมาย เนื่องด้วยในช่วงปี 2560 ต่อเนื่องมาถึงปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ได้นำรัฐมนตรีลงพื้นที่ไปพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาและมอบนโยบายแก้ปัญหาให้กับกลุ่มจังหวัดต่างๆ พร้อมกับเชิญตัวแทนนักการเมืองในพื้นที่มาพูดคุยเพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาลด้วย
โดยคีย์แมนการเมืองทุกพรรคต่างอ่านเกมของ “บิ๊กตู่” ออกว่าเป็นการเดินสายเพื่อจับมือกับกลุ่มการเมือง ให้มาหนุน “บิ๊กตู่” ที่ส่งสัญญาณว่าจะอยู่ลงสนามทางการเมืองต่อในฐานะนายกฯคนนอก ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนหลักสนับสนุน ผ่านมือดีลอย่าง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ และทีมงาน
ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับตัวแทนนักการเมือง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เมื่อครั้งลงพื้นที่ จ.อ่างทอง และสุพรรณบุรี การคุยกับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย เมื่อครั้งลงพื้นที่ จ.สุโขทัย
แม้ “สมศักดิ์” จะยืนยันว่าเป็นการพูดคุยกับนายกฯ เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศในฐานะนักการเมืองในพื้นที่ ไม่มีนัยยะทางการเมือง แต่ถึงเวลานี้ “สมศักดิ์” พร้อมกับสมาชิกกลุ่มมัชฌิมาธิปไตยยังไม่เข้ามายืนยันความเป็นสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ตามคำสั่งหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่เปิดโอกาสให้เช็กชื่อสมาชิกของพรรคเก่าได้ถึงวันที่ 30 เมษายนนี้
การย้ายค่าย สลับขั้วในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ย่อมจะเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เริ่มจากพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อหนึ่งในผู้มีบารมีของพรรค อย่าง “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำกลุ่ม
วังบัวบาน ที่ดูแลอดีต ส.ส.ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วน ประกาศวางมือไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองอีกแล้ว จะส่งผลให้อดีต ส.ส.ในสังกัดกลุ่มวังบัวบานจะอยู่ครบถ้วน หรือโดนเจาะ โดนดูดออกไปหรือไม่

ส่วนที่ต้องจับตาคือ กลุ่มสะสมทรัพย์ เจ้าของพื้นที่บ้านใหญ่แห่ง จ.นครปฐม ที่มีภาพหมู่ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วย
ผู้บัญชาการทหารบก ที่สนามกอล์ฟนิกันติของตระกูลสะสมทรัพย์ ทั้ง “เผดิมชัย สะสมทรัพย์” อดีต รมว.แรงงาน “ไชยา สะสมทรัพย์” อดีต รมว.พาณิชย์ “ไชยยศ สะสมทรัพย์” อดีต รมช.คมนาคม และ “อนุชา สะสมทรัพย์” อดีต ส.ส.นครปฐม พรรค พท.
ที่แกนนำทุกพรรคการเมืองต่างมองว่า คสช.เปิดดีลกับตระกูลสะสมทรัพย์ไปเรียบร้อยแล้ว เป็นเหตุให้แกนนำพรรค พท. นำโดย “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯในฐานะแกนนำพรรค พท. ยกทีมแกนนำพรรคไปออกรอบตีกอล์ฟเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับคนตระกูลสะสมทรัพย์ให้ยังอยู่กับพรรค พท.ต่อ แต่ผลการออกรอบในครั้งนี้จะสู้พลังดีลของ คสช.ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดู
ขณะที่กลุ่มวาดะห์ที่ดูแลในพื้นภาคใต้ของพรรค พท. นำโดย “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” แกนนำกลุ่มวาดะห์และอดีตประธานรัฐสภา ก็ฟอร์มทีมอดีต ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ร่วมสู้ศึกเลือกตั้งในนามพรรคประชาชาติ ซึ่งต้องดูความชัดเจนว่าหลังการเลือกตั้ง พรรคประชาชาติจะไปจับมือกับพรรคใดในการจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั้นพยายามชูกลยุทธ์คนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทนำอีกครั้ง โดย “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. มาพร้อมกับแคมเปญพรรค “เสรีนิยมประชาธิปไตย” เพื่อนำประชาธิปัตย์สู่ยุคใหม่ ขณะที่อดีต ส.ส.บางส่วนที่ร่วมเป็นแกนนำกลับกลุ่ม กปปส.นั้นจะขอแยกวงไปตั้งพรรค กปปส.กับ “ธานี เทือกสุบรรณ” อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรค ปชป. น้องชาย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาฯพรรค ปชป. และอดีตเลขาฯกลุ่ม กปปส. ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการแข่งกันเองในพื้นที่ภาคใต้
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) แม้แกนนำพรรคอย่าง “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ภท. ประกาศความพร้อมขอสู้ทุกเขต แม้จะมีกระแสว่ามีดีลกับอดีต ส.ส.ระดับเบอร์รองๆ ของพรรคใหญ่ เพื่อหวังคะแนนมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมกับโชว์จุดยืนไม่ขอเป็นศัตรูกับใคร ขอทำงานเพื่อประเทศชาติ
แต่ที่ชัดเจนแล้วว่าจะได้ “เสี่ยยอด” ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต ส.ส.จากพรรคชาติไทยพัฒนา ย้ายมาร่วมสังกัดกับพรรค ภท.แน่นอน
อย่างไรก็ตาม กระแสการดีลทางการเมืองของ คสช. ผ่าน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ยังได้ส่งสัญญาณไปยังผู้ว่าฯกทม. “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ให้แต่งตั้ง “สกลธี ภัททิยกุล” อดีต ส.ส.ปชป.และอดีตแกนนำ กปปส. นั่งเป็นรองผู้ว่าฯกทม.อีกด้วย ภายหลังที่สกลธีพร้อมกับ ณัฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.กทม. และแกนนำ กปปส. เข้าพบนายสมคิดที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงก่อนวันหยุดสงกรานต์
ส่วนกลยุทธ์ดีลและดูดของผู้มีอำนาจในเวลานี้ จะสำเร็จตามโรดแมปที่วางไว้หรือไม่ อีกไม่นานคงจะได้รู้

ลอต 3 มาแรง

ลอต 3 มาแรง



คดีทุจริตเงินทอนวัด โดนกวาดล้างไปแล้ว 2 ลอต รวมเบ็ดเสร็จ 35 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 200 ล้านบาท
ลอตแรก ตรวจพบทุจริตเงินทอนวัด 12 วัด มูลค่าความเสียหาย 60 ล้านบาท มีข้าราชการโดนเช็กบิล 8 คน แถมพลเรือน ติดร่างแหอีก 1 คน
ลอตสอง ตรวจสอบพบทุจริตเงินทอนวัด อีก 23 วัด มูลค่าความเสียหาย 141 ล้านบาท มีข้าราชการโดนเช็กบิล 13 คน พระ 4 รูป และพลเรือนติดหางว่าวอีก 2 คน
ล่าสุด “พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์” ผอ.พุทธศาสนาแห่งชาติ เดินหน้าลุยคดีทุจริตเงินทอนวัดลอต 3 ฉลองเทศกาลสงกรานต์
โดยนำหลักฐาน การทุจริตเงินทอนวัด เพิ่มอีก 10 วัด ประเมินมูลค่าความเสียหาย 70 ล้านบาท ไปแจ้งความ ปปป. และ ป.ป.ช. กล่าวโทษพระเถระชั้นผู้ใหญ่ถึง 5 รูป
ข้อหามีส่วนร่วมสนับสนุนการทุจริต งบส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทำให้ ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
โอย...ผ้าเหลืองร้อนฉ่าซะแล้วโยม
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า พระราชาคณะที่ถูก ผอ.สำนักพุทธฯแจ้งความเช็กบิลข้อหามีส่วนร่วมสนับสนุนการทุจริตเงินทอนวัดทั้ง 5 รูป ล้วนเป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีญาติโยมนับถือมากมาย มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง
ข้อสำคัญ มีถึง 3 รูปที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) องค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดชุดปัจจุบัน
แถมทั้ง 3 รูป มีสมณศักดิ์สูงสุดอันดับ 3 อันดับ 5 และอันดับ 7 ที่จะได้รับเลื่อนชั้นขึ้นเป็น “สมเด็จ” ในอนาคตอีกไม่ไกล
ยิ่งกว่านั้น ทั้ง 5 รูปยังครองตำแหน่งเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่เกรดเอใน กทม. ทั้งฝ่ายธรรมยุต และมหานิกาย
แถมเป็นเจ้าคณะภาค 4 เจ้าคณะภาค 5 เจ้าคณะภาค 10 และเจ้าคณะกรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ทั่วประเทศไทย
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า การที่พระเถระ ชั้นผู้ใหญ่ชื่อเสียงโด่งดังทั้ง 5 รูป ต้องถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสนับสนุนขบวนการทุจริตเงินทอนวัดลอตที่ 3
ยังไม่ได้เริ่มขบวนการสอบสวนตามขั้นตอน
ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าพระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูป มีความผิดตามข้อกล่าวหาจริง
ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 รูปยังมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้มีส่วนร่วมทุจริตแม้แต่นิดเดียว
เพราะตัวแสบที่สมคบคิดทุจริตเงินทอนวัดตัวจริง คือข้าราชการ และอดีตข้าราชการระดับสูง ที่ใช้อำนาจหน้าที่ฉ้อฉลโกงเงินหลวง สำหรับปฏิสังขรณ์วัด และสนับสนุนการศึกษาพระเณรเถนชีไปเข้ากระเป๋าตัวเอง
ส่วนวัด และพระที่ได้รับจัดสรรงบ สนับสนุนตะหากที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ และกลายเป็นเหยื่อถูกทุจริตเสียเอง
“แม่ลูกจันทร์” มองว่า ประเด็นนี้สามารถพิสูจน์หลักฐานได้ 2 ทาง
1,งบอุดหนุนวัดที่มีการทุจริต เจ้าหน้าที่ สำนักพุทธฯเป็นผู้ดำเนินการจัดไปถวายวัดเองใช่หรือไม่??
ถ้าใช่...จะหาว่าพระรู้เห็นเป็นใจร่วมทุจริตก็ไม่แฟร์
เพราะฝ่ายข้าราชการชงเองกินเอง
2, งบอุดหนุนที่สำนักพุทธฯจัดถวายวัด ถูกโอนไปเข้าบัญชีใคร??
ถ้าโอนไปเข้าบัญชีวัดทุกบาททุกสตางค์ก็ไม่ผิดปกติ
แต่ถ้าโอนเข้าบัญชีส่วนตัวพระ... ก็ส่อทุจริตเต็มเปา
สรุป...ทุจริตเงินทอนวัดไม่ลึกลับซับซ้อนอะไรเลย
แค่ตอบโจทย์ 2 ข้อเท่านั้นเอง.
“แม่ลูกจันทร์”

ต้นทุนชัวร์โปะขนมชั้น

ต้นทุนชัวร์โปะขนมชั้น



จาก “ทฤษฎีขนมชั้น” ของคนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”
ย้อนตำนานการก่อกำเนิดอาณาจักรไทยรักไทยที่เริ่มต้นจากเทคโนแครต นักวิชาการ รวมตัวกันคิดนโยบายขายตรงกับชาวบ้านรากหญ้า ถัดมาก็ดึงนักธุรกิจชั้นนำที่ประสบความสำเร็จมาร่วมทีม ก่อนจะโปะด้วยนักเลือกตั้งอาชีพเป็นชั้นสุดท้าย
กลายเป็นพรรคการเมืองที่สร้างประวัติศาสตร์ได้รับการเลือกตั้งถล่มทลาย
นั่นหมายถึงการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่ว่ากรณีใดๆ จำเป็นต้องมีนักการเมืองเก่าเป็นส่วนผสม
เน้นจังหวัดที่ใส่แต้มล่วงหน้าได้ พวกที่ชัวร์ๆประกันไม่ให้ “จั่วลม”
และเมื่อ “ทักษิณ” ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ไว้ มันก็ไม่แปลกถ้าจะมีการเดินหมากตามรอยในการตั้งป้อมค่ายการเมืองใหม่ตามสูตรพรรคไทยรักไทย
เมื่อตะเกียงที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยจุดขึ้น เริ่มสว่างไสว ส่องให้เห็นเส้นทางการตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐานสนับสนุนให้ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. “ตีตั๋วต่อ” มีต้นทุนชัวร์ๆจากนักเลือกตั้งอาชีพ
หลักประกันตัวเลขให้พรรค ไม่ใช่เพ้อหวังกันลอยๆ
ตามจังหวะที่ “นายกฯลุงตู่” มีบัญชาก่อนออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล อดีต รมว.วัฒนธรรม เข้ามานั่งแท่นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมกับน้องชายคือ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ก็ได้รับโปรโมตให้นั่งแท่นผู้ช่วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯ
สองพี่น้องมาเป็นแพ็กเกจขนาดนี้
ตามเงื่อนไขสถานการณ์มันเกี่ยวกับพรรคการเมืองใหม่ที่หนุน “ลุงตู่” ตีตั๋วต่อแน่นอน
แต่นั่นก็เป็นจังหวะที่ “ลงตัว” มีเหตุผลอธิบายได้
ไม่ว่าจะในมุมเนื้องานเชิงยุทธศาสตร์ ความต้องการที่ปรึกษาทางการเมืองที่ “นายกฯลุงตู่” แจกแจงต้องตั้งคนที่มีประสบการณ์มาช่วยงานช่วงสถานการณ์ไปสู่การเลือกตั้ง
ยังมีเรื่องของเนื้องาน ตามสถานะของตระกูล “คุณปลื้ม” คือนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
“สนธยา-อิทธิพล” อาสาเป็นแขนขาลงชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ ประสานความต่อเนื่องโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมกะโปรเจกต์ “เรือธง” ของรัฐบาล
ถือเป็น “เหลี่ยมการเมือง” เจือกับเนื้องานเนียนๆ
เซียนระดับ “สมคิด” เดินหมากแต่ละแต้ม ไม่ธรรมดา
และตามยุทธศาสตร์ที่แกะรอยได้ จากนี้ไปจะมีการเปิดโควตา ตั้งนักการเมืองเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมงานรัฐบาล ตามเหตุผลที่อธิบายได้ทั้งเรื่องของงานในพื้นที่และการมัดจำแต้มทางการเมือง
ที่สำคัญต้องอยู่นอกเหนือเงื่อนไขความขัดแย้งในสงครามแบ่งขั้ว
เบื้องต้นเลย โฟกัสไปที่คิวของนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต รมช.คมนาคม นักการเมืองภาพลักษณ์ดีจากกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา ที่เคยถูกเชิญเข้าร่วมพูดคุยกับ “นายกฯลุงตู่” ในการประชุม ครม.สัญจรและตรวจราชการที่จังหวัดสุพรรณบุรีและอยุธยา
ว่ากันว่า “นายกฯลุงตู่” และ “กัปตันสมคิด” หมายมั่นปั้นมือ ต้องการให้นายเกื้อกูลเป็นแกนเชื่อมประสานพื้นที่ภาคกลาง ทั้งในเรื่องของการเมืองและเศรษฐกิจที่กรุงเก่ามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว
เน้นพวก “น้ำดี” โปะขนมชั้นรอบในไปหานอก
แต่แน่นอน ตามฟอร์มยังไงก็หนีไม่ออก การขยับขับเคลื่อนพรรคหนุน “ลุงตู่” ต้องเจอเสียงด่าเสียงเหน็บแนมจากพรรคประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย
โจมตีพรรคใหม่ “ตกเขียว” ส.ส. ดักคอตีกันพวกย้ายพรรคขายตัว
ขณะที่คนด่าเองก็จะด่าอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอีกทางหนึ่งก็ตาลีตาเหลือก ต้องรีบอุดเลือดไหล
อาการแบบที่ทีมงานเพื่อไทยต้อง “ตีปี๊บ” กอล์ฟอีเวนต์การเมือง
“นายใหญ่ดูไบ” ส่งก๊วนน้องเขยอย่างอดีตนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยกขบวนแกนนำกว่า 20-30 คน แห่ออกรอบรายการเดิมพันสำคัญ
ชิงตระกูล “สะสมทรัพย์” บ้านใหญ่แห่งนครปฐม
ตามรอยจากที่ “นายกฯลุงตู่” ไปออกรอบ พร้อมปรากฏรูปถ่ายกับพี่น้อง “สะสมทรัพย์” ต่อเนื่องกับปรากฏการณ์ที่ “บ้านใหญ่” ไม่ยืนยันสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย
ส่อนัย โปะ “ขนมชั้น” ค่ายพลังประชารัฐ.
ทีมข่าวการเมือง