PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

แจงเช่าบินเหมาลำใต้

กอ.รมน.แจงการเช่าเหมาลำ R Airlines รับ-ส่ง ทหาร และจนท.ชายแดนใต้ คุ้มค่า แบบรายปี ยันไม่จำกัดชั้นยศ ประหยัดเวลาเดินทางไปพัก ลดการสูญเสีย ยันคัดเลือกตามระเบียบ ถูกกว่า ใช้C-130ทอ.

  
จากกรณีที่มีการกล่าวถึง การเดินทางของกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้( จชต.) ในการลาผลัดพักด้วยเครื่องบินพาณิชย์เช่าเหมาลำ ซึ่งได้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อ social mediaว่า เพราะเหตุใดจึงใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำในการเดินทางของกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้(จชต.)

ทั้งๆที่กองทัพอากาศมีเครื่องบิน C-130 ที่ใช้บินตามปกติ และได้ระบุอีกว่ามีการทุจริตในการดำเนินการหรือไม่นั้น

พันเอกพีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)ชี้แจงว่า กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จชต.เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558 - 2564 , ยุทธศาสตร์ กอ.รมน. พ.ศ.2560 - 2564 และนโยบายการบริหารและพัฒนา จชต. พ.ศ.2560 - 2562 กำลังพลที่ปฏิบัติงานประกอบไปด้วย ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ และกำลังพลจากส่วนต่างๆนอกพื้นที่ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่ จชต. 
  
การปฏิบัติงานของกำลังพลในพื้นที่ จชต.ไม่มีวันหยุดราชการ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญและดูแลสวัสดิการให้กับกำลังพล โดยยึดหลักทำงาน 45 วัน พัก 15 วัน ซึ่งการจัดการลาพักของกำลังพลมีความอ่อนตัวสูง ขึ้นอยู่กับภารกิจของหน่วย , สถานการณ์ในห้วงระยะเวลา และความปลอดภัยของกำลังพล 
  
เดิมการจัดการเดินทางของกำลังพลที่ได้รับผลัดพักที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ภาคใต้ เช่น พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง  กอ.รมน.จะจัดให้เดินทางโดยรถยนต์โดยสาร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2557 กอ.รมน.ได้พิจารณาถึงข้อดี – ข้อเสีย ของการเดินทางโดยรถยนต์โดยสารกับแนวทางอื่นๆในการเดินทางลาพักของกำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จชต. และได้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์โดยสารเป็นการเดินทางโดยใช้เครื่องบินแทน

 ซึ่งมีข้อดีหลายประการ เช่น ใช้ระยะเวลาน้อยในการเดินทางไป-กลับ , รักษายอดกำลังพลได้ดีกว่าเพราะทราบเวลาในการเดินทางถึงได้แน่นอนกว่า , มีความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า , เพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพล และสามารถสนับสนุนงานอื่นๆได้ เช่น การเดินทางไปราชการในพื้นที่ จชต.ของหน่วยงานอื่นๆ , การสนับสนุนการส่งกำลัง และการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ เป็นต้น
    
ในการดำเนินการ กอ.รมน.ได้มีการตรวจสอบและสอบถามราคาจากบริษัทสายการบิน จำนวน 4 บริษัท และ กองทัพอากาศ(C-130) รวมทั้งสิ้น 5 ราย(เพื่อเปรียบเทียบ) ซึ่งจากการตรวจสอบราคาแล้วพบว่า บริษัท สกายวิว แอร์เวย์ จำกัด (R Airline) เป็นสายการบินที่มีค่าบริการต่อเที่ยวบินต่ำที่สุดอยู่ในวงเงินงบประมาณที่ กอ.รมน. ได้จัดเตรียมไว้ สนับสนุนการบริการและการลาพักของกำลังพลได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด 

โดยเป็นลักษณะค่าจ้างคงที่ ไม่จำกัดปริมาณ( OPEN END ) ซึ่ง กอ.รมน.ได้ดำเนินกรรมวิธีจัดหาเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
  
การบริการกำลังพลในการเดินทางนั้นไม่มีกำหนดชั้นยศ เป็นการบริการให้แก่กำลังพลทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ใน จชต. ในการจัดเที่ยวบินแต่ละเที่ยว สำนักงานบริหารงานบุคคล กอ.รมน.(สบค.กอ.รมน.)จะจัดตามรายชื่อกำลังพลลาผลัดพักเป็นส่วนใหญ่ 

หากมีที่นั่งเหลือจะจัดสำหรับกำลังพล กอ.รมน. และหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่สนับสนุนงานของ กอ.รมน. เป็นลำดับถัดไป 

โดยมีเส้นทางบินไปยังสนามบินในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ เชียงใหม่ , เชียงราย , พิษณุโลก , ขอนแก่น , อุบลราชธานี , หาดใหญ่ , นราธิวาส และ ดอนเมือง เป็นต้น
 
การเผยแพร่ข่าวสารและการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหา จชต.นั้น  กอ.รมน.ได้มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมทุกๆด้านมาโดยลำดับ และไม่เคยปิดกั้นสื่อมวลชนแต่อย่างใด

ติดcctv

กอ.รมน. ไฟเขียว ติดตั้ง กล้องวงจรปิดCCTV เพิ่มเติมทุกพื้นที่ ให้ระบบการเฝ้าตรวจสมบูรณ์ และตรวจสอบให้สามารถทำงานได้ 100 % 

บิ๊กต้อ พล.อ. สสิน  ทองภักดี  เสธ.ทบ. ในฐานะ เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธาน หน่วยขึ้นตรง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ครั้งที่ 4/2560  ที่ สวนรื่นฤดี

พ.อ.พีรวัชฌ์  แสงทอง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า  เลขาธิการ กอ.รมน. สั่งการและเน้นย้ำให้ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด บูรณาการและประสานงานกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยตรวจสอบการทำงานของกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV)ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100 % 

และพิจารณาดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV)เพิ่มเติม เพื่อให้ทุกพื้นที่มีระบบการเฝ้าตรวจที่สมบูรณ์ 

นอกจากนี้ ให้สร้างองค์ความรู้แก่ทุกภาคส่วน ให้ตระหนักในการช่วยกันดูแล ชุมชนของตนเอง เพื่อสร้างสังคมให้มีความเข้มแข็ง อย่างมั่นคง และยั่งยืน
 
และให้ทุกหน่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบและทดสอบความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งในด้านกำลังพล และเครื่องมือสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที 
 
รวมทั้ง ให้ กอ.รมน.จังหวัด ประสานงานกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอย่างใกล้ชิดและบูรณาการกับทุกหน่วยงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด
       
นอกจากนี้ เลขาธิการ กอ.รมน. ได้ให้ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ได้ตรวจสอบ"แผนงานด้านความมั่นคงแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา" โดยเฉพาะหากพื้นที่ใดมีปัญหาที่ซับซ้อนหลากหลายมิติหรือครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ให้ กอ.รมน.ภาค กับกลุ่มจังหวัดจัดทำแผนงานร่วมกันเพื่อให้แผนงานเพื่อความมั่นคงมีความเหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด