PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562

งบกลาโหม

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ได้แก่งบของกระทรวงกลาโหม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าฝ่ายค้าน วิจารณ์ว่ารัฐบาลทุ่มงบประมาณในด้านความมั่นคง แล้วจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนฟื้นตัวได้อย่างไร

สอดคล้องกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่แสดงความเห็นว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในกรอบวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 80% ภาพที่ออกมาทำให้เห็นได้ว่า รัฐบาลจัดงบประมาณด้านเศรษฐกิจลดลง แต่จัดงบกลางรายการสำรองฉุกเฉินสูงกว่าปีที่ผ่านมา

“นักร้อง” เจ้าประจำที่ออกมาวิจารณ์เรื่องนี้อีกคนหนึ่ง ได้แก่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน โดยกล่าวว่า ที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่างบทหารไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่เป็นความจริง เพราะงบกลาโหมมีเพียง 8.59 หมื่นล้านเมื่อปี 2549 แต่ปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 2.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 271% หรือเกือบ 3 เท่า

ใกล้เคียงกับข้อมูลของนักวิชาการต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารที่ระบุว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งมาเลเซีย พม่า และกัมพูชา ต่างลดงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ แต่ประเทศไทยกลับเพิ่มงบการทหารถึง 17.5% นับแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา งบกลาโหมเพิ่มขึ้นกว่าพันล้านดอลลาร์

อาจถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ใน 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเต็มตัว รัฐบาลมีอำนาจที่จะใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างไรก็ได้ ไม่มีระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส เพราะรัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา รัฐบาลจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น

ตัวอย่างของการตรวจสอบเรื่องหนึ่ง คือการที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง จากสหรัฐอเมริกา 37 คัน (แถมฟรี 23 คัน) มูลค่า 2,480 ล้านบาท และเฮลิคอปเตอร์ 31 ลำ 12,000 ล้านบาท

ผู้ร้องเห็นว่า ซื้อแพงกว่าซาอุดีอาระเบีย และถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศย่ำแย่ ทั้งยังโดนทั้งภัยแล้งและอุทกภัย อย่าลืมว่าขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งและมีรัฐสภาแล้ว การใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆที่มาจากภาษีประชาชน จะได้ถูกตรวจสอบอย่างโปร่งใส การใช้เงินทุกบาทต้องคุ้มค่า.

การเมืองกับศาล

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “การเมืองกับการที่ผู้พิพากษายิงตัวเอง” ใจความว่า ในที่สุดการยิงตัวเองของผู้พิพากษากลายเป็นการเมืองไปโดยสมบูรณ์แล้ว ฝ่ายที่เห็นด้วยกับผู้พิพากษาดูเหมือนจะมีสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เป็นหลัก ฝ่ายไม่เห็นด้วยมีสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ บางคนออกมาให้ข่าวว่าเป็นเพียงการจัดฉากยิงตัวเอง ความสนใจว่ามีการแทรกแซงคำพิพากษาจนผู้พิพากษาขาดความเป็นอิสระจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลักไปแล้ว ความคิดในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมหายไปแล้วโดยสิ้นเชิง

“ความยุติธรรมในประเทศนี้ยังเข้าถึงยาก ราคาแพงและใช้เวลานานมาก จนบางคนที่ชีวิตต้องจับพลัดจับผลูเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม ต้องแบกรับเอาความอยุติธรรมไว้แนบอกเพื่อแลกกับอิสรภาพ หากเราคิดทุกอย่างเป็นการเมืองไปหมดการแก้ปัญหาที่ควรจะเป็นเกิดขึ้นไม่ได้ สุดท้ายประชาชนที่คลั่งไคล้การเมืองแบบไม่ลืมหูลืมตานั่นแหละจะตกเป็นเหยื่อ” นายนิพิฏฐ์กล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุอีกว่าการที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งเขาจะเชื่อหรือศรัทธาในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมันเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งเหมือนกัน เราจะไปขัดแย้งเรื่องนี้กันทำไม ตราบใดที่ดุลยพินิจในทางคดีของเขาไม่เอนเอียงไปทางพรรค การเมืองที่เขาสนับสนุนก็ไม่เห็นเป็นไร ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหลายประเทศ ผู้นำประเทศเป็นคนเลือกผู้พิพากษาศาลสูงด้วยตนเองแต่ไม่เห็นมีเรื่องความลำเอียงในทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นอย่ามองว่าการที่ผู้พิพากษาพกปืนเข้าไปในศาลทำให้เจตนาเรื่องนี้ถูกลดความสำคัญไป เหมือนคนกำลังถูกไล่ยิงแล้วขับรถหนีฝ่าไฟแดง อย่าเพิ่งประณามเขาเรื่องฝ่าไฟแดงเลย ช่วยเขาเรื่องที่เขาถูกไล่ยิงก่อนดีกว่า

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังประชุม ครม.ถึงเรื่องเดียวกันว่า การตัดสินคดีเป็นเรื่องของศาล เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครสามารถไปแทรกแซงได้ เลขาธิการศาลยุติธรรมได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่มีใครสามารถจะไปแทรกแซงกระ-บวนการของศาลได้ อันนี้เป็นเรื่องของศาล กระบวน การ ยุติธรรม ส่วนกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นในโซเชียล มีเดียเป็นเรื่องของโซเชียล วันนี้มีเยอะแยะอยู่แล้ว วิพากษ์วิจารณ์กันไปมาอยู่แล้ว แต่ตนยึดถือตามกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดทุกประการ

บทพระเอกกับผู้ร้าย

ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้”

โดยถ้อยคำตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ที่แสดงถึงความเข้มขลังและพลังแห่งความเป็น “ราชอาณาจักร” อย่างที่สัมผัสได้ในอารมณ์ความรู้สึกของความเป็น “คนไทย”

ในยามปกติจะไม่มีการ “ล่วงล้ำ” แม้แต่ ส.ส.ปากกล้าในสภายังไม่มีการอภิปรายแตะต้องเลย

นั่นย่อมสะท้อนถึง “เหตุการณ์ไม่ปกติ”

กับปรากฏการณ์ “มาตรา 1 รัฐธรรมนูญ” กลายเป็น “ปมร้อน” ชนวนไฟการเมือง ผลสืบเนื่องจากการที่หัวขบวน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นำทีมเดินสายจัดเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” แห่กระแส “รื้อรัฐธรรมนูญ”

ในอารมณ์ “กลอนพาไป” บวก “ใจสั่งมา” บนเวทีพูดไหลลามถึงชนวนปัญหาไฟใต้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 กระตุกขบวนการ “แบ่งแยกดินแดน” หูผึ่ง

แต่ที่ไวกว่าก็คือหน่วยฝ่ายความมั่นคงที่ประกบติดความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว เฝ้าระวังแบบ “คำต่อคำ” นำมาซึ่งการที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รับมอบอำนาจจาก พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4

ดำเนินคดีกับแกนนำพรรคฝ่ายค้าน พร้อมพวกรวม 12 คน ฐานยุยงปลุกปั่น เข้าข่ายคดีอาญามาตรา 116

จากที่เป็นฝ่ายรุกไล่ 7 พรรคฝ่ายค้านตกเป็น “จำเลยร่วม” ข้อหาหนักฉกาจฉกรรจ์ ตั้งหลักเปิดตำรารับมือกันแทบไม่ทัน ต้องแจ้งความกลับ “ตั้งการ์ด” ป้องปลายคางไว้ก่อน

และก็เหมือน “ขอนไม้” ลอยมาให้เกาะพอดิบพอดี ตามจังหวะที่พรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทยรีบโหนกระแส “คืนคำตัดสินให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ทีมนักรบไซเบอร์ค่ายสีส้มระดมปั่นข้อมูลโลกมโนโซเชียลโยงเหตุ “ท่านเปา” ยิงตัวเองกลางศาลยะลา

“โคตรเซียนการตลาด” สามารถดึงจังหวะที่ฝ่ายค้าน “เพลี่ยงพล้ำ” กลับมาสู่จุด “เดิมพันอันตราย” เข้าล็อกเกมวัดใจ ปั่นอารมณ์ “มวลชน” ปะทะทหาร

โดยเงื่อนไขสถานการณ์ “เหลี่ยมเขี้ยว” การเมืองชิงกระแสมโนโซเชียล เทียบกันกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ยังห่างกันหลายช่วงตัวนัก

ต่อให้ผู้นำเลิกอ่านหนังสือพิมพ์ไปขลุกอยู่ในออนไลน์ ก็ยากจะตาม “เกรียนคีย์บอร์ด” ทัน

มันจึงเป็นการฉลาดกว่า ถ้าสงครามนี้จะปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการกฎหมาย ตามเหลี่ยมที่ฝ่ายความมั่นคงล็อกทีมฝ่ายค้าน “ติดเงี่ยง” อาญามาตรา 116 ขยับตัวลำบาก

และก็ถือว่า “ถูกทาง” แล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ปรับยุทธศาสตร์ หันมากู้แต้มกู้เครดิตที่หายไปจากสไตล์ผู้นำหัวร้อน จุดเดือดต่ำ ตัดคะแนนภาวะผู้นำ ทำให้ “เรือเหล็ก” เป๋

ล่าสุดกับบท “เสี่ยสั่งลุย” ที่ “นายกฯลุงตู่” กดปุ่มปล่อยโปรโมชัน “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 หลังเฟสแรกทำเรตติ้งทะลุเป้า โกยแต้มให้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐเป็นกอบเป็นกำ

ประชาชนพอใจ “กดไลค์” ทีมรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ “ขุนคลัง” นายอุตตม สาวนายน แม้แต่พวกที่ต่อต้าน บรรดา “เกรียนคีย์บอร์ด” เองก็เถอะ ด่าไปก็แอบโหลดแอปฯรับสิทธิ 1,000 บาท กันทั้งนั้น

มาตรการกระตุ้นปากท้องเศรษฐกิจฐานรากที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม แบบที่กระทรวงการคลังส่งทีมลงสำรวจพื้นที่จริง ทั้งร้านค้าและนักท่องเที่ยว ร่วมใช้จ่าย “ชิมช้อปใช้” กันคึกคัก

สวนทางโพลแบบ “ไทยแลนด์โอนลี่” ที่ทำกันถี่ยิบแบบรายวัน รายสัปดาห์

เอาเป็นว่าแค่ “ชิมช้อปใช้” ยังกระตุกเรตติ้งขนาดนี้ ไม่นับคิวรอ “ปล่อยของ” ที่ทีมนายสมคิดยังมีอยู่ในมือ ทั้งโครงการ “บ้านล้านหลัง” โปรเจกต์ “พลังงานชุมชน” ฯลฯ

“ลุงตู่” กับยี่ห้อ “พลังประชารัฐ” ยังตีกินแต้มได้อีกหลายช็อต

และที่รอตัดริบบิ้นก็คือเมกะโปรเจกต์ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ที่ปั้นให้เป็นผลงานโบแดง

โดยมีการตั้งนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นคณะกรรมการฯขับเคลื่อนหลัก

แม้จะติดเหลี่ยมยึกๆยักๆ “เกมกวนน้ำ” เมกะโปรเจกต์รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน บีบเอกชนเร่งลงนาม แต่อีกทางก็เตะเจาะยางเขี่ยลูกเข้าเหลี่ยมยักษ์ก่อสร้างที่จ่อเสียบแทน

เทียบมาตรฐานความโปร่งใสยุครัฐบาล “ประยุทธ์ภาค 1” เป็นเครื่องหมายคำถามไปถึง “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กำกับกระทรวงคมนาคม

กระแสสื่อกระตุกสังคมจับตาตัวถ่วงอีอีซี

ต่างจากบทพระเอกที่ “หมอหนู” ขี่กระแสสื่อ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ตามขย่ม “มหาภัยพาราควอต” ต้อนทีมประชาธิปัตย์เข้ามุมอับ กดดัน “เสี่ยต่อ” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ออกอาการอึกๆอักๆ ตอบไม่ได้ ไปไม่เป็น สถานการณ์แบบที่สื่อเอ็นจีโอพาดหัว

“พาราควอต” ฆ่าแมลงสาบตายยกรัง.

ทีมข่าวการเมือง