PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

'มาร์ค' จี้คสช.บอกความจริงปชช.เหตุไม่พร้อมทำไพรมารีโหวต

'มาร์ค' จี้คสช.บอกความจริงปชช.เหตุไม่พร้อมทำไพรมารีโหวต



30 ส.ค. 61 - ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้กฎหมายการทำไพรมารี โดยอาจกำหนดให้ใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครส.ส. ว่า รูปแบบการแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถเรียกว่าเป็นการทำไพรมารีโหวตได้ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ควรพูดความจริงกับประชาชน เนื่องจากการหยั่งเสียงแบบไพรมารีไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการที่คระกรรมการบริหารพรรคหรือคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครไปรับฟังความเห็น เพราะบทบัญญัติแบบนี้รัฐธรรมนูญปี 50 ก็มี ก็ไม่ได้เรียกว่าไพรมารีโหวตหรือไพรมารีโหวตฉบับย่อ ดังนั้น การจะทำอะไรควรให้ความจริงกับประชาชน ถ้าไม่อยากทำ ไม่พร้อมที่จะทำ คิดว่าไม่ควรทำแล้วก็พูดตรงๆ จะทำให้ประชาชนไม่สับสน
"ผมแค่ไม่เข้าใจว่าจากเดิมผู้มีอำนาจในปัจจุบันเข้ามา บอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบให้ดีขึ้น หลายครั้งแสดงความรังเกียจแนวทางแบบเดิม แต่ขณะนี้พอจะมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งผมไม่ได้เห็นด้วย 100 % แต่เจตนาที่จะทำ ผมว่าหลายพรรคการเมืองก็พร้อมที่จะทำ แต่ยังไม่ทันปฏิบัติก็มาเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคงเป็นเพราะหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจที่มาทำการเมือง เพราะจะเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา เนื่องจากไพรมารีจะเป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขาต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารี ไปแอบตกลงว่าช่วงท้ายๆให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไม่ได้ เพราะว่าผู้สมัครสส.ต้องผ่านไพรมารีของพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง
วันนี้ปัญหาข้อกฎหมายมีข้อเดียวซึ่งเป็นความบกพร่องของสนช.เอง คือ ควรเปิดโอกาสให้กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้เร็วๆ และให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายได้ เมื่อแก้ไขตรงนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบไพรมารีโหวตจากที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด เพราะพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อยู่แล้ว” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การใช้มาตรา 44 มาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าหลักไม่แน่น เพราะเขียนเอง ลบเอง และหลายครั้งที่ใช้มาตรา 44 มาแก้ไข ก็มีปัญหาว่าหลายบทบัญญัติขัดกันเอง จึงอยากให้ดูตามหลักความเป็นจริง อย่าเอาเรื่องการเมือง ความได้เปรียบเสียเปรียบเข้ามา เพราะการแปรสภาพจากกรรมการมาเป็นผู้เล่นก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระดับหนึ่งอยู่แล้ว การมีความไม่แน่นอนในเรื่องของกติกาเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งเสรีเป็นธรรมเท่านั้นที่จะเป็นหัวใจที่จะเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้ อย่างไรก็ตามพรรคจะปฏิบัติตามกติกาทุกเรื่อง เพราะที่ผ่านมาพรรคไม่เคยหยุดรับฟังปัญหาของประชาชนและมีทางออกประเทศพร้อมเสนอต่อประชาชน หากมีการคลายล็อกให้ประชุมได้ก็จะเรียกประชุมทันที เพราะต้องเร่งแก้ข้อบังคับและการรับสมาชิก

'จุติ' ลั่นปชป.พร้อมสู้เลือกตั้ง นโยบายพรรคตอบโจทย์ประเทศ

'จุติ' ลั่นปชป.พร้อมสู้เลือกตั้ง นโยบายพรรคตอบโจทย์ประเทศ


    
30 ส.ค. 61 - นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เป็นเรื่องดีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณาปลดล็อคการเมือง เพราะประชาชนจะได้มีความหวัง นักลงทุนที่เริ่มไม่แน่ใจว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่จะได้เตรียมลงทุน ทั้งนี้เป็นโอกาสดีที่คสช.จะวางรากฐานการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมให้กับประเทศ จังหวัดไหนที่มีประวัติเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ควรที่จะจับมือกับคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไปชำระล้างให้จังหวัดนั้นๆสะอาด และพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะร่วมมือให้ข้อมูลกกต.และคสช.ว่าจังหวัดใดบ้างที่ใช้อิทธิพลข่มขู่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และหวังว่าครั้งนี้จะปลอดจากอำนาจที่ไม่บริสุทธิ์
"กฎหมายกำหนดอย่างไรพรรคประชาธิปัตย์ก็ยินดีทำตามนั้น เราเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และมีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า ใครที่ทำตัวนอกเหนือกฎหมายในที่สุดก็ได้รับโทษไม่ช้าก็เร็ว " เลขาธิการปชป. กล่าว
นายจุติ กล่าวอีกว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งนั้น พรรคมีความพร้อมมาก เพราะได้เตรียมตัวตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เรื่องของนโยบายพรรคนั้นเกือบจะเสร็จเรียบร้อย เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้เดินทางไปรับฟังปัญหาประชาชนในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เราก็เชื่อว่าเราพร้อมตอบโจทก์แก้ปัญหาประเทศไทยได้
นายจุติ กล่าวต่อว่า เรื่องไพรมารีโหวต พรรคคิดตั้งแต่ต้น ที่หนักใจคือกติกาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่แน่นอน คนเตรียมการทำงานก็เหนื่อย แต่ก็ต้องทำตามกฎหมายที่ระบุ อย่างไรก็ตาม เดิมทีพรรคประชาธิปัตย์คิดว่า ต่อให้ไม่มีระบบไพรมารีโหวต พรรคก็จะทำอยู่แล้ว เช่น การหยั่งเสียงการเสนอหัวหน้าพรรค พรรคอยากให้ประชาชนและสมาชิกเป็นเจ้าของพรรคให้มากที่สุด พรรคนี้อยู่มาได้ 72 ปี เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) เมื่อไหร่ นายจุติ กล่าวว่า ตนในฐานะเลขาธิการพรรคก็ต้องเสนอคณะกรรมการบริการพรรคที่รักษาการว่าพร้อมที่จะดำเนินการเมื่อไหร่ ซึ่งหัวหน้าพรรคให้สัญญาณมาแล้วว่าเตรียมพร้อมไว้นานแล้ว อยากให้ทำโดยเร็วที่สุด
ถามต่อว่า มองอย่างไรที่เมื่อจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เริ่มมีการใช้วิชามาร เช่นการปล่อยคลิปว่าประชาธิปัตย์โดยยุบพรรค เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตอบว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่เจอวิชามารในทางโซเชียล กรณีที่กกต.สั่งยุบพรรค ซึ่งเป็นข่าวเก่าเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อยากจะฝากกกต.ช่วยไปหาแหล่งต้นตอที่เป็นคนเริ่มวงจรอุบาทว์นี้ ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าทำอย่างไรถึงจะให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำอย่างไรไม่ให้อิทธิพลท้องถิ่น มาบังคับให้ประชาชนฝืนใจเลือก ทำอย่างไรการเลือกตั้งถึงจะปราศจากการซื้อเสียง การใช้อำนาจรัฐบีบบังคับประชาชนให้เลือกตามที่ราชการท้องถิ่นต้องการ เรื่องนี้ถือเป็นโจทก์ใหญ่ ซึ่งประชาธิปัตย์ได้เตรียมทีมไว้แล้ว ที่จะติดตามการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบ และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบทันที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

สถานีคิดเลขที่12 : ตัวแปร โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่12 : ตัวแปร โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข



อะไรคือ “ตัวแปร” ที่จะกำหนดบรรยากาศ และผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาแล้ว 27 ครั้ง นับถึง 2 ก.พ.2557 ที่โดนม็อบขัดขวาง ทำให้ลงคะแนนในวันเดียวกันไม่ได้ สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ถ้าเลือกตั้งในปี 2562 เท่ากับว่า ประชาชนว่างเว้นใช้สิทธิทางการเมืองมาเป็นเวลา 5 ปี
เวลา 5 ปี ถ้าเป็นการเมืองปกติ อาจมีเลือกตั้งแล้ว 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย
ความหมายคือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งควรจะได้กำหนดทิศทางบ้านเมืองแล้วถึง 2 รอบเป็นอย่างน้อย
การว่างเว้นไปถึง 5 ปี โดยเฉพาะในมุมของประชาชนจึงมีความสำคัญและเป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตก
ขณะที่ในเรื่องอื่นๆ 5 ปีที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก
เกิดการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสาร อินเตอร์เน็ตเข้ามาขับเคลื่อนโลกทั้งโลกรวมถึงประเทศไทย
ทำให้คนไทยได้เปรียบเทียบตัวเอง สังคมของเราเองกับโลกภายนอกตลอดเวลา
บางเรื่อง อาจจะก้าวหน้าขึ้น แต่ในหลายเรื่อง เห็นชัดว่าถดถอยลงไป
อินเตอร์เน็ตและระบบออนไลน์ทำให้เห็นภาพกว้างและลึกต่อเนื่อง อย่างคนที่เคยกรี๊ดกร๊าดแนวทางการเมืองแบบหนึ่ง มาตอนนี้เปลี่ยนเสียง
บางคนเปลี่ยนอย่างตีลังกากลับหลังหัน เป็นบทเรียนการเมืองให้ได้ศึกษากัน
ข่าวสารที่แพร่สะพัดรวดเร็วกว้างขวาง ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของสังคมโลก ระบบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายเป็นมาตรฐานหรือไม่ ใครโกง ใครไม่โกงกันแน่ เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ รู้ได้ ไม่ต้องรอใครมาบอก ต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อน
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย อารมณ์ของสังคมและประชาชนจะสะท้อนให้เห็นจาก “นโยบาย” ของกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ที่กำลังแต่งตัวรอลงสนาม
ตอนนี้เริ่มแย้มๆ กันออกมาแล้ว อาทิ ปัญหาเกณฑ์ทหาร การจัดซื้ออาวุธ จะเอายังไงกับฎหมายที่ออกโดยสภาแต่งตั้งตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา มาตรการป้องกันปฏิวัติรัฐประหาร ฯลฯ
แนวคิด แนวทางเหล่านี้ ถ้าผู้มีอำนาจปัจจุบันเปิดกว้างให้พรรคการเมือง นักการเมืองหาเสียงกันได้อย่างอิสระโปร่งใส ให้ข้อมูลเดินทางไปถึงประชาชนได้อย่างสะดวก จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทย
ขณะที่เทคโนโลยีสื่อสารจะเป็น “ตัวช่วย” นำพาข้อมูล ความคิดไปสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
แต่มีข่าวแล้วว่า เตรียมจะห้ามการใช้ไลน์ ใช้เฟซบุ๊กหาเสียงกันแล้ว
การคาดหมายว่า พรรคไหนจะไปจะมา อาจใช้ข้อมูลจากการเลือกตั้งปีหลังๆ เป็นฐาน อาจได้ข้อสรุประดับหนึ่ง
แต่ “ตัวแปร” ที่สำคัญมากกว่า ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลก คือความนึกคิด และอารมณ์ของสังคม ภายใต้กรอบกติกาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา
ถ้าแฮปปี้ สบายอกสบายใจ ไม่รู้สึกอัดอั้น ไม่เดือดร้อนเรื่องปากท้อง ก็เรื่องหนึ่ง
แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็เป็นเรื่องใหญ่
และจากวันนี้ ยิ่งบีบยิ่งกด จะยิ่งควบคุมผลได้ยาก
วรศักดิ์ ประยูรศุข

เดินหน้าชน : ยื้อก็พัง เลือกตั้งก็แพ้

เดินหน้าชน : ยื้อก็พัง เลือกตั้งก็แพ้



น่าแปลกใจช่วงนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หน้าตาบึ้งตึง อารมณ์เสียใส่นักข่าวอยู่บ่อยๆ ถึงขั้นไล่พ้นทำเนียบ ทั้งๆ ที่ 4 ปีภายใต้การบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สะสมแต้มต่อทางการเมือง ประเทศสงบราบเรียบไร้ความขัดแย้ง เศรษฐกิจรุ่งเรือง ชาวบ้านอยู่ดีกินดีก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่ใช่หรือที่จะปลดล็อกการเมือง นำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง สานต่อแนวทางเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง
ผมไม่กล้าสันนิษฐานถึงมูลเหตุ ขออาศัยคำพูด จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่วิเคราะห์ว่า “บิ๊กตู่” กำลังเสียศูนย์เพราะไม่มั่นใจหลังพยายามย้ำอยู่เสมอว่าตนเองมีผลงานมากมาย แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่สามารถหยิบยกผลงานใดให้ประชาชนเห็นและจับต้องได้ ความเป็นไปได้ที่จะเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งมีไม่มาก เพราะพรรคการเมืองที่จัดตั้งเพื่อสนับสนุนก็ไม่ถึงไหน พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมก็ไม่แสดงออกว่าสนับสนุน จึงไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะกลับมาอีก
มันเหมือนโลกกลับด้าน ช่างแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่เป็นมวยรอง ถูกกดเป็นเบี้ยล่างมาตลอด 4 ปี ทันทีที่มีสัญญาณเลือกตั้งก็กลับมาคึกคัก เตรียมจัดทำร่างนโยบายเพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งตั้งแต่ไก่โห่
พร้อมชูประเด็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นหลัก จัดทำแคมเปญนโยบายเป็นรายกระทรวง ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่มีข้อบกพร่องเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ หากได้รับเลือกกลับมาเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ทันที
ยิ่งสัญญาณจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรค แสดงความมั่นใจจากผลโพลภายในที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยยังได้รับความนิยมจากชาวบ้าน น่าจะได้ที่นั่งกลับมามากถึง 260 เสียง เนื่องจากวันนี้ชาวบ้านระดับล่างประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ พร้อมกำชับอดีต ส.ส.ให้หมั่นลงพื้นที่พบชาวบ้าน สอบถามความต้องการอยากให้พรรคช่วยแก้ปัญหานำมารวบรวมเป็นข้อมูลส่งไปให้แกนนำพรรคจัดทำเป็นนโยบาย

ผมว่าที่โลกมันกลับด้าน กลับหัวกลับหางเช่นนี้ เพราะครั้งหนึ่งเราเคยคาดหวังกับการปฏิรูปในยุคนี้ มองว่าประเทศน่าจะเดินไปข้างหน้า แต่ผมมาเห็นความกระจ่างหลังฟังคำพูดจากปากเพื่อนที่นั่งอยู่คณะกรรมการปฏิรูปชุดหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า “ในยุคที่บอกว่าต้องการปฏิรูประบบราชการ แต่เอาเข้าจริงเนื้อในกลับแต่งตั้งอดีตปลัดกระทรวงเกษียณอายุกว่า 10 คนมานั่งเป็นกรรมการ มีแนวคิดรวบอำนาจ เพราะคนพวกนี้จมปลักอยู่กับระบบราชการเก่าๆ มาตลอดชีวิต จึงเสียเวลาและเสียค่าเบี้ยประชุมไปอย่างเปล่าประโยชน์”
คงไม่ต่างจากคำพูด ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขียนโดยคนแก่ที่อีกไม่กี่ปีก็เสียชีวิตไปตามอายุขัย แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องอยู่อีกอย่างน้อย 50 ปี ถามว่ายุติธรรมหรือที่คนแก่ๆ เหล่านั้นมากำหนดอะไรไม่รู้ให้เรา แม้คนเขียนกฎหมายตายไปแล้ว แต่ก็ยังมีมือผีของเขามาบีบคอเราเอาไว้ให้ทำตาม
เมืองไทยตอนนี้เปรียบเหมือนท่าเต้นมูน วอล์ก ของไมเคิล แจ็คสัน คือเหมือนจะก้าวไปข้างหน้าแต่แท้จริงแล้วถอยหลัง จำนวนปี พ.ศ.เดินไปข้างหน้า แต่ชีวิตและสังคมของเราเหมือนจะดึงกลับไป ยุค พ.ศ.2520
วันนี้เราจะไปบังคับ “บิ๊กตู่” ไม่ให้อารมณ์บูด หาสาเหตุและปัจจัยคงไม่มีประโยชน์ คงทำได้เพียงขอร้องว่าท่านก็อย่าไปฟังคำพูดพวกปากหอยปากปูที่บอกว่า “ยื้อก็พัง เลือกตั้งก็แพ้”
หากท่านมั่นใจว่า 4 ปีที่บริหารประเทศมีผลงานมากมาย ชาวบ้านท้องอิ่มนอนหลับ ยิ่งมีกลไกรัฐอยู่ในมือก็อย่าไปกลัว หากเป็นของจริงคนไทยพร้อมเทคะแนนให้ท่าน
กลับเข้ามาอีกครั้งอย่างถล่มทลายแน่…

ผู้เล่นเสริมทีม 'ลุงตู่ 4.0'

ผู้เล่นเสริมทีม 'ลุงตู่ 4.0'




ได้คืบจะเอาศอก ได้ศอกจะเอาวา

อ่านไต๋ เดาทาง ตามฟอร์มของนักการเมืองอาชีพทุกยี่ห้อ ไม่มีทางพอใจ ถึงแม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. จะแถลงแสดงความพร้อมใช้อำนาจ ม.44

“คลายล็อกกฎเหล็ก” ให้ขยับทำกิจกรรมพรรคเตรียมเลือกตั้งกันได้

ตามเงื่อนไขสถานการณ์ต้องรอหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.โปรดเกล้าฯลงมา

แต่แค่ 6 ข้อใหญ่ 9 เรื่อง ไม่น่าจะพอ ด้วยเหลี่ยมนักเลือกตั้งอาชีพต้องบีบ คสช.รุกขอเพิ่มเรื่อยๆ

โดยจังหวะโยงกับเกมเร้ากระแสเลือกตั้งที่จะดังขึ้นทุกขณะ

ในอาการแบบที่ “นายกฯลุงตู่” ก็หนีไม่พ้นโดนจี้ต่อมหงุดหงิด พูดเรื่องกำหนดเลือกตั้งวันละ 3 เวลาหลังอาหาร แต่บอกไปยังไงคนก็ไม่ค่อยเชื่อไม่ค่อยฟัง

มันก็แค่จังหวะเล่นชักเย่อกันระหว่างนักการเมืองกับ คสช.

เรื่องของเรื่อง ตัดฉากมั่วๆออกไป กรองสถานการณ์เฉพาะเงื่อนไขที่มีผลโดยตรง

โปรแกรมการเลือกตั้งตามโรดแม็ปไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

อันดับแรกเลย ยึดเอาตามคนที่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆทางการเมือง และจะเกษียณเร็วๆนี้
ล่าสุด “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช. แสดงความมั่นใจ ฝ่ายความมั่นคงสามารถคุมสถานการณ์ได้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไป

ตามกำหนดอย่างเร็วที่สุดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และอย่างช้าไม่เกินวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2562

ล็อกปฏิทินได้ ยังไงวันเข้าคูหากาบัตรต้องอยู่ในห้วงนี้

อีกจุดสำคัญที่บ่งชี้องค์ประกอบของสถานการณ์ใกล้โหมดเลือกตั้งตามวิถีการเมืองไทย

โฟกัสอยู่ที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดคะแนนนิยมของฝ่ายรัฐบาล

ล่าสุด “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ย้ำชัดๆบนเวทีปาฐกถาพิเศษงาน Thailand Focus 2018

“คอนเฟิร์ม” อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2561 จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4.5 ขึ้นไปอย่างแน่นอน จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้แล้วกว่าร้อยละ 4.8

กัปตันทีมเศรษฐกิจสะท้อนความมั่นใจ สถานการณ์ภาพรวมในขณะนี้ถือว่า ไม่มีอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และประเทศไทยยังถือว่ามีจุดเด่นที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนในการดึงดูดนักลงทุน รัฐบาลจะผลักดันในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจภาพรวมติดลมบน ขณะที่การอัดฉีดเศรษฐกิจฐานราก มาตรการดูแลปัญหาปากท้องคนจนก็ปล่อยของกันถี่ยิบ
ล่าสุดมติที่ประชุม ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเงินให้กับผู้ถือบัตรผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมอบรมอาชีพ อีกรายละ 100 บาทและ 200 บาทต่อเดือน เป็นการปรับเปลี่ยนวงเงินซื้อสินค้าร้านธงฟ้า

หรือเบิกเป็นเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มแบงก์กรุงไทยได้อีกต่างหาก

อุดจุดอ่อนปมปากท้อง โหมจุดแข็งการพัฒนาการเศรษฐกิจภาพรวม

ชัดเจน มันคืออาการของรัฐบาลที่แต่งตัวเข้าโหมดเลือกตั้ง

แม้โดยสถานการณ์จะยังยืดเวลา “ตีไพ่” ออกไป ตามเหลี่ยมแบบที่ “นายกฯลุงตู่” แบะท่ายังมีเวลาอีกพักใหญ่ที่จะตัดสินใจเฉลยเส้นทางการตีตั๋วต่อ

เช่นเดียวกับนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ก็ไม่รับมุกข่าวลาออกไปเดินเครื่องพรรคพลังประชารัฐ

แต่การขับเคลื่อนวงในคืบไปเยอะแล้ว แนวโน้มแบบที่ “ล็อกตัว” ผู้เล่นได้

กาชื่อ “เสี่ยติ๊ก” นายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯ จะถูกดันให้ขึ้นแท่นตำแหน่งผู้อำนวยการพรรคพลัง-ประชารัฐ โดยทีมงานค่ายพลังชลจะเป็นทุนตั้งต้นพรรคหนุน “นายกฯลุงตู่”

อีกจุดก็คือแต้มชัวร์ๆจาก “เดอะท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ถูกจัดลำดับชั้นให้เป็น “พันธมิตรชั้นพิเศษ” ของทีมหนุน “นายกฯลุงตู่”

โดยถือธงคุมทัพค่ายชาติไทยพัฒนา ตามเจตนารมณ์ของ “เตี่ย” อดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ผู้ล่วงลับ ให้รักษาสมบัติทางการเมืองไว้ แต่รับปากเทแต้มให้ “ลุงตู่” แบบพันเปอร์เซ็นต์

เป็นคนรุ่นหนุ่มที่เสริมภาพทีม “นายกฯลุงตู่” ยุค 4.0.

ทีมข่าวการเมือง

อ.เจษฯ แย้ง ป.ป.ช. จีที 200 ไม่ใช่พระเครื่อง แนะ ขาดข้อมูลให้บอก อย่าเอาความรู้สึกมาวัด

อ.เจษฯ แย้ง ป.ป.ช. จีที 200 ไม่ใช่พระเครื่อง แนะ ขาดข้อมูลให้บอก อย่าเอาความรู้สึกมาวัด



กรณีที่ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) และอัลฟ่า 6 ว่า เรื่องดังกล่าวยังคงพิจารณาอยู่ และยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่มีการปล่อยให้ขาดอายุความแน่นอน แต่การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า นั้น
(อ่านข่าว ป.ป.ช.เผยคดีจีที 200 วินิจฉัยยาก เหตุจนท.นำไปใช้แล้วรู้สึกคุ้มค่า เหมือนมีพระเครื่อง)
วันที่ 29 สิงหาคม รศ. เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คดีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว ทั้ง ป.ป.ช.ก็ได้ทำการสืบสวน สอบสวนเรื่องนี้ไปเยอะมากแล้ว เนื้อหาของการดำเนินการเพื่อหาคนผิดควรจะเป็นไปในแนวทางความคุ้มค่า หรือไม่คุ้มค่า ไม่ใช่การเอาความรู้สึกมาเป็นตัววัด ว่ารู้สึกคุ้มค่า หรือรู้สึกไม่คุ้มค่า เพราะ จีที 200 ไม่ใช่พระเครื่องที่จะสร้างคุณค่าทางใจได้

“กระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ทำกันมานานพอสมควรแล้ว ซึ่งการสืบสวน สอบสวนก็ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากมาย ผมคิดว่า เรื่องที่ทาง ป.ป.ช.ทำกรณีการดำเนินการเรื่องจีที 200 นั้น ง่ายกว่า ขั้นตอนที่ทางดีเอสไอ ทำ ซึ่งต้องไปสืบสวน สอบสวนกับบริษัท ห้างร้าน ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากเรื่องออกมาเป็นเช่นนี้ทำให้สังคมอดคิดไม่ได้ว่า จะมีการยื้อคดี หรือยืดเรื่องออกไปเพื่อให้เรื่องหมดอายุความหรือเปล่า หรือหาก ทาง ป.ป.ช.ยังขาดข้อมูล ที่ต้องการอยู่ ก็ขอให้บอกมา แต่ไม่ใช่เอาเรื่องของความรู้สึกมาบอกกัน”รศ.เจษฎา กล่าว

ป.ป.ช.เผยคดีจีที 200 วินิจฉัยยาก เหตุจนท.นำไปใช้แล้วรู้สึกคุ้มค่า เหมือนมีพระเครื่อง

ป.ป.ช.เผยคดีจีที 200 วินิจฉัยยาก เหตุจนท.นำไปใช้แล้วรู้สึกคุ้มค่า เหมือนมีพระเครื่อง



ป.ป.ช. เผยคดีจีที 200 วินิจฉัยยาก ไม่ได้ดูแค่ตัวเครื่อง เพราะเจ้าหน้าที่รู้สึกเหมือนมีพระเครื่อง ยัน ไม่ปล่อยหมดอายุความ
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) และอัลฟ่า 6 ที่ยังเหลืออยู่ ว่า เรื่องดังกล่าวยังคงพิจารณาอยู่ และยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่มีการปล่อยให้ขาดอายุความแน่นอน แต่การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้ แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น อย่างไรก็คงจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

เมื่อถามว่า สามารถใช้กรณีการชี้มูลความผิดอดีตข้าราชการใน จ.พิษณุโลก ที่มีการจัดซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดอัลฟ่า 6 (Alpha6) มาเป็นบรรทัดฐานพิจารณาคดีอื่นๆ ได้หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน เพราะกรณีนั้นเป็นการจัดซื้อโดยไม่มีอำนาจ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาจากตัวเครื่องเหมือนกรณี GT200

09.00 INDEX ขอบคุณ เฉลิมชัย สิทธิสาท ความนัย ไม่พร้อม ของ “คสช.”

09.00 INDEX ขอบคุณ เฉลิมชัย สิทธิสาท ความนัย ไม่พร้อม ของ “คสช.”



ต้องขอบคุณแถลงล่าสุดของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ที่ออกมายืนยัน
1 ในภาพรวมการดูแลด้านความมั่นคงไม่มีอะไรน่ากังวล
และ 1 ขณะนี้ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะ “เลื่อน”การเลือกตั้งออกไป
ไม่ว่าจะเป็นการแถลงในฐานะใด
แถลงในฐานะ “ผู้บัญชาการทหารบก” แถลงในฐานะ”เลขาธิ
การคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)
ล้วน CLEAR ล้วนชัด
คำถามก็คือ เมื่อทุกอย่างได้รับการรับรองว่าไม่มีปัญหาด้าน ความมั่นคงแล้วเหตุใดจึงเพียงแค่ “คลาย” ไม่ยอม”ปลดล็อก”
เมื่อย้อนไปศึกษา”เนื้อหา”การประชุมคสช.ก็จะเข้าใจ

จากแถลงของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อีกเช่นเดียวกันว่า การประชุมเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมของคสช.
เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง
ด้านหลักจึงเป็นการพิจารณาประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560

โดยบทสรุปก็คือ จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกเป็นคำสั่ง หัวหน้าคสช.มาอีกฉบับหนึ่ง
จึงชัดเจนว่า ตัวของ “ปัญหา”มาจากไหน
การที่ประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ยังอยู่
ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่มีความหมาย
ขณะเดียวกัน การที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ยังอยู่ ก็ยืนยันด้วยว่า พรป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ไม่มีความหมาย
ทั้งๆที่ประกาศและบังคับใช้แล้วอย่างสมบูรณ์

ไม่ว่าการประชุมคสช. ไม่ว่าการเรียกกกต.และพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมสะท้อนปัญหาออกมาอย่างเด่นชัด
ว่าเพื่อแก้ปัญหาของ “คสช.”
ในอีกด้านเท่ากับสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ฝ่ายที่ไม่พร้อมมิใช่กกต.หรือพรรคการเมือง
หากแต่เป็น “คสช.” เป็น”คสช.”ต่างหากที่ยังไม่พร้อม