PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

นายกฯเผย คปพ.กดดันให้สอดไส้"บรรษัทน้ำมัน"ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชี้เคยท้วงแล้วว่ายังไม่จำเป็น

นายกฯเผย คปพ.กดดันให้สอดไส้"บรรษัทน้ำมัน" ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชี้เคยท้วงแล้วว่ายังไม่จำเป็น โยน สนช.ตัดสินใจ
วันที่ 28 มี.ค.2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เริ่มตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่ก่อนตนเข้ามาเป็นนายกฯ แต่ออกเป็นกฎหมายไม่ได้เพราะมีหลายฝ่ายเรียกร้อง และในช่วง ครม.ชุดแรกของตนก็เสนอกฎหมายดังกล่าวพิจารณานอกจากสัมปทานแล้วให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต (psc) และดำเนินการตามลำดับ แต่มีเครือข่ายประชานปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยนางรสนา โตสิตระกูล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ พยายามตั้งข้อเรียกร้องประเด็นต่างๆ มากมาย รัฐบาลก็รับฟังความต้องการของแต่ละกลุ่ม และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณากฎหมาย

ชี้เคยท้วงแล้วว่ายังไม่จำเป็น


ซึ่งในขั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณากฎหมายนั้น ทราบมาว่าถูกกลุ่มนี้กดดันจะต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ได้ ซึ่ง กมธ.ได้แถลงเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2559 ทั้งที่ตนเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่ายังไม่พร้อมและยังไม่มีความจำเป็น เพราะมีบริษัท ป.ต.ท. จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นรัฐวิสาหกิจ จะซ้ำซ้อนหรือไม่จึงให้ สนช.เป็นผู้พิจารณา ก็ถูกกดดันอีกว่าถ้าไม่มีบรรษัทน้ำมันก็จะมาล้อมรัฐสภา ล้อมทำเนียบรัฐบาล

ไม่ฝันเฟื่องเอาทหารมาคุม


"ถามว่าถูกต้องหรือไม่ การเสนอรับข้อเสนอมาแล้วเสนอให้ สนช.พิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมก็ต้องรับกติกาตรงนั้นว่าเป็นเรื่องของ กมธ. ใช้วิธีกดดันแบบนี้ประเทศชาติเสียหาย ส่วนการหวังให้ทหารเข้าไปดูบรรษัทน้ำมัน กรมพลังงานทหารทำหน้าที่นี้ไม่ได้หรอก เขามีหน้าที่จำกัดไม่ใช่มีหน้าที่ประกอบการบรรษัทธุรกิจ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครไปฝันเฟื่องเอามาเป็นประโยชน์ของทหาร ไม่เคยคิดเอาทหารมาดูแล ขอให้เข้าใจว่าเป็นข้อเสนอของภาคประชาชนหลายเครือข่าย และยังไม่รู้เลยว่าถ้าตั้งแล้วใครจะเป็น ไม่ใช่ผมแน่นอน สนช.ก็บรรจุไปเพื่อบรรเทาความขัดแย้ง โดยเขียนว่าจะเริ่มต้นเมื่อพร้อม ซึ่งมันไม่พร้อมง่ายๆ เพราะต้องใช้ทุนมหาศาล รัฐบาลไม่มีเงินลงทุนหรอก ไม่ใช่ง่ายๆ 5 บาท 10 บาท อย่ามาสงสัยรัฐบาล ส่วน กมธ.ที่มีสัดส่วนของทหารเยอะนั้น เพราะถูกต่อต้านเยอะ ไม่มีใครกล้าเป็น มีแต่ทหารเป็นให้ เพราะโดนกลุ่มนี้ประท้วงมาตลอด"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

รีบดันกฎหมาย-หวั่นพลังงานขาด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือต้องการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ออกมาเป็นกฎหมายให้ได้ เพราะต้องดูเรื่องการลงทุน การขุดเจาะน้ำมัน การทำสัมปทาน เพราะเดี๋ยวพลังงานขาดแคลน และใช้เวลา 5-6 ปี กว่าบริษัทที่ได้รับสัมปทานจะเริ่มลงทุนหาเงินกู้มาได้ จึงต้องรีบทำตอนนี้ ถ้าไม่ทำหลายประเทศก็ไปลงทุนที่อื่น ไม่มาลงทุนกับประเทศที่มีปัญหาอย่างนี้หรอก

ขู่ถ้าประท้วงอีกต้องจัดการตามกฎหมาย

"ยืนยันถ้ามาประท้วงอีกต้องดำเนินการตามกฎหมาย ให้อภัยไปหลายทีแล้ว ไม่ใช่เพราะมาขัดแย้งผม แต่ท่านทำผิดกฎหมาย ส่วนความคิดเห็นท่านไปแสดงในช่องทางที่ถูกต้องและยอมรับในกติกาเสียบ้าง วันนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติอะไรก็ได้กับผม ไม่ใช่ ถ้ามันดี มันถูกผมรับมาแล้ว นี่ผมรับมาแล้วยังมีปัญหาเลย ไม่รู้อะไรนักหนา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

“บิ๊กตู่” รับเพิ่งสั่งย้ายสารวัตรในภูเก็ต จวกคนจ่ายเงินให้ทำไมโง่แบบนี้วะ

“บิ๊กตู่” รับเพิ่งสั่งย้ายสารวัตรในภูเก็ต จวกคนจ่ายเงินให้ทำไมโง่แบบนี้วะ
        นายกรัฐมนตรีเผยเพิ่งสั่งย้ายสารวัตรในภูเก็ต หลังมีคนร้องเรียนเพียบ ปมทะเลาะตำรวจและสื่อ จวกคนจ่ายเงินให้-โง่สุดโง่ ทำไมโง่แบบนี้วะ แล้วก็มาโทษรัฐบาล รับบางเรื่องไม่มีหลักฐานก็ทำอะไรให้ไม่ได้ 
       
       วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า วันเดียวกันนี้ได้สั่งย้ายตำรวจในตำแหน่งสารวัตรคนหนึ่งที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากมีการร้องเรียนก็ต้องสอบสวนซึ่งเบื้องต้นเรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงแต่ก็ต้องให้ผู้บังคับบัญชาสอบสวน และเอาตัวออกมานอกพื้นที่ก่อน เพราะมีการร้องเรียนเข้ามา และเท่าที่ทราบมีเรื่องการทะเลาะกันด้วยระหว่างตำรวจกับนักข่าวในพื้นที่ เมื่อมีการร้องชัดเจน มีทั้งชื่อ ที่อยู่ สังกัด และความผิดที่ร้องเรียนว่ามีเรื่องอะไรก็แจ้งมาจะได้ดำเนินการสอบ ทั้งนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
       
       “ถ้ามาบอกลอยๆ ว่าเป็นคนใกล้ชิดนายกฯ รองนายกฯ พอสอบและไล่ไปมาก็ไม่ใช่ กลายเป็นใกล้ชิดที่ปรึกษานายกฯ พอถามว่าที่ปรึกษาคนไหน ก็กลายเป็นไม่ใช่ที่ปรึกษา แต่เป็นคนใกล้ชิดที่ปรึกษานายกฯ แล้วไอ้คนจ่ายเงินมันโง่สุดโง่เลยจริงๆ เอาเงินไปให้เขา ทำไมโง่แบบนี้วะ แล้วก็มาโทษรัฐบาล เรื่องแบบนี้ต้องไปหาข้อมูลมาให้เกิดความชัดเจน ไม่มีใครจะมาฝืนกติกาผมได้ เว้นแต่ผมไม่รู้ ไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐาน ผมก็ทำอะไรให้ไม่ได้เหมือนกัน วันนี้เราทำงานทุกอย่างเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นให้ได้ ทุกคนต้องเข้าใจผมด้วย เพราะทุกปัญหาที่ถามมาล้วนเป็นงานกิจกรรมของแต่ละกระทรวง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

เตรียมติดใบแจ้งหนี้หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้าพรุ่งนี้

พรุ่งนี้ เจอกัน !!!
สะพัด !
ยอดเรียกเก็บกว่า1.7หมื่นล้าน ใบแจ้งปิดหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้าพรุ่งนี้
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงการประเมินเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องดำเนินการก่อนหมดอายุความภายในวันศุกร์ที่ 31 มีนาคมนี้ ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบตัวเลขเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป เพราะยังไม่ได้รับรายงานสรุปข้อมูลภาษีหุ้นชินคอร์ปว่าจะต้องจ่ายเท่าไร ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และตามขั้นตอนปกติของกระบวนการทางกฎหมาย หากได้ข้อสรุปแล้วเจ้าหน้าที่จะนำใบแจ้งที่ต้องชำระภาษีส่งทางไปรษณีย์ หรือนำไปส่งมอบให้กับบุคคลภายในบ้านของผู้ที่ต้องเสียภาษีรับใบแจ้งให้รับทราบเป็นลำดับแรกก่อน แต่หากมีการปฏิเสธหรือไม่สามารถนำส่งใบแจ้งได้ ขั้นตอนต่อไปจึงจะนำใบแจ้งดังกล่าวไปปิดบริเวณบ้านที่เห็นได้ชัดเจน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มขั้นตอนนำส่งใบแจ้ง เพราะยังไม่มีการสรุปตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะต้องจ่ายเท่าไร
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้ข้อสรุปการประเมินเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปจากนายทักษิณแล้ว โดยคิดเป็นจำนวนเงินภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท และกำหนดจะนำใบแจ้งไปปิดหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่ 28 มีนาคมนี้ และจากนั้นผู้เสียภาษีสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน คณะทำงานของกรมสรรพากรสรุปให้ประเมินภาษีตามแนวทางที่ว่ามีการซื้อหุ้นราคาต่ำกว่าราคาตลาด ในช่วงที่บริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นให้นอมินีของอดีตนายกรัฐมนตรีในราคาหุ้นละ 1 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดตอนนั้นที่อยู่ที่ 49.25 บาทต่อหุ้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีคำสั่งให้กรมสรรพากรประเมินเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปจากนายทักษิณ ตามแนวทางที่ได้ประชุมร่วมกันกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และผู้ที่เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้ รวมถึงมีการรายงานแนวทางให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ต่อมานายประสงค์ ได้ลงนามคำสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อประเมินภาษีจากกรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 นี้ โดยมีผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีอากร กรมสรรพากร เป็นประธานคณะทำงาน และล่าสุดมีข้อสรุปเกี่ยวกับการประเมินภาษีออกมา ภายใต้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เสนอมา โดยแนวทางของรัฐบาลคือให้กรมสรรพากรหาทางประเมินให้ได้ไปก่อน จากนั้นถ้าเก็บไม่ได้จริงๆ ก็ให้คดีไปหลุดในชั้นอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมสรรพากรประเมินเก็บภาษีจากนายทักษิณเสร็จ ก็ถือว่าเรื่องนี้จบ และจะไม่ติดเงื่อนไขเรื่องอายุความอีก
..............
ที่มา มติชน