PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

โอ๊ค เมินถอดยศ ผุดแคมเปญ “เติมก.ไก่ ให้นาย…ทักษิณฯ”



โอ๊ค เมินถอดยศ ผุดแคมเปญ “เติมก.ไก่ ให้นาย…ทักษิณฯ”
“พานทองแท้” ประกาศร่วมแคมเปญ “เติม ก.ไก่ ให้นาย…ทักษิณฯ” ชี้ถอดยศทำง่าย เเต่ถอดนาย(ก)ทักษิณฯ ออกจากหัวใจชาวบ้านทำยาก
วันนี้ (10 ก.ย. 58) นายพานทองเเท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงลงเฟซบุ๊คส่วนตัว @Oak Phanthongtae Shinawatra เชิญชวนรณรงค์เติม ก.ไก่ ให้นาย…ทักษิณฯ ภายหลังคสช. มีคำสั่งถอดยศ พ.ต.ท. ของนายทักษิณ ไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
ทีมเพื่อนโอ๊คขอร่วมเกาะกระแสคนออนไลน์ “เติม ก.ไก่ ให้นาย…ทักษิณฯ” ด้วยคนครับ
ต้องขอขอบคุณ ผู้ที่ริเริ่มแคมเปญเปลี่ยนโปรไฟล์เฟสบุ๊ค เป็นการรณรงค์ “เติม ก.ไก่ ให้นาย…ทักษิณฯ” เพื่อให้กำลังใจท่าน รวมทั้งขอขอบคุณพี่น้องในโลกออนไลน์ทุกๆ ท่าน ที่ร่วมเปลี่ยนโปรไฟล์ในครั้งนี้ด้วย ถือซะว่าเป็นการต้อนรับท่านเข้าสู่การเป็นประชาชนเต็มขั้น ไม่ต้องมียศฐาบรรดาศักดิ์ ให้แตกต่างจากชาวบ้านทั่วๆ ไป เป็นนายทักษิณ ชินวัตรนี่แหละดี จะได้ใกล้ชิดชาวบ้านมากขึ้นไปอีก
ถอดยศทักษิณนั้นถอดง่าย แค่อ้าง ม.44 เซ็นต์ชื่อแกร๊กเดียว ก็สามารถถอดยศพันตำรวจโท ออกจากทักษิณฯ ได้แล้ว แต่จะถอดนาย(ก)ทักษิณฯ ออกจากหัวใจชาวบ้าน ยิ่งถอดแรงขึ้นเท่าไหร่ นาย(ก)ทักษิณฯ กลับยิ่งฝังลึกเข้าไปในหัวใจชาวบ้านมากขึ้นทุกทีๆ
กราบขอบพระคุณ ทุกกำลังใจที่มีให้นะครับ ยศฐาบรรดาศักดิ์มีไปก็กินไม่ได้ ปัญหาปากท้องชาวบ้านสิเรื่องใหญ่ ถอดยศถอดเยส เสร็จภารกิจสะใจกันไปเรียบร้อยแล้ว อย่าชักช้ารีบหันกลับมา เริ่มแก้ปัญหาปากท้องให้ชาวบ้าน ที่เดือดร้อนกันอยู่ทุกวันนี้ สักทีเถอะครับ
‪#‎นายกในดวงใจ‬ ทีมเพื่อนโอ๊ค
......................
MThai News

นายกฯ แจงยึด สถานการณ์ความมั่นคง เลือก"พลเอกทวีป" เลือกทหาร เป็นเลขาสมช.



นายกฯ แจงยึด สถานการณ์ความมั่นคง เลือก"พลเอกทวีป" เลือกทหาร เป็นเลขาสมช. ต้องบุกบ่าฝ่าฟัน ได้ แจงไม่ใช่"กนกทิพย์"ไม่เก่ง ยันพร้อมดูแลอย่างอื่น ถ้ามันสามารถกระทำได้ ท่านก็ต้องอดทน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นางกนกทิพย์ รัชตะนันท์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ท้อใจยื่นใบลาออกเนื่องจากไม่ได้รับพิจารณาขึ้นเป็นเลขาธิการสมช.ทั้งที่มีอาวุโสเป็นรองเลขาธิการสมช.อันดับแรก แต่รัฐบาลเลือกคนนอก ว่า ไม่ใช่คนนอก ก็คนในระบบราชการทุกคนเป็นข้าราชการหมดอยู่แล้ว ก็ต้องมาดูว่าสถานการณ์ความมั่นคงมันมีปัญหาอย่างไรไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เก่ง แต่ด้วยสถานการณ์วันนี้มันควรจะต้องมีบุคลากรที่มีความที่มันบุกบ่าฝ่าฟัน ได้ทำนองนี้ ไม่ใช่ท่านไม่เก่ง
"คือเราก็พร้อมดูแลอย่างอื่น ถ้ามันสามารถกระทำได้ ท่านก็ต้องอดทน แล้วท่านก็เพิ่งเป็นรองเลขาธิการสมช.ได้ปีหนึ่งใช่ไหม ถึงแม้จะเป็นลูกหม้อใช่ไหม ก็เยอะแยะไปหลายกระทรวงหลายพื้นที่เขาเป็นรองฯเขาไม่เห็นได้เป็นเลย ไม่เช่นนั้นก็ต้องประท้วงกันหมด"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯจะยับยั้งการลาออกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า จะยับยั้งได้อย่างไรเป็นความสมัครใจ ผมไม่ได้บังคับให้เขาลาเมื่อไหร่ล่ะ
เมื่อถามอีกว่า นายกฯจะมีการชี้แจงกรณีนี้ให้เป็นที่เข้าใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ใครๆชี้แจง หน้าที่ใครๆเป็นผู้บังคับบัญชาเขา ใครเป็นคนย้ายมา ใครเป็นคนตั้งคน สมช.เป็นคนตั้งเข้าใจหรือเปล่า เลขาธิการสมช.เสนอขึ้นมา ถ้าเมื่อเขาพิจารณาแล้วไม่เหมาะสม เขาก็ต้องมีคนอื่นไปเทียบเคียง ความเหมาะสมไม่เหมาะสม คือเหมาะสมกับสถานการณ์การปัจจุบัน มีมันก็ตัวเลือกเข้าไป ในเมื่อตัวเลือกพิจารณาขึ้นมา ผมก็เซ็นอนุมัติ แต่ความรับผิดชอบแน่นอนผมเป็นคนเซ็น ไม่ใช่ว่ามีอำนาจซ้อนอำนาจผมไม่ใช่ ทุกอย่างที่ตั้งมาไม่ว่าใครมาจากไหนก็ตามต้องให้เขาพิจารณาจากข้างล่าง ไม่ใช่เอาไอ้นี้เป็นโน่นเป็นไม่ได้ เข้าใจไหม

โฆษก คสช. แจงคุมตัว "พิชัย นริพทะพันธุ์" เพราะทำผิดเงื่อนไข ที่ตกลงกับ คสช. ระบุมีเจตนามุ่งทำลายความน่าเชื่อถือ



โฆษก คสช. แจงคุมตัว "พิชัย นริพทะพันธุ์" เพราะทำผิดเงื่อนไข ที่ตกลงกับ คสช. ระบุมีเจตนามุ่งทำลายความน่าเชื่อถือ โดยใช้เพียงทัศนคติส่วนตัวมาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเสนอข้อมูลในลักษณะเชิงพาดพิงกล่าวหา ด้วยมีข้อมูลไม่ครบ มีความพยายามชี้นำให้สังคมสับสนไม่มั่นใจ นานกี่วันขึ้นอยู่กับความร่วมมือ
พันเอกวินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวกรณีที่ คสช.คุมตัว นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน แกนนำพรรคเพื่อไทย ว่า กองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส.)จำเป็นต้องเชิญมาแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ ตามแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อยเดิม
ทั้งนี้เพราะ ช่วงหลังนายพิชัย เริ่มแสดงออก ไม่เป็นตามเงื่อนไขที่ได้ขอความร่วมมือไว้ เหมือนมีเจตนามุ่งทำลายความน่าเชื่อถือโดยใช้เพียงทัศนคติส่วนตัวมาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเสนอข้อมูลในลักษณะเชิงพาดพิงกล่าวหา ด้วยมีข้อมูลไม่ครบ มีความพยายามชี้นำให้สังคมสับสนไม่มั่นใจ ต่อภาครัฐบ่อยครั้ง ซึ่งหลายอย่างก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้
ทั้งนึ้ จนท. คงจะพยายามใช้การทำความเข้าใจเป็นหลัก ใช้เวลาแค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือ และดุลพินิจของ จนท.ที่รับผิดชอบ

นายกฯ ตีมือ ทีมรปภ. เตือน หลังดึงเสื้อและ คอยกันVIP ประธานสมาพันธุ์อัญมณี ไม่ให้เข้าใกล้นายกฯ



นายกฯ ตีมือ ทีมรปภ. เตือน หลังดึงเสื้อและ คอยกันVIP ประธานสมาพันธุ์อัญมณี ไม่ให้เข้าใกล้นายกฯ /บิ๊กตู่ ปรามลูกนัองต้วเอง ให้เกียรติ ประธานสมาพันธ์ฯบ้าง เผยทีมรปภ.นายกฯ สุดเข้มช่วงนี้/ ผบ.ร.21 รอ.ถกเครียดอบรมทีมรปภ. ทันที
ผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า เมื่อเวลา10.30น.วันที่10 ก.ย. ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเ ป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับบางกอกเจมส์ แอนด์จิวเวลลี่ แฟร์ ครั้งที่ 56
นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ได้เดินเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้าอัญมณโดยมีนายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณีเครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ เป็นผู้พาชมและอธิบาย
แต่ปรากฎว่าทีมรปภ.ของพล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าไปกันและดึงตัว นายสมชาย ออกห่างจากนายกฯ ในลักษณะที่ไม่รู้ว่า นายสมชายเป็นใครพร้อมแทรกตัวเข้าไปกันออก ขณะที่นายสมชายได้พยายามขี้แจงว่าตัวเองเป็นใครและขอเข้าไปใกล้นายกรัฐมนตรีเพื่ออธิบายรายละเอียดของงาน
แต่รปภ.ก็ไม่ยอม ดึงเสื้อนายสมชาย ออกอีกจนทำให้ นายสมชาย ไม่พอใจ พร้อมกล่าวว่า ทำไมไม่ให้เกียรติกันบ้าง ผมเป็นคนจัดงานนี้นะ"พร้อมหันไปฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ว่า "รปภ.ของท่านกันมากไม่ให้เกียรติกันเลย"
ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวนายกรัฐมนตรีเหลือบเห็นเหตุการณ์และหันไปตีมือรปภ.คนดังกล่าวพร้อมกล่าวว่า"ต้องให้เกียรติท่านบ้าง" ก่อนที่จะหันไปเตือน ผู้การตั้ม พ.อ.วรยุทธ์ แก้ววิบูลย์พันธ์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 (ผบ.ร.21รอ.)หัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัย ด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วรยุทธ์ ได้เรียกประชุม รปภ.ทั้งหมดทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โดยได้กำชับทีมรปภ.ทุกคนให้ระมัดสำหรับบุคคลที่เป็นวีไอพีในแต่ละงาน และแยกแยะบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ทีม รปภ.นายกฯ เข้มงวดมาก ตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ และ การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งเพิ่งเกิดเหตุการณ์ที่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือน้องเพนกวิ้น บุกตั้งคำถามนายกรัฐมนตรีพร้อมโชว์ป้ายเรียกร้องให้อธิบายเรื่องการลดการเรียนการสอนหน้าที่พลเมืองลง ทีม รปภ.ได้มีการเช็คประวัติและเพิ่มมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น ถือว่าไม่น่าปล่อยเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก และต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาอีก เป็นสาเหตที่ทำให้มีการเพิ่มความเข้มงวดจนเกิดเหตุการณ์ในวันนี้

นายกฯให้คุย Marapatani ต่อ แม้ต้องคุยถึงชาติหน้า...


นายกฯให้คุย Marapatani ต่อ แม้ต้องคุยถึงชาติหน้า....
นายกฯ ถก สมช. ยังไม่รับ 3 ข้อเสนอ MaraPatani ยันไม่ต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ เพราะหลักการพูดคุยเป็น 1ใน9ยุทธศาสตร์อยู่แล้ว ไม่ยกระดับ ชื่อกลุ่ม จะชื่ออะไรไม่สำคัญ ขอแค่เป็นเอกภาพมาคุยกับเรา แนะคณะพูดคุยให้ไปคุยต่อ แม้ต้องคุยถึงชาติหน้าก็ตาม ยันจากนี้ต้องเป็นการพิสูจน์ ความไว้วางใจ ขอMaraPatani อย่าใช้ความรุนแรงกดดัน ขอแค่เป็นเอกภาพ จะชื่ออะไรไม่สำคัญ เรา ไปหาโจทย์ให้เจอ ยันเขตนารมณ์รัฐบาลไทยจริงใจในการพูดคุย แก้ปัญหา เชื่อMarapatani ก็มีเจตนาเดียวกัน ส่วนอะไรที่เป็นปัญหา ก็อย่าเพิ่งคุย อย่าเพิ่งให้ข่าว คุยกันให้จบก่อน แล้วค่อยคุยกับสื่อพร้อมกัน...หนุน ทำSafety zoneพิสูจน์ใช่ตัวจริงมั้ย พร้อมคุยอีกทุกกลุ่ม เพราะอาจมีศักยภาพหลายกลุ่ม เท่าเทียมกัน ผมถือว่าเป็นการต่อสู้กันทางความคิด ไม่ใช่สู้ด้วยกำลัง ส่วนมาเลเซียก็เต็มที่กับเรา ประเทศมุสลิม ก็ให้กำลังใจเรา ไม่ต้องมีข้อเรียกร้อง แต่เราจะทำความเข้าใจกันใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 /2558 ร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เวลาประชุมกว่า 1ชม.30 นาที
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการพูดคุยในครั้งที่ผ่านมาของคณะพูดคุยฝ่ายไทยและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีการทบทวนหลักการและเหตุผลในการพูดคุย
"การพูดคุยนั้นถือเป็น ลวาระแห่งชาติ"อยู่แล้ว เพราะเป็น 1 ใน 9 ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาใต้ ของรัฐบาล ดังนั้นเมื่อการพูดคุยถือเป็นวาระแห่งชาติ จึงไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติตามที่กลุ่มนั้นมีการเรียกร้อง
แต่ต้องมีการทำความเข้าใจกับตัวแทนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบด้วย
ส่วนอีกข้อเรียกร้องของMarapatani ที่ต้องการให้เรารับรองชื่อกลุ่มนั้น จะต้องมีการพิสูจน์ความไว้วางใจกันให้ได้ก่อน เวลานี้ยังไม่จำเป็นที่ไทยจะต้องยกชื่อใครขึ้นมา เพราะต้องมองเจตนาของแต่ละฝ่าย รัฐบาลไทยมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างมาก ซึ่งหากอีกฝ่ายมีเจตนาแบบเดียวกันก็เป็นเรื่องดี
นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ยังเป็นปัญหาพูดคุยกันไม่ได้ ก็ยังเพิ่งคุย และไม่ควรที่จะสานต่อ แม้กระทั่งการให้ข่าว ผมอยากให้มีพูดคุยก่อน จากนั้นเมื่อได้ข้อตกลงจึงค่อยชี้แจงพร้อมกัน
แต่เราไม่สามารถสั่งอย่างนั้นได้ แต่วันนี้ได้สั่งการว่าในเรื่องของหลักการและเหตุผลจะต้องพูดคุยกันต่อไป ไม่ว่าผลตอบรับจะสำเร็จช้าหรือเร็ว แต่คือการแก้ปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องทำเพราะเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก
"การพูดคุยใช่ว่าจะสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว เนื่องจากว่ามีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มทีมีศักยภาพมากและมีศักยภาพน้อย ซึ่งบางเรื่องยังไม่เป็นที่ยอมรับกันภายในกลุ่มของตนเอง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องไปสร้างการยอมรับภายในกลุ่มให้ได้เสียก่อน
ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ร่วมพูดคุยต้องค่อยๆพูดคุยกันไป เพราะถ้าทั้งหมดเข้ามาพูดคุยจะไม่มีกลุ่มใดเพิ่มศักยภาพของตนเองขึ้นมา
วันนี้หลายกลุ่มได้พยายามยกระดับของตนเองให้มีความเท่าเทียมกัน
"ผมอยากเรียกเรื่องดังกล่าวนี้ ว่าเป็น "การต่อสู้ทางความคิด" ซึ่งมีกำลังในการเสริมให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ต้องหลีกเลี่ยงคำพูด ที่สุ่มเสี่ยงระหว่างกัน จึงต้องมีผู้อำนวยความสะดวกคือประเทศมาเลเซีย นั่นแสดงให้เห็นว่าการพูดคุยในรัฐบาลนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันหลายประเทศต่างให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และประเทศมุสลิมก็ระบุว่าเห็นใจรัฐบาลมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหา อาเซียนเองก็สนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี
อย่างไรก็ตาม 3 ข้อเรียกร้องของMarapatani นั้น ผมได้ให้คำตอบกลับไปโดยต้องทำความเข้าใจกันใหม่ แต่หากยังไม่เข้าใจกันก็ไม่เป็นไร ต้องพูดเรื่องอื่นๆที่สามารถทำได้ไปก่อน
โดยระยะแรก เป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างเอกภาพของแต่ละฝ่าย ฝ่ายเขามีเอกภาพหรือยีง
สาวนของเรา ยืนยันว่ารัฐบาลเป็นเอกภาพอยู่แล้ว เพราะผมเป็นนายกฯดูแลทั้ง กอ.รมน., ศอ.บต. จึงถามว่าอีกฝ่ายเป็นเอกภาพแล้วหรือยัง หากยังไม่เป็นต้องไปสร้าง
"แล้วอย่ามาใช้ความรุนแรงกดดันเรา " นายกฯ กล่าว
ส่วนระยะที่สอง เมื่อเกิดความเชื่อใจกันแล้วก็ต้องหาโจทย์ของแต่ละกลุ่มให้เจอ เช่น การลดความรุนแรง กฎหมายกระบวนการยุติธรรม การพัฒนา ศูนย์วัฒนธรรมของชาวมุสลิม ที่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
เมื่อถามว่า 3ประเด็นที่กลุ่มMarapatani เสนอมานั้น รัฐบาลไม่รับใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยัง “และอย่ามากดดันผมให้รับ”
จากนั้นนายกฯย้อนถามสื่อว่า “ท่านรับกับเขาหรือไม่ ถ้ารับแล้วเกิดเหตุการณ์ขึ้น ท่านรับผิดชอบได้ไหม เข้าใจผมตรงนี้บ้างสิ นี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จะพูดอะไรตัดสินใจอะไร เสนอข่าวอะไร ระวังด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ล่อแหลมละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการสร้างวามเข้าใจ ถ้าไม่ได้อย่างนี้จะไปอย่างไร เขาเรียกว่าต่อรอง”
เมื่อถามว่า จะสนับสนุนแนวทางการพิสูจน์ตนเองของMarapatani ด้วยการจัดsafety zone พื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ผมเป็นคนกำหนดไปเอง ซึ่งได้สั่งการและตีกรอบ เมื่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวทางต่างๆเข้ามาผมเอามาดูแล้วสั่งการ ผมเป็นนายกฯต้องรู้ทุกเรื่อง หากไม่อนุมัติแล้วจะดำเนินการได้อย่างไร
เมื่อถามว่า ประเมินว่าการเจรจาที่ผ่านมาของผู้ก่อเหตุเป็นความต้องการลดความรุนแรงจริงๆ หรือเพื่อการต่อรอง นายกฯ กล่าวว่า อย่างเพิ่งแสดงความเห็นว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยเขาได้แสดงเจตนารมณ์เขามาพูดคุย ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง ต่อไปอยู่ที่ขั้นตอนของการสร้างความเข้าใจเอาปัญหามาเจอกัน ซึ่งขั้นตอนต่างๆต้องไม่ผลีผลาม จะตบปากรับคำกันเลยคงไม่ได้ อีกฝ่ายก็รับคำเราเลยไม่ได้ เราเองก็รับปากเขาเลยยิ่งไม่ได้
แต่อะไรที่รับได้เราจะรับ เช่น เรื่องที่จะเกิดความสงบปลอดภัย แต่อย่ามากดดันกันเอง ซึ่งผมไม่ได้กดดันอีกฝ่าย ผมทำเพื่อประชาชน ถามว่าฝั่งโน้นทำเพื่อประชาชนหรือไม่ ในการพูดคุยตนได้กำหนดประเด็นไปแล้ว
เมื่อถามว่า จะสานต่อการพูดคุยต่อไปใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดันว่า มีสิ
" ถึงชาติหน้าโน้นถ้ายังไม่จบ ก็จะคุยกันถึงชาติหน้า "
“ถ้าผมทำงานกับคนของผมก็คงจบกันแค่นี้ แต่นี่เขาไม่ใช่คนของผม เขาเป็นฝ่ายตรงข้ามมีการใช้อาวุธ และความรุนแรง ผมจะไปกำหนดอะไรเขาได้ เว้นแต่เขาจะมาด้วยใจ
แต่ผมก็มีกรอบมาตรการที่เตรียมไว้ให้ เช่น กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เตรียมไว้หมดแล้ว มีเครื่องมือและหลักการไว้แล้ว ก็อยู่ที่กระบวนการและการแสดงความจริงใจต่อกัน หากจริงใจก็จบต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ แก้ไขปัญหาเก่า แต่วันนี้ที่ไม่จบเพราะสร้างปัญหาใหม่ทุกวันๆ ก็ไม่จบสักเรื่อง กี่ชาติก็ไม่จบ ทุกเรื่องเลย” นายกฯกล่าว

สมช.เสนอรัฐบาล ตั้ง "กระทรวงความมั่นคง" รองรับสถานการณ์ความมั่นคง ทั้งในประเทศ และภูมิภาค

สมช.เสนอรัฐบาล ตั้ง "กระทรวงความมั่นคง" รองรับสถานการณ์ความมั่นคง ทั้งในประเทศ และภูมิภาค ยกระดับ กอ.รมน.รวมศูนย์ หน่วยมั่นคงทั้งหมด
นายอนุสิษฐ์ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เผยว่า ด้วยสถานการณ์ความมั่นคง ภักคุกคามต่างๆ สมช. มีแผนเสนอให้รัฐบาล พิจารณา จัดตั้ง กระทรวงความมั่นคง ในลักษณะ Homeland Department เพื่อมาดูแลเรื่องความมั่นคง ทั้งหมด
อาจเป็นการยกระดับ กอ.รมน.ให้เป็น กระทรวง แล้วนำหน่วยงานความมั่นคง ต่างๆมารวมกัน และเป็นหน่วยในการปฏิบัติ ด้วย แต่โดยสถานการณ์บ้านเมือง ตอนนี้ เรามองว่า เราควรมีการจัด ให้เป็นระบบสากล
แต่ สมช. จะยังคงทำหน้าที่ของฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายมันสมอง ด้านความมั่นคงให้รัฐบาล ต่อไป ไม่ได้ไปรวมใน กระทรวงความมั่นคง นี้
นายอนุสิษฐ กล่าวว่า การตั้งกระทรวงความมั่นคง เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมางานความมั่นคงขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมทำงานหนักมาก เพราะต้องสั่งการด้านความมั่นคงทุกอย่าง ทุกกระทรวงมีกฎหมายเป็นของตัวเองทำให้ต่างคนต่างทำ
ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้การทำงานง่ายขึ้นคือให้คนที่มีบารมี มีความรู้ความสามารถเป็นผู้สั่งการซึ่งตนคิดว่าเป็นภาระอันหนักหน่วงมากจึงรู้สึกเห็นใจ เราจึงพยายามทำงานอย่างเต็มที่เพื่อคอยสนับสนุนการทำงานของพล.อ.ประวิตร
เมื่อถามว่า กระทรวงความมั่นคงจะต้องให้สมช.เป็นหลักในการทำงานหรือไม่ นายอนุสิษฐ กล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาลควรที่จะมีที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสมช.จะเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบาย
ส่วนการบูรณาการและสั่งการที่ขณะนี้กระจายอยู่ ซึ่งหลายประเทศก็มีการตั้งกระทรวงความมั่นคง เช่น เวียดนาม จีน เพื่อดูแลการป้องกันตามแนวชายแดน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ รวมถึงการทำงานด้านการต่างประเทศบางส่วน Coast guard
ส่วนจะยกระดับกอ.รมน.ขึ้นมาเลยหรือไม่นั้นก็อาจเป็นไปได้ เพราะหากงานบางอย่างไปทับซ้อนการทำงานกันอยู่เราก็นำกอ.รมน.ไปฝากกองทัพไว้เพราะยังไม่มีหน่วยในการบรูณาการ ซึ่งก็ถือเป็นภาระของกองทัพ ส่วนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ดูแลชายแดนไทยในขณะนี้กำลังจะเปิดประชาคมอาเซียนดังนั้นการที่จะเป็นแนวป้องกันทางบกขณะนี้คำถามคือควรเป็นหน่วยงาน

เมื่อถามว่า สำหรับไทยมีระบบความมั่นคงที่แตกต่างจากประเทศอื่นคือให้กระทรวงมหาดไทย(มท.) ดูแลความมั่นคงภายใน กระทรวงกลาโหม (กห.) ดูแลความมั่นคงภายนอก ว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ดูความมั่นคงภายในแล้ว เนื่องจากงานค่อนข้างใหญ่ เพียงแค่การดูแลประชาชนในประเทศค่อนข้างมากทำให้การดูแลความสงบเรียบร้อยในประเทศในส่วนของมท.ก็ใหญ่มากอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่าจะนำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปรวมด้วยหรือไม่ นายอนุสิษฐ กล่าวว่า ตนยังไม่รู้ แต่ที่สมช.คิดไว้นาน แล้วเพียงแต่ว่าขณะนี้อย่างที่นายกฯ บอกว่าปัญหาเฉพาะหน้ามีมากอยู่แล้ว แต่เราก็มีแผนที่จะนำเสนอ
ทั้งนี้มีรายงานข่าว ว่า แนวคิดการตั้งกระทรวงความมั่นคง นี้ เดิม มาจากแผนการยกระดับ กอ.รมน. เป็นกระทรวง ที่เคยมีแผนมาก่อนหน้านี้แต่มาตอนนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ระเบิด แยกราชประสงค์ และปัญหาเรื่องการก่อการร้าย ในภูมิภาค และโลก และความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ไอเอส. จึงทำให้มีการคิดเรื่องนี้อีกครั้ง

บิ๊กตู่ บอก นิติราษฎร์ เป็นกก.ร่างรธน.ได้ ไม่เชิญ ให้สมัครเอง-เรียก"การุณ"เข้าค่าย



"บิ๊กตู่" ชี้ กก.ร่างรธน.ต้องเก่งกฎหมายมหาชน บอก นิติราษฎร์เป็นได้ แต่มาสมัครเอง ไม่เชิญ. -  ลั่น เชิญ"พิชัย"มาเลี้ยงข้าวเฉยๆ เพราะวิจารณ์รบ.ไม่หยุด
http://www.matichon.co.th/online/2015/09/14418774681441877492l.jpg
เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ตึกสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ทำเนียบรัฐบาล

โดยเมื่อเวลา 15.50 น. นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ยืนยันจะยังคงเดินหน้าเจรจาต่อไป ในส่วนการเจรจาสันติภาพนั้น อะไรที่เป็นปัญหาก็ขอให้อย่าเพิ่งให้ข่าว ทั้งนี้กลุ่มในพื้นที่ก็มีหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นช่วงของการต่อสู้ทางความคิด มีทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ขออย่าให้วิจารณ์ประเทศมาเลเซีย ที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ยืนยันประเทศทุกประเทศสนับสนุนให้ไทยแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ส่วนเงื่อนไขทั้งสามข้อที่ยื่นมานั้น ยังพิจารณาไม่ได้ เป็นเพียงการต่อรอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี อะไรที่รับได้และเป็นการลดความรุนแรงก็จะรับ ยืนยันการเจรจาของรัฐบาลมีกระบวนการและหลักการอยู่เเล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการแสดงความจริงใจต่อกัน ปัญหาก็จบ แต่ขณะนี้ที่ไม่จบเพราะ ก่อปัญหาทุกวัน

ส่วนการควบคุมตัว นายพิชัย นริพทะพันธ์ุ นั้น เพราะมักมีการพูดจาท้าทายอำนาจรัฐ เป็นการเอาไปเลี้ยงข้าวเลี้ยงปลา ค้างคืน เฉยๆ ไม่รู้ว่าจะให้ค้างคืนนานหรือเปล่า หลังจากนี้ ตนจะพิจารณาเองว่าจะมีอีกหรือไม่ โดยดูว่าใครยังพูดจาให้ประเทศเสียหายอีกหรือไม่ โดยนอกจากการยึดพาสปอร์ตและนำตัวควบคุมในค่ายทหารแล้ว อาจใช้พาสเตอร์ปิดปากด้วย ขอร้องอย่าพูดโจมตีรัฐบาล คนที่ต่อต้านตนไม่มีใครยอมหรอก เพราะตนไม่ได้มาตามระบบปกติ จะเรียกมาเรื่อยๆถ้าผิดก็จะเรียกเข้าค่ายทหารอีก รวมถึงเก่ง การุน โหสกุล ด้วย

ส่วนการเลือกตัวประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ ส่วนจะเอาคนเก่ามาร่วมด้วยหรือไม่ยังไม่ได้คิด โดยใน วันที่ 22 กันยายนนี้จะมีการพูดคุยกัน และน่าจะได้ชื่อประธาน ยืนยันตนให้โอกาสทุกคนเสนอมาและตนจะพิจารณาเอง โดยจะเอานักกฎหมายเป็นหลัก ต้องเก่งกฎหมายมหาชนและพาณิชย์ด้วย รวมถึงนักการเมืองยอมรับ ไม่งั้นไปไม่รอด ส่วนคนคิดต่างเช่นนักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ ก็ขอให้สมัครเข้ามา ทั้งนี้เคยเชิญแล้วก็ไม่มา ตนไม่เชิญแน่นอน อยากมาเป็นก็มาสมัครเอง ตอนนี้ให้ทุกคนไปหามาอยู่ ซึ่งหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือแก้ปัญหาประเทศได้ การร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องยาว เพราะตนเคยพูดไปเเล้วว่ามันเยอะไป ส่วนการเสนอนายวิษณุ เครืองาม มานั่งประธานนั้นคงไม่ได้

ส่วนกรณีการปฎิรูปตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั้น ต้องมีการปรับปรุงเครื่องมือครั้งใหญ่ ให้ดีขึ้น คนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ใครผิดก็ต้องรับผิด แต่การแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบ เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอ ซึ่งจะต้องมีการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องทุกฝ่าย

179บิ๊กขรก.พ้นตำแหน่งเกษียณ60ปี

เผยรายชื่อ 179 บิ๊ก ขรก.พ้นตำแหน่ง เกษียณฯครบ 60 ปี ‘มหาดไทย’มากสุด 31 คน

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 10 กันยายน 2558 เวลา 17:19 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่
โปรดเกล้าฯ 179 ขรก.พลเรือนระดับสูง 21 กระทรวง/เทียบเท่า พ้นตำแหน่ง เกษียณฯ อายุครบ 60 ปี 1 ต.ค.58 ก.มหาดไทยมากสุด 31 คน รองลงมา สำนักปลัดสำนักนายกฯ 28 คน สาธารณสุข 26 คน 
10092015002

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา 10 ก.ย.58 เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนพ้นจากตําแหน่งประเภทบริหารระดับสูง และตําแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ สังกัดส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ้นจากตําแหน่ง รวม 179 ราย ดังนี้ 
1.สํานักนายกรัฐมนตรี จํานวน 28 ราย อาทิ นายจําเริญ ยุติธรรมสกุล พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี
2.กระทรวงการคลัง จํานวน 6 ราย อาทิ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง
3.กระทรวงการต่างประเทศ จํานวน 17 ราย อาทิ นายนรชิต สิงหเสนี พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง นายสุรพล มณีพงษ์ พ้นจากตําแหน่ง เอกอัครราชทูตประจํากระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง
4.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จํานวน 4 ราย อาทิ นายขจร วีระใจ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง
5.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จํานวน 2 ราย นายวิเชียร ชวลิต พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง และ นางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน
6.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จํานวน 7 ราย อาทิ นางอารีย์ โสมวดี พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สํานักงาน ปลัดกระทรวง นายชาญพิทยา ฉิมพาลี พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมการข้าว นายจุมพล สงวนสิน พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมประมง นายอภิชาต จงสกุล พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมหม่อนไหม นายวราวุธ ขันติยานันท์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
7.กระทรวงคมนาคม จํานวน 7 ราย อาทิ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงาน ปลัดกระทรวง
8.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จํานวน 4 ราย อาทิ นายเสรี โสภณดิเรกรัตน์ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวง สํานักงาน ปลัดกระทรวง 
9.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จํานวน 1 ราย นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานสถิติแห่งชาติ
10.กระทรวงพลังงาน จํานวน 3 ราย อาทิ นายคุรุจิต นาครทรรพ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงาน ปลัดกระทรวง
11.กระทรวงพาณิชย์ 5 ราย อาทิ นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่าง ประเทศ
12.กระทรวงมหาดไทย จํานวน 31 ราย อาทิ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง นายแก่นเพชร ช่วงรังษี พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวง สํานักงาน ปลัดกระทรวง 
13.กระทรวงยุติธรรม จํานวน 5 ราย อาทิ พลตํารวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงาน ปลัดกระทรวง
14.กระทรวงแรงงาน จํานวน 7 ราย อาทิ นายนคร ศิลปอาชา พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง
15.กระทรวงวัฒนธรรม จํานวน 4 ราย อาทิ นายบวรเวท รุ่งรุจี พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมศิลปากร นางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
16.กระทรวงศึกษาธิการ จํานวน 10 ราย อาทิ นายกมล ศิริบรรณ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง นางรัตนา ศรีเหรัญ พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สํานักงานปลัดกระทรวง นางสุทธศรี วงษ์สมาน พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา สํานักงาน เลขาธิการสภาการศึกษา นายพินิติ รตะนานุกูล พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
17.กระทรวงสาธารณสุข จํานวน 26 ราย อาทิ นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง
18.กระทรวงอุตสาหกรรม จํานวน 8 ราย อาทิ นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวง สํานักงาน ปลัดกระทรวง
19.สํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จํานวน 2 ราย
20.สํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จํานวน 1 ราย นายสุทธิพร จิตต์มิตรภาพ พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 
21.ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จํานวน 1 ราย นางกิตติมา นวลทวี พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัด ชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป 
ประกาศ ณ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 
อ่านฉบับเต็ม

การดับเครื่องชน “คสช.”ของ “ทักษิณ” คือการสู้ครั้งสุดท้ายให้สหรัฐอเมริกาเห็นว่ายังมีบารมีอยู่ ?


หลังจากถูกถอดยศพันตำรวจโทแล้ว ทักษิณ ชินวัตร ก็ออกมาปรากฏตัวเป็นข่าวถี่ขึ้น
วานนี้ออกมาตอบโต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.เรื่องถอดยศ
จนถูก นายกฯลุงตู่ โต้กลับ ด้วยคำพูดแรง  ๆ  ถึงขั้น นายกฯลุงตู่ ขอร้องสื่อตรงไปตรงมา
ว่าอย่าเอาเรื่องของคนไม่ดีมาเปรียบเทียบกับท่าน และเตือนผู้ให้การสนับสนับว่าให้ระวัง
เนื่องจากมีข้อกฎหมายห้ามไว้ วันนี้สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับจึงงดการเสนอข่าวของทักษิณ
222222222222222222
หากจะมีก็เพียงหนังสือพิมพ์รายวันที่ถือตัวว่าเป็นยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ คงเล่นข่าวอยู่
ก็เป็นสิทธิของสื่อมวลชนที่จะทำ หากจะยึดคำว่า “ข่าวก็คือข่าว” และคงต้องดูกันต่อไป
แต่สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ เหตุใด ทักษิณ ชินวัตร จึงยังกล้าต่อปากต่อคำกับ คสช. อย่างนั้น
ทั้ง ๆ ที่ในขณะนี้  เครือข่ายทางการเมืองของทักษิณในประเทศกำลังถูกกฎหมายลงโทษ
แต่เมื่ออ่านคอลัมน์ กรองข่าวมาเล่า ที่เขียนโดย คุณภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ อดีต ผอ.สขช.
ที่ตีพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 ก.ย.58 จึงได้คำตอบว่า ทักษิณมีผู้หนุนหลังที่ใหญ่มาก
อ่านบทความท่อนท้ายสุดของเรื่อง  “การปฏิบัติลับทางการเมือง” ของคุณภุมรัตน์ดูครับ
“สำหรับประเทศไทย เวลานี้สหรัฐมีทางเลือก 3 ทางคือ (1)เล่น “ไพ่ทักษิณ” ต่อโดยหา
ทางบ่อนทำลายรัฐบาล คสช.ทุกวิถีทาง ซึ่งอาจใช้ความรุนแรงมากขึ้นเพื่อให้ประชาชน
ไล่รัฐบาล (2) เมื่อโค่นรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้ จึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเพราะ
คิดว่าเลือกตั้งเมื่อไร พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาล (3)ทบทวนนโยบาย เพราะไพ่ทักษิณ
ไม่ขลังอีกแล้ว เนื่องจากเจอคดีอีกหลายคดี ลูกน้องบริวารก็ถูกศาลจำคุก ซึ่งสหรัฐก็พูด
ไม่ออกเพราะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางศาล ยิ่งปล่อยให้นานไป ผลประโยชน์
ของสหรัฐทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์และผลประโยชน์ในไทยก็ลดน้อยลงไป ฝ่ายความมั่นคง
ของสหรัฐเห็นว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐควรทบทวนนโยบายใหม่ เพราะหากเดินเช่นนี้ต่อ
ผลประโยชน์ของสหรัฐจะถูกกระทบมากขึ้น” อ่านบทวิเคราะห์นี้แล้ว ผมจึงหายแปลกใจครับ
ว่าทำไมทักษิณจึงกล้าดับเครื่องชน คสช. เพราะนี่คือโอกาสสุดท้ายของทักษิณจะแสดงผลงาน
ให้สหรัฐอเมริกาที่หนุนตัวเองเห็นว่า เขายังมีอำนาจและบารมีอยู่ในประเทศไทย อย่างล้นเหลือ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ห้วงเวลานี้ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งของสังคมไทยที่จะต้องระมัดระวัง
เฮือกสุดท้ายในการรักษาทั้งหน้าและอำนาจของทักษิณ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ทุกรูปแบบครับ !

เทพมนตรี เสนอนายกฯใช้อำนาจม.44ยกเลิกMOU44




จดหมายเปิดผนึก
10 กันยายน พ.ศ.2558
เรื่อง การใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ยกเลิก บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือเรียกอย่างย่อว่า MOU44
กราบเรียน ฯพณฯท่าน พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ( นายกรัฐมนตรี )
กระผมนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นเพื่อนำเรียนมายังฯพณฯท่าน ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์สำคัญสูงสุดของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย กระผมคิดว่าเป็นภาระความจำเป็นของ ฯพณฯท่านในอันที่จะต้องยกเลิก "บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน" หรือเรียกอย่างย่อต่อไปนี้ว่า MOU44 ที่ได้ทำกับคู่ภาคีสัญญาคือ ประเทศกัมพูชา ได้ลงนามกันในรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร (เอกสารแนบ1) ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 ซึ่ง MOU44 ฉบับนี้น่าจะเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2540 โดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย มีลักษณะเข้าข่ายของการเป็นหนังสือสนธิสัญญาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตทางทะเล ทำให้ไทยต้องสูญเสียพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลไปเป็นจำนวนมาก
เพื่อให้ฯพณฯท่านได้มีข้อมูลและความเข้าใจนำไปสู่การตัดสินใจยกเลิก MOU44 กระผมจะได้ชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวเรียงตามลำดับดังนี้
1.ประวัติศาสตร์ความเป็นมา
ประเทศไทยและประเทศกัมพูชามีพรมแดนทั้งทางบกและทางทะเลติดต่อกัน มีการเจรจาและอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายและการเจรจาว่าด้วยเรื่องเขตแดนกันหลายครั้ง เฉพาะเขตแดนทางทะเลประเทศไทยได้มีการประกาศมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2502 ในลักษณะต่างๆและมีการประกาศครั้งสำคัญในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2516 (เอกสารแนบ 2) คือ ประกาศเขตพื้นที่ในไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย ส่วนกัมพูชาได้มีการประกาศเขตพื้นที่ในไหล่ทวีปมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 (เอกสารแนบ 3) ในการประกาศเขตพื้นที่ในไหล่ทวีปของทั้งสองฝ่ายได้ก่อให้เกิดพื้นที่ที่ทับซ้อนกันขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการประกาศพื้นที่ในไหล่ทวีปของไทยมีพื้นฐานทางกฏหมายทางทะเลรองรับและเป็นไปตามหลักการของเส้นมัธยะ ส่วนกัมพูชาลากเส้นแบ่งเขตพื้นที่ในไหล่ทวีปไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ
ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2513-2538 มีการเจรจาพื้นที่ในไหล่ทวีปกัน 3 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะฝ่ายไทยยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเขตพื้นที่ในไหล่ทวีปที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธินั้นไม่เป็นถูกต้อง
จนกระทั่งเมื่อมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา หรือ MOU43 ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย (ซึ่งมีปัญหาขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน) สถานการณ์แห่งความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายดีขึ้นหลังจากการจัดทำ MOU43 เขตแดนทางบก เพราะกัมพูชาหวังประโยชน์ที่จะย้ายหลักเขตแดนหมายเลข 73 ตรงจังหวัดตราดไปอยู่ในตำแหน่งใหม่ ให้ตรงกับที่ตั้งจุดเล็งจากแผ่นดินลงไปในทะเลตามที่ได้ประกาศเอาไว้
ต่อมามีการประชุมกันในเรื่องเค้าโครงร่างของ MOU44 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2543 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย และรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2544 ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพื่อดำเนินการจัดทำ MOU44 เขตพื้นที่ในไหล่ทวีปที่ทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธิ์ โดยการลงนาม MOU44 เป็นไปอย่างรวดเร็วในรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร หลังการประชุมกันเพียงแค่ 2 เดือน เป็นความรีบเร่งอย่างผิดสังเกตและมีนัยยะสำคัญในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
2. MOU44 ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช 2540
ในช่วงระยะเวลาของการทำ MOU 44 นั้นประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ตราไว้ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2540 เป็นปีที่ 52 โดยกำหนดให้
"มาตรา 214 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
มาตรา 224 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศหนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา"
การลงนามใน MOU44 ซึ่งเป็นเรื่องเขตพื้นที่ในไหล่ทวีปที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันจึงน่าจะเข้าข่ายในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ซึ่งควรที่จะทำการลงประชามติเสียก่อน และมาตรา 224 ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นหนังสือสนธิสัญญาเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยและเขตอำนาจแห่งรัฐ ในที่นี่จึงน่าจะหมายถึงเขตแดนทางทะเลและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ อีกทั้งตอนต้นของคำอารัมภบทใน MOU44 มีข้อความที่ควรหยิบยกขึ้นมาความว่า
"รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา (ต่อไปนี้เรียกว่าภาคีผู้ทำสัญญา) ปรารถนาที่จะกระชับความผูกพันแห่งมิตรภาพซึ่งมีมาช้านานระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตระหนักว่าจากผลของการอ้างสิทธิของประเทศทั้งสองในเรื่องทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทยทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน (พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน) พิจารณาว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศทั้งสองที่จะตกลงกันบนพื้นฐานที่ยอมรับได้ร่วมกันโดยเร็วสำหรับการแสวงประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนโดยเร็วที่สุด..."
จากข้อความดังกล่าวนี้จึงแสดงให้เห็นถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตที่ภาคีผู้ทำสัญญาได้ตกลงกันในพื้นที่ที่อ้างสิทธิในไหลทวีปที่ทับซ้อนกันซึ่งก่อนหน้านี้ในการเจรจาไทยเคยยืนยันว่า การอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชาไม่ถูกต้องตามกฏหมายทางทะเล (แล้วทำไมจึงถูกต้องได้)
ข้อตกลงในการทำ MOU 44 ในข้อ 2 ยังปรากฏข้อความที่น่าสนใจและเป็นการยอมรับว่า MOU44 เป็นสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม เป็นการแบ่งเขตทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะอย่างชัดเจน ดังความที่ว่า
"2. เป็นเจตนารมย์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดเจรจาที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน
ก. จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาการพัฒนาร่วม) และ ข.ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย เป็นเจตนารมย์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติตามบทบัญญัติของข้อ (ก) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้"
จะเห็นได้ว่าในข้อตกลงที่ทำขึ้นใน MOU44 ได้ยอมรับว่านี่คือสนธิสัญญาไว้อย่างไม่ต้องสงสัยและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตที่ตรงตามบัญญัติไว้ในมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2540
นอกจากนี้ในเอกสารแนบท้าย MOU44 ยังปรากฏแผนที่แสดง AREAS OF OVERLAPPING MARITIME CLAIMS (เอกสารแนบ 4) ที่แสดงความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงเขตแดนทางทะเลของไทยไปแล้วจากเดิมที่เคยอ้างสิทธิ์ไว้ใน ปีพ.ศ.2516
3.ข้อเสนอ
จากข้อ(1) และ ข้อ(2) ที่กระผมนำมาแสดงต่อฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านคงได้เห็นแล้วว่า MOU44 นั้นขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจริง และถ้าหากนำบทบัญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับปีพุทธศักราช 2557 (ฉบับปัจจุบัน) ที่รัฐบาลของฯพณฯท่านกำลังใช้อยู่ในขณะนี้ นำมาเปรียบเทียบก็จะเห็นได้ว่า
มาตรา 23 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการทําหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นท่ีนอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอํานาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออก พระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม ของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการน้ี สภานิติบัญญัติ แห่งชาติจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องหนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ตามวรรคสอง หมายถึง หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทําให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการอื่นตามที่กฎหมาย บัญญัติ เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรี จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งน้ี ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่ได้รับคําขอ"
ดังนั้นความจริงย่อมประจักษ์ชัดว่า MOU44 นั้นขัดต่อบทบัญญัติที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้เช่นกัน และการที่จะนำเอา MOU44 ไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาปิโตรเลียมร่วมกันกับประเทศกัมพูชาย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและเป็นการไม่ชอบด้วยกฏหมายอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้กระผมจึงมีข้อเสนอดังนี้
1.ขอให้ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรีทำการยกเลิก/บอกเลิกMOU44 ที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายฉบับนี้ ด้วยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ดังนี้
"ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อ ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติท่ีชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งน้ี เมื่อได้ ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว" ซึ่งฯพณฯท่านสามารถทำได้ทันที
2. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ (หากฯพณฯท่านมีความสงสัย) สถานะความเป็นหนังสือสนธิสัญญาที่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตของ MOU44 ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตามมาตรา 23 เพื่อหาแนวทางบอกเลิกคู่ภาคีในสัญญาคือ ประเทศกัมพูชา
3. เมื่อดำเนินการยกเลิก MOU44 แล้ว ขอให้ฯพณฯท่านได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงได้ดำเนินการลาดตระเวณน่านน้ำในบริเวณพื้นที่ที่ประกาศเขตไหลทวีปที่ไทยได้ประกาศไว้ในปี พ.ศ.2516 เพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาเขตแดนทางทะเลและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยอย่างเคร่งครัด
4. ดำเนินการเปิดการเจรจาปัญหาเขตแดนทางทะเลกับกัมพูชาใหม่ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับความเป็นจริง บนพื้นฐานทางกฏหมายและหลักสากล แม้จะใช้เวลานานก็ไม่เป็นไร
5. การนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนทุกระดับชั้น
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรีจะได้รับฟังและได้อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนคนไทย โดยดำเนินการตามที่กระผมได้ร้องขอ
ขอแสดงความนับถือ
นายเทพมนตรี ลิมปพยอม
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์