PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เปิดสูตร-เปลือยร่าง 'รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย'



เปิดสูตร-เปลือยร่าง 'รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย'

เผยสูตรไม่ลับในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย นายกคนนอก-เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ-ส.ว.ไม่เลือกตั้ง-ปิดทางแก้ไข รธน.-ต่ออายุ สปท.-เลื่อยเก้าอี้นายกฯ+ล้ม ครม. ทั้งคณะได้-นิรโทษกรรมเหนือกาลเวลา-ซุกมาตรา 44 ในบทเฉพาะกาล
ไม่แน่ใจนักว่าคนส่วนใหญ่เคยเล่นเกมส์กันมาบ้างหรือไม่ หากเคยมีประสบการณ์ร่วมกันก็คงเข้าใจดี เกมส์จำนวนมากถูกสร้างมาให้มีเทคนิคบางอย่างที่ทำให้ผู้เล่นเล่นเกมส์ที่ว่า นั่นได้สนุกขึ้นกว่าเดิม และเล่นได้นานขึ้นกว่าเดิม อาจเป็นเพราะทุกครั้งที่ ใช้สูตรโกง มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ควบคุม ไม่ได้เป็นผู้เล่นที่ถูกเกมส์ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเกมส์แนวผจญภัย แนวต่อสู้ หรือแนววางแผนการรบ โปรแกรมเมอร์มักจะแอบซ่อนเทคนิคกลโกงกลต่างๆ เอาไว้เสมอ
คนเล่นเกมส์มักจะมีคำที่ใช้เรียกแทนตัวเองว่า “เกมส์เมอร์” คนประเภทนี้จัดได้ว่ามีความมุมานะในระดับสูงเพื่อที่จะทำความเข้าใจเกมส์สัก เกมส์ พยายามควบคุม และเล่นกับมันให้สนุก เพื่อลิ้มรสชาติของผู้ชนะ
ลองคิดดูเล่นๆ หากการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ มีสถานะไม่ต่างกันจากการทำความเข้าใจเกมส์ สิ่งที่เราพบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย คือสูตรเกมส์มากมายหลากหลายกระบวนท่า แต่เห็นจะมีเพียงสิ่งเดียวที่ต่างกันออกไปคือ ยิ่งพยายามทำความเข้าใจมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งเห็นการควบคุมที่รัดแน่น เราเห็นหลากสิ่งหลายอย่างที่จัดวางเอาไว้เพื่อลดทอนอำนาจของผู้เล่น และอีกสิ่งที่เรามองเห็นคือ เราไม่ใช่เจ้าของเกมส์
1.คาถาอันเชิญเทพจุติ
กระบวนท่าแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเด็นที่คนกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งคือการเปิดที่ทางให้กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอก แม้ในร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ได้เขียนเอาไว้โต้งๆ ว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกัน
รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้เพียงแค่ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะส่งให้สภาผู้แทนฯ ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง หรือพรรคใดจะไม่เสนอเลยก็ได้ แต่จะหมดสิทธิในการมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองของตน
ทั้งนี้ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นไปตามการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ โดยผู้ที่ถูกเสนอรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ และจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่
หากดูจากระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาใหม่นั้น มองในแง่ร้ายที่สุด มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเกิดขึ้นได้ยาก หรือในสถานการณ์การทางเมืองที่ยังมองไม่เห็น อาจเกิดการตีความว่าเป็นสถานการณ์เป็น วิกฤติความชอบธรรม ดังที่ กปปส. เคยอ้างเพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลังจากมีการผลักดัน พ.ร.บ นิรโทษกรรม และเรียกร้องให้มีการตั้งนายกคนกลางโดยอ้างมาตรา 7
ฉะนั้นด้วยระบบเลือกตั้งที่พยายามไกล่ให้เกิดรัฐบาลผสม และการเปิดที่ทางให้กับนายกคนนอก ในสถานการรณ์จริงหากต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม ไม่ว่าจะด้วยวิกฤติความชอบธรรม หรือด้วยเหตุใดก็ตาม อาจทำให้มีการจัดวางตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ลงตัว ถึงที่สุดช่องว่างระหว่างนั้นจะทำให้มีการเสนอชื่อนายกคนนอก หรือที่เรียกในภาพลักษณ์ที่ถูกทำให้ดีว่า นายกคนกลาง เข้ามาแทนที่ได้
2.จุดพุลรวมพล
แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่หายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) แม้ตัวองค์กรจะหายไป แต่อำนาจพิเศษที่ใช้คุมรัฐบาลไม่ได้สลายหายไปด้วย ทว่ากลับกระจายอำนาจต่างไปสู่องค์กรอิสระ อย่างเช่น
ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยมีอำนาจพิเศษในการดูแลการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (จะกล่าวแยกต่อไป) และมีอำนาจในการตีความมาตรา 7 ในรัฐธรรมฉบับเดิม โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ย้ายจากมาตรา 7 มาอยู่ที่มาตรา 207 โดยระบุว่า
"การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแห่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากเดิมที่วาระเพียง 5 ปี ถูกเพิ่มมีวาระ 7 ปี และมีอำนาจมีเพิ่มเติมมาคือการ กำหนดวันเรื่องตั้ง และประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งได้ ซึ่งระบุไว้ มาตรา 99 โดยระบุว่า
“ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศกำหนดตามมาตรา 97 หรือมาตรา 98 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุด”
ทั้งนี้ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังได้กำหนดกลไกใหม่ หากพบว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายหรือโครงการอะไรที่ทำ หรือจะทำแล้ว ส่อว่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ โดยให้อำนาจ 3 องค์กรคือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และ กกต. สามารถหารือร่วมกัน และหากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายนั้น ให้มีมติร่วมกันและเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อช่วยระงับยับยั้ง หรือช่วยเตือนให้ระงับยับยั้งก่อนที่จะเกิดความเสียหาย แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปแล้วเกิดความเสียหาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย
ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้คือ ความพยายามในการควบคุมอำนาจในการบริหารของรัฐบาล และอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา โดยศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
3.สร้างค่ายกล 200 อรหันต์
สำหรับเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้นในร่างรัฐธรรมนูญระบุไว้ในมาตรา 102 ว่า มีที่มาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะประโยชน์ร่วมกัน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยการเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ยังไม่การเขียนที่ชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
โดยที่อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ยังคงเดิมคือ สามารถพิจารณาและยับยั้งกฎหมายได้ แต่งตั้งคณะกรรมการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงการเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ แต่ไม่ให้อำนาจถอดถอนกับ ส.ว. เหมือนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์
มากไปกว่านั้น ในมาตรา 75 ระว่า ให้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา แต่ถ้าในกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทน และโดยปกติหากประธานวุฒิสภาไม่สามารถทำหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ต้องให้รองประธานสภาผู้แทนฯ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา แต่ในมาตรา 75 ระบุให้ รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทน และหาก รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ ให้วุฒิสภาที่มีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
4.ล็อคคอ ปิดตาย ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพยายามแก้ไขปัญหาข้อถกเถียงที่มีอยู่ก่อนหน้าการรัฐประหาร อย่างเช่นในข้อถกเถียงที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการควบคุมดูแลการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และทำได้มากน้อยเพียงใด พูดให้ถึงที่สุดคือมีอำนาจที่จะตัดสินว่าอะไรแก้ได้หรือแก้ไม่ได้
ประเด็นสำคัญในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทว่าเป็นการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในรัฐธรรมนูญระบุว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติ่มรัฐธรรมนูญต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ โดยในวาระแรกเป็นการออกเสียงลงคะแนนวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของสองสภา โดยในจำนวนนี้จะต้องมี ส.ว. เห็นด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่
ฉะนั้น ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงเป็นด่านแรกที่ต้องฝ่าไปให้ได้ นี่คงไม่ต้องพูดถึงการแก้ไขที่มา และอำนาจของ ส.ว.
ต่อมาในวาระที่ 2 เป็นขั้นพิจารณารายมาตรา โดยการออกเสียงในชั้นนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญ
ถัดมาในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ใช้วิธีการเรียกชื่อลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของสองสภา แต่ในจำนวนนี้จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าสิบคน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนของแต่ละพรรคการเมือง
และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกน้อยกว่าพรรคละสิบคน ถ้ารวมกันได้ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ต้องมีความเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของทถกพรรคการเมือง
นั่นหมายความว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกล้มได้ง่าย โดย ส.ส. เพียงไม่กี่คน เช่นพรรค XXXX มี ส.ส. ทั้งหมด 10 คน  หากไม่มีใครเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยก็สามารถที่จะล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
มากไปกว่านั้นในวาระสามนี้ ยังต้องการคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งทั้งเท่าที่มีอยู่
ทั้งนี้ประเด็นหลักที่ต้องไม่ลืมคือ รัฐธรรมนูญออกแบบมาให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร 500 คน และวุฒิสภา 200 คน(ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ในการผ่านแต่ละวาระต้องใช้คะแนนเสียง เกินกว่า 350 เสียง (ในกรณีที่มีสมาชิกทั้งสองสภารวม 700 คน)
ในขั้นต่อมาหากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ได้แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน ก่อนนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นทูลกล่าวทูลกระหม่อมถวาย ทั้งนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทั้งสองรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของแต่ละสภา สามารถเสนอเรื่องให้ประธานแห่งสภา แล้วแต่กรณี หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อ มาตรา 252 คือต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ โดยในประธานแห่งสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หรือหากเห็นว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1(บททั่วไป) หมวด 2(พระมหากษัตริย์) หรือหมวด 15 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ให้มีการลงประชามติก่อน
ดังนั้นเห็นว่าขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญถูกล็อคหลายชั้นมาก และถือที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัย ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
5.คาถาต่อชะตาสภาขับเคลื่อนฯ
หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากเสียงประมติ หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังคงมีหลายสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หนึ่งในนั้นคือการ ต่ออายุให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ยังทำหน้าที่ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะ หรือร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปได้อีก 1 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หากลองประมวลจากภาพรวมของรัฐธรรมนูญทั้งหมด มีหลายส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล เห็นได้จากการให้อำนาจ 3 องค์กรอิสระ สตง. ป.ป.ช. และ กกต. สามารถหารือร่วมกัน และหากเห็นว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จะก่อให้เกิดความเสียหาย ให้มีมติร่วมกันและเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อช่วยระงับยับยั้ง หรือช่วยเตือนให้ระงับยับยั้งก่อนที่จะเกิดความเสียหาย แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปแล้วเกิดความเสียหาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย
มองในแง่ร้ายที่สุด รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกจับตาในทุกการดำเนินนโยบาย แต่สิ่งที่สามารถทำได้โดยสะดวกคือการ เดินตามแนวทางการปฏิรูปที่ได้วางเอาไว้โดย สปช. และสานต่อโดย สปท.
ทั้งนี้ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ สปท. ยังคงทำหน้าที่อยู่นั้น หากมีการดำเนินการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อการปฎิรูป ผู้ที่จะพิจารณาเห็นชอบกฎหมายในช่วงเวลานั้น คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญไม่มีมาตราใดที่ระบุถึงความรับผิดชอบของ ผู้วางรากฐานแนวทางการปฏิรูป หากในอนาคตเกิดการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปแล้วส่งผลให้เกิดความเสียหาย
6.คาถาล้มนายกฯ
การล้มนายกรัฐมนตรี และ ครม. ทั้งคณะ ยังเป็นหมัดเด็ดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ในมาตรา 162 ได้ระบุถึงเหตุที่ทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยใน (4) ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 139
เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาตรา 139 โดยหลักการระบุถึง การพิจาราณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย โดยกำหนดให้สภาผู้แทนไม่สามารถแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนรายการได้
ทั้งนี้ในวรรคสองระบุว่า ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมการธิการการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือคณะกรรมมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณร่ายจ่ายจะกระทำไม่ได้
โดยหาก ส.ส. และ ส.ว. พบเห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามบทบัญญัติดังกล่าว ให้รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสองสภา เช่น ส.ส. และ ส.ว. รวมกันจะมีทั้งหมด 700 คน ต้องการคนเพียง 70 คน ในการเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญที่มีจำนวนทั้งหมด 9 คน เพื่อพิจารณาวินิฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หลังจากวันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีความผิด ให้การเสนอ การแปรญัตติดังกล่าว เป็นอันสิ้นสุด และให้ผู้กระทำการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง  พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่ ครม. เป็นผู้กระทำการ หรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำการดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตั้งแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง
สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การมีส่วนทางตรง และทางอ้อมในการใช้งบประมาณคืออะไร สมมติว่าเข้าสู่สถานการณ์จำลอง หากมีการเสนองบประจำรายจ่ายประจำ แล้วมีการผันงบประมาณลงไปสู่จังหวัด จังหวัดหนึ่ง เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  ส.ส. เขตในพื้นที่ ซึ่งเป็นในหนึ่งในผู้แปรญัตติ  ถือว่ามีส่วนหรือไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทางอ้อม หากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานลงไปสู่จังหวัดใดๆ แล้วทำให้เกิดความนิยมในตัว ส.ส. เขต ในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมากขึ้น ถือว่าเป็นการมีส่วนในการใช้งบประมาณหรือไม่ ทั้งหมดนี้อยู่ที่การวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นต่อมาคือ ในแง่หลักการแล้ว ครม. เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ต่อรัฐสภาเพื่อแปรญัตติ หลังจากเสนอแล้วถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่เกินไปกว่าการควบคุมสั่งการใดๆ ได้ ห่วงใยความผูกพันจึงยากที่ประติดประต่อกัน เนื่องจากเป็นอำนาจคนละส่วน
อีกหนึ่งหมัดน็อคเอาท์คือ การกำหนดมาตราฐานทางจริยธรรม โดยในมาตรา 215 ระบุว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ผู้ดํารงตําแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
ทั้งนี้ในการัดทำมาตราฐานทางจริยธรรม ให้มีการรับฟังความเห็นจากสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา และ ครม. ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้ให้บังคับใช้กับสมาชิกสภาผู้แทนฯ สมาชิกวุฒิสภา และ ครม. ด้วย
และเมื่อเปิดดูต่อไปในมาตรา 230 ในส่วนที่ว่าด้วย อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในวงเล็บ 1 หลักการสำคัญคือ การให้ ป.ป.ช. อำนาจไต่สวนและมีความเห็น ในกรณีที่มีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีผู้ยื่นคำร้อง
ต่อมาในมาตรา 231 มีสาระสำคัญว่า หาก ป.ป.ช มีความเห็นเกินกึ่งหนึ่งว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
เมื่อเปิดเข้าไปดูที่ มาตรา 265 ในบทเฉพาะกาล ระบุว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระดําเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมตามมาตรา 215 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หากดําเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พ้นจากตําแหน่ง
ซึ่งนั่นหมายความว่า มาตรฐานทางจริยธรรมจะต้องเสร็จสิ้นก่อนที่จะมี สภาผู้แทนฯ และ ครม. ของรัฐบาลพลเรือน พูดให้ง่ายที่สุด นี่เป็นการออกกฎเกณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถใช้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยไม่มีความผูกโยงใดๆ กับตัวแทนของประชาชนเลย
7.นิรโทษกรรมไม่จำกัดกาล
งวดนี้หมัดสุดท้ายมาจบที่มาตรา 270 แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้สวยงาม จะคุ้มครองเรื่องสิทธิ เสรีภาพไว้มากน้อยขนาดไหน แต่เมื่อเจอมาตรานี้ไปก็จบ เพราะทุกการกระทำทุกอย่าง ทุกคำสั่งของ คสช. ที่เคยบังคับใช้ในวันก่อนประกาศรัฐธรรมนูญ หรือคำสั่งที่จะออกบังคับใช้ต่อไปตามมาตรา 257 (จะกล่าวถึงต่อไป) ให้มีผลบังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป
8.คาถาพลางตัว
ในมาตรา 257 พูดอย่างชัดเจนที่สุดคือการ ฝังมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ลงไปในร่างรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง โดย คสช. จะมีอายุต่อไปหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (หากผ่านการทำประชามติ) และจะสิ้นอายุจนกว่าจะมีการตั้ง ครม. ชุดใหม่ขึ้นมา โดยในระหว่างนั้นอาจเทียบระยะเวลาได้ไม่ต่ำกว่า 15 เดือน และในระยะเวลา 15 เดือน ระหว่างมีจัดทำกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ระหว่างมีการหาเสียงเลือกตั้ง และระหว่างการพยายามจัดตั้งรัฐบาล คสช.ยังมี มาตรา 44 อยู่ในมือ
คสช. ยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะสามารถออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ โดยที่คำสั่ง หรือประกาศนั้นจะถูกรับรองโดยตัวรัฐธรรมนูญเอง ตามมาตรา 270 และซ้ำหนักไปกว่านั้นมันจะถูกรับรองด้วยความเห็นชอบจากการประชามติ
เป็นไปได้ว่า อาจจะมีการใช้มาตรา 44 ออกคสั่งหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ เช่น เพิ่ม คปป. เข้าไปในรัฐธรรมนูญ หรือยึดอายุการจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง
ดูจะมองโลกในร้ายเกินไป แต่ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็คงไม่มีใครคิดว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีก และก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ก็เคยพูดว่าจะไม่ทำรัฐประหาร
เชื่อเถอะว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้

DSI. บุกค้น5จุด โยงรถ "สมเด็จช่วง"

 DSI. บุกค้น5จุด โยงรถ "สมเด็จช่วง"
(2 กพ.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี DSI. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบรถเบนซ์จดประกอบของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วงว่า ในวันนี้พนักงานสอบสวน ได้นำหมายเข้าตรวจค้นหลายจุดต้องสงสัย โดยทั้งหมดเป็นสถานที่ใช้สำแดงการนำเข้ารถยนต์ ตัวถัง เครื่องยนต์ และอู่จดประกอบ คดีมีความคืบหน้าต่อเนื่อง และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 20 ก.พ.นี้
สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่เข้าตรวจสอบมี 5 จุด ประกอบด้วย
1.หจก.อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถ.เพชรเกษม บางแค 2.บ้านเลขที่ 120/77 ถ.รามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน ซึ่งเป็นบ้านพักของผู้ที่นำเอกสารไปยื่นขอชำระภาษี และว่าจ้างให้นำรถยนต์ไปจดทะเบียน
3.บ้านเลขที่ 4/11 ถ.ทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ เป็นบ้านพักของผู้ที่ซื้อเครื่องยนต์และตัวถังจากผู้นำเข้า
4.บ้านเลขที่ 155 ซอยปทุมคงคา เขตสัมพันธวงศ์
5.บ้านเลขที่ 70/9 ถนนเพชรเกษม ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นอู่รถผู้รับจ้างจดประกอบ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเอกสารพบพิรุธวันเวลาในการยื่นจ่ายภาษีสรรพสามิต รถยังประกอบไม่เสร็จ และจอดอยู่ในอู่ เป็นข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการทำเอกสารเท็จ นอกจากนี้ พยานบางรายยังให้การยืนยันว่าถูกปลอมลายมือชื่อในขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนรถ
Cr.เดลินิวส์ - http://www.dailynews.co.th/crime/377123

ติดคุกฟรี 85 วัน อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี 112 จารุวรรณ,อานนท์และชาติชาย หลังมีผู้โพสต์ข้อความหมิ่นฯบนเฟซบุ๊กที่ถูกแฮก

ติดคุกฟรี 85 วัน อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี 112 จารุวรรณ,อานนท์และชาติชาย หลังมีผู้โพสต์ข้อความหมิ่นฯบนเฟซบุ๊กที่ถูกแฮก
2 กุมภาพันธ์ 2559
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่จารุวรรณและพวกรวมสามคนเป็นผู้ต้องหา (http://freedom.ilaw.or.th/case/641) อัยการทหารแจ้งกับทนายว่าส่งคำสั่งไม่ฟ้องอย่างเป็นทางการมาให้ทนายแล้วแต่ทนายยังไม่ได้รับ
คดีนี้เกิดในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ปรากฎบนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อจารุวรรณเป็นชื่อบัญชี พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ (ยศในขณะนั้น) จึงเดินทางเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
ฝ่ายจารุวรรณเมื่อทราบว่ามีข้อความหมิ่นฯปรากฎบนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อตัวเองก็พยายามให้ญาติติดต่อขอเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ อย่างไรก็ตามก็มีเจ้าหน้าที่นำกำลังไป 'เชิญตัว' เธอมาที่กองปราบฯเสียก่อน จารุวรรณอธิบายกับตำรวจว่าเธอไม่ได้เป็นคนทำเพราะเฟซบุ๊กของเธอน่าจะถูกแฮกเนื่องจากใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์เป็นรหัสผ่านและขณะนั้นเธอมีปัญหาส่วนตัวเพราะมีผู้ชายซึ่งเป็นเพื่อนของแฟนมาติดพันจนเธอถูกแฟนยึดมือถือไป
หลังจารุวรรณพูดถึงอานนท์ซึ่งเป็นแฟนของเธอและชาติชายซึ่งเป็นเพื่อนแฟนที่มาติดพันเธอ ทั้งสองก็ถูกจับกุมคล้อยหลังจากจารุวรรณเพียงหนึ่งวัน จารุวรรณถูกฝากขังกับศาลทหารในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ส่วนอานนท์และชาติชายถูกนำตัวมาฝากขังในวันถัดมา ทั้งสามถูกควบคุมตัวระหว่างฝากขังโดยไม่ได้ขอประกันตัวเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 หลังศาลทหารหมดอำนาจควบคุมตัวจำเลยเพราะอัยการทหารไม่มีคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ภายในกำหนดการฝากขัง 7 ผลัด ผลัดละ 12 วัน รวม 84 วัน โดยหากนับจำนวนวันตั้งแต่เข้าเรือนจำวันแรก จารุวรรณจะถูกขังรวม 85 วันซึ่งเกินกว่ากำหนดมาหนึ่งวัน แม้จะได้รับการปล่อยตัวอิสรภาพของทั้งสามก็ยังแขวนอยู่บนเส้นด้ายเพราะอัยการสั่งฟ้องและถูกเรียกตัวกลับมาควบคุมต่อได้ทุกเมื่อ ทั้งสามเพิ่งจะได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริงหลังอัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 หรือเกือบหนึ่งปีหลังได้รับการปล่อยตัว
ก่อนหน้าจะถูกดำเนินคดีจารุวรรณเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ อายุ 26 ปี มีลูก 2 คน เธอทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี อานนท์ เป็นชาวจังหวัดราชบุรี อายุ 22 ปี อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ ส่วนชาติชายเป็นเพื่อนของอานนท์เป็นชาวจังหวัดราชบุรีเช่นเดียวกัน อายุ 20 ปี สัญชาติไทย-พม่า อ่านเขียนภาษาไทยได้ ทำประมงอยู่กับพ่อตาที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
คดีของจารุวรรณนับเป็นคดีแรกแรก ที่เกิดจากใช้เฟซบุ๊กกลั่นแกล้งผู้อื่น ในเวลาต่อมาก็ปรากฎว่ามีคดีคล้ายๆกันเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง เช่น คดีของศศิวิมล( http://freedom.ilaw.or.th/th/case/681) พนักงานโรงแรมชาวจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเฟซบุ๊กของบุคคลอื่นแล้วโพสต์ข้อความหมิ่นฯเพื่อกลั่นแกล้ง (คดีนี้ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยรวม 28 ปีหลังลดโทษ) หรือคดีของวิชัย ชายชาวจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเฟซบุ๊กของเพื่อนที่กำลังมีปัญหากันอยู่แล้วโพสต์ข้อความหมิ่นเพื่อกลั่นแกล้ง คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวนส่วนผู้ต้องหาถูกฝากขัง (http://www.dailynews.co.th/regional/368782)
ล่าสุดช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 ก็มีกรณีชายชาวเยอรมันถูกปลอมเฟซบุ๊กแล้วโพสต์ข้อความหมิ่นเพื่อกลั่นแกล้ง(http://www.thairath.co.th/content/567442) เป็นไปได้ว่าอัตราโทษที่สูง การดำเนินคดีในศาลทหาร การประกันตัวที่ยากลำบาก และการพิสูจน์ความบริสุทธิที่ทำได้ยาก ทำให้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกเลือกมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

อ่านบทความ:คดีมาตรา 112 ในบริบทโลกเทคโนโลยี -->
http://bit.ly/1KTRlEH

รธน.ในมุมอ.วรเจตน์

เพิ่งไปคุย อ.วรเจตน์มา รอ 1-2 วันถอดความลงประชาไท
บริ๊ฟนิดนึงเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ชอบใจที อ.ยอดพล เทพสิทธา บอกว่า "พ่อทุกสถาบัน"
อ.วรเจตน์ให้ข้อสังเกตว่าร่างนี้ แยกศาล รธน.ออกจากหมวดศาล มาอยู่หมวด 11 แล้วหมวด 12 เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งจะเห็นพัฒนาการการยึดอำนาจใน รธน. เพราะปี 40 ศาล รธน.อยู่ในหมวดศาล องค์กรอิสระกระจายในหมวดต่างๆ เช่น ปปช.อยู่หมวดการตรวจสอบ กกต.หมวดเลือกตั้ง พอปี 50 เอาองค์กรอิสระมารวม ปีนี้ เอาศาล รธน.โดดเด่นขึ้นเหนือทุกศาล และรวมองค์กรอิสระอย่างชัดเจน มี ม.211 เป็นคำประกาศโรดโชว์สโลแกน ในขณะที่มีชัยพูดชัดว่า ศาล องค์กรอิสระ ไม่ต้องยึดโยงอำนาจประชาชน (อำนาจที่ 4)
อำนาจศาล รธน.นอกจากยึด ม.7 ไปครอง ยังล้มรัฐบาล รัฐสภาได้ง่ายๆ ในหลายมาตรา เช่น ม.139 เรื่องงบประมาณ ซึ่งอ่านแล้วคลุมเครือมาก น่าจะหมกเม็ดเอาไว้ไปร่าง พรบ.การเงินการคลัง
สำหรับ ครม.ให้ดูมาตรา 155,165,162,163 จะเห็นว่าสามารถล้มรัฐบาล ตัดสินให้นายกฯ และ รมต.พ้นตำแหน่งได้ง่ายๆ
มาตรา 155 คุณสมบัติรัฐมนตรี (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา 165 เอามาตรา 77 มาใช้ ให้ ส.ส.หรือ ส.ว.1 ใน 10 เข้าชื่อร้องศาลได้ว่านายกฯ หรือรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ
ถ้าเป็นนายกฯ ขาดคุณสมบัติ ครม.ไปทั้งคณะตาม 162,163 (ดู 163 จะยิ่งเห็นชัดว่าเขียนถึงกรณีนายกฯ ตกเก้าอี้เพราะ 155(4) (5) ไว้ด้วย
จำสมัครทำกับข้าวได้ไหมครับ ไอ้นี่แม่-ยิ่งกว่าอีก เพราะตีความได้กว้างเป็นมหาสมุทร อะไรคือ "มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" (ทุจริตก็ต้องโดน ปปช.โดนศาลฎีกาฯ ไปแล้วสิ ฉะนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องทุจริต) แล้วอะไรคือมาตรฐานทางจริยธรรม
ทั้ง 2 ข้อมันคือความไม่เหมาะสมลมเพสมพัด แล้วแต่ทัศนะของคนตีความ ว่าชอบหรือเกลียดรัฐบาลไหน เป็นการให้อำนาจศาลอย่างมาก แค่โดนกล่าวหาว่าทำอะไรขัดหูขัดตาผู้ลากมากดีคนชั้นกลางชาวกรุง แม่-ปลดได้ทันที (ตัวอย่างกรณีอีปูโฟร์ซีซัน โดนแหงเลย แต่ตุลาการตั้งลูกเป็นเลขาฯ ส่งไปเรียนนอกกลับรอด)

'มีชัย'ขู่ร่างใหม่ โหดกว่า ถ้ารธน.โดนคว่ำ

31มกราคม 2559 ไทยรัฐ

ปชป.เย้ยต้องเปรียญ9เป็นส.ส. พท.ถล่มเป็นกติกาสร้างหายนะ ‘อ๋อย’ฉะยับรธน.เผด็จการถาวร

“มีชัย” ฉุนนักการเมืองรุมยำร่าง รธน.ฉบับ กรธ.ไม่เลิก ขอฟังเสียงค้านที่มีเหตุผล ไม่สนพวกด่าน้ำบาน แต่เนื้อไม่มี ย้อนถามเนื้อหาไม่ดีตรงไหนขู่ถ้าคว่ำให้ยกร่างใหม่อาจเจอโหดกว่านี้ ยืนกรานเขียนกี่รอบก็ไม่ต่างจากเดิม “วิษณุ” เผย ครม.เตรียมหยิบร่าง รธน.หารือ 2 ก.พ. ชี้เพิ่มอำนาจศาล รธน.-องค์กรอิสระ เพื่อไม่ต้องมี คปป. คง ม.44 ไว้คุมเลือกตั้ง เพื่อไทยถล่มกติกาสร้างหายนะ จี้เปิดเวทีรับฟังปรับปรุง ประกาศพร้อมจับมือ ปชป.ลุยคว่ำประชามติ มั่นใจพลังมวลชน 2 พรรคทำ รธน.แหกโค้งแน่ ท้า กรธ.ส่งร่างให้ประเทศประชาธิปไตยดู มีใครยอมรับได้บ้าง นปช.ขอ คสช.ดื้อๆเปิดช่องรณรงค์คว่ำร่าง เย้ย “บิ๊กตู่” อย่าฮาราคีรี ชิงปลิดชีพร่าง รธน.ไปเสียก่อน ประชาธิปัตย์ ตามจวก รธน.ปิดทางคนดี มีอคติฝ่ายการเมือง เย้ยเขียนแบบนี้ต้องนิมนต์พระมาเป็น ส.ส. “ยิ่งลักษณ์” เคลิ้มรับพรเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ถูกทักน่าจะได้เป็นนายกฯอีก 3 สมัย
หลังรัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ได้สร้างความฮือฮา และเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ที่รุมตำหนิเนื้อหาในหลายมาตรา ล่าสุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. แสดงความคับข้องใจนักการเมืองว่าตั้งแง่มีอคติกับ กรธ.มาโดยตลอด พร้อมระบุถ้ามีโอกาสเขียนใหม่เนื้อหาจะไม่แตกต่างจากเดิม แต่อาจเข้มข้นดุดันกว่า
“มีชัย” ข้องใจนักการเมืองจ้องถล่ม
เมื่อเวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่กังวลกรณีร่างรัฐธรรมนูญถูกโจมตี เพราะคนไม่ชอบก็ต้องไม่ชอบอยู่แล้ว แต่เราก็จะเงี่ยหูฟังเฉพาะคนที่ติติงในเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล ที่ผ่านมา กรธ.ก็ฟังมาตลอด แต่ความเห็นบางพรรคมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ บอกเพียงว่าไม่ดี รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ซึ่งเราก็ได้เขียนไว้หมดแล้ว จึงไม่รู้จะไปเพิ่มตรงไหน หรือจะขอเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองใช่หรือไม่ ก็เสนอมาได้แล้วจะเขียนให้ ส่วนที่ฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นร่างที่ทำให้รัฐบาลอ่อนแอนั้น ถามว่าอ่อนแอตรงไหน ตนขอแนะนำว่าถ้าพรรคการเมืองใดไม่ประสงค์ให้คนนอกเข้ามายุ่งเกี่ยว เวลาที่จะร่างกฎหมายพรรคการเมืองจะเปิดโอกาสให้แก้ โดยห้ามเสนอคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือถ้าพรรคใดเสนอไปแล้ว แต่คนคนนั้นไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ก็จะไม่มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี บังคับไว้เลยโดยที่ไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ง่ายดี
ย้อนแย้งร่าง รธน.ไม่ดีตรงไหน
นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนการกำหนดกรอบการบริหารราชการแผ่นดินให้รัฐบาลต้องซื่อสัตย์สุจริตไม่นำเงินหลวงเข้ากระเป๋า ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ เว้นแต่ข้อมูลลับ รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีความเสมอภาคนั้น ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลอึดอัดตรงไหน เพราะเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ กรธ.ไม่ได้ไปกำหนดว่าต้องทำด้วยวิธีใด เพราะจะทำด้วยวิธีไหนก็เป็นนโยบายของรัฐบาลนั้นอยู่แล้ว กรธ.ไม่ได้ตัดประเด็นที่กำหนดให้รัฐต้องมีส่วนร่วมกับการพัฒนาการเมืองออก ประเด็นดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะทุกวันนี้ก็มีอยู่ตามกฎหมายปกติ การตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะ หรือเป็นที่เรียนรู้ ก็สามารถตั้งได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีอำนาจบังคับต่อองค์กรอื่นถึงจะต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
แก้ 3 ข้อไม่สำเร็จประเทศล้มละลาย
ก่อนหน้านั้นเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) จัดงานเวทีระดับชาติ ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 “รัฐธรรมนูญ : การปฏิรูปประเทศ และการมีส่วนร่วมของประชาชน” โดยนายมีชัยกล่าวปาฐกถานำตอนหนึ่งว่า เวลาเราทำร่างรัฐธรรมนูญเราจะมองภาพรวม โดยเฉพาะภาพของประเทศในอดีตว่าเกิดปัญหาอะไร ทำไมบ้านเมืองถึงวุ่นวาย และเราได้เหตุผลมา 3 ข้อคือ 1.คนของเราขาดการรับผิดชอบต่อหน้าที่ ขาดวินัย นึกถึงแต่สิทธิว่าทำอะไรได้บ้าง แต่ไม่มีความรับผิดชอบ 2.การบังคับใช้กฎหมายขาดความเข้มงวดกวดขัน คนทำผิดกันมาก ตำรวจจับไม่ไหว แต่ตำรวจเองก็มีปัญหาทำตามหน้าที่ของตัวเองไม่ได้ ต้องทำตามคำสั่งใครก็ไม่รู้ มีผู้มีอิทธิพลเหนือตำรวจ เพราะคุณธรรมการทำงานขาดโดยสิ้นเชิง การแต่งตั้งไม่ได้เกิดจากความสามารถ แต่เกิดจากการวิ่งเต้น เพราะฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็หย่อนยาน นำไปสู่ปัญหาของประเทศ และ 3.การทุจริต เมื่อทุกคนไม่มีวินัย การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล การทุจริตก็มากขึ้น หากยังปล่อยไว้อีกไม่เกิน 10 ปีประเทศไทยคงหมดตัว 3 เรื่องนี้ ถ้าแก้ได้ประเทศเราจะพัฒนาอย่างแน่นอน
ชี้เด็กคือความหวังที่ต้องปฏิรูป
นายมีชัยกล่าวว่า คนรุ่นตนแก่เกินแกงแล้ว ความหวังอยู่ที่เด็กๆ เราจึงเขียนในรัฐธรรมนูญว่าการศึกษาต้องปฏิรูป สิ่งที่เราควรต้องทำคือปล่อยให้เขาเรียนตามถนัด ไม่ได้แปลว่าคนที่จบสายวิทย์จะโด่งดังมากกว่าคนที่ชอบศิลปะ เราต้องการผลผลิตเด็กที่มีลักษณะ 4 อย่าง คือ เป็นคนดี มีวินัย มีใจรักชาติและให้เรียนตามถนัด และเขียนในบทเฉพาะกาลให้ปฏิรูปภายใน 1 ปี โดยให้ร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งรัฐและเอกชน ช่วยกันปรับหลักสูตร หวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าเราจะไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องวินัยอีก
ขู่ให้ยกร่างใหม่อาจโหดกว่านี้
“การทุจริตคือปัญหาใหญ่ของชาติ เราจะแก้ไม่ได้หากไม่เขียนในรัฐธรรมนูญ หากทำไม่สำเร็จบ้านเมืองก็เดินหน้าไม่ได้ คนก็บ่นมากว่ารัฐธรรมนูญนี้โหด ผมก็ได้อธิบายให้คนฟังแล้วว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้กำหนดกรอบไว้ จะร่างอีกกี่หนก็ต้องมีแบบนี้ หากคว่ำแล้วร่างใหม่ก็จะมีกลไกเหล่านี้ อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ หากร่างรัฐธรรมนูญยังมีข้อบกพร่องอะไรและในเนื้อหาไม่มีก็ขอให้บอกมา” นายมีชัยกล่าว
กรธ.ลงพื้นที่ฟังความเห็น ปชช.
ที่ รร.ฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.กล่าวถึงการลงพื้นที่ของ กรธ.เพื่อเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 30-31 ม.ค. ว่า กรธ.ได้นำประเด็นร้อนทั้งเรื่องระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ที่มานายกฯ และเหตุผลว่าทำไมต้องคงอำนาจมาตรา 44 ของ คสช.ไว้ มาอธิบายต่อประชาชนภาคเหนือ รวมถึงเนื้อหาที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจบริหารสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะนำความเห็นที่ได้มาทั้งหมดกลับไปหารือใน กรธ.อีกครั้ง เราได้ทำตามหน้าที่ที่มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการร่างรัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหรือไม่ และหากเดินตามแผนโรดแม็ป คาดว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ในปลายปี 60 และมีการจัดตั้งรัฐบาลช่วงต้นปี 61 หลังจากนี้ กรธ.จะต้องรับฟังความเห็นพร้อมกับลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนตามกรอบระยะเวลาภายในวันที่ 15 ก.พ. ส่วนกรอบการจัดทำร่างกฎหมายลูกจะต้องมีการขยายระยะเวลาจาก 8 เดือนหรือไม่นั้นตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่เบื้องต้นคุยกันใน กรธ.ว่าจะเพิ่มจำนวนกรรมการเพื่อเข้ามาช่วยกันทำงาน ส่วนตัวเห็นว่ายังขาดมือกฎหมาย นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม แต่ไม่ควรเป็นบุคคลในองค์กรที่เกี่ยวกับกฎหมายลูกนั้นเอง เพราะอาจไม่เหมาะสม
พรรคการเมืองต้องแจ้งนโยบาย กกต.
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ 307 อาคารพินิจประชานาถ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปกรณ์ นิลพันธ์ เลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บรรยายพิเศษเรื่อง “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ตอนหนึ่งว่า กฎหมายวินัยการเงินการคลังมีกำหนดไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ไม่เกิดขึ้นเสียที หลายรัฐบาลมีการเสนอร่างฯ แต่มีเหตุยุบสภาต้องตกไปทุกครั้ง รัฐบาลปัจจุบันก็พยายามเสนอร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ แต่เนื่องจาก กรธ.กำหนดเสนอเรื่องนี้ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงชะลอการเสนอไว้ก่อนเพื่อป้องกันความไม่สอดคล้องกัน หลักเกณฑ์ที่วางไว้ไม่ใช่ห้ามทำโครงการประชานิยม แต่โครงการเหล่านั้นต้องมีเหตุผลและยั่งยืน ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเพียงเพื่อหาคะแนนเสียงเท่านั้น สาระสำคัญใน พ.ร.ป.ดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะมีการกำหนดว่าพรรคการเมืองจะต้องประกาศนโยบายการหาเสียงที่เป็นนโยบายหลักต่อ กกต.และให้ กกต.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมคำชี้แจงว่าพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินนโยบายที่ว่าอย่างไร มีแหล่งที่มาของรายได้มาจากไหน ผลดีผลเสียเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้วินิจฉัยว่าเป็นไปได้หรือไม่กับฐานะการเงินการคลังของประเทศในขณะนั้น และดูว่านโยบายได้จับต้องได้เป็นประโยชน์หรือข้อเสียหรือไม่อย่างไร
รัฐบาลหยิบร่างถก ครม.2 ก.พ.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กรธ.ว่า เข้าใจ กรธ.ที่ต้องเร่งรัด เพราะต้องแก้ไขเนื้อหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มี.ค. เมื่อรัฐบาลรับร่างมาแล้วจะนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม.วันที่ 2 ก.พ. ว่าจะมีข้อเสนอแนะแก้ไขอย่างไรเพื่อส่งกลับไป กรธ.ภายในวันที่ 15 ก.พ. เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีการประชุมร่วมคสช.และ ครม.เพื่อสรุปความเห็นร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า การประชุม ครม.วันที่ 2 ก.พ.น่าจะมีคำตอบออกมา ต่อข้อถามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า มีรัฐธรรมนูญที่ใดในโลก หรือรัฐธรรมนูญไทยฉบับใดเป็นประชา-ธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วจะมาเค้นอะไรจากฉบับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอะไร แต่ถูกรสนิยมของคนไทย ใช้นานที่สุดถึง 14 ปี
เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระเลี่ยงมี คปป.
เมื่อถามว่า เนื้อหาโดยรวมให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก นายวิษณุตอบว่า เป็นการให้อำนาจไม่เพียงเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ยังหมายรวมถึงองค์กรอิสระทั้งหลายเฉลี่ยกันไป เพื่อไม่ต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เท่าที่อ่านร่าง ไม่มีจุดใดให้อำนาจเกินไป จะมีอำนาจเฉพาะหน้าที่ที่รับผิดชอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจก็ต่อเมื่อได้รับคดีมาแล้วมีหน้าที่ชี้ขาด ส่วนที่บอกไม่สามารถวินิจฉัยตามเจตนารมณ์ได้ แต่วินิจฉัยตามประเพณีการปกครองของประเทศได้ คือให้ค้นหาเจตนารมณ์แล้วอุดช่องว่าง ไม่ใช่อยู่ๆจะไปก้าวก่ายชี้ขาด เสนอแนะการบริหารประเทศ หรือออกกฎหมายได้
อ้างคง ม.44 ป้องกันเลือกตั้งอลเวง
เมื่อถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ คณะกรรมการชุดต่างๆที่ตั้งโดย มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 จะยังคงอยู่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า คำสั่งตามมาตรา 44 แม้แต่คำสั่ง คสช.ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ในบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ยังบังคับใช้จนกว่าจะมีการยกเลิกโดย พ.ร.บ. เว้นแต่คำสั่งในเชิงบริหาร ให้ ครม.หรือนายกฯออกคำสั่งยกเลิก แต่ตั้งใจว่าก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่จะพิจารณาว่าคำสั่งหรือประกาศใดจะยังอยู่ หรือคำสั่งใดจะยกเลิก เมื่อถามว่าที่ยังคงมาตรา 44 เพราะกังวลการเลือกตั้งด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุย้อนถามว่า หรือคุณไม่กังวล ทำไมไม่คิดว่าเอาไว้ใช้เพื่อทำให้การเลือกตั้งสงบเรียบร้อย ยุติธรรม วันนี้การเลือกตั้งมีปัญหาหลายอย่างการออกกฎหมายอาจไม่ทัน แต่มาตรา 44 อาจช่วยได้ แต่ไม่สามารถไปสั่งการเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะแก้อย่างไร แต่ต้องมีคำตอบถ้าประชามติไม่ผ่านเราจะทำอย่างไร แต่ไม่ใช่มาตรา 44 เพราะเอามาใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้ ดังนั้นไม่ต้องกังวล
พท.สับกติกาหายนะมั่นใจถูกคว่ำ
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กรธ.ว่า เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ ไม่ยอมให้ผ่านประชามติ การบอกให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วมาแก้ทีหลังคงยาก เพราะประชาชนเคยถูกหลอกมาแล้วครั้งหนึ่ง และในความเป็นจริงมันแก้ไม่ได้ พอจะแก้มีปัญหาไปหมด หากให้รับไปก่อนตายแน่นอน การร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะกติกาที่เกิดขึ้นไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย วันนี้จะคลอดกติกาที่สร้างความหายนะ จึงต้องพูดกันแรงๆหนักๆว่า กติกาใช้ไม่ได้จริงๆ ถ้ายังไม่ฟังจะนำไปสู่วิกฤติ ถือเป็นคลื่นใต้น้ำที่น่าวิตก ดังนั้น เราจะต้องขยันพูดมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เสียงดังขึ้น หาก คสช.ฝืนใจให้รับประชามติ ทั้งที่ประชาชนไม่พอใจ จะเกิดปัญหาบริหารประเทศได้
จี้เปิดเวทีรับฟังปรับปรุงเลี่ยงวิกฤติ
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สังคมส่วนใหญ่ยอมรับได้ จะเป็นปัญหาวิกฤติประเทศ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาส เปิดเวทีให้ฝ่ายต่างๆ และประชาชนแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่เท่าที่ดูน้ำเสียงคงไม่อยากให้มีการแสดงความเห็นเท่าใด ถ้าเกรงจะมีปัญหาวุ่นวายก็ให้สื่อมวลชนหรือสถาบันการศึกษาเป็นเจ้าภาพกลางช่วยระดมความเห็นจากทุกฝ่ายก็ได้ แต่รัฐบาลไม่ควรจัดเวทีความเห็นประชามติเอง เพราะเป็นผู้กำหนดบทบาท และกติกาอยู่แล้ว
วิเคราะห์ 4 ทางออกรัฐบาล
นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ทางออกของรัฐบาลเท่าที่ดูมี 4 ทางคือ 1.หากประชามติไม่ผ่าน จะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งมาใช้ หรืออาจมีรัฐธรรมนูญที่ซ่อนไว้แล้วก็ได้ 2.รัฐบาลยอมแก้ไขเนื้อหาร่างแรกที่ถูกวิจารณ์แรงๆ เพื่อให้เห็นว่า ได้ถอยแล้ว จากนั้นนำไปทำประชามติ หากยังไม่ผ่าน ก็แก้ไขปรับแต่งเนื้อหา แล้วประกาศใช้เลย 3.กรณีไม่ผ่านประชามติ โดยไม่มีแรงต้านเกิดขึ้น รัฐบาลจะตั้ง กรธ.ชุดใหม่ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ 4.กรณีที่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ รัฐบาลจะสามารถควบคุมการเลือกตั้งได้หมด แม้ว่าพรรคเพื่อไทยเข้ามาก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นกลไกควบคุม หรืออาจจะเกิดกรณีมีนายกฯคนนอกก็ได้ ทั้ง 4 แนวทางไม่ว่าจะออกหน้าไหนก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์กับฝ่ายกุมอำนาจทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม สมมติฐานเหล่านี้ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจหรือด้านอื่นๆ เพราะจะเป็นตัวบีบให้รัฐบาลปัจจุบันอยู่ต่อไม่ได้ อาจต้องเปลี่ยนแปลงให้คนอื่นมาบริหารจัดการประเทศให้ดีขึ้น
พร้อมแตะมือ ปชป.คว่ำ รธน.
เมื่อถามว่า พร้อมจะแตะมือกับพรรคประชาธิปัตย์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายภูมิธรรมตอบว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์คิดเห็นตรงกันก็จับมือกันได้ เราเปิดทุกช่องทางที่จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง ให้ผู้มีอำนาจเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญนี้จะส่งผลร้ายต่อประเทศอย่างไร พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มีมวลชนอยู่แล้ว ซึ่งมวลชนก็เชื่อมั่นทั้งสองพรรค สมาชิกพรรคทั้งหมดจะรอดูว่าพรรคจะตอบอย่างไร ถ้าพรรคตอบชัดเจน สมาชิกก็ต้องเก็บไปคิดว่ามีความหมายอย่างไร ยิ่งถ้าพรรคประชาธิปัตย์คิดตรงกัน มีโอกาสสูงที่ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน เพราะศักยภาพมวลชนยึดมั่นพรรคการเมืองมีพลังเพียงพอ ยังไม่รวมพลังนักธุรกิจที่วันนี้ค้าขายไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยังเขียนกติกาเพื่อรับใช้อำนาจตัวเอง ยังเชื่อลึกๆว่าประชามติน่าจะไม่ผ่าน
ท้าส่งร่างให้ประเทศ ปชต.สากลดู
นายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย และอดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ท้ายที่สุดความจริงก็ปรากฏให้เห็นผ่านร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ว่าเป็นฉบับรวมมิตรซ่อนวิกฤติ ผู้ร่างไม่ได้ใช้ ผู้ใช้ไม่ได้ร่าง ถูกขนานนามว่าเป็นทั้งฉบับพิสดาร วิปริต วิตถาร ยากที่จะผ่านประชามติ เพราะนักการเมืองเล็งเห็นผลแล้วว่าถ้าลงเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายประเทศในอนาคต ตนไม่อยากเห็นภาพการเรียกร้องให้คว่ำให้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ก่อนถึงเวลาทำประชามติยังมีโอกาสปรับปรุง ด้วยการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ทำรัฐธรรมนูญให้เป็นสากล ทุกฝ่ายทั้งในประเทศและทั่วโลกยอมรับ ที่นายมีชัยบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสากล ก็อยากให้ส่งร่างนี้ให้เขาดูว่าจะยอมรับได้ไหม มีประเทศประชาธิปไตยสากลที่ไหนเขาเห็นด้วยก็ขอให้บอกมา สิ่งหนึ่งที่ติดใจมากคือการคงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเอาไว้ ถามว่ากลัวอะไร ดอกไม้กำลังจะเริ่มบานแล้วเอามากำกับไว้เพื่ออะไร เรื่องนี้จะเป็นการตัดสินนายมีชัยว่าจะเลือกเป็นนกอินทรีย์ หรือเลือกเป็นแค่นกกระจอก
ฉะยับร่าง รธน.เผด็จการถาวร
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.เลวร้ายกว่าที่คิค อำนาจอธิปไตยปวงชนชาวไทยไปอยู่กับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ตรวจสอบไม่ได้ ทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลอย่างสิ้นเชิง เลือกตั้งไร้ความหมาย รัฐบาลหลังเลือกตั้งอ่อนแอบริหารไม่ได้ ไม่มีเสถียรภาพและอยู่ไม่ได้นาน สร้างเงื่อนไขก้าวสู่วิกฤติเอื้อให้เกิดการล้มรัฐบาล เปิดช่องให้เกิดการตีความที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และกำลังทำให้ประเทศเดินเข้าสู่วงจรเดิม โดยความร่วมมือกันของกลุ่มคนที่สามารถกระทำผิดกฎหมายได้โดยไม่มีขีดจำกัด ระบบยุติธรรมล้มเหลว รัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับฉ้อฉลวางหมากกลไว้อย่างซับซ้อน มุ่งรองรับการปกครองที่เป็นเผด็จการอย่างถาวร ด้วยการออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ และ กรธ.ยังเขียนบทเฉพาะกาลที่เลวร้ายยิ่งกว่าตัวร่าง รับรองบรรดาประกาศ คำสั่งและการกระทำของ คสช.หรือของหัวหน้า คสช.ทั้งเรื่องที่ทำมาแล้วและที่จะทำต่อไป ทำประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช.ที่อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง
นปช.เย้ย “บิ๊กตู่” อย่าชิงคว่ำร่างก่อน
วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ผ่านทางยูทูบว่า การเขียนรัฐธรรมนูญของนายมีชัยไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้ เพราะมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดแนวทางไม่เป็นประชาธิปไตยไว้ จึงต้องเขียนเหมือนกับฟอกเผด็จการ แล้วเติมอำนาจเบ็ดเสร็จไปไว้ที่องค์กรอิสระ ดังนั้นจึงต้องถูกประชามติคว่ำ หากพรรคการเมืองใดเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรแสดงตัวให้ชัดเจน ทั้งนี้ แม้การลงประชามติคว่ำจะทำให้ไม่มีเลือกตั้งและ คสช.อยู่ต่อได้อีก แต่เป็นรัฐบาลระยะสุดท้ายใกล้ตายอยู่นานไม่ได้ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รับปากว่าจะไม่แย่งคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่ประชาชนจะคว่ำประชามติ เราต้องอย่าใจอ่อนกับการเลือกตั้งจอมปลอม เพราะรัฐธรรมนูญทั้ง 270 มาตราไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ขณะนี้พรรคเพื่อไทยและ นปช.ได้ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่โฆษก คสช.กลับยัดเยียดให้ประชาชนรับ ห้ามวิจารณ์ต่อต้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ประกาศใช้เลยไม่ต้องทำประชามติ
เชื่อร่างแรกร่างสุดท้ายไม่แตกต่าง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า เชื่อว่าสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญในร่างสุดท้ายจะไม่ต่างจากร่างแรกที่นายมีชัยแถลง อย่างไรก็ตาม นายมีชัยไม่ควรชี้นำสังคมว่าคนโกงมีแต่นักการเมือง เพราะวิชาชีพอื่นที่นายมีชัยรับใช้อยู่ก็อาจเป็นคนโกงได้ การยกเมฆว่าพรรคการเมืองสนใจแต่เรื่องอำนาจ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องปราบคอร์รัปชันเป็นการเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น เนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่นายมีชัยร่าง คอร์รัปชันอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปเป็นของคนบางกลุ่มในเครือข่ายอำนาจเดียวกับคสช.อย่างชัดแจ้ง หลังจากนี้หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคงจะชี้ประเด็นในแต่ละมาตราที่เป็นปัญหา หวังว่าผู้มีอำนาจจะใจกว้างไม่ปิดกั้นขัดขวาง และขอให้แข็งใจให้ถึงวันประชามติ อย่าใช้วิธีพิเศษคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้เสียก่อน เพราะประชามติครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญของคณะรัฐประหาร และเป็นการยืนยันหลักการว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญคืออำนาจอธิปไตยของประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่โดยอำนาจเผด็จการหรือความเจ้าเล่ห์ของเนติบริกร
ขอ คสช.เปิดช่องรณรงค์คว่ำร่าง
นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอตั้งฉายารัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ว่า เป็นฉบับปล้นอำนาจประชาชน ไม่ใช่ฉบับปราบโกง ดังนั้นจึงต้องคว่ำรัฐธรรมนูญในขั้นตอนการทำประชามติเท่านั้น โดยขอเรียกร้องให้ คสช.ผ่อนปรนเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญสามารถแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ เพื่อความสง่างามในการทำประชามติ
ปชป.เย้ยต้องเชิญพระมาเป็น ส.ส.
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญร่างแรกที่นายมีชัยตั้งชื่อให้เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนั้น ตนกลับเห็นต่างว่าเป็นร่างที่มุ่งแก้ปัญหาในอดีต ถ้าปฏิรูปต้องเพิ่มบทบัญญัติใหม่ๆทันสมัยขึ้นมา พร้อมก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างสง่าสมภาคภูมิ มองความก้าวหน้าอย่ามองย้อนหลังอย่างเดียว ส่วนกรณีที่นายมีชัยระบุว่า ต่อให้ร่างกี่ครั้งการป้องกันทุจริตยังต้องเข้มข้นนั้น เห็นด้วย แต่คุณไปลดอำนาจคนดีที่จะเข้ามาทำงานการเมืองทำไม ไปริบอำนาจฝ่ายการเมืองไปให้ข้าราชการ ผู้ร่างมีอคติกับฝ่ายการเมือง พูดว่าไม่มีนักการเมืองก็ได้ แบบนี้ผิดหลัก ส่วนที่นายมีชัยบอกว่าที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆให้ความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญอ่อนเกินไป น้ำหนักไม่มีนั้น นายมีชัยคงไม่อยากฟังมากกว่า ตนยังยืนยันข้อดีในรัฐธรรมนูญมีมาก แต่เมื่อดูโดยรวมคนที่เหมาะเป็น ส.ส.ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องไปเชิญผู้จบเปรียญ 9 ประโยคออกมาจากวัด เมื่อถามว่า นายมีชัยบอกว่า ถ้ามีเวลาร่างใหม่อาจได้ร่างรัฐธรรมนูญโหดกว่านี้ นายนิพิฏฐ์ตอบว่า ถ้าจะโหดกว่านี้นายมีชัยคงต้องไปเชิญสมเด็จมาเล่นการเมือง เราต้องมองเรื่องมิติการเมืองด้วย อย่าไปมองแต่เรื่องลิดรอนอำนาจกันเกินไป
ขำกลิ้งปรับแต่งที่มานายกฯใน ก.ม.ลูก
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ส่วนที่นายมีชัยพูดถึงประเด็นเรื่องนายกฯคนนอกว่าอาจเปิดให้แก้ไขตอนร่างกฎหมายพรรคการเมือง โดยห้ามเสนอคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรี หรือถ้าพรรคใดเสนอไปแล้วแต่คนคนนั้นไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.ก็จะไม่มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เรื่องนี้ทำไม่ได้แน่นอน นายมีชัยอาจอดนอนแล้วเผลอตอบ คุณสมบัติของคนที่จะเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี หรือผู้แทนฯ ต้องไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไปเขียนในกฎหมายประกอบที่มีศักดิ์เล็กกว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าเขียนอย่างนายมีชัยว่าเดี๋ยวลูกมันจะไปฆ่าแม่ นายมีชัยรู้ดีอยู่แล้วคงแค่หยอกนักข่าวเล่นมากกว่า
ไม่เห็นด้วยคงอำนาจมาตรา 44
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังติดใจที่กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.ใบเดียว ยืนยันว่าเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน เพราะสังคมไทยเรียนรู้การใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบมาตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบันร่วม 20 ปีแล้ว เราจะถอยหลังอีกทำไม เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ว. หากกำหนดใช้การเลือกตั้งเช่นนี้จะเป็นการบล็อกโหวต สนับสนุนให้ซื้อสิทธิขายเสียง จึงขอเสนอให้มีการคัดเลือกผู้สมัครในกลุ่มสาขาอาชีพกันเอง เลือกเข้ามา 2 เท่าของจำนวนที่กลุ่มสาขาอาชีพนั้นๆจะพึงมีตัวแทนเป็น ส.ส. และค่อยให้ประชาชนเลือกตั้งโดยตรงทั้งประเทศแทนการเลือกไขว้ วิธีนี้จะไม่มีการซื้อเสียงได้เลย สำหรับบทเฉพาะกาลที่ยังคงอำนาจมาตรา 44 ไว้นั้น ในข้อเท็จจริงเมื่อมีการประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ครม.ควรมีอำนาจเท่าที่จำเป็นเพื่อการส่งมอบอำนาจให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่สามารถสั่งการอะไรก็ได้ตามอำเภอใจเช่นเดิม
ตั้งฉายา รธน.ฉบับผูกขาดอำนาจ
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า ดูเนื้อหาภาพรวมแล้วพบว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่มีการบูรณาการด้านการศึกษา สาธารณสุขและระบบราชการไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น กรธ.สร้างเงื่อนไขให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากมาก สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากอำนาจของประชาชนกลับแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ ขอตั้งฉายาว่ารัฐธรรมนูญฉบับผูกขาดอำนาจ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ก็รู้สึกท้อแท้การเมืองไทย ขอหันหน้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยจะนำร่องโครงการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อผลักดันเป็นวาระแห่งชาติให้ได้ เริ่มทำให้ทันในวันที่ 7 ก.ย. ตรงกับวันสวรรคตของรัชกาลที่ 1
“อุทัย” เตือนนักปฏิวัติล้วนจบไม่สวย
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในงานสถาปนาสภาพัฒนาการเมือง ครบรอบ 8 ปีว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะคลอดน่าจะเรียกว่าฉบับใส่หมวก เพราะนายมีชัยได้ใส่หมวกในตอนร่าง เป็นการปิดสิ่งที่ไม่อยากให้เห็น เช่น ส.ว.มาจากการคัดสรรแทนการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้แทนของปวงชน แม้จะรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆก็จะไม่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเขาคิดว่าทำดีแล้ว อยากเตือนทหารที่เข้ามายุ่งกับการเมืองว่า นักปฏิวัติในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอยู่รอดปลอดภัยไม่กี่คน หรือเรียกได้ว่าไปไม่รอดสักรายเลยก็ว่าได้ อยากให้คนบางคนหันหลังไปดูรุ่นพี่ที่ผ่านๆมาว่าเขาเป็นอย่างไร หากคิดว่าเก่งกว่าเขาก็อยู่ต่อไป แต่หากคิดว่าไม่เก่งกว่าเขาก็รีบถอยออกไป ทุกวันนี้อย่าไปเชื่อคำพูดคนสองพวกที่พูดว่าอยู่ต่ออย่างนี้ต่อไปดีแล้ว และที่บอกว่าให้อยู่ต่อเพราะยังทำหลายเรื่องที่ไม่เรียบร้อยจะทำให้การปฏิรูปเสียของ ตนห่วงว่าจะเสียคนมากกว่า
ร่าง รธน.ดับเบิ้ลศรีธนญชัย
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง พลเมืองไทยร่วมใจพัฒนา การเมืองว่า เวลาที่เราแก้ไขปัญหาทางการเมืองจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วมันไม่ได้ดีขึ้น ตนจึงหันมาสนใจฐานล่างสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน ส่วนร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเราเรียกว่าฉบับเซียงเมี่ยงหรือศรีธนญชัย พออ่านร่างฉบับนี้ของนายมีชัยนึกว่าเป็นดับเบิ้ลเซียงเมี่ยงเลย โดยภายในต้นเดือน ก.พ.จะได้พูดกันว่าทำไมถึงบอกแบบนี้
“ไก่อู” จวกนักการเมืองแยกคนไทย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามของนักการเมืองบางกลุ่มที่จะสร้างความเข้าใจผิดและจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นในสังคม ด้วยการใช้วาทกรรมแบ่งแยกประชาชน โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลช่วยเหลือดูแลประชาชนแบบไม่เท่าเทียมกัน โดย เฉพาะกรณีการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรภาคใต้ แต่ละเลยไม่รับซื้อจากภาคอีสาน รัฐบาลยืนยันจะไม่ทอดทิ้งเกษตรกรที่เดือดร้อน จะทำทุกวิถีทางแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงในระยะยาว ส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ข้อมูลจากกรมชลประทานพบว่า ปี 54/55 มีน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ 18,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการระบายออกถึง 14,000 ล้านลบ.ม. ด้วยความกังวลของรัฐบาลในสมัยนั้นว่า จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำซ้อน ยิ่งเมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดออกมาทำให้มีพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ทำให้ต้นทุนน้ำในเขื่อนทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง พอรัฐบาลนี้เข้ามามีต้นทุนน้ำในเขื่อนเหลือน้อยและภาวะอากาศที่แห้งแล้ง แต่รัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำไม่ให้ขาดแคลนได้ถึงวันที่ 1 พ.ค.
“วรงค์” หยิก “ปู” ใช้ลูกไม้เดิมๆ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โต้แย้งกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในคดีจำนำข้าวว่า ไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ เพียงแต่มีเจตนาทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ติดตามกรณีนี้เข้าใจผิดว่า ตัวเองถูกกลั่นแกล้งโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย ดังนั้นสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เสนอเพื่อเป็นข่าวนี้ เป็นลูกไม้เดิมๆที่เคยใช้ จึงขอให้สังคมติดตามโดยรอบคอบและรู้เท่าทัน
“ยิ่งลักษณ์” สักการะเจ้าพ่อพญาแล
เช้าวันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินชมตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ มีบรรดาอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ชัยภูมิ มาต้อนรับ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เดินทักทายพ่อค้า แม่ค้า ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของตลอดสองฝั่งถนน ก่อนไปสักการะอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล และได้เดินทางไปที่ ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เข้านมัสการพระเทพภาวนาวิกรม เจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ ก่อนเดินทางไปร่วมทอดผ้าป่าที่วัดหนองนาแซง ต.หนองนาแซง อ.เมืองชัยภูมิ โดยมีชาวบ้านทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และร่วมรับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นเดินทางไปที่วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยมีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.นครราชสีมา ประชาชนกว่า 200 คน มารอต้อนรับ พร้อมมอบดอกไม้และขอถ่ายภาพอย่างเนืองแน่น โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นไปกราบหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ บนศาลาการเปรียญ ก่อนจะเข้ากราบนมัสการขอพรกับพระภาวนาประชานาถ (พระปลัดนุชรตฺนวิชฺโย) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ที่อุโบสถที่อยู่ชั้น 2 ของศาลาการเปรียญ
เคลิ้มรับพรได้เป็นนายกฯอีก 3 สมัย
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การเดินทางมาวัดบ้านไร่ นอกจากจะเป็นการเดินสายทำบุญในภาคอีสานแล้วยังมีความศรัทธาหลวงพ่อคูณ อีกทั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชาย สมัยเป็นนายกฯ เคยมากราบหลวงพ่อคูณ พร้อมกับนอนพักที่วัดหนึ่งคืนด้วย อยากเดินตามรอยพี่ชาย เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต ขณะที่พระภาวนาประชานาถมอบพระหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และมอบพระยอดธงอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปมอบให้ทีมงาน โดยเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่กล่าวอวยพร น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอให้หมดทุกข์หมดโศก หมดโรคหมดภัย ให้ชนะข้าศึกชนะทุกสิ่งทั้งปวงปราศจากเภทภัยใดๆมากล้ำกราย ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะลากลับ พระภาวนาประชานาถได้ทักว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะได้เป็นนายกฯอีก 3 สมัย ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก้มกราบลาด้วยความดีใจ และเดินทางต่อไปที่ตลาดอำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา เดินเข้าไปตลาด แวะถามราคาข้าวหลามและไส้กรอก บรรดาพ่อค้า แม่ค้า ต่างแสดงอาการดีใจทิ้งร้านแล้วเฮโล เข้ารายล้อม นำดอกไม้มามอบให้ นำผ้าขาวม้ามาคาดเอวให้ พร้อมร้องตะโกนว่า “ยิ่งลักษณ์สู้ๆ” “นายกฯในดวงใจชาวไทย” พร้อมขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
ขรก.สภาโวยแต่งตั้งระดับ ผอ.ส่อตุกติก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ภายหลังประกาศผลการเลือกสรรข้าราชการรัฐสภาสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้อำนวยการ (ผอ.) ระดับสูง 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ผอ.สำนักพัฒนาบุคลากร ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ ผอ.สำนักการประชุม และ ผอ.สำนักกฎหมาย เมื่อช่วงค่ำเมื่อวันที่ 29 ม.ค. สร้างความแปลกใจให้กับผู้ที่สมัครสอบจำนวน 29 คนจากทั้งหมด 33 คน เพราะเพิ่งสอบวัดผลงานและโชว์วิสัยทัศน์ตลอดทั้งวันเมื่อวันที่ 28 ม.ค. คณะกรรมการสอบที่มีนางจันทร์เพ็ญ อานามวัฒน์ รองเลขาธิการสภาฯ ดูแลสำนักบริหารงานกลาง เป็นประธานโดยตำแหน่ง จึงไม่น่าจะพิจารณาตรวจข้อสอบได้ทัน และบุคคลที่ได้ตำแหน่ง ผอ.ส่วนใหญ่ล้วนตรงกับโผที่หลุดมาก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้สมัครที่พลาดตำแหน่งประสานกันผ่านโซเชียลมีเดียช่วยกันหาข้อมูลเตรียมฟ้องศาลปกครองและร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ว่า ผลการเลือกสรรระดับ ผอ.บางสำนักไม่น่าจะโปร่งใส อาจมีการวิ่งเต้นผ่านผู้มีอำนาจบางคน ขณะเดียวกันข้าราชการในสภาฯหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าขั้วอำนาจเก่าของนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย ที่ถูกคำสั่ง คสช.ให้พ้นจากตำแหน่งกลับเข้ามามีอำนาจมากขึ้นในสำนักงานเลขาธิการสภาฯแทนขั้วอำนาจใหม่ของนายจเร พันธุ์เปรื่อง ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป