PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

2 กุมภาพันธ์ 2559 ครบ 2 ปี: การขัดขวางการใช้สิทธิโดยภาคประชาชน

2 กุมภาพันธ์ 2559 ครบ 2 ปี: การขัดขวางการใช้สิทธิโดยภาคประชาชน-ที่ปูทางสู่การยึดอำนาจและละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวาง
ย้อนไปเมื่อปลายปี 2556 สถานการณ์การเมืองไทยเริ่มตึงเครียด ส.ส. พรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "ฉบับเหมาเข่ง" เข้าสภา ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน และชุมนุมคัดค้านขนาดใหญ่ แม้ภายหลังร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะตกไป แต่ความร้อนแรงของอุณหภูมิทางการเมืองกลับไม่ได้ลดต่ำลงไปด้วย จากกระแสมวลชนที่ถูกจุดติด ทำให้ผู้ชุมนุม "ยกระดับ" ข้อเรียกร้องไปเรื่อยๆ จากถอนร่าง พ.ร.บ. ไปเป็นให้รัฐบาลลาออก จนเมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา ก็ผลักดันข้อเรียกร้องไปเป็น "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง"
ในรูปธรรมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) และผู้สนับสนุนแนวคิด "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง" ใช้มาตรการต่างๆเพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง รวมทั้งการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไปใช้สิทธิ
ไอลอว์จึงชวนย้อนอ่านสถานการณ์ปิดกั้นการใช้สิทธิโดยมวลชนที่เชื่อในแนวทาง "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง" กลายเป็นก้าวแรกอันนำประเทศเข้าไปสู่ทางตัน จนทำให้ทหารกลุ่มหนึ่งสามารถอ้างเป็นเหตุทำรัฐประหาร ประกาศใช้กฎอัยการศึก และใช้อำนาจออกกฎหมายโดยไม่ผ่านการเห็นชอบกระทั่งละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวาง เช่น เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว,ห้ามชุมนุมมั่วสุมเกินห้าคน,ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีความมั่นคง
13 มกราคม 2557 แกนนำกปปส.นัดชุมนุมปิดถนนสายหลักในกรุงเทพมหานคร (Shut down Bangkok) เพื่อยกระดับการชุมนุม หวังเผด็จศึกกดดันรัฐบาลรักษาการขณะนั้นให้ลาออก และรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในระหว่างการชุมนุมที่ยืดเยื้อ รัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 21 มกราคม 2557 เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล
26 มกราคม 2557 กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าในกรุงเทพมหานครและในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 440,000 คนไม่สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ เช่น ที่จังหวัดตรัง กลุ่ม กปปส. ตรัง เดินทางมาปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้ตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีมวลชนมาปิดล้อมจนต้องยุติการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งจังหวัด ขณะที่ จังหวัดชุมพร มวลชน กปปส. ตั้งเวทีปราศรัยหน้าสถานที่เลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่เวลา 05.00 น. เพื่อป้องกันการรับหีบและบัตรเลือกตั้งของเจ้าหน้าที่
31 มกราคม 2557 สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศบนเวที กปปส.ว่า หน่วยเลือกตั้งจะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
ทว่าในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 วันก่อนการเลือกตั้งก็เกิดเหตุรุนแรงขึ้น ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างที่ผู้ชุมนุม กปปส. ปิดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งจากสำนักงานเขตหลักสี่ มีกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลราว 200 คน มาชุมนุมเผชิญหน้าคัดค้านกลุ่มกปปส. การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมสองฝ่ายที่มีความเห็นต่างกันทำให้เกิดความตึงเครียดถึงขั้นใช้อาวุธปืนยิงโต้ตอบกันหลายนัด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยหกคน
เหตุการณ์ที่่เป็นที่โจษจันคือ ลุงอะแกว วัย 72 ปี ที่เห็นว่ามีการชุมนุมกันบริเวณหลักสี่จึงเข้าไปสังเกตการณ์ เนื่องจากเป็นห่วงลูกสาวที่ทำงานขายอาหารอยู่ ภายในห้างไอทีสเเควร์ โดยอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้งและถูกยิงจนกลายเป็นอัมพาต เกือบ 8 เดือน จนกระทั่งเสียชีวิต
ผลแห่งความรุนแรงทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินใจระงับการลงคะแนนในเขตหลักสี่ นอกจากนี้ ยังยกเลิกการลงคะแนนในหลายจังหวัดเช่น ชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลาและสุราษฎร์ธานีเนื่องจากขาดบัตรเลือกตั้ง

2 กุมภาพันธ์ 2557 วันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตดินแดงชุมนุมประท้วงกลุ่ม กปปส. ที่ปิดล้อมสำนักงานเขตดินแดงทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ได้ พร้อมทั้งเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง
ในวันเดียวกันก็เกิดเหตุผู้สนับสนุนกลุ่ม กปปส. ออกมาปิดล้อมคูหาเลือกตั้งในหลายๆ พื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดทางภาคใต้ หลายจุดมีการปะทะกันระหว่างผู้ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งกับผู้ชุมนุม เช่น กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. หาดใหญ่ ปิดล้อมศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ ทำให้ยังไม่สามารถแจกจ่ายบัตรเลือกตั้งไปยังจังหวัดต่างๆ ในชายแดนภาคใต้ได้ และที่สำนักเขตเลือกตั้ง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็มีกลุ่ม กปปส. ปิดล้อมเช่นกัน
สำหรับที่กรุงเทพมหานครผู้ชุมนุมปิดหน่วยเลือกตั้งที่ 17 สุเหร่าบ้านดอน ย่านทองหล่อ หลังถูกปาด้วยประทัดยักษ์และมีผู้ชุมนุมเป่านกหวีดให้ยุติการเลือกตั้ง ขณะที่เขตหลักสี่ ดินแดง ราชเทวี ก็ถูกปิดหน่วยเลือกตั้งโดยกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนเขตบางกะปิกับบึงกุ่มมีปัญหาคณะกรรมการหน่วยเลือกตั้งไม่เพียงพอ ทำให้ประกาศปิดรับการลงคะแนนในบางหน่วย
คณะกรรมการการเลือกตั้ง รายงานในภายหลังว่า สามารถจัดการเลือกตั้งได้ 68 จังหวัด มีผู้มาใช้สิทธิ 20,530,359 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 47.72 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทั้ง 68 จังหวัด และมี 9 จังหวัด ที่จัดการเลือกตั้งไม่ได้
*ขอบคุณภาพประกอบจากสำนักข่าวไทยรัฐ
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ -->http://bit.ly/1SA0I2s

ไม่มีความคิดเห็น: