PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ลุงตู่บินเยอรมัน26พ.ย.

ไม่เจ๊อะกันนาน !!!
“นายกฯ” กลับสู่ทำเนียบฯ โบกมือ ทักนักข่าว ก่อนประชุม BOI เตรียมบิน เยอรมัน 26 พย.นี้
“นายกฯบิ๊กตู่” เดินเคียงคู่ “รองสมคืด” ลงจาก ด้านหลัง ตึกไทยคู่ฟ้า ไปประชุมBOI ที่ ตึกภักดีบดินทร์...โบกมือทักทาย นักข่าว. ตะโกนทัก หลังไม่เจอกัน เป็นสัปดาห์....นายกฯเพิ่งกลับจาก ปาปัวนิวกีนี ถึงไทย 22.30 น. เมื่อคืน เดี๋ยว 26 เมย. นี้ ไป เยือนเยอรมัน อีก หลังจากเลื่อนมาจาก ปลายตค. ที่ผ่านมา

ปธ.กกต.เผย ต้องไปผ่าตัดตา ทำแบ่งเขตเลือกตั้งช้า ไม่เกี่ยวผู้มีอำนาจแทรกแซง

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 - 13:34 น.



ปธ.กกต.ยอมรับ ปัญหาสุขภาพ ทำแบ่งเขตเลือกตั้งช้า ไม่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจแทรกแซงการทำงาน ลั่นต้องแบ่งเขตเลือกตั้งตามกฎหมาย ไร้ใบสั่ง

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยืนยันว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ไม่มีอะไรเคลื่อนไปจากที่กฎหมายกำหนด โดยในคำสั่งที่ 13/61 ระบุให้กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มีผลใช้บังคับ‪ในวันที่ 11 ธันวาคม‬ เช่นเดียวกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2561 ที่ออกมาล่าสุด แต่ยอมรับว่าการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากปฏิทินของกกต.ที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งมีสาเหตุมาจากเรื่องของสุขภาพที่ตนต้องไปผ่าตัดตา เพราะกกต.ได้พิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งรอบแรกเสร็จตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน และอยู่ในระหว่างทบทวนความถูกต้องก่อนนำไปประกาศ แต่เกิดปัญหาสุขภาพของตน จึงทำให้เวลาการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินวันที่ 10 พฤศจิกายน เคลื่อนออกไป ทั้งๆ ที่เราตั้งใจยึดถือปฏิบัติตามระเบียบให้ได้มากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ระเบียบของกกต.ก็เปิดช่องให้ขยายเวลาได้ พร้อมกับปฏิเสธที่จะให้ความชัดเจนในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งว่าจะต้องมีการรื้อใหม่ทั้งหมดหรือไม่ รวมถึงไม่ขอตอบเรื่องแนวทางปฏิบัติของ กกต.หลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/61 ออกมา ทั้งเรื่องการรับการร้องเรียนที่เปิดให้ร้องเรียนได้สามช่องทางคือผ่าน คสช. รัฐบาลและ กกต. รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ว่าจะยึดแนวทางใด โดยขอหารือกับที่ประชุม กกต.เพื่อให้ได้มติร่วมกันก่อนจึงจะให้รายละเอียดได้


เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวเรื่องใบสั่งจากผู้มีอำนาจให้เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งนั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า ตนไม่คิดเช่นนั้น เพราะได้บอกแล้วว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ทั้งฉบับที่ 13/61และ 16/61 ล้วนกำหนดให้แบ่งเขตเลือกตั้งก่อนกฎหมายเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ไม่แตกต่างกัน ซึ่ง กกต.ให้ความมั่นใจได้ว่าเมื่อเรามีหน้าที่แบ่งเขตเลือกตั้งก็จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และจะต้องแบ่งให้ทันก่อนกฎหมายเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ โดยยืนยันได้ว่าจะไม่แบ่งเขตตามคำร้องขอของผู้มีอำนาจ เพราะคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/61 ก็ยังบอกว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

เพื่อไทยวางยุทธศาสตร์ผ่าทางตันเลือกตั้ง : จับ "ขั้ว" ประชาธิปไตย

ทันทีที่ปรับโครงสร้างพรรครองรับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน โดยมี ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน
ภายใต้กติกาใหม่ พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนน้อยนิดหรือปิดประตูไม่ได้เลย เป็นไปตามทฤษฎีแห่งตัวเลข เมื่อพรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตเกินเพดาน ย่อมไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ยุทธวิธีแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยก็ผุดขึ้น
แต่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยบอกกับ ทีมข่าวการเมืองว่า ขอยืนยันไม่มียุทธวิธีดังกล่าว
เราเน้นทำพรรคโดยมุ่งหน้าแก้ไขปัญหาความทับซ้อนของผู้ที่จะลงสมัครจำนวนมากให้ดีที่สุด
คนที่ไม่ได้ลงก็เป็นธรรมดาจะต้องย้ายไปอยู่พรรคอื่น ก็ไม่ว่าอะไรกัน
ตามรัฐธรรมนูญเอื้อให้ตั้งพรรคใหม่ 7 หมื่นเสียง ได้ ส.ส. 1 คน ไม่ต้องมี ส.ส.เขตก็ได้

ถ้าเขามองว่าการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วน โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแทบไม่เหลือหรืออาจจะไม่ได้เลย
ก็เป็นสิทธิที่จะไปตั้งพรรคใหม่ เราไม่สามารถตอบสนองทุกคน ทุกคนต้องไปมีอนาคตของตัวเอง
ฉะนั้นขอพูดในนามพรรคเพื่อไทยว่า ถ้าคนล้นก็จะเขย่าให้ลงตัวมากที่สุด ใครไม่มีที่ลง จะขยับขยายไปไหนก็ตามอัธยาศัย เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญออกแบบให้พรรคใหญ่ลำบาก
ที่ผ่านมาได้ประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งไป 1 รอบ การคัดสรรผู้สมัครเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเขตเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน บุคลากรของพรรคมีมาก และจะต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกพรรคการเมืองไปหารืออีกครั้งถึงหลักเกณฑ์การคัดสรรผู้สมัคร
ทำไมถูกมองว่าบุคลากรจากพรรคเพื่อไทยแตกหน่อไปพรรคไทยรักษาชาติ ตั้งเป้าเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคเพื่อไทยเน้น ส.ส.เขต คุณหญิงสุดารัตน์ บอกว่า พูดอย่างนี้คนที่ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยจะหมดกำลังใจ
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยเท่าไหร่ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะได้เฉพาะ ส.ส.เขต ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ฉะนั้นมีทางเดียวที่จะทำให้ได้ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยถล่มทลาย
พวกเราไม่เคยพูดโอ้อวดว่าจะได้ ส.ส.จำนวนเท่าไหร่ จะพยายามทำอย่างดีที่สุดโดยเสนอนโยบาย ต้องแข่งกับตัวเองเพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนตัดสินใจเลือก แน่นอนทุกคนมีเป้าหมายต้องการชนะเลือกตั้ง ชัยชนะไม่ได้มาด้วยความฟลุก แต่ต้องได้มาจากการทำงานอย่างหนัก
ผลลัพธ์ออกมาอย่างไรก็เคารพการตัดสินใจของประชาชน จะไม่ไปประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
ขอย้ำว่าบุคลากรในพรรคมันล้น ถ้าอยู่ที่เดิมลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจจะไม่ได้เป็น ส.ส. เมื่อไปอยู่ที่อื่น จะไปดึงกางเกงเขาไว้ได้อย่างไร นักการเมืองอาวุโสก็มีโอกาสไปตั้งพรรค เข้าใจเพื่อนๆที่ไหลออกไป
ยินดีด้วยที่มีทางลง ทุกคนต้องมีอนาคต ตราบใดที่ยังเดินอยู่แนวทางระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ
วันนี้พูดได้เพียงว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นโอกาสของคนไทยจะมีความสุข เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
ในฐานะเป็นประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง จะเป็นหนึ่งในสามบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือสมัคร ส.ส.เขต คุณหญิงสุดารัตน์ บอกว่า กำลังเขย่าส่วนเกินในพรรคให้ลงตัว ก่อนถึงวันที่ 26 พ.ย.นี้ทุกอย่างจะชัดเจน

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดูแลพรรคเพื่อไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดูแลให้คำปรึกษาพรรคไทยรักษาชาติ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คุณหญิงสุดารัตน์ ขอตอบเฉพาะพรรคเพื่อไทยในฐานะที่รับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์การเลือกตั้งว่า ไม่เป็นความจริง
เพราะทั้งสองท่านทราบข้อกฎหมายดี ห้ามผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามายุ่งเกี่ยว โดยเฉพาะนายทักษิณ วันนี้ท่านเป็นผู้ใหญ่ กำหนดบทบาทของตัวเองไม่มายุ่งเกี่ยว ไม่ทำอะไรให้เกิดความเสียหายแก่องค์กร
แต่ขณะนี้เรากำลังเผชิญมรสุมหลายลูก มรสุมลูกแรกเขตเลือกตั้งลดลง พรรคเพื่อไทยได้รับผลกระทบกระเทือนมากที่สุด บุคลากรมีมากกว่าเขตเลือกตั้ง
มรสุมลูกที่สองเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.เขตขัดแย้งกัน เป็นการดีไซน์กติกาให้พรรคเพื่อไทยมีปัญหา ในฐานะดูแลด้านยุทธศาสตร์การเลือกตั้งก็ต้องทำให้ดีที่สุด และเรายังเผชิญมรสุมลูกที่สามพลังดูด มรสุมสามลูกเป็นปัจจัยทำให้เรามีปัญหา
ตามกติกาใหม่ยังกำหนดให้มีพรรควุฒิสภามี 250 เสียงตุนอยู่ในกระเป๋า เพื่อเตรียมโหวตนายกรัฐมนตรี
แบบนี้ประชาชนมองออกว่าทำตามโรดแม็ปให้ทหารคืนสู่อำนาจต่อไป
ปัญหาเหล่านี้จะต้องบริหารจัดการอย่างเต็มที่และทำให้ดีที่สุด โดยไม่ขอพูดถึงพรรคอื่น ไม่ได้ร่วมมือร่วมใจกับพรรคอื่นในการจัดการเลือกตั้ง
แต่หลังการเลือกตั้งยืนยันจะร่วมกับพรรคที่มั่นคง เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย สนับสนุนและปกป้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขณะนี้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีพรรคการเมืองไหนบ้าง คุณหญิงสุดารัตน์ บอกว่า พรรคนี้ยืนอยู่ในวิถีของการรักษาประชาธิปไตย เพื่อโอกาสของคนไทย และหลังการเลือกตั้งก็จะเห็นพรรคที่ยืนเคียงข้างประชาธิปไตย
ถึงวันนั้นจะรู้ว่าจะต้องเข้าไปทำงานร่วมกับพรรคการเมืองไหนบ้าง
ส่วนเกณฑ์ชี้วัดพรรคไหนยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ขอให้เป็นบทบาทของสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ถามว่า พรรคการเมืองไหนจะสนับสนุนประชาธิปไตยหรือทหาร
วันนี้ยังมีปัจจัยอะไรที่ยังบั่นทอนพรรคเพื่อไทยอีก คุณหญิงสุดารัตน์ บอกว่า ขณะนี้ชัดเจนโรดแม็ปเป็นไปตามแผนบันได 5 ขั้น กำลังเข้าสู่ขั้นที่ 4 มีการเลือกตั้ง เพื่อขยับขึ้นบันไดขั้นที่ 5 ให้ตัวเองกลับสู่อำนาจอีกครั้ง
ระหว่างที่บันไดขั้นที่ 3 ประชาชนทั่วประเทศคาดหวังเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่แนวโน้มห่วงและกังวลมาก ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้เงินซื้อเสียงและใช้อำนาจรัฐมากที่สุด ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม
ขอให้ กกต.สร้างความมั่นใจและพิสูจน์ให้เห็นว่า จะจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม เริ่มตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสว่า ผู้มีอำนาจสั่งการให้เปลี่ยนเขตเลือกตั้งจากเดิมมี 3 แบบ ก็จะให้มีแบบที่ 4
ใช้อำนาจรัฐตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการรับผิดชอบหน่วยเลือกตั้ง เดิมใช้ครู เปลี่ยนไปใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และยังไม่ถึงฤดูการเลือกตั้งก็เริ่มใช้อำนาจรัฐ ใช้งบประมาณแผ่นดินไปหาเสียง
แม้ถูกเอาเปรียบทุกประตู ก็ขอทำหน้าที่เต็มที่ เชื่อว่าสุดท้ายประชาชนจะตัดสินใจเลือกนโยบายต่างๆตอบโจทย์แก้ปัญหาของประชาชน ซึ่งเป็นจุดแข็งมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย
ซึ่งทำสำเร็จ ไม่ได้ขายฝันเพ้อเจ้อ ทำให้ประชาชนรวยกระจาย จนกระจุก

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยยังไม่จบ ยังมีกระแสจะมีคนออกไปอยู่พรรคอื่นอีก คุณหญิงสุดารัตน์ บอกว่า ไม่เป็นความจริง
ทั้งหมดเกิดจากกติกาใหม่ คนที่เดินออกจากพรรคไปก็อธิบายชัดเจน เมื่อบ้านหลังเดิมเล็ก จำนวนคนยังเท่าเดิมก็ต้องหาบ้านหลังใหม่ จากกันด้วยดี มีความเข้าใจกันและกัน
มาถึงวันนี้ขอเดินหน้าทำนโยบาย เพื่อคืนความสุขที่แท้จริง คืนเศรษฐกิจที่มั่นคง คืนโอกาส คืนรายได้ที่หายไปให้ประชาชน เป็นเวลาที่จะหยุดความทุกข์จากเศรษฐกิจแย่
แต่ปัญหาพรรคเพื่อไทยยังจ่อถูกยุบพรรคอยู่ เตรียมรับมืออย่างไรระหว่างนับถอยหลังใกล้เลือกตั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ บอกว่า มั่นใจไม่ได้ทำผิด
ทุกอย่างปฏิบัติด้วยความระมัดระวังตามกรอบกฎหมาย เพราะรู้ดีว่าเป็นพรรคไร้เส้น
ถ้าสู้กันด้วยความยุติธรรมก็พร้อมพิสูจน์ เชื่อมั่นความยุติธรรมยังมีอยู่
แต่ถ้าใช้อำนาจด้วยความอยุติธรรม ทำถึงขั้นนั้นอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
พรรคเพื่อไทยขอเดินหน้าเต็มที่ ถูกยุบก็ไม่กลัว.
ทีมการเมือง

'อ๋อย-เต้น-เหวง-วีระกานต์' เข้าคอก 'ทษช.' อ้างแก้เกมสืบทอดอำนาจ!

19 พ.ย.61 - เวลา 13.00น. ที่พรรคไทยรักษาชาติ ย่านแจ้งวัฒนะ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวุฒิพงษ์ ฉายแสง นางฐิติมา ฉายแสง อดีตส.ส. ฉะเชิงเทรา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาฯ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่ารฟม นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดง นางอนุตตมา อมรวิวัฒน์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวหลังจากสมัครสมาชิกเข้าร่วมงานทางการเมืองพรรคไทยรักษาชาติ
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพราะมีความขัดแย้งกับแกนนำพรรคหรือใครในพรรค ไม่มีปัญหาความแตกต่างทางอุดมการณ์ นโยบาย คิดว่าการทำงานตามอุดมการณ์เพื่อให้ปรากฎเป็นจริง จะทำได้อย่างไร สถานการณ์ที่ว่า ประเทศอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อคือฝ่ายเผด็จการที่ต้องการสืบทอดอำนาจ กับฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งโจทย์ของเราคือจะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจได้อย่างไร หากหยุดยั้งไม่ได้ ประเทศไทยอาจตกอยู่ภายใต้คสช. 10-20ปี อย่างที่ทราบกัน มีการวางกติกาลดทอนอำนาจประชาชน นักการเมืองบางคนถึงกับประกาศว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเขา รวมทั้งพรรคการเมืองใหญ่ ถูกสกัดไม่ให้มีเสียงข้างมาก การออกแบบเช่นนี้เหมือนกับเจาะจงให้กับมีผลต่อพรรคการเมืองใหญ่โดยเฉพาะ เป็นประตูกล เป็นกับดักที่เล่นงานพรรคการเมืองใหญ่ ทำให้เกิดผลเสียต่อฝ่ายประชาธิปไตย เมื่อเรารู้เท่าทันในรัฐธรรมนูญและหมากกล เราเชื่อว่าสามารถทำให้พรรคการเมือง พ้นและฝ่าจากกับดักนี้ไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสฝ่ายประชาธิปไตย ลดโอกาสที่เขาจะสืบทอดอำนาจ     
นายจาตุรนต์ กล่าวว่าที่มาร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากได้รวมผู้สนใจ มีวิสัยทัศน์ ต้องการมีบทบาททางการเมือง หัวหน้าพรรคได้มาเชิญ ได้ร่วมหารือ เห็นได้ชัดว่าพรรคนี้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยตรงกัน เลยตัดสินใจมา ที่มาไม่ใช่เพราะหนีกับดักส่วนตัว แต่ต้องการพัฒนาบ้านเมืองด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เพื่อให้พรรคนี้เป็น ยาพาหนะ ที่ทำให้พรรค นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หลีกเลี่ยงกับดักที่ออกแบบไว้ เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่จะพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน โดยตั้งเป้าจะนำพาพรรคในฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ 251 เสียง 
ขณะที่นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย มีแต่ความรัก อบอุ่น ถึงทุกวันนี้ก็รู้สึกดีไม่เสื่อมคลาย จะยืนหยัดต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสันติวิธี ตนได้พูดคุยกับหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ต่างมองไปในทางเดียวกันในการต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตย พวกเราจึงเดินทางมาในพรรคนี้ โดยไม่มีเงื่อนไข ข้อเรียกร้องในสถานะใดๆ แต่ขอเพียอย่างเดียว ไทยรักษาชาติ ต้องไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืน หลักการ เมื่อตนตัดสินใจเช่นนี้แล้ว ขอปวารณาตัวตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย หวังว่าประชาชนจะให้โอกาสพรรคไทยรักษาชาติ แม้เป็นพรรคใหม่ แต่จิตวิญญาณยังคงเดิม ชอบที่พรรคนี้เป็นศูนย์รวมของคนมีความคิดทันสมัย บนรากฐานประชาธิปไตย
 ถามว่าพรรคพลังประชารัฐก็มั่นใจจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายจาตุรนต์กล่าวว่า เป็นความชัดเจนของฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจ ตั้งพรรคการเมืองในทำเนียบรัฐบาล ใช้โครงการต่างๆ การเดินสายของรัฐมนตรี ดึงนักการเมืองให้ไปร่วมกัน มาถึงวันนี้ประกาศ รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา มันก็ชัดเจน ในส่วนของการรับมือนั้น เราต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงมากที่สุด โจทย์คือ ไม่ให้กลไกลรัฐธรรมนูญทำให้เราอ่อนแอ ซึ่งเป็นเรื่องเกมเลือกตั้ง ที่เราต้องรู้ทัน และแก้เกม แต่หลักใหญ่การสกัดสืบทอดอำนาจ คือ เราต้องอธิบายกับประชาชนว่า เหตุใดควรสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้เสียงมากที่สุด หากไม่เป็นเช่นนั้น จะเกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างไร ส่วนคสช.จะสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เป็นเรื่องพรรคการเมืองต้องประกาศแต่ต้น สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ ทำตัวเองให้ชัดเจน ยืนยันความตั้งใจตัวเองให้ชัดเจน
ถามว่าพรรคเพื่อไทยถูกมองว่ามุ่งหวังคะแนนระบบเขต ส่วนพรรคไทยรักษาชาติมุ่งหวังระบบบัญชีรายชื่อ นายจาตุรนต์กล่าวว่า จะตอบแทนพรรคเพื่อไทยก็ไม่เหมาะ เอาไว้ค่อยหารือกันอีกครั้ง 
ถามว่าจะอธิบายต่อประชาชนได้อย่างไร ต่อประชาชนให้ต้องเลือกเพื่อไทยระบบเขต ไทยรักษาชาติเลือกเพื่อบัญชีรายชื่อนายณัฐวุฒิกล่าวว่า ยังไม่มีใครอธิบายว่าไทยรักษาชาติจะเน้นปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทยมุ่งหวังเขต แต่ที่รู้คือ ไทยรักษาชาติ จะต่อสู้ตามกติกา อยู่ที่ประชาชน ได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ อยู่ที่ประชาชน ดังนั้นข้อสังเกตุที่ว่า คงเป็นข้อสังเกตที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ส่วนข้อสังเกตจากคนเสื้อแดง ที่ไปอยู่ทั้งพรรคเพื่อชาติ พรรคไทยรักษาชาติ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า นปช.ได้หารือ จะไม่ตั้งพรรคการเมืองในนามนปช. ส่วนสมาชิกจะไปร่วมงานพรรคใด ถือเป็นเสรีภาพ ตราบใดยืนยันตามหลักประชาธิปไตย ถือเป็นแนวร่วม แต่ถ้าใครไปร่วมกับฝ่ายเผด็จการ ถือว่าขาดกัน ข้อเท็จจริงที่เคยพูดไว้วันนั้น ยังยืนยันมาถึงทุกวันนี้ นายจตุพร ไปเป็นกองเชียร์อยู่พรรคเพื่อชาติ เรามาอยู่ที่นี่ ก็ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง เพราะไม่ได้ไปร่วมงานกับพรรคใดไปในนามองค์กรนปช.

ปิดดีลโปรเจ็กต์ยักษ์ ก.พ.62 อัดช็อปช่วยชาติเวอร์ชั่น 2 โด๊ปเศรษฐกิจ

ประชาติธุรกิจ
19พฤศจิกายน2562

“สมคิด” เร่งกู้ ศก. โหมเมกะโปรเจ็กต์ 2.4 ล้านล้าน เร่งปิดดีล EEC 5 โครงการ 6.5 แสนล้าน ขายทีโออาร์เมืองการบินขีดเส้นได้ผู้ชนะ ก.พ.ปีหน้า สั่งบีโอไอจัดแพ็กเกจออนท็อปดึงต่างชาติลงทุน คลังจัดสารพัดมาตรการกระตุ้น “เติมเงินบัตรคนจน-เพิ่มเบี้ยคนชรา-ช็อปช่วยชาติเวอร์ชั่น 2” ชง ครม. 27 พ.ย.นี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้และต้นปีหน้าจะเป็นช่วงนาทีทองของการลงทุน ทั้งจากในและต่างประเทศ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ถึง 2.4 ล้านล้านบาท ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเชื่อมโยงและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม
โหม 6.5 แสนล้านเข้าอีอีซี
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว 5 โครงการ คือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนทั้ง 5 โครงการกว่า 6.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะได้ผู้ลงนามในสัญญาภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
“โครงการเหล่านี้ไทยต้องการเชิญชวนเอกชนจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมลงทุน หากมีความร่วมมือระหว่างจีนและญี่ปุ่นลงทุนร่วมกันในอีอีซีก็ทำให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างดี”
นายสมคิดกล่าว
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังเร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ถนน และมอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟฟ้าในเมืองและภูมิภาค กำลังเดินหน้าหลายเส้นทางอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หลายเส้นทางอยู่ระหว่างการประกวดราคา หรือรอ ครม.อนุมัติ ซึ่งโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือ PPP
ปี 2562 นาทีทองแห่งการลงทุน
นายสมคิดกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในวันที่ 19 พ.ย.นี้จะออกมาตรการพิเศษทำให้ตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2019 จะเป็น Golden year ของการลงทุน
“เรากำลังเตรียมการต้อนรับนักลงทุนที่จะมาประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ทำให้จีนและญี่ปุ่นเห็นว่าทิ้งไทยไม่ได้” นายสมคิดกล่าว
เร่งลงทุนรัฐวิสาหกิจ
นายสมคิดกล่าวว่า การใช้จ่ายรัฐบาล ปีหน้าจะเป็นปีที่การลงทุนโครงการใหญ่เดินหน้า การลงทุนรัฐวิสาหกิจต้องเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ผ่านมาตกท้องช้าง เคลื่อนไม่ออก ดังนั้นเหลืออีก 1 ไตรมาสต้องเร่งให้เงินลงทุนออกสู่ระบบเศรษฐกิจ

“ถ้ารักษาอัตราการลงทุนภาครัฐและเอกชนได้ ที่เหลือคือความเชื่อมั่นของประชาชน ต้องเชื่อมั่น ต้องมั่นใจ ต้องเดินไปด้วยกัน เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่”
นอกจากนี้ก็ได้สั่งให้กระทรวงการคลังเตรียมงบประมาณเพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในกรณีที่ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศทำให้ตัวเลขการส่งออกลดลงเพราะเดือน ก.ย.ติดลบ
“ช็อปช่วยชาติ” เวอร์ชั่น 2
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ โดยจะเน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งในส่วนของผู้ถือบัตรอาจได้รับการช่วยเหลือมากกว่า นอกจากนี้ยอมรับว่า จะมีการช่วยเหลือแบบ “เติมเงิน” ให้บางส่วน และอีกหลาย ๆ มาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำลังพิจารณาว่าจะมีมาตรการสำหรับคนรายได้ปานกลางด้วยหรือไม่
สำหรับมาตรการภาษีช็อปช่วยชาตินั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพิจารณามาตรการในทำนองเดียวกันนี้ คือกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย แต่อาจไม่ได้ทำเหมือนมาตรการช็อปช่วยชาติเดิม ซึ่งยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุป
“มาตรการช้อปช่วยชาติจะไม่ทำเหมือนเดิม เพิ่งคุยกันไป แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ลงตัว” นายอภิศักดิ์กล่าว
แพ็กเกจของขวัญประชาชน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ของคลังจะเป็นแพ็กเกจที่เน้นกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก เพราะอยากให้เห็นผลทันที เนื่องจากเห็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยช่วงปลายปีจะแผ่วลงมาก แต่ภาพรวมทั้งปียังขยายตัวได้ดี เพราะอานิสงส์จากครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4.8%
หากได้ข้อสรุปรัฐบาลจะประกาศให้เป็นของขวัญแก่ประชาชน อย่างเช่น มาตรการที่หวังผลกระตุ้นการบริโภคมากที่สุด โดยใช้มาตรการทางภาษีในทำนองเดียวกับช็อปช่วยชาติที่ให้ลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่จะนำระบบอีเพย์เมนต์มาเชื่อมโยง คือการคืนภาษี จากการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบพร้อมเพย์
“ช่วงเวลาการทำมาตรการอาจจะ 7 วัน หรือ 1 เดือน ตอนนี้ยังไม่นิ่ง ต้องหาข้อสรุปอีกที” แหล่งข่าวกล่าว
เพิ่มเบี้ยคนชรา
ส่วนอีกมาตรการจะเป็นการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมเข้าไป เช่น การเติมเงินช่วยค่าน้ำมันสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการที่ขับจักรยานยนต์รับจ้าง การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้คนจน เป็นต้น รวมทั้งมาตรการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีข้อเสนอให้เพิ่มเบี้ยคนชราเพื่อใช้เป็นค่าเดินทางไปโรงพยาบาล และหากมีเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้ หรือเหลือจากการเดินทางจะนำมาใส่ในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมถึงมีแนวคิดให้ทำประกันสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุด้วย
อย่างไรก็ดี มาตรการทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ยังต้องประชุมหารือกันอีกเพื่อให้ได้ข้อสรุปแล้วเสนอ รมว.คลัง ในวันที่ 23 พ.ย. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 พ.ย.ต่อไป
“สมคิด” ถกรัฐวิสาหกิจบี้ลงทุน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า วันที่ 21 พ.ย.นี้ รองนายกฯสมคิดจะเรียกผู้บริหารรัฐวิสาหกิจมาประชุมเพื่อเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯลงทุน ในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า หรือก่อนจะมีการเลือกตั้ง
“ก่อนการเลือกตั้งอาจเกิดการชะลอตัวเรื่องการเบิกจ่ายงบฯลงทุน แต่ประเทศรอไม่ได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ดังนั้นก็ต้องเร่งทุกจังหวะ” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะโฆษก สคร.กล่าวว่า ขณะนี้ สคร.กำลังวิเคราะห์การเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจรายโครงการ โฟกัสโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เนื่องจากจะเกิดผลในทางเศรษฐกิจได้มาก อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น
EEC เร่งประมูล 5 โครงการ 
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ย.นี้จะทยอยเปิดให้เอกชนไทยและต่างชาติทั่วโลกที่สนใจเข้าร่วมประมูล PPP Net Cost ระยะเวลา 30-50 ปี ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 5 โครงการ มูลค่าลงทุน 652,559 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยรัฐ 32% หรือ 209,916 ล้านบาท และเอกชน 68% หรือ 442,643 ล้านบาท โดยเอกชนที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐมากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก คาดว่าภายในเดือน ก.พ. 2562 จะได้เอกชนผู้ชนะประมูลทุกโครงการ
“เพิ่งยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา คือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”
ก.พ. 62 เซ็นสัญญาครบ 
อีก 4 โครงการกำลังทยอยประกาศขายทีโออาร์ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงิน 114,047 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 5-19 พ.ย. 2561 ยื่นซองวันที่ 14 ม.ค. 2562, ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงิน 55,400 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 9-21 พ.ย. 2561 เปิดยื่นซองวันที่ 6 ก.พ. 2562, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 16-29 พ.ย. 2561 เปิดยื่นซองวันที่ 28 ก.พ. 2562 ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) วงเงิน 10,588 ล้านบาท การบินไทยอยู่ระหว่างดำเนิการ
ชงรถไฟฟ้ากว่า 2 แสนล้าน 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้จะเร่งเสนอรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 10 กม. เงินลงทุน 7,596 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท ให้ ครม.อนุมัติ ในเดือน ม.ค. 2562 จะเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท
ลุ้นจีดีพีไตรมาส 3
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 4.5% โดยครึ่งแรกขยายตัว 4.8% ซึ่งมีการประเมินไว้แล้วว่าครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลง
เพิ่มบัตรคนจน 3.5 ล้านใบ
นายลวรณกล่าวอีกว่า จากการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 พบว่ามีผู้ลงทะเบียนเพิ่มอีก 4.5 ล้านราย โดยผ่านคุณสมบัติ 3.5 ล้านราย ซึ่งจะมีการแจกบัตรในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ และเริ่มใช้จ่ายเงินผ่านบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป
Golden Year BOI
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้จะมีการเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม หรือ Top Up จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีอยู่เดิมตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ปี 2562 เป็นปี gloden year โดยหลักการให้การส่งเสริมจะเป็นไปตามประเภทกิจการ ขนาดการลงทุน และระยะเวลาการลงทุน “จะไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น”
หากบอร์ด BOI เห็นชอบมาตรการจะมีผลทันที เบื้องต้นคาดว่าจะมีกรอบระยะเวลาใช้ Top Up 1 ปี
“สาเหตุที่ต้องเสนอมาตรการ Top Up ไม่ใช่ว่า 9 เดือนแรกยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เป็นเพราะเรามองเห็นแล้วว่า มีนักลงทุนจากหลายประเทศที่กำลังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น หลังจากมีสงครามการค้าเกิดขึ้น ทำให้มีการแข่งขันส่งเสริมการลงทุน ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีมาตรการขึ้นมาเพื่อช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศเหล่านั้น เราจะกำหนดสเป็กและเงื่อนไขส่งเสริมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น เร็วขึ้น ส่วนกรอบระยะเวลาส่งเสริมจะเป็นระยะสั้น ประมาณ 1 ปี ไม่ได้กำหนดใช้ในปีนี้เพราะปี 2561 เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งโดยปกติเดือนธันวาคมจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามามากที่สุด BOI มั่นใจว่า การส่งเสริมการลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้” น.ส.ดวงใจกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากมาตรการส่งเสริมการลงทุน Top Up มีผลบังคับใช้ ทาง BOI มีแผนจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในลักษณะ one to one หรือการเข้าไปพบเคาะประตูยังบริษัท
นักลงทุนที่เรามองว่า มีศักยภาพโดยตรง ซึ่งจะเป็นการจัดกิจกรรมเพิ่มจากการส่งเสริมตามแผนปกติ โดยพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จีน ซึ่งมีนักลงทุนสนใจให้การลงทุนจำนวนมากขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นักลงทุนญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ
สำหรับมาตรการ Top Up จะประกอบด้วย 1) การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติกับโครงการที่ยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2562 โดยจะต้องเป็นโครงการที่เข้าตาม
หลักเกณฑ์ (ประเภทกิจการ-ขนาดการลงทุน) และต้องดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด 2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นให้บริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตลาดทุนไทย

ใหญ่กว่าไทยรักไทย สุริยะฟุ้งขน60คนซบ'พปชร.'/พ่อมดดำจ่อคิวต่อ

    "พลังประชารัฐ" ประกาศศักดายิ่งใหญ่ "สามมิตร" หอบ 60 ชีวิตเข้าซบอย่างชื่นมื่น กลุ่มการเมืองโผล่เพียบ ทั้งบ้านริมน้ำ-จงสุทธนามณี-ก๊วนอุบลฯ  “อุตตม” ลั่นทุกคนเป็นหนึ่งเดียวคือ พปชร. "สนธิรัตน์" โวมากันเยอะขนาดนี้จะไม่กวาด 350 เสียงได้อย่างไร  "สุริยะ" ฟุ้งยิ่งใหญ่กว่าสมัยเปิด ทรท. แนะ "สนธิรัตน์" ไขก๊อก รมต.เดินสายปราศรัย "สมศักดิ์" การันตีผู้ได้รับเลือกให้ลงสมัครได้เป็น ส.ส.ทั้งหมด ปชป.เตือนเป่าคดีให้นายทุนพรรคซ้ำรอยระบอบทักษิณ
    เมื่อวันอาทิตย์ ที่โรงแรมแชงการี-ลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดรับสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการ และการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรค บรรยากาศคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า เหล่าบรรดาแกนนำพรรค คณะผู้บริหาร นำโดย 4 รัฐมนตรีแกนนำพรรค ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค มารอต้อนรับตั้งแต่เช้า โดยมีอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. นักการเมืองท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจ ศิลปินดารา เดินทางมาสมัครสมาชิกพรรคจำนวนมาก
    โดยเฉพาะในเวลา 10.30 น. กลุ่มสามมิตร นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน,  นายอนุชา นาคาศัย แกนนำกลุ่มสามมิตร ได้นำสมาชิกในกลุ่ม 60 คน อาทิ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ นายก อบจ.สุโขทัย และอดีต รมช.สาธารณสุข, นายภิญโญ นิโรจน์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายจำลอง ครุฑขุนทด อดีต รมช.ศึกษาธิการ, นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท, นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีต ส.ส.ราชบุรี,  นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส.สุโขทัย เป็นต้น มาสมัครสมาชิกพรรค โดยมี 4 รัฐมนตรีแกนนำพรรค ไปให้การต้อนรับ พร้อมชูมือแสดงพลัง
    ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มอดีต ส.ส.และนักการเมืองต่างๆ ในภาคอีสานเดินทางมาจำนวนมาก อาทิ กลุ่มของนายสุพล ฟองงาม อดีต รมช.มหาดไทย, กลุ่มของนายวิรัช รัตนเศรษฐ, กลุ่มของนายเอกราช ช่างเหลา, ตระกูลจงสุทธนามณี ใน จ.เชียงราย, สมาชิกบางส่วนของกลุ่มบ้านริมน้ำ นำโดยนายรณฤทธิ์ คานเขต อดีต ส.ส.ยโสธร, กลุ่มอดีต ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นำโดยนายธวัชชัย อนามพงษ์, กลุ่มอดีต ส.ส. ส.ข. และ ส.ก. กทม. พรรค ปชป. นำโดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 
    นอกจากนี้ ยังมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ มาด้วยเช่นกัน 
    ทั้งนี้ ในงานได้มีการจัดเลี้ยงอาหารบุฟเฟต์ ขณะที่ตลอดทั้งวันมีประชาชนทยอยมาต่อแถวสมัครสมาชิกพรรคยาวเหยียด โดยมีนายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรค ดูแลการรับสมัครด้วยตัวเอง
    ต่อมาเวลา 13.00 น. นายอุตตม ในฐานะหัวหน้าพรรค ขึ้นเวทีกล่าวกับสมาชิกพรรคว่า ตนเชื่อว่าภายใต้พรรค พปชร. ประเทศไทยจะก้าวสู่ความสงบ ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ก่อนหน้านี้ตนไปที่ไหนมีแต่คนอยากมาร่วมกับเรา ตอนนี้พรรค พปชร.พร้อมให้ทุกคนเข้าร่วมแล้ว วันนี้พวกเรามากันหลากหลาย เปิดกว้างให้กลุ่มคนเดิม คนรุ่นเก่าแต่เก๋าด้วยประสบการณ์ และคนรุ่นใหม่ไฟแรง ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากที่สุด 
    "ยืนยันพวกเราไม่มีตัวแทนอื่นใด ไม่มีพรรคสำรอง มีพรรคเดียวคือพรรค พปชร. และเราจะเดินอย่างตรงไปตรงมา เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง วันนี้เรามีความพร้อมมีโอกาสมาแต่มีเวลาไม่มาก เราจะต้องนำเสนอตัว นำเสนอนโยบายให้แก่ประชาชน จากนั้นเพื่อนร่วมอุดมการณ์จะมาเพิ่มเติมจำนวนมาก จากนี้ไปเราจะต้องทำงานกันอย่างหนัก แต่เราพร้อมย้ำว่าไม่มีกลุ่ม ไม่มีสีเราจะขับเคลื่อนประเทศไทยจากนี้ไป" นายอุตตมกล่าว 
ประกาศศักดาอย่างยิ่งใหญ่
    จากนั้นนายสนธิรัตน์ขึ้นเวทีกล่าวในฐานะแม่บ้านพรรคว่า  วันนี้เป็นการประกาศศักดาของ พปชร.และตนไม่เชื่อสายตาว่าวันนี้เราจะสามารถรวบรวมคนได้มาก แปลว่าพรรคนี้ประมาทไม่ได้ และมีคนบอกว่าพรรคพปชร.มีแค่ 4 กุมาร ตนก็มองว่าอายุจะ 60 ปีกันหมดแล้ว จะเป็น 4 กุมารได้อย่างไร แต่วันนี้ข้างหลังกุมารมีนินจา สมาชิกวันนี้เป็นวันประกาศศักดาก้าวที่ 1 ของพรรค
    หลังจากนั้น นายสนธิรัตน์ได้ขอให้อดีต รมต.จากทุกรัฐบาลที่เข้ามาร่วมกับพรรค พปชร. อดีต ส.ส.และคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นโชว์ตัว พร้อมกล่าวว่า ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และว่า "ไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดนี้คือ พปชร.ที่ทุกคนมาอยู่ร่วมกันมาเยอะขนาดนี้ จะไม่กวาด 350 เสียงได้อย่างไร "
    "ในฐานะแม่บ้านพรรค ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าร่วมอุดมการณ์พรรค พปชร. และครั้งนี้ถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ว่าประเทศไทยมีทางออกแล้วตั้งแต่มีพรรค พปชร. และถ้าไม่มีพรรค พปชร.ประเทศไร้ทางออกโดยสิ้นเชิง ยืนยันประเทศไทยอยู่ในมือ และพรรค พปชร.อยู่ในมือทุกคน" เลขาธิการพรรค พปชร. ระบุ
    ต่อมาบนเวทีมีการเชิญตัวแทนแต่ละพรรค รวมทั้งกลุ่มสามมิตร ขึ้นรับมอบเสื้อแจ็กเกตสีขาว ที่มีโลโก้พรรค พปชร. โดยนายอุตตมและสนธิรัตน์เป็นผู้สวมใส่ให้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าทุกคนได้เข้าร่วมพรรค พปชร.แล้ว
    สำหรับอดีต ส.ส.ที่ขึ้นเวทีเป็นที่น่าสนใจ อาทิ นายปัญญา จินาคำ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน, นายเวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด, นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท, นายมงคล จงสุทธนามณี อดีต ส.ส.เชียงราย เป็นต้น 
    จากนั้น นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรค ได้กล่าวทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคถึงระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ปฏิบัติอย่างระมัดระวังและรอบคอบ รวมถึงขั้นตอนการรับสมัครบุคคลเข้าเป็นสมาชิกพรรค 
    หลังจากนั้น นายสุริยะ แกนนำกลุ่มสามมิตร ได้กล่าวเปิดใจบนเวทีว่า ประสบการณ์สมัยอยู่พรรคไทยรักไทย ซึ่งคิดว่ายิ่งใหญ่แล้ว แต่วันนี้เป็นความยิ่งใหญ่มากกว่าสมัยเปิดพรรคไทยรักไทย คิดว่าน่าจะเป็นการเตรียมการที่ดี องค์ประกอบ และผู้ที่มาในวันนี้ มีผู้สมัคร 350 คน และบัญชีรายชื่อรวม 500 คน 
    "คุณภาพคับแก้วทั้งนั้น วันนี้รู้สึกดีใจ เพราะตลอด 7-8 เดือนที่ผ่านมา ผมถูกผู้สื่อข่าวถามหรือกระแนะกระแหนว่าเมื่อไหร่จะนำพรรคสามมิตรเข้าพรรค พปชร. มัวแต่ต่อรองกันอยู่ วันนี้จึงนำกลุ่มสามมิตรเข้ามามอบตัวกับเลขาธิการพรรค ต่อจากนี้ไปจะไม่มีกลุ่มสามมิตรจะมีแต่พรรค พปชร." นายสุริยะกล่าว
    นายสุริยะกล่าวถึงเบื้องหลังกลุ่มสามมิตรว่า เมื่อประมาณวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ทางผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือสมัยอยู่พรรคไทยรักไทยด้วยกัน ท่านบอกว่าถ้าไม่มีพรรคทางเลือกใหม่ให้ประชาชน การเลือกตั้งครั้งใหม่ 2 ขั้วเดิมมา เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ก็คงจะเกิดวิกฤติทางการเมืองอีก ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์ที่ทหารเข้ามา ถ้าเราไม่ต้องการเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็ต้องมาเป็นพรรคทางเลือกใหม่ ท่านก็ให้ตนช่วยประสานกลุ่มต่างๆ มาร่วมอุดมการณ์นี้ จากนั้นผ่านมา 8 เดือน เราได้ผู้สมัครครบ 500 คน ต่อไปนี้จะเป็นหลักชัยที่ 2 ที่เราจะต้องทำให้ได้คือต้องชนะเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย 150 คน 
    "วันนี้ยิ่งมั่นใจ เพราะได้พบดาวรุ่งไทยปรากฏใหม่คือนายสนธิรัตน์ จึงอยากจะขอร้องให้ท่านลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี เพื่อขึ้นปราศรัย และหลักชัยที่ 3 เราต้องก้าวข้าม ถ้าได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สิ่งสำคัญจะทำอย่างไรให้พรรค พปชร.อยู่ในหัวใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ตรงนี้เป็นงานหนัก" นายสุริยะกล่าว
ยังไม่เคาะประยุทธ์ลงนายกฯ
    ขณะที่นายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่เราเข้าสู่สนามเลือกตั้ง จะบอกว่าง่ายก็ง่าย แต่ต้องยอมว่ากระแสตกค้างความนิยมของพรรคคู่แข่งที่มีมากพอสมควร ด้วยประสบการณ์จากการเลือกตั้ง 10 สมัย อยากบอกว่าถ้าเราไม่นำสิ่งดีๆ ที่มีเข้าไปเปลี่ยนความรู้สึกของคนที่มีกระแสเดิมอยู่ โอกาสเพื่อนำไปสู่ชัยชนะก็จะยาก
    ด้านนายอุตตม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีหลายกลุ่มเข้ามาเป็นสมาชิก จะมีแนวทางการบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นเอกภาพว่า ทุกคนที่เข้ามาใน พปชร.ถือเป็นกลุ่มเดียว คือพลังประชารัฐ ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก่อนหน้านี้อาจจะมี แต่เมื่อวันนี้เดินเข้ามาแล้วต้องอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มเดียวกัน 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี น.ส.วันทยา วงษ์โอภาสี มาดามเดียร์ เข้าร่วมพรรค พปชร. ทางพรรค ปชป.มองว่าพปชร.ครอบงำสื่อ นายอุตตมกล่าวว่า ทำไมไปคิดแบบนั้น เราเปิดกว้างทางการเมือง จะมาตั้งแง่ทำไม คนที่มีความตั้งใจจะเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อชาติ ไม่ว่านามสกุลไหน ทั้งหมดอยู่ที่ตัวบุคคล อย่าไปมองที่นามสกุล
    เมื่อถามว่า สรุปจะเสนอใครเป็นนายกฯ นายอุตตม กล่าวว่า คำถามนี้เร็วเกินไป วันนี้เราเพิ่งได้รับการรับรองความเป็นพรรคการเมือง ขอเวลาให้พรรคได้มีการหารือแล้วจึงจะได้สรุปจะเสนอใครเป็นไปตามจังหวะเวลาตามกฎกติกากำหนด ช่วงนี้ต้องขอหารือเป็นการภายในก่อน กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องไปถามตัวท่านเองว่าพร้อมเสนอตัวทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ 
    ถามว่า สรุปว่า 4 รัฐมนตรีพรรค พปชร.จะลาออกจากตำแหน่งได้เมื่อไร หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า คำตอบเดิมคือ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการสวมหมวก 2 ใบ ถูกมองว่าสร้างความได้เปรียบนั้น ขอให้ดูที่พฤติกรรมการทำงานของพวกเราจะดีกว่า ว่าเอาเปรียบตรงไหน ซึ่งตนเชื่อว่าไม่มี หรือถ้าเห็นให้ชี้มาเลย 
    "ต้องยอมรับเวลามีไม่มากในการเป็นพรรคใหม่ แต่ไม่ได้กังวลอะไร เพียงแต่ทุกคนในพรรคต้องทำงานหนักในส่วนของเรา แต่มั่นใจว่าทำได้แน่" นายอุตตมกล่าว
    นายสุริยะให้สัมภาษณ์ว่า หลังการสมัครเป็นสมาชิกพรรคแล้ว บทบาทของตนและนายสมศักดิ์จะเป็นแค่สมาชิก ขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะมอบหมายให้ดำเนินการอะไร และจะมีการสลายกลุ่มสามมิตรทันที และจะไม่มีการตั้งมุ้งในพรรคแน่นอน มั่นใจว่าพรรคจะมีความเอกภาพ 
    ส่วนกรณีที่ระบุว่ากลุ่มสามมิตรไปรับใช้ทหารนั้น นายสุริยะกล่าวว่า ตนเป็นพลเรือน ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของทหาร หลังเลิกเล่นการเมืองไปกว่า 10 ปี ก็มีคนที่เคยทำงานในพรรคไทยรักไทยด้วยกัน ซึ่งตนให้ความเคารพมาชักชวนให้กลับมาทำงานการเมือง ซึ่งตนมองว่าจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ ไม่เช่นนั้นการเมืองจะเป็นแค่การต่อสู้ของ 2 พรรคเดิม ซึ่งอาจจะเกิดวิกฤติการเมืองหลังเลือกตั้งอีก จึงต้องการให้ประชาชนมีทางเลือก 
    ด้านนายสมศักดิ์กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับเลือกจากพรรคที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เชื่อว่าจะได้เป็น ส.ส.ทั้งหมดเพราะมีความพร้อมทั้งตัวบุคคลและนโยบายและการสนับสนุนจากพรรค รวมถึงผลงานของรัฐบาลที่พรรคจะสานต่อ ดังนั้นหากผู้สมัครขยัน ก็มีโอกาสเป็น ส.ส.สูง ไม่ใช่เฉพาะคนที่มาจากกลุ่มสามมิตรเท่านั้น และในขณะนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนแล้ว     
ปชป.จับตาเป่าคดีช่วยนายทุน
    ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวถึงการมาร่วมกับพรรค พปชร.ว่า เนื่องจากต้องการก้าวข้ามความขัดแย้ง อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าได้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยข้างถนน แบบนั้นไม่ทำบ้านเมืองเดินไปไหนได้ 
     นายรณฤทธิชัย คานเขต อดีต ส.ส.ยโสธร กลุ่มบ้านริมน้ำ เปิดเผยว่า อีกประมาณ 1-2 วัน นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.ที่ทำการพรรค วันนี้ตัวพร้อมผู้สมัครกลุ่มบ้านริมน้ำ 30 คน มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค เพราะเป็นรัฐบาลแน่นอน เนื่องจากมี ส.ว.สรรหาจำนวน 250 คน สนับสนุน และนโยบายดีประชาชนชื่นชอบ ส่วนที่มองว่าเป็นพรรคของทหาร ขอถามว่าไม่มีพรรคใดที่ไม่มีทหารสังกัดพรรค
    ที่ จ.กาญจนบุรี มีรายงานว่า พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย พล.ต.ต.กมลสันติ กลั่นบุศย์ อดีต ผบก.กาญจนบุรี, นายสมเกียรติ วอนเพียร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสำรอง อ.ท่าม่วง, นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรค ปชป., นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ กาญจนบุรี พรรค ปชป. เดินทางไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กทม.เรียบร้อยแล้ว
    ทางด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีพรรค พปชร.เปิดตัว น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ภรรยาของนายฉาย บุนนาค ที่มีคดีปั่นหุ้นอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ถือเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลใช้อำนาจรัฐชิงความได้เปรียบทางการเมือง จากก่อนหน้านี้ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะลงพื้นที่หาเสียงก่อน หรือ 4 รัฐมนตรีไม่ยอมลาออก เพื่อปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และยังมีกรณีนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ หลานชายนายสุริยะ ก่อนหน้านี้บริษัทของเขาก็ถูก ก.ล.ต.สั่งห้ามขายหุ้นมาเป็นปี แต่พอมาสมัคร พปชร.ก็ขายหุ้นได้   
    "ทำให้การดึงทั้ง 2 คนนี้ มองว่าเป็นการสนับสนุนทุนทางการเมืองใช่หรือไม่ และ น.ส.วทันยาก็ยังดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชนอยู่หลายแห่ง อาจเป็นข้อแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ ขณะที่คดีความของสามี หากสุดท้ายดีเอสไอไม่ฟ้องก็จะตอบโจทย์ก็จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้นายทุนที่มีคดีอยู่ใช่หรือไม่  หากเป็นเช่นนั้นจริง จะกระทบต่อกระบวนยุติธรรม เสียหายทั้งสายตาคนไทยและต่างชาติ จึงอยากเตือนว่าให้ผู้มีอำนาจหยุดพฤติกรรมเช่นนี้ ที่มีตัวอย่างมาก่อนแล้วอย่างระบอบทักษิณเคยทำมา จนตัวเองไม่มีแผ่นดินอยู่ ไม่หยุดอาจกลายเป็นระบอบประยุทธ์ สุดท้ายประชาชนจะออกมาต่อต้านเช่นกัน” นายสาธิตกล่าว
     นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ปชป. กล่าวว่า กรณีผู้สมัคร ส.ส.พรรค พปชร.มีคดีติดตัวหรือสามีมีคดีในตลาดหลักทรัพย์ หรือบิดาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมหรืออยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าถ้าถูกจำคุกอยู่ก็จะได้รับการพักโทษง่ายๆ หรืออ้างว่านำมารักษาพยาบาลนอกเรือนจำ ถ้าถูกแขวนป้ายห้ามถือหุ้นก็ซื้อขายหุ้นได้ทันที ถ้าถูกฟ้องปั่นหุ้นก็อาจจะหลุดคดีได้เช่นกัน ยุคนี้จึงเป็นยุคที่มีอำนาจพิเศษที่สามารถดลบันดาลได้ตามใจชอบ หากยินยอมเป็นเครื่องมือให้กับพรรคพลังประชารัฐ ระบบนิติรัฐนิติธรรมกำลังถูกแทรกแซงอย่างหนัก จนประชาชนถามไถ่กันว่าความยุติธรรมนั้นอยู่ที่ไหน. 

เลือกตั้ง 2562 : สมศักดิ์-สุริยะ ประกาศยุบกลุ่ม “สามมิตร” หลังสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐอ้างได้ ส.ส. ทะลุร้อยแน่ หลังกลุ่ม "สามมิตร" สมัครสมาชิกพรรค ป้อง "มาดามเดียร" ตั้งใจทำงานการเมืองเพื่อชาติ ไม่เกี่ยวนามสกุล

นายอุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดโรงแรงแชงกรี-ล่า รองรับการสมัครเป็นสมาชิกพรรคของอดีตนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "สามมิตร" ราว 60 คน ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยทั้งหมดเดินทางมาโรงแรมหรูด้วยรถโดยสารขนาดใหญ่

"หลังจากนี้จะไม่มีกลุ่มสามมิตร เพราะเรามาเข้าเป็นกลุ่มพรรคพลังประชารัฐแล้ว" นายสุริยะกล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนสมัครเป็นสมาชิก พปชร. และย้ำว่าเขาและนายสมศักดิ์จะเป็นเพียงสมาชิกพรรคธรรมดา ๆ และไม่มีการตั้ง "มุ้ง" ภายในพรรคแน่นอน

นายสุริยะยังปฏิเสธข้อครหาที่ว่ากลุ่มสามมิตรรับใช้ทหาร โดยระบุว่าพวกเขาเป็นพลเรือน ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาฝ่ายทหาร แต่ถามว่ามีใครชักชวนให้กลับมาเล่นการเมืองหลังจากที่เลิกเล่นการเมืองไป 10 กว่าปี ก็ตอบว่ามี และคน ๆ นั้นเป็นคนที่นายสุริยะให้ความเคารพตั้งแต่สมัยทำพรรคไทยรักไทยอยู่ด้วยกัน

ผู้ส่งเทียบเชิญนายสุริยะ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กลับสู่แวดวงการการเมืองได้พูดจาหว่านล้อมเขาว่า หากไม่มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น การเมืองก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคเดิม ซึ่งในที่สุดอาจเกิดวิกฤติการเมืองอีก จึงคิดว่าอยากให้ตั้งพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน 

สำหรับบุคคลที่เจรจาให้นายสุริยะมาร่วม พปชร. คือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และเป็นบุคคลที่นายสุริยะและสมศักดิ์ให้ความนับถือ เรียกว่า "อาจารย์" ทุกคำ เช่นเดียวกับ 4 รัฐมนตรีที่กลายมาเป็นผู้บริหาร พปชร. ก็ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของนายสมคิดทั้งสิ้น

อ้างได้ ส.ส. ทะลุร้อยเสียงแน่

นายสุริยะยังกล่าวปราศรัยต่อหน้าสมาชิกพรรค โดยช่วงหนึ่งเขาได้ขยายความว่า "คนที่ชักชวนมาบอกผมว่าถ้าไม่มีพรรคการเมืองใหม่ สองพรรคการเมืองเดิมก็จะเข้ามา จากนั้นจะเกิดวิกฤติการเมือง ทหารจะเข้ามาดับวิกฤติอีก ไม่เกิดการพัฒนา จึงต้องมีพรรคทางเลือก เราจึงเข้ามา" ผ่านไปเกือบ 8 เดือน ต่อไปนี้จะเป็นขั้นที่ 2 ซึ่งจะต้องได้ ส.ส. เกิน 150 คน จากประสบการณ์และทำโพลต่าง ๆ มั่นใจว่า ได้แน่นอน 150 เสียง วันนี้เห็นดาวรุ่งไฮด์ปาร์กคนใหม่คือท่านสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการ พปชร. จึงขอให้ท่านรีบลาออก เพื่อไปช่วยพรรคปราศรัยหาเสียง ส่วนขั้นที่ 3 เราต้องเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแนวนโยบายทางภาคตะวันออกอย่างอีอีซี ถือเป็นตัวอย่างที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้โครงการแบบนี้เกิดในภาคเหนือและอีสาน ถ้าทำสำเร็จ พปชร. จะอยู่ในหัวใจคนทั้งประเทศ

ด้านนายสมศักดิ์แสดงความมั่นใจว่า ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของ พปชร. มีสิทธิได้เป็น ส.ส. "ถ้าจะพูดคุยถามเรื่องตัวเลข จะเป็นการพูดคุยเวอร์ไปเปล่า ๆ แต่ถ้าดูจากความพร้อมของพรรคและผู้สมัคร ผมมั่นใจ และความเสมอภาคที่พรรคให้กับผู้สมัครทั้งคนใหม่และคนเก่า ทั้งอดีต ส.ส. ดาวรุ่ง ดาวฤกษ์ตรงนี้ก็มีความเสมอภาค ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้แทนฯ เก่า" 

นายอนุชา นาคาศัย กรรมการบริหาร พปชร. ในโควต้ากลุ่มสามมิตร กล่าวอ้างว่าพรรคของเขามีโอกาสได้ ส.ส. กว่า 100 ที่นั่ง เนื่องจากนโยบายที่นำเสนอดีและตรงใจประชาชน และผู้สมัครของพรรคมีคุณภาพ 

สองเลขาฯImage copyrightTHAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพสองเลขาฯ : นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการ พปชร. สนทนากับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย (คนที่ 2 จากขวามือ)

ท่ามกลางอดีตนักการเมืองจากหลากหลายกลุ่มที่เข้ามาสังกัด พปชร. หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ไม่เคยลงสมัครับเลือกตั้งมาก่อน แสดงความเชื่อมั่นว่าจะบริหารจัดการได้ เพราะทุกคนที่เข้ามาใน พปชร. ถือเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด พร้อมปฏิเสธว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการจัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง "เรามีสรรพกำลังพอสมควร บางจุดอาจจะมีคนเก่งมีความสามารถมากกว่า 1 คน ก็ต้องพูดคุยกัน"

3 คำตอบที่ พปชร. ถูกวิจารณ์มากที่สุด ณ เวลานี้

นอกจากนี้นายอุตตมยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวในอีก 3 ประเด็นซึ่งพรรคถูกจับจ้อง-วิจารณ์มากที่สุด ดังนี้

1. การเข้าเป็นสมาชิกพรรคของ น.ส. วันทยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 23 ปี และรองประธานเจ้าหน้าบริหารในกลุ่มบริษัท สปริงนิวส์ สมัครเป็นสมาชิก พปชร. ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงสื่อ ?

- ทำไมไปคิดแบบนั้น เราเปิดกว้างทางการเมือง จะมาตั้งแง่ทำไม คนที่มีความตั้งใจจะเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อชาติไม่ว่านามสกุลไหนทั้งหมดอยู่ที่ตัวบุคคล อย่าไปมองที่นามสกุล 

2. คำสั่งหัวหน้า คสช. ยืดเวลาให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งถูกวิจารณ์ว่าแทรกแซง กกต. และเอื้อประโยชน์ให้กับ พปชร. ?

- ไม่มีการเอื้อเพื่อประโยชน์ให้กับ พปชร. พรรคมีความพร้อมและได้เตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักตามที่ กกต. กำหนดให้วันที่ 24 ก.พ. 2562 เป็นวันเลือกตั้ง เราถือคำสั่งนี้เป็นหลัก ส่วนงานอื่นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการ และเราพร้อมดำเนินการตามกติกา

3. สรุปจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี ใช่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่ ?

- คำถามนี้เร็วเกินไป วันนี้เราเพิ่งได้รับการรับรองความเป็นพรรคการเมือง ขอเวลาให้พรรคได้มีการหารือแล้วจึงจะได้สรุปจะเสนอใคร กรณีของ พล.อ. ประยุทธ์ก็คงต้องไปถามตัวท่านเองว่าพร้อมเสนอตัวทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ แต่ยืนยันว่าในส่วนของพรรคยังไม่ได้เลือกใคร

สมศักดิ์Image copyrightกองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ
คำบรรยายภาพสมัยสังกัดพรรคไทยรักไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นหัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม ซึ่งมีฐานเสียงหลักในภาคเหนือตอนล่าง

พลิกชื่ออดีตนักเลือกตั้งไหลเข้า พปชร.

ก่อนประกาศสลายกลุ่ม "สามมิตร" แกนนำ 2 ส. ได้รวบรวมนักการเมืองไว้เป็นกลุ่มก้อน ก่อนยกคณะมาสมัครเป็นสมาชิก พปชร. ต่อไปนี้เป็นรายชื่อเพียงบางส่วน

อดีตรัฐมนตรี

  • นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว. คมนาคม
  • นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว. เกษตรและสหกรณ์
  • นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
  • นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีต รมว. การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
  • นายภิญโญ นิโรจน์ อดีต รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 
  • นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ อดีต รมช. สาธารณสุข และอดีต นายก อบจ.สุโขทัย 
  • นายจำลอง ครุฑขุนทด อดีต รมช. ศึกษาธิการ 

ดีต ส.ส.

  • นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส. ชัยนาท 
  • นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีต ส.ส. ราชบุรี 
  • นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส. สุโขทัย 

นอกจากกลุ่มสามมิตร ยังมี ร.อ. ธรรมมนัส พรมมเผ่า หรือที่รู้จกในชื่อเดมว่า "ผู้กองมนัส" หรือ "ผู้กองตุ๋ย" เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคด้วย โดยให้เหตุผลว่าต้องการก้าวข้ามความขัดแย้ง อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าได้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยข้างถนน ทั้งนี้ทราบว่าในส่วนของผู้สมัคร ส.ส. พะเยา มีตัวผู้สมัครครบทั้งหมดแล้ว จึงคาดว่าจะได้ลง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

ผ่าตลาดนัดการเมือง “เคาะราคา” สุดท้าย : ใกล้ปิดคอก หมดเวลากั๊ก

บรรยากาศโหมโรงเลือกตั้ง จังหวะฉายหนังย้อนอดีตกระตุกเตือนกันสักนิด

ตามท้องเรื่องที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ ปาฐกถาพิเศษบนเวทีสัมมนา “THAILAND 2019” โชว์วิชั่น ประเมินทิศทางอนาคตล่วงหน้า

ปี 2562 คือปีทองในการลงทุนของประเทศไทย แม้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลก

แต่ความเสี่ยงของประเทศไทยที่ต่างชาติมองกันมาทุกชาติคือ การเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้สนใจว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง แต่สนใจว่าจะมีความต่อเนื่องเชิงนโยบายหรือไม่

เนื่องจากไม่มีใครอยากจะไปค้าขายหรือลงทุนกับประเทศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ

หรือเกิดการจลาจลอยู่บนท้องถนน และปีหน้าเป็นปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน เคยมีเหตุการณ์ละครดราม่าที่ยิ่งใหญ่มาก มีม็อบไปปิดโรงแรม ผู้นำจีน ผู้นำแต่ละประเทศขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีแทบไม่ทัน รอบนี้ต้องขอกันว่า ละครจะสร้างซ้ำไม่ได้ กว่าจะลบภาพได้ใช้เวลานับสิบปี

ถ้าซ้ำอีกครั้งเครดิตของประเทศไทยจะหมดเลย

ฉะนั้น การเลือกตั้งต้องเป็นการเลือกตั้งที่สมบูรณ์ แข่งขันด่าทอกันพอประมาณ แต่ต้องคำนึงว่า ประเทศจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน สิ่งดีๆกำลังจะกลับมา และเป็นปีเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ

สรุปสั้นๆ มันคือเดิมพันของประเทศที่ยึดโยงกับการเมืองหลังการเลือกตั้ง

ในมุมของนายสมคิดคงไม่ใช่กระตุกเตือนแค่นักการเมือง ตัวการวิกฤติป่วนเท่านั้น

แต่สำคัญสุดก็คือประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิออกเสียง ยังมีโอกาสในการใช้บทเรียนวิกฤติความขัดแย้งในอดีตมาเป็นส่วนตัดสินใจ กำหนดทิศทางผ่านการเลือกตั้ง


หลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการเมือง เพื่อให้ประเทศเดินหน้า

ไม่ให้ฉากละครดราม่าฉายซ้ำทำเมืองไทยถอยหลัง

ท่ามกลางฝุ่นควันการเมืองที่กำลังตลบอบอวล เชื้อไฟความขัดแย้งที่ถูกอำนาจพิเศษกดทับไว้ เริ่มกลับมาคุกรุ่นร้อนขึ้นตามลำดับ ล้อกับเงื่อนไขสถานการณ์เร้าเลือกตั้ง

ทั้งๆที่ยังไม่ชัวร์ จะได้เข้าคูหากาบัตรกันตามโปรแกรมหรือไม่

ในอาการแบบที่พรรคการเมืองรวมหัวกันออกมาโวยวายดักคอดักทาง ทั้งยี่ห้อเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และทีมอนาคตใหม่ แท็กทีมกันโหมกระแสเลื่อนเลือกตั้ง ตีปี๊บกาบัตรไม่ทันวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

อ้างปัจจัยเหตุสนับสนุนสมมติฐาน เพราะพรรคการเมือง ทีมหนุน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กลัวแพ้เลยต้องยื้อเลือกตั้งออกไป

ได้เหลี่ยมแฝงเบิ้ลบลัฟตีกินกันตามฟอร์ม

พร้อมกับโยนเผือกร้อน เพิ่มน้ำหนักสถานการณ์กดทับไปที่ คสช.ฝ่ายถืออำนาจ

ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันกับผู้นำต่างประเทศในเวทีประชุมนานาชาติ ประเทศไทยจะจัดเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เช่นเดียวกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม คุมความมั่นคง ก็ปักธงเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่มีเลื่อนแน่

แต่ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” พูดยังไง ก็เหมือนมีคนตั้งใจจะไม่เชื่อ

ในเมื่อเป้าหมายของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต้องการย้ำภาพ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “พิน็อคคิโอ” ที่โกหกเรื่องกำหนดเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก

จนแทบไม่เหลือเครดิตความน่าเชื่อถือ

และยิ่งลากยาวเลือกตั้งออกไป คนที่เสียหายก็คือ “นายกฯลุงตู่” นั่นเอง

นี่คือคำตอบ ในเครื่องหมายคำถาม ใครกันแน่ที่อยากให้เลื่อนเลือกตั้ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันมีอีกหนึ่งเสียงดังๆของนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมายืนยันความคืบหน้าในการแบ่งเขตเลือกตั้ง เกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงตรวจสอบขั้นตอนสุดท้าย ก่อนส่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จึงไม่ใช่เหตุให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ออกไป

ฝ่ายปฏิบัติอย่าง กกต.ออกมาการันตี ใครยังไม่เชื่อว่าเลือกตั้งทันตามกำหนดก็โวยวายกันไป

แต่ที่แน่ๆมันคือสัญญาณของการล็อก “เดดไลน์”


“เส้นตาย” นับถอยหลังจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วันก่อนเลือกตั้ง ระยะปลอดภัยนั่นคือวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561

ถึงจะชัวร์ว่าไม่แพ้ฟาวล์ อดลงสนาม

ตามจังหวะสถานการณ์ก็แบบที่เห็น ท่ามกลางความไม่ชัดของกระแสเลื่อนเลือกตั้ง แต่อีกทางหนึ่งก็เต็มไปด้วยข่าวความเคลื่อนไหว นักการเมืองย้ายพรรค ลาบ้านเก่า เปิดตัวสมาชิกใหม่กันแบบรายวัน

ตลาดสด ส.ส.คึกคัก ตลาดนัดผู้แทนฯเจี๊ยวจ๊าว

มีทั้งเหล้าเก่าในขวดใหม่ มีทั้งเหล้าใหม่ในขวดเก่า

ฝุ่นตลบ อลหม่านสุดก็คือป้อมค่ายของ “ทักษิณ” ในฐานะแชมป์เก่า ที่ต้องเจอโจทย์ใหม่จากรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม

ถอดสมการ “มีชัย” แก้ตัวเลขกันหัวหมุน

เริ่มต้นจากยุทธศาสตร์แยกกันเดิน รวมกันตี ที่แปรเป็นยุทธการแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ย่อยจากพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อธรรม

ลูกข่ายสับสน กองเชียร์งง แทบจำสังกัดไม่ได้

ส่อเค้าวุ่นวายตั้งแต่ยังไม่ทันลงสนาม ตามรูปการณ์แบบที่แว่วๆว่า “นายใหญ่” อย่างอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กับ “น้องปู” อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องบินโฉบมาปักหลักที่ประเทศสิงคโปร์

เคลียร์คิวป่วนของลูกข่าย ทุบโต๊ะสั่งซ้ายหันขวาหัน

“แจกติ้ว” ใครจะใส่เสื้อพรรคเพื่อไทย ใครจะได้ตั๋วย้ายไปพรรคไทยรักษาชาติ ใครจะถูกส่งไปใส่เสื้อม็อบแดงอยู่กับพรรคเพื่อชาติ และใครจะต้องอยู่โยงเฝ้าพรรคเพื่อธรรม

เพราะทุกคนอยากเป็น ส.ส.หมด ไม่มีใครยอมหลบให้ใคร

ทั้งแกนนำขาใหญ่ ทั้งนกแล ต้องดิ้นหาที่ยืนการันตีความชัวร์ให้ตัวเอง

ขณะที่รองแชมป์ยี่ห้อประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งเสร็จศึกสายเลือดหมาดๆ

ในสภาพที่ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื้อเก้าอี้หัวหน้าพรรคไว้ได้ แต่ความมั่นใจก็หดหายไปเยอะจากคะแนนของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ทิ้งห่างกันไม่ถึงหมื่น

สะท้อนว่าคนในพรรคเกือบครึ่งไม่ยอมรับการนำของ “อภิสิทธิ์”

สถานการณ์มีแต่เลือดไหลออก อดีต ส.ส.ย้ายหนี แทบไม่มีคนย้ายเข้า

นั่นไม่เท่ากับภาพแฝงไปด้วย “งูเห่า” ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งพรรค

ส่วนที่ย้ายสลับค่าย สลับตัวกันคึกคักก็คือป้อมค่ายเอสเอ็มอี ยี่ห้อภูมิใจไทย กับพรรคชาติไทยพัฒนา ที่สเปกใกล้เคียงกัน เดิมพันลุ้นแค่ปั่นแต้มเอาไว้ต่อรองตอนเสียบร่วมรัฐบาล

สถานการณ์ไม่กดดัน โอกาสรอลุ้นเก็บตกได้จนนาทีสุดท้าย

ทั้งหมดทั้งปวง ไฮไลต์จริงๆมันอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ ป้อมค่ายใหม่ที่เริ่มต้นจากศูนย์

แต่ดีดตัวขึ้นมาเป็นพรรค “เต็งสอง”

กับภารกิจเดิมพัน ต้องหนุน “นายกฯลุงตู่” ตีตั๋วต่อช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ


ล่าสุดทีม “4 กุมาร” นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ

ประเดิมนำร่อง สมัครสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการ

ตามด้วยทีมนครราชสีมา ภายใต้การนำของนายวิรัช รัตนเศรษฐ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย กับทีมอุบลราชธานี ที่นำโดยนายสุพล ฟองงาม อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ทีมงานที่เป็นข่าวตกปากรับคำกันไว้ มาตามนัด

และมีการส่งซิกให้จับตาทีมใหญ่ วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ตามคิวที่กลุ่มสามมิตรภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา จะขนอดีต ส.ส.เกรดเอ เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

ถึงคิวเปิดหน้า โชว์ตัวเข้าสังกัดภายในกำหนด 90 วันก่อนเลือกตั้ง

ตามจังหวะไฟต์บังคับ ตลาดนัดการเมืองคึกคัก นักเลือกตั้งอาชีพทุกป้อมค่าย หน้าเก่าหน้าใหม่ ต้องเคาะราคาสุดท้าย ก่อนปิดคอก เดดไลน์สังกัดพรรค

หมดเวลากั๊ก ดึงเช็ง หยั่งทิศทางกระแส

และนั่นก็รวมถึงช็อตของคนสำคัญ พระเอกตามท้องเรื่องอย่าง “นายกฯลุงตู่” ที่รับรู้กันทั่วประเทศแล้วว่า ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นหนึ่งในบัญชีนายกฯพรรคพลังประชารัฐ

รอแค่ช็อตเปิดตัวอย่างเป็นการเป็นงานในเร็วๆนี้

ตามจังหวะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ออกมาบอกไกด์ไลน์ล่วงหน้า ถึงจะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่สามารถหาเสียง

พูดชักจูงให้เลือกพรรคหนึ่งพรรคใดได้ เพราะเสี่ยงทำผิดกฎหมาย

แต่นั่นก็เป็นอะไรที่ตรงคอนเซปต์ อารมณ์แบบที่ “นายกฯลุงตู่” เดินสาย ครม.สัญจรต่างจังหวัด ออกอาการขัดๆเขินๆเวลามีชาวบ้านเชียร์ให้เป็นนายกฯต่อ

ท่องสคริปต์ บอกปัดไม่ได้มาหาเสียง แต่มาทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน

โกยคะแนนนิยม ตุนแต้ม ตีกินนิ่มๆมาตลอดอยู่แล้ว.

“ทีมการเมือง”