PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

วีรพงษ์ รามางกูร:ทฤษฎีเกม

วีรพงษ์ รามางกูร:ทฤษฎีเกม

มติชน :29พ.ค.57

ชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้ทุกคนอยู่ในสภาพที่ประสบกับการเล่นเกมอยู่ตลอดเวลา เพราะดูจากการต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งอยู่เสมอ โดยคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างหน้า หรือไม่ก็คู่แข่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่อยู่ในเกมเดียวกัน จะเดินหมากต่อไปอย่างไร

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ไม่มีรายการโทรทัศน์ดู ก็เลยหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือเล่มเล็กๆ ของนรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 เพื่อจะฟื้นความจำเมื่อครั้งที่สอนหนังสืออยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นรินทร์ยกเอาวาทะของ "ซุนวู" ขึ้นมาไว้ก่อนในหน้าแรกของหนังสือ "ผลว่าจะแพ้หรือชนะเป็นเรื่องที่ต้องรู้ก่อนจะลงมือรบ หากตัดสินใจรบก่อนโดยยังไม่รู้ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็แสดงว่ายังไม่ได้วางแผนอย่างละเอียดรอบคอบอย่างเพียงพอ การตัดสินใจรบทั้งที่ยังไม่รู้ผลว่าจะแพ้หรือชนะ เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง"

วาทะที่ยกขึ้นมากล่าวข้างต้นแสดงชัดว่า ซุนวูเข้าใจทฤษฎีการเล่นเกมอย่างยอดเยี่ยม เพราะการเดินเกมต้องวางแผนและคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเกมที่เดินนั้นต้องชนะจึงลงมือทำ

ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การทูต การปกครอง การทหาร หรือคดีความ คนเราต้องประสบกับสถานการณ์ที่ต่างตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตนคิดว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด หรือบางสถานการณ์ก็เป็นทางเลือกที่เสียหายน้อยที่สุด

การเล่นเกมระหว่างคน 2 คน หรือกับหลายคน ก็คือการที่สามารถบอกได้ว่าฝ่ายที่เล่นเกมอยู่ด้วยกันมีทางเลือกกี่ทาง ในขณะเดียวกันตัวเรามีทางเลือกกี่ทาง ถ้าเราเลือกทางที่ 1 แล้วเกิดฝ่ายตรงกันข้ามเลือกทางที่ 1 ผลได้หรือผลเสียของเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราเลือกทางที่ 1 แต่ฝ่ายตรงกันข้ามเลือกทางที่ 2 ผลจะออกมาอย่างไร หรือเราเลือกทางที่ 1 ฝ่ายตรงข้ามเลือกทางที่ 3 แล้วผลจะเป็นอย่างไร เรื่อยๆ ไป ถ้าหากเราเลือกทางที่ 2 ฝ่ายตรงกันข้ามเลือกทางที่ 1 แต่ผลได้ผลเสียเราจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันถ้าเราเลือกทางที่ 2 ฝ่ายตรงกันข้ามก็เลือกทางที่ 2 ผลดีผลเสียจะเป็นอย่างไร และถ้าเราเลือกทางที่ 2 ฝ่ายตรงกันข้ามเลือกทางที่ 3 ผลจะออกมาอย่างไร

ทฤษฎีเกมจึงเป็นทฤษฎีที่พยายามอธิบายว่า มนุษย์มีพื้นฐานการตัดสินใจเลือกทางไหนถ้าตนมีทางเลือกมากกว่า 1 ทางเลือก ขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามก็มีทางเลือกมากกว่า 1 ทางเลือกเช่นกัน

ในทางทฤษฎี ทางเลือกที่ดีที่สุดที่ควรจะเลือกก็คือ ในบรรดาทางเลือกหลายๆ ทาง คนเราควรจะเลือกทางเลือกที่ตนคิดว่าดีที่สุด ในบรรดาทางเลือกที่คู่แข่งหรือฝ่ายตรงกันข้ามจะเลือกได้นั้น ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดหรือทางเลือกที่ดีที่สุด ถ้าฝ่ายตรงข้ามเลือกทางเลือกที่เลวร้ายที่สุดสำหรับตัวเรา ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยึดหลักการนี้ ในที่สุดก็จะพบทางเลือกที่ดีที่สุดทั้ง 2 ฝ่าย หรือไม่มีคำตอบทั้ง 2 ฝ่าย

เกมที่สามารถหาคำตอบได้ก็อาจจะเป็นเกมง่ายๆ ที่อาจจะสมมุติว่ามีผู้เล่นเกมอยู่เพียงสองฝ่าย หรือสามฝ่าย หรือไม่กี่ฝ่าย แต่ถ้าผู้เล่นมีจำนวนมากขึ้น เกมก็อาจเป็นเกมที่สลับซับซ้อน อาจจะวุ่นวายมากขึ้น จนอาจจะไม่เป็นเกมก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การแข่งขันเล่นเกมอาจจะเป็นการร่วมมือกันสร้างกฎกติกา แล้วก็แข่งขันกันภายใต้กติกาที่ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันสร้างขึ้น เป็นการแข่งขันกีฬาซึ่งอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ทีม แล้วก็แข่งขันกันภายใต้กฎหมายและกติกาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

แต่การสู้รบทำสงครามกัน บางครั้งก็มีการสร้างกฎกติกา เช่น ห้ามมิให้ใช้อาวุธร้ายแรง หรือเมื่อข้าศึกทิ้งอาวุธยอมจำนนแล้วก็จะไม่ทำร้าย เป็นต้น

ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย การเปลี่ยนถ่ายอำนาจการปกครองจากฝ่ายหนึ่งมาสู่อีกฝ่ายหนึ่งโดยสันติวิธีด้วยการเลือกตั้งก็เป็นเกมชนิดหนึ่งแทนที่จะเปลี่ยนถ่ายอำนาจการปกครองกันโดยวิธีรุนแรง เอาชนะกันด้วยวิธีรุนแรง

ขบวนการประชาธิปไตยจึงเป็นทางออกที่เป็นอารยะที่สุดในขบวนการแข่งขันการเล่นเกมในทางการเมือง เพราะสามารถหาทางออกในเรื่องต่างๆ ที่เป็นความขัดแย้งในสังคมได้ในหลายเรื่อง

การแข่งขันกันในกรอบของประชาธิปไตย จึงนิยมทำการปลูกฝังกันในสังคมตั้งแต่ในชั้นเรียน ในครอบครัว ในที่ทำงาน สมาคม มูลนิธิ บริษัทและอื่นๆ

เริ่มตั้งแต่การเลือกหัวหน้าชั้นในห้องเรียน แทนที่ครูประจำชั้นจะเป็นผู้เลือกหัวหน้าชั้น ครูประจำชั้นก็จะจัดให้มีการลงมติเลือกหัวหน้าชั้น หรือในการเลือกหัวหน้าโรงเรียน โรงเรียนก็อาจจะจำลองการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยให้นักเรียนชั้นสูงสุดของโรงเรียนเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้านักเรียน แล้วก็จัดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดก็เป็นหัวหน้านักเรียนไป

แม้ภายในครอบครัวเอง บางครั้งก็มีการใช้วิธีการลงคะแนนเสียงในการตัดสินใจ เช่น การเลือกสถานที่ที่จะไปพักผ่อนสุดสัปดาห์

การเลือกตั้งกรรมการบริษัท การเลือกตั้งกรรมการขององค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิ สมาคม หรือสหกรณ์ ก็ใช้วิธีลงคะแนนเสียง เพียงแต่องค์กรที่เป็นบริษัทนั้นใช้คะแนนจำนวนหุ้นเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดแพ้หรือชนะการจัดการแข่งขันโดยวิธีการลงคะแนนเสียงก็เป็นเกมอย่างหนึ่งในการแข่งขัน

ในการจัดระบบ หลายอย่างก็สามารถจะทำให้เป็นระบบ สามารถทำงานได้ มีตัวอย่างที่อาจจะยกมาเป็นตัวอย่างได้อีก

เช่น ระบบการจราจร ถ้าคนขับรถทุกคนพยายามแข่งขันกันขับรถ เพื่อตัวจะได้ไปก่อนโดยไม่มีกฎกติกาในการจราจร ในที่สุดคนขับทุกคนก็คงจะไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เพราะการจราจรจะติดขัดวุ่นวายไปหมด แต่ถ้ามีการตกลงยอมรับกันว่าการขับรถสัญจรไปมาต้องมีกฎกติกา มีการประกาศใช้กฎจราจร การจราจรก็จะเป็นระเบียบเรียบร้อย รถเป็นจำนวนมากๆ ก็จะสามารถเคลื่อนที่ไปถึงเป้าหมายปลายทางได้

ทรัพยากรทางทะเลก็เหมือนกัน ถ้าหากมีการแข่งขันกันจับสัตว์น้ำ ในไม่ช้าสัตว์น้ำก็จะร่อยหรอและหมดไปเมื่อประชากรมีมากขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือในการจับสัตว์น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถ้ามีการกำหนดกฎเกณฑ์ เช่น ความห่างของอวนลอยและอวนลาก ตาอวนมีความห่างมากพอที่ลูกปลาหรือปลาที่ยังไม่ได้ขนาดจะสามารถลอดออกมาได้ หรือการห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ กฎเกณฑ์เหล่านี้ก็จะสามารถรักษาทรัพยากรทางทะเลให้ยั่งยืนได้

ประเทศในแถบหนาว เช่น ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างอาคารบ้านเรือน สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์และเยื่อกระดาษ เมืองที่หนาวมากที่สุดก็ยังสามารถมีป่าไม้ให้ทำอยู่ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ทั้งๆ ที่ต้นไม้เมืองหนาวต่างๆ เหล่านั้นโตช้ากว่าไม้เมืองร้อนอย่างประเทศในแถบบ้านเราเป็นอย่างมาก ไม้ที่จะตัดได้มีอายุประมาณ 50-60 ปีขึ้นไป

ถ้าหากปล่อยให้มีการแข่งขันกันตัด ป่านนี้ไม้เมืองหนาวที่นำมาทำบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำเยื่อและกระดาษก็คงจะหมดไปแล้ว วิธีการที่รัฐบาลประเทศเหล่านั้นออกเป็นกฎเกณฑ์ โดยแบ่งพื้นที่ป่าในประเทศออกเป็นเขตประมาณ 50-60 เขต แต่ละปีก็จะตัดไม้ในเขตแรกแล้วก็ปล่อยต้นไม้ในเขตนี้ขึ้นเองโดยธรรมชาติ ปีที่ 2 ก็ตัดไม้อีกเขตที่สอง แล้วก็ปล่อยทิ้งเอาไว้ ทำอย่างนี้จนถึงปีที่ 60 ก็ตัดไม้ในแปลงที่ 60 เมื่อมาถึงปีที่ 61 ต้นไม้ในแปลงที่ 1 ก็จะโตให้ตัดได้พอดี เท่ากับว่าในชั่วอายุคนหนึ่งจะตัดไม้ในแปลงหนึ่งๆ ได้เพียงครั้งเดียว แต่เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีพลเมืองอยู่น้อย จึงสามารถทำได้

การจัดระเบียบต่างๆ เพื่อให้การแข่งขันอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีเกมทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ตลอดชีวิตของเราจึงเกี่ยวข้องกับการเล่นเกมของฝ่ายต่างๆ อยู่ตลอดเวลา บางครั้งเราอาจจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของผู้เล่น แต่ก็อาจจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เกมทางการเมือง ทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองภายในประเทศเป็นเกมที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นักยุทธวิธีจะต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญและต้องอ่านเกมอยู่ตลอดเวลา มองให้ออกว่าฝ่ายตรงกันข้ามหรือสถานการณ์จะพัฒนาหรือเปลี่ยนไปอย่างไร จะสามารถเดินเกมให้ได้ประโยชน์มากที่สุดหรือไม่ก็เสียหายน้อยที่สุดอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทฤษฎีนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะอ่านสถานการณ์หรือเหตุการณ์ได้แม่นยำเพียงใดถ้าไม่มีความรู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ก็คงจะแพ้ตลอดเวลา

นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญทางนี้ได้รางวัลโนเบลไปหลายคน







 



ปานปรีย์"ไม่ยึดติดตำแหน่งประธานบอร์ดปตท.

ปานปรีย์"ไม่ยึดติดตำแหน่งประธานบอร์ดปตท. ขอให้เป็นไปตามความเหมาะสม ปานปรีย์"ไม่ยึดติดตำแหน่งประธานบอร์ดปตท. ขอให้เป็นไปตามความเหมาะสม
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกประชุมบอร์ดและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยตนจะเข้าร่วมประชุมกับ คสช. และเตรียมรายงานแผนการดำเนินงานของ ปตท. เนื่องจากมีหน้าที่หลักในการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ นำเสนอต่อ คสช.
ส่วนกรณี คสช.จะให้ออกจากตำแหน่งบอร์ด ปตท.หรือไม่นั้น ก็แล้วแต่คสช. เป็นไปตามความเหมาะสม และขณะนี้สถานการณ์ยังเป็นปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยขอชี้แจงว่า ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ และมีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ใช่บริษัทเอกชนของตน ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็เป็นไปตามกระบวนการปกติที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิพิจารณาปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม