PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ขังต่อ! ชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหตุรวบรวมหลักทรัพย์ไม่ทัน

ขังต่อ! ชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหตุรวบรวมหลักทรัพย์ไม่ทัน ทนายเล็งยื่นประกันอีกพรุ่งนี้
.
28 พฤศจิกายน 2560 ที่ศาลจังหวัดสงขลา ตำรวจนำตัวชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกจับกุมตัวมาเมื่อวานนี้ 16 คนไปยื่นคำร้องขอฝากขังผลัดแรก โดยได้ยื่นขอคัดค้านการประกันตัวด้วย ศาลพิจารณาคำร้องแล้ว ให้วางหลักทรัพย์การประกันตัวคนละ 90,000 บาท รวม 15 คนเป็นเงินจำนวน 1,350,000 บาท ส่วนเยาวชนอายุ 16 ปี คิดหลักทรัพย์จำนวน 5,000 บาท ต่อมาทนายความและญาติของผู้ถูกกล่าวหาได้พยายามรวบรวมหลักทรัพย์และติดต่อหาอาจารย์เพื่อขอใช้ตำแหน่งในการประกันตัว แต่ไม่สามารถรวบรวมได้ทัน จึงได้ประกันตัวเพียงเยาวชนอายุ 16 ปีเท่านั้น ระหว่างนี้ทนายความและญาติจะพยายามรวบรวมหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
.
โดยชาวบ้านทั้ง 16 คนถูกควบคุมตัวที่สภ.สงขลาเพื่อสอบปากคำตั้งแต่เมื่อวานนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหาคือ 1.ร่วมกันปิดกั้นทางหลวง 2. ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปต่อสู้ ขัดขวางการจับกุม และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าพนักงาน และ 3.พาอาวุธไม้คันธงปลายแหลมไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหาและจะขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง
.
ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจจึงได้ควบคุมตัวทั้งหมดนำส่งต่อศาลจังหวัดสงขลา ขณะเดียวกันบริเวณด้านข้างศาลจังหวัดสงขลา ชาวบ้านเครือข่ายสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนกว่า 20 คนได้พากันนั่งสงบนิ่งสื่อสารความรู้สึกที่ไปไม่ถึงหัวหน้าคสช. และต้องการแสดงออกให้ทุกคนบนโลกใบนี้รับรู้ว่า พวกเรา มีความบริสุทธ์กายและใจ การปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ความผิด โดยตำรวจได้ยึดธงเขียว ป้ายผ้า เสื้อเขียวและเสื้อกันฝนของชาวบ้านไปด้วย ระหว่างนั้นมีฝนตกลงมา ชาวบ้านจึงต้องนั่งตากฝนเปียกปอนเพื่อรอฟังคำสั่งปล่อยตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง
.
นับตั้งแต่การสลายการชุมนุมของชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นกังวลและประณามการกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งขอให้ปล่อยตัวชาวบ้านโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่บ่ายวันนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ชาวบ้านทั้งหมด พร้อมทั้งชี้ว่า กิจกรรมของชาวบ้านอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ
.
ดูรายละเอียดกิจกรรมการเดินขบวน ได้ที่ https://web.facebook.com/stopcoalsongkhla/posts/1489493167831438
ดูคลิปวีดีโอส่วนหนึ่งของการเข้าจับกุมผู้เดินขบวน ได้ที่ https://web.facebook.com/stopcoalsongkhla/

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
กรณีการสลายการชุมนุมและจับกุมเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
ตามที่เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ทำกิจกรรมเดินรณรงค์ “เดินไปหานายก หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทใจให้เทพา หยุดการพัฒนาที่ทำลายชุมชน” ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อยื่นจดหมาย ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะมีความไม่ชอบธรรมนานัปการ อันเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ลงมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2560 และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นั้น โดยเครือข่ายฯ ได้เริ่มเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ เพื่ออธิบายต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการฯ ความฉ้อฉล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเครือข่ายฯ ต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับฟังเสียงประชาชนและให้พิจารณายกเลิกโครงการฯ ร่วมกันสร้างสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ดังที่รับทราบแล้วนั้น
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและรับทราบว่า ชาวบ้านได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดสงขลาได้มีประกาศให้เลิกการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯ ได้เดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งจุดสกัดการเดินเท้าของเครือข่าย และในเวลาต่อมาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ของรัฐก็เข้าได้สลายการชุมนุมของเครือข่ายฯ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้รับความบาดเจ็บและชาวบ้านอีก 16 คนถูกควบคุมตัวไป
สถานการณ์ดังกล่าว สะเทือนขวัญและกำลังใจของประชาชนในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง และลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลงอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศและพยายามจะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในประเทศและจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เท่าเทียมสากล โดยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาตินั้น
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอแสดงท่าทีและข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้
1. เราขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง และขอให้ปล่อยตัวชาวบ้านทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวหรือดำเนินคดีทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพราะการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่อาจใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวได้ อีกทั้งรัฐควรดำเนินนโยบายการพัฒนายั่งยืนตามที่ประกาศต่อสังคมโลก
2. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรง การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายความชอบธรรมของประชาชนในการแสดงออก ถึงสิทธิเสรี เสรีภาพ ที่จะเรียกร้องให้รัฐได้เข้ามาแก้ไขปัญหา และต้องสร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงยอมรับกระบวนการตรวจสอบของประชาชน อย่างจริงจัง
3. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา เอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐบาลใหม่ ที่ได้มาจากหลังจากการเลือกตั้งได้ดำเนินการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นและเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในสถานการณ์ที่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรม
ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังประชาชน
แถลงโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 28 พฤศจิกายน 2560

‘กสม.’ร่อนแถลงการณ์จี้รัฐปล่อยแกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยันใช้สิทธิตามรธน.

‘กสม.’ร่อนแถลงการณ์จี้รัฐปล่อยแกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยันใช้สิทธิตามรธน.


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางเตือนใจ ดีเทศน์ พร้อมด้วยนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการกสม. ร่วมกันแถลงแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีการสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มแกนนำเครือข่ายประชาชนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระหว่างจัดกิจกรรมเดินเท้ารณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา เพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน โครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อเย็นวันที่ 27 พฤศจิกายน

นางเตือนใจ กล่าวว่า กสม.เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก มีข้อท้วงติงว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี แต่จะขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบและอยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน เบื้องต้นพบมีปัญหาการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การจัดกระบวนการการ มีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบกระทบโดยตรง อันเป็นเหตุของการเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี

กสม.เห็นว่า การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพ ในการชุมนุมของประชาชนอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามกสม. จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหา แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และดำเนินการทางกฎหมายอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และนายกฯควรเปิดโอกาสให้เครือข่ายฯได้เข้าพบ เพื่อนำเสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอในการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อรัฐบาลโดยสงบ และปราศจากการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ กสม.ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานเจ้าของโครงการยึดมั่นในแนวปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักการ เคารพ คุ้มครอง และเยียวยา รวมทั้งคำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการด้วย โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

นางเตือนใจ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่พบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กินพื้ยที่สามพันไร่ ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครอบครัว รวมถึงมัสยิด วัด และกุโบร์ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 กสม.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจัดทำรายงานเสนอแนะต่อรัฐบาล ซึ่งในพื้นที่มีทั้งกลุ่มที่คัดค้านและสนับสนุนให้มีการก่อสร้าง โดยกลุ่มคัดค้านห่วงเรื่องวิถีชีวิต เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จึงเกรงว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะกระทบกับความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเล รัฐบาลจึงควรรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึง รายงานของต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องการหาแหล่งพลังงาน ที่มีการยุติใช้พลังงานถ่านหินไปแล้ว

ด้านนางอังคณา กล่าวว่า ขณะนี้จะมีพระราชบัญญัติชุมนุมในที่สาธารณะ แต่รัฐธรรมนูญก็คุ้มครองในเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดำเนินการโดยสงบและไม่รุนแรง การจัดกิจกรรมเมื่อวานมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้าน แต่ภาพที่ออกมากลายเป็นว่ากลุ่มที่สนับสนุนได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลุ่มที่คัดค้านถูกขัดขวาง จะถือว่าเข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่ อีกทั้งผู้ร่วมกิจกรรมมีทั้งเด็กและสตรี เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าระงับการเคลื่อนไหวกลับไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเข้าปฏิบัติหน้าที่ สะท้อนว่ารัฐไม่มีการคำนึงถึงความอ่อนไหวในเรื่องเพศสภาพ นอกจากนี้ไทยก็ยอมรับข้อเสนอในการที่จะคุ้มครองสิทธิของนักต่อสู้ ดังนั้นจึงหวังว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวแกนนำที่ถูกควบคุมไว้โดยเร็วและไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา

แถลงการณ์ของกรีนพีซ

แถลงการณ์ของกรีนพีซ กรณีการใช้ความรุนแรงสลายการเดินทางยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน


ข่าวประชาสัมพันธ์ - พฤศจิกายน 27, 2560
การเดินเท้าอย่างสงบของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน เพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีสิชัย อ.เมืองสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน ต้องจบลงด้วยความรุนแรงเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายความมั่นคงระดมกำลังเข้าสลายการเดินทางมายื่นหนังสือของเครือข่าย
เหตุรุนแรงโดยรัฐครั้งนี้ย้ำชัดถึง “ความไม่เป็นธรรมที่ชุมชนในพื้นที่โดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ดังเนื้อความในจดหมายที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรี
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “การปฏิบัติที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐครั้งนี้สะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และรัฐธรรมนูญตามมาตรา 65 ที่กำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) อย่างเช่นเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วย “ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก” ซึ่งมุ่งมั่นที่จะลดความรุนแรงทุกรูปแบบ พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน”
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือขนถ่ายถ่านหินไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะสร้าง และขอยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้ ;
  1. ปล่อยตัวเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดที่ถูกจับกุมไว้โดยไม่มีเงื่อนไขในทันทีและยุติการคุกคามสิทธิชุมชนในทุกรูปแบบ
  2. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโดยทันที
  3. ทบทวนกระบวนการวางแผนพลังงานของประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรมอันเป็นเจตนารมย์หลักตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยให้คำมั่นในความตกลงปารีสและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท*
.........................
*หมายเหตุ : สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วม เป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท(Minamata Convention on Mercury) เป็นอันดับที่ 66 ของโลก และเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคีอนุสัญญาได้ยอมรับร่วมกันว่า “ปรอทเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกมีความกังวลเนื่องจากปรอท สามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ ปรอทตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมของมนุษย์ ปรอทมีความสามารถในการสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และปรอทส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสําคัญ อนึ่ง เป็นที่รับรู้กันดีว่า ปรอทที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศนั้นเป็นองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทนั้นมุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย (emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ รวมถึง โรงไฟฟ้าถ่านหิน

เพจลุงตู่บอกเสียใจ

Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน
7 ชม.
นายกฯ เสียใจ ที่ได้ว่ากล่าวชาวประมงไปเมื่อวานนี้ที่ปัตตานี แต่ขอให้เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงของไทย สามารถอยู่รอด ส่งออกได้ สอดคล้องกับพันธสัญญาที่เราต้องดำเนินการ รวมทั้งเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ให้การประมงของเราเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต สำหรับปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ที่ร้องเรียนมา ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูอย่างละเอียดแล้ว

แถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน

แถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน "หยุด ! ใช้อำนาจเถื่อนจับกุมพี่น้องค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560
ต้องขอคาระวะพี่น้องชาวบ้านที่รวมตัวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ของ กฟผ. ด้วยความจริงใจ แม้ว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ในครั้งนี้จะมีความยากลำบาก เพราะผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเราปิดหูปิดตาที่จะรับฟังความจริงจากประชาชนในพื้นที่ ซ้ำร้ายผู้นำในยุคนี้ยังมีอคติกับกลุ่มที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในข้อกล่าวหาเดิมๆ คือ ขัดขวางการพัฒนาประเทศและถ่วงความเจริญ
หลายปีที่ผ่านมาพี่น้องชาวเทพา จังหวัดสงขลา ได้เดินทางเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบถึงความทุกข์ยากและปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตจากการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ไม่เคยมีเสียงตอบรับแต่อย่างใดจากผู้นำรัฐบาล
การเดินเท้าจำนวน 75 กิโลเมตร ของพี่น้อง ให้หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเนื่องจากนายกรัฐมนตรี จะมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ดังนั้นเจตนาการเดินเท้าเพื่อไปหานายกรัฐมนตรีจึงเป็นความหวังของการบอกกล่าวปัญหาความเดือดร้อนให้ผู้นำรัฐบาลรับทราบ
แต่ในวันนี้ (27 พ.ย. 2560) มีการใช้กองกำลังเข้าสลายพี่น้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาอย่างป่าเถื่อนโดยไม่ยึดกับหลักกฎหมายใดๆทั้งสิ้น ผิดกับที่รัฐบาลได้ประกาศเรื่อง “สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ” เราขอประณามรัฐบาลว่าการใช้กองกำลังเข้าสลายพี่น้องเทพา
โดยไม่ยึดหลัก “สิทธิมนุษยชน” เป็นความเลวร้ายอย่างยิ่ง และการประกาศดังกล่าวเป็นเพียงลมปากเพื่อสร้างภาพเท่านั้น ดังนั้นเราจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
1. ให้ปล่อยตัวพี่น้องที่ถูกจับกุมโดยด่วนอย่างไม่มีเงื่อนไข
2. ให้มีการสอบสวนในการใช้กองกำลังสลายการรวมตัวของประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติ
3. ให้รัฐบาลยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา
ด้วยจิตคารวะ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.อีสาน)
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน
เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
เครือข่ายปฎิรูปที่ดิน ภาคอีสาน
สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น
สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์
สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน
สมาคมป่าชุมชนอีสาน
สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
ศูนย์ศึกษาชุมชนท้องถิ่นอีศาน
โครงการทามมูล
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500kv. จ.อุดรธานี
เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลำพะเนียง
กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
เครือข่ายชุมชนฮักน้ำโขง
ขบวนการอีสานใหม่ (New Esaan Movements)
กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์แก่งละหว้า จ.ขอนแก่น
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศห้วยเสนง จ.สุรินทร์
กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร
สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.ยโสธร
เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.อำนาจเจริญ
กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสภาคีเครือข่ายฯ จังหวัดสกลนคร
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว จ.ขอนแก่น
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูนดูนสาด จ.กาฬสินธุ์
ขบวนองค์กรชุมชน จ.สุรินทร์
กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ

แถลงการณ์ 4 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่อกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุม

+++แถลงการณ์ 4 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่อกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุม “เดิน....#เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนจากการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน +++

ตามที่ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มเดิน เครือข่ายฯได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพา และวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13.30 น. ได้ยื่นหนังสือขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเนื่องจากพึงทราบว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุม อย่างไรก็ดีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้ออกประกาศฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในเวลา 18.00 น.ของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในวันนี้ ( 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯ เดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีตำรวจประมาณ 1 กองร้อยตั้งจุดสกัดขบวนเดินเท้าของเครือข่าย และเวลาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุม มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวไป

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และขอยืนยันหลักการสิทธิเสรีภาพที่รัฐต้องให้การเคารพและคุ้มครอง ดังต่อไปนี้

1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่รับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้อเป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย สาธารณะ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

แต่จากข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของ "เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เห็นได้ชัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติ เดินตามริมขอบถนน และมีวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมเพื่อบอกกล่าวถึงความกังวลต่อโครงการการพัฒนาที่อาจจะก่อผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้ง เครือข่ายได้มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณธและขอผ่อนผันตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2560 แล้ว การที่เจ้าหน้าที่ปิดกั้น สลายการชุมนุมและจับกุมชาวบ้านจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรม และเป็นการกระทำที่ไม่ขอบด้วยกฎหมาย

2. สิทธิชุมชนและการเสนอเรื่องร้องทุกข์ เป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยในมาตรา 41 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว” และมาตรา 43 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” ซึ่งการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก็อยู่ภายใต้หลักการสิทธิดังกล่าว เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์ การให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นและความกังวลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจ ดังนั้น การกีดกันหรือไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อย่างชัดเจน

3. สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial) เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 โดยสิทธิประการดังกล่าวกำหนดห้ามมิให้มีการจับกุมหรือควบคุมบุคคลโดยอำเภอใจ เว้นแต่โดยเหตุและเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้การจับโดยทั่วไปต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาลและมีเหตุแห่งการออกหมายจับ หรือเป็นความผิดซึ่งหน้า

แม้กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะกล่าวอ้างว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถจะจับกุมบุคคลได้ เพราะหากพิจารณาตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว จะเห็นได้ว่าความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ยังไม่ถือเป็นความผิดซึ่งหน้าที่เจ้าหน้าที่จะจับกุมตัวได้ จนกว่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและต้องมีคำสั่งจากศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้น รวมทั้งได้มีการประกาศพื้นที่ควบคุมเสียก่อน

ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการสลายการชุมนุม และได้จับกุมควบคุมตัวบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการมีส่วนร่วมและการชุมนุมโดยสงบไป โดยที่ยังไม่มีคำสั่งศาลและประกาศพื้นที่ควบคุมเสียก่อน จึงถือเป็นการจับกุมควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่มีเหตุผลอันสมควร และเป็นไปโดยอำเภอใจ

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้โดยทันที

1. ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากกรณี “เดิน....เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน....หานายก หยุดทำลายชุมชน” โดยทันที
2. รัฐต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติไปเมื่อไม่นานมานี้ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะได้เต็มที่
3. ยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนพร้อมทั้งต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น
ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (UCL)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)