PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แถลงการณ์ของกรีนพีซ

แถลงการณ์ของกรีนพีซ กรณีการใช้ความรุนแรงสลายการเดินทางยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน


ข่าวประชาสัมพันธ์ - พฤศจิกายน 27, 2560
การเดินเท้าอย่างสงบของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน เพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีสิชัย อ.เมืองสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน ต้องจบลงด้วยความรุนแรงเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายความมั่นคงระดมกำลังเข้าสลายการเดินทางมายื่นหนังสือของเครือข่าย
เหตุรุนแรงโดยรัฐครั้งนี้ย้ำชัดถึง “ความไม่เป็นธรรมที่ชุมชนในพื้นที่โดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ดังเนื้อความในจดหมายที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรี
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “การปฏิบัติที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐครั้งนี้สะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และรัฐธรรมนูญตามมาตรา 65 ที่กำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) อย่างเช่นเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วย “ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก” ซึ่งมุ่งมั่นที่จะลดความรุนแรงทุกรูปแบบ พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน”
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือขนถ่ายถ่านหินไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะสร้าง และขอยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้ ;
  1. ปล่อยตัวเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดที่ถูกจับกุมไว้โดยไม่มีเงื่อนไขในทันทีและยุติการคุกคามสิทธิชุมชนในทุกรูปแบบ
  2. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโดยทันที
  3. ทบทวนกระบวนการวางแผนพลังงานของประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรมอันเป็นเจตนารมย์หลักตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยให้คำมั่นในความตกลงปารีสและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท*
.........................
*หมายเหตุ : สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วม เป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท(Minamata Convention on Mercury) เป็นอันดับที่ 66 ของโลก และเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคีอนุสัญญาได้ยอมรับร่วมกันว่า “ปรอทเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกมีความกังวลเนื่องจากปรอท สามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ ปรอทตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมของมนุษย์ ปรอทมีความสามารถในการสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และปรอทส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสําคัญ อนึ่ง เป็นที่รับรู้กันดีว่า ปรอทที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศนั้นเป็นองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทนั้นมุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย (emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ รวมถึง โรงไฟฟ้าถ่านหิน

ไม่มีความคิดเห็น: