PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561

"บิ๊กตู่"คลายล็อกการเมือง“จับตา”ป่าช้าแตก : ตัวเลือกใหม่ ประกันเสี่ยง

"บิ๊กตู่"คลายล็อกการเมือง“จับตา”ป่าช้าแตก : ตัวเลือกใหม่ ประกันเสี่ยง


วาระแห่งชาติ “หวยรางวัลที่หนึ่ง 30 ล้าน” ชัดเจนขึ้นมาอีกระดับ
ภายหลังเจ้าหน้าที่กองปราบปรามนำหมายจับศาลอาญาเข้าควบคุมตัวนายปรีชา ใคร่ครวญ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทพมงคลรังษี และนางรัตนาภรณ์ สุภาทิพย์ หรือ “เจ๊บ้าบิ่น” ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะผู้ต้องหาคดีลอตเตอรี่ 30 ล้านบาท ในตลาดเมืองกาญจนบุรี
แจ้งดำเนินคดี 3 ข้อหา 1.แจ้งความเท็จ 2.ให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนทำให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา 3.กลั่น-แกล้งผู้อื่นให้ได้รับโทษหนัก
พร้อมๆกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำทีมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แถลงสรุปคดีหวยรางวัลที่หนึ่ง 30 ล้าน ยืนยันตำรวจจะดำเนินการสอบสวนในคดีอาญา ส่วนคดีแพ่งคู่กรณีต้องฟ้องร้องกันเอง
โดยพูดเป็นนัย หากเปรียบเทียบคดีนี้เป็นกีฬา กีฬาก็ต้องมีแพ้ ชนะและเสมอ แต่คดีนี้มีแพ้และมีชนะ
ไม่มีเสมอ มีแต่คนที่จะติดคุก
เชื่อว่าคดีนี้จะเป็นคดีสุดท้ายสำหรับคนที่คิดจะทุจริต
ขณะที่คนระดับผู้นำประเทศอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ก็ขอให้คดีนี้เป็นบทเรียนสังคม กับพฤติกรรมของคนที่ขาดจิตสำนึกและคุณธรรมในข้อที่ควรมี
คือ ไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตน
ปรากฏการณ์หวยอลวนสะท้อนพฤติกรรมของคนโลภอยากได้ของคนอื่น ถึงขนาดคิดแผนการโกงกันเป็นขบวนการกลายเป็นข่าวใหญ่ที่คนสนใจทั้งประเทศ
จึงต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่าง ป้องกันเหตุพฤติกรรมเลียนแบบ
เพราะถึงตรงนี้รู้สึกจะโกงกันทุกระดับ ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ มาถึงประชาชนคนธรรมดายังกล้า
ถ้าปล่อยไป จะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ
ขณะเดียวกัน จากกระแสข่าวหวย 30 ล้าน มันยังสะท้อนให้เห็นภาพสังคมไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับประเด็นมโนสาเร่ อยากรู้เรื่องของชาวบ้านมากกว่าใส่ใจการบ้านการเมือง
นั่นก็ทำให้เรื่องของการเลือกตั้งที่มีความพยายามจุดกระแส ยังไม่ร้อนแรงเท่าไหร่
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่ามีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ
กับจังหวะล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำอีกรอบในการแถลงข่าวหลังประชุม ครม.ล่าสุด โดยยืนยันเลยว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน
เป็นการสำทับต่อเนื่อง จากที่การันตีจะไม่มีการคว่ำกระดานกฎหมายลูกทั้งร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.เพื่อลากเกมยื้อเลือกตั้ง
โรดแม็ปยังคงเดินหน้าตามเดิม บวกเพิ่มอีก 90 วันตามเงื่อนไขเพิ่มใน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.
ถึงขั้นลงวัน ว. เวลา น. ก็ไม่ต้องเค้นคอถามรายวันกันอีกแล้ว
แนวโน้ม “บิ๊กตู่” ต้องมั่นใจ ไม่อย่างนั้นคงไม่กล้าเดิมพันน้ำหนักคำพูดของผู้นำ
ถ้าผิดจากนี้ ไม่ใช่ “บิ๊กตู่” ก็แล้วกัน
และตามสถานการณ์ก็เหมือนเริ่มจูนกันได้ กระบวนการพิจารณากฎหมายลูกในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หันมาพูดคุยภาษาเดียวกัน
ตามสัญญาณกระตุก “หนุมาน” ไม่ให้เหาะเกินกรุงลงกา
ขณะที่กระบวนการสรรหา 7 กกต.ใหม่ที่โดนคว่ำกระดานไป ก็มีการนัดเริ่มนับหนึ่งทั้งในส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และในส่วนของคณะกรรมการสรรหาจาก 8 องค์กร
แต่ตอนนี้ กกต.ชุดเดิมก็มียังมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการจัดเลือกตั้งได้
ประเมินตามเงื่อนไขทางเทคนิค ก็ยังไม่มีเหตุให้โรดแม็ปเลือกตั้งสะดุด
และโดยบรรยากาศการเมืองก็จะกลับมาคึกคักตามธรรมชาติ ตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่ คสช.ประกาศให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่กับ กกต.ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป
โดยจังหวะวันที่ 2 มีนาคม วันเปิดทำการ คนแห่กันมาแน่น กกต.
แจ้งชื่อ จองสิทธิ์ แย่งกันจดยี่ห้อใหม่
ไฮไลต์ก็อยู่ที่เจ้าดังๆที่ขยับให้สังคมติดตามกระแส
ไล่ตั้งแต่พรรคมวลมหาประชาชนฯของ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส.ที่ถึงแม้เจ้าตัวยืนยันหน้าตีนบันไดศาล ไม่คิดหันไปเล่นการเมืองอีก
ไม่ร่วมรัฐบาลกับใคร ไม่เป็นนายกฯ ไม่ลงสมัคร ส.ส.อีกแน่นอน
ซึ่งนั่นก็ล้อไปกับสถานการณ์เงียบฉี่ของนายถาวร เสนเนียม นายวิทยา แก้วภราดัย นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ฯลฯ บรรดาแกนนำระดับหัวแถวทีม “นกหวีด”
ไม่มีใคร “ใจถึง” ชิ่งจากพรรคประชาธิปัตย์ สู้กับเสาไฟฟ้าที่ปักษ์ใต้
แต่กระนั้น “ลุงกำนัน” ก็ยังยักท่า ทิ้งทุ่นเปิดทางไว้ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าจะมีการตั้งพรรคมวลมหา-ประชาชนฯขึ้นมาตามความต้องการของประชาชน
แล้วก็เป็นน้องชายของ “ลุงกำนัน” อย่างนายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศจัดตั้งพรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สานต่อเจตนารมณ์ กปปส. ลุยสู้ระบอบทักษิณ
“ลุงกำนัน” เอาแน่ แค่กำกับเกมอยู่วงนอก
นอกนั้นก็มีสีสันของพรรค “พลังพลเมือง” ภายใต้การนำของ “เสี่ยติ่ง” นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรี นักการเมืองรุ่นลายคราม ที่นำอดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆกว่า 30 คน
ตั้งพรรคอยู่ฝ่ายประชาชน พร้อมสนับสนุนคนดีเป็นนายกรัฐมนตรี
ยืนยันไม่ได้เป็นนอมินีของใคร
ยังมีพรรค “ประชาชนปฏิรูป” ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ประกาศชูธงเจตนารมณ์ล่วงหน้า จะปฏิรูปการเมืองและนักการเมืองทำให้การเมืองประเทศไทยดีขึ้น จะปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้มีความบริสุทธิ์ดีงาม ปฏิรูปเพิ่มอำนาจให้ประชาชนในการตรวจสอบทั่วประเทศ
ที่สำคัญสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อไป
นอกจากความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองใหม่ๆ ยังมีการขยับของป้อมค่ายการเมืองเก่าที่รอคิวถัดไป ตามคำสั่ง คสช.ไฟเขียวให้ดำเนินการปรับปรุงฐานสมาชิกได้ในวันที่ 1 เมษายน
แต่ด้วยลูกเขี้ยว ต่างคนต่างไปไกลแล้ว ไม่ต้องรอวันปลดล็อก
ตามปรากฏการณ์แบบที่เห็น 2 พี่น้อง อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บินโฉบมาที่ปักกิ่ง ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพื่อเช็กขุมกำลังผู้จงรักภักดี
โดยมีลูกแถวพรรคเพื่อไทยแห่ไปพบกันอย่างโจ๋งครึ่ม
พร้อมๆกับข่าววงในที่ถูกปล่อยออกมา ชื่อของ “เฮียเพ้ง” นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.พลังงาน แกนนำสายตรง “ดูไบ” ถูกยกให้ขึ้นแท่นผู้นำขัดตาทัพ สลับฉากแทน “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง ที่โดนต้านหนักจากคนในพรรค
เพื่อไทยยังวุ่นหาหัวหล่อๆสวยๆมาเสียบไม่ได้
ขณะที่อีกฟาก ศึกสายเลือดภายในค่ายประชาธิปัตย์ก็อยู่ในโหมดของการจ้องหักดิบ จากการที่ทีม “ลุงกำนัน” แปรพักตร์ แหกค่ายไปหนุน “ลุงตู่” แทน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
แรงกระเพื่อมต่อเนื่องหนึ่งพรรคสองเป้าหมาย ยังไงก็ไม่จบง่ายๆ
ตามสไตล์ประชาธิปัตย์ถ้าไปกันไม่ได้ ก็ต้องฟัดกันพรรคแตก
ทั้งหมดทั้งปวง ไม่ว่าจะป้อมค่ายเก่าหรือยี่ห้อใหม่ มันก็ยังหนีไม่พ้นวังวนคนหน้าเดิมๆที่ยังฝักใฝ่กับอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง
พอ “ลุงตู่” คลายล็อก สถานการณ์ก็ไม่ต่างจาก “ป่าช้าแตก”
โดยเงื่อนไขสถานการณ์มันยังย้อนแย้งกับสถานการณ์ของการปฏิรูปอยู่
ทั้งๆที่รู้กันดีว่า เหตุมันมาจากนักการเมืองหน้าเก่า ที่ลากเอาประเทศชาติลงเหววิกฤติความขัดแย้ง จนเกือบอยู่ในภาวะรัฐล่มสลาย ทำให้ต้องเว้นวรรคการเลือกตั้งมาหลายปี
ถึงตรงนี้ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมจึงกระหาย โหยหา “ตัวเลือกใหม่”
เพื่อประกันความเสี่ยงไม่ให้การเมืองย้อนกลับไปลงเหว.
“ทีมการเมือง”