PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สมาคมตำรวจ ออกแถลงการณ์ประณามม็อบทำร้ายตร.



    สมาคมตำรวจ ออกแถลงการณ์ประณามม็อบกลุ่มผู้ชุมนุม ทำร้ายตำรวจ
 
เจ้าหน้าที่กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจกจ่ายแถลงการณ์สมาคมตำรวจ กรณีตำรวจถูกกลุ่มผู้ชุมนุม รุมทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยมีเนื้อหาระบุถึงเหตุที่ ร.ต.ต.จิระ แจ่มศรีจันทร์ รอง สว.กก.สส.น.8 ถูกการ์ดกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ทำร้ายร่างกายเมื่อช่วงกลางดึกคืนวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริเวณธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน เขตพระนคร กทม.พื้นที่รับผิดชอบ สน.ชนะสงคราม จนได้รับบาดเจ็บต้องเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.ตำรวจ จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนหาพยานหลักฐานพบว่า กล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุและพื้นที่ข้างเคียงแต่ละตัวถูกจับหงายขึ้นฟ้า จึงไม่มีภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนกล้องที่เหลือถูกคลุมไว้ด้วยถุงดำ ทำให้ไม่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
         
  จากการสอบสวนเบื้องต้น ตำรวจเชื่อว่าบุคคลที่ทำร้าย ร.ต.ต.จิระ มีประมาณ 10 คน สาเหตุน่าจะมาจากความโกรธแค้นการทำงานของตำรวจ จึงลงมือทำร้ายเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่นั้น สมาคมตำรวจ ได้ตรวจสอบและหาข่าวทางลึกแล้วพบข้อเท็จจริงว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนซึ่งเป็นตำรวชั้นประทวน สน.ธรรมศาลา 2 นาย ได้เข้าพื้นที่สืบสวนหาข่าวอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว มีการ์ดของผู้ชุมนุมหลายนายเข้ามาลากตัวเจ้าหน้าที่ทั้งสอง เข้าไปในเต๊นท์ที่ทำการของการ์ดและข่มขู่ทำร้าย เจ้าหน้าที่นายหนึ่งหนีออกมาได้จึงโทรศัพท์แจ้ง ร.ต.ต.จิระ ทราบ ก่อนจะเข้าไปเจรจาขอตัวตำรวจที่ถูกการ์ดของม๊อบควบคุมไว้เป็นเหตุให้ถูกทำร้ายบาดเจ็บโดยไม่มีเหตุผล
           
จากเหตุที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมอย่างสงบ ไม่ใช่การชุมนุมของกลุ่มผู้มีความเห็นต่าง แต่เป็นการชุมนุมที่มีการวางแผนและจงใจก่อความไม่สงบ สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยมีผู้นำทางการเมืองยุยงปลุกปั่นอยู่บนเวที การอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ หรืออ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายอีกทั้งยกย่องกล่าวอ้างว่ากลุ่มตนมาชุมนุมโดยสงบ ถือเป็นการพูดเท็จต่อสาธารณชน
          
สมาคมตำรวจจึงมีมติไม่เห็นด้วยและขอประณามการกระทำข้างต้นของกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองที่บัญญัติเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนไว้ โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเป็นที่ตั้ง

ทีม กม.ปชป.จี้นายกฯ รับผิดชอบ เหตุนำร่างขัด รธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ



วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556, 19:00 น.

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายนิพิฐฏ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ผ่านวาระ 3 ขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งที่กระบวนการยังค้างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า เคยเตือนแล้วว่าการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดึงดันทำ เป็นสิ่งมิบังควรและอาจระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นอันตกไป นายกรัฐมนตรีก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ทั้งด้านจิตสำนึกและความรับผิดชอบทางการเมือง โดยไม่สามารปัดความรับผิดชอบได้

นายนิพิฐฏ์กล่าวต่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำผิดมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยปรับปรุง ลอยตัวเหนือปัญหา ครั้งนี้แว่วๆ ว่าจะหนีไปต่างประเทศอีก แล้วประชาชนจะมั่นใจไว้ใจในตัวนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร น่าเศร้าแทนประชาชนที่เลือกผู้นำผิดคนเข้ามาบริหารประเทศ ทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ และนี่คือบทเรียนของการเลือกผู้นำผิดมาบริหารจนประเทศดำดิ่งตกต่ำ ขอวิงวอนให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เลิกทำร้ายประเทศไทย เพราะสิ่งที่ท่านและพี่ชายช่วยกันทำก็บอบช้ำมากเกินไปแล้ว ขอให้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองด้วย

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะทีมกฎหมายปชป. ระบุว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีมีทางเลือกและทางออกแค่ 2 ทางคือ 1.ทำเรื่องทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบาปกลับมาเสีย เพื่อมิให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หรือ 2.ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเพื่อแสดงความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม จะรอดูว่านายกฯจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร และหากไม่ทำตามอย่างที่กล่าวมา ทีมกฎหมาย ปชป.จะนำสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งหมดยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการเอาผิดนายกรัฐมนตรีต่อไป

'พงศ์เทพ'ป้อง'ยิ่งลักษณ์'ไม่ผิด ชี้ทูลเกล้าฯ แก้ที่มาส.ว.ตาม รธน.



วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556, 18:59 น.

"พงศ์เทพ"ตั้งแง่ศาล รธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัย ติงรับคดีไปได้อย่างไรเมื่อไม่มีอำนาจ ยัน "ยิ่งลักษณ์" ไม่ผิด ก.ม.เพราะได้ทำตามรัฐธรรมนูญ...
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.เวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่า ประเด็นอยู่ที่เหตุผลของคำพิพากษาว่า การที่ศาลระบุว่า มีอำนาจนั้นอาศัยมาตราอะไร ในการรับคดีนี้ไว้ เพราะหากไม่มีอำนาจในการรับคดีไม่ต้องมาตัดสินหรอก เหมือนการไปฟ้องคดีอาญา ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณา หากวินิจฉัยว่า จำเลยทำความผิดต้องลงโทษ ถือว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่ผ่านด่านแรกเสียแล้ว ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ใครจะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง ต้องมีกรณีที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสจึงจะร้องได้ จุดหลักตอนนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคดีนี้ไว้หรือไม่ ส่วนเหตุผลค่อยว่ากันในรายละเอียดอีกที อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าศาลพยายามจะวินิจฉัยออกมา ไม่ให้คนรู้สึกว่า ถูกกดดันจนเกินไป หรือทำนองการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไขกันมาใช้บังคับไม่ได้ แต่ยังไม่มีผลกระทบอะไรต่อคนอื่น

"แต่หากเป็นบางประเทศที่สุด ๆ องค์กรอื่นเขาไม่รับอำนาจมีเยอะแยะ ยกตัวอย่าง การมาวินิจฉัยในเรื่องที่คุณไม่มีอำนาจ องค์กรอื่น ต้องบอกว่า อันนี้เรื่องของผม เขาไม่รับอำนาจคุณเหมือนกัน แต่ตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญ คงรู้ดีว่า หากไปไกลกว่านี้อาจเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่เกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญได้" นายพงศ์เทพ กล่าว

ส่วนกรณีที่นายกฯ นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฯ ไปแล้ว จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพราะสภาฯ ส่งมาจึงต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฯ ภายใน 20 วัน หากไม่ทูลเกล้าฯ จะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีหน้าที่ที่จะไปตรวจว่า ชอบกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ดังนั้น ตอนนี้นายกฯ เหมือนหมดหน้าที่ไปแล้ว เมื่อถามว่า ในเมื่อศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ตามขั้นตอนกฎหมายสามารถเอาผิดนายกฯ ที่ทูลเกล้าฯ ถวายฯ โดยไม่รอคำวินิจฉัยได้หรือ ไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ ทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำผิดอะไรอยู่แล้ว.

โดย ทีมข่าวการเมือง

สุเทพ' หอบ 1.15 แสนชื่อ ยื่นถอด 310 ส.ส.

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556, 18:42 น.

"สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์” หอบ 1.15 แสนชื่อยื่นถอด 310 ส.ส.เซ่นนิรโทษกรรม...

วันที่ 20 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา 2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อม 9 แกนนำผู้ชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำรายชื่อประชาชน 115,500 รายชื่อ ที่บรรจุกล่องกระดาษ 77 กล่องซึ่งปิดผนึกแน่นหนา ซึ่งสร้างความฮือฮา เมื่อนายสุเทพนำทีม ส.ส.ยกกล่องกระดาษมาด้วยตัวเอง ยื่นต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอถอดถอน 310 ส.ส. ที่ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

นายสุเทพ แจ้งว่าจะมีรายชื่อประชาชนนำมายื่นเพิ่มเติมอีก เพื่อชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่รังเกียจ ส.ส.ทั้ง 310 คน ที่ผ่านกฎหมายล้างผิดคนโกง คนฆ่า และคนเผา โดยนายสุเทพ ได้หยิบนกหวีดขึ้นมาเป่า 1 ครั้งก่อนจะส่งมอบลังรายชื่อดังกล่าว ซึ่งนายนิคมรับรายชื่อมาด้วยสีหน้าอมยิ้ม พร้อมกล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องรายชื่อดังกล่าวโดยเร็ว แต่รายชื่อจำนวนมากขนาดนี้คงต้องใช้เวลาตรวจสอบเป็นเดือน เพราะเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่สามารถตรวจสอบได้เพียงวันละ 5 พันรายชื่อเท่านั้น เมื่อตรวจสอบเสร็จต้องนำส่งต่อให้สำนักทะเบียนราษฎรตรวจสอบว่ามีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ เสียชีวิตหรือไม่ รายชื่อซ้ำกันหรือไม่ จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบและตั้งข้อกล่าวหาต่อไป เมื่อยื่นรายชื่อเสร็จ นายอิสระ สมชัย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้หยิบนกหวีดขึ้นมาเป่าอีกที ทำให้นายนิคมพูดว่า “ขอผมอันนึง”

 




โดย ไทยรัฐออนไลน์


"จารุพงศ์" ลั่นเดินหน้าแก้ รธน.ต่อ เป็นสัญญาที่ให้ไว้ "โภคิน" ย้ำการรับวินิจฉัยส่อขัด รธน.เสียเอ

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556, 19:34 น.

"จารุพงศ์" ชี้ พท.ต้องเดินหน้าแก้ รธน.ต่อ ย้ำเป็นสัญญาที่ให้ไว้กับ ปชช. "โภคิน" ชี้ ศาลรธน. ตัดสินแปลก ผิดมาตรา 68 แต่ไม่ยุบพรรค

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพท. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมพรรพท. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ว่า พรรคได้สัญญากับประชาชนว่าเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนที่มีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ก็มีการระบุว่าให้รับไว้ก่อนแล้วจะแก้ในภายหลัง นี้ก็ผ่านมาหลายปีแล้วไม่รู้คนที่พูดลืมไปหรือยัง แต่พอเราทำตามนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน ขยับทีไรก็เป็นเรื่องทุกที จนที่สุดต้องระงับไว้ 2 ปี ครึ่งทางแล้วหากไม่เดินหน้าต่อไปคงไม่ได้ และก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกให้เราแก้รายมาตรา จึงแก้มาตราสำคัญคือที่มา ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ศาล รธน. บอกว่าเลือกตั้งทั้งหมดแบบ รธน. ปี 40 สู้แบบ รธน.ปี 50 ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่จะเดินหน้าอย่างไร ทางพรรคก็ต้องคุยกันก่อน "มันจะต้องก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตย รับไม่ได้ที่บอกว่า ส.ว.สรรหา ดีกว่า ส.ว.ที่ประชาชนเลือกตั้งมา แล้วบอกว่าเป็นสภาผัวเมียนั้นรับไม่ได้ ก็ต้องสู้กันต่อไป แต่ต้องสู้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง" นายจารุพงศ์ กล่าว เมื่อถามถึงการที่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมที่ราชมังคลากีฬาสถาน เกรงว่าจะมีการปะทะกับมวลชนกลุ่มอื่นหรือไม่ นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับมวลชนทุกคนต้องเข้าใจว่าใครทำอะไรอย่างไร ซึ่งเห็นว่าควรพูดกันด้วยเหตุผล เพราะที่สุดแล้วประเทศชาติเสียหายหากมีปัญหาเกิดขึ้น ด้านนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เรื่องที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ามีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องนี้และฟังว่าการแก้ไขดังกล่าวผิดทางเทคนิค ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่ไม่ตัดสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคหรือยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องนั้น ตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จึงดูแปลกๆ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ก็ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ การที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช้การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ ดังนั้นการรับคำร้องและวินิจฉัยเรื่องนี้ ถือว่าจงใจกระทำขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง และตามหลักนิติธรรมทุกคนต้องเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด ประชาชนจะตัดสินเองว่าอยากมีรัฐธรรมนูญแบบไหน หากแก้แล้วไม่ถูกใจเมื่อมีการเลือกตั้งคราวหน้าประชาชนก็ไม่เลือกเอง หากเป็นอย่างนี้บ้านเมืองจะไม่วุ่นวาย

สุเทพ' ฟันธงระบอบทักษิณจบภายใน 30 พ.ย.แน่นอน



วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556, 19:52 น.

"สุเทพ"ชี้ ศาล รธน.ตัดสินเป็นใบเสร็จมัด 312 ส.ว.-ส.ส. อุบไต๋จบใน 30 พ.ย.ชี้ "ยิ่งลักษณ์" ยุบสภา-ลาออก ไม่แก้ระบอบทักษิณ ยัน 24พ.ย.นี้เรียกมวลพลังประชาชนขุดรากถอนโคนให้ระบอบแม้วหมดจากแผ่นดินไทย...

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำเวทีประชาชนราชดำเนิน แถลงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญทั้งขั้นตอนและสาระของกฎหมาย ว่า สมคบกันทำความผิดหลายกรรม หลายวาระ หลายกระทง ตั้งแต่การปลอมแปลงเอกสารร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มา ส.ว.หลอกให้สภาฯ พิจารณา และยังมีการใช้วิธีการฉ้อฉลลงมติ เสียบบัตรแทนกันโดยมีหลักฐานชัดเจน หรือที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ร่วมสมคบลิดรอนสิทธิของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ทั้งขั้นตอนการยื่นขอแปรญัตติ การอภิปรายประกอบการแปรญัตติ ปิดกั้นลิดรอนสิทธิสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล ด้วยการเสนอปิดอภิปรายโดยใช้เสียงข้างมากข่มเหง บังคับให้รัฐสภาต้องมีมติตามที่รัฐบาลต้องการ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อมิให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และเป็นแนวทางปฏิบัติสืบต่อไปในวันข้างหน้า มัดระบอบทักษิณใช้เสียงข้างมากละเมิดกฎหมาย

"การใช้เสียงข้างมากทำตามอำเภอใจ ไม่ใช่วิธีปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตย เสียงข้างมากไม่ได้หมายความว่าถูกต้องเสมอไป ถ้าพฤติกรรมไม่บริสุทธิ์ ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง การที่นายกรัฐมนตรี นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงว่า ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ชัดเจนก่อน เพราะไม่ควรดำเนินการใด ๆ ให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่นายกรัฐมนตรีไม่ยับยั้งชั่งใจ ลุแก่อำนาจ บังอาจเสนอร่างที่เป็นปัญหาขึ้นกราบบังคมทูลพระองค์ เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องพิจารณาถึงพฤติกรรมที่มิบังควรต่อไป รวมถึงความผิดอื่นอีกมากมายที่ทำต่อประเทศชาติจนนับไม่ถ้วน" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้เห็นว่า ระบอบทักษิณทำทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม ไม่เคารพกฎหมาย ประเพณีปฏิบัติทางการเมือง ไม่เคารพศีลธรรม จริยธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา ซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่เคารพกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ฉะนั้น คณะกรรมการเวทีราชดำเนินมีมติเดินหน้าขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยไม่ให้ลุกขึ้นมาทำร้ายประเทศชาติ และประชาชนเหมือนที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ทั้งนี้ แกนนำจะไม่เรียกร้องความรับผิดชอบต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะเป้าหมายที่เป็นมติของประชาชนคือ การขจัดระบอบทักษิณ ดังนั้น ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ จะเป็นการรวมพลังประชาชนทั้งประเทศ เพื่อขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณ โดยชัยชนะที่เป็นรูปธรรมของประชาชนคือ ไม่ให้เหลือเศษของระบอบทักษิณอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอีก และส่วนตัวเห็นว่า การยุบสภาหรือลาออก ไม่ได้รับประกันว่า ระบอบทักษิณจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย ถ้ารัฐบาลตัดสินใจยุบสภาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง ก็คาดหวังที่จะใช้การเลือกตั้งใหม่ฟอกตัวเอง มั่นใจว่าจะชนะด้วยการซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง เพราะข้าราชการสยบให้รัฐบาลจะได้มีอำนาจอีก จึงขอให้ทุกคนรอการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ก่อน ตนยืนยันว่าต้องจบปัญหาภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้.



ว่อนเน็ตอีกรอบ! ภาพ"แม้ว"ชนแก้วไวน์ กับสาวสวย ฝ่ายหญิงโอดเสียใจ ไม่น่าทำกันแบบนี้เลย

ว่อนเน็ตอีกรอบ! ภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนแก้วไวน์ กับสาวสวย

ว่อนเน็ตอีกรอบ! ภาพ"แม้ว"ชนแก้วไวน์ กับสาวสวย ฝ่ายหญิงโอดเสียใจ ไม่น่าทำกันแบบนี้เลย 

ข่าวการเมือง : ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า ขณะนี้ในสังคมออนไลน์ กำลังมีการแชร์รูปภาพหญิงสาวผมยาว หน้าตาสวย คนหนึ่ง ที่กำลังถ่ายภาพคู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในอิริยาบถถือแก้วไวน์ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งภาพดังกล่าว ได้มีการอัพโหลดผ่านอินสตาแกรมของเจ้าตัว ที่ระบุว่า มีการถ่ายมาเป็นระยะเวลา 24 week หรือ ราว 6 เดือนมาแล้ว

ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า หญิงสาวคนดังกล่าวเป็นใคร มาจากไหน และไปถ่ายรูปคู่กับอดีตนายกฯ ณ สถานที่แห่งใด แต่คนในสังคมออนไลน์ก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจจะใช่คนเดียวกับหญิงสาวผมยาว สวมเชิ้ตขาว ที่มีรูปเดินจูงมือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จนกลายเป็นข่าวโด่งดัง และมีหลายคนเคยคิดไปว่า เป็น นักร้องสาวลุกทุ่งชื่อดัง "ใบเตย อาร์สยาม" หรือไม่

เมื่อ "มติชนออนไลน์" ตรวจสอบไปยังเฟซบุ๊ก ของหญิงสาวคนดังกล่าว ก็พบว่า มีการเขียนข้อความขึ้นมาเมื่อเวลา ประมาณ 16.36 น. ที่ผ่านมานี้ว่า "ตื่นมาก้อตกเป็นข่าว การไปขอถ่ายรูปกับคนดังก้อเหมือนขอถ่ายกับดาราทั่วไป ไม่น่าจะทำกันแบบนี้เบยยยยย " พร้อมกับขึ้นรูปตัวอีโมชั่น แสดงความรู้สึกเสียใจ


อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจสอบเฟซบุ๊ก ของผู้หญิงผมยาว ที่กำลังตกเป็นข่าว กับอดีตนายกฯ ก็พบว่า มีการถ่ายรูปอัพเดทชีวิตส่วนตัวแบบคนปกติทั่วไป ที่มีการไปกินข้าว ไปเที่ยว สังสรรค์ปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง และไม่ปรากฏว่า เคยไปร่วมชุมนุม หรือแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง นอกจากนี้ ยังพบว่า หญิงสาวคนดังกล่าว ก็มีแฟนอยู่แล้วด้ว

นักวิชาการชี้ศาลรธน.แทรกแซงการเมืองเกิน

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 16:53
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"พรสันต์"ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.มีปัญหา เหตุศาล take Action การเมืองมากเกินไป ย้ำไม่มีคำสั่ง เพราะองค์กรรัฐสภามีอำนาจเต็มในการแก้ไขรธน.

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญที่มาส.ว.นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ในฐานะผู้เชี่ยชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่มาของส.ว. ไม่ชอบด้วยกระบวนการแก้ไข ว่า ในภาพรวมของคำวินิจฉัยของศาล เห็นชัดเจนว่าไม่ได้มีการออกคำสั่งให้มีการปฏิบัติใดๆ ซึ่งตามหลักของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ระบุให้ใช้ได้กับบุคคล หรือนักการเมือง หากพบการกระทำที่มีลักษณะล้มล้างการปกครองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ต้องสั่งให้ยุดการกระทำนั้น แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่ได้สั่ง นั่นเป็นเพราะไม่ได้เกี่ยวกับบุคคล หรือพรรคการเมือง เนื่องจากส.ว.ไม่ได้มีการสังกัดพรรคการเมือง และถือเป็นเรื่องขององค์กรรัฐสภาที่มีอำนาจทำได้ ดังนั้นจึงถือว่าศาลได้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อย่างขัดกับเจตนารมณ์

ส่วนประเด็นที่ศาลได้เชื่อมโยงไปยังรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสองว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลรวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของสมาชิกรัฐสภาที่ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายต่อสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ตนมองว่าศาลได้วินิจฉัยไปไกล โดยที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ ยังมีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ รวมถึงกลไกทางการเมืองอื่นที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ

นายพรสันต์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม หมายถึงการยึดกฎหมายเป็นใหญ่ เพราะประเทศไทยนั้นมีการการปกครองโดยกฎหมาย และกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ ดังนั้นประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญควรตัดสินคดีในทางกฎหมาย ส่วนที่บอกว่ากระบวนการตรารัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น มีการเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอมาก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระแรก

นายพรสันต์ มองว่า หากการเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีผลกระทบกับหลักการที่ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็ไม่มีปัญหา และไม่ได้ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน หรือมีการปิดอภิปรายทั้งที่ยังมีผู้อภิปรายไม่แล้วเสร็จ ถือเป็นการบริหารจัดการการประชุม ซึ่งเป็นเรื่องภายในของรัฐสภา ดังนั้นหากกระบวนการดังกล่าวไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องภายในของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน เช่น กรรมการจริยธรรม, ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ฝ่ายตุลาการจะตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และการที่ศาลฯ วินิจฉัยแบบนี้ถือว่าศาลได้เข้ามาก้าวล่วงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัต

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรอบล่าสุดถือว่ามีปัญหามากๆ เพราะระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระที่ขัดกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ ดังนั้นประเด็นที่กระทบกับธรรมชาติของการแก้ไขกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญได้ ผมมองว่าสิ่งที่ศาลทำคือการเข้ามา Take Action ในทางการเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีความอันตรายอย่างมากและการลงมาเล่นการเมืองของศาลจะทำให้เกิดปัญหาได้" นายพรสัตน์ กล่าว

นายพรสันต์ กล่าวต่อว่าสำหรับคำวินิจฉัยดังกล่าว เชื่อวาจะถูกผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนำไปสร้างความชอบธรรมให้กับประเด็นการขับไล่รัฐบาล โดยเชื่อมโยงกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้ ทั้งนี้ตนขอฝากคำถามไปยังสมาชิกรัฐสภาที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มาตรวสอบองค์กรของตนเอง ว่าเข้าใจในอำนาจของฝ่ายตุลาการ หรือ อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติจริงหรือไม่ หากไม่เข้าใจตนเชื่อว่าจะทำให้ระบบมันเจ๊งกันหมด

คำต่อคำ ศาล รธน.ชี้แก้ที่มา ส.ว.ผิด ม.68 แต่ไม่เข้าเงื่อนยุบพรรค

20 พฤศจิกายน 2556 13:46 น.

รายละเอียดคำวินิจฉัย ศาล รธน.ชี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ผิดทั้งกระบวนการ ปลอมร่างฯ ตัดสิทธิผู้อภิปราย เสียบบัตรแทนกัน พร้อมผิด ม.68 วรรค 1 เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรคการเมือง
         
            (20 พ.ย.56) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเวลา 13.26 น.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มออกนั่งบัลลังก์เพื่อวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.แล้ว โดย นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยรวมโดยได้กล่าวถึงอำนาจของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงรัฐธรรมนูญปี 50 หลักการประชาธิปไตย และยังกล่าวถึงการใช้เสียงข้างมากจนเป็นปัญหาย่อมขัดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 3 วรรค 2 ขณะที่ มาตรา 216 วรรค 5 ก็ได้ระบุชัดคำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา เมื่อพิจารณาแล้ว ผู้ร้องใช้สิทธิ์ตาม มาตรา 68 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้ในวินิจฉัยได้
     
       นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขมิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะ ยื่น แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญในมาตรา 116(2) ที่ให้ ส.ว.ซึ่งสิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที การกระทำตังกล่าวถือว่ามีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติว่าร่างที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดชเสนอ จึงเท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดบทบัญญัติมาตรา 291 (1) นอกจากนี้การตัดสิทธิ์การอภิปรายของผู้ที่ยื่นสงวนคำแปรญัตติถึง 51 คนทั้งที่ยังไม่มีการฟังหารอภิปรายเลย แม้ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจในการสั่งให้ปิดการอภิปราย แต่ถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบ และเอื้อประโยชน์ฝ่ายเสียงข้างมากอย่าสงไม่เป็นธรรม ขณะที่การนับวันแปรญัตติที่มีการสรุปให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 เม.ย. ส่งผลให้วันแปรญัตติตามข้อยบังคับการประชุมที่กำหนดไว้ 15-20 วันนับแต่วันที่รับหลักการวาระที่ 1 เหลือเพียง 1 วัน ส่งผลให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 และขัดต่อหลักนิติธรรม ที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 3
     
       ต่อมา นายจรูญ อินทจาร ตุลาการ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นของการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีประจักษ์พยานชัดเจน ทั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์ และวิดีทัศน์บันทึกการประชุมเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่ามีสมาชิกรัฐสภารายหนึ่ง คือ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน ทั้งที่การใช้สิทธิ์ลงคะแนนตามหลักกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้นระบุว่า สมาชิก 1 คนสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น เมื่อพบว่ามีการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ปฏิญาณตนไว้เมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่ ส่งผลให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
     
       นายจรูญแถลงอีกว่า ในส่วนการกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 50 กำหนดให้มี ส.ว.สรรหาที่มาจากหลากหลายวิชาการในสัดส่วนที่เท่ากับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีแม่แบบมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 40 และได้นำข้อบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว.จากรัฐธรรมนูญ ปี 40 มากำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะลงสมัครต้องไม่เป็นสามีภรรยาและบุตรของผู้ที่เป็น ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งหากพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แล้วต้องเว้นวรรคการลงสมัครรอบใหม่ไม่น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนาให้องค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และกลั่นกรองตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่มีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ลงสมัคร ส.ว.ให้ใกล้เคียงกับผู้ลงสมัคร ส.ส. เท่ากับเป็นการแก้ไขไปสู่จุดสูญสิ้น เป็นการนำพาชาติถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นสภาผัวเมีย นำไปสู่การผูกขาด กระทบต่อการปกครองประเทศ เปิดช่องให้ผู้ที่สามารถควบคุมกลไกดังกล่าวใช้วุฒิสภาให้ได้มาเพื่ออำนาจในการปกครอง อีกทั้งยังเป็นการำลายการเป็นสภาถ่วงดุลของ ส.ว.ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
     
       นายจรูญ แถลงด้วยว่า เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหา และกระบวนการของการแก้ไข ที่พบว่ารวบรัดไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการแก้ไขรับธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรค 1 และ 2, มาตรา 126 วรรค 1, มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่าเนื้อหาการแก้ไขเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 แต่ทั้งนี้ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรค จึงให้ยกคำร้องในส่วนของการยุบพรรคด้วยมติเสียงเดียวกัน

       ///////////////

       รายละเอียดคำวินิจฉัย คำต่อคำ
     
       ในการนี้ศาลมอบหมายให้ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายจรูญ อินทจาร เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
     
       สุพจน์ ไข่มุกด์
     
        ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง และเอกสารหลักฐานประกอบของผู้ร้อง และไต่สวนพยานหลักฐาน อีกทั้งสั่งให้คู่กรณียื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือแล้ว เห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว จึงกำหนดประเด็นวินิจฉัยรวม 2 ประเด็น คือ
     
       ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
     
        ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
     
        ก่อนพิจารณาประเด็นดังกล่าว ต้องพิจารณามีปัญหาข้อพิจารณาเดิมเบื้องต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่
     
        ประเทศที่นำเอาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายที่จะออกแบบหรือสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในอันที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบ ตรวจสอบ และถ่วงดุล ระหว่างองค์กร หรือสถาบันทางการเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ที่แบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำใหม่นี้ มีสาระสำคัญ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของประชาชนชาวไทย ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราช และความมั่นคงของชาติ การทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนา ให้สถิตสถาพร การเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ
     
        การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมือง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบระบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง สุจริต และเป็นธรรม
     
        จากหลักการดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้องค์กร หรือสถาบันการเมือง ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม มีความเป็นอิสระ และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กร หรือสถาบันการเมืองใดบิดเบือนการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากความชอบธรรมทุกรูปแบบ อีกทั้งไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กร หรือสถาบันการเมือง หยิบยกบทกฎหมายใดมาเป็นข้ออ้าง เพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุน ค้ำจุนในอันที่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ
     
        อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้จะให้ถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ก็ตาม แต่หากละเลย หรือใช้อำนาจอำเภอใจ กดขี่ ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผล และขาดหลักประกัน จนทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนตามสมควรแล้วไซร้ จะถือว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลับกลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองของประเทศอย่างชัดแจ้ง ซึ่งหลักการพื้นฐานสำคัญนี้ ได้รับการยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีต้องมีมาตรการในการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือน หรือ

อำนาจอำเภอใจของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยให้ตั้งมั่นอยู่บนหลักการ แบ่งการ แยกการใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กร หรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจดังกล่าวอยู่ อยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบ และถ่วงดุล เพื่อทัดทานและคานอำนาจซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกให้เป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่าย ที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลแล้ว ย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหาย และนำพาประเทศชาติให้เกิดเสื่อมโทรมลง เพราะความผิดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ
     
        ซึ่งในการนี้ อาจกล่าวได้ว่า องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาล ล้วนถูกจัดตั้งขึ้น หรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจ ทั้งในด้านรูปแบบ และเนื้อหา จึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรทั้งหลายเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับการใช้อำนาจของทุกฝ่าย ทุกองค์กร และทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการที่ว่า นอกจากการใช้อำนาจตามบทกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว ยังจะต้องใช้อำนาจ และปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม กรณีนี้จึงใช้การปฏิบัติตามบทกฎหมาย ที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือหลักเสียงข้างมากแต่เพียงเท่านั้น หากจะต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่กันไปด้วย
     
        การอ้างหลักเสียงข้างมาก โดยที่มิได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เพื่อหยิบยกมาใช้อำนาจอำเภอใจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจท่ามกลางความซับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน หรือกลุ่มบุคคล กับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำมาซึ่งนำไปสู่ความเสียหาย และความเสื่อมโทรมของประเทศชาติ หรือการวิวาทบาดหมาง แยกแตกสามัคคีกันอย่างรุนแรงระหว่างประชาชน การนั้นย่อมขัดต่อหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญนี้ ตามนัยมาตรา 68 นั่นเอง การใช้กฎหมาย และการใช้อำนาจทุกกรณีต้องเป็นไปโดยสุจริต จะใช้โดยทุจริต ฉ้อฉล มีประโยชน์ทับซ้อน หรือวาระซ่อนเร้นมิได้ เพราะมิฉะนั้นจะทำให้บรรดาสุจริตชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ให้ไปตกอยู่แก่บุคคล หรือคณะบุคคลผู้ใช้อำนาจ โดยปราศจากความชอบธรรม หลักนิติธรรม หรือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ อันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง และแอบแฝง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภาก็ดี คณะรัฐมนตรีก็ดี ศาลก็ดี รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐก็ดี จะต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
     
        ส่วนหลักการการปกครองแบบประชาธิปไตย หมายถึงการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน มิใช่การปกครองตามแนวความคิดของบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมิใช่การปกครองที่อ้างอิงแต่เพียงฐานอำนาจที่มาจากระบบการเลือกตั้งเท่านั้น
     
        ทั้งนี้ เนื่องจากหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกประการ การที่องค์กร หรือสถาบัน ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมักจะอ้างอยู่เสมอว่า ตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาปฏิบัติ หาใช่วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม ภายใต้หลักนิติธรรม ไม่ เนื่องจากประชาธิปไตยมิได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้ง หรือชนะการเลือกตั้งของฝ่ายการเมืองเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายเพียงสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด
     
        ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจ เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อันเป็นปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในอันที่จะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดเจนโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง
     
        เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
     
        ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
     
       (1) ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ใช้ระหว่างพิจารณาประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นฉบับเดียวกันกับที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาหรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และได้มีการแจกจ่ายสำเนาให้สมาชิกรัฐสภา ในวันประชุมรัฐสภาวาระ 1 รับหลักการ ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าไม่ตรงกับที่ได้มีการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ท่านรับหลักการ โดยมีข้อแตกต่างหลายประการ
     
        ในกรณีนี้ ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการรัฐสภาส่งต้นฉบับของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ท่านรับหลักการ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ซึ่งนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการรัฐสภา ได้ส่งต่อศาลแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณา ตามที่เลขาธิการสภาฯ ส่งให้ศาล มีการใส่เลขหน้าเรียงตามลำดับด้วยลายมือ ตั้งแต่หนังสือ ถึงประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ร่วมเสนอ จนถึงหน้าที่ 33 แต่ในหน้าถัดไป ซึ่งเป็นบันทึกหลักการและเหตุผลตัวร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไข ไม่ปรากฏว่า มีการลงเลขหน้ากำกับไว้ อีกทั้งไม่มีการเขียนข้อความใดๆ ด้วยลายมือ

และเมื่อตรวจสอบปรากฏว่า อักษรที่ใช้ตั้งแต่หน้าที่ 1 ถึงหน้าที่ 33 มีความแตกต่างกันกับตัวอักษรที่ใช้ในบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เมื่อนั้น เอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่อ้างว่า ได้รับแจกเพื่อใช้ในการประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ฉบับ มีข้อความและเลขหน้าตรงกัน และมีการเติมข้อความต่อท้ายชื่อร่างรัฐธรรมนูญ ในหน้าบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไขด้วยลายนิ้วมือ และมีการใส่เลขหน้าเรียงลำดับทุกหน้าตั้งแต่หนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติรายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ตัวรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญรวม 41 หน้า สำหรับอักษรที่ใช้พิมพ์ก็ปรากฏว่าได้ใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย
     
        นอกจากนี้ เมื่อนำเอกสารญัตติที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรา 190 ที่นายประสิทธิ์ โพธสุธน และพวก เป็นผู้เสนอตามที่เลขาธิการได้นำส่งศาลมาประกอบการพิจารณามาตรวจสอบ ปรากฏว่ามีการใส่หน้าเลขหน้าเรียงตามลำดับด้วยลายมือ ตั้งแต่หน้าหนังสือ ประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อเสนอสมาชิก รัฐสภาผู้ร่วมเสนอ บันทึกหลักการและเหตุผลตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขจนถึงหน้าสุดท้าย ซึ่งเป็นบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไขอีก ทั้งมีการเติมข้อความในชื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเพิ่มเติมคำว่าแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ในหน้า บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข
     
        ส่วนตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ ก็เป็นตัวอักษรที่มีลักษณะเดียวกัน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ลักษณะของการใส่เลขหน้า ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย การแก้ไขชื่อร่างที่แก้ไขการใช้ตัวอักษรที่พิมพ์ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายจะเหมือนกับเอกสารที่ผู้ร้องอ้างว่าได้รับแจกต่อการประชุมของรัฐสภา จากข้อเท็จจริงหลักฐานดังกล่าวช่วงต้น เชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่เสนอให้สภาพิจารณาในวาระที่ 1 ท่านรับหลักการไม่ใช่ร่างเดิม ที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 และได้ส่งสำเนาให้สมาชิกรัฐสภาประกอบการประชุม แต่เป็นร่างที่พิมพ์ขึ้นใหม่ ซึ่งมีข้อความต่างจากร่างเดิมหลายประการ ถึงแม้ว่านายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย จะเบิกความว่าที่บรรจุวาระหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขก็ยังสามารถแก้ไขได้ ก็น่าจะมีการแก้ไขในเรื่องผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่น พิมพ์ผิด มิใช่เป็นการแก้ไข ซึ่งขัดกับหลักการเดิม หากเป็นการแก้ไขเรื่องที่ขัดกับหลักการเดิม ก็ชอบที่จะมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติการที่บัญญัติไว้จากการตรวจสอบข้อความของร่างที่มีการแก้ไขปรากฏว่า มีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญจะร่างเดิมหลายประการคือ

การเพิ่มเติมหลักการโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 196 วรรค 2 และวรรค 1 ของมาตรา 241 ด้วย ประการสำคัญการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 196 จะมีผลให้บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีก โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี และมีการดำเนินการในลักษณะที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง โดยไม่แจ้งความจริงว่า ได้มีการจัดทำร่างขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงความเป็นที่ยุติว่า ในการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฉบับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 มาใช้ในการพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แต่ได้นำร่างที่มีการจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร เสนอ หลายประการ โดยได้ปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภามาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่า การดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรค 1
     
        นอกจากนี้ ผู้ร้องยังอ้างอีกว่า การนับระยะเวลาในการแปรญัตติของผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่า เมื่อที่ประชุมพิจารณารับหลักการในวาระ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 มีผู้เสนอกำหนดเวลาในการขอแปรญัตติ 15 วัน และ 60 วัน ซึ่งตามข้อบังคับการประชุม จะต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่า จะใช้กำหนดเวลาใด แต่ก่อนที่จะมีการลงมติ เกิดปัญหาเรื่ององค์ประชุมในขณะนั้น ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงยังมิได้มีการลงมติ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สั่งให้กำหนดเวลายื่นญัตติภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สภาฯ รับหลักการ แต่มีผู้ทักท้วง ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน 2556 ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติให้กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน แต่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สรุปให้เริ่มต้นนับย้อนหลังไปโดยให้นับระยะเวลา 15 วันนั้น

ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 ทำให้ระยะเวลาการแปรญัตติไม่ครบ 15 วัน ตามมติที่ประชุม ก็จะเหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วันเท่านั้น เห็นว่า การแปรญัตติเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่เสนอความคิดเห็น การแปรญัตติจึงต้องมีเวลาพอสมควรเพื่อให้สมาชิกประสงค์จะขอแปรญัตติได้ทราบระยะเวลาที่แน่นอนในการยื่นขอแปรญัตติ อันเป็นสิทธิในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การนับระยะเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป
     
        การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุม และไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ด้วย การกำหนดเวลาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 120 วรรค 1
     
       (3) วิธีการในการแสดงตนและลงมติในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อพิจารณาหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาแบบมีผู้แทนแล้ว จะเห็นว่าสมาชิกรัฐสภานับว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อระบบนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีฐานะเป็นผู้แทนของปวงชนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือได้รับการสรรหาให้เข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภาแทนประชาชน
     
        อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 122 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดแจ้งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกทั้งต้องบัญญัติให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
     
        ส่วนการใช้อำนาจของสมาชิกรัฐสภา ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 126 วรรค 3 ได้กำหนดหลักการสำคัญ ประการหนึ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรากฎหมาย ว่า สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน เว้นแต่ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ย่อมเข้าใจได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภานั้น การแสดงตนในการออกเสียงลงคะแนนถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคน ที่จะต้องมาแสดงตนในการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติต่างๆ แต่ละครั้งด้วยตนเอง และในการนี้ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในแต่ละเรื่องได้เพียงครั้งละ 1 เสียงเท่านั้น
     
        การกระทำใดที่มีผลให้การลงคะแนนผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน ผู้เห็นเหตุการณ์ มาเบิกความ พร้อมทั้งพยานหลักฐานสำคัญ คือ แผ่นวิดีทัศน์ที่บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะที่มีการกระทำดังกล่าวถึง 3 ตอน ที่นำมาแสดงให้เห็นว่ามีสมาชิกรัฐสภาบางคนใช้บัตร

อิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนผู้อื่นในเครื่องออกเสียงลงคะแนน ระหว่างที่มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในการนี้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานบุคคลของผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ได้เบิกความประกอบคลิปวิดีทัศน์รวม 3 ตอน เพื่อยืนยันว่าในขณะนั้นได้มีบุคคลตามที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์กระทำการใช้บัตรแสดงตนอิเล็กทรอนิกส์ใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนน และกดปุ่มเพื่อแสดงตน และลงมติคราวละหลายใบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการและวิธีการที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ตามคำเบิกความของนางอัจฉรา จูยืนยง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้การไว้ว่า รัฐมนตรีและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ยืนยันหรือแสดงตนในการนับองค์ประชุม และลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภานั้น จะมีประจำตัวคนละ 1 ใบ และมีบัตรสำรองอีกคนละ 1 ใบ ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่เจ้าหน้าที่ กรณีสมาชิกรัฐสภามิได้นำบัตรประจำตัวมา ประกอบกับเสียงที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์ขณะกระทำการดังกล่าว ก็สอดคล้องกับเสียงที่ปรากฏในแผ่นวิดีทัศน์บันทึกถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา และรายงานการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ระบุไว้ในคำร้อง ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในการไต่สวนพยานบุคคล เลขาธิการสภา ซึ่งได้ดูและฟังภาพและเสียงในคลิปวิดีทัศน์นั้นแล้ว ได้เบิกความว่า จำได้ว่าเป็นเสียงของรองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมในขณะนั้น ประกอบกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานบุคคลของผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเบิกความประกอบภาพถ่ายที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์ ที่ผู้ร้องที่ 2 ยื่นต่อศาล ชี้ให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา ได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนคราวละหลายใบ หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรและกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง
     
        นอกจากนี้ พยานบุคคลฝ่ายนี้ยังเบิกความยันข้อเท็จจริงว่า สามารถจดจำผู้ถูกร้องรายนี้ได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีเหตุโกรธเคืองกันเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด และหลังจากที่พยานร้องเรียนเรื่องนี้แล้ว ก็ยังคงทักทายกันเป็นปกติ เนื่องจากตนเป็นสมาชิกรัฐสภามาเป็นเวลา 10 ปี ได้ติดตามตรวจสอบและร้องเรียนเรื่องการใช้บัตรแสดงตน และออกเสียงลงคะแนนแทนกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะพฤติกรรมของนายนริศร ทองธิราช ถึงกับใช้ให้คนของตนคอยถ่ายภาพและวิดีทัศน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานประกอบการร้องเรียน และเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่พยานนำสืบต่อศาล ก็เห็นภาพบุคคลปรากฏใบหน้าด้านข้าง ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าเป็น นายนริศร ทองธิราช ผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งสวมสูทสีเดียวกันกับภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์ ที่ถือบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในมือจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากกว่า 2 บัตร เกินกว่าจำนวนบัตรแทนตนที่สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมีได้ และยังใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวใส่เข้า-ออกในช่องอ่านบัตร พร้อมกดปุ่มบนเครื่องอ่านต่อเนื่องกันทุกบัตร เห็นได้ว่า การกระทำเช่นนี้มีลักษณะผิดปกติวิสัย และการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการใช้บัตรแสดงตน และออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์หลายใบ
     
        จากการรับฟังพยานหลักฐาน และการเบิกความในชั้นการพิจารณาไต่สวนคำร้อง เป็นเรื่องที่แจ้งชัด ทั้งภาพวิดีทัศน์ และประจักษ์พยานที่มาเบิกความประกอบการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ระหว่างที่มีการออกเสียงลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสมาชิกว่า มีสมาชิกรัฐสภาหลายราย ไม่ได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ และได้มอบให้สมาชิกรัฐสภาบางรายใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน แทนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
     
        การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามบทบัญญัติ มาตรา 122 รัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามบทบัญญัติ มาตรา 126 วรรค 3 ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียง 1 เสียง ในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมนั้นๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย เนื่องจาก มาจากกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุมาแล้วข้างต้น ถือว่า เป็นมติที่ชอบของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
     
        ปัญหาที่ต้องพิจารณาประเด็นที่ 2 มีว่า การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผู้ร้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น มีเนื้อหาสาระสำคัญเป็นการแก้ไขพึงปฏิบัติของสมาชิกวุฒิสภา โดยเปลี่ยนแปลงแก้ไขสาระในหลายประเด็น จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้บุคคลใดได้มาซึ่งอำนาจการปกครองของประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นแม่แบบ โดยได้แก้ไขหลักการในเรื่องคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาฉบับเดิมไว้หลายประการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เหมือนเช่นการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540
     
        กล่าวคือ บัญญัติให้มีสมาชิกวุฒิสภาสรรหา มาเป็นองค์ประกอบร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของวุฒิสภาให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างรอบคอบ ทั้งยังได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นอิสระจากการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่น ห้ามบุพการี คู่สมรส บุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา และตลอดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ให้มีดุลยภาพระหว่างกัน โดยได้กำหนดบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นองค์กรตรวจทาน กลั่นกรองการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และถ่วงดุลอำนาจต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการตรวจสอบถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 เมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้สมาชิกวุฒิสภา เป็นอิสระจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง จึงได้บัญญัติห้ามความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังกล่าว เพราะหากยอมให้สมาชิกวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ย่อมไม่อาจหวังได้ว่า จะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา อันเป็นการขัดกับหลักการดุลและคานอำนาจซึ่งกันและกัน อันเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญนี้
     
        สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธา และสามัคคีของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะ และศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกันทำลายสารสำคัญของการมี 2 สภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขา หลายอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้ กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงแสดงประชามติของมหาชนชาวไทย
     
        นอกจากนี้ การแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ได้มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อันมีที่มาเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงย่อมเป็นเสมือนสภาฯ เดียวกัน ไม่เกิดเป็นความแตกต่าง และเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้ง 2 สภาฯ เป็นการทำลายลักษณะ และสาระสำคัญของระบบ 2 สภาฯ สูญสิ้นไป การแก้ไขที่มา และคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของระบบ 2 สภาฯ ต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการกระทบต่อการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ ได้อำนาจในการตอบแทนต่อประเทศด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิธีที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
     
        นอกจากนี้ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 และมาตรา 11 /1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ โดบรวบรัดให้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความชอบของรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งขัดกับการถ่วงดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ โดยอาศัยเสียงข้างมากจากการตรวจสอบ
     
       อาศัยเหตุดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การดำเนินการพิจารณาและล้มมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง ถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมายรัฐธธรมนูญ โดยกฎหมายมาตรา 122 มาตรา 125 วรรค 1 และ วรรค 2 มาตรา 126 วรรค 3 มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่ามีเนื้อความเป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ฝ่าฝืนรัฐธธรมนูญมาตรา 68 วรรค 1
     
        ส่วนที่ผู้ร้องขอยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองเหล่านั้น เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 68วรรค 3 และวรรค 4 จึงยกคำร้องในส่วนนี้
     
        นัดฟังคำวินิจฉัยของศาลวันนี้ ฝ่ายผู้ร้องมีนายสมชาย แสวงการ ผู้ร้องที่ 1 นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้ร้องที่ 2 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้ร้องที่ 3 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผู้ร้องที่ 4 มาศาล
     
        ฝ่ายผู้ถูกร้อง มีนายปฏิพล อากาศ ผู้แทนผู้ถูกร้องอีก 293 มาศาล ส่วนผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงผู้ถูกร้อง 292 และผู้ถูกร้องที่ 294 - 312 ทราบนัดโดยชอบและมาศาล ศาลได้อ่านคำวินิจฉัย คู่กรณีที่มาศาล 2 คน แล้ว ถือว่าได้อ่านให้ผู้ถูกร้องที่ไม่มาศาลฟังโดยชอบแล้ว ให้คู่กรณีคัดค้านถ่ายสำเนาคำวินิฉัยได้เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับจากวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย
2222222222222222222

สิ่งที่ตามมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

20 พฤศจิกายน 2556

1. รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมือง ในกรณีเป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม อีกทั้งยังรู้เห็นเป็นใจให้ ส.ส.ภายใต้สังกัดทำหน้าที่เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก และทุจริตการลงมติ

อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังได้นำการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เรียบร้อย มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และมีทุจริตในการลงมติ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย นับเป็นการกระทำที่ขาดสติปัญญาหรือมีเจตนาไม่เหมาะสม และบังอาจรบกวนเบื้องพระยุคลบาท

2. ประธานรัฐสภาต้องรับผิดชอบทางการเมือง ที่ได้วินิจฉัยตัดสิทธิ์ผู้แทนประชาชนในการแปรญัตติ ในการอภิปรายเสนอญัตติ และปล่อยให้มีการทุจริตในการลงมติและในการสอดไส้เอกสารขยายขอบเขตของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา

3. ส.ส. และ ส.ว. 312 คน ควรจะได้สำนึกรับผิดชอบในการกระทำของตน ไม่สมควรที่จะดื้อด้านเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมต่อคนรุ่นหลัง ควรได้สำนึกว่าการกระทำที่ผ่านมาทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและการผ่านความเห็นชอบในพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการกระทำที่ผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อนแก่ประชาชนคนทั่วไปอย่างใหญ่หลวง ไม่สมควรปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้อีกต่อไป

4. สมควรจะได้มีผู้ร้องเรียนเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา ส.ส. ส.ว. 312 คนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อป.ป.ช.ในความผิดทางอาญามาตรา 157 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

5. ควรยื่นถอดถอนประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ในฐานะที่เป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติที่สมคบกับพรรคการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้อำนาจการปกครองประเทศ โดยไม่เป็นไปตามวิถี

ทางของรัฐธรรมนูญ

ขอขอบคุณ ส.ส. และ ส.ว.ที่ได้ทำหน้าที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบ และร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้
/////////////
“รสนา” เสนอ ป.ป.ช.รับไม้ต่อฟัน 312 ส.ส.-ส.ว.ทำขัด รธน. บี้ “ปู” รับผิดชอบ รีบนำขึ้นทูลเกล้าฯ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2556 15:55 น.  

“รสนา” เผยพอใจผลการตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ เป็นบทเรียนเสียงข้างมากลากไปไม่ถูกต้อง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและหลักนิติธรรม เสนอ ป.ป.ช.รับไม่ต่อฟัน 212 ส.ส.และ ส.ว.ตามคำร้องที่เคยเสนอไป ขณะเดียวกัน จี้ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เหตุเคยท้วงติงแล้วกระบวนการตรวจสอบยังไม่เสร็จ แต่รีบนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
     
       วันนี้ (20 พ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ผู้ยื่นคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กล่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 แต่ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรคว่า คำวินิจฉัยเป็นไปตามที่พวกตนร้องไป เพื่อให้ร่างแก้ไขดังกล่าวเป็นโมฆะไม่ได้เรียกร้องเรื่องการยุบพรรค ซึ่งถือว่าคำวินิจฉัยของศาลที่ออกมาตนพอใจแล้ว และคิดว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปประกอบในการพิจารณากรณี ส.ว.ได้ยื่นเรื่องถอดถอน 310 ส.ส.เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ
     
       สำหรับความรับผิดชอบของ ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 312 คนที่ร่วมลงชื่อและเห็นชอบผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้นั้น น.ส.รสนากล่าวว่า ที่ผ่านมานักการเมืองของไทยไม่เคยรับผิดชอบทางการเมืองจากการกระทำของตัวเอง ต้องใช้ข้อกฎหมายบังคับ
     
       อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนเห็นว่าผู้ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบที่ชัดเจน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เนื่องจากพวกตนได้ท้วงติงแล้วว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่เรียบร้อย ยังไม่ได้รับรองอย่างถูกต้อง อยู่ระหว่างเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้นต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง และให้ผู้อื่นที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งในพรรคเพื่อไทยก็มีหลายคน เช่น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี
     
       “เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับเสียงข้างมากในสภาว่า การมีเสียงข้างมากไม่ใช่ว่าจะทำได้ถูกต้องเสมอไป ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลักนิติธรรม”
///////////

“ทนายสุวัตร” ชี้ต้องฟ้องศาลอาญา ม.157 เอาผิด ส.ส.กระทำขัด รธน.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์20 พฤศจิกายน 2556 15:11 น

ทนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ชี้ประชาชนสามารถต่อยอดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นฟ้องศาลอาญาเอาผิดตามมาตรา 157 กรณี ส.ส.กระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้ ชี้ยื่น ป.ป.ช.ไปก็เสียเวลา ยันพร้อมเป็นทนายฟ้องคดีให้

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้ความเห็นต่อกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ว่าขัดมาตรา 68 วรรค 1 ว่า ในวันนี้ (20 พ.ย.) พิสูจน์ให้เห็นว่าฝั่งรัฐบาลแพ้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเสียบบัตรแทนกันหรืออื่นๆ แต่ส่วนที่คำวินิจฉัยในวันนี้ไปไม่ถึง หรือไปไม่สุดซอยก็คือ เป็นส่วนที่เกี่ยวโยงกับกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม ซึ่งการดำเนินการในขั้นต่อไปต้องดำเนินการฟ้องร้องไปที่ศาลอาญา โดยไม่ควรไปยื่นต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งจะเกิดความล่าช้าอย่างมาก
       
       “สิ่งที่ศาลไปไม่สุด ส่วนนั้นเป็นส่วนของมาตรา 157 มันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญที่ต่อไปจากนี้คือ เราต้องเอาคำพิพากษาของส่วนนี้ฟ้องไปที่ศาลยุติธรรม ซึ่งฟ้องไปยังศาลอาญาได้เลย ว่าทุกคนต้องรับโทษ ใครที่ลงมติไว้ ใครที่เสียบบัตรแทนกัน ใครที่ทำการอะไรต่างๆ เพราะไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยได้
       
       ณ บัดนี้สามารถยื่นได้เลย ฟ้องตรงได้เลย ไม่มีบทบัญญัติใดเลยว่าจะต้องไปผ่าน ป.ป.ช. ในเมื่อมาตรา 68 ไปศาลรัฐธรรมนูญได้ เรื่องนี้ก็สามารถไปที่ศาลอาญาได้เลย” นายสุวัตรระบุ และว่าหากต้องการให้ตนเป็นทนายฟ้องในคดีนี้ตนก็ยินดี โดยเฉพาะหากให้นายคมสัน โพธิ์คง ซึ่งมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญก็น่าจะยิ่งมีน้ำหนัก
       
       นอกจากนี้ นายสุวัตรยังกล่าวด้วยว่า ประเทศนี้เป็นของประชาชน พวกเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อลูกหลานที่จะได้อยู่ในสังคมที่มีความยุติธรรม ดังนั้น การต่อสู้ทุกวันนี้จงไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แม้คนจะต้องตาย ประเทศก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้ทั้งนั้นตนสังเกตด้วยว่า เบื้องลึกในคำวินิจฉัยมีฝ่ายรัฐบาลพยายามจะวิ่งเต้นกับฝ่ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ผลการลงมติของคำวินิจฉัยออกมาแบบก้ำกึ่งกัน แต่โชคยังดีที่มีตุลาการบางท่านที่ยืนหยัดบนความถูกต้อง ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินการต่อได้ดังที่ตนกล่าวไปแล้ว

ปา!! ปะทัดยักษ์ใส่ตำรวจเจ็บ 1 ที่มัฆวานฯ

20 พ.ย.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.เกิดเหตุคนร้ายปาประทัดยักษ์ หรือระเบิดปิงปอง เข้าใส่แนวตำรวจที่รักษาพื้นที่ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งถูกขว้างมาจากถนนหลังแนวแบริเออร์ของตำรวจ ด้านกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่าย คปท.ทะลุแนวตาข่ายกั้นของตำรวจ ทำให้ จ.ส.ต.กฤษณะ มังคลา ผบ.หมู่ (ป.) สภ.เมืองสมุทรสาคร ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้รับบาดเจ็บ โดนสะเก็ดปะทัดยักษ์ หรือระเบิดปิงปอง ทะลุแขนเสิ้อ ทำให้ผิวหนังบริเวณแขนขวาเป็นรอยเล็กน้อย

โดย จ.ส.ต.กฤษณะ เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุก็ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.เกิดเสียงดังคล้ายระเบิดหนึ่งครั้ง และสังเกตเห็นว่าโล่ที่ถืออยู่ถูกวัตถุคล้ายระเบิดเข้าอย่างจังจนล้มลง ตำรวจนายอื่นๆ ก็พากันหมอบลง ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุเห็นกลุ่มวัยรุ่นอายุประมาณ 20 ปี จับกลุ่มกันอยู่ฝั่งตรงข้ามใกล้กับแนวผู้ชุมนุมเครือข่าย คปท.แต่ไม่ทราบว่าจะใช้ผู้ก่อเหตุหรือไม่ เพราะหลังเกิดเหตุก็พากันหมอบและมองไม่เห็นเหตุการณ์ต่อจากนั้น

ด้าน พล.ต.ต.ชยุต ธนทวีรัชต์ รอง ผบช.น.เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที กล่าวว่า วัตถุที่ถูกขว้างมาน่าจะเป็นปะทัดยักษ์ หรือระเบิดปิงปอง เพราะหากเป็นระเบิดชนิดอื่นๆ จะมีอานุภาพสูงกว่านี้ และมีสะเก็ดออกมาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ก่อเหตุจะให้ตำรวจตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ เพื่อหาตัวมาดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ ตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดได้เข้าตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัตถุที่ถูกขว้างมาใส่ตำรวจเป็นระเบิด หรือปะทัด ต้องรอผลการตรวจสอบก่อน ส่วน จ.ส.ต.กฤษณะ จะมีเจ้าหน้าที่พาไปทำแผล เพื่อลงบันทึกประกอบสำนวนคดีในการเอาผิดผู้ที่ก่อเหตุต่อไป