PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

จุฬาแพร่สติ๊กเกอร์เตือนสติสนช. 'ถอดถอนทำไม่ได้อย่าฝันปฏิรูป'

จุฬาแพร่สติ๊กเกอร์เตือนสติสนช. 'ถอดถอนทำไม่ได้อย่าฝันปฏิรูป'
22 ม.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช.ได้มีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ของสมาชิกฯ ในวันนี้ โดยจะจัดเลี้ยงกันที่สโมสรกองทัพบก และไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ท่ามกลางข้อสงสัยว่า อาจจะมีการดำเนินการหารือถึงแนวทางในการดำเนินการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีขึ้นในัวนที่ 23 ม.ค.นี้
นอกจากนี้แล้ว กลุ่มจุฬาฯประชาคม ได้รณรงค์ให้มีการถอดถอนบุคคลทั้งสาม โดยมีการออกสติ๊กเกอร์ที่เขียนข้อความต่างๆ อาทิ 23 มกรา 58 ฟางเส้นสุดท้าย แค่ถอดถอน ทำไม่ได้ อย่าฝันไกลถึงปฏิรูป , 23 มกรา 58 ฟางเส้นสุดท้าย อย่าฟอกผิดให้คนชั่ว ด้วยการงดออกเสียง , 23 มกรา 58 ฟางเส้นสุดท้าย ถ้าคนชั่วยังผยอง จะปรองดองได้อย่างไร และ 23 มกรา 58 ฟางเส้นสุดท้าย ความชั่วถึงไม่เขียนในรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นความชั่ว


‘ประวิตร’แนะ‘ขวัญชัย-ก่อแก้ว’ใช้สมองก่อนพูด กรณีขู่นองเลือด หากถอดถอน "ยิ่งลักษณ์"

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2558
‘ประวิตร’แนะ‘ขวัญชัย-ก่อแก้ว’ใช้สมองก่อนพูด

‘ประวิตร’แนะ‘ขวัญชัย-ก่อแก้ว’ใช้สมองก่อนพูด

"พล.อ.ประวิตร" จวก "ขวัญชัย-ก่อแก้ว" ขู่นองเลือด หากถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" แนะใช้สมองก่อนพูด ยันรัฐบาลเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศไม่ใช่แก้แค้นไล่ล่าใคร

 
 
          วันที่ 22 ม.ค.58 เมื่อเวลา 09.30 น.  ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดงออกมาระบุว่า หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง จะทำให้เกิดความปรองดองได้ยาก เพราะไม่มีความยุติธรรม และจะนำไปสู่การนองเลือดหรือการจลาจลว่า เขาพูดแบบนั้นทำไมและเกิดประโยชน์อะไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับการบริหารประเทศ ซึ่งก็จะต้องดำเนินการต่อไป และขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่าไปพูดแบบนี้เพราะมันไม่ดีทำให้ประเทศชาติที่กำลังเดินไปข้างหน้าได้ดีในตอนนี้ ดังนั้นจะต้องใช้สมองมากกว่านี้
 
          เมื่อถามว่านายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวระบุว่า ถ้ามีการถอนถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้เลิกพูดเรื่องความปรองดองไปได้เลย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ประเทศเราสร้างมาแบบนี้ ฝ่ายบริหารเราบอกแล้วว่าเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ก็เป็นเรื่องของกระบวนการที่จะดำเนินการ แต่หลังจากวันที่ 22 พ.ค.2557 เป็นเรื่องที่เรารับผิดชอบทั้งหมดเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น สิ่งที่ทำมาในอดีตก็จะต้องว่ากันไป เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ไปแก้แค้น ไม่ได้ไปไล่ล่า และไม่ได้ไปดำเนินการเพื่อสร้างความเกลียดชัง เราไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างความเกลียดชัง แก้แค้นกับใคร และไม่ได้เป็นศัตรูกับใครทั้งนั้น
 
          สิ่งที่ต้องการคือทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าและเกิดความสุข ความสงบให้ได้ นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการ ตนก็ได้บอกไปหมดแล้ว และขอให้เข้าใจตามนี้
 
          “ผมจะไม่ปราม เขาจะต้องคิด เขาต้องคิดว่าเราพูดอย่างนี้แล้วมันชัดเจน ไม่ใช่ว่านำปัญหาต่างๆ ในอดีตมาว่ากันในปัจจุบัน เพราะเรื่องของอดีตจะต้องดำเนินการตามกระบวนการ อะไรจะเกิดขึ้นก็จะต้องดูกันต่อไปว่ามีเหตุผลอย่างไร กระบวนการที่ดำเนินการมาก็ไปว่ากันตรงนั้น ไม่ใช่นำเรื่องนี้มาทำให้เกิดความปั่นป่วนกับประเทศ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกันขอให้เข้าใจตามนี้ และผมก็ไม่ได้รู้สึกกังวลว่าจะนำเรื่องนี้มาจุดกระแสเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งนี้จะต้องช่วยกันไม่ว่าใครจะอยู่ฝ่ายไหนรัฐบาลไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้แค้นใครหรือมาเป็นศัตรูกับใคร เราเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าต่อไปให้ได้ เราทำทุกอย่างอยู่แล้วในเวลานี้” พล.อ.ประวิตร กล่าว

"บิ๊กตู่" ฮึ่ม!! สั่ง คสช.เตรียมเรียกรายงานตัว อีก พวกเคลื่อนไหว ต้านสนช.ถอดถอน"ยิ่งลักษณ์" ขู่หากไม่หยุด โดนเรียกแน่

"บิ๊กตู่" ฮึ่ม!! สั่ง คสช.เตรียมเรียกรายงานตัว อีก พวกเคลื่อนไหว ต้านสนช.ถอดถอน"ยิ่งลักษณ์" ขู่หากไม่หยุด โดนเรียกแน่ พร้อมสั่ง คสช. ทำความเข้าใจสื่อ อิงการเมือง-กลุ่มการเมือง ที่ส่งสัญญาณเคลื่อนไหวทางการเมือง เผย นายกฯ เกาะติด ประชุม สนช.
เสธ.ไก่อู พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิดโฆษกรัฐบาล เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้แสดงความเป็นห่วงการพิจารณาถอดถอน นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช ของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะมีขึ้น 23 มค.
แต่ไม่กังวล ต่อสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเชื่อว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และ นส.ยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงอย่างเปิดเผยวันนี้ จะทำให้สังคมใช้ดุลยพินิจ วิเคราะห์เหตุผลทั้งสองฝ่าย ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นการตอบโต้ผ่านสื่อ เชื่อว่าจะทำให้ความจริงปรากฎ
"พบว่า ยังมีสื่อที่อิงการเมือง ออกมาแสดงความเห็นในเชิงแบ่งฝ่าย ขอให้ระมัดระวัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ คสช. เข้าไปทำความเข้าใจ โดยใช้มาตรการจากเบาหาหนัก หากยังมีความเคลื่อนไหวในเชิงของการปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก คสช. ยังมีอำนาจที่จะเชิญบุคคลเหล่านั้นมารายงานตัว อีก" พลตรี สรรเสริญ กล่าว
แต่สาเหตุยังไม่เรียกมารายงานตัว ในขณะนี้ เพราะต้องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันชี้แจง
"ขอให้สื่อใช้ดุลยพินิจ ในการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน อย่าไปขยายความ ขัดแย้ง"
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันพรุ่งนี้ ฝ่ายความมั่นคง ได้ติดตามและประเมินกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ แต่ยังไม่พบ แต่หากจะมาให้กำลังใจสามารถทำได้ และเชื่อว่า ผลการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะขณะนี้รัฐบาลมีความเข้าใจการทำงานและ คสช.มากขึ้น
"นายกรัฐมนตรีหวังว่าประชาชนจะเข้าใจและเชื่อมั่นการทำหน้าที่ของ สนช. ที่จะอยู่บนหลักการและเหตุผลในการพิจารณา โดยที่รัฐบาลทำหน้าที่เพียงควบคุมกติกา ให้กับทั้ง 2 ฝ่ายได้ชี้แจง และเมื่อผลออกมาเป็นอย่างไร ก็ให้สู่กระบวนการตามกฎหมาย"
โดยในวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามข้อมูลและการประชุม ของ สนช.


สถานการณ์ข่าว21/1/58

jab21Jan15
แถลงปิดคดีถอดถอน

"ยิ่งลักษณ์" ถึงสภา สีหน้ายิ้มแย้ม ระบุ พร้อมแถลงปิดคดี แจงไม่มาตอบข้อซักถาม เพราะมอบหมายอดีต รมต.มาแล้ว ยินดีตอบวันนี้

บรรยากาศที่รัฐสภา ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงรัฐสภาแล้ว เพื่อเตรียมตัวแถลงปิดคดีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ท่ามกลางบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า มีความพร้อมในการมาแถลงปิดสำนวนดคดีอย่างเต็มที่ โดยจะเป็นการสรุปรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบพร้อมกันนี้ ยังชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่มาตอบข้อซักถามด้วยตนเอง เนื่องจากคิดว่ารัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจะสามารถตอบแทนได้ ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ซึ่งหากที่ประชุมต้องการให้ตอบข้อซักถามในวันนี้ก็ยินดีและไม่มีความกังวล แต่จะครบทั้ง 35 หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับข้อบังคับการประชุม และหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจาก สนช.

อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุม สนช. จะเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยมีวาระเป็นการแถลงปิดสำนวนคดีถอดถอนโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหาและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา
-------------

พล.อ.ประวิตร ระบุ อย่าโยงถอดถอนกับเรื่องนองเลือด ชี้ พูดไม่มีประโยชน์ก็ควรหยุด ยัน รัฐบาลไม่คิดแก้แค้น ขอเดินหน้าประเทศ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ นายขวัญชัย ไพรพนา อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ออกมากล่าวว่า หากเกิดการถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะนำไปสู่การนองเลือดนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า หากพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมไม่เกี่ยวกับการบริหารประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น และประเทศกำลังเดินไปข้างหน้า

ส่วนกรณีที่ นายก่อแก้ว พิกุลทอง อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ออกมากล่าวว่า หากเกิดการถอดถอนจะไม่นำไปสู่ความปรองดองนั้น พล.อ.ประวิตร ระบุว่า เรื่องของการถอดถอนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่งหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม ภายหลังที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศแล้วจึงมีหน้าที่ในการรับผิดชอบเพื่อสร้างความปรองดอง ขณะเดียวกันยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้แค้นและเป็นศัตรูกับใคร แต่ต้องทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวอีกว่า ขอให้ผู้ขัดแย้งคิดให้มากขึ้น อย่าเอาปัญหาในอดีตมาพูดในปัจจุบัน ซึ่งอะไรจะเกิดขึ้นให้ดูถึงเหตุผลตามกระบวนการ ไม่ใช่เอาปัญหามาสร้างความปั่นป่วน พร้อมย้ำว่า ไม่กังวลว่าการถอดถอนจะนำมาสู่ความเคลื่อนไหวมวลชน แต่ขอให้ทุกคนช่วยกัน
---------------------
"วิชา" เริ่มแถลงปิดคดีถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" ย้ำ ผิด ไม่ระงับยับยั้งจำนำข้าว ปล่อยเจ๊ง มีโกง

นายวิชา มหาคุณ ตัวแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้กล่าวหา แถลงปิดสำนวนคดี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมย้ำว่า โครงการรับจำนำของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กำหนดจำนำข้าวทุกเมล็ดที่สูงกว่าราคาตลาด จนเกิดการแทรกแซงตลาดข้าว และทุจริตเชิงนโยบาย ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ที่มีวาระซ่อนเร้น โดยเฉพาะการจงใจให้เกิดทุจริต ยากต่อการตรวจสอบ ซึ่งพบว่า รัฐบาลระบายข้าวราคาถูก เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง นำไปขายในราคาสูง พร้อมอ้างว่า เป็นการขายข้าวแบบจีทูจี แต่ในข้อเท็จจริง ขายให้บริษัทเอกชน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือไปยังรัฐบาลถึงความเสียหายแล้ว แต่ยังดำเนินโครงการต่อ ซึ่งให้เหตุผลว่าเป็นสัญญาประชาสังคม ไม่สามารถเลิกได้ จนทำให้ขาดทุนอย่างมหาศาล
--------------------------
"ยิ่งลักษณ์" แถลงปิดคดีถอดถอน ปัดข้าวหาย โต้สมยอมปล่อยให้มีการโกง ชี้ ป.ป.ช. มีพิรุธโยง G2G

บรรยากาศการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ล่าสุด ได้เสร็จสิ้นการแถลงปิดสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกกล่าวแล้ว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลงแล้ว และกฎหมายของ ป.ป.ช. ไม่ได้ให้อำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น การถอดสิทธิทางการเมืองของตน 5 ปี ถือเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นธรรม พร้อมโต้แย้งคำแถลงของ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปี 10 เดือน ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะใช้ระยะเพียง 101 วัน และให้เวลาตรวจสอบพยานหลักฐานเพียง 21 วัน

นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาหลายประเด็น ก็ไม่ได้อยู่ในสำนวน อาทิ การระบายความจีทูจี ซึ่งได้มีการกล่าวเชื่อมโยงจนคนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนกรณีที่ระบุว่า ตนละเลยปล่อยให้มีข้าวหาย 2.9 ล้านตัน นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะรัฐได้มีการทำสัญญาให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการในการจัดเก็บข้าวเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้พยายามนำหลักฐานไปโต้แย่ง แต่ ป.ป.ช. ไม่รับฟัง ดังนั้น ตนจึงขอแถลงคัดค้านคำแถลงของ ป.ป.ช. ทุกข้อกล่าวหา ยืนยัน ไม่เคยกระทำการทุจริตหรือปล่อยปละละเลย ให้มีการทุจริตในโครงการ พร้อมกล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าว ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสร้างเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ 3.8 แสนล้านบาท จึงขอความเป็นธรรมในการพิจารณาถอดถอนจาก สนช.
------------------------
อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าแถลงปิดสำนวนคดีถอดถอนกรณีไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้เกิดทุจริตโครงการรับจำนำข้าวด้วยตนเอง พร้อมมั่นใจในข้อเท็จจิรง และหวังว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะให้ความเป็นเป็นธรรม ขณะการรักษาวามปลอดภัยเข้มงวด วางกำลังตำรวจ 3กองร้อยดูแลรอบสภา

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันนี้ พิจาณาวาระเร่งด่วน เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครวการับจำนำข้าว โดยวันนี้ อยู่ในขั้นตอนการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ผู้กล่าวหา และนางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ ก่อนเปิดการประชุม นางสาวยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า วันนี้มีความพร้อมเต็มที่ที่จะชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.  เพื่อสรุปรายละเอียดให้ประชาชนและสนช.รับทราบเพื่อพิจารณาตัดสินใจ และไม่กังวลต่อกรณีที่ไม่ได้ชี้แจงด้วยตนเอง เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม แต่เป็นการใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับการประชุม จึงมอบหมายให้รัฐมนตรีมาชี้แจงแทน เพราะรู้ถึงข้อมูลรายละเอียด


ส่วนจะตอบคำถามทั้ง 35 ข้อที่กรรมาธิการซักถามตั้งขึ้นในที่ประชุมวันนี้หรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ตอบเพียงว่าจะดำเนินการชี้แจงไปตามระเบียบข้อบังคับ

ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัยรัฐสภา ได้วางกำลังตำรวจนครบาล 3 กองร้อย เริ่มตั้งแต่ลานพระรูปทรงม้า เป็นชุดของตำรวจนครบาล 4 บริเวณถนนอู่ทองใน หน้ารัฐสภาเป็นกำลังจากตำรวจ

นครบาล 1 รวมทั้ง และบริเวณแยกขัตติยาณี เป็นกำลังจากตำรวจควบคุมฝูงชน ทั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกับตำรวจนอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่ทหาร คอยดูแลความเรียบร้อยรอบพื้นที่รัฐสภา ขณะเดียวกัน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการข่าวที่เป็นกลุ่มมวลชนออกมาเคลื่อนไหว
------------------------------
"ยิ่งลักษณ์" กล่าวหลังแถลงปิดคดี หวังได้รับความเป็นธรรมจาก สนช. ขณะ "พรเพชร" นัดลงมติพรุ่งนี้ 3 สำนวน

บรรยากาศการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล่าสุด สิ้นสุดกระบวนการแถลงปิดสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้กล่าวหา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งว่า วันพรุ่งนี้นัดประชุม สนช. เพื่อลงมติในสำนวนถอดถอนทั้งของ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ที่จะเริ่มลงมติพร้อมกัน 2 สำนวน จากนั้นที่ประชุมจะลงมติในสำนวนของนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากแถลงปิดสำนวนแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า หลังจากนี้อยู่ที่การพิจารณาของ สนช. และหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม
-------------------------
"ยิ่งลักษณ์" ระบุสบายใจ ไร้กังวล ตอบไม่ได้พร้อมที่จะรับผลการลงมติหรือไม่ ขอ สนช.เป็นธรรม ยันไม่ตั้งวอร์รูมฟังผล

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา เปิดเผยภายหลังการแถลงปิดสำนวนคดีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า รู้สึกไม่กังวลใจและสบายใจที่ได้ชี้แจงต่อ สนช. แล้ว ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าพร้อมที่จะรับผลการลงมติหรือไม่ แต่ก็ขอความเป็นธรรมในการพิจารณาจาก สนช. ด้วย ส่วนในวันพรุ่งนี้ตนจะติดตามการลงมติทางโทรทัศน์ จะไม่มีการตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์เป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางออกจากรัฐสภาทันทีหลังจากการแถลงปิดสำนวนเสร็จสิ้น โดยมีประชาชนบางส่วนรอมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่อดีตนายกฯ บริเวณประตูทางเข้าของอาคาร
รัฐสภาด้วย
------------------------
ทนาย "ยิ่งลักษณ์" โว อดีตนายกฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงชัดเจนดีแล้ว ฝ่ายผู้ร้องมีแค่โวหารโน้มน้าวใจ รับหนักใจการลงมติ 

นายพิชิต ชื่นบาน หัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดีถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการแถลงปิดสำนวนคดีว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีตัวเลขที่คณะกรรมการปิดบัญชีข้าว ระบุว่ามีข้าวหายกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งฝ่าย ป.ป.ช. ไม่สามารถชี้แจงได้ นอกจากนี้ยังมองว่าการแถลงปิดคดีของฝ่ายผู้กล่าวหาเน้นสำนวนพรรณาโวหารโน้มน้าวการตัดสินใจลงมติ

อย่างไรก็ตาม นายพิชิต ยอมรับว่าหนักใจเรื่องการลงมติที่เกิดขึ้นมวันในพรุ่งนี้ เพราะทราบว่ามี สนช.ไปตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวนเพียง 2 คนเท่านั้น ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญต่อการลงมติ จึงอยากให้ สนช.เข้าไปตรวจสอบในวันนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงมติจากสำนวนคดี
------------------------------
"พรเพชร" แจงขั้นตอนลงมติ ยึดตามข้อบังคับ 158 ยัน งานเลี้ยงวันนี้ นัดล่วงหน้านานแล้ว ไม่เกี่ยวถอดถอน  

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกระบวนการลงมติถอดถอนในวันพรุ่งนี้ ว่า กระบวนการจะเริ่มในเวลา 10.00 น. ขั้นตอนแรกจะลงกรณี นายนิคม ไวยรัชพานิช และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ซึ่งเป็นลงมติลับในคูหาพร้อมกัน แต่แยกบัตรลงคะแนน 2 ใบ และมีกรรมการทำหน้านับคะแนนโดยเปิดเผย จากนั้น จะใช้กระบวนการเดียวกันกับการถอดถอนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม 158 ซึ่งไม่สามารถละเว้นได้ เนื่องจากมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งสิ่งสำคัญของกระบวนการถอดถอนคือ ต้องเป็นธรรม และถูกต้องตามกฎหมาย

พร้อมกันนี้ นายพรเพชร ยังชี้แจงถึงกรณีงานเลี้ยงของสมาชิก สนช. ในวันนี้ว่า เป็นเพียงงานเลี้ยงปีใหม่ ที่มีการนัดล่วงหน้ามานานแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนถอดถอน และไม่ได้มีเจตนาอื่นแต่อย่างใด
/////////////////////
สนช. รับหลักการหมวด 1 พ.ร.บ. 5 ฉบับ ที่ ครม. เสนอ พร้อมตั้ง กมธ.วิสามัญแปรญัตติภายใน 7 วัน

บรรยากาศการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 5 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการทั้งหมด ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เห็นด้วย 197:0 เสียง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เห็นด้วย 198:0 เสียง ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เห็นด้วย 196:0 เสียง ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วย

คะแนนเสียง เห็นด้วย 198:0 และร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เห็นด้วย 198:0 เสียง โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดเดียวกันพิจารณา จำนวน 15 คน
กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน (รายชื่อ กมธ.ตามเอกสารที่แนบ)
---------------------
รองโฆษก อสส. เผย พรุ่งนี้(23 มค.)  เตรียมแถลงข่าวความคืบหน้าคดีทุจริตจำนำข้าวของอดีตนายกฯ 

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้า กรณีที่คณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) และฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ของอดีต นายกฯ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ว่า  ขณะนี้ทางคณะทำงานฝ่ายอัยการกำลังอยู่ระหว่างทำความเห็นเพื่อเสนอไปยัง นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด  โดยทางคณะทำงานอัยการได้ทำความเห็นไปแล้วบางส่วน แต่ยังไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อยดี

ขณะเดียวกัน ท่านอัยการสูงสุดก็กำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ต่างจังหวัด  โดยคงจะต้องรอให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร ก่อนจะนำความเห็นของอัยการสูงสุดมาแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น.  (23 ม.ค.)อีกครั้ง
///////////////////
--------------------------

กมธ.ยกร่าง รธน.

กมธ.ยกร่างฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ตามที่ สนช.เสนอ ก่อนลงรายละเอียดในการเขียนรัฐธรรมนูญ

บรรยากาศการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุด ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุม อยู่ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... ตามที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ส่งหนังสือขอความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพราะทาง สนช. ยังไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องได้ความเห็นจากกรรมาธิการยกร่างก่อนที่ สนช. จะนำไปพิจารณา เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีทั้งหมด 17 มาตรา ซึ่งใน 7 มาตรานี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น สามารถนำมาพิจารณาภายหลังได้

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอว่า จะต้องพิจารณาใน 3 ส่วน คือ อนุวัติเป็นไปตามพันธสัญญาประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ออกกฎหมายนี้ จะต้องเร่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ออกไปแล้วเกิดความผิดพลาดหรือขัดข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการเพิ่มอำนาจของ ป.ป.ช.ในการตรวจค้นไม่ต้องรอหมายศาล หรือหมายจากตำรวจ
---------------------------
ปชช.ที่ได้รับคัดเลือกจากการสุ่มตัวอย่าง ทางสถิติ 6 จังหวัด ทยอยลงทะเบียน ร่วมเสวนาสานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูประเทศไทย

บรรยากาศการจัดงานสัมมนา เวทีประชาเสวนาหาทางออก "สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูประเทศไทย" ที่จัดโดยคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสถาบันพระปกเกล้า ณ โรงเแรมเพชรรัตน์การ์เด้น จังหวัดร้อยเอ็ด ล่าสุด ประชาชนที่ได้รับการสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีทางสถิติ จาก 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ขอนแก่น และร้อยเอ็ด ได้ทยอยเดินทางมาลงทะเบียนเพื่อร่วมกิจกรรมที่จะเริ่มขึ้นในเวลา 13.00 น.

ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ จากประชาชนในแต่ละภูมิภาค มารวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลการรับฟังความคิดเห็นนำเสนอต่อคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาต่อไป
-----------------------------
กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาทบทวนกรณีเฮท สปีช โดยไม่ต้องบัญญัติในสื่อมวลชน เพราะมีในหมวดสิทธิเสรีภาพพลเมืองแล้ว

บรรยากาศการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุด อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนกรณีเฮท สปีช ว่า ควรจะบัญญัติเฉพาะส่วนสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เดียว โดยไม่ต้องบัญญัติในสื่อมวลชนหรือไม่ เพราะถือว่าสื่อมวลชนเป็นพลเมืองอยู่แล้ว ซึ่งมี 3 มาตรา ที่ต้องพิจารณา

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการส่วนใหญ่เสนอว่า การใช้เฮท สปีช มีหลายส่วน หากไม่ระงับยับยั้งก็จะเกิดความเกลียดชัง ล้างเผ่าพันธุ์ เพราะการใช้เฮท สปีชไม่มีการคำนึงในการใช้สิทธิไร้พรมแดน ในกฎหมายต้องรับผิดชอบในการใช้สิทธิซึ่งต้องบัญญัติไว้ และต้องแก้ไขการใช้เสรีภาพในการสร้างความเกลียดชังไปสู่การแตกแยก รวมไปถึงสื่อมวลชนนั้นก็เป็นพลเมืองเช่นกัน ยังมีข้อห้ามในการเสนอข่าวในบางประการซึ่งต้องพิจารณา เพราะหากไม่มีสื่อมวลชนประชาชนจะไม่สามารถรับรู้ข่าวสารอันเป็นข้อเท็จจริงได้ หากมีรัฐบาลเข้ามาแทรกแซง

นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ได้เสนอให้ตัดวรรคสุดท้ายของมาตรา 20 ออก แล้วใส่วรรคสองของมาตรา 14 แทน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกยังคงถกเถียงในประเด็นดังกล่าวนานกว่าชั่วโมง หากนำมาพิจารณาใหม่ทั้งหมดจะทำให้การร่างรัฐธรรมล่าช้าออกไป
---------------------
"ถวิลวดี" ระบุ ปชช. เสนอความเห็นได้เต็มที่ เพื่อประโยชน์ ในการทำร่าง รธน.ใหม่ ย้ำ กมธ.ต้องการฟัง ปชช.อย่างทั่วถึง

ความเคลื่อนไหวการจัดงานโครงการสัมมนา เวทีประชาเสวนาหาทางออก "สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย" ที่ โรงแรมเพชรรัตน์ การ์เด้นส์ จังหวัดร้อยเอ็ด ล่าสุด นางถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เนื่องจากทางกรรมาธิการฯ ต้องการฟังเสียงประชาชนให้ทั่วถึงและถูกต้อง โดยประชาชนที่เข้าร่วมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการสุ่มจากจังหวัดใกล้เคียง 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ขอนแก่น และ ร้อยเอ็ด จำนวน 160 คน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่มีความสนใจพิเศษทางการเมือง จำนวน 40 คน

ดังนั้น ในวันนี้ขอให้ประชาชนที่เข้าร่วมงานแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และเมื่อมีจัดทำร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเสร็จสิ้นในช่วงเดือนเมษายน แล้ว จะมีการรับฟังความเห็นอีกครั้งว่า มีความพอ
ใจรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่ และจะมีการขอแก้ไขอย่างไร
------------------------
กมธ.ยกร่าง แก้ไขการคัดเลือกตุลาการศาลปกครอง ขณะศาลทหาร ยึดตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยได้เริ่มพิจารณา ส่วนที่ 4 ศาลปกครอง และส่วนที่ 5 ศาลทหาร ว่า ศาลปกครองมีการแก้ไขในเรื่อง การคัดเลือกตุลาการศาลปกครองชั้นต้น เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครองบัญญัติ จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ ศาลปกครอง และวุฒิสภาก่อน นำความกราบบังคมทูล ให้แต่งตั้งไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด เนื่องจากมีการขาดแคลนบุคลากร จึงมีการเพิ่มสัดส่วนในการคัดเลือก พร้อมทั้งให้มีแผนกวินัยคดีการคลัง และการงบประมาณในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ในส่วนของศาลทหาร ไม่มีการแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
--------------------------
"บวรศักดิ์" ชี้ เป้าหมาย รัฐธรรมนูญใหม่ เน้นปรองดอง ย้ำทำรัฐธรรมนูญด้วยความซื่อสัตย์ เป็นกลาง ปราศจากอคติ

ความเคลื่อนไหวการจัดงานโครงการสัมมนา เวทีประชาเสวนาหาทางออก "สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย" ที่ โรงแรมเพชรรัตน์ การ์เด้นส์ จ.ร้อยเอ็ด โดยภายในงานได้มีการเปิดวีดิทัศน์การปาฐกถาพิเศษ จาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การปฏิรูป และปรองดองดังนั้นจึงเรียกได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป

ขณะเดียวกัน ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำรัฐธรรมนูญด้วยความซื่อสัตย์ เป็นกลางปราศจากอคติ พร้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ คือ ความพอประมาณ เลี่ยงความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน และต้องกระทำโดยใช้สังคมไทยเป็นตัวตั้ง พร้อมกันนี้ ยังต้องมองไปถึงสังคมทั่วโลกด้วยเช่นกัน
-------------------------
โฆษกวิป สปช. เผย ก.พ.นี้ สปช. ปรับเวลาทำงาน หวังอนุฯ มีโอกาสพิจารณางานมากขึ้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงผลการประชุมเพื่อพิจารณาบรรจุวาระการประชุม สปช. ในวันที่ 26-27 มกราคม นี้ว่า ในวันจันทร์ที่ 26 มกราคม มีวาระเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติ เสนอเข้ามา เนื่องจากเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ จากนั้นจะเป็นการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย ภายหลังจากจัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 ประเด็น และเปิดอภิปรายทั่วไปให้สมาชิกเสนอความคิดเห็นเรื่องกลไกการกำจัดการทุจริตและประพฤตมิชอบ ส่วนในวันที่ 27 มกราคม จะเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในประเด็นจะทำอย่างไร เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ ยังกล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. เป็นต้นไป สปช. จะปรับเวลาการประชุมเป็นวันจันทร์ และอังคาร โดยเริ่มในเวลา 11.00 น. เพื่อให้คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการได้มีโอกาสทำหน้าที่ในช่วงเช้า
---------------
"คำนูณ" เผย เพิ่ม 10 มาตราในกฎหมาย ป.ป.ช. ตามอนุสัญญาสหประชาชาติ อาจขัดเเย้ง รธน.ใหม่ ต้องให้ สนช. พิจารณาอีกรอบ

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า คณะกรรมาธิการฯ มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุวัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต้านการทุจริตให้มีความสอดคล้องกัน จำนวน 10 มาตรา พร้อมเห็นด้วยกับการเพิ่มความชัดเจน และแก้ไขเฉพาะเนื้อหาที่ผิดพลาด จำนวน 7 มาตรา นอกจากนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีปัญหาบางประการที่ขัดแย้งกับหลักการในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชะลอการพิจารณาส่วนนี้ก่อน ทั้งนี้ จะทำหนังสือแจ้งไปยังประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้ ในร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่... พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา ฉบับที่... พ.ศ. ... จะพิจารณาให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติ ซึ่งทางกรรมาธิการฯ จะทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อทำการพิจารณา
--------------------
คำนูณ เผย รธน.ใหม่ เเทรกเเซง สั่งปิดกิจการสื่อ ห้ามสื่อเสนอข่าวไม่ได้ ยกเว้นอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ได้รับความคุ้มครอง

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ได้พิจารณากำหนดถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือ เฮดสปีช มีการแก้ไขในเรื่องสิทธิพลเมือง ในการสั่งปิดกิจการสื่อมวลชน เพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสารทั้งหมด หรือบางส่วน รวมถึงการแทรกแซงด้วยวิธีใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันนี้ ไม่มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการถ่ายทำรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" ที่จะออกอากาศในเวลา 18.00 น. และเริ่มพิจารณารายมาตราต่อในวันพรุ่งนี้
--------------------------
อลงกรณ์ เผยประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 พิจารณา ต้องวางโครงสร้างปฏิรูปให้เสร็จภายใน 6 เดือน

นายอลงกรณ์ พลบุตร โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึงการพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย ในวันที่ 26 มกราคมนี้ ว่า จากการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 พบว่าสมาชิกเสนอวาระปฏิรูปทั้งหมด 49 วาระ 170 ประเด็นย่อย ซึ่งคณะกรรมาธิการได้สรุปเหลือเพียง 34 วาระ เสนอเข้าที่ประชุม สปช. เพื่อพิจารณาจัดเรียงลำดับวาระเร่งด่วน พร้อมกันนี้ จะมีการรวมประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาทิ การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบราชการ และตำรวจ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับคณะกรรมาธิที่รับผิดชอบมากกว่า 1 คณะ โดยได้กำหนดกรอบการทำงานภายหลังจากนี้คือ ภายใน 1 เดือน คณะกรรมาธิการจะต้องวางการปฏิรูปในแต่ละประเด็นให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน ต้องวางโครงสร้างของแผนการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ และภายใน 6 เดือน ต้องวางระบบโครงสร้างการปฏิรูป ซึ่งจะต้องมีการตรากฎหมายใหม่ให้แล้วเสร็จ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนี้จะควบคู่ไปดับการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ของคณะกรรมาธิการทั้ง 18 คณะ

อย่างไรก็ตาม สปช. จะมีการรายงานผลการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้ง 2 ต่อคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายใน 1 เดือน
------------------------------
ถวิลวดี เผยเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นใช้รูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมทำควบคู่การยกร่าง 

นางถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เปิดเผยว่า รูปแบบการจัดงานรับฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกพื้นที่จะจัดเป็นรูปเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งการตั้งคำถาม กระบวนการรับฟัง เพื่อความเป็นมาตรฐาน และทุกเวทีจะมีการประมวลสรุปข้อมูลนำเสนอ ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกความเห็นของประชาชนล้วนมีความเห็นมีสำคัญในการปฏิรูปทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะดำเนินการควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสามารถเพิ่มเติมข้อเสนอแนะต่าง ๆ ลงไปในรัฐธรรมนูญได้ก่อนที่การยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราจะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเสร็จสิ้น จะยังคงมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในอีกหลายพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าคิดอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญ และจะมีการขอแก้ไขอย่างไรบ้าง
/////////////////
ความเคลื่อนไหวนายกฯ
นายกฯ กล่าวสุนทรพจน์เปิดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมฯ ระบุการสื่อสารมีบทบาทสำคัญในทุกมิติ ไทยผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา โดยกล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นโอกาสที่ดีเพื่อร่วมวางแผนเรื่องโทรคมนาคมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคอาเซียน เพราะปัจจุบันการสื่อสารมีบทบาทสำคัญในทุกมิติ โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวม จึงต้องสร้างกติกาต่าง ๆ เพื่อความมั่นใจในการใช้ไอซีทีต่อนักลงทุน ทั้งนี้ ควรนำไอซีทีใช้กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าสร้างความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยจะมีการผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หากสามารถพัฒนาความร่วมมือได้ในทุกมิติ จะครอบคลุมการปฏิรูปเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ขอฝากในเรื่องของความร่วมมือเรื่องการค้าชายแดน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต รวมถึงการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าประชาคมอาเซียน เป็นสังคมที่มีความสงบและปลอดภัย ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนไม่ใช่คู่ขัดแย้งกันแต่เป็นเพื่อนกัน จึงอยากให้เพิ่มช่องทางการติดต่อในประชาคมด้วย
///////////////
พล.อ.ประวิตร สั่ง ผบ.ตร. ตรวจสอบ กรณีนิตยสารไทม์ เผย แพร่กล่าวหาตำรวจของไทย รีดไถเงินของนักท่องเที่ยวแล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นิตยสารไทม์เผยแพร่กล่าวหาตำรวจของไทยรีดไถเงินของนักท่องเที่ยวมากขึ้นนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบผู้ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ส่วนการปฏิรูปตำรวจนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกรณีที่มีคนกล่าวว่า ภาพลักษณ์ตำรวจในขณะนี้ยังไม่ดีขึ้นนั้น พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ต้องดีขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานต้องมีทั้งคนดีและคนไม่ดี จึงต้องทำให้คนไม่ดีเข้าใจ
เพื่อประคับประคองประเทศ
------------------------
อุปทูตอเมริกา เข้าพบ พล.อ.ประวิตร ย้ำ เข้าใจสถานการณ์ประเทศไทย ร่วมมือฝึกคอบร้าโกลด์ 2015

Mr.Patrick Murphy อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อแนะนำตัวในโอกาสดำรงตำแหน่งอุปทูตแทน ออท.สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ซึ่งพ้นหน้าที่ไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2557 กล่าวว่า สหรัฐฯ มีความเข้าใจในสถานการณ์ของไทย ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้ เป็นโอกาสและความท้าทายที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนคนไทย จะได้ร่วมกันปฏิรูปประเทศเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายอนาคตร่วมกัน สหรัฐอเมริกา พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามโรดแมปที่กำหนด ในการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบต่อไป

ขณะเดียวกัน ยืนยันที่จะคงความร่วมมือและสนับสนุนการฝึกร่วมทางทหารของภูมิภาค ภายใต้รหัส COBRA GOLD 2015 ที่จะมีขึ้นในประเทศไทย ในกุมภาพันธ์ 2558 เพื่อประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค ซึ่งจะมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมการฝึก 29 ประเทศ พร้อมกันนี้ ได้หารือความร่วมมือด้านความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกันเรื่องต่างๆ อันประกอบด้วย การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การค้าสัตว์ป่า และการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนไทยในการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาความร่วมมือและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
/////////////////
นำเข้าปาล์ม

"อำนวย" ยัน รบ.จำเป็นต้องนำเข้าปาล์ม ประกันราคาไปให้เกษตรกรถึงปลายฤดูกาล 2557/2558 ส่วน 2558/2559 รอหารืออีกครั้ง 

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการประชุมของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2558 ในวันจันทร์ที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ว่า จากการหารือและตรวจสอบตัวเลขสต๊อกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงกระทรวงพลังงาน พบว่าจำนวนปาล์มน้ำมันในสต๊อกตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา เหลือเพียง 81,000 ตัน จากจำนวนความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการ 170,000-200,000 ตัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าอยู่ในขั้นวิกฤตอย่างรุนแรง จะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดจะขยับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภค เริ่มกักตุนน้ำมันเช่นเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา

ดังนั้น ที่ประชุมเห็นว่าจะต้องทำราคาภายในตลาดให้เกิดความสมดุล คือผู้บริโภคต้องไม่ขาดแคลนน้ำมัน ขณะที่เกษตรกรต้องไม่จำหน่ายราคาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะได้รับ จึงได้พิจารณาราคาคิดวัตถุดิบไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม ณ โรงงานสกัดน้ำมันดิบ ซึ่งโรงสกัดน้ำมันดิบจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 29-30 บาท ส่วนการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคจะอยู่ที่ราคา 42 บาทต่อขวด พร้อมกันนี้ยืนยันว่าชุดราคาดังกล่าวเป็นราคาที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไขในจำนวน 50,000 ตัน ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบใหม่เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรมากนัก ดังนั้น การประกันราคาปาล์มผลดิบกิโลกรัมละ 5 บาท รัฐบาลจะประกันราคาไปจนถึงปลายฤดูกาล 2557/2558 ส่วนฤดูกาล 2558/2559 รัฐบาลจะทำการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อหานโยบายในการดำเนินการต่อไป
///////////////////////////
ยกยอกเงิน สจล.

รอง ผบก.ป. เผย คืบคดียักยอกเงิน สจล. บุคคลเกี่ยวข้องการโอนเงินให้ปากคำ 5 ราย ยังเร่งหาหาตัวที่หลบหนีอยู่

พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รองผู้บังคับการกองปราบปราบ เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดียักยอกทรัพย์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กว่า 1,600 ล้านบาท ว่า ในวันนี้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนที่กองปราบปราม ในวันนี้ จำนวน 5 ราย ซึ่งมีพบว่ามีเงินโอนถ่ายเข้าบัญชี 2-3 ล้านบาท ซึ่งช่วงบ่ายของวันนี้ จะเข้าให้ปากคำ 2 ราย ส่วนอีก 1 ราย ได้เลื่อนเข้าให้ปากคำ และ 2 คน ไม่สามารถติดต่อได้

ขณะที่ความคืบหน้าในการติดตามตัว นายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่ ล่าสุดวานนี้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมติดตามไปยัง 4 จุดเป้าหมายที่คาดว่า นายธวัชชัย หลบซ่อนตัว แต่ไม่พบทั้งนี้ ยังยืนว่าคนร้ายยังอยู่ในประเทศ

ขณะที่การประชุมสรุปคดีความคืบหน้าของชุดสืบสวนสอบสวน ว่า เป็นการประชุมสรุปหาประเด็นความผิดของแต่ละบุคคล รวมถึงความเชื่อมโยงของแต่ละคนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ในส่วนของของธนาคารพาณิชย์ เจ้าหน้าที่ยังรอเอกสารเพิ่มเติมที่ร้องขออยู่
------------------------
รอง ผบก.ป. ชี้ ประสาน ตร.สากล เพื่อล่าตัว กิตติศักดิ์ แล้ว ลั่นขอเวลาในการรวมหลักฐานไล่ล่า บอส ผู้บงการใหญ่ คดี ยักยอก สจล. 

พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รอง ผบก.ป. เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สืบเนื่องจากการติดตามตัว นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาคนสำคัญ ในคดียักยอกทรัพย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นั้น ล่าสุด อยู่ในระหว่างการประสานงานกับ ตร.สากล เพื่อ ทำการไล่ล่าติดตามผู้ต้องหาตามสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ส่วนเรื่องของการติดตามตัวของผู้บงการใหญ่ในคดีดังกล่าวที่ทุกคนต่างเรียกว่า "บอส" ยังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพื่อดำเนินการไล่ล่าตัว ทั้งนี้ขอเวลาในการทำงานในเรื่องดังกล่าวสักระยะ
-------------------------
รรท.อธิการบดี สจล. เผย ทบทวนการทำธุรกรรมการเงินกับ ธ.ไทยพาณิชย์ หลังพบไม่ให้ความร่วมมือ ตร.ตรวจสอบยักยอกเงิน

ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาลาดกระบัง หรือ สจล. พร้อมคณะผู้บริหาร เปิดเผยว่า สถาบันฯ อยู่ระหว่างทบทวนการใช้บริการธุรกรรมทุกประเภทกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เนื่องจากเห็นว่าธนาคารไม่ให้ความร่วมมือสถาบันและตำรวจในการส่งมอบเอกสารหลักฐาน เช่น สลิปถอนเงิน สำเนาการสอบสวน นายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซีศรีนครินทร์ หนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญของคดีนี้

นอกจากนี้ ผู้บริหารสถาบันฯ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารลงโทษ นายทรงกลด ให้ลาออกเอง หลังตรวจสอบพบว่า นายทรงกลด อนุมัติให้เบิกถอนเงินโดยไม่มีการลงนาม และพบว่ามีการปิดบัญชีบางบัญชีที่เกี่ยวข้องในช่วงต้นปี 2557 โดยที่ผู้บริหารชุดปัจจุบัน ซึ่งมีอำนาจไม่ได้รับรู้ และหลายเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สถาบันฯ เกิดความไม่ไว้วางใจธนาคาร และอาจย้ายบัญชีเงินเดือน เงินหมุนเวียนต่าง ๆ ของสถาบันฯ ไปใช้บริการธนาคารอื่น
/////////////////////////
กตร.โยกย้าย ตร.

มติ ก.ตร. รับ ร.ต.อ.ปรากรม กลับเข้ารับราชการตำแหน่ง สว.ปอท. - ยังไม่พิจารณาแต่งตั้ง ผบช.ก. รอเวลาเหมาะสม

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้รับ ร.ต.อ.ปรากรม วารุณประภา อดีตรองสารวัตรงานกองกำกับการ 1 กองกำกับการ 4 ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการฐานกระทำความผิดวินัยร้ายแรง ปลอมแปลงลายพระหัตถ์ กำหนดการเสด็จของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2541 กลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง สารวัตรสังกัดกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. หลังพนักงานสอบสวนได้มีคำสั่งยกฟ้อง และผ่าน พ.ร.บ.ล้างมลทิน แสดงว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ประกอบกับทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความรู้ความสามารถและจบการศึกษาด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ฯ จึงพิจารณาเพิ่มยศและให้สังกัด ปอท. เพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องเว็บหมิ่นฯ พร้อมปฏิเสธเรื่อง มี ก.ตร. บางท่านไม่เห็นด้วย ส่วนการพิจารณาให้ข้าราชการตำรวจที่ผ่าน พ.ร.บ.ล้างมลทิน หรือพ้นจากการกระทำความผิด กลับเข้ารับราชการ จะใช้พิจารณากับข้าราชการตำรวจทุกนาย

อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในที่ประชุม ก.ตร. ยังไม่มีการพิจารณาแต่งตั้งผู้มารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางแต่อย่างใด ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับรองสารวัตร-ชั้นประทวน ได้มอบหมายให้สำนักงานกำลังพลเตรียมความพร้อมไว้แล้ว แม้ยังไม่มีผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก็ไม่กระทบกับการแต่งตั้งโยกย้าย
////////////////////////
คดีการเมือง

อดีต ส.ส.ปชป.ทวงถามความคืบหน้า คดีคนร้ายยิง RPG วัดพระแก้ว ปี 53 ที่ ดีเอสไอ

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ปชป. เดินทางเข้าพบ นางสุวน สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีเกี่ยวกับคนร้ายพยายามยิงอาวุธสงคราม RPG ใส่วัดพระแก้ว ในช่วงการชุมนุม ปี 2553

โดย อธิบดีดีเอสไอ ได้ชี้แจงว่า คดีดังกล่าวดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ และส่งสำนวนไปยังอัยการ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2553 มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายบัณฑิต สิทธิธุม ผู้ต้องหาที่ 1 และคดีนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกา

ส่วนประเด็นการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ศุภชัย ผุยแก้วคำ อดีต รอง ผกก.สภ.พัทยา และปัจจุบัน เป็น ผกก.สน.บวรมงคล ที่ นายวัชระ ให้ข้อมูลว่าเป็นผู้จ้างวาน ให้คนร้ายของวัดพระแก้วนั้น ในชั้นการสอบสวน มีการสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้วแต่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่า พยานหลักฐานยังไม่พอแจ้งข้อกล่าวหาจึงไม่ดำเนินคดีและอัยการก็มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว

ส่วน นายศุภณัฐ หุลเวช ผู้ต้องหาอีกคนที่สั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่พอว่าร่วมกระทำผิดในคดีดังกล่าว