PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

'ตู่'เตือนล้มเลือกตั้ง วอนอย่ากวน'กำนัน'อ้างจัดฉาก/พท.ทาบ'ปานปรีย์'คุมนอมินี

"จตุพร" ห่วงใยการเดินคารวะแผ่นดินของ "กำนัน" เรียกร้องอย่าขัดขวาง เพราะการแสดงออกซึ่งการต่อต้านนั้น บางเรื่องก็เป็นเรื่องจริง แต่ต่อมาจะมีวิวัฒนาการจัดฉาก นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ เป็นเหตุให้เลื่อนเลือกตั้ง ขณะที่เพื่อไทยพล่านจัดระเบียบพรรคนอมินี สะพัดทาบ "ปานปรีย์" นั่งหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ หวังเพิ่มเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ทดแทน

    เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดสาขาพรรคภาคกลาง และสถาบันพัฒนาการเมืองพรรคเพื่อชาติ ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง ว่าวันนี้ห่วงใยสถานการณ์ในประเทศ ซึ่งพรรคสนับสนุนแนวทางที่เป็นกลาง เพราะบ้านเมืองต้องการความสงบสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ พร้อมกับความเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่สามารถแก้ไขปัญหาของชาติได้ ไม่ว่าจะปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งนี้ พรรคเพื่อชาติได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญครบถ้วนสมบูรณ์ และห่วงใยสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างมาก

    นายจตุพรกล่าวถึงการเดินคารวะแผ่นดินของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่าการเดินของพรรคการเมืองหนึ่ง ถือเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่เราต่างมีบทเรียนเรื่องของการกระทบกระทั่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดการขยายความและการต่อต้านพรรคการเมืองอื่นด้วย สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ จนเป็นเหตุไม่ให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง 

    "ผมจึงรู้สึกห่วงใยต่อการเดินของพรรค รปช. และอยากเรียกร้องให้ประชาชนอย่าขัดขวาง เพราะการแสดงออกซึ่งการต่อต้านนั้น บางเรื่องก็เป็นเรื่องจริง แต่ต่อมาจะมีวิวัฒนาการจัดฉาก ซึ่งเราต้องเป็นประชาธิปไตยที่สามารถพูดคุยกันได้ แม้จะมีความคิดแตกต่างกัน มิฉะนั้นบ้านเมืองจะเดินต่อไปไม่ได้"

    เขากล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถ้าบ้านเมืองไม่สงบก็จะไม่มีการเลือกตั้ง และวันนี้ก็มีการต่อต้านพรรคการเมืองที่ไปเดินหาสมาชิก จึงเกรงว่าจะนำไปสู่กระบวนการจัดการจนล้มการเลือกตั้งในที่สุด ดังนั้นทุกคนควรหลีกเลี่ยง ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องไปฟัง เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้
    นายจตุพรบอกว่า ตนเองและนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา เห็นว่าการจะได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ควรจะมีการพูดคุยกันทุกฝ่าย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤติได้ทุกเมื่อ ดังนั้นทุกฝ่ายควรหันหน้ามาคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ผู้มีอำนาจ และภาคประชาชน ขอให้ตกลงเป็นสัญญาประชาคมกันก่อน

    ขณะที่นายยงยุทธกล่าวว่า วันนี้ทุกคนเป็นห่วงว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือความขัดแย้ง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่เห็นด้วยกับการบังคับประชาชนให้เลือกข้าง ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน เพราะทุกคนต่างมีศักยภาพในตัวเอง ขอให้มายืนอยู่ในเกาะกลางแล้วร่วมมือกันพัฒนาประเทศ เพื่อมอบมรดกดีๆ ไว้ให้ลูกหลานในวันข้างหน้า เราเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการเผชิญหน้าของประชาชน ไม่อยากให้มีการยั่วยุระหว่างที่พรรคการเมืองเดินหาสมาชิก เพราะอาจจะก่อให้เกิดความพลิกผันจนทำให้ไม่มีการเลือกตั้งได้

ทาบนอมินี"ปานปรีย์"

    มีรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่าย นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยเฉพาะแนวทางการทำพรรคพันธมิตร พรรคเครือข่ายกับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ได้เสียง ส.ส.เกิน  เสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า ขณะนี้แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายส่วน โดยเฉพาะสายที่ใกล้ชิดกับนายทักษิณ เห็นว่าแม้ที่ผ่านมาจะมีการเปิดตัวทำพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นพรรคเครือข่ายเพื่อไทยมาแล้วหลายพรรคเช่น พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ 

    แต่ล่าสุดแกนนำเพื่อไทยเห็นว่า พรรคที่ทางคนของเพื่อไทย-หัวคะแนนควรให้การสนับสนุนคือพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อให้เป็นพรรคที่ไปเก็บคะแนนเสียงการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะแกนนำเพื่อไทยประเมินกันว่ามีโอกาสที่เพื่อไทยจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดน้อยลงจากเดิมที่เคยได้ร่วม 30-40 เก้าอี้

    แหล่งข่าวระบุว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ติดต่อทาบทามนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตประธานบอร์ดบริษัท ปตท. สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, อดีตผู้แทนการค้าไทยในยุครัฐบาลไทยรักไทย, อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไทยรักไทย, หลานเขยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ให้มาเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ โดยมีการคุยกันมาแล้วหลายรอบ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ และอยู่ระหว่างการรอคำตอบสุดท้ายในช่วงต้นสัปดาห์นี้ คืออาจไม่เกินวันจันทร์ที่ 5 พ.ย. เพราะทางพรรคได้นัดประชุมแกนนำพรรคที่จะขับเคลื่อนพรรคไทยรักษาชาติในวันที่ 7 พ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์  

    “พรรคไทยรักษาชาติ เป็นพรรคที่คนของเจ๊แจ๋น พวงเพชร ชุนละเอียด แกนนำเพื่อไทยสายอีสาน ไปยื่นจดจัดตั้งพรรคกับสำนักงาน กกต.ไว้หลายปีแล้ว กกต.รับรองแล้ว เท่ากับว่าหัวพรรคเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือแค่จัดทัพเอาตัวจริงไปไว้ในตำแหน่งต่างๆ เช่น หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคเท่านั้น ที่ผ่านมามีการคุยเรื่องนี้มานานแล้ว แต่เริ่มชัดเจนมากขึ้นหลังเพื่อไทยมีการจัดทัพเลือกกรรมการบริหารพรรคไปเมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คนเพื่อไทยที่จะไปอยู่ พรรคไทยรักษาชาติ เลยต้องเร่งคุยและหาข้อสรุป ซึ่งถึงตอนนี้ขั้นตอนทุกอย่างเสร็จเกือบหมดแล้ว เหลือแค่รอคำตอบจากคนที่จะมาเป็นคีย์แมนพรรคตัวจริงตอนเลือกตั้งเท่านั้น ก็คาดว่าภายในวันจันทร์นี้น่าจะได้ข้อสรุปว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค จะใช่ ดร.ปานปรีย์หรือไม่ รวมถึงเลขาธิการพรรคด้วย ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่แกนนำฝ่ายทำพรรคไทยรักษาชาติวางกันไว้ก็คือ จะไม่เน้นผล ส.ส.เขตมากนัก แต่จะเน้นปาร์ตี้ลิสต์ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 20-30  เก้าอี้ เพื่อมาแทนส่วนที่พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” แหล่งข่าวกล่าว  

ซัด"ดอน"อ่อนหัด

    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุทำนองไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามาดูการเลือกตั้งไทยว่า นายดอนท่านไม่เข้าใจการเมือง และความโปร่งใสของการเมืองว่ามีความสำคัญอย่างไร วันนี้ทั่วโลกต่างอยากให้นานาชาติเห็น และยอมรับว่าประเทศของตัวเองมีการจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสทั้งสิ้น แต่วันนี้ผู้ที่กุมอำนาจกลับแสดงตัวชัดเจนว่าไม่เปิดโอกาสให้ใครมาตรวจสอบดูแลการเลือกตั้ง 

    อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าการเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาดูมีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะจะทำให้ภาพความโปร่งใสของผู้มีอำนาจดีขึ้นว่าอย่างน้อยก็พยายามให้คนเข้ามาสังเกตการณ์ และดูเรื่องความโปร่งใสได้
    “การที่นายดอนออกมาพูดในลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่านายดอนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใสที่นานาชาติให้ความสำคัญ และเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นต่อประเทศไทย” นายภูมิธรรม กล่าว

    ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย และคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า วันนี้ในหลายพื้นที่เริ่มแล้ว นัดผู้นำแจกเงิน หลอกล่อด้วยผลประโยชน์ พากินพาเที่ยว ขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายพึงระวังและตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับตัวท่าน ลูกหลานและบ้านเมือง ถ้าได้บุคคลเหล่านี้เข้าไปเป็นผู้ใช้อำนาจแทนท่าน

    ที่ จ.ตราด เช้าวันเดียวกันนี้ ก่อนเดินทางไปพบปะประชาชนชาวตราดในชุมชน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายกิตติธัช ไชยอรรถ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย พร้อมกรรมการพรรค ได้ทำการถวายสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลาง จ.ตราด

    จากนั้น คณะของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เริ่มเดินทางพบปะประชาชนชาวตราด ที่หน้าโรงพยาบาลตราด ไปยังตลาดสดเทศบาลเมืองตราด ตลาดซอยไร่รั้ง ตลาดเทพอุดร ซึ่งระหว่างทางได้พบปะและร่วมถ่ายรูปและเชิญชวนให้สมัครสมาชิกของพรรครวมพลังประชาชาติไทยด้วย ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่ร่วมลงสมัคร หลายคนได้ร่วมถ่ายรูปและพูดคุยถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเดินทางไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ของกลุ่มมวลมหาประชาชนในนามกลุ่ม กปปส. โดยประชาชนชาวตราดให้ความสนใจในการเดินทางมาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำนวนมาก และบางส่วนยังได้มอบของ มอบอาหาร และมอบขนมให้ด้วย

พวกรับจ้างด่า
    นายสุเทพให้สัมภาษณ์ว่า การเดินทางมา จ.จันทบุรีและ จ.ตราดในครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับจากประชาชนทั้งสองจังหวัดเป็นอันมาก โดยเฉพาะที่ จ.ตราด ให้การต้อนรับดีมาก และร่วมสมัครเป็นสมาชิกแล้ว 14 คน ในจำนวนนี้ 2 คนสมาชิกตลอดชีพ ที่ จ.ตราดต้อนรับดีมาก บางคนให้ขนม ให้ดอกไม้ ให้อาหารซึ่งแสดงถึงการมีน้ำใจของชาวตราด เพราะว่าคนตราดส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมในเหตุการณ์การต่อสู้ของ กปปส. ซึ่งเมื่อเรามาชวนให้ร่วมเป็นสมาชิกพรรค เขาจึงพร้อมและร่วมงานแบบไหนไปด้วย อีกทั้งเรายังมั่นใจว่าที่ จ.ตราดจะมีผู้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกพรรคจำนวนมาก ซึ่งเมื่อครบ 500 คนแล้ว จะจัดตั้งสาขาพรรคที่บ้านของคุณกิตติธัช ไชยอรรถ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองของเราด้วย

    เขากล่าวว่า การเดินทางมาที่ จ.ตราดในครั้งนี้ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถูกคนร้ายใช้เอ็ม 16 กราดยิง และขว้างระเบิดในเวทีปราศรัยที่ไม่ได้ก้าวร้าวหรือด่าพ่อแม่ใคร แต่กลุ่มอำนาจเก่ากลัวที่จะสูญเสียอำนาจ จึงส่งคนร้ายมาทำร้าย ซึ่งเป็นกระทำที่อำมหิตมาก เพราะว่ามีเด็กเสียชีวิตไป 2 คน คนสูงอายุ 1 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คน ซึ่งครอบครัวของเขาบอกภาคภูมิใจในการต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ตนเองเศร้าใจและเห็นใจเขามาก

    นายสุเทพยังกล่าวอีกว่า การที่มีผู้ออกมาด่า ออกมาคัดค้านหรือแนะนำว่าไม่ควรจะออกมาตั้งพรรคการเมืองเพราะไม่เห็นด้วยนั้น เป็นผู้ที่รับจ้างมาด่า เพราะจะพูดจาด้วยข้อความเดียวกัน และจะอยู่ห่างๆ กัน เพื่อสร้างข่าว ที่จันทบุรีก็มี แต่เห็นว่ามีประชาชนสนับสนุนมาก จึงยืนเป็นกลุ่ม เรื่องนี้ไม่สนใจ เพราะเมื่อเดินทางมาถึงวันนี้แล้วจะไม่กลัว และจะมีเหตุการณ์เช่นนี้อีกมาก เพราะนี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งขอบอกไปเลยว่าจะไม่หยุดเดินพบประชาชน และไม่ห่วงว่าจะเจ็บป่วย แต่จะอยู่ถึงวันเลือกตั้ง

    วันเดียวกันนี้ พรรคพลังธรรมใหม่ได้จัดการประชุมเปิดตัว ส.ส. 150 เขตทั่วประเทศของพรรค โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า พรรคพลังธรรมใหม่พร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62 อย่างแน่นอน ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นการพูดคุยของ ส.ส.กลุ่มแรก และในวันที่ 20 พ.ย.นี้ พรรคจะทำการปฐมนิเทศผู้สมัคร ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.สัดส่วน 150 คน และมีสมาชิกพรรคครบ 80,000 คนก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ให้ประชาชนทั่วประเทศเห็นว่าพรรคพลังธรรมใหม่คือพรรคที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง 
เป้าหมายเปลี่ยนประเทศ

    "เราเป็นพรรคที่ประชาชนมาร่วมกันเสียสละเวลา เงินทอง เพื่อที่จะสร้างพรรคของปรระชาชนจริงๆ โดยเราไม่ได้มีเงินทองมากมายที่จะไปสู้กับพรรคอื่น แต่เราจะใช้อุดมการณ์ ความมุ่งมั่น พยายามของสมาชิกทั่วทั้งประเทศ ที่จะทำการสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายหลักคือ เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นดินแดนที่ปราศจากคอร์รัปชัน และต้องการปฏิรูปพลังงานไทยให้สมบัติ ทรัพยากรของคนไทยกลับมาเป็นของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง"

    นพ.ระวีกล่าวว่า หลังการเลือกตั้ง หากเราได้ ส.ส. 25 คน เราจะเสนอคนของพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคได้มีการเตรียม 3 รายชื่อแคนดิเดตไว้แล้ว 1 ใน 3 ของคนมีหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แต่อีก 2 รายชื่อจะขอเปิดเผยในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ แต่หากเราไม่ประสบความสำเร็จได้คะเนนเสียงตามที่วางเป้าหมายไว้ เราจะให้สมาชิกในพรรคทั่วประเทศลงประชามติเลือกรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคอื่นๆ ที่พวกเราเห็นว่ามีความเหมาะสมมากที่สุดในขณะนั้น เพื่อที่จะให้บ้านเมืองเดินได้และมีความสงบเรียบร้อย พลังธรรมใหม่ไม่ได้เป็นศัตรูหรือมิตรกับใครอย่างแท้จริง และเราไม่ได้เป็นนอมินีของใครอย่างแน่นอน

    ที่โรงแรมปทุมธานีเพลส จ.ปทุมธานี มีการประชุมพรรคพลังท้องถิ่นไท เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จำนวน 29 คน โดยที่ประชุมมีมติเลือกนายชัชวาลย์ คงอุดม อดีต ส.ว. เป็นหัวหน้าพรรค, นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ(สปช.) เป็นรองหัวหน้าพรรค, นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์  อดีต สปช. เป็นเลขาธิการพรรค, นายชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษกพรรค, นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ศิลปินชื่อดัง เป็นรองโฆษกพรรค 

    โดยจะมีการเปิดตัวกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตต่างๆ ของพรรค อาทิ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต ส.ส.ขอนแก่น, นายวิทยา ภูมิเหล่าแจ้ง อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์, นายเกษม มาลัยศรี อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด รวมถึง “ฟิลม์ รัฐภูมิ” ที่จะลงสนามเปิดตัวเป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตดินแดง โดยตั้งเป้าส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขต

     นายชัชวาลย์กล่าวต่อว่า แนวคิดที่จะหนุนใครมาเป็นนายกรัฐมนตรียังไม่คิด ซึ่งต้องให้มีคนเลือกตนเยอะๆ จะได้เป็นเอง โดยไม่คิดที่จะเป็นนายกฯ ส่วนรายชื่อที่เสนอเป็นนายกรัฐมนตรีมี 3 รายชื่อ เป็นคนในพรรคหมดเลย ไม่มีคนนอก ซึ่งตอนนี้ต้องเสนอตนคนเดียวก่อน อีก 2 คนค่อยเปิดตัว ซึ่งในการเลือกตั้ง หากพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล ถ้ามีนโยบายมีใกล้เคียงกันกับพรรคพลังท้องถิ่นไท ก็สามารถร่วมงานกันได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เพราะเราเป็นคนไทย ไม่เลือกข้างอยู่แล้วคิดว่าทำอย่างไรให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้มากกว่า ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองไม่วุ่นวาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของประเทศคุ้มครอง เชื่อว่ามีการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 แน่นอน

    ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์กล่าวถึงการตัดสินใจร่วมงานการเมืองกับพรรคว่า เป็นพรรคที่มีนโยบายเน้นเรื่องท้องถิ่น กระจายอำนาจ และจากที่ตนมีประสบการณ์ทำงานในท้องถิ่นพบข้อเท็จจริงคือ การพัฒนาประเทศได้ ต้องเริ่มจากท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อมั่นว่าจากการทำงานในพื้นที่ ฐานะคนในพื้นที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อย่างแน่นอน ขณะที่คู่แข่งจากพรรคการเมืองอื่น ยังไม่พบการเปิดตัวที่ชัดเจน ส่วนคดีความที่ตนถูกฟ้องร้อง และถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ปลดจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่นั้น ไม่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะรายละเอียดของคดีไม่ใช่เรื่องทุจริต ดังนั้นการลงพื้นที่หรือหาเสียงในพื้นที่เชื่อว่าจะไม่มีใครนำไปดิสเครดิตได้

    นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง รองหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า หลังจากที่พรรคได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครไปก่อนหน้านี้ มีพรรคการเมืองใหญ่บางพรรค ติดต่อซื้อตัวฟิล์ม-รัฐภูมิ ในราคา 30 ล้านบาท ให้ไปร่วมงานด้วย แต่นายรัฐภูมิยืนยันจะทำงานร่วมกับพรรคพลังท้องถิ่นไท เพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์และนโยบายพรรคที่ผลักดันเรื่องกระจายอำนาจ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น.

ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/21285

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'แม่ทัพภาค 1' เป็นนายทหารพิเศษ

3 พ.ย.- ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งนายทหารพิเศษ ใจความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งตั้งนายทหารพิเศษ 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 มาตรา 13 และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลโท ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2561
ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน

พท.จัดทัพรอเครือข่าย “บิ๊กแจ๊ด” เสริมทีมเพื่อธรรม ไทยรักษาชาติรอปานปรีย์

4พฤศจิกายน2561 ไทยโพสต์

หากไม่มีอะไรผิดคาด ดีลการเมืองที่วางกันไว้ว่าจะมีการแถลงเปิดตัว พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ว่ากันว่าเป็น พรรคเครือข่าย-พรรคสำรอง ของ พรรคเพื่อไทย ที่แกนนำเพื่อไทยระดับส่วนบน โดยเฉพาะจากทักษิณ ชินวัตร เห็นชอบให้มีการดำเนินการจัดตั้งเพื่อเป็นพรรคพันธมิตรคู่ขนานกับเพื่อไทยในการเลือกตั้ง จะมีการนัดประชุมและแถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ภายในกลางสัปดาห์นี้ คือ 7 พ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ 
โดยในช่วงสุดสัปดาห์นี้ พบว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวที่จะมีการเปิดตัวพรรควางไว้หมดแล้ว เหลือแค่ขั้นตอนบางอย่าง เช่น การตอบรับจากคนที่วางตัวไว้ให้เป็น หัวหน้าพรรค ซึ่งถึงตอนนี้ ชื่อที่รอคำตอบก็คือ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตประธานบอร์ด บริษัท ปตท. สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-อดีตผู้แทนการค้าไทยในยุครัฐบาลไทยรักไทย-อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไทยรักไทย-หลานเขยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนว่าสุดท้าย จะใช่ปานปรีย์หรือไม่ ภายในอย่างช้าไม่เกินวันจันทร์ที่ 5 พ.ย.นี้
หลังมีข่าวว่าระดับแกนนำการตั้งพรรคดังกล่าว ที่เป็นระดับหัวๆ ของพรรคเพื่อไทย วางแผนการเมืองไว้ให้มีพรรคสำรอง-พรรคเก็บคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคที่ถูกวางไว้ให้รองรับยุทธศาสตร์เก็บคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ให้กับเพื่อไทยอย่างจริงจัง ก็คือ ไทยรักษาชาติ หลังแกนนำพรรคเพื่อไทยเห็นว่าจำเป็นต้องรีบเปิดตัวทางการเมือง เพราะเวลานี้ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ทั้งชื่อพรรค ที่เป็นชื่อซึ่ง พวงเพชร ชุณละเอียด อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไทยรักไทย นักการเมืองคนดังจังหวัดเลย ได้ยื่นจดจัดตั้งพรรคไว้นานแล้วกับสำนักงาน กกต. และมีกรรมการบริหารพรรคที่ตั้งไว้นานมากแล้ว ดังนั้นขั้นตอนทางกฎหมายทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว เหลือแค่เปลี่ยนเอากรรมการบริหารพรรค ตัวจริง เข้ามาแทนที่ให้เรียบร้อยอย่างเป็นทางการ เพราะถึงขณะนี้เงื่อนเวลาการเมืองงวดเข้ามาทุกขณะ เพราะเมื่อฝ่ายแกนนำพรรคเพื่อไทยเคาะแล้วว่าเอาแน่กับการเดินหน้าทำพรรคที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรการเมืองของเพื่อไทยจริงๆ และต้องเป็น พรรคเครือข่ายหลัก ที่ไม่ใช่ทั้งพรรคประชาชาติ-พรรคเพื่อธรรม-พรรคเพื่อชาติ แต่คือ พรรคไทยรักษาชาติ เลยต้องเร่งเครื่องทันทีในช่วงนี้
“ขณะนี้กระบวนการทุกอย่างคืบหน้าไปมากแล้ว เรื่องการทำพรรคเครือข่ายพันธมิตรดังกล่าว คนในพรรคเพื่อไทยมีการคุยกันมาเรื่อยๆ เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นต้องทำ โดยจะให้พรรคไทยรักษาชาติเป็นพรรคเครือข่ายหลัก ภายใต้เป้าหมายคือ ให้ไปเก็บคะแนนเสียงทั่วประเทศเพื่อมาคำนวณเป็นที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ให้กับพรรค เพื่อเป็นการป้องกันกรณีพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตมากแล้วจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
แนวทางของไทยรักษาชาติจะไม่เน้นหวังผลชัยชนะใน ส.ส.เขตมากนัก เว้นเสียแต่คนที่พรรคส่งลง กระแสดีกว่าคนของเพื่อไทยเสียเอง ซึ่งเบื้องต้นที่มีการคุยกันไว้ก็คือ ต้องการให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สักประมาณ 20-30 เสียง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”แหล่งข่าวในเพื่อไทย ผู้มีส่วนในการจัดตั้งพรรคไทยรักษาชาติระบุ
สายข่าวในพรรคเพื่อไทย เปิดเผยอีกว่า ถึงขณะนี้ระดับแกนนำพรรคเพื่อไทยได้มีการเจรจาทาบทาม นักการเมือง-คนดังในแวดวงต่างๆ ให้มาร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะต้องรอให้ดีลตั้งพรรคไทยรักษาชาติจบเสียก่อน มีการแถลงเปิดตัวให้เสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นถึงจะเริ่มรันงานต่างๆ ต่อไปได้
"ตอนนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนสำคัญเช่นว่าสุดท้ายแล้ว ที่แกนนำไปทาบทามคนให้มาอยู่กับไทยรักษาชาติอย่างปานปรีย์ พหิทธานุกร สุดท้ายดีลนี้จะลงตัวหรือไม่ หลังมีการพูดคุยกันมาแล้ว ระหว่างคนในพรรคเพื่อไทยกับนายปานปรีย์ ซึ่งก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลสำหรับเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมา นายปานปรีย์ก็เคยเป็นทีมทำนโยบายเศรษฐกิจให้พรรคเพื่อไทย และอยู่กับพรรคมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย หากทุกอย่างลงตัว ก็น่าจะแถลงเปิดตัวได้เลยในกลางสัปดาห์หน้านี้ แต่หากไม่ลงตัวก็เป็นไปได้ ที่แกนนำผู้ตั้งพรรคไทยรักษาชาติอาจมีการไปทาบทามคนอื่น" สายข่าวในพรรคเพื่อไทยระบุ
ขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นพรรคเครือข่าย “เพื่อไทย” พรรคอื่นๆ ก็ขยับตามกันอย่างคึกคัก เช่น พรรคเพื่อธรรม ที่มี สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นักการเมืองรุ่นใหญ่ ภาคเหนือของเพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรค และพงศกร อรรณนพพร อดีต รมช.ศึกษาธิการ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย สายขอนแก่น เป็น เลขาธิการพรรค
ก็จะมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคในวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายนนี้ เพื่อคัดคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 11 คน จากนั้นจะมีการประชุมกันต่อช่วง 7-8 พฤศจิกายน เพื่อจัดให้มีการประชุมครบ 4 ภาค ที่จะมีการประชุมกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่งในพื้นที่ปทุมธานี
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า การเดินหน้าทำพรรคเพื่อธรรม ระยะหลังเริ่มมีปัญหาบางส่วน เพราะคนที่เคยอยู่เพื่อไทยแล้วมีปัญหา เช่น เคยเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย แล้วเกรงว่าหากจะอยู่ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทยต่อไป อาจไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะมีโอกาสที่เพื่อไทยจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่มาก ทำให้อันดับไม่ถึง ส่วนจะขอไปลงสมัคร ส.ส.เขตในเสื้อเพื่อไทย ก็ทำไม่ได้เพราะพื้นที่เต็ม เลยจะไปอยู่กับเพื่อธรรม แต่พอช่วงหลังมีข่าวว่า พรรคเครือข่าย ตัวจริงที่ทักษิณ-แกนนำเพื่อไทยหนุนหลังคือ พรรคไทยรักษาชาติ ก็ทำให้คนที่เคยคิดจะเข้าเพื่อธรรมเลยลังเล ต้องการไปอยู่กับไทยรักษาชาติมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ก็มีข่าวว่าฝ่ายคนเพื่อไทยก็ยังให้น้ำหนักพรรคพันธมิตรอื่นๆ อยู่ ไม่ใช่เทน้ำหนักไปที่ ”ไทยรักษาชาติ” หมด โดยจะมีการผลักดันให้คนดังๆ ไปอยู่กับเพื่อธรรมเช่นกัน อาทิ ก็มีข่าวว่าจะมีการให้ บิ๊กแจ๊ส-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าของวาทะ มีวันนี้เพราะพี่ให้ หลังจากแสดงออกถึงความชื่นชม ทักษิณ ชินวัตร ที่ส่งเสริมให้ได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยุครัฐบาลเพื่อไทย โดยมีข่าวว่ามีการวางตัวบิ๊กแจ๊สให้เป็นแม่ทัพใหญ่ของพรรคเพื่อธรรม ในการทำพื้นที่ภาคกลาง เพราะเติบโตในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มาตลอดสมัยเป็นตำรวจ จนเคยเป็นรักษาการ ผบช.ภ.1 มาแล้ว
ส่วน บิ๊กแจ๊ส-คำรณวิทย์ จะตัดสินใจเข้าเพื่อธรรมหรือไม่ คาดว่าน่าจะได้คำตอบภายในเร็ววันนี้ แม้จะมีข่าวว่า จริงๆ คำรณวิทย์อยากอยู่กับพรรคเพื่อไทยมากกว่าก็ตาม
นั่นคือความเคลื่อนไหวของฝ่าย ทักษิณ-เพื่อไทย ต่อการเตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง-สมรภูมิรบทางการเมือง บนเป้าหมายสำคัญที่ทักษิณ รู้ดีว่า รอบนี้ต้องชนะให้ได้ เพื่อให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง บนความเชื่อมั่นของทักษิณและแกนนำเพื่อไทย ที่เชื่อว่าเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่แม้อาจไม่ชอบ พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง แต่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และผิดหวังกับรัฐบาล คสช. จนทำให้แม้จะไม่ชอบเพื่อไทย แต่ก็จะไม่หนุน ฝ่าย คสช.-พรรคหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกต่อไป ซึ่งแม้จะไม่เลือกคนของเพื่อไทย แต่ก็อาจเลือกพรรคที่มีจุดยืนไม่เอา คสช. จนทำให้ฝ่ายพรรคขั้วตรงข้าม คสช. อย่าง เพื่อไทย-เพื่อธรรม-เพื่อชาติ-ไทยรักษาชาติ รวมถึงพรรคพันธมิตรอย่าง อนาคตใหม่-เสรีรวมไทย น่าจะรวมเสียงกันแล้วเกิน 250 เสียง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้แม้ฝ่าย คสช.จะมี ส.ว.ในมือ 250 เสียง แต่การชิงตั้งรัฐบาลกับฝ่ายเพื่อไทยน่าจะเป็นไปอย่างเข้มข้น และอาจทำได้ยากหากฝ่ายหนุน คสช.-ไม่เอาเพื่อไทย ได้เสียง ส.ส.ไม่เกิน 250 เสียง
โดยระหว่างนี้ ฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทย ก็อยู่ระหว่างการรอเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง หลังมีการจัดทัพสตาร์ทเครื่องรอไว้เกือบหมดแล้วกับการประชุมใหญ่พรรคเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการเลือก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขาธิการพรรค และสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค บนสูตรจัดทัพแบบประนีประนอม ที่ไม่เน้นขายกรรมการบริหารพรรค แต่จะเน้นการขายและชูแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย ซึ่งถึงตอนนี้ชื่อของสุดารัตน์ยังไงก็น่าจะมีชื่อติด 1 ใน 3 ค่อนข้างชัวร์ แม้ต่อให้จะมีคนในเพื่อไทยหลายกลุ่มไม่ยอมรับในตัวเธอก็ตาม
ท่าทีแกนนำพรรคเพื่อไทยต่อสนามเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์ไว้ว่า ศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะเป็นสมรภูมิเลือกตั้งที่จะแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน
“ผมคิดว่างวดหน้าจะเป็นการเลือกระหว่างจะเอาแบบรัฐบาล คสช.ที่อยู่ในอำนาจมา 4-5 ปี ที่บริหารแบบนี้ เป็นอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือจะเอารัฐบาลแบบประชาธิปไตย แบบสมัยเพื่อไทย ก็คือสู้กันว่าจะเอาแบบ คสช.หรือจะไม่เอาแบบ คสช. หากคิดว่า 5 ปีที่อยู่กับ คสช.มามีความสุข เขาก็คงเลือกแบบรัฐบาล คสช. แต่หากคิดว่า 5 ปีที่ผ่านมา อยู่กับรัฐบาล คสช.มา ไม่มีความสุข ชีวิตแย่ คนก็อยากเปลี่ยนแปลง หาสิ่งใหม่ๆ ผมเชื่อว่าคนอยากเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากให้ผมประเมินบรรยากาศ ผมก็คงประเมินแบบนี้” ภูมิธรรมวิเคราะห์เอาไว้
จังหวะก้าวย่างของฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร กับเดิมพันการเมืองครั้งสำคัญที่แพ้ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องต้องรอดูกันต่อไป.

"การเดินหน้าทำพรรคเพื่อธรรม ระยะหลังเริ่มมีปัญหาบางส่วน เพราะคนที่เคยอยู่เพื่อไทยแล้วมีปัญหาเช่น เคยเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย แล้วเกรงว่าหากจะอยู่ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทยต่อไป อาจไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะมีโอกาสที่เพื่อไทยจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่มาก ทำให้อันดับไม่ถึง ส่วนจะขอไปลงสมัคร ส.ส.เขตในเสื้อเพื่อไทย ก็ทำไม่ได้เพราะพื้นที่เต็ม เลยจะไปอยู่กับเพื่อธรรม แต่พอช่วงหลังมีข่าวว่า พรรคเครือข่าย ตัวจริงที่ทักษิณ-แกนนำเพื่อไทยหนุนหลังคือ พรรคไทยรักษาชาติก็ทำให้คนที่เคยคิดจะเข้าเพื่อธรรมเลยลังเล ต้องการไปอยู่กับไทยรักษาชาติ"

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/21283

เลือกตั้งกลางเทอมมะกันพรุ่งนี้ ตัดสินชะตากรรม 'โดนัลด์ ทรัมป์'


(วันที่ 6 พฤศจิกายน) จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมที่มีความสำคัญต่อชะตากรรมทางการเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มาก จึงต้องเกาะติดกันทุกรายละเอียด
    เพราะหากเป็นไปตามโพลที่อเมริกา ถึงวันนี้เสียงส่วนใหญ่ในสภาล่างอาจจะพลิกมาเป็นพรรคเดโมแครต แทนที่จะอยู่ในการควบคุมของพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนทรัมป์
    โพลบอกว่าพรรครีพับลิกันอาจจะยังสามารถรักษาเสียงส่วนใหญ่ 51 ต่อ 49 ในวุฒิสภา
    ถ้าเป็นไปตามการหยั่งเสียงประชาชน (ซึ่งอาจจะผิดพลาดได้ไม่น้อย) ดุลอำนาจในสภาคองเกรสจะปรับเปลี่ยนถึงจุดที่ทำให้ทรัมป์ตกอยู่ในสภาพเปราะบางอย่างยิ่ง
    เลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนอเมริกันทั่วประเทศจะออกมาใช้สิทธิ์เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด  435 คน และหย่อนบัตรเลือกหนึ่งในสาม หรือ 35 คนของสมาชิกวุฒิสภา 100 คน ในวันเดียวกันนี้คนอเมริกันก็จะใช้สิทธิ์เลือกผู้ว่าการรัฐ 39 รัฐ นอกจากนี้ยังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นกันอีกมากมายหลายแห่งทั่วประเทศ
    ต้องถือว่าเป็นวันสำคัญทางการเมืองสำหรับคนอเมริกันอย่างยิ่ง จึงไม่ต้องแปลกใจที่ตัวแทนสองพรรคใหญ่ต่างขับเคี่ยวกันอยู่ในการหาเสียงอย่างรุนแรง เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่บรรยากาศทางสังคมได้รับผลกระทบจากเหตุวุ่นวายและความรุนแรงในระยะหลังนี้ เพราะเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 11 รายที่โบสถ์ชาวยิวในนครพิตส์เบิร์ก เหตุเป็นเพราะมือปืนกราดยิงเหยื่อผู้มาร่วมงานทางศาสนา ทำให้รอยปริระหว่างคนยิวกับคนต่อต้านยิวในสังคมอเมริกันเห็นได้ชัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
     แม้ทรัมป์จะออกมาประณามผู้ก่อเหตุรายนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในรัฐบาล ว่าจะทำอะไรอย่างจริงจังเพื่อกำจัดสาเหตุแห่งความเกลียดชังในสังคมมะกันได้เลย
    มิหน้ำซ้ำก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน พัสดุไปรษณีย์หลายชิ้นที่บรรจุวัตถุระเบิด จ่าหน้าซองถึงนักการเมืองเดโมแครตคนดังและผู้สนับสนุนพรรคนี้ ถูกส่งไปให้อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน รวมไปถึงอดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน
    คนที่เป็นเป้าของการข่มขู่ครั้งนี้ล้วนเป็นผู้ที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ทั้งสิ้น
    แม้ทรัมป์จะออกมายืนยันว่าเขาต่อต้านการกระทำเช่นนั้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่วางใจว่าเขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ 
     ไม่ต้องสงสัยว่าเหตุร้ายเหล่านี้ทำให้การหาเสียงของสองพรรคนี้เพิ่มอัตราความดุเดือดขึ้นมาทันที ทรัมป์เดินสายช่วยผู้สมัคร ส.ส.และ ส.ว.ของพรรครีพับลิกันหาเสียงด้วยลีลาและภาษาที่ร้อนแรง เขางัดเอานโยบายต่อต้านคนเข้าเมืองที่แข็งขันเป็นเครื่องเรียกเสียงสนับสนุนจากฐานเสียงชนชั้นกลางผิวขาวที่ชอบแนวทาง "ชาตินิยม" ของทรัมป์
    ทรัมป์ไปหาเสียงที่เมืองชาล็อตส์วิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนาด้วยวาทะดุดันว่า
     "พรรคเดโมแครตสนับสนุนอย่างเปิดเผยให้คนต่างด้าวผิดกฎหมายนับล้านๆ คนละเมิดกฎหมายการข้ามพรมแดนของสหรัฐฯ และเข้ามาทำลายเศรษฐกิจของประเทศล้มละลาย"
    แน่นอนว่าพรรคเดโมแครตก็ออกมาตอบโต้ทันควัน หันไปชูประเด็นเรื่องนโยบายดูแลสุขภาพคนในการระดมเสียงสนับสนุน
    โอบามาก็เดินสายหาเสียงให้พรรคเดโมแครตอย่างเข้มข้น ไม่ลังเลที่จะชี้นิ้วกล่าวหาว่าทรัมป์กำลังทำลายชาติด้วยแนวทางต่อต้านคนสีผิว ต่างด้าว และผู้หญิง
    หาเสียงด้วยนโยบายย่อมไม่สะใจเท่ากับการโจมตีส่วนตัวกันและกัน
    โพลหลายสำนักชี้ว่าพรรคเดโมแครตจะได้ที่นั่งเพิ่มในสภาผู้แทนราษฎร และหากพรรคนี้จะพลิกดุลอำนาจในสภาก็ต้องได้เก้าอี้เพิ่มในสภาผู้แทนฯ 23 ที่นั่ง เพื่อกลับมาเป็นเสียงข้างมาก
    นักวิเคราะห์บอกว่าพรรครีพับลิกันน่าจะสามารถรักษาเสียงข้างมาก 51 ต่อ 49 เสียงในขณะนี้ อยู่ต่อไปได้ หากประเมินตามแนวโน้มประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีมักเสียเก้าอี้ในสภาในการเลือกตั้งกลางเทอม 
    สถิติที่ผ่านมาบ่งบอกว่าพรรคที่คุมทำเนียบขาว (ในกรณีนี้คือพรรครีพับลิกันของทรัมป์) อาจจะเสียที่นั่งระหว่าง 25 ถึง 35 เสียง หรืออาจจะรุนแรงกว่านั้นถ้าความนิยมในตัวประธานาธิบดีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% 
    ล่าสุด โพลหลายแห่งบอกว่าคะแนนนิยมของทรัมป์อยู่ที่ 44% 
    ผลการหย่อนบัตรที่สหรัฐฯ พรุ่งนี้จึงเป็นตัวกำหนดว่า ทรัมป์จะเจอวิกฤติการเมืองหนักกว่าที่เผชิญอยู่ขณะนี้หรือไม่.

ประชาธิปัตย์ปรับทัพเตรียมรับศึกเลือกตั้ง รวมพลังเขย่า คสช.

ใกล้ได้หัวหน้าพรรคคนที่ 8 เมื่อเปิดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมหยั่งเสียงเบื้องต้น เพื่อโหวตเลือกผู้นำพรรคเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 72 ปีประชาธิปัตย์เคียงคู่ประชาชนบนวิถีประชาธิปไตย

ไม่ว่าใครจะขึ้นนำทัพลงสู้ศึกเลือกตั้ง จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์แตกหน่อ แยกกอหลังเลือกหัวหน้าพรรคเหมือนในหลายๆยุคหรือไม่ อย่างไร ติดตามคำเฉลยจาก นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า ภายในพรรคไม่น่าจะมีปัญหา เพราะผู้แข่งขันทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายอลงกรณ์ พลบุตร ขึ้นดีเบตเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทุกท่านตอบคำถามชัดเจน ถ้าพ่ายแพ้เลือกหัวหน้าพรรคก็ไม่ไปไหน จะอยู่ร่วมกันทำพรรคต่อ พรรคประชาธิปัตย์ผ่านประสบการณ์การแข่งหัวหน้าพรรคจนเป็นปกติประเพณี และสรุปบทเรียนแต่ละครั้งได้มากขึ้น คนของพรรคทุกส่วนคงเข้าใจดีถึงปัญหาที่ฝ่ายประชาธิปไตยเผชิญหน้าอยู่ เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะเอาเรื่องส่วนตัวมาทำให้พรรคเกิดความอ่อนแอ นับจากวันที่ได้หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งน่าจะเป็นไปด้วยดี การจัดทัพลงเลือกตั้งไม่น่ากังวล ไม่น่ามีปัญหา แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีล็อกอะไรไว้ก็ตาม ในฐานะพรรคการเมืองเก่า มีอดีต ส.ส.เป็นจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ และในช่วงการเลือกตั้งครั้งหลังสุดมีอดีตผู้สมัครซึ่งเกือบได้เป็น ส.ส.อยู่พอสมควร

 ท่ามกลางพรรคการเมืองถูกคนต่อว่า ดูตกต่ำในสายตาของชาวบ้าน จากการถูกกระหน่ำซ้ำเติมโดยอำนาจรัฐ แต่คิดว่าประชาชนส่วนหนึ่งยังมีความรู้สึกนิยมชมชอบประชาธิปไตย ก็สนใจอาสาจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ครั้งนี้การต่อสู้ระหว่างทีมของนายอภิสิทธิ์กับทีมของ นพ.วรงค์ดุเดือดมากเป็นลำดับ สถานการณ์อาจจะบานปลายหลังการเลือกหัวหน้าพรรค นายบัญญัติ บอกว่า เป็นการลบข้อครหาว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่นปาหี่ ข้อเท็จจริงก็ปรากฏให้เห็นว่า แข่งขันกันเต็มที่ตามประสาคนของพรรคที่มีเลือดนักสู้เต็มตัว คอการเมืองจับตาดูความเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคน 2 พรรค ทั้งในบทบาทผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และ

บทบาทสนับสนุน นพ.วรงค์ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายบัญญัติ บอกว่า อาจจะส่งกำลังใจเชียร์บ้างก็เป็นปกติธรรมดาเพราะอยู่ด้วยกันมานาน รักใคร่ชอบพอกันและกัน ขอย้ำความแตกแยกภายในพรรคหลังเลือกหัวหน้าพรรค ไม่กังวลมากนัก โดยเฉพาะผู้แข่งขันหัวหน้าแต่ละคนสัญญาไว้กับคนในพรรค และยังเป็นคำมั่นสัญญาไปถึงคนที่สนใจการเมือง แต่ขาเชียร์เป็นคนหนุ่มเลือดร้อน กังวลว่าอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้จากการต่อสู้ขับเคี่ยวกัน ถ้าจะเกิดขึ้นคงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งหมดเป็นบทเรียนที่ขาเชียร์และผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะสรุป ในที่สุดผมว่าไม่มีอะไรน่าวิตก เนื่องจากได้ยินคนที่พูดในพรรค เป็นการเตือนสติซึ่งกันและกันอยู่เสมอว่า ขนาดเราไม่ค่อยแตกกันยังสู้เขาไม่ค่อยได้ ยิ่งมาแตกกันเองจะสู้เขาได้อย่างไร ทีมข่าวการเมือง ถามว่ามีกระแสข่าว คสช.วางยุทธศาสตร์ต้องการทุบพรรคประชาธิปัตย์ให้แตกหรือได้จำนวน ส.ส.เป็นอันดับที่ 3 เพื่อให้สะดวกต่อการจัดตั้งรัฐบาลต่อท่ออำนาจ หลังเลือกตั้ง ข้อเท็จจริงความเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามกระแสข่าวนี้อย่างไร นายบัญญัติ บอกว่า...

 “...ข่าวนี้จะจริงหรือไม่ ผมไม่ยืนยัน” แต่การวิเคราะห์ทางการเมืองจะดูตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดบ่งบอกให้เห็นว่าคนส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการมีอำนาจรัฐ ไม่ประสงค์เห็นพรรคการเมืองเติบโต ใหญ่โตมากนัก แตกต่างกับความเห็นของพวกเราอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ผมพูดอยู่เสมอว่า ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งต้องมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งแล้วเกิดใช้อำนาจเบี่ยงเบนไปเพื่อประโยชน์ของตน ของพรรคพวก หรือไปสร้างปัญหา รัฐธรรมนูญหรือกลไกของรัฐต้องสร้างการถ่วงดุล ไม่ใช่ทำให้
พรรคการเมืองใหญ่กลายเป็นพรรคการเมืองเล็ก ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง แบบนี้ไม่ใช่นิมิตหมายที่ดีของประชาธิปไตย ส่วนจะมีการลงไม้ลงมืออย่างที่ถามหรือไม่ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ต่อมาก็มีการพูดถึงท่าที 2 พรรคการเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะจับมือกันหรือไม่ ถ้ามี ส.ส.รวมแล้วได้มากเกินครึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองที่ทำการเมืองโดยอาศัยเสียง 250 ส.ว. เป็นฐานรองรับอำนาจก็ลำบาก ทั้งการผลักดันนายกฯคนนอก จะต้องมีเสียงในรัฐสภาเกินกว่า 2 ใน 3 ถึงจัดตั้งรัฐบาลได้ นายกฯคนนอกก็บริหารประเทศลำบาก จากจุดอ่อนตรงนี้มีคนพูดเยอะเหมือนกันว่าเริ่มมียุทธศาสตร์สำคัญทำให้สองพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะจับมือกันหรือไม่ อย่าให้ได้ ส.ส.ถึง 250 เสียง หลายคนยังอธิบายลงลึกไปอีกว่าสังเกตการดูดอดีต ส.ส.บ้างหรือไม่ว่า มีความพยายามดูดจากพรรคใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกดูดไปมาก คงเป็นไปตามยุทธศาสตร์ไม่ให้ 2 พรรคใหญ่ได้ถึง 250 เสียง บางทีความเจ็บปวดขมขื่นจากเรื่องเหล่านี้ ยิ่งเป็นปฏิกิริยาให้คนในพรรคเข้มแข็งที่จะต่อสู้ในทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จะทำอย่างไรก็สุดแท้ แต่วันนี้เราประมาทความคิดอ่านของประชาชนไม่ได้ ถึงเวลาอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ผมเข้าใจว่าบัดนี้ผู้มีอำนาจรัฐคงคิดอยู่เหมือนกัน จากเนื้อเพลงประเทศกูมี หลังจากแสดงอาการเหมือนจะเข้าไปจัดการ ก็เกิดปฏิกิริยาจากประชาชนเข้ามาดูยอดทะลุกว่า 20 ล้านวิวไปแล้ว ฉะนั้น ความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องทำให้ประชาชนเข้าใจสาระทั้งในด้านนโยบายของพรรค ซึ่งจะเป็นคำตอบแก้โจทย์ปัญหาของประเทศได้ ไม่ใช่ปิดหูปิดตา ให้เวลารณรงค์หาเสียงเพียงไม่กี่วัน สุดท้ายจะกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไร้คุณภาพ ประชาชนตัดสินใจด้วยความไม่แน่ใจว่าจะสนับสนุนพรรคไหนหรือเลือกผู้สมัครคนไหน ทำให้รัฐบาลถูกมองในแง่ร้ายว่าไม่อยากให้หาเสียงยาว คงกลัวว่าถ้านักการเมืองขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงจะพูดถึงความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งมันไม่เป็นผลดี ความจริงรัฐบาลมีกลไกชี้แจงทำความเข้าใจผลงาน วันนี้ก็ทำเต็มที่แล้ว เมื่อมั่นใจทำอะไรที่เป็นประโยชน์มาเยอะ จะกลัวถูกใส่ความทางการเมืองทำไม ใครพูดเกินเหตุก็เข้าข่ายหมิ่นประมาท ในทางตรงกันข้ามการปิดกั้นเวลาหาเสียง ก็อดไม่ได้จะทำให้คนมองในทางร้ายว่า กลัวพูดถึงความล้มเหลว อะไรต่างๆซึ่งไม่เป็นมงคล ปกติหลังยึดอำนาจและตั้งรัฐบาล คณะรัฐประหารจะต้องสลายตัวไป แต่ครั้งนี้ คสช.ยังอยู่และมีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือ นายบัญญัติ บอกว่า วันนี้คุณมีเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่าอำนาจรัฐในทุกยุคทุกสมัย ในขณะที่ผู้มีอำนาจในทุกยุคทุกสมัยเปิดโอกาสให้หาเสียงตามสมควร ตกลงว่าคุณกลัวอะไร หลังมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จะเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้อง คสช.เป็นขั้นเป็นตอนอย่างไรต่อไป นายบัญญัติ บอกว่า เราเรียกร้องจนไม่อยากเรียกร้องแล้ว ยิ่งปิดกั้นกันไปนานๆเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อตัวเขา ยิ่งปิดกั้นมากเท่าไหร่ ความอึดอัดยิ่งแผ่กว้างครอบคลุมไปทั่ว ยิ่งปิดกั้นมากก็ยิ่งรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ การปรองดองในอนาคตจะยุ่งยากมากขึ้น คิดบ้างหรือไม่ว่า เพลงประเทศกูมี เนื้อหาบางตอนอาจจะดูรุนแรง แต่แง่มุมหนึ่งทั้งหมดเกิดจากการปิดกั้น ไม่ให้คนแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ เลยสะท้อนเป็นบทเพลงบ้าง ศิลปะบ้าง ความจริงถ้าต้องการให้ประชาธิปไตยพัฒนาไปข้างหน้า ต้องเล่นอย่างตรงไปตรงมา กติกาต้องสร้างความเป็นธรรม ทุกอย่างกำลังนำไปสู่การตั้งรัฐบาลต่อท่ออำนาจ ถ้าเกิดขึ้นแบบนั้นจริง จะเกิดอะไรขึ้นต่อสังคมไทย นายบัญญัติ บอกว่า ไม่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย อาจก่อให้เกิดแรงต้านมากขึ้น ตามหลักถ้ามีการปิดทับปัญหาต่างๆเอาไว้ ย่อมมีแรงกดดันมาก ก็ต้องมีการต่อต้านมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้สังคมไทยไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นอีก. ทีมการเมือง

สถานีคิดเลขที่12 : ผมเป็นเผด็จการ? : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12 : ผมเป็นเผด็จการ? : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร



“(ผมเป็น)เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ”
วาทะตอบโต้ กระแสแร็พ “ประเทศกูมี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าพิจารณา
อย่างที่ทราบกันดี
หลังการปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557
คณะรัฐประหาร ชูธง “ต้องไม่เสียของ” เป็นเป้าหมาย
อันนำไปสู่การวางแผน เพื่อการดังกล่าวรวมถึงการสืบอำนาจมากมายอย่างที่เราไม่เคยเห็นจากคณะปฏิวัติชุดไหนมาก่อน
จะว่า เป็นการสรุปบทเรียนของ ฝ่าย “อำนาจนิยม” ก็ได้เราเห็นนวัตกรรมใหม่ ที่ดึงเอาผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่มิได้ร่วมการยึดอำนาจ เข้ามาเป็น สมาชิกคณะรัฐประหาร “โดยตำแหน่ง” มาแล้วถึง 2 ยุค
เพื่อค้ำอำนาจให้ตนเอง ไปกระทั่งนาทีสุดท้ายที่มีรัฐบาลใหม่ (ซึ่งก็ถูกออกแบบไว้แล้วเช่นกันว่าจะต้องสืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร)
เมื่อ “พิมพ์เขียว” ถูกกำหนดดังกล่าว เหล่าเนติบริกร ก็พากันขยายแบบโครงสร้างการสืบทอดอำนาจอย่างเจนจัด
ทำให้เรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ว่ากันว่าซุ่มซ่อน ยอกย้อน ที่จะทำให้ คณะรัฐประหาร ลอกคราบไปสู่อำนาจใหม่ในกรอบประชาธิปไตยอย่างราบรื่น
และ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผูกมัดให้ต้องเดินตามทางที่กำหนด ยาวนานถึง 20 ปี
ประกัน “การไม่เสียของ” อย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตาม การจะให้ถึงเป้าหมายนั้น ไม่อาจปฏิเสธ “การเลือกตั้ง” ที่จะตีตราความชอบธรรมให้ได้
จึงมีการวางยุทธวิธี ให้ ฝ่ายบริหาร มีอาวุธที่จะเอาชนะในการเลือกตั้งมากมายคู่ขนานไป
แนวทางหลักหนึ่ง คือ “ประชารัฐ”
ที่เป็นยุทธวิธีเบิกทางให้ ฝ่ายบริหารระดมสรรพกำลังทั้ง งบประมาณ ข้าราชการ ต่อเชื่อมไปถึงกลุ่มทุน นักธุรกิจ ผลักดันนโยบายต่างๆ ลงไปสู่ประชาชน
4 ปีของรัฐบาล มีเงินจำนวนมหาศาลผ่านโครงการประชารัฐนี้
จนทำให้ ฝ่ายบริหารมั่นใจว่า นี่คือ ใบการันตี ที่น่าจะเรียกเสียงสนับสนุน จากประชาชน
แล้วคำว่าประชารัฐ ก็แปลงร่างไปสู่ พรรคการเมือง

ด้วยความหวังอันสูงสุดว่านี่คือ แกนหลักที่จะรวบรวมเสียง เพื่อ “ตั้งรัฐบาล” ที่มาจากการ
เลือกตั้ง อย่างมีความชอบธรรม
ขณะที่ผู้นำ ก็พยายาม ลดภาพ “นายทหาร”
กลายเป็น “ลุงใจดี” “ลุงผู้ใกล้ชิดชาวบ้าน” เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนในอีกฟากหนึ่ง
นี่คือ การผสานกำลังเพื่อสืบเนื่องอำนาจต่อไป
ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย เชื่อว่าด้วยความพร้อมต่างๆ น่าจะเป็นไปตามพิมพ์เขียวดังกล่าว
ส่วนคนที่ขัดขืน หรือเห็นต่างๆ ก็อาจจะเจอ อำนาจเหล็ก ผ่านคำสั่งคณะรัฐประหาร มาตรา 44 รวมถึง กฎหมายบางตัว ที่กลายเป็น ยาสามัญประจำบ้านที่เอาไว้ใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
พิจารณาตามเหตุผลนี้ เส้นทางแห่งอำนาจ ของคณะรัฐประหาร น่าจะไร้ปัญหา
แต่เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ นั่นคือคำถาม
ถ้าตอบแบบไม่เอาใจกัน 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ราบรื่นเท่าใดนัก
ยังมีการท้าทาย ยังมีคำถามว่า บนเส้นทางที่ “บังคับให้คนไทยเดิน” นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าจริงหรือ
การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่คาดหวังภายใต้วาทกรรม “ปฏิรูป” เกิดขึ้นจริงหรือไม่
เราจะฝากผีฝากไข้กับ “ทางพิเศษ” ที่บังคับให้คนไทยเดินได้หรือไม่
และแน่นอน ปรากฏการณ์ “ประเทศกูมี” ก็เป็นหนึ่งในหลายปรากฏการณ์ ที่ท้าทายและตั้งคำถามต่อสิ่งที่คณะรัฐประหารทำมา 4 ปี
โดยไม่ว่าจะประแป้ง หรือฉาบปูนอย่างไร
ที่สุด คำว่า “เผด็จการ” ก็มาตั้งตรงหน้าชาวบ้าน ตามเสียงตะโกนของฝ่ายแร็พ ประเทศกูมี อยู่นั่นเอง
โดยมีคำถามคับข้องใจ “(ผมเป็น)เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ”
นั่นสิ ทำไม??
สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12 : แนวรบเลือกตั้ง!

สถานีคิดเลขที่12 : แนวรบเลือกตั้ง!



เมื่อฝุ่นจาง มีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรมเสรี เข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม
บรรยากาศการเมือง จะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ที่รวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลอย่างแน่นอน
พรรคการเมือง นักการเมือง คงปรับขบวน พูดถึงสาระการต่อสู้ชิงมวลชนในเชิงเนื้อหามากขึ้น
นั่นก็คือ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นำเสนอนโยบายแก้ปัญหาประเทศ ยกระดับการพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ
โน้มน้าวประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หันมาเทคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายที่นำเสนอไปสู่ภาคการปฏิบัติ
ปัญหาเร่งด่วนประเทศไทยที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในปัจจุบัน มีเรื่องหลักอย่างน้อย 2 เรื่อง คือการเมือง และเศรษฐกิจที่ผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง
ปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกแบ่งฝักฝ่ายอย่างรุนแรง ที่ถูกกดทับ ปิดคลุมด้วยผ้าลายพรางเอาไว้ชั่วคราว เรื่องเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน เนื่องจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เม็ดเงินจากการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคกระจายลงไปไม่ถึงฐานราก นี่คือหัวข้อย่อยของภาพใหญ่ เศรษฐกิจและการเมือง
พรรคเพื่อไทย โดย จาตุรนต์ ฉายแสง แย้มว่า การเลือกตั้งครั้งที่จะถึง พรรคเน้นนำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นจุดขายกว่าครึ่ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ใกล้ตัว ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน
นักการเมือง นักวิชาการฟันธง หากตัดเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องกติกา กำลังภายนอก กำลังภายในและอะไรต่อมิอะไรออก
การเลือกตั้งครั้งนี้ สู้วัดกันอยู่ไม่กี่เรื่อง
มีเรื่องเศรษฐกิจเป็นหัวข้อหลัก ซึ่งที่จริงปมงอกเพิ่มภายหลัง อย่างที่มองกัน ว่าเป็นการต่อสู้ ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมนั้น
ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกัน ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน
ไม่ว่าจะนำเรื่องใดขึ้นมาก่อนหลังก็ตาม
แต่เหตุที่พรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทย เน้นนำเสนอนโยบาย (แก้)
เศรษฐกิจนั้น
น่าจะเป็นเพราะ มั่นใจว่าเป็นจุดขาย จุดแข็ง ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ชนะเลือกตั้งมาแล้ว
อีกทั้งยังเท่ากับเป็นเปรียบเทียบ
ให้เห็นถึงความแตกต่างของการบริหาร ระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลทหาร โดยนำเสนอผ่านเรื่องราว สาระนโยบายเศรษฐกิจ

ในที่สุดแล้ว การนำเสนอโดยมุ่งเน้นนโยบายเศรษฐกิจ ก็ตีกระหน่ำไปถึงระบบการเมืองการปกครอง ซึ่งก็คือฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมนั่นเอง
แต่เรื่องพื้นๆ ตื้นๆ อย่างนี้ มีหรือ คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองไม่ออก
มีหรือพรรคพลังประชารัฐอ่านไม่เป็น
รัฐบาลบิ๊กตู่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเช่นเดียวกัน นอกจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มาตรการต่างๆ ที่ออกมา ช่วยเหลือคนจนเป็นระลอกแล้ว ยังมุ่งลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เมืองใหม่อีอีซี ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคตระยะยาว เนื่องจากสภาพปัจจุบัน รองรับการแข่งขันของโลกยุคใหม่ไม่ได้
รัฐบาล คสช. ก็ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ
การส่งรัฐมนตรีเข้ามารับบทบาทหน้าที่สำคัญในพรรคพลังประชารัฐ ก็เท่ากับให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ
แต่มองต่างออกไป
เห็นว่า การจะทำอย่างนี้ได้ บ้านเมืองต้องสงบ ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น บรรยากาศเอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมือง
มองความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย ด้วยสายตาที่ต่างจากออกไปจากสากล
การวางตัว พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ควบคู่กับการทำงาน วางตัวรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงพรรคพลังประชารัฐ
จึงเท่ากับ ยืนยันว่าที่ทำมาถูกต้องแล้ว
นโยบายเศรษฐกิจก็เดินถูกทาง
รัฐบาลไม่สนใจ พรรคเพื่อไทย ที่ชี้ว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นจุดอ่อน แต่มองเสมอเป็นเพียงเรื่อง ดิสเครดิต เกมการเมืองเท่านั้น
พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ พลังประชารัฐก็ให้ความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อน
ใครมองผิด ใครมองถูก เถียงต่อปากต่อคำมาหลายปี
ประชาชนมีคำตอบให้ ในวันเลือกตั้ง

น.3คอลัมน์ : ปัจจัย แหลมคม ปักธง ทิศทาง การเมือง กุมภาพันธ์ 2562

น.3คอลัมน์ : ปัจจัย แหลมคม ปักธง ทิศทาง การเมือง กุมภาพันธ์ 2562



มีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 2 ปัจจัยที่จะบ่งชี้แนวโน้ม ทิศทาง ความเป็นไปของการเมืองหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ว่าจะดำเนินไปอย่างไร

1 ผลการเลือกตั้ง

1 ผลการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ต้องยอมรับว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ส. กับการเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน

คำถามอยู่ที่ว่า พรรคการเมืองใดจะได้รับเลือกเข้ามาอันดับ 1

เป็นพรรคพลังประชารัฐอย่างนั้นหรือ เป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทยอย่างนั้นหรือ เป็นพรรคประชาชนปฏิรูปอย่างนั้นหรือ

ยากจนถึงขั้น “ยากส์” อย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นผลโพลสำนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อโดยพื้นฐานแม้กระทั่งจากพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทย

พรรคเพื่อไทยมีความเป็นไปได้สูงสุด

ถึงแม้ว่าจะมีการส่งบุคคลระดับ 4 รัฐมนตรีเข้าไปกุมการนำอย่างเบ็ดเสร็จภายในพรรคพลังประชารัฐ ถึงแม้ภายในกระบวนการสร้างพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะมีบุคคลซึ่งเคยสร้างเกียรติประวัติในการระดม “มวลมหาประชาชน” เรือนล้านมาแล้ว

แต่คนของพรรคเหล่านี้กลับไม่เคยแสดงความมั่นใจว่าจะชนะ

ความหมายอย่างชนิดตรงตัวก็คือ ไม่เคยแสดงความมั่นใจว่าจะชนะพรรคเพื่อไทย อย่างมากที่แสดงออกมาก็คือ จะพยายามทำให้ได้ 126

เพื่อที่จะนำ 126 ไปบวกกับ 250 ส.ว.แล้วจะได้ 376 เสียง

นั่นก็คือ เป็น 376 เสียงที่จะกำหนดตัว “นายกรัฐมนตรี” ให้เป็น “คนหน้าเดิม” อย่างที่ปรากฏผ่านลางสังหรณ์ของรองนายกรัฐมนตรีบางท่าน


แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า “ประธานสภา” เป็นใคร

เพราะว่าตำแหน่งประธานสภา และรองประธานสภา จะมาจากการตกลงกันระหว่างพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

นี่เป็นเรื่องของ “สภาผู้แทน” ไม่เกี่ยวกับ “วุฒิสภา”

หากว่าบรรดาพรรคตระกูล “พลัง” ทั้งหลายต้องการความมั่นใจอย่างชนิดร้อยละร้อยว่าจะเป็นผู้มีส่วนในการชี้ขาดว่าใครจะเป็น “นายกรัฐมนตรี”

จึงต้องเริ่มจากเอาชนะการเลือกตั้งให้ได้

เอาชนะในที่นี้มิได้มักน้อยขอให้ได้เพียง 126 ส.ส. ตรงกันข้าม จะต้องเอาชนะพรรคเพื่อไทยและทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถได้รับเลือกเป็นอันดับ 1

หากทำไม่ได้นั่นหมายถึงความล้มเหลว

เมื่อเกิดความล้มเหลวในการ เลือกตั้งระบบเขต ระบบบัญชีรายชื่อ ก็จะส่งผลสะเทือนไปถึงผลการกำหนดตัว “ประธานสภา”

ที่สำคัญก็คือ ส่งผลสะเทือนไปยัง 250 ส.ว.

จะยอมรับการตัดสินใจของ “ประชาชน” หรือจะยอมรับใบสั่งจาก “คสช.”

บนพื้นฐานที่ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ในสนามเลือกตั้ง

ตรงนี้คือ “โดมิโน่” สำคัญในทางการเมือง

อำนาจการต่อรองของพรรคเพื่อไทยก็จะสูงเด่น ความรวนเรจะเกิดในพรรคชาติไทยพัฒนา หรือแม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยโดยอัตโนมัติ

เหมือนเมื่อปี 2550 เหมือนเมื่อปี 2554

09.00 INDEX เสียงเตือน วีรบุรุษ ประชาธิปไตย ต่อปฏิบัติการ “เดินคารวะแผ่นดิน”

09.00 INDEX เสียงเตือน วีรบุรุษ ประชาธิปไตย ต่อปฏิบัติการ “เดินคารวะแผ่นดิน”



ปฏิบัติการ “เดินคารวะแผ่นดิน” ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ดำเนินไปภายใต้กระบวนการ “ผลิตซ้ำ” ในทางการเมือง และจะมีผลสะเทือนอย่างแน่นอน
แต่จะเป็นในด้าน “บวก” หรือจะเป็นในด้าน “ลบ” จำเป็นต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อย
และผลสะเทือนจะไม่เฉพาะแต่กับพรรครวมพลังประชาชาติ ไทย เท่านั้น ตรงกันข้าม จะเป็นการสรุปและประมวลผลต่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยองค์รวม
เนื่องจากปฏิบัติการ”เดินคารวะแผ่นดิน”เป็นการรื้อฟื้นให้รำลึกถึงบทบาทของ “มวลมหาประชาชน”ในห้วงแห่งการชัตดาวน์ในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ลักษณะ “ผลิตซ้ำ” อีกคำรบ 1 จึงทรงความหมาย
เจตนาการของพรรครวมพลังประชาชาติไทยในปฏิบัติการ”เดินคารวะแผ่นดิน”ครั้งนี้คืออะไร
1 คือการฟื้นความทรงจำ “มวลมหาประชาชน”
เมื่อย่างก้าวไปยังปากคลองตลาด ย่านวรจักร เยาวราช ประ ตูน้ำ ราชประสงค์ ราชดำริ สีลม สาทร เจริญกรุง
เสียง”นกหวีด”ก็จะหวนกลับมาโดยอัตโนมัติ

ขณะเดียวกัน ความเป็นจริงอันเกิดขึ้นและตามมาในห้วงนับแต่เดือนตุลาคม 2556 กระทั่งมาถึงเดือนตุลาคม 2561 เป็นเวลา 5 ปี ก็จะปรากฏบนจอแห่ง”ความทรงจำ”
เป็นภาพแห่งความสุข สมหวังหรือว่าเป็นภาพแห่งความผิดหวัง
1 การผลิตซ้ำนี้ตอกย้ำในเรื่องผลพวงแห่ง”รัฐประหาร”
ทั้งๆที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 “มวลมหาประชาชน”สกัดขัดขวาง “การเลือกตั้ง” แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พวกเขาต้อง การ “การเลือกตั้ง”
และเป็นการเลือกตั้งภายใต้มาตรา 44 ของคณะรัฐประหาร
ที่ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งเคยอยู่ในสถานะ”วีรบุรุษประชาธิปไตย” หลังสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ออกมาเตือนให้พรรครวมพลังประชาชาติไทยยุติ”เดินคารวะแผ่นดิน”
ถือเป็นคำเตือนอันเปี่ยมด้วยความปรารถนาดีจากเพื่อนมิตร ที่ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย
ปมเงื่อนอยู่ตรงที่แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะเชื่อหรือไม่

นิวส์รูมวิเคราะห์ : พลิกเกม “เพื่อไทย” ยุบพรรค-“คว่ำบาตร”เลือกตั้ง

นิวส์รูมวิเคราะห์ : พลิกเกม “เพื่อไทย” ยุบพรรค-“คว่ำบาตร”เลือกตั้ง



หากจับนัยยะคำพูดของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า คนที่จะลงรับสมัครส.ส. จะต้องมีสภาพสมาชิกพรรค 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าวันเลือกตั้งคือ 24 กุมภาพันธ์ 62 จะต้องเป็นสมาชิกภายในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้เท่านั้น เพราะไม่เช่นนี้จะลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้
คำพูด “วิษณุ” เท่ากับเป็นแรงกดดันอดีตส.ส.ต้องรีบตัดสินใจก่อนเส้นตาย ภาวะโยกย้ายสังกัดย่อมเกิดแรงกระเพือมอีกระลอก
สำหรับพรรคพลังประชารัฐเชื่อว่าพร้อมอ้าแขนรับอดีตส.ส.เกรดเอ พร้อมเงื่อนไขพิเศษเพื่อเป็นแรงดึงดูด พร้อมส่งแรงกดดันบีบคู่แข่ง ซึ่งหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทยที่ถูกแรงกดดันจากปมยุบพรรค
เพราะถ้าเกมยุบพรรคเกิดหลังวันที่ 26 พ.ย.นี้ เท่ากับอดีตส.ส.ที่สมัครเข้าสังกัดสมาชิกเพื่อไทยต้องถูกตัดสิทธิสมัครส.ส.ยกแผง
ประเด็นนี้แกนนำพรรคเพื่อไทยมีการวิเคราะห์ถึงเกมของผู้กุมอำนาจที่อาจใช้เป็นแรงบีบให้อดีตส.ส.ย้ายซบพรรคพลังประชารัฐ แต่เมื่อดูขั้นตอนในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
ถ้าเปิดดูคดียุบพรรคเก่าๆ โดยยกเอาเคส “พรรคไทยรักไทย”ที่ถูกข้อหาจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินการตามกฎหมายส่งสำนวนคดียุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญในเดือนมิ.ย.49 คดีนี้ใช้เวลาไต่สวนเกือบ 1 ปีนำมาสู่การตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พ.ค.50
เช่นเดียวกับ “พรรคพลังประชาชน” ภายหลังกกต.มีมติด้วยเสียงข้างมาก 3 ใน 5 เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 51ให้ใบแดงและส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่จ.เชียงราย โดยมีนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนัน ต.จันจว้า อ.แม่จัน เป็นพยานคนสำคัญกล่าวหาว่านายยงยุทธเรียกกำนัน 10 คน ในอ.แม่จัน จ.เชียงราย เดินทางไปพบที่กรุงเทพฯ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.50 และเข้าพักที่โรงแรมเอสซีปาร์ค นายยงยุทธขอให้กำนันช่วยเหลือตนและน้องสาว และคนสนิทของนายยงยุทธได้มอบเงินให้กำนันคนละ 20,000 บาท นายยงยุทธได้ออกมาตอบโต้ตลอดเวลาว่าเป็นการจัดฉากถูกสร้างพยานหลักฐานเท็จ

จากนั้นวันที่ 8 ก.ค.51 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิพากษายืนตามมติของกกต. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธเป็นเวลา 5 ปี ขณะเดียวกัน กกต.ดำเนินการสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเสนอยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 51 ขอให้ยุบพรรคพลังประชาชน
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 51 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งใช้เวลาการพิจารณานานกว่า 10 เดือน ดังนั้นเมื่อนำชนักปักหลังเพื่อจัดการยุบพรรคเพื่อไทย ทั้งปมฝ่าฝืนคำสั่งคสช. และ”ทักษิณ ชินวัตร”ครอบงำพรรคแล้ว กระบวนการทางกฎหมายเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของกกต.และศาลรัฐธรรมนูญ อย่างเร็วที่สุดน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนจึงถึงที่สุด
การยุบพรรคเพื่อไทยย่อมเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง 24ก.พ.62 อย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อถึงสถานการณ์ในช่วงนั้น ค่อยมาว่ากันในแง่กฎหมายประเด็นการย้ายพรรคของส.ส.เพื่อไทยว่า จะไปสังกัดพรรคสำรองหรือพรรคไหน
แต่ถ้าเกิดปาฏิหาริย์ทางกฎหมายถึงขั้นว่า “เพื่อไทย” ถูกยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 หมายถึงต้องโดนตัดสิทธิสมัครส.ส.ยกพรรค
การต่อสู้หนทางเดียว คือ การคว่ำบาตรเลือกตั้ง เพราะในทางการเมืองผู้มีอำนาจย่อมหนีไม่พ้นข้อครหากลั่นแกล้งทางการเมือง
หากการเมืองเดินไปสู่จุดนั้น ถือเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจต้องตอบคำถามประชาชนเองว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าผลกระทบที่ตามมาอาจสาหัสสากรรจ์เกินขีดความสามารถคสช.จะกุมสภาพอยู่ได้
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยภายใต้ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คือ การเดินหน้าหาเสียงในนามพรรคเพื่อไทย เพราะอดีตส.ส.ยังมั่นคง ไม่จำเป็นต้องอาศัยพรรคสำรอง เพราะวันนี้เพื่อไทยเชื่อมั่นว่าประชาชนมีคำตอบว่าจะเลือกข้างไหนระหว่าง ประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ
แต่หากผู้กุมอำนาจใช้ “กลอุบาย” ยุบพรรคก่อนเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 คำตอบของเพื่อไทย คือ การคว่ำบาตรเลือกตั้ง
โยนให้เป็นหน้าที่ประชาชนจะเป็นคนให้คำตอบเองว่าประเทศนี้จะเดินไปทางไหน