PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ประชาธิปัตย์ปรับทัพเตรียมรับศึกเลือกตั้ง รวมพลังเขย่า คสช.

ใกล้ได้หัวหน้าพรรคคนที่ 8 เมื่อเปิดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมหยั่งเสียงเบื้องต้น เพื่อโหวตเลือกผู้นำพรรคเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 72 ปีประชาธิปัตย์เคียงคู่ประชาชนบนวิถีประชาธิปไตย

ไม่ว่าใครจะขึ้นนำทัพลงสู้ศึกเลือกตั้ง จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์แตกหน่อ แยกกอหลังเลือกหัวหน้าพรรคเหมือนในหลายๆยุคหรือไม่ อย่างไร ติดตามคำเฉลยจาก นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า ภายในพรรคไม่น่าจะมีปัญหา เพราะผู้แข่งขันทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายอลงกรณ์ พลบุตร ขึ้นดีเบตเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทุกท่านตอบคำถามชัดเจน ถ้าพ่ายแพ้เลือกหัวหน้าพรรคก็ไม่ไปไหน จะอยู่ร่วมกันทำพรรคต่อ พรรคประชาธิปัตย์ผ่านประสบการณ์การแข่งหัวหน้าพรรคจนเป็นปกติประเพณี และสรุปบทเรียนแต่ละครั้งได้มากขึ้น คนของพรรคทุกส่วนคงเข้าใจดีถึงปัญหาที่ฝ่ายประชาธิปไตยเผชิญหน้าอยู่ เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะเอาเรื่องส่วนตัวมาทำให้พรรคเกิดความอ่อนแอ นับจากวันที่ได้หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งน่าจะเป็นไปด้วยดี การจัดทัพลงเลือกตั้งไม่น่ากังวล ไม่น่ามีปัญหา แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีล็อกอะไรไว้ก็ตาม ในฐานะพรรคการเมืองเก่า มีอดีต ส.ส.เป็นจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ และในช่วงการเลือกตั้งครั้งหลังสุดมีอดีตผู้สมัครซึ่งเกือบได้เป็น ส.ส.อยู่พอสมควร

 ท่ามกลางพรรคการเมืองถูกคนต่อว่า ดูตกต่ำในสายตาของชาวบ้าน จากการถูกกระหน่ำซ้ำเติมโดยอำนาจรัฐ แต่คิดว่าประชาชนส่วนหนึ่งยังมีความรู้สึกนิยมชมชอบประชาธิปไตย ก็สนใจอาสาจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ครั้งนี้การต่อสู้ระหว่างทีมของนายอภิสิทธิ์กับทีมของ นพ.วรงค์ดุเดือดมากเป็นลำดับ สถานการณ์อาจจะบานปลายหลังการเลือกหัวหน้าพรรค นายบัญญัติ บอกว่า เป็นการลบข้อครหาว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่นปาหี่ ข้อเท็จจริงก็ปรากฏให้เห็นว่า แข่งขันกันเต็มที่ตามประสาคนของพรรคที่มีเลือดนักสู้เต็มตัว คอการเมืองจับตาดูความเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคน 2 พรรค ทั้งในบทบาทผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และ

บทบาทสนับสนุน นพ.วรงค์ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายบัญญัติ บอกว่า อาจจะส่งกำลังใจเชียร์บ้างก็เป็นปกติธรรมดาเพราะอยู่ด้วยกันมานาน รักใคร่ชอบพอกันและกัน ขอย้ำความแตกแยกภายในพรรคหลังเลือกหัวหน้าพรรค ไม่กังวลมากนัก โดยเฉพาะผู้แข่งขันหัวหน้าแต่ละคนสัญญาไว้กับคนในพรรค และยังเป็นคำมั่นสัญญาไปถึงคนที่สนใจการเมือง แต่ขาเชียร์เป็นคนหนุ่มเลือดร้อน กังวลว่าอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้จากการต่อสู้ขับเคี่ยวกัน ถ้าจะเกิดขึ้นคงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งหมดเป็นบทเรียนที่ขาเชียร์และผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะสรุป ในที่สุดผมว่าไม่มีอะไรน่าวิตก เนื่องจากได้ยินคนที่พูดในพรรค เป็นการเตือนสติซึ่งกันและกันอยู่เสมอว่า ขนาดเราไม่ค่อยแตกกันยังสู้เขาไม่ค่อยได้ ยิ่งมาแตกกันเองจะสู้เขาได้อย่างไร ทีมข่าวการเมือง ถามว่ามีกระแสข่าว คสช.วางยุทธศาสตร์ต้องการทุบพรรคประชาธิปัตย์ให้แตกหรือได้จำนวน ส.ส.เป็นอันดับที่ 3 เพื่อให้สะดวกต่อการจัดตั้งรัฐบาลต่อท่ออำนาจ หลังเลือกตั้ง ข้อเท็จจริงความเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามกระแสข่าวนี้อย่างไร นายบัญญัติ บอกว่า...

 “...ข่าวนี้จะจริงหรือไม่ ผมไม่ยืนยัน” แต่การวิเคราะห์ทางการเมืองจะดูตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดบ่งบอกให้เห็นว่าคนส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการมีอำนาจรัฐ ไม่ประสงค์เห็นพรรคการเมืองเติบโต ใหญ่โตมากนัก แตกต่างกับความเห็นของพวกเราอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ผมพูดอยู่เสมอว่า ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งต้องมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งแล้วเกิดใช้อำนาจเบี่ยงเบนไปเพื่อประโยชน์ของตน ของพรรคพวก หรือไปสร้างปัญหา รัฐธรรมนูญหรือกลไกของรัฐต้องสร้างการถ่วงดุล ไม่ใช่ทำให้
พรรคการเมืองใหญ่กลายเป็นพรรคการเมืองเล็ก ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง แบบนี้ไม่ใช่นิมิตหมายที่ดีของประชาธิปไตย ส่วนจะมีการลงไม้ลงมืออย่างที่ถามหรือไม่ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ต่อมาก็มีการพูดถึงท่าที 2 พรรคการเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะจับมือกันหรือไม่ ถ้ามี ส.ส.รวมแล้วได้มากเกินครึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองที่ทำการเมืองโดยอาศัยเสียง 250 ส.ว. เป็นฐานรองรับอำนาจก็ลำบาก ทั้งการผลักดันนายกฯคนนอก จะต้องมีเสียงในรัฐสภาเกินกว่า 2 ใน 3 ถึงจัดตั้งรัฐบาลได้ นายกฯคนนอกก็บริหารประเทศลำบาก จากจุดอ่อนตรงนี้มีคนพูดเยอะเหมือนกันว่าเริ่มมียุทธศาสตร์สำคัญทำให้สองพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะจับมือกันหรือไม่ อย่าให้ได้ ส.ส.ถึง 250 เสียง หลายคนยังอธิบายลงลึกไปอีกว่าสังเกตการดูดอดีต ส.ส.บ้างหรือไม่ว่า มีความพยายามดูดจากพรรคใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกดูดไปมาก คงเป็นไปตามยุทธศาสตร์ไม่ให้ 2 พรรคใหญ่ได้ถึง 250 เสียง บางทีความเจ็บปวดขมขื่นจากเรื่องเหล่านี้ ยิ่งเป็นปฏิกิริยาให้คนในพรรคเข้มแข็งที่จะต่อสู้ในทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จะทำอย่างไรก็สุดแท้ แต่วันนี้เราประมาทความคิดอ่านของประชาชนไม่ได้ ถึงเวลาอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ผมเข้าใจว่าบัดนี้ผู้มีอำนาจรัฐคงคิดอยู่เหมือนกัน จากเนื้อเพลงประเทศกูมี หลังจากแสดงอาการเหมือนจะเข้าไปจัดการ ก็เกิดปฏิกิริยาจากประชาชนเข้ามาดูยอดทะลุกว่า 20 ล้านวิวไปแล้ว ฉะนั้น ความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องทำให้ประชาชนเข้าใจสาระทั้งในด้านนโยบายของพรรค ซึ่งจะเป็นคำตอบแก้โจทย์ปัญหาของประเทศได้ ไม่ใช่ปิดหูปิดตา ให้เวลารณรงค์หาเสียงเพียงไม่กี่วัน สุดท้ายจะกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไร้คุณภาพ ประชาชนตัดสินใจด้วยความไม่แน่ใจว่าจะสนับสนุนพรรคไหนหรือเลือกผู้สมัครคนไหน ทำให้รัฐบาลถูกมองในแง่ร้ายว่าไม่อยากให้หาเสียงยาว คงกลัวว่าถ้านักการเมืองขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงจะพูดถึงความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งมันไม่เป็นผลดี ความจริงรัฐบาลมีกลไกชี้แจงทำความเข้าใจผลงาน วันนี้ก็ทำเต็มที่แล้ว เมื่อมั่นใจทำอะไรที่เป็นประโยชน์มาเยอะ จะกลัวถูกใส่ความทางการเมืองทำไม ใครพูดเกินเหตุก็เข้าข่ายหมิ่นประมาท ในทางตรงกันข้ามการปิดกั้นเวลาหาเสียง ก็อดไม่ได้จะทำให้คนมองในทางร้ายว่า กลัวพูดถึงความล้มเหลว อะไรต่างๆซึ่งไม่เป็นมงคล ปกติหลังยึดอำนาจและตั้งรัฐบาล คณะรัฐประหารจะต้องสลายตัวไป แต่ครั้งนี้ คสช.ยังอยู่และมีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือ นายบัญญัติ บอกว่า วันนี้คุณมีเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่าอำนาจรัฐในทุกยุคทุกสมัย ในขณะที่ผู้มีอำนาจในทุกยุคทุกสมัยเปิดโอกาสให้หาเสียงตามสมควร ตกลงว่าคุณกลัวอะไร หลังมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จะเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้อง คสช.เป็นขั้นเป็นตอนอย่างไรต่อไป นายบัญญัติ บอกว่า เราเรียกร้องจนไม่อยากเรียกร้องแล้ว ยิ่งปิดกั้นกันไปนานๆเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อตัวเขา ยิ่งปิดกั้นมากเท่าไหร่ ความอึดอัดยิ่งแผ่กว้างครอบคลุมไปทั่ว ยิ่งปิดกั้นมากก็ยิ่งรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ การปรองดองในอนาคตจะยุ่งยากมากขึ้น คิดบ้างหรือไม่ว่า เพลงประเทศกูมี เนื้อหาบางตอนอาจจะดูรุนแรง แต่แง่มุมหนึ่งทั้งหมดเกิดจากการปิดกั้น ไม่ให้คนแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ เลยสะท้อนเป็นบทเพลงบ้าง ศิลปะบ้าง ความจริงถ้าต้องการให้ประชาธิปไตยพัฒนาไปข้างหน้า ต้องเล่นอย่างตรงไปตรงมา กติกาต้องสร้างความเป็นธรรม ทุกอย่างกำลังนำไปสู่การตั้งรัฐบาลต่อท่ออำนาจ ถ้าเกิดขึ้นแบบนั้นจริง จะเกิดอะไรขึ้นต่อสังคมไทย นายบัญญัติ บอกว่า ไม่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย อาจก่อให้เกิดแรงต้านมากขึ้น ตามหลักถ้ามีการปิดทับปัญหาต่างๆเอาไว้ ย่อมมีแรงกดดันมาก ก็ต้องมีการต่อต้านมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้สังคมไทยไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นอีก. ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: