PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

ผุดไอเดียใหม่‘เก็บภาษีโฆษณาออนไลน์’ จากผู้ใช้บริการกูเกิ้ล-เฟซบุ๊ค 3 พันล./ปี

ผุดไอเดียใหม่‘เก็บภาษีโฆษณาออนไลน์’ จากผู้ใช้บริการกูเกิ้ล-เฟซบุ๊ค 3 พันล./ปี
ทีมข่าว TCIJ : 17 มกราคม 2559
ที่มาภาพ : fraunhofer.de
ที่มาภาพ : fraunhofer.de
อนุ กมธ. ทำแผนจัดเก็บรายได้แผ่นดิน  โดยสนช. เสนอไอเดียอุดช่องโหว่กฎหมาย จัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการต่างประเทศอย่าง Google - Facebook  คาดมีเม็ดเงิน ค่าโฆษณาที่คนไทยใช้บริการจากต่างประเทศปีละ 12,000 – 15,000 ล้านบาท จะจัดเก็บภาษีได้ถึง  2,000 – 3,000 ล้านบาท
เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ 12,000 – 15,000 ล้านบาท
แม้ตัวเลขการสำรวจผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยของหลาย ๆ สำนักยังไม่ตรงกัน แต่ก็ประมาณการกันว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยมีมากกว่า 20 ล้านคนไปแล้ว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยในปี 2555 มี 16,63,2908 คน ปี 2556 มี 18,312,405 คน ปี 2557 มี 21,729,382 คน และในปี 2558 มีถึง 24,592,299 คน ส่วนข้อมูลจากรายงาน Digital, Social and Mobile in 2015  ของ WeAreSocial  ไปไกลกว่านั้น โดยระบุว่าปี 2558 ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตถึง 35 ล้านรายเลยทีเดียว ซึ่งถือว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศ 67.9 ล้านคน
ในส่วนของโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งที่คนไทยนิยมใช้อย่าง Facebook นั้น Zocialinc ได้ประเมินไว้ว่า ผู้ใช้ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากในปี 2555 ที่มีเพียง 14.5 ล้านบัญชี ( Accounts  ซึ่ง 1 คนอาจจะมีบัญชี Facebook มากกว่า 1 บัญชีได้ ) เพิ่มเป็น 18 ล้านบัญชีในปี 2556  ก้าวกระโดดมาเป็น 26 ล้านบัญชีในปี 2557 และเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านบัญชี ในปี 2558 ที่ผ่านมา ส่วนมหาอำนาจทางโลกออนไลน์ที่มีรายได้จากการโฆษณาอย่าง Google ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่คนไทยนิยมใช้อย่าง YouTube ซึ่งสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 มียอดผู้ใช้งาน YouTube อยู่ที่ 26.25 ล้านคน และมีวิดีโออัพโหลดขึ้นไปยังระบบ  สูงถึง 3.4 ล้านวิดีโอ ยอดผู้เข้าชม (Unique Visitors) ต่อเดือน 7,822 ล้านครั้ง และจำนวนครั้งในการเข้าชมวิดีโอต่อเดือนสูงถึง 1,506 ล้านล้านครั้ง
การเพิ่มขึ้นของประชากรออนไลน์ที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญ จึงทำให้ธุรกิจโฆษณาต้องกระโดดตามมาสู่โลกออนไลน์ด้วย โดยมีประมาณการกันว่า ประเทศไทยมีเม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการโฆษณาปีละกว่า 100,000 ล้านบาท และมียอดเงินค่าใช้จ่ายในการโฆษณาออนไลน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปยังต่างประเทศประมาณ 12,000 – 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่มีการจัดเก็บภาษี หรือยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายในส่วนนี้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้บริการโฆษณาของบริษัทต่างประเทศ โดยเฉพาะรายใหญ่อย่าง Google และ Facebook อาจจะได้เปรียบต้นทุนในเชิงภาษีมากกว่าการใช้บริการโฆษณาภายในประเทศ
โดยปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการรายย่อยในไทย จะมีการติดต่อเพื่อลงโฆษณาและชำระเงินให้แก่ Google และ Facebook โดยตรงผ่านบัตรเครดิตซึ่งจะไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนผู้ประกอบการ ห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคลรายใหญ่มักจะดำเนินการ 2 แบบ ได้แก่ แบบแรก-คือมีการติดต่อเพื่อลงโฆษณาและชำระเงินค่าโฆษณาให้แก่บริษัทผู้ประกอบต่างประเทศผ่านบริษัทตัวแทนที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกรณีนี้จะมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบที่สอง-มีการติดต่อเพื่อลงโฆษณาและชำระเงินค่าแก่บริษัทต่างประเทศโดยตรงไม่ผ่านตัวแทนบริษัท โดยมีการโดนเงินชำระผ่านไปยังต่างประเทศที่มี อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement : DTA) กับประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย
แก้ไขประมวลรัษฎากร เปิดช่องเก็บภาษีค่าโฆษณาที่ใช้บริการจากต่างประเทศ
จากปัญหาที่กล่าวมา คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอว่า เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ โดยไม่มีการเสียภาษีให้แก่ประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นธรรมและอุดช่องโหว่กฎหมายตามหลักสากล กรมสรรพากรอาจจะต้องแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวข้องบางมาตรา อาทิมาตรา 70 โดยให้เพิ่มการจ่ายเงินค่าโฆษณาตาม มาตรา 40 (7) มาตรา 40 (8) เป็นเงินพึงได้ประเมินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศ แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย หรือ มาตรา 65 ตรี  โดยกำหนดให้รายจ่ายจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศกรณีที่บริษัทต่างประเทศไม่ได้ผ่านการเก็บภาษีตาม มาตรา 70 หรือมาตรา 76 ทวิ เป็นรายจ่ายต้องห้าม มิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม มาตรา 65 ตรี
โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินฯ ระบุว่า ซึ่งผลจากกรณีดังกล่าวจะช่วยจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด โดยปัจจุบันกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 20 (ณ เดือนธันวาคม 2558) ก็จะสามารถนำมาประเมินจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการใช้บริการโฆษณาจากต่างประเทศปีละประมาณ 12,000 – 15,000 ล้านบาท และหากอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตก็จะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตาม รวมทั้งยังเสนอว่า กรณีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนถูกต้องในประเทศญี่ปุ่นและประเทศออสเตรเลียจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้จ่ายเงินค่าโฆษณาดังกล่าวไม่สามารถนำภาษีมาซื้อเครดิตออกจากภาษีขายของตนเองได้ กรมสรรพากรควรนำกรณีดังกล่าวมาพิจารณาศึกษาเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้  เคยมีกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้สำหรับการรับจ้างทำของในต่างประเทศ (กรณีการว่าจ้างต่อเรือในต่างประเทศของกองทัพเรือ) ไว้ว่า สัญญาจ้างต่อเรือเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ แม้จะมีลูกจ้างเข้ามาลงนามในสัญญาในประเทศไทยก็ตาม แต่โดยที่การให้บริการและผลสำเร็จของงานตามสัญญานี้เกิดขึ้นในต่างประเทศทั้งหมด จึงไม่ถือว่ามีการประกอบกิจการในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 76 ทวิ และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่ประเทศไทยนั้น กรณีดังกล่าวคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินฯ ระบุว่าอาจจะมีข้อเท็จจริงหรือลักษณะที่แตกต่างจากกรณีที่บริษัทผู้ประกอบการของ Google และ Facebook ได้รับเงินจากการให้บริการโฆษณาสินค้าจากผู้จ่ายเงินได้ในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) เนื่องจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง
ข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินฯ นี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  เมื่อ 25 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ ? อย่างไร ? ต่อไป

‘วิษณุ’แย้มปมสังฆราช ปัญหาเพียบ ยอมรับแทงกั๊กดูข้อมูล

‘วิษณุ’แย้มปมสังฆราช
ปัญหาเพียบ
ยอมรับแทงกั๊กดูข้อมูล
เตือนสติบรรดากองเชียร์
ถ้ารักใครอย่ารักหมดใจ
‘ไพบูลย์’เชื่อสมเด็จช่วง
ยอมถอย-หากด่างพร้อย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 17 มกราคม ถึงกรณีมติของสมาคมเถรสมาคม(มส.) ที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เพื่อทูลเกล้าฯ โปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มาถึงตน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯเป็นรัฐมนตรีเจ้าสังกัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ที่รับมติจาก มส.
ส่วนการพิจารณาประเด็นทักท้วงมติดังกล่าวนั้น ตนในฐานะกำกับดูแล นายสุวพันธุ์ อาจปรึกษาเรื่องนี้กับตนได้ แต่ยังไม่ได้มาปรึกษา เพียงแต่โทรศัพท์มาบอกว่าได้รับมติ มส.แล้ว ขอเวลาศึกษาข้อเท็จจริง ขนบธรรมเนียมประเพณีก่อน อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเรื่องนี้ และนายกฯเองก็ไม่ได้ว่าอะไร
ต้องเรียกหารือทีละฝ่าย
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อเรื่องส่งมาถึงตน คงจำเป็นต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกันคนละทีก่อน ถ้าข้อมูลที่ได้ไม่เหมือนกันก็คงต้องเรียกมาคุยพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นที่ตนจะต้องหารือกับ มส. เพราะเมื่อ มส.ส่งมติถึง พศ.แล้วถือว่าจบภารกิจส่วนนั้น ถ้ามีอะไรตนต้องคุยกับ พศ. แล้วให้ไปคุยต่อ แต่วันหนึ่งอาจจำเป็นต้องหารือ มส.ขึ้นมาก็ได้ เนื่องจากตนกับพระก็ไม่ใช่คนแปลกหน้ากัน จึงไม่แปลกที่จะคุยกันเป็นการส่วนตัว แต่คงไม่ใช่การเชิญ มส.มาสอบแน่นอน ทั้งนี้ ตนบอกไปแล้ว ก่อนเรื่องมาถึงตน อาจจะพูดอะไรได้เยอะแยะ ตามประสาคนที่ไม่ต้องรับผิดชอบ พอเรื่องมาถึงตน ตนต้องรับผิดชอบ ต้องระมัดระวัง เพราะพูดอะไรไป มันจะมีการแปลขึ้นมาทันที
“เหมือนหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลง ฝ่ายนี้ว่าอย่างนั้น ฝ่ายโน้นว่าอย่างนี้ ถือชายจีวรคนละฝ่าย ส่วนนายวิษณุ แทงกั๊ก คือถ้าความเป็นกลางแปลว่าแทงกั๊ก ผมก็ยอมแทงกั๊ก แทงกั๊กไม่ได้ผิดอะไร แต่คุณไปตั้งหลักว่ามีสองฝ่าย แล้วพยามผลักคนให้ไปอยู่ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ สังคมไทยที่มันทะเลาะกันไม่ปรองดอง ก็เพราะเราไปนึกว่ามีสองฝ่าย ทำไมถึงไม่นึกว่ามีฝ่ายที่สามที่สี่บ้าง ทำไมถึงคิดว่ามีเหลืองกับแดง ทำไมถึงมีแต่ฝ่ายชอบทักษิณสุดลิ่มทิ่มประตู กับฝ่ายเกลียดทักษิณโดยไม่ลืมหูลืตา ไม่ฟังอะไรทั้งนั้น ทำไมจึงไม่มีฝ่ายอื่น พระพยอมท่านพูดดี รักใครก็อย่ารักจนหมดใจ เกลียดใครอย่าเกลียดจนหมดใจ เผื่อไว้ซักนิดนึง เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ถ้าบอกว่ามีสองฝ่ายเท่านั้น ใครไม่อยู่ฝ่ายนี้ก็ถือว่าอยู่ฝ่ายนี้ เหมือนที่อดีตประธานาธิบดีบุช ของสหรัฐฯ รบกับอัฟกานิสสถาน ใครไม่อยู่ฝ่ายเรา ก็อยู่ฝ่ายอัฟกันฯ ทำไมมันอย่างนั้นล่ะ ทำไมถึงไม่มีฝ่ายที่มันไม่ดีทั้งคู่ ผิดทั้งคู่ หรือถูกทั้งคู่บ้างเหรอ” นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า รองนายกฯ เองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นั้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหน สมัยไหน เอาตนมาเป็นรองนายกฯ เพื่อให้อยู่ในสถานการณ์อย่างนี้
ยอมรับต้องแทงก๊กไว้ก่อน
เมื่อถามว่า ข้อมูลที่ต้องหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอะไรบ้างที่นายกฯ จำเป็นต้องรู้ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีการกล่าวหาเกิดขึ้นมา ก็ต้องมาพูดกันในสิ่งเหล่านี้ว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร บางเรื่องตนเคยรู้ บางเรื่องที่พูดๆ กันตนก็ไม่รู้ หนังสือคัดค้านสมเด็จช่วง เป็นพระสังฆราช ของพระพุทธอิสระที่ยื่นถึงนายกฯ จนวันนี้ก็ยังไม่เห็น
เมื่อถามว่า รองนายกฯ พูดถึงแต่เรื่องกฎหมาย ทำไมไม่พูดถึงเรื่องความเหมาะสมบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่มีหน้าที่ ที่แทงกั๊กก็เพราะอย่างนั้น จะไปพูดอย่างอื่นไม่ได้ ในเมื่ออยู่ตรงนี้ก็มีความรับผิดชอบ ถ้าไม่ยึดกฎหมายไว้ตนตายเลย จึงจำเป็น คนอื่นจะยึดอย่างอื่นก็ว่าไป มันก็ต้องมีคนอย่างตนนี้ ที่เขาเรียกเนติบริกร
ย้ำมียังปัญหาอีกเพียบ
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เคยพูดว่าถ้ายังขัดแย้งกันอยู่จะไม่นำเรื่องนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ตนบอกว่าถ้ามีความขัดแย้งกันคนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้นไม่เป็นไร ต่อต้านคัดค้านก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าขัดแย้งแล้วนำไปสู่ความความรุนแรง หรือมีการฟ้องร้องอย่างนี้มันไม่ได้แล้ว อย่าว่าแต่ตำแหน่งสำคัญอย่างนี้เลย ตำแหน่งอื่นก็เถอะ ก็ต้องคิดแล้วว่าเราจะนำเรื่องทูลเกล้าถวายได้อย่างไร เมื่อถามอีกว่า มีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ ที่จะไม่นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ นายวิษณุ กล่าวว่า มี แต่ไม่บอก
ไพบูลย์สับกองเชียปากน้ำ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า การที่เครือข่ายองค์กรชาวพุทธ และพระสงฆ์ออกมาขู่จะก่อม็อบหากรัฐบาลดองเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น มองว่าหากพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหว ก็จะยิ่งทำให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราชมัวหมอง และอยากให้เครือข่ายดังกล่าวช่วยตีความคำว่า “ดองเรื่อง” หน่อย ให้ระบุเวลาให้ชัดว่านานแค่ไหนถึงเรียกได้ว่าดองเรื่อง เพราะเรื่องการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชผ่านมาเพียงไม่กี่วัน จะเป็นการดองเรื่องได้อย่างไร หากมองกลับกันกลุ่มที่สนับสนุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ออกมาเร่งรัด คุกคาม และข่มขู่ ให้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชอย่างเร่งด่วน อยากถามว่าเรื่องใหญ่แบบนี้รออีกหน่อยไม่ได้หรือ ส่วนคนที่ต้องเป็นฝ่ายเร่งรัดคือตนต่างหาก ที่ต้องเร่งสะสางคดีที่เกี่ยวพันกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ให้ท่านพ้นมลทิน ก่อนได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
“ผมมองว่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งสำหรับสังฆบิดรผู้มีพระจริยวัตรงดงาม มีความสง่า และไม่มีมลทิน และเป็นตำแหน่งที่ปกครอง ทั้งพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ดังนั้น การที่ผมออกมาเรียกร้องให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์สะสางมลทินนั้น ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล และไม่ใช่เรื่องระหว่างนิกาย เพราะสมเด็จพระราชคณะในมหาเถรสมาคม (มส.) ทั้ง 8รูปไม่มีรูปใดเป็นอาจารย์ของผม แต่ผมทำเพื่อความถูกต้อง และรักษาพระพุทธศาสนาเท่านั้น ย้ำว่าผมทำด้วยจิตที่ว่างเปล่า ไม่มีอคติใดๆ ต่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และผมเชื่อว่าหากท่านมีมลทินจริง ท่านคงออกมาแสดงเจตจำนงไม่รับตำแหน่งเอง” นายไพบูลย์กล่าว
หลวงปูเผยสงฆ์แตกแยก
วันเดียวกัน เฟซบุ๊กหลวงปู่พุทธอิสระ ระบุข้อความว่า ท่านผู้นำทำถูกแล้ว 17มกราคม2559 เหตุเกิด ณ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและรายการคืนความสุขให้คนในชาติ
“วันนี้คนไทยมีความสุดโต่ง อะไรก็ทำไม่ได้ ทำให้การบริหารงานเป็นไปได้ยาก มีความแตกแยกทั้งคน และพระสงฆ์ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินอย่างไรก็เหมือนจะผิดทุกทาง อย่างพระสงฆ์องค์หนึ่งตนไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย แค่เคยรู้จักตอนที่เป็นทหารและเคยทำบุญร่วมกัน แต่นักข่าวก็บอกว่าพระองค์นั้นเป็นพระอาจารย์ของสาม ป.ซึ่งพระองค์นั้นได้ลงทุนด้วยการออกเงินให้เรียนหนังสือเพื่อจะมาช่วยเหลือรัฐบาล ถ้าเช่นนั่นก็คงเป็นการวางแผนล่วงหน้าเป็น30ปีนี่ถือว่าเป็นการช่างเขียน ก็เขียนกันไปเรื่อยเปื่อยเหมือนนิยายประโลมโลก”
“เรื่องศาสนาวันนี้เริ่มขัดแย้งกันอีกแล้ว กล่าวหาว่าข้างนั้น ข้างนี่ ไม่สนใจ เพราะเป็นชาวพุทธ เคารพในพระสงฆ์เสมอมา ในคำสอนพระพุทธเจ้าเสมอมา ไม่สนใจผู้นำแต่ละฝ่ายว่าเป็นใคร ทุกคนก็อาจจะมีความปรารถนาดี แต่อย่าลืมว่าเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง ในสมัยก่อนจำได้ไหม โลกใบนี้รบกันเรื่องของศาสนากันมากมาย สงครามศาสนาตายกันทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐบาลเป็นห่วงเรื่องนี้ เป็นห่วงประชาชนที่ให้ความเคารพนับถือ ภายใต้การนำของแต่ละฝ่ายมากกว่า ใครผิดใครถูกยังไม่กล่าวถึงตรงนั้น เพราะฉะนั้นไปหาทางออกให้ได้ หากยังใช้อารมณ์ ใช้ความรู้สึก กฎหมายอยู่ตรงไหนไม่รู้ อีกกลุ่มบอกว่าต้องรีบทำ อีกกลุ่มบอกว่าทำแล้วทำไมไม่โปร่งใส แล้วจะไปทางไหนต้องการความสงบสุขของบ้านเมือง ต้องการดำรงความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธและพระสงฆ์
วันนี้อย่าทะเลาะกันอีกเลยเรื่องแบบนี้ หยุดซะเถิดวันเวลาที่เหมาะสมเป็นเรื่องของรัฐบาลจะดำเนินการ ไม่ต้องมาบังคับ ไม่อย่างนั้นทุกเรื่องใครก็แล้วแต่ก็วางระเบิดเวลาทุกที่ไป ทุกเรื่อง ทุกงาน ไว้ให้ คสช. ไว้ให้รัฐบาลเหยียบกับระเบิดทุกวัน จะปฏิรูปได้อย่างไร จะแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร ไปแก้ปัญหากันมาให้ได้ ไม่ได้เข้าข้างใคร”

ผบสส.โต้ "อ.นิธิ" ไม่น่าเขียน บทความถาม"ทหารมีไว้ทำไม" เผย ทหารมีไว้เพื่อเป็นรั้วของประเทศชาติ


ผบสส.โต้ "อ.นิธิ" ไม่น่าเขียน บทความถาม"ทหารมีไว้ทำไม" เผย ทหารมีไว้เพื่อเป็นรั้วของประเทศชาติ ทหารมีทั่วโลก เพื่อดูแลรักษาความสงบและรักษาอธิปไตย และในยามสงบ เราก็มีการฝึกร่วมกัน แนะรอดู รายการพิเศษ ในวันกองทัพไทย คืนนึ้
ภายหลัง เป็นประธานพิธีบวงสรวง เน่่องในวันกองทัพไทย ที่ อนุสรณ์สถานฯ ดอนเมือง แล้ว บิ๊กเต้ พลเอก สมหมาย เกาฎีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นำแถวผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. กล่าวถึงบทความ "ทหารมีไว้ทำไม" ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ว่า ถ้าจะให้ตอบตรงๆว่าทหารมีไว้ทำไม คือทหารมีไว้เพื่อเป็นรั้วของประเทศชาติ
อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ระบุหน้าที่หลักของทหารไว้ด้วย คือ 1.พิทักษ์ ปกป้อง และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.การป้องกันประเทศ 3.การพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชน และ4.การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ซึ่งทหารเรากำลังดำเนินการกันอยู่
ดังนั้นผมคิดว่าคำถามดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่น่าถามเลย อีกอย่างทหารก็มีทั่วโลก เพื่อดูแลรักษาความสงบและรักษาอธิปไตย และในยามสงบเราก็มีการฝึกร่วมกัน
พล.อ.สมหมาย กล่าวว่า ในวันนี้ 18 มกราคม เวลา20.00 น. จะมีวีดีทัศน์ของกองบัญชาการกองทัพไทยจะนำเสนอผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ผมอยากจะเชิญชวนให้ดูว่ากองทัพไทยมีความทันสมัย และมีความเป็นปึกแผ่นกันอย่างไรในแต่ละเหล่าทัพ
ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหล่าทัพนั้น เป็นเพราะทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ขึ้นตรงกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็อยู่ในการควบคุมปฏิบัติการร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทยด้วย
เมื่อถามว่าบทบาทกองทัพจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต พล.อ.สมหมาย กล่าวว่า ทางกองทัพได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี และ20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์กองทัพจะเดินต่อไปข้างหน้า
อีกทั้งทุกกองทัพก็ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างและขีดความสามารถต่างๆ ฉะนั้น ผมก็อยากให้ชมวีดีทัศน์ที่จะนำเสนอในคืนนี้ เพื่อจะได้เห็นภาพชัดว่ากองทัพไทยมีความทันสมัยอย่างไร

ผบทบ.นำทหาร 20กองพันกระทำสัตย์ปฏิญาณตน วันกองทัพไทย

ผบทบ.นำทหาร 20กองพันกระทำสัตย์ปฏิญาณตน วันกองทัพไทย ขอทหารเตรียมพร้อมทุกภารกิจสถานการณ์ อดทน หนักแน่น สามัคคี
พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. กล่าวให้โอวาท ในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามต่อธงชัยเฉลิมพล ของทหาร 20 กองพัน เนื่องในวันกองทัพไทย ว่า วันกองทัพบกเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่ชนในชาติจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และความเสียสละของบรรพบุรุษ ทหารกล้าที่ได้กอบกู้เอกราชให้กลับคืนสู่ประเทศ อีกทั้งย้ำเตือนให้ทหารทุกนายได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่อันมีเกียรติในการพิทักษ์สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการทำให้ประชาชนได้มีชีวิตอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยด้วยความมีสันติสุข
"วันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญที่ทหารใหม่ทุกนายจะได้เปล่งวาจาปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลอันศักดิ์สิทธิ์ ที่แสดงถึงความพร้อมเป็นทหารของชาติโดยสมบูรณ์ จึงขอให้ทหารทุกนายได้ยึดมั่นและรักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ให้ไว้ทุกขณะ เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจของกองทัพบกให้บรรลุความสำเร็จตามมุ่งหมายด้วยอันด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตย และความสงบสุขของชาติ
"และมีความพร้อมต่อการปฎิบัติภารกิจในทุกสถานการณ์ โดยทำหน้าที่ในความรับผิดชอบอย่างดีที่สุดด้วยความเสียสละ อดทน หนักแน่น มีความรักสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน"

ราคาน้ำมันดิ่งต่ำกว่า 28 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน

ราคาน้ำมันดิ่งต่ำกว่า 28 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน
ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่ำกว่า 28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 1,000 บาท) ในการซื้อขายวันนี้ (18 ม.ค.) จากความกังวลว่าการที่ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะทำให้ปัญหาน้ำมันล้นตลาดที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ทะเลเหนือร่วงแตะระดับ 27.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในระหว่างการซื้อขายช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับแต่ปี 2546 ก่อนที่ราคาจะขยับขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ 28.17 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ก็ร่วงจาก 29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลไปอยู่ที่ 28.86 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน จะทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้อีกครั้ง และหมายความว่าอาจมีการผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลกเพิ่มขึ้นวันละครึ่งล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาน้ำมันล้นตลาดโลก
การตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมีขึ้นเมื่อวานนี้ หลังจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ระบุว่า อิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีเป้าหมายป้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยสำนักงานข้อมูลพลังงานของสหรัฐฯ ระบุว่า อิหร่านมีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัจจุบันอิหร่านมีน้ำมันที่พร้อมส่งออกในปริมาณมหาศาล และหากตัดสินใจขายน้ำมันเหล่านี้ก็จะยิ่งทำให้อุปทานล้นตลาดมากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำในปัจจุบันมีสาเหตุหลักมาจากการที่น้ำมันจากสหรัฐฯ ทะลักเข้าสู่ตลาดโลก ประกอบกับการที่อุปสงค์ลดลงเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีนและยุโรป ที่ผ่านมากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มักปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ทว่าปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มตัดสินใจไม่ลดปริมาณการผลิตลง นักวิเคราะห์ คาดว่าสถานการณ์นี้จะดำเนินต่อไปอีก 2 ปี ซึ่งจะกดให้ราคาน้ำมันตกลง
สจ๊วต กัลลิเวอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเอชเอสบีซีคาดว่า ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 25 – 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 900 – 1,500 บาท) ใน 1 ปีข้างหน้า โดยชี้ว่าปัจจุบันประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกผลิตน้ำมันมากกว่าความต้องการของตลาดราววันละ 2-2.5 ล้านบาร์เรล ‪#‎CrudeOil‬ ‪#‎IranSanction‬ ‪#‎IAEA‬
ภาพประกอบ กราฟราคาน้ำมันระหว่างเดือนม.ค. 2557 – ม.ค. 2559

อีสานกับรากเหง้าประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์



คำว่า คนอีสาน เป็นเพียงชื่อที่ถูกสร้างขึ้นมาภายหลัง เพราะคำว่า อีสาน เป็นเพียงชื่อทิศหนึ่งในเเปดทิศ คนอีสาน ไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์ หากเเต่เดิมนั้น คนอีสานก็คือคนลาว ที่ถูกทำให้ลืมความเป็นลาว

ในรุ่นปู่ย่าตายายต่างเรียกขานชื่อตัวเองว่าคนลาว เเละต่างรู้ดีว่าคนทั้งสองฟากฝั่งเเม่น้ำโขงคือฝั่งซ้ายเเม่น้ำโขง(ประเทศลาวในปัจจุบัน)เเละฝั่งขวาเเม่น้ำโขง(ภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน)ล้วนเเต่เป็นคนลาว ที่เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน พี่น้องกัน กระทั่งมาถูกเเบ่งเเยกดินเเดนออกจากกัน จึงมีความพยายามทำให้ลืมชาติพันธุ์ดั้งเดิมของตน

ในอดีตนั้นสยามไม่เคยให้ความสนใจกับดินเเดนฝั่งขวาเเม่น้ำโขงเลย สยามจัดให้ดินเเดนเเถบนี้เป็นเพียงเมืองประเทศราชที่ต้องส่งส่วยเเละบรรณาการเเก่สยาม กระทั่งในสมัยรัชกาลที่๕ มีการสำรวจเเละทำเเผนที่ สยามจึงได้รู้ว่าดินเเดนฝั่งขวาเเม่น้ำโขงนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เเละภายหลังเกิดความพยายามทำให้ดินเเดนเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเเผนที่สยาม

โดยในปีพ.ศ.๒๔๓๓ สยามแบ่งการปกครองออกเป็นหัวเมืองลาวฝ่ายต่างๆคือหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่เมืองจำปาสัก หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่อุบลราชธานี หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือมีข้าหลวงดูแลอยู่เมืองหนองคายและหัวเมืองลาวฝ่ายกลางมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่นครราชสีมา

จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ให้มีการรวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกและหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหัวเมืองลาวกาว หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือเปลี่ยนเป็นหัวเมืองลาวพวน  หัวเมืองลาวฝ่ายกลางเรียกใหม่เป็นหัวเมืองลาวกลาง 

ต่อมามีการเรียกชื่อใหม่จากหัวเมืองเป็นมณฑล คือ มณฑลลาวกาว มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกลาง ส่วนดินแดนล้านนาเดิมที่เรียกหัวเมืองลาวพุงดำเรียกใหม่ว่ามณฑลลาวเฉียง

 กระทั่งเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒(พ.ศ.๒๔๓๗)สยามและฝรั่งเศสได้ทำสัญญาแบ่งเขตแดนกันโดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดน ฝั่งขวาแม่น้ำโขง(ภาคอีสานปัจจุบัน)เป็นของสยาม ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง(ประเทศลาวปัจจุบัน)เป็นของฝรั่งเศส จากนั้นสยามได้เปลี่ยนชื่อมณฑลในกำกับที่เหลืออยู่คือ มณฑลลาวพวนเป็นมณฑลอุดร มณฑลลาวเฉียง(ล้านนา)เป็นมณฑลพายัพ มณฑลลาวกาวเป็นมณฑลอีสานและเปลี่ยนชื่ออีกเป็นมณฑลอุบลตามลำดับ มณฑลลาวกลางเป็นมณฑลนครราชสีมา เป็นต้น

 การเปลี่ยนชื่อมณฑลในครั้งนั้นหากพินิจพิจารณาให้ดีคือการพยายามลบคำว่า “ลาว” ออกจากชื่อของดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อไม่ให้ฝรั่งเศสหาเหตุมายึดดินแดน  โดยอาศัยข้ออ้างว่าฝั่งขวาแม้น้ำโขงแต่เดิมก็คือดินแดนของอาณาจักรลาวล้านช้างซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง กระทั่งมีการจัดตั้งเมืองต่างๆเป็นจังหวัด หลายๆจังหวัดรวมเป็นภาค คือภาคอีสานในปัจจุบัน คำว่าอีสานคือชื่อเรียกทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังได้กลายมาเป็นชื่อของดินแดนและชื่อคนที่อาศัยในผืนแผ่นดินนี้ เรียกกันว่า  “คนอีสาน” ซึ่งก็คือคนลาวนั่นเอง

บทความที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นไม่ได้ต้องการสร้างให้เกิดความเเตกเเยก เเต่ต้องการให้คนลาวอีสานรู้ที่มาของตัวเอง เลิกดูถูกตัวเอง เลิกเหยียดคำว่า ลาว เพราะนั่นคือการดูถูกตัวเอง เลิกอายที่จะพูดภาษาลาว เลิกอายที่จะบอกว่าตัวเองเป็นคนลาว เลิกเรียกตัวเองว่าคนอีสาน  กลับมาเรียกตัวเองว่า คนลาวอย่างภาคภูมิ เเม้จะมีสัญชาติอื่นก็ตาม

ไต้หวันได้ปธน.คนใหม่เป็นผู้หญิงคนแรก

ไต้หวันได้ประธานาธิบดีหญิงคนแรก: เป็นคนรักแมว-หนุนการแต่งงานคู่รักเพศเดียวกัน

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของสาธารณรัฐจีน หรือ “ไต้หวัน” พรรค DPP กลับมาชนะพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกนาม “ไช่ อิงเหวิน” ผู้เป็นนักวิชาการกฎหมาย คนรักแมว ผู้สนับสนุนการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน พร้อมจับตาสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน เมื่อไช่ อิงเหวิน ไม่เคยออกตัวหนุน “จีนเดียว” และ “การรวมชาติ”

17 ม.ค. 2559 ผลการเลือกตั้งทั่วไปของสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ปรากฏว่าไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้คะแนน 6.89 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 56.1 เอาชนะคู่แข่งคืออิริค จูลี่หลุน (Eri Chu Li-Luan) จากพรรคจีนคณะชาติ หรือ ก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ซึ่งได้คะแนน 3.81 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 31.0 ทำให้ไช่ อิงเหวิน กำลังจะเป็นประธานาธิบดีไต้หวันหญิงคนแรก

ไช่ อิงเหวิน (คนกลาง) ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) กล่าวกับผู้สนับสนุนเมื่อ 16 ม.ค. 2559 (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ไช่ อิงเหวิน เลี้ยงแมว 2 ตัว คือ "เซียงเซียง" หรือ "ถิงถิง" และ "อาไช่" ซึ่งในภาพนี้คือ "เซียงเซียง" ซึ่งปรากฏตัวในคลิปกล่าวอวยพรวันตรุษจีนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2558 ที่ผ่านมา (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครประธานาธิบดีไต้หวันพรรค DPP หาเสียงโค้งสุดท้ายเมื่อ 15 ม.ค. 2559  (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ออกมาทักทาย ไช่ อิงเหวิน เมื่อ 15 ม.ค. 2559 ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ผู้ใช้รถใช้ถนนทักทายระหว่างที่รถปราศรัยของ ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรค DPP เคลื่อนผ่าน เมื่อ 15 ม.ค. ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน (ที่มา: เฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

 

ลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สู่นักวิชาการกฎหมายและว่าที่ประธานาธิบดี

ผู้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันหญิงคนแรกนี้ ปัจจุบันมีสถานะโสด พื้นเพของเธอเกิดที่กรุงไทเปเป็นลูกสาวคนสุดท้อง ในบรรดาพี่น้องร่วมมารดาและต่างมารดา 11 คน ปู่ของเธอเป็นชาวจีนฮากกา ส่วนย่าเป็นชนพื้นเมืองไผหวัน บนเกาะไต้หวัน พ่อของเธอเริ่มต้นจากการเปิดร้านซ่อมรถยนต์ ก่อนที่จะสร้างฐานะจนเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

จากรายงานชีวประวัติใน หนังสือพิมพ์เตรทไทม์ ของสิงคโปร์ และ สารานุกรมวิกิพีเดีย ระบุว่า พ่อแม่ของไช่ อิงเหวิน มีความคาดหวังสูงต่อลูก และเคยไม่พอใจที่ลูกสอบไม่ได้อันดับที่ 1 เหมือนพี่น้องคนอื่นๆ ทั้งนี้จากการเปิดเผยของไช่ อิงเหวิน ผ่านรายการโทรทัศน์ไต้หวันเมื่อปีก่อน

เมื่อถึงระดับมหาวิทยาลัย ไช่ อิงเหวิน เคยคิดอยากเรียนประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี แต่ถูกโน้มน้าวให้ไปเรียนนิติศาสตร์เนื่องจากพ่ออยากให้เธอมาช่วยทำงานด้านกฎหมายสำหรับกิจการของครอบครัว

ทั้งนี้ภายหลังจากจบปริญญาตรีด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) เมื่อปี 2521 ไช่ อิงเหวิน ไปเรียนต่อจบมหาบัณฑิตด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2523 และจบดุษฎีบัณฑิต จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2527 เมื่อศึกษาจบได้กลับมาเป็นอาจารย์กฎหมายที่มหาวิทยาลัยกฎหมายซูโจว และมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจี ในไต้หวัน

ไช่ อิงเหวิน เริ่มมีความโดดเด่นในฐานะข้าราชการด้านนโยบาย ในยุคของประธานาธิบดี ลี เติงฮุย เชิญให้มาเป็นหัวหน้าคณะวิจัย เพื่อพิสูจน์ว่าไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” และเพื่อสร้างทฤษฎี “สองรัฐ” ขึ้น

ต่อมา ไช่ อิงเหวิน ยังขึ้นมาเป็นหัวหน้าของ สภากิจการแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับคณะรัฐมนตรีไต้หวัน รับผิดชอบนโยบายที่เกี่ยวข้องระหว่างสองฟากฝั่งไต้หวัน – จีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงรัฐบาล DPP ทั้งนี้ไช่ อิงเหวิน เข้าร่วมพรรค DPP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี สมัยของประธานาธิบดี เฉิน ซุยเปียน

ไช่ อิงเหวิน เคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรค DPP ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 14 มกราคม 2555 แต่ก็แพ้ให้กับ หม่า อิงจิ่ว ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง ขณะที่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 16 มกราคม 2559 นอกจากจะทำให้ไช่ อิงเหวิน เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันแล้ว ในรายงานของเดอะการ์เดียนสื่อของอังกฤษยังเปรียบเทียบว่าไช่ อิงเหวิน จะกลายเป็นผู้หญิงที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกของผู้ใช้ภาษาจีน

 

ประธานาธิบดีคนที่ จากพรรค DPP ผู้กอบกู้สถานการณ์พรรคตกต่ำหลังยุคเฉิน ซุยเปียน

ในขณะที่พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ปกครองไต้หวันแทบจะตลอดมานับตั้งแต่ จอมพลเจียง ไค เช็ค (Chiang Kai-Shek) ล่าถอยมาจากแผ่นดินใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2492 ในช่วงขับเคี่ยวสงครามกลางเมืองกับ เหมา เจ๋อ ตุง จึงนับได้ว่า ไช่ อิงเหวิน เป็นนักการเมืองคนที่ 2 จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่สอดแทรกขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไต้หวัน ซึ่งมีประชากร 23 ล้านคน ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่ง แต่ไต้หวันก็ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระหลายทศวรรษ

สำหรับประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้จากพรรค DPP ก็คือ เฉิน ซุยเปียน (Chen Shui-bian) ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2543 - 2551 และมีชื่อเสียงเสื่อมเสียด้วยข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน ขณะที่ไช่ อิงเหวิน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กู้สถานการณ์ของพรรค DPP กลับมา

โดยในห้วงที่ ไช่ อิงเหวิน นำพรรค DPP ชนะการเลือกตั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่พอใจของประชาชนต่อพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งปกครองไต้หวันในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งนี้ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ซึ่งปกครองไต้หวันระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2558 เศรษฐกิจของไต้หวันอยู่ภาวะชะลอตัว ขณะเดียวกันก็เข้าไปเกี่ยวข้องพึ่งพากับเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ความไม่พอใจต่อพรรคก๊กมินตั๋งมาถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2557 เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติผ่านข้อตกลงทางการค้ากับจีน ทำให้เกิดการตอบโต้ของขบวนการนักศึกษาที่ชื่อว่า "ขบวนการดอกทานตะวัน" รวมไปถึงการประท้วงของกลุ่มรากหญ้าก็แพร่ขยายในไต้หวัน

 

ชัยชนะของพรรค DPP ในยุคที่มีผู้นิยามตนเป็น "คนไต้หวันมากกว่า "คนจีน"

ทั้งนี้ไช่ อิงเหวิน และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) เองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากขบวนการเคลื่อนไหวดอกทานตะวัน (Sunflower) ของหมู่เยาวชนไต้หวัน ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรครัฐบาลก๊กมินตั๋ง (KMT) มากกว่าพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจียังพบว่าปัจจุบันในหมู่คนไต้หวันเองก็นิยามตนเองว่าสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) มากกว่าพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ในขณะที่ในรอบ 10 ปีมานี้ ชาวไต้หวันเคยนิยามตนว่าสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) มากกว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

รายงานข่าวของ Quartz เปิดเผยผลสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2535 - 2558 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจี ที่ในระยะหลังพบว่าคนที่อาศัยในไต้หวัน นิยามตนเองว่าเป็นชาวไต้หวัน รองลงมาคือเป็นทั้งชาวไต้หวันและชาวจีน และนิยามว่าเป็นชาวจีนเหลือเพียงร้อยละ 3.3 เท่านั้น

 

นอกจากนี้ ชัยชนะของ ไช่ อิงเหวิน และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ยังเกิดขึ้นในยุคที่คนในไต้หวันนิยามตนเองว่าเป็นชาวจีน หรือนิยามตนว่าเป็นทั้งชาวไต้หวันและชาวจีน ในสัดส่วนที่ลดต่ำที่สุด โดยในรายงานของ Quartz ซึ่งอ้างการสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจี (National Chengchi University) ของไต้หวัน ระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2558 โดยเปิดเผยผลสำรวจทุกๆ วันที่ 6 ม.ค. พบว่าคนไต้หวัน นิยามตัวเองว่าเป็นคนจีนลดต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในปี พ.ศ. 2535 อยู่ที่ร้อยละ 25.5 และอยู่ในจุดสูงสุดเมื่อ พ.ศ. 2537 ที่ร้อยละ 26.2 และค่อยๆ ลดลงโดยในการสำรวจปี พ.ศ. 2558 คนไต้หวันนิยามว่าตัวเองเป็นคนจีนเหลือร้อยละ 3.3

ส่วนการนิยามว่าตนเป็นคนไต้หวัน ในปี พ.ศ. 2535 อยู่ที่ร้อยละ 17.6 เท่านั้น และมีแนวโน้มขึ้นมาเรื่อยๆ ในการสำรวจปี พ.ศ. 2552 อยู่ที่ร้อยละ 51.6 เป็นปีแรกที่ผลการสำรวจพบว่าประชาชนนิยามตนเองเป็นคนไต้หวันเกินร้อยละ 50 และขึ้นมาอยู่ที่จุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 60.6 ขณะที่ในการสำรวจล่าสุดปี พ.ศ. 2558 อยู่ที่ร้อยละ 59

ขณะที่ผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นทั้งคนไต้หวันและคนจีน ในปี พ.ศ. 2535 อยู่ที่ร้อยละ 46.4 และเคยขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 49.3 ในปี พ.ศ. 2539 ในช่วงก่อนรวมฮ่องกงเข้ากับจีน ก่อนที่จะค่อยๆ ลดจำนวนลงจนอยู่ในจุดต่ำสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 32.5 ขณะที่การสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2558 อยู่ที่ร้อยละ 33.7 (อ่านรายงานของ Quartz, 15 ม.ค. 2559)

นอกจากนี้ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันก็แสดงจุดยืนทางการเมืองที่เปิดกว้าง โดยในรายงานของ Quartz เมื่อ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ก่อนพาเหรดเกย์ไพรด์ของกรุงไทเป เมื่อปีที่แล้ว ไช่ อิงเหวิน ประกาศสนับสนุนการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน โดยกล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊คของเธอว่า "ต่อหน้าของความรัก คนทุกคนเท่ากัน ขอให้ทุกคนมีเสรีภาพในความรักและทำให้ความสุขของพวกเขาสมหวัง ฉันคือ ไช่ อิงเหวิน และฉันสนับสนุนการแต่งงานที่เสมอภาคกัน" ทั้งนี้ไช่ อิงเหวิน ยังเผยแพร่วิดีโอที่จัดทำโดยทีมงานหลายคลิป เพื่อสนับสนุนครอบครัวของเพศเดียวกัน (อ่านข่าวใน Shanghaiist, 1 พ.ย. 2015)

 นอกจากนี้ ไช่ อิงเหวิน ยังเลี้ยงแมว 2 ตัว คือ "เซียงเซียง" หรือ "ถิงถิง" และ "อาไช่" ซึ่ง "เซียงเซียง" เคยปรากฏอยู่ในคลิปอวยพรวันตรุษจีนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2558 มาแล้ว (ชมวิดีโอ)

จับตาประเด็นจีน-ไต้หวันเมื่อไช่ อิงเหวิน ไม่เคยสนับสนุน “จีนเดียว” และ “การรวมชาติ”

ในรายงานของ Quartz เชื่อว่า ชัยชนะของไช่ อิงเหวิน จะทำให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปักกิ่งอยู่ในสถานะลำบาก ทั้งนี้ ไช่ อิงเหวิน แม้จะไม่เคยสนับสนุนโดยเปิดเผยให้ไต้หวันเป็นเอกราช และดูเหมือนต้องการรักษา “สถานะปัจจุบัน” ไว้กับปักกิ่งและต่อสู้เพื่อความร่วมมือเพื่อให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มากกว่านี้

แต่ไช่ อิงเหวิน เองก็ไม่เคยแสดงความสนับสนุนการรวมชาติจีน-ไต้หวัน หรือไม่เคยแสดงออกว่ายอมรับใน “ฉันทามติ 92” ที่เคยมีข้อตกลงระหว่างจีน-ไต้หวันเมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่ว่าทั้งไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่รับรองว่ามีเพียง “จีนเดียว” อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายต่างมีการแถลงคำจำกัดความ “จีนเดียว” ของตนเอง และในขณะที่ปักกิ่งมองเห็นไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และเห็นการขึ้นมามีอำนาจบริหารของไช่ อิงเหวิน ตรงกันข้ามกับแนวคิดเหล่านี้ ในอนาคตก็อาจเกิดการโดดเดี่ยวต่อไต้หวันทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

000

ผลการเลือกตั้งทั่วไปไต้หวัน DPP ชนะทั้งเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกสภานิติบัญญัติ

แผนที่แสดงผลการลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีไต้หวัน สีเขียวคือเขตที่เลือก ไช่ อิงเหวิน จากพรรค DPP มากกว่าพรรคอื่น สีน้ำเงิน คือเขตที่เลือก อีริค จูลี่หลุน จากพรรคก๊กมินตั๋ง KMT มากกว่าพรรคอื่น สีส้ม คือ เขตที่เลือกเจมส์ ซ่ง จากพรรคประชาชนมาก่อน PFP มากกว่าพรรคอื่น โดยข้อมูลจากแผนที่พบว่าทั้งไทเป (ตอนบนสุด) และเกาสง (ชายฝั่งตะวันออกทางทิศใต้) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีประชากรหนาแน่นเทคะแนนให้พรรค DPP ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งยังรักษาคะแนนไว้ได้ในเขตชายฝั่งทางตะวันตกที่มีประชากรหนาแน่นน้อยกว่าฝั่งตะวันออก (ที่มา: วิกิพีเดีย)

สำหรับผลการเลือกตั้งทั่วไปของสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ซึ่งประกอบด้วย การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีครั้งที่ 14 และการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน สมัยที่ 9 รวม 113 ที่นั่งนั้น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปรากฏว่า ไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) และแนวร่วม ได้คะแนน 6.89 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 56.1

ส่วนอิริค จูลี่หลุน (Eri Chu Li-Luan) จากพรรคจีนคณะชาติ หรือ ก๊กมินตั๋ง (KMT) และแนวร่วม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้คะแนน 3.81 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 31.0 ขณะที่เจมส์ ซ่ง (James Soong) หรือ ซ่ง ฉู่หยี พรรคประชาชนมาก่อน (People First Party - PFP) ได้คะแนน 1.58 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 12.8

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงเป็นครั้งที่ 6 โดยก่อนหน้านี้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านการเลือกของรัฐสภาจนถึงปี พ.ศ. 2539

ส่วนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติสมัยที่ 9 ทั้ง 113 ที่นั่ง ประกอบด้วยแบ่งเขต 79 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 34 ที่นั่ง ผลปรากฏว่า อันดับหนึ่ง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้ ส.ส. รวม 67 ที่นั่ง (แบ่งเขต 49 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 18 ที่นั่ง) โดยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 27 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

อันดับสอง พรรคจีนคณะชาติ หรือ ก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิม ได้ ส.ส. รวม 36 ที่นั่ง (แบ่งเขต 25 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 11 ที่นั่ง) ได้ที่นั่งลดลง 28 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

อันดับสาม พรรคพลังใหม่ (New Power Party) ได้ ส.ส. รวม 5 ที่นั่ง (แบ่งเขต 3 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง) อันดับสี่ พรรคประชาชนมาก่อน (People First Party) ได้ ส.ส. รวม 3 ที่นั่ง ทั้งหมดมาจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ อันดับห้า สหภาพเพื่อความสามัคคีของพรรคไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Partisan Solidarity Union) ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง จากแบบแบ่งเขต

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของไต้หวันครั้งนี้นั้น สถานีวิทยุไต้หวัน RTI รายงานว่า ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีจำนวน 18,786,808 คน เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว 700,353 คน แต่ในครั้งนี้ชาวจีนโพ้นทะเลลงทะเบียนเพื่อกลับมาเลือกตั้งมีจำนวน 2,425 คน อนุมัติแล้ว 2,317 คน นับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์