PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

"แจส-ทรู" เดิมพันเกมเสี่ยง จุดพลุแข่งดุเขย่าบัลลังก์ "AIS-DTAC"



updated: 25 ธ.ค. 2558 เวลา 11:50:01 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ถือเป็นเซอร์ไพรส์ส่งท้ายปีกับผลการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เมื่อผู้ชนะ เป็น "แจส-ทรู" รายหนึ่งเป็นน้องใหม่ อีกรายเป็นน้องเล็กเจ้าของส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ในธุรกิจมือถือ แต่ทุ่มเคาะราคาสู้เบอร์ 1 (เอไอเอส) และเบอร์ 2 (ดีแทค) อย่างไม่ยอมลดราวาศอก

ผลออกมาจึง "หักปากกาเซียน" ด้วยว่าไม่ว่าจะมองมุมไหนก็อยู่ในจุดที่เสียเปรียบ (กว่า) บ้างถึงกับบอกว่าการได้ใบอนุญาตด้วยต้นทุนที่สูงขนาดนี้อาจเป็น "ทุกขลาภ"



แต่สำหรับ "แจสและทรู" ทั้งคู่ยืนยันตรงกันว่า ที่ยอมจ่ายด้วย "ราคา" ที่ใครก็ว่า "แพง" ไม่ใช่แค่ราคา "คลื่นความถี่" แต่ซื้อ "อนาคต" ต่างหาก

"ทรู" หวังพลิกเกมขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดด้วยมาร์เก็ตแชร์ 34% ใน 5 ปี

ฟาก "แจส" ก็เพื่อต่อยอดธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์

"พิชญ์ โพธารามิก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มจัสมิน เผยว่า ตั้งเป้าลูกค้าปีแรกไว้ 2 ล้านราย และจะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 5 ล้านรายใน 3 ปี และว่าขีดความสามารถของคลื่นลอต 1 ที่ความกว้าง 10 MHz รองรับลูกค้าได้ราว 10 ล้านราย

"ถามว่าโอเปอเรเตอร์วันนี้มีกี่รายที่มีทั้งฟิกซ์บรอดแบนด์ และโมบาย มีแค่รายเดียว และเราเป็นรายที่ 2 วันนี้โครงข่าย 3 บีบีครอบคลุม 75% ทั่วประเทศ เข้าถึง 5,500 ตำบล คนอื่นอาจมองว่า การแข่งขันในตลาดเป็น Red Ocean แต่เรามองว่า เป็น Blue เพราะถ้าแยกรายได้ของโอเปอเรเตอร์ปัจจุบันจะเห็นว่าดาต้าไม่เยอะ ยุคของโมบายดาต้าในบ้านเราจึงเพิ่งเริ่มต้น แต่ถ้าให้รอไปอีก 3 ปีข้างหน้าอาจสายเกินไป" 
การประมูลคลื่น 900 MHz จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มจัสมิน และเชื่อว่าจากนี้ไปคงไม่มีใครกล้าเข้ามาในตลาดและอีก 3 ปีจะมีคลื่นมาประมูลไหมก็ยังไม่รู้

"ตั้งแต่ที่ผมประกาศว่าสนใจประมูลคลื่น 4G ก็เตรียมหลายด้าน ตั้งแต่เซอร์เวย์ลูกค้า 3 บีบีว่า ถ้ามีโมบายบรอดแบนด์ ที่เท่าไรเป็นราคาที่ลูกค้ารับได้ อบรมบุคลากรเรื่อง 4G เซอร์เวย์พื้นที่ติดตั้งเสา คุยกับรัฐวิสาหกิจขอเช่าใช้โครงข่าย รวมถึงซัพพลายเออร์เครดิต มีทีมงาน และช็อป 3 บีบีพร้อมเข้ามาทำได้ทันที การขายการทำตลาดจึงไม่ใช่ประเด็น"

ถามว่าจะได้เห็น 4G ของ "แจส" ได้คำตอบว่า เร็วที่สุด แต่ที่สำคัญกว่า คือ "จะใช้ได้มากกว่า เร็วกว่าในราคาที่ดีที่สุด"
"ได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้แน่ ๆ จะต่างจากวันนี้ที่ทุกคนใช้ได้แค่ 3-4 GB ไม่ถึงกลางเดือนก็หมดแล้ว เราจะทำให้เปลี่ยนไปคือใช้ไม่จำกัดผ่านสมาร์ทดีไวซ์คล้ายฟิกซ์บรอดแบนด์ที่ใช้ได้เต็มที่ ตลาดจะเติบโตได้อีกมาก"

การลงทุนโครงข่ายตั้งไว้ที่ 20,000 ล้านบาทใน 3 ปี แหล่งที่มาของเงินลงทุนโครงข่าย และค่าประมูล มีหลายทาง ทั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน JASIF ที่มีเงินสดเหลือหมื่นกว่าล้าน, รายได้ของ 3BB ที่ 5,000 กว่าล้านบาท, ทำ Project Financing กับแบงก์ และ Supplier เครดิต เป็นต้น

"แจส โมบายบรอดแบนด์ยังจะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายใน 3 ปีด้วย รวมถึงเจรจากับพันธมิตรต่างชาติ ทั้งหมดจะไม่กระทบผู้ถือหุ้น Jas (จัสมิน) ทุกอย่างจะไปอยู่ที่บริษัทลูก 100% เรารู้"

ส่วนที่เลือกคลื่น 900 MHz เพราะลงทุนถูกกว่า 1800 MHz ทั้งเงื่อนไขชำระเงินก็เอื้อกับผู้เล่นรายใหม่

"ไม่มีใครอยากให้แจสเกิด เมื่อ 3 รายเดิมไม่ต้องการให้เราเข้ามา ก็รู้อยู่แล้วว่า ราคาประมูลจะสูงมาก แต่ผู้บริโภคจากการสำรวจตลาดได้ฟีดแบ็กที่ดี ทุกคนอยากได้รายที่ 4 เราเป็นรายที่ 4 ที่มั่นใจว่าแข่งขันได้ ที่ผ่านมา 3BB เป็นผู้นำในการเพิ่มสปีด และมีเซอร์วิสที่ดีในราคาที่ดี 4G ก็เช่นกัน เป็น Commitment ที่จะพยายามทำให้ได้ ลูกค้า 3BB จะได้สิทธิพิเศษแน่ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร"

เหนือสิ่งอื่นใดจากนี้กลุ่มจัสมินไม่ต้องกังวลความเสี่ยงเรื่องเทคโนโลยีอีกแล้วเพราะมีทั้งฟิกซ์ และโมบายครบ ฟัง "แจส" แล้วหันมาฟังผู้ชนะอีกรายบ้าง

"ศุภชัย เจียรวนนท์" แม่ทัพกลุ่มทรู ระบุว่าการได้คลื่น 900 MHz เพิ่มอีก 10 MHz ทำให้มีคลื่นรวมกัน 55 MHz มากกว่าคู่แข่งทุกราย ทำให้มีศักยภาพในการให้บริการ 4G ดีที่สุด เพราะเบอร์หนึ่งมีคลื่นแค่ 30 MHzแต่มีลูกค้ามากกว่า 2 เท่า

"ทรูมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดให้ประเทศไทย เราตั้งเป้าด้วยว่าจะทำให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน 4G ที่ดีในระดับที่เป็นศูนย์กลางอาเซียนให้ได้ ซึ่งเป็น 1 ในการวัดศักยภาพการแข่งขันของประเทศ สิ่งที่ได้ประมูลไป และลงทุนต่อ ไม่ได้แค่สร้างมูลค่าให้บริษัท แต่กับประเทศด้วย"

โดยลงทุน 55,000 ล้านบาทใน 3 ปี ขยายโครงข่าย เน้น 4G Advance ทำให้การใช้ "โมบายบรอดแบนด์เร็วขึ้น" กว่า 4G ปกติ และเป็นรายแรกในไทย

"ถ้าให้ไล่คลื่นที่เริ่มที่ 850 MHz กับแคท เรานำมาให้บริการ 3G, ส่วน 900 และ 1800 MHz ที่ 10 และ 15 MHz จะให้บริการ 2G และ 4G เนื่องจาก 50% ในตลาดยังใช้ 2G ส่วน 2100 MHz มี 15 MHz จะให้บริการ 4G จำนวน 10 MHz ที่เหลือให้บริการ 3G"

แม้จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจาก 3 รายเป็น 4 ราย แต่ "ทรู" ตั้งเป้าด้วยว่าจะผลักดันส่วนแบ่งตลาดในแง่มูลค่าเพิ่มจาก 20% ในปัจจุบัน (มูลค่าตลาด 2.4 แสนล้านบาท) เป็น 34% หรือกว่า 1 ใน 3 ภายใน 5 ปี

เงินลงทุน และค่าประมูลมาจากไหน "ศุภชัย" อธิบายว่า มีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคอมมิตกับผู้ขายอุปกรณ์ในการทำเวนเดอร์ไฟแนนซ์ไว้, จากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน DIF, การกู้เงิน, เพิ่มทุนรวมถึงกระแสเงินสดที่มีอยู่ในมือ

"เราประมูล 900 และ 1800 เพื่อรักษาโมเมนตัมในการเติบโต และทำให้โตมากขึ้นไปอีกได้ ต่างจากเบอร์ 1 และ 2 ที่ประมูลเพื่อรักษาฐานลูกค้า มุมมองของเราและคนอื่นจึงต่างกัน คู่แข่งอาจถือเป็นต้นทุน แต่สำหรับเราเป็นการสร้างฐานใหม่ และเพื่อการเติบโต เงื่อนไขการจ่ายเงินยังดีมาก ถ้าใน 3 ปีข้างหน้าโตได้เท่ากับ 3 ปีที่ผ่านมา ศักยภาพบริษัทก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน"

มูลค่าคลื่น 900 MHz อยู่ที่ 76,298 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่จะเป็น "สปริงบอร์ด" ให้บริษัท

"การที่จะมีโอกาสได้คลื่นที่แอ็กทีฟ มีการใช้งานจริงแบบนี้ ใน 20 ปีนี้จะไม่มีให้เห็นอีกแล้วถือเป็นครึ่งชีวิตการทำงานของผม เราได้คลื่นออกมาจากผู้ที่ใช้อยู่ ทำให้คนที่ต้องการ ไม่ได้ ถือเป็น 2 เด้ง ถ้าเราจะเติบโตต่อเนื่องก็ต้องลงทุน และการลงทุนมีความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่พิจารณาแล้วว่าบริหารจัดการได้ และให้ผลตอบแทนสูงมาก"

แม่ทัพกลุ่มทรูยังตอกย้ำด้วยว่า "การเข้ามาให้บริการ 4G เต็มรูปแบบของเราถือเป็น Landscape Change เป็นการพลิกรูปแบบการให้บริการสู่คลื่นที่ครอบคลุมทุกความถี่อย่างเต็มรูปแบบ"

สำหรับการแข่งขันแม้ที่สุดแล้วตลาดจะมีผู้เล่นเพิ่มมาอีกหนึ่งราย เป็นรายที่ 4 แต่ไม่ได้ทำให้กังวลแต่อย่างใด เพราะรายใหม่มีคลื่นเพียง 10 MHz และยังใช้ได้ไม่เต็มที่ เขาจึงมองว่า การแข่งขันหลังจากนี้จึงน่าจะขึ้นอยู่กับเบอร์หนึ่ง และเบอร์สองมากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบอร์หนึ่งที่จำเป็นต้องหาคลื่นมาเพิ่มให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับกับลูกค้าจำนวนมากให้ได้

เปิดอัตราคืนภาษีแต่ละขั้น จากนโยบายซื้อของลดหย่อนภาษี 2558

ซื้อของลดหย่อนภาษี

          เราจะได้เงินภาษีคืนเท่าไร หากซื้อของลดหย่อนภาษี 15,000 บาท ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มาเช็กตัวเลขตามฐานภาษีเงินได้ของตัวเอง 

          เป็นข่าวดีของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งท้ายปลายปี 2558 โดยให้ผู้ที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 สามารถนำค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท มายื่นลดหย่อนภาษีได้ โดยนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบมายื่นเป็นหลักฐาน

          ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากกว่าใครเพื่อนเห็นจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่เสียภาษีในฐานที่สูง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ดูได้จากตารางข้างล่างนี้ ซึ่งอัตราภาษีแบ่งเป็นขั้นตามรายได้สุทธิ

ซื้อของลดหย่อนภาษี

          สรุปได้ว่าผู้มีเงินได้จะได้รับภาษีคืนเท่าไร ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของตัวเอง เช่น ผู้ที่มีฐานภาษี 35% หากช้อปปิ้งไป 15,000 บาท จะได้ภาษีคืนถึง 5,250 บาทเลยทีเดียว ซึ่งเป็นอัตราคืนภาษีสูงสุดของนโยบายนี้ ขณะที่ผู้ที่มีฐานภาษี 5% หากซื้อของไป 15,000 บาทเต็มจำนวน ก็จะได้ภาษีคืนเพียง 750 บาทเท่านั้น 

          อย่างไรก็ตาม การซื้อของดังกล่าวไม่รวมถึงทองคำ (เนื่องจากไม่เสียภาษีอยู่แล้ว), สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

"ประชารัฐ" จัดให้เอาใจนักช๊อป



"ประชารัฐ" จัดให้เอาใจนักช๊อป ... ประกาศเป็นทางการแล้วน่ะครับ ... 15,000 บาทซื้อสินค้าหรือบริการที่มี VAT (ยกเว้น สุรา ยาสูบ น้ำมัน และ รถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ) ขอใบเสร็จตัวเต็มระบุชื่อ เอาไปลดภาษีได้ ....
ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นปี ใครไป โลตัส แม็คโคร สตาร์บัค ที่ไหนๆก็ขอใบเสร็จมาให้หมดครับ ... แต่ถ้าสินค้าหรือบริการนั้นได้ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วนี่ไม่ได้สิทธิ์นี้น่ะ
- ทองคำ
- ตั๋วเครื่องบิน
- ค่าเช่าที่พักอาศัย(ที่ไม่ใช่โรงแรม)
- ผลิตผลการเกษตร
ปล. ปีหน้านี่สงสัยเจ้าหน้าที่ สรรพากร คงปวดหัวน่าดูเวลาทำเรื่องคืนภาษี ต้องมาคอยเช็คใบเสร็จยิบย่อย
รูปภาพของ จริณย์ จาเมศร์

มองสิ่งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียไทย ปี2558


Share on Facebook
Share on Twitter
+
cover-lookback2
กำลังจะผ่านพ้นปี 2558 แล้ว เพื่อเป็นการส่งท้ายปี เลยขอมองย้อนกลับไปดูว่าในปีนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในโลกของโซเชียลมีเดียในประเทศไทยจากมุมมองของผมเอง

แกนหลักเหลือเพียง 3 Facebook YouTube และ Instagram

มองกลับไปสมัยก่อนหลายๆ แบรนด์อยากจะได้ทุกช่องทางสำหรับการสื่อสารให้กับคนที่ต้องการจะติดต่อ แต่พอมาปีนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนว่า คนกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ที่ ถามว่า Twitter หายไปไหน ก็ยังคงอยู่ แต่บทบาทในแง่ของการนำเสนอแบรนด์น้อยลงไปมากเมื่อเทียบกันกับ 3 ช่องทางที่บอกไป

ข้อมูล Insight ถูกนำมาคิดพิจารณามากขึ้น

จากเดิมที่เราเห็นแบรนด์พยายามกวาดคนให้มาเป็นของเขาให้ได้มากที่สุด โดยไม่สนใจว่าคนกลุ่มนั้นจะเป็นใคร ในปีนี้เราเห็นว่าแบรนด์เริ่มเลือกมากขึ้น จำนวน like อาจไม่ใช่เป้าหมาย (แต่บางแบรนด์ก็ยังมั่นใจว่า like เยอะยิ่งเท่) แต่การสื่อสารกับกลุ่มที่เป็นเป้าหมายจริงๆ เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการหว่านไปทั่ว ซึ่งการที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้โดนใจนั้นก็ต้องอาศัยการดูข้อมูลเชิงลึกและมีการวิเคราะห์มากขึ้นก่อนที่จะออกมาเป็นสารให้สื่อไปยังช่องทางที่เหมาะสมกับที่ตัวเองมีอยู่

ฝากร้านสู่การเริ่มต้นของ Social Commerce

“ฝากร้าน” คำนี้เซเลปคงคุ้นชินกับการฝากร้านไม่ว่าจะอยู่บนช่องทางไหนก็สามารถฝากได้ ซึ่งเราเห็นบน Instagram เสียเป็นส่วนมาก แต่พอในปีที่ผ่านมา เราเห็นการทำการขายของที่ไม่ใช่แค่การแปะของแล้วคุยเพื่อ cf สินค้า แต่มีบริการที่เข้ามามีส่วนช่วยในการปิดการขายได้เร็วขึ้น ไม่อยากให้คน drop-off ออกจากหน้า Facebook หรือช่องทางโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน, payment ที่ฝังอยู่บนหน้าโซเชียลเลย สิ่งนี้เริ่มมีขี้นมาแล้วในปีนี้ และปีหน้าเชื่อว่าจะเห็นชัดเจนมากกว่าเดิมและมีคนใช้บริการด้านนี้มากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
แต่ฝากร้านก็ยังคงอยู่เช่นเดิมต่อไป…

Real-Time ที่ไม่สุ่มสี่สุ่มห้า และต้องเร็วกว่าเดิม

ปีก่อนกระแสการสร้าง Real-Time คือกระแสที่คนอยากจะทำอยากจะมีเป็นของตัวเองมาก ปีนี้เท่าที่สังเกตุก็ยังคงมี แต่ปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด และก็ด้วยปริมาณที่น้อยลงกลับมองเห็นคุณภาพในการนำเสนอที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม นั่นคือกว่าจะออกมาได้ย่อมมีการคิดแล้วคิดอีก เพื่อไม่ให้ Content ออกไปไม่มีคุณภาพ
คนที่ทำในนามแบรนด์มีน้อยลง แต่เพจที่เป็นเพื่อความบันเทิงกลับทำเรื่องนี้ได้ดีและต่อเนื่อง ด้วยความที่ไม่ต้องรักษาแบรนด์ แต่ตัวเองก็สามารถแปลงร่างให้กลายเป็นแบรนด์ เป็น Content Creator ได้ง่าย ปีนี้มีผู้เล่นหน้าใหม่เยอะขึ้นกว่าเดิมที่ลงมาแย่งตลาด เพราะความต้องการก็มีเยอะขึ้นมาก
นอกจากนี้ก็เริ่มมีบริการในเชิงที่เป็นมากกว่า Real-Time โผล่ขึ้นมาให้ใช้มากขึ้น สิ่งที่บอกก็คือ In The Moment สิ่งที่ต้องการเดี๋ยวนั้น เช่น Facebook เองมีบริการ Facebook Mentions ถ่ายทอดสดให้กับเหล่าเซเลปได้ใช้ และกำลังจะเปิดให้คนทั่วไปได้ใช้งานในเร็ววันนี้ สิ่งเหล่านี้น่าสนใจว่า คนเริ่มไม่อยากจะได้แบบ Real-Time แต่อยากรู้ไปพร้อมๆ กันกับเราด้วย

Video

ปีก่อนหน้า การนำเสนอข้อมูลแบบ Infographic ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในปีนี้ Infographic มีปริมาณที่ลดลงไปเล็กน้อย โดยสิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คงหนีไม่พ้นวิดีโอ
ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการสร้างเนื้อหาแบบวิดีโอ เพราะทุกคนอยากมีเนื้อหาของตัวเองในรูปแบบนี้ จริงๆ แล้วความต้องการนี้มีมานานแล้ว แต่ด้วยงบประมาณและ mindset ในเวลานั้นยังไม่ให้ความสำคัญกับด้านนี้ พอมาปีนี้ ปีที่ถูกกระตุ้นด้วย Facebook ที่หันมาสู้กับ YouTube เรื่องวิดีโออย่างเต็มตัวด้วยการเพิ่มความสำคัญ จุดนี้คือจุดสำคัญที่ทำให้คนตื่นตัวอย่างรุนแรงในการทำวิดีโอเพื่อมานำเสนอ เพราะเมื่อทำขึ้นมาและอยู่กับช่องทางของ Facebook ก็ทำให้คนเห็นมากกว่าเดิม
ความยาววิดีโอที่นำเสนอ ถ้าไม่สั้นแบบ 15 วิ ก็ยาวเลย ซึ่งก็ต้องมองย้อนกลับไปตั้งแต่ Content ว่ามีอะไรให้เล่า แล้วเล่าไปในทิศทางไหนให้คนติดตาม เพราะการจะรั้งคนให้อยู่กับวิดีโอของเราอยู่ที่ Content ของเราด้วย

ปีหน้าหากตามที่เข้าใจ มันก็ยังเป็นช่วงรอยต่อของสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ด้วยการที่อะไรหลายๆ อย่างปูทางให้เกิดขึ้นแบบแรงๆ ในปีหน้า เราจะเห็นการเข้าถึงกลุ่มคนที่ชัดเจนขึ้น การนำเสนอที่จะมีความตื่นเต้นมากขึ้น ผ่านช่องทางหลักที่คนอยู่เพื่อให้เกิดการ Share ได้ง่ายที่มีตัวเลือกอยู่ไม่กี่ที่ และก็ต้องกันเงินเรื่องโฆษณาเอาไว้ด้วย เพราะโฆษณาคือสิ่งที่จำเป็นในการดำรงอยู่บนโลกโซเชียล
แล้วมารอดูปี 2559 ว่าจะมีอะไรน่าตื่นเต้นในด้านโซเชียลกันครับ

ทีวีดิจิทัลแบกต้นทุนไม่ไหว ซุ่มคุยกสทช.คืนใบอนุญาต



ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กสทช.เปิด ทางคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล หลังแบกต้นทุนไม่ไหว จากปัญหาเศรษฐกิจ งบฯโฆษณาไม่กระเตื้อง แต่เสียงแข็งถึงคืนก็ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต "เวิร์คพอยท์-พีพีทีวี" เดินหน้าสร้างเรตติ้งต่อเนื่อง มีเดียเอเยนซี่ คาดเม็ดเงินโฆษณาช่องใหม่ปี 2559 ทะลุหมื่นล้านแน่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายช่องได้ขอเข้าหารือเกี่ยวกับแนวทาง ในการคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนได้ไหว โดยขณะนี้กำลังมีการหารือถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการได้

"เข้ามา หารือกันหลายรายแล้ว แต่คงบอกไม่ได้ว่ามีรายไหนบ้าง ก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจ หากจะปล่อยให้ต้องรับภาระขาดทุนไปเรื่อย ๆ การคืนไลเซนส์กลับมาแล้ว กสทช.นำไปประมูลใหม่ เอารายได้เข้ารัฐก็น่าจะดี แต่ก็ต้องหาทางที่จะทำได้โดยรัฐไม่เสียประโยชน์ ตอนแรกคิดว่าจะให้คืนไลเซนส์ แล้วเมื่อ กสทช.นำกลับไปประมูลใหม่ หากจบการประมูลในราคาที่ถูกลง ก็ให้เอกชนที่คืนใบอนุญาตจ่ายเงินส่วนต่างกลับมาให้รัฐ แต่ก็ถูกท้วงว่าจะเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างช่องที่ประมูลรอบแรกในราคา สูง กับช่องที่ประมูลรอบใหม่ ซึ่งต้องมีราคาต่ำกว่าแน่นอน เพราะได้เห็นสภาพตลาดจริงแล้ว"

ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ตามประกาศของ กสทช.ที่มีอยู่นั้น หากผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลต้องการจะคืนใบอนุญาต ก็สามารถทำได้ แต่ต้องชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตในส่วนที่เหลือด้วยทั้งหมด ซึ่งหากต้องการคืนเพราะประสบภาวะขาดทุนก็ไม่ได้ช่วยลดภาระแต่อย่างใด แต่ในส่วนที่มีการหารือว่าอยากจะให้ กสทช.หาแนวทางช่วยเหลือนั้น ยังไม่ได้มีการเสนอขึ้นมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ความคืบหน้า กรณีบริษัทไทยทีวี ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัล ไทยทีวี และโลก้า ที่อยู่ระหว่างการระงับการออกอากาศภายใน 90 วัน โดยจะครบกำหนดภายในปลายเดือน ม.ค. 2559 ปัจจุบันทางบริษัทไทยทีวียังไม่ได้มีการชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตในงวดที่ 2 แต่อย่างไร และหากครบระยะเวลา 90 วัน ทาง กสท.จะมีมติเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

"ส่วนจะต้องมีการประมูลทั้ง 2 ช่องใหม่หรือไม่เมื่อใด ยังไม่ได้มีการหารือภายในบอร์ด"

แหล่ง ข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลรายใหญ่ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากทีวีดิจิทัลออกอากาศ ก็เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาต่อเนื่อง ทั้งงบฯโฆษณาและเรตติ้งที่ไม่ได้เติบโต ทำให้มีผู้ประกอบการช่องใหม่ยื่นฟ้อง กสทช.ที่ดำเนินการล่าช้า แต่ปัญหาทุกอย่างก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าบนธุรกิจนี้ต่อ แต่หันมาบริหารจัดการต้นทุนภายในมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายท่ามกลางงบฯโฆษณาคงที่และเรตติ้งที่ยังไม่ดี

"ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ อาจจะสู้ต่อได้ไม่เต็มที่ บางช่องรอดูกรณีไทยทีวีที่คืนใบอนุญาต 2 ช่อง หากไทยทีวีชนะคดี ก็อาจจะมีหลายช่องตัดสินใจคืนใบอนุญาตเพิ่ม ขณะที่เป้าหมายของ กสทช. คือ ไม่ต้องการให้คืนใบอนุญาต แต่ต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกันระหว่าง กสทช.และผู้ประกอบการ"

นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องเวิร์คพอยท์ทีวี กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรณีที่ว่าจะมีผู้ประมูลล้มหายจากไปจากธุรกิจทีวีดิจิทัลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจแต่ละบริษัท เนื่องจากใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี ผู้ประกอบการทุกรายก็คงวางแผนระยะยาวมาแล้ว หลังจากทีวีดิจิทัลออกอากาศมาได้ 20 เดือน พบว่าบางสถานีเริ่มมีฐานผู้ชมที่แข็งแรงและมีส่วนแบ่งตลาดแล้ว โดยเฉพาะช่องที่มีเรตติ้ง 10 อันดับแรก แต่ช่องที่มีเรตติ้งอันดับที่ 6-10 อาจจะยังไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของคอนเทนต์ในเวลานั้น ๆ ส่วนช่องที่มีเรตติ้งต่ำกว่านี้ ปี 2559 ก็ยังเป็นอีกปีที่เหนื่อยในการช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณา

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวีเอชดี กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องเผชิญอีกในปี 2559 ยังเป็นปัญหาเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศ คือ งบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีไม่ได้โตจากปัญหาเศรษฐกิจ อีกทั้งต้องจ่ายค่าประมูลงวดที่ 3 ทำให้หลาย ๆ ช่องระมัดระวังการใช้จ่ายและตัดลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลง ขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ เพื่อดึงความสนใจผู้ชม

ทั้ง นี้ปี 2559 หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เรตติ้งบางสถานีก็ไม่เพิ่มขึ้น อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายตัดสินใจคืนใบอนุญาต เพราะธุรกิจทีวีต้องใช้งบฯลงทุนมาก ถ้าขาดทุนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ก็คงไม่ไหว ขณะเดียวกันด้วยปัจจัยลบที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้ระยะเวลาการคืนทุนผู้ประกอบการอาจจะต้องยืดออกไปเป็น 7 ปี จากเดิมที่วางไว้ 3-5 ปี

"ช่องที่ลงทุนไปแล้ว ก็ตัดสินใจว่า จะไปต่อหรือไม่ ท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ปี 2559 อาจจะมีบางรายยอมถอย แต่จะเป็นรายไหนก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางธุรกิจ"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ประกอบด้วย ช่องวัน, จีเอ็มเอ็ม 25 พีพีทีวีเอชดี ไทยรัฐทีวี และไบรท์ทีวี ยื่นฟ้อง กสทช, สำนักงาน กสทช.และเลขาธิการ กสทช. เรื่องดำเนินการล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายที่จะให้มีการเปลี่ยนผ่านเป็นที วีดิจิทัล พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย ตามด้วยกลุ่มเนชั่น ประกอบด้วย เนชั่นทีวีและ NOW26 ยื่นฟ้อง กสทช.กับพวก ข้อหาละเลยหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวี ดิจิทัลด้วยเช่นกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างไต่สวนคดี

นางปัทมวรรณ สถาพร กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ ประเทศไทย มีเดียเอเยนซี่ กล่าวว่า แนวโน้มการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวียังกระจุกที่ช่องเก่าเป็นหลัก มีสัดส่วนถึง 69% ของงบฯทีวี ขณะที่ช่องใหม่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีสัดส่วนเป็น 17% ของงบฯทีวี และมีแนวโน้มขยับขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของช่องใหม่ ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เวิร์คพอยท์ ช่อง 8 ช่องวัน เมื่อเพิ่มคอนเทนต์ เรตติ้งก็ขยับขึ้น

"ทีวีดิจิทัลอยู่ในช่วงขา ขึ้น เพราะผู้ชมไม่ได้แบ่งว่าช่องไหนเป็นช่องใหม่หรือช่องเก่า คาดว่างบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีช่องใหม่ในปี 2559 จะทะลุ 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน อีกทั้งต้องสร้างบุคลิก แคแร็กเตอร์ของช่องให้ชัดเจน"

จากรายงานความ นิยมผู้ชม (เรตติ้ง) ทีวีดิจิทัลเฉพาะช่องใหม่ (ไม่รวมช่อง 3-5-7-9) ในกลุ่มผู้ชมที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ของมายด์แชร์ วันที่ 20 ธันวาคม 2558 พบว่า ช่องที่มีเรตติ้ง 10 อันดับแรก ได้แก่ เวิร์คพอยท์ ช่อง 8 โมโน 29 ช่องวัน ช่อง 3 เอสดี ช่อง 3 แฟมิลี่ ไทยรัฐทีวี ทรูโฟร์ยู พีพีทีวี อมรินทร์ทีวี

เปิดผลวิจัย ยุค คสช.งัดสารพัดวิธีควบคุม-แทรกซึมโลกอินเตอร์เน็ต

เปิดผลวิจัย ยุค คสช.งัดสารพัดวิธีควบคุม-แทรกซึมโลกอินเตอร์เน็ต

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 24 ธันวาคม 2558 เวลา 18:13 น.
เขียนโดย
IsranewsDecrease
IncreaseFont size
"ดูเหมือนว่าที่ผ่านมารัฐยังไม่เข้าใจหรือพยายามจะไม่เข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ธุรกิจดิจิทัลหรือ digital economy นั้นคืออะไร ทั้งที่เมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สบายที่ใครอยากจะระบายอะไร หรือแสดงความเห็นสามารถทำได้อย่างสบายใจ แต่วันนี้เราสังเกตเห็นได้เลยว่า คนไทยเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เริ่มรู้สึกว่ามีคนจับจ้อง เล่นงานอยู่ ความวางใจถูกกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก”
 
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ชั้น 11 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai netizen network) จัดเสวนา “ระบอบการกำกับดูแลโลกไซเบอร์ไทย นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  โดยมีอาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายกิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอินเทอร์เน็ต ร่วมเวที และดำเนินรายการโดยนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต 
เวทีเสวนาเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า หลังการทำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐทหารมีความพยายามในการเข้ามาแทรกแซงโลกไซเบอร์อย่างไรบ้าง
อาจารย์ทศพล หยิบยกข้อมูลจากงานวิจัยที่ใช้เวลาเก็บข้อมูลมากว่า 1ปี 7เดือน และว่า เดิมทีอินเทอร์เน็ตถูกสร้างขึ้นมาโดยปราศจากการเข้ามาแทรกแซงของรัฐ และให้การพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นตัวกำกับ และต่อมาเมื่อมีการใช้งานมากขึ้น รัฐจึงเริ่มเข้ามาควบคุมโลกไซเบอร์มากขึ้น โดยมีรูปแบบปลีกย่อยต่างออกไป เช่นรูปแบบลักษณะที่มีรัฐเข้ามา แต่ยังให้ผู้ประกอบการเอกชนกำกับดูแลเงื่อนไขต่างๆ (Term&Condition)  หรือในรูปแบบที่รัฐออกกฏหมายและตั้งหน่วยงานขึ้นมาควบคุม  รวมถึงการพยายามทำให้สังคมเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลด้วย
แต่รัฐไทยปัจจุบันเลือกที่จะใช้การควบคุมแบบอำนาจรวมศูนย์ ซึ่งมีประเทศไม่กี่ประเทศที่ใช้ลักษณะแบบนี้ อย่างเช่น ประเทศจีนคือตัวอย่างของการควบคุมแบบอำนาจรวมศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง The Great Firewall 
thainet1
อาจารย์ทศพล ระบุถึงงานวิจัยพบว่า วิธีการควบคุมแบบรวมศูนย์ของรัฐบาลนั้น มีตั้งแต่การใช้การสอดแนม หรือการใช้การดักจับข้อมูลในลักษณะ Man in the Middle  การออกกฎหมายโดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และแนวคิดการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ แม้กระทั่งมีการพยายามจับกุมและดำเนินคดีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สั่งปิดเว็บไซต์ หรือปิดกั้นการเข้าถึง (Block) การใช้กฎหมาย มาตรา44 และม.112 รวมไปถึง ม.116 
ทั้งนี้จาการวิจัย อาจารย์ทศพล เผยว่า รัฐมีการใช้สายลับ  อาทิ การให้เจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้าไปในกรุ๊ปในเฟซบุ๊กเพื่อจับตาผู้ใช้ การใช้เครือข่ายประชาชนช่วยเฝ้าระวัง เช่น โครงการลูกเสือไซเบอร์ โครงการร้านเน็ตใสสะอาด และมีการให้รางวัลผู้ที่พบเห็นการโพสต์เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย
ถามว่า ทำไมรัฐถึงกลัวพลังในโลกไซเบอร์ เรื่องนี้อาจารย์ทศพล ยกกรณีตัวอย่าง  Arab Spring ซึ่งโลกได้เห็นมาแล้วจากเหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในประเทศแถบตะวันออกกลาง  ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือจนทำให้เผด็จการทหารอยู่ไม่ได้
หรือในกรณี  การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ที่มีการใช้พลังของโซเชียลเข้ามาทำให้สามารถล้มรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จ  บทเรียนเหล่านี้ทำให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยเกิดความกลัว ผนวกกับการที่ไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จัดว่าค่อนข้างสูง ทหารจึงเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องเข้ามากำกับควบคุมพื้นที่บนอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของไทยและจีนแตกต่างกัน อาจารย์ทศพล อธิบายว่า ทางการจีนออกแบบระบบที่รวมศูนย์เช่นนี้มาตั้งแต่แรกของการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศ  ขณะที่ประเทศไทย ในช่วงแรกอินเทอร์เน็ตถูกกำกับดูแลโดยเอกชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะมาถูกเปลี่ยนเป็นการกำกับดูแลแบบรวมศูนย์หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 
 "ภายใต้บริบทที่ต่างกันเช่นนี้ ความพยายามกำกับควบคุมอินเทอร์เน็ตของรัฐไทยจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น” อาจารย์ทศพล ตั้งคำถาม
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการที่รัฐบาลพยายามเข้าหารือกับบริษัทเอกชนอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล แสดงให้เห็นว่า ในการกำกับดูแลดังกล่าว รัฐไทยไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับบริษัทเอกชน  
อาจารย์ทศพล ยังตั้งคำถามต่อการกระทำของรัฐว่า การที่รัฐพยายามขโมยข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ตัวบุคคล เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน  การกระทำดังกล่าวกระทำโดยมีหมายศาลหรือไม่ ถ้ากระทำก่อนแล้วค่อยขอหมายศาลก็เป็นการกระทำที่มีปัญหา แต่ถ้าศาลอนุญาต ก็มีคำถามต่อมาว่า ศาลใดเป็นผู้อนุญาต แล้วทำไมถึงอนุญาตให้กระทำการเช่นนั้นได้ ซึ่งวิธีการแบบนี้ เรียกว่า การก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อาจารย์ทศพล กล่าวว่า รัฐบาลความพยายามใช้การโน้มน้าวประชาชน เช่น การพยายามโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)  อย่างการสั่งทำสติ๊กเกอร์ไลน์ “คืนความสุข” ของกองทัพ หรือการสร้างเพจเฟซบุ๊กจำนวนมากเพื่อโพสต์เนื้อหานิยมชมชอบรัฐบาล มีการจ้างเจ้าหน้าที่ควบคุมทิศทางการนำเสนอข่าว รวมทั้งการพยายามขีดเส้นว่า เรื่องใดที่ประชาชนพูดได้ และเรื่องใดที่ห้ามพูด อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 
ในขณะเดียวกันที่รัฐพยายามทำการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต รัฐเองกลับออกนโยบายที่จะสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของธุรกิจดิจิทัล 
"ดูเหมือนว่า รัฐยังไม่เข้าใจหรือพยายามจะไม่เข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ธุรกิจดิจิทัลหรือ digital economy นั้นคืออะไร ทั้งที่เมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สบายที่ใครอยากจะระบายอะไร หรือแสดงความเห็นสามารถทำได้อย่างสบายใจ แต่วันนี้เราสังเกตเห็นได้เลยว่า คนไทยเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เริ่มรู้สึกว่ามีคนจับจ้อง เล่นงานอยู่ ความวางใจถูกกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก”
อาจารย์ทศพล กล่าวอีกว่า ดูเหมือนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง กลุ่มคนอีกกลุ่มที่จะเดือดร้อนมากคือกลุ่มธุรกิจไอที และบรรยากาศการควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบนี้จะไม่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจไอที ซึ่งต่างจากสิงคโปร์หรือฮ่องกง แล้วยังงี้การลงทุนในธุรกิจดิจิทัล กลุ่มลงทุนจะเลือกไปที่ไหนมากกว่า ระหว่างประเทศที่มีเสรีภาพกับประเทศที่ทุกอย่างดูรัฐจับตา 
thainet
ด้านนายกิตติพงษ์ กล่าวถึงสงครามไซเบอร์ หรือcyber warfare ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับประวัติศาสตร์สงคราม และลักษณะของ cyber warfare นั้นมีเป้าหมายในสเกลระดับประเทศหรือระดับสากล คือการเข้าไปทำลายระบบทั้งระบบ (Critical infranstructure) ในส่วนของไทยนั้นยังไม่ถึงขั้นของการก่อให้เกิด cyber warfare เรายังอยู่แค่ในระดับ cyber crime แต่หากต้องเผชิญจริง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไทยไม่พร้อมรับมือแน่นอน เพราะที่ผ่านมาก็พบว่า ขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองของรัฐไทยยังป้องกันตัวเองยังไม่ได้ เช่นกรณีที่มีการถล่มเว็บไซด์ของภาครัฐในช่วงการประท้วง single gateway ที่ผ่านมา เป็นต้น 
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านระบบอินเทอร์เน็ต ยังกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลต้องการควบคุมพื้นที่อินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์ รัฐก็ต้องมีขีดความสามารถดังต่อไปนี้
1.มีความสามารถในการฟังหรือเข้าถึงข้อมูล ความพยายามจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์เป็นความพยายามหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถนี้
2.มีความสามารถในการคัดกรองข้อมูล
3.มีความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล 
4.มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล
5.มีทรัพยากรบุคคลที่พร้อม มีความรู้และทักษะที่จำเป็น 
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า หากรัฐไทยมีขีดความสามารถทางเทคนิคข้างต้นครบ เราก็สามารถเป็นอย่างประเทศจีน ซึ่งควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างไเบ็ดเสร็จด้ อย่างไรก็ตาม แม้เราจะใช้งบประมาณลงทุนมหาศาลเพื่อให้ได้เหมือนอย่างจีน แต่ก็เห็นได้ว่า ยังมีช่องโหว่มากมาย
"อย่างกรณีที่ผมไปเซียงไฮ้ ปรากฏว่าผมยังสามารถใช้งานเฟซบุ๊คได้ตามปกติ และจะสังเกตได้ว่า ทางการจีนเองก็เริ่มมีการผ่อนปรนในการจำกัดการเข้าถึงโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้ารัฐไทยจะทำจริงๆ ถามว่าจะคุ้มไหมหากรัฐต้องการจะทำ"
ด้านอาจารย์สาวตรี  กล่าวว่า หลังจากรัฐบาล คสช.ขึ้นมา จะเห็นได้เลยว่า มีความพยายามในการเข้ามาควบคุมการออกความเห็นของประชาชน ตั้งแต่การออก พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ ใช้อำนาจในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล และพบว่า มีการขยายอำนาจทางกฎหมายอาญาให้ไปคุ้มครองกว้างมากขึ้น อย่างกรณี ม.116 ที่มีความพยายามในการตีความกว้างครอบคลุมตัวนายกรัฐมนตรีไปด้วย และยังมีการใช้มาตรากฎหมายในลักษณะบิดเบือน 
การออกกฎหมายโดยการตั้งองค์กรความมั่นคงเพิ่มขึ้นในลักษณะเพื่อการควบคุมในด้านนี้โดยตรง อาจารย์สาวตรี ตั้งคำถามว่า เป็นการคุ้มครองหรือเป็นการควบคุมกันแน่ 
ประเด็นนี้อาจารย์สาวตรีตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงหลังรัฐประหาร  เห็นได้ชัดว่ามีการนำกฎหมายด้านความมั่นคงซึ่งมีโทษสูง เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 มาใช้  แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อเอาผิดพยายามเอาผิดกับผู้แสดงความคิดเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต ในเหตุที่ทำให้ทางรัฐมีความพยายามในมาตราหนักๆ เหล่านี้ทำให้คดีหลายคดีถูกพิจารณาในศาลทหาร 
 "ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลต้องการให้คดีเหล่านี้เป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ประชาชนคนอื่นเกิดความหวาดกลัว จนกระทั่งต่อไปนี้จะกดไลท์ไม่อาจไม่กล้า” อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์กล่าว และว่า การควบคุมโลกออนไลน์ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่ได้มาจากรัฐบาลหรือทหารฝ่ายเดียว แต่เป็นประชาชนด้วยกันเองด้วยอย่างเช่นมีการฟ้องร้องใน ม.112 เพิ่มากขึ้น รวมไปถึงการกลั่นแกล้ง 
ทั้งนี้อาจารย์สาวตรี ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงที่มีปัญหาทางการเมืองยังเป็นช่วงที่มีการฟ้องร้องในคดี ม. 112 อย่างมีนัยยะสำคัญ สังเกตได้จากตัวเลขที่ทาง iLaw ได้มีการบันทึกเอาไว้ จะเห็นได้ว่า ช่วงหนักอย่าง ปี 2552 มีคดี ม.112 กว่า 104 คดี เทียบกับ ปี 2550 ที่มีเพียง 36 คดี หรือในปี 2555 มีแค่เพียง 23 คดี แต่อย่างปี 2557 มีมากถึง 96 คดี 
ในส่วนของคดีในมาตรา 116 นั้น อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. เปรียบเทียบให้เห็นว่า ระหว่างรัฐบาลที่มากจากการเลือกตั้ง กับรัฐบาลทหารนั้นเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะก่อนรัฐประหาร คดีม.116 มีเพียง 4 คดี แต่หลังจากรัฐประหารตัวเลขกระโดดมาที่ 10 คดี ทั้งๆ ที่มีการต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรงพอๆ กัน แต่ทำไมในช่วงก่อนรัฐประหารถึงมีน้อยกว่ามาก 
ในส่วนทิศทางของการควบคุมอินเทอร์เน็ตของไทยในอนาคต อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.  มองว่า ประเทศไทยจะยังมีการควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบนี้ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและจนกว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่หากมองในระดับโลก การควบคุมอินเทอร์เน็ตโดยรัฐก็จะเข้มงวดขึ้นด้วย เพราะมีประเด็นเรื่องการก่อการร้ายสากลเข้ามา  
ทั้งนี้อาจารย์สาวตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
1. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดให้นำผู้ที่ทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อที่รัฐประหารจะได้ไม่เกิดขึ้นอีกเหมือนดังที่หลายประเทศทำมาแล้ว  
2. ต้องมีการปฏิรูปกองทัพ โดยลดบทบาททางการเมืองและลดงบประมาณของกองทัพลง เพื่อให้ทหารกลายเป็นทหารอาชีพจริงๆ แต่คำถามคือรัฐบาลพลเรือนที่จะเข้ามาจะกล้าทำหรือไม่
3. ควรมีศาลชำนาญการพิเศษในเรื่องไอทีโดยเฉพาะ และมีผู้พิพากษาสมทบที่มีความรู้เรื่องนี้
4. ปรับแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อระบบเท่านั้น ไม่รวมเรื่องเนื้อหา
5. ทบทวนว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จำเป็นหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องมีควรต้องการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อป้องกันและดูแลความปลอดภัยไซเบอร์
6. ควรมีองค์กรข่าวสารและต้องมาจากการร่วมทุกภาคส่วน
7. ควรมีการตั้งองค์กรตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างกรณีประเทศเยอรมนี ที่มีองค์กรอิสระที่ควบคุมดูเเลว่ามีแม่ทัพหรือคนในกองทัพที่เข้าข่ายพฤติกรรมที่ไม่เคารพประชาธิปไตยหรือไม่
8. กฎหมายอาญาต้องไม่เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจเกินขอบข่าย
9. เปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเข้าถึงพยานหลักฐานดิจิทัลปฐมภูมิได้อย่างเท่าเทียมกัน

สปท.เล็งเสนอใช้ ม.44 ฟันสื่อออนไลน์กระทบมั่นคง - ให้ นสพ.อยู่ใต้ตำรวจ

MGR Online - กรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ สปท.ห่วงสื่อออนไลน์มีอิทธิพลสูง เหตุเข้าถึงเร็ว คนไทยใช้มากติดอันดับโลก จ่อเสนอ คสช.ใช้มาตรา 44 จัดการสื่อออนไลน์ที่กระทบความมั่นคง-ล่วงละเมิดสถาบันฯ แย้มแก้กฎหมายให้สื่อสิ่งพิมพ์มาอยู่ในความดูแลของตำรวจ
      
       วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ปิยะ สอนตระกูล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ให้การต้อนรับ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นางประภา เหตระกูล รองประธานกรรมาธิการ สปท. และ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองประธานกรรมาธิการ นำคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อออนไลน์ คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ และคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านวิทยุกระจายเสียง ด้านวิทยุโทรทัศน์ และด้านโทรคมนาคม และคณะ 60 คน พร้อมหน่วยในสังกัด ตร.ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สยศ.ตร., สงป., กมค., บช.ก., บช.ส., สทส., บช.ศ., ตท. และ สท.เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปด้านสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม รวมทั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน และคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เยี่ยมชมศึกษาการปฏิบัติงานของ ศปก.ตร.ด้วย
      
       พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวภายหลังว่า การประชุมในวันนี้เป็นการหารือกันเพื่อหาแนวทางและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปสื่อเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยมีกรอบทำงานเป็น 3 ด้าน คือ ด้านสื่อสิงพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และด้านสื่อออนไลน์ โดยเน้นการกำกับดูแลที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไม่ใช่การควบคุม ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ และสถาบันหลักของชาติ โดยต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือประชาชน โดยยอมรับว่าสื่อที่กำลังมีปัญหากระทบต่อสังคม คือ สื่อออนไลน์ เพราะผู้ผลิตสื่อสามารถส่งข้อมูลถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ที่เป็นสื่อหลัก ซึ่งยังมีระบบการคัดกรองอยู่ และเป็นปัญหาหนักที่ต้องยอมรับว่าแก้ไขยากของ สปท.ชุดนี้ ในฐานะอนุกรรมการด้านการปฎิรูปสื่อออนไลน์ ยอมรับว่าสื่อออนไลน์จากการเข้าไปดู สื่อชนิดนี้ในประเทศไทย เป็นปัญหาหลักที่ต้องเข้าไปแก้โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ผู้ให้บริการอยู่ในต่างประเทศ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทิวบ์ ซึ่งการเข้าไปกำกับดูแลทำได้ยาก
      
       พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ปัญหาที่พบในสื่ออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างมาก และพบมีการส่งข้อมูลผ่านสื่ออนไลน์ในลักษณะกระทบสังคม กระทบความมั่นคง กระทบสถาบันฯ ยุยงปลุกปั่น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข บางเรื่อง สปท.พิจารณาว่าควรแก้ไขโดยด่วน เร็วๆ นี้จะมีการเสนอขอใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อระงับยับยั้งสื่อออนไลน์บางสื่อที่พบว่ากระทบต่อความมั่นคง และสถาบันฯ ขณะที่ในวันที่ 14 มกราคม 2559 ตัวแทนจากบริษัทกูเกิลประเทศไทยจะขอเข้าพบ กมธ.ชุดนี้ ขณะที่ในวันที่ 21 มกราคม 2559 รองประธานบริษัทกูเกิลก็จะเข้าพบ เพื่อร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้เหตุที่ กมธ.ชุดนี้ให้ความสำคัญ กับสื่ออนไลน์ เป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเพราะการส่งข้อมูลที่กระทบสังคมอย่างรวดเร็ว อีกส่วนหนึ่งคือการขยายตัวของสื่อประเภทนี้ โดยมีข้อมูลพบว่า ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตของผู้บริโภคสื่อออนไลน์มากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก มีผู้ใช้แอปพลิเคชันไลน์ 32 ล้านคน ใช้เฟซบุ๊ก 34 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นอัตราเติบโต ที่ สปท.เล็งเห็นว่าควรเร่งกำกับดูแล
      
       ประธาน กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ กล่าวอีกว่า ย้ำว่าการทำงานของ สปท.ไม่ใช้เพื่อควบคุม หลักการคือให้สื่อยังมีเสรีภาพ สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยไม่มีเงื่อนของทุน การเมือง หรืออื่น ๆ มาครอบงำ อย่างไรก็ตามในกฎหมายกำลังคุยกันว่า เห็นควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม เข้ามากำกับดูแลสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เป็นเพียงการคุยกันเบื้องต้น ในอนาคตต้องคุยกันว่าควรมีการออกแบบหน่วยงานขึ้นมาดูแลกำกับสื่อมวลชนหรือไม่ เพราะในอนาคต กระทรวงไอซีทีที่กำกับดูแลสื่อออนไลน์จะปรับโฉมเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยหน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ จะดูแลทั้งในแง่คุณภาพ เสรีภาพ และการพัฒนาศักยภาพ ร่วมทั้งสวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ทั้งนี้ ใน กมธ.ยังคุยกันคือการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง
      
       นางประภา ศรีนวลนัด รองประธานกรรมาธิการ สปท.กล่าวว่า สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล ซึ่งเราเห็นว่าเดิมทีสื่อสิ่งพิมพ์ขึ้นอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ว่าได้ถูกนำไปใช้เป็นของกระทรวงวัฒนธรรม และเราเห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้มีเวลาลงมาดูแลเนื่องจากมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เยอะการที่เราอยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมมือเพราะว่า เป็นประโยชน์การจดแจ้งหรือด้านอื่นๆ ขณะนี้เรากำลังพยายามแก้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ในขณะเดียวกันสภาปฎิรูปฯ ก็ได้ทำเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ การไม่แทรกแซงสื่อ และการให้ความร่วมมือให้มีเสรีภาพกับผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน เราพยายามจะทำให้สื่อสารมวลชนทั่วประเทศมีสิ่งรองรับที่ดี รวมทั้งมีการพยายามอบรมสื่อเพื่อให้ก้าวทันโลก เพราะมีสื่อเพิ่มขึ้นมามาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ทันที ซึ่งนำเนื้อความจากหนังสือพิมพ์ไปใช้ เพราะฉะนั้น หากอยากให้เยาวชนรักการอ่านได้ประโยชน์ก็ต้องมีสื่อที่ดีด้วย ทั้งนี้ก็ต้องฝากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำไปคิดว่าอยากได้อำนาจนี้กลับคืนมาหรือไม่ด้วย
       

รัสเซียให้หลักฐาน ว่าตุรกีสนับสนุนไอเอส แก่ฝรั่งเศส

รัสเซียให้หลักฐาน ว่าตุรกีสนับสนุนไอเอส แก่ฝรั่งเศส
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัสเซียกล่าวในวันนี้(25 ธ.ค.)ว่า รัสเซียได้ให้หลักฐานที่พิสูจน์ว่าตุรกีสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายไอเอสในซีเรียแก่ฝรั่งเศส
“พลเอก วาเลรี เกราซีมอฟ( Valery Gerasimov )ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปล้นทรัพยากรธรรมชาติในซีเรียอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรเหล่านี้ถูกขายเพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับไอเอส รวมถึงบทบาทของตุรกีในกระบวนการนี้" รัฐมนตรีกล่าวในแถลงการณ์ที่ปล่อยออกมาหลังจากที่ นายพล วาเลรี เกราซีมอฟคณะเสนาธิการทหารของกองทัพรัสเซียได้พบปะกับนายPierre de Villiersจากฝรั่งเศสที่กรุงมอสโก
รัฐมนตรีอ้างว่าตุรกีลักลอบขนทหารก่อการร้ายไปยังทางตอนเหนือของซีเรียเพื่อเสริมกำลังให้กับกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้ระบุแนวโน้มสำหรับความร่วมมือในอนาคตที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างคณะการทำงานของผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย
ทั้งสองฝ่ายกล่าวว่าจะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงทีเพื่อให้ปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายที่เป็นกลุ่มไอเอสดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ฝรั่งเศสเป็นชาติยุโรปชาติแรกที่ประกาศเข้าร่วมในชาติพันธมิตรสู้ไอเอสในซีเรียที่นำโดยสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีตั้งแต่รัสเซียได้มีปฏิบัติการทางอากาศในซีเรีย ทั้งรัสเซียและฝรั่งเศสก็ยังไม่ได้มีการร่วมมือหรือมีความพยายามร่วมกันแต่อย่างใด
(ขอบคุณรูปจาก Sputnik News)