PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เส้นทางนายกฯคนใหม่

ใกล้เข้ามาอีกไม่นานการเมืองจึงคึกคักรอหย่อนบัตร ถามว่าใครจะเป็นนายกฯคนใหม่ต้องเริ่มจากการโหวตในรัฐสภา จากนั้นต้องหาพรรคพวกมาร่วมเป็นรัฐบาลมั่นคงเพื่อไปให้รอด

ข่าว “เขย่าขวด” สุดสัปดาห์นี้ว่าไปแล้วการเมืองที่กำลังก้าวเดินไปสู่การเลือกตั้งดูท่าจะคึกคักเป็นพิเศษ

นั่นเพราะประเด็นหนึ่งคือการเลือกตั้งหายเข้ากลีบเมฆไปเสียหลายปี

ใช่ว่าบรรดานักการเมืองเท่านั้นที่จะเหี่ยวแห้งเนื่องจากไม่มีเวทีให้เล่น ประชาชนคนที่เคยได้ไปใช้สิทธิก็พลอยเฉาไปด้วย

จะเปิดเวทีอีกครั้งก็เลยคึกคักกันไปทั้งประเทศ

นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศก็คงจะอยู่ในบรรยากาศเดียวกัน การตัดสินใจอะไรต่างๆก็รอตรงนี้แหละ...

ใครเป็นนายกฯคนใหม่ พรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาลค่อยมาว่ากันอีกที

วันนี้...พรรคพลังประชารัฐดูเหมือนจะมีการจับตาความเคลื่อนไหวมาก คงมาจากการที่นักการเมืองเก่า อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรีเข้าไปสังกัดอย่างได้เนื้อได้น้ำ

กลายเป็นตัวเต็งขึ้นมาเทียบกับเพื่อไทย

ประชาธิปัตย์จึงถูกมองกันห่างๆ เท่านั้น

ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาจาก จำนวน ส.ส. 500 คน ระบบเขตเลือกตั้ง 350 คน ที่เหลืออีก 150 คนมาจากปาร์ตี้ลิสต์

ครึ่งหนึ่งหรือกึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง พรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องรวบรวมเสียงให้ได้เกินกว่า 251 คนขึ้นไปจึงจะมั่นคงในเสถียรภาพและบริหารประเทศได้

การเมืองด้วยกฎกติกาที่เปลี่ยนไปมีการใช้สิทธิพรรคการเมืองทุกพรรคสามารถเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่จะเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อชิงตำแหน่งนายกฯพรรคละ 3 คน

เท่ากับว่าประชาชนได้รับรู้ล่วงหน้าว่าบุคคลที่จะมีโอกาสเป็นนายกฯในฐานะตัวแทนพรรคและยังสามารถกาบัตรเลือกนายกฯได้ด้วยในใบเดียวกัน

ว่ากันว่า เกมการชิงเก้าอี้นายกฯหลังเลือกตั้งน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

ที่ว่าอย่างนี้ อยากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น อย่างพรรคพลังประชารัฐที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

250 ส.ว.คือเสียงที่อยู่ในกำมือของ คสช.ที่แต่งตั้งเองกับมือ

อยู่ที่ว่าในจำนวนนี้จะได้เสียงเต็มๆหรือไม่?

เท่ากับว่าพรรคกองหนุนมี 250 เสียงแล้ว หากได้เสียง ส.ส.อีกอย่างน้อยต่ำสุด 126 เสียง บวกกันแล้วก็จะได้ 376 เสียง ก็เกินครึ่งจากจำนวนสมาชิกรัฐสภา 750 คน

ได้เสียงเท่านี้ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันที

แต่แม้จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นนายกฯ ทว่ายังจะต้องจัดตั้งรัฐบาลซึ่งต้องเน้นว่าต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจึงจะบริหารประเทศไทย

มิฉะนั้นไปไม่รอดตั้งแต่เริ่มต้น!

นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสสูง...และอยู่ในฐานะได้เปรียบ

แต่หลังจากนั้น ในขั้นตอนตั้งรัฐบาลจึงอยู่ที่ความสามารถว่าจะดึงพรรคการเมืองอื่นๆมาร่วมรัฐบาล

ตรงนี้ต้องฝีมือระดับ “หลงจู๊” เท่านั้น

เว้นแต่จะได้เสียงมากอย่างที่คุยว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้ก็ง่ายๆหน่อย หรือพรรคการเมืองที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าก็ง่ายขึ้นหน่อย

ตลาดนักการเมืองในห้วงนั้นจะเป็นอย่างไรน่าจะเห็นภาพได้

ว่าไปแล้ว น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตลาด “ก๊อก 2” ที่หาทุนเข้ากระเป๋าได้อีกลอตหนึ่ง เพราะถ้าได้เป็นนายกฯ

แต่ไม่มีฝ่ามือช่วยดันก้นก็ไร้ประโยชน์!!!

“ลิขิต จงสกุล”

จับตา “2 ขั้ว” ชิงอำนาจเกมใหม่เงื่อนไขเก่า

กึ๋นประชาชน ชี้ขาดเลือกตั้ง

ฝนยังตกประปราย ทั่วประเทศอุณหภูมิลดลง บรรยากาศปลายฝนต้นหนาว

เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนพฤศจิกายน ห้วงเวลาสำคัญของคนการเมือง ตามเงื่อนไขสถานการณ์สังกัดพรรคครบ 90 วัน เพื่อการันตีสิทธิลงสนามเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดเส้นตายในวันที่ 26 พ.ย.นี้

โดยนับย้อนหลังจากกำหนดเข้าคูหากาบัตรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

นั่นหมายถึงคิวเลือกตั้งต้องเป็นไปตามโรดแม็ปที่คสช.ล็อกปฏิทินไว้

ถึงตรงนี้แล้ว ถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉิน ปัจจัยแทรกกะทันหันแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แนวโน้มไม่น่าจะมีอะไรทำให้คิวหย่อนบัตรเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.ปีหน้าต้องเลื่อนออกไป

แบบที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยัน

ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 2 คน ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม พิจารณาเสร็จแล้ว คือนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายฐิติเชฎฐ์ นุชนาฏ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ

ถือว่าครบองค์คณะ เต็มตามจำนวน 7 เสือ กกต.

เหลือแค่รอความชัดเจนในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายที่ คสช.นัดประชุมใหญ่ร่วมกับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ยืนยันความชัวร์เลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะมีจังหวะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการแบ่งเขตเลือกตั้งออกไป

ซึ่งนั่นก็แค่การปลดล็อกเทคนิคทางข้อกฎหมายให้ส่งผู้สมัครได้จนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ได้เกี่ยวกับ “เดดไลน์” สังกัดพรรค 90 วันแต่อย่างใด

“เส้นตาย” ยังเป็นไปตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 พฤศจิกายน

การย้ายพรรค ย้ายสังกัด ส.ส.จะปิดตลาดในอีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ ต้องตีทะเบียนให้ทัน

ตามบรรยากาศสถานการณ์ที่ฝุ่นควันตลบอบอวล

พวกที่ดึงจังหวะรอตัดสินใจนาทีสุดท้าย ถึงเวลาหงายไพ่ เปิดหน้าเปิดตัวโชว์ความชัดเจน

และตามฟอร์ม “น้องใหม่” ที่ขยับขึ้นชั้นเป็น “ตัวเต็ง”

ทุกสายตาจับจ้องไปที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มีทีมรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นแกนนำขับเคลื่อนหลัก เป็นพรรคที่รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า คือฐานต้นทุนทางการเมืองของ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หัวหน้า คสช.

ใส่ชื่ออยู่ในบัญชี “นายกฯพรรค” ตีตั๋วไปต่ออย่างชอบธรรมฐานะ “นายกฯคนใน”

ซึ่งก็เป็นอะไรที่ถึงจุดทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ได้แสดงให้เห็นถึงขุมพลังที่จับต้องได้ ไม่ใช่ตัวเลขที่มโนกันลอยๆ

เริ่มออกตัวนับกันจากแต้มศูนย์

จากต้นทุน “มวยเกรดเอ” ที่เซียนเลือกตั้งใส่ตัวเลขล่วงหน้าได้

ไล่ตั้งแต่คิวที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา นำทีมกลุ่มสามมิตรเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ ตามด้วยทีมงานของ

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข จากจังหวัดเลย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ทีมนครราชสีมา กลุ่มอุบลราชธานี ที่มีนายสุพล ฟองงาม เป็นหัวขบวน รวมกับทีมภาคกลาง ภาคตะวันออกที่มาตามนัด

แต่ที่จัดว่าเซอร์ไพรส์หนักมาก นั่นคือทีมกำแพงเพชรของนายวราเทพ รัตนากร แกนนำระดับหัวแถวพรรคเพื่อไทยที่ถอนกำลังจากทีม “ทักษิณ” มาใส่เสื้อ “พลังประชารัฐ”

กระตุกแรงสั่นสะเทือนขุมข่าย “นายใหญ่” ระดับหลายแมกนิจูด

ถึงจะออกแนวพูดโม้ปั่นแต้ม 350 เสียง “วาทกรรมกลอนพาไป” แบบที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกตัวเขินๆแค่ลีลาปลุกอารมณ์ฮึกเหิม

แต่การเสริมหน้าตักทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ดูแล้วไม่ธรรมดา

ที่สำคัญไม่ใช่แค่ฐานแน่น กำลังพลชัด มันยังมีรายการ “ปล่อย ของ” อัดโปรโมชัน ตามจังหวะสถานการณ์ที่ประชุม ครม.นัดล่าสุด อนุมัติงบประมาณกว่า 8.69 หมื่นล้านบาท เดินหน้าอัดฉีดมาตรการช่วยคนจน ผู้มีรายได้น้อย คนชรา ข้าราชการเกษียณ เกษตรกร

แน่นอน อานิสงส์บุญของ “นายกฯลุงตู่” ส่งผลถึงยี่ห้อ “พลังประชารัฐ” โดยอัตโนมัติ

และโดยปรากฏการณ์เปรียบเทียบ จังหวะที่ทีมหนุน

“ลุงตู่” กำลังแรงขึ้นมา สวนทางกับยี่ห้อ “ทักษิณ” ที่แรงถดถอยลงไปตามกาลเวลา จากยุครุ่งเรืองสมัยไทยรักไทย มาพลังประชาชน จนมาพรรคเพื่อไทย

นายห้างดูไบ ขายแต่ของเก่ายี่ห้อ “ทักษิณ” ตีกินประชานิยม

ขณะที่คนคิดนโยบายตัวจริงเสียงจริงยุคไทยรักไทยอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ

วันนี้มาเป็นคลังสมองให้ยี่ห้อ “พลังประชารัฐ”

ลุยอัดมาตรการใหม่ๆแบบ “คิดเลย ทำเลย” ประชาชนแตะต้องสัมผัสได้

เสิร์ฟรัฐสวัสดิการ ซื้อใจชาวบ้านให้ลืมของเก่าที่เน่าเพราะแฝงเชื้อคอร์รัปชัน

เอาเป็นว่าเทียบกันตามเงื่อนไขสถานการณ์ ถ้าเลือกตั้งกันวันนี้ จากทรงมวยพรรคพลังประชารัฐน่าจะเป็นค่ายที่พร้อมขึ้นเวทีมากกว่าใคร

ฝั่งพรรคเพื่อไทย ทีมงาน “นายใหญ่” เสียอีก ที่โวยวายจะเลื่อนเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า ถึงขั้นอาละวาดด่า “หน้าด้าน” คสช.ออกมาตรา 44 ยืดเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งออกไป

แต่ในอาการแฝงความปั่นป่วนวุ่นวายในกระบวนการจัดทัพ จากแยกกันเดิน รวมกันตี กลายเป็นแยกกันเดิน ตีกันเอง ยุทธการแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ปล่อยแถวลูกข่ายพรรคเพื่อไทยสลับฉากกับป้อมค่ายไทยรักษาชาติ ต่างคนต่างแย่งชิงโอกาสในการหาพื้นที่ยืนชิง ส.ส.

“เจ๊ฟัดเจ๊-เจ๊โซ้ยเฮีย” ล่อกันเองเลือดกบปาก

จากสถานการณ์ลักลั่นแบบที่เห็นกันเลยว่า แกนนำขาใหญ่พากันชิ่งหนี “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ไปต่อแถวเด็กในพรรคไทยรักษาชาติ ยังไม่รวมคิวของพรรคเพื่อชาติ ที่ฉีกตัวออกไปรวบรวมไพร่พลคนเสื้อแดง

แย่งคิว เบียดโควตา ตัดแต้มกันวุ่นวาย ส่อเลือดไหลไม่หยุดจนนาทีสุดท้าย

“เจ๊แดง” กระจาย “เจ๊หน่อย” เอาไม่อยู่

อะไรไม่เท่ากับภาพสะท้อนยี่ห้อ “ทักษิณชัวร์” ส่อโตไม่ทัน

อาการแบบที่ต้องปล่อยกระแส “ลูกเจ๊เบียบ” นายปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ คือ

ตัวจริงเสียงจริงที่อยู่เบื้องหลังการขุดคุ้ยนาฬิกาหรูถล่ม

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เจ้าของผลงานหักเหลี่ยม “พี่ใหญ่ คสช.”

อัปเกรดโปรไฟล์แบบทางลัด ลบภาพ “แก๊งไอติม” ของ “น้องปู”

ดูจากยุทธศาสตร์ มันฟ้องทีม “ทักษิณ” ไม่แน่นปึ้กสมฟอร์มแชมป์เก่า

แต่อย่างไรก็ตาม โดยประวัติศาสตร์การเลือกตั้งหลังรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา

มันคือการชิงกระแสกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝั่งเผด็จการทหาร

ตามแบบฟอร์มการต่อสู้ที่จับทางได้ ทีม “ทักษิณ” ที่เคลมบทพระเอกฝ่ายประชาธิปไตย สู้กับผู้ร้ายคือฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจ

“บีบ” ประชาชนเลือกข้างประชาธิปไตยเสรีหรือเผด็จการ

งานนี้ “นายใหญ่” ชิงถือแต้มต่อในกติกาสากล บวกกับเงื่อนไขสถานการณ์ที่รัฐบาล คสช.อยู่มานาน และสภาวะปากท้องที่กระตุกอารมณ์ชาวบ้านได้ง่าย ในภาวะเศรษฐกิจซึมยาวทั่วโลก

ยกแรก ออกตัวด้วยฟอร์มนี้ ยังไงผู้นำทหารก็แต้มเป็นรอง

แต่ก็ต้องไม่ลืม ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม ต่างจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะตลอด 4–5 ปี รัฐบาลของ “นายกฯลุงตู่” ทำการบ้านอย่างต่อเนื่อง

ทั้งในเรื่องเนื้องานด้านเศรษฐกิจที่เป็นจุดอ่อนก็เห็นกันชัดๆจากการ

ฟื้นจากสถานการณ์ติดลบจากวิกฤติการเมืองกลับมาเป็นบวก แถมการวางฐานการพัฒนาระยะยาวด้วยสารพัดเมกะโปรเจกต์อีอีซี รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า

เดินหน้าปักหมุดหมดแล้ว ตามแนวโน้มบ้านเมืองก็สงบ ปราศจากม็อบป่วนเมือง

เป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ “บิ๊กตู่” ทำให้ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

ไม่นับกติการัฐธรรมนูญที่เอื้อให้ในห้วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดยเฉพาะ 250 ส.ว.ที่ร่วมโหวตเลือกนายกฯได้

จะมี “รอยด่าง” ที่ “นายกฯลุงตู่” ลบไม่ออก ก็ตรงเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ “มอมแมม” ให้นักการเมืองขยายแผลจิกตี หักลบกับแต้มต้นทุนส่วนตัวที่โปร่งใส หลังบ้านแน่น เจาะไม่เข้า

สรุปเอาเป็นว่า ในจังหวะเข้าห้วง “เดดไลน์” ต่างฝ่ายต่างมีจุดเด่น จุดด้อย

ข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ถึงตรงนี้แทบจะเห็นกันหมดแล้ว

ตามแนวโน้มศึกชิงอำนาจประเทศไทยวนกลับมาฉากเดิม ศึกเก่า สงครามรอบใหม่

ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์เดิมพันแบบแพ้ไม่ได้

“ทักษิณ” สู้ตายครั้งสุดท้าย ประกาศชัด “ถึงตายแล้วก็ยังสู้”

ขณะที่ “บิ๊กตู่” ก็ไม่ยอมปล่อย “เสียของ” ซ้ำซากอีกแน่

แต่ที่สุดเลย ผลแพ้ ชนะ มันอยู่ที่ประชาชนคนไทย

จะตัดสิน บนปรากฏการณ์เลือกตั้งยุค 4.0 ภายใต้บริบทใหม่ เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร สื่ออยู่ในมือผู้คนทั่วไป โซเชียลมีเดียใช้เป็นเครื่องมือได้ทั้งด้านบวก ด้านลบ

ท้าทายกึ๋นคนไทย ได้ใช้วิจารณญาณกำหนดทิศทางอนาคตตัวเอง

ชั่งน้ำหนักระหว่างอารมณ์กับเหตุผล

กับผลการเลือกตั้งประชาธิปไตยแบบไทยๆที่จะเป็นกรณีศึกษาของโลก.

“ทีมการเมือง”

ห้ามเลือดกันไม่อยู่แล้ว

ได้ 7 อรหันต์เต็มอัตราศึก

ตามคิวที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ได้วีซ่าเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กกต.ฟูลทีมครบโควตามาช่วยปั่นงานที่กำลังล้นมือ

ในจังหวะที่ต้องสปีดการทำงานให้ทันสนามเลือกตั้งเดือน ก.พ.2562 ที่งวดเข้ามาทุกขณะ

ท่ามกลางการตกเป็นจำเลยร่วม ถูกฝ่ายการเมืองเพ่งเล็ง มีส่วนในทฤษฎี “สมคบคิด” รับออเดอร์คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ยืดเส้นตายแบ่งเขตเลือกตั้งไปจนถึงวันที่ 11 ธ.ค.2561

เขี่ยลูกเกลี่ยเขตเลือกตั้งใหม่ จ้องโละผังการแบ่งเขตเดิมของ กกต.

คู่ขนานไปกับจังหวะบรรดาพรรคเล็กก่อหวอดขอเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นต้นเดือน พ.ค.ปีหน้า ตั้งท่าโปรยตะปูเรือใบเจาะยางเส้นทางโรดแม็ปคืนประชาธิปไตย

อย่างที่ปรากฏอาการงอแงของค่ายการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะฝั่ง “เพื่อไทย–ประชาธิปัตย์” ผวาการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่เป็นคุณกับพรรคตัวเอง

พากันของขึ้นใส่ คสช.และ กกต.ที่โชยกลิ่นช่วยพรรคพลังประชารัฐให้ได้เปรียบคู่แข่ง

ตามแอ็กชันแรงๆในเวทีหารือระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ที่รุ่นใหญ่อย่าง นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย สบถคำ “หน้าด้าน” ประจานคำสั่งหัวหน้า คสช.เอาเปรียบคู่แข่ง

ขย่ม คสช.ต่อจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งข้อสังเกตคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวส่อเจตนาต่อรองบีบอดีต ส.ส.ให้ย้ายค่ายแลกกับการแบ่งเขตการเลือกตั้ง

2 ค่ายใหญ่เสียงดังกว่าใครเพื่อน ตามเหลี่ยมของฝ่ายการเมืองที่ต้องตีตนไปก่อนไข้ไว้ก่อน โดยที่ยังไม่รู้ผลการแบ่งเขตของ กกต.จะออกมาเป็นอย่างไร

อย่างน้อยได้ปลุกกระแสตีกินให้เกิดความระแวง คสช.และ กกต.จะใช้เทคนิคเล่นไม่ซื่อ

เรื่องของเรื่องส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากความคลุมเครือของ กกต.ที่ยังไม่สามารถคอนเฟิร์มปฏิทินเลือกตั้งจะยังนิ่งอยู่ที่วันที่ 24 ก.พ.2562 หรือไม่ ตามท่าทีที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. โบ้ยให้ไปรอฟังคำตอบจากฝ่ายแม่น้ำ 5 สายเป็นผู้ชี้ขาด

หรือกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งก็ยังไม่เห็นความชัดเจนจะยึดตามรูปแบบเดิมที่ กกต.ดีไซน์ไว้หรือรูปแบบใหม่
ต้องไปลุ้นความชัดเจน รอการประชุมชี้ขาดระหว่างแม่น้ำ 5 สายกับนักการเมืองในวันที่ 7 ธ.ค.อีกครั้ง

นั่นย่อมทำให้นักเลือกตั้งอาชีพนั่งกันไม่ติด เพราะหากเขตเลือกตั้งเดิมถูกแบ่งพื้นที่ใหม่ ก็มีผลกระทบต่อฐานเสียงของบรรดาเจ้าถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์เดิมของนักการเมืองอาชีพที่เป็นรองอยู่แล้ว ยิ่งระส่ำระสายมากยิ่งขึ้น

ตกเป็นเบี้ยล่างหลายด้านทั้งกลไกรัฐธรรมนูญไม่เอื้อต่อพรรคใหญ่ การออกแคมเปญเก็บแต้มตีกินของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หรือการใช้เทคนิคแบ่งเขตเลือกตั้งชิงความได้เปรียบ

เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา บีบอดีตผู้แทนย้ายพรรคยกขบวน ป้อมปราการของหลายพรรคถูกทลาย

ยิ่งเส้นตายสังกัดสมาชิกพรรคครบ 90 วัน วันที่ 26 พ.ย.นี้ งวดเข้ามา ยิ่งเห็นภาพอดีต ส.ส.ย้ายค่ายถี่ขึ้นเรื่อยๆ

ที่อลหม่านหนักที่สุดขณะนี้คือ พรรคเพื่อไทย ที่อดีต ส.ส.หลายจังหวัดชิงสละเรือหนีตายก่อนครบเดดไลน์

ป้อมค่ายที่เคยเข้มแข็งหลายพื้นที่ กวาดผู้แทนยกจังหวัดต่างทิ้งพรรค เพื่อความอยู่รอด

ล่าสุดคือ นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ขุนพลคู่บุญพรรคเพื่อไทยที่อยู่กันมายาวนาน เตรียมนำอดีต ส.ส. กำแพงเพชร ไปเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ

หรือพื้นที่ของตายอย่าง จ.ลำปาง เชียงใหม่ ลพบุรี ก็มีแนวโน้ม ไม่ร่วมลงเรือลำเดียวกับเพื่อไทยอีก

แม้กระทั่ง นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี ที่โยกจากพรรคชาติไทยพัฒนา มาอยู่พรรคเพื่อไทย ก็หอบเสื้อผ้ากลับไปคืนดีกับค่ายเดิมแล้ว

ทั้งๆที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ก็เพิ่งลงพื้นที่ไปสร้างฐานคะแนนที่ จ.สุพรรณบุรีมาไม่นาน

สะท้อนปรากฏการณ์ภายในพรรค “เจ๊หน่อย” คุมทัพไม่อยู่ ลูกทีมกระเจิดกระเจิงตีจากเป็นว่าเล่น ไม่ย้ายเข้าคอกในสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ก็พลิกขั้วไปสวามิภักดิ์ “ลุงตู่”

ของเดิมที่มีในมือแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ พวกที่ดูดมาแล้วก็เปลี่ยนใจไม่ไปต่อด้วย

เอาไม่อยู่ ห้ามเลือดกันไม่ไหวแล้วจริงๆ.

ทีมข่าวการเมือง

ในห้วงแห่งความ ‘ระส่ำ’

ยังไม่มีปัจจัย “เลื่อน” เลือกตั้ง

ไม่ใช่แค่แกนนำ คสช.หัวขบวนอำนาจพิเศษต้องคอยยืนยัน ย้ำโรดแม็ปเลือกตั้ง

ที่ปักธงไว้วันที่ 24 ก.พ.2562 ล่าสุดเป็นคิวของนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ต้องช่วยสำทับโปรแกรม
หลังจากที่ตัวแทนพรรคเล็ก ในนามสหพรรคยื่นหนังสือถึง กกต.ขอให้เลื่อนเลือกตั้ง

อ่านท่าที “อำนาจพิเศษ” ก็พร้อมจะปล่อยมือ ขณะที่ “กรรมการ” เตรียมไปรอคุมเกมในสนาม ส่วนผู้เล่นทีมใหญ่เร่งวอร์มเครื่องจัดทัพก่อนออกสตาร์ตกันแล้ว จะมีก็เพียงพรรคเล็กพรรคน้อยคอยกระตุกคิว

สัญญาณเดิมยังไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่เกิดเหตุฉุกเฉิน นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

เอาเป็นว่า สแกนคลื่นความถี่ ณ ห้วงนี้ คงต้องจับตาไปที่ป้อมค่ายการเมือง ที่เริ่มได้บทสรุปชัด ใครจะอยู่สังกัดใด ตามเงื่อนไขกติกา ต้องสังกัดพรรคให้ครบ 90 วัน เส้นตาย 26 พ.ย.นี้ ต้องเข้าค่ายตีตราให้เสร็จ

ล่าสุด ค่ายเอสเอ็มอีอย่างชาติพัฒนา ที่ถึงคิวคนรุ่นต่อไป ถึงแม้หน้าอาจไม่ใหม่ทางการเมือง แต่แนวคิดแนวทางเข้ายุคสมัย “เทวัญ ลิปตพัลลภ” ขึ้นแท่นหัวหน้าพรรค “ดล เหตระกูล” นั่งเลขาธิการพรรค

ส่วน “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ฉีกตัวไปประคองน้องชายที่รับไม้ต่อ

พรรคชาติพัฒนามารอบนี้ ชูสโลแกนประจำค่าย ที่หยิบยืมวาทกรรมติดปาก “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯผู้ล่วงลับ มาใช้เข้าจังหวะบ้านเมือง ตามสไตล์ของพรรค

“โนพรอบเบลม” ชาติพัฒนา ไม่มีปัญหากับใคร

พรรคการเมือง “สายกลาง” ยืดหยุ่นสูง สเปกตัวแปรชั้นดี

ที่แน่นอน งานนี้คำว่าโคราช กับพรรคชาติพัฒนาถูกท้าทายหนักเหมือนทุกครั้ง รอบนี้ถ้าสแกนรายชื่อ ต้องจับตา 2 รองหัวหน้าพรรค “พงษ์ศิริ กุสุมภ์” อดีต ส.ว.นครราชสีมา “ธงชัย ลืออดุลย์” อดีตพ่อเมืองโคราชชาติพัฒนาโชว์ไต๋เด็ดสู้โปรแกรมเดือด รักษาฐาน

แต่ที่ยังแกว่งอยู่ น่าจะเป็นเครือข่ายที่เคยร่วมงานในร่มเงานายใหญ่ ที่เหลือ 2 ค่ายหลัก เพื่อไทย–ไทยรักษาชาติ ที่ “2 เจ๊” ไล่เช็กชื่อยื้อแย่งชิงตัว ชนิดต่อสายตรงถึงลูกทีมรายคน จนกระอักกระอ่วนไปตามกัน

สถานการณ์ไม่สู้ดี จน “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตผู้นำ ต้องเคลื่อนฐานมาที่สิงคโปร์

เร่งเขย่าสูตร เบรกศึกเจ๊ๆก่อนพังพาบทั้งขบวน

ไม่รวมลูกทีมที่ทยอยแหกค่าย ล่าสุดมีร่องรอยไม่ปกติ

ป้อมค่าย จ.กำแพงเพชร กำลังถูกทลาย

โดยลอตนี้ “วราเทพ รัตนากร” อดีตรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย จ่อนำลูกทัพเมืองชากังราว ทั้ง พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์–อนันต์ ผลอำนวย–ไผ่ ลิกค์–ปริญญา ฤกษ์หร่าย

จ่อไปเปิดตัวกับพลังประชารัฐ

สะเทือนเลื่อนลั่น แรงสั่นไหวกระแทกขั้วนายใหญ่หลายแมกนิจูด

ยังไม่รวมร่องรอยแปลกๆจากเมืองเชียงใหม่ กับทายาท “เตริยาภิรมย์” ของ “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ อาจโยกตามไปด้วย

โดยโยงไปกับปมจำนำข้าวที่ “บุญทรง” ถูกจำคุก ในจังหวะอดีตผู้นำหญิงเผ่น–เบี้ยวแผน

“เจ็บ” และ “จุก” อาจถึงเวลาทางใครทางมัน “จัดคืน”

แต่ที่ฮือฮา ในส่วนของ “วราเทพ” ถือเป็นขุมกำลังเกรด “เอบวก” มืองานสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ระดับ “สายตรง” จนกระทั่งยุคเพื่อไทย ได้ชื่อว่าขุนพลเอกอยู่ในซุ้ม “วังบัวบาน” ของ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์

เมื่อสายลมของการเปลี่ยนแปลงมาถึง หลังผ่านศึกเหนือเสือใต้ ร่วมทุกข์สุขมากับสังกัดเก่า ชนิดปักหลักอยู่แนวหน้า เผชิญกับความสุ่มเสี่ยง กระทั่งเรื่องการสูญสิ้นอิสรภาพมาแล้ว

คำว่า “บุญคุณ” อย่างไรก็คงทดแทนกันไม่มีวันจบ

ขณะที่ชีวิตจริง มีหลายปัจจัยทำให้ต้อง “ตัดสินใจ”

วาระร้อน “วราเทพ” และลูกทีมขยับย้ายค่าย กลายเป็นปัจจัยพลิกผันครั้งสำคัญ ที่ทำ “เพื่อไทย” ระส่ำ

“เจ้าแม่วังบัวบาน” ซวนเซหนัก “ทักษิณ” นั่งไม่ติด.

ทีมข่าวการเมือง