PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ห้ามเลือดกันไม่อยู่แล้ว

ได้ 7 อรหันต์เต็มอัตราศึก

ตามคิวที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ได้วีซ่าเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กกต.ฟูลทีมครบโควตามาช่วยปั่นงานที่กำลังล้นมือ

ในจังหวะที่ต้องสปีดการทำงานให้ทันสนามเลือกตั้งเดือน ก.พ.2562 ที่งวดเข้ามาทุกขณะ

ท่ามกลางการตกเป็นจำเลยร่วม ถูกฝ่ายการเมืองเพ่งเล็ง มีส่วนในทฤษฎี “สมคบคิด” รับออเดอร์คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ยืดเส้นตายแบ่งเขตเลือกตั้งไปจนถึงวันที่ 11 ธ.ค.2561

เขี่ยลูกเกลี่ยเขตเลือกตั้งใหม่ จ้องโละผังการแบ่งเขตเดิมของ กกต.

คู่ขนานไปกับจังหวะบรรดาพรรคเล็กก่อหวอดขอเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นต้นเดือน พ.ค.ปีหน้า ตั้งท่าโปรยตะปูเรือใบเจาะยางเส้นทางโรดแม็ปคืนประชาธิปไตย

อย่างที่ปรากฏอาการงอแงของค่ายการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะฝั่ง “เพื่อไทย–ประชาธิปัตย์” ผวาการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่เป็นคุณกับพรรคตัวเอง

พากันของขึ้นใส่ คสช.และ กกต.ที่โชยกลิ่นช่วยพรรคพลังประชารัฐให้ได้เปรียบคู่แข่ง

ตามแอ็กชันแรงๆในเวทีหารือระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ที่รุ่นใหญ่อย่าง นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย สบถคำ “หน้าด้าน” ประจานคำสั่งหัวหน้า คสช.เอาเปรียบคู่แข่ง

ขย่ม คสช.ต่อจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งข้อสังเกตคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวส่อเจตนาต่อรองบีบอดีต ส.ส.ให้ย้ายค่ายแลกกับการแบ่งเขตการเลือกตั้ง

2 ค่ายใหญ่เสียงดังกว่าใครเพื่อน ตามเหลี่ยมของฝ่ายการเมืองที่ต้องตีตนไปก่อนไข้ไว้ก่อน โดยที่ยังไม่รู้ผลการแบ่งเขตของ กกต.จะออกมาเป็นอย่างไร

อย่างน้อยได้ปลุกกระแสตีกินให้เกิดความระแวง คสช.และ กกต.จะใช้เทคนิคเล่นไม่ซื่อ

เรื่องของเรื่องส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากความคลุมเครือของ กกต.ที่ยังไม่สามารถคอนเฟิร์มปฏิทินเลือกตั้งจะยังนิ่งอยู่ที่วันที่ 24 ก.พ.2562 หรือไม่ ตามท่าทีที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. โบ้ยให้ไปรอฟังคำตอบจากฝ่ายแม่น้ำ 5 สายเป็นผู้ชี้ขาด

หรือกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งก็ยังไม่เห็นความชัดเจนจะยึดตามรูปแบบเดิมที่ กกต.ดีไซน์ไว้หรือรูปแบบใหม่
ต้องไปลุ้นความชัดเจน รอการประชุมชี้ขาดระหว่างแม่น้ำ 5 สายกับนักการเมืองในวันที่ 7 ธ.ค.อีกครั้ง

นั่นย่อมทำให้นักเลือกตั้งอาชีพนั่งกันไม่ติด เพราะหากเขตเลือกตั้งเดิมถูกแบ่งพื้นที่ใหม่ ก็มีผลกระทบต่อฐานเสียงของบรรดาเจ้าถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์เดิมของนักการเมืองอาชีพที่เป็นรองอยู่แล้ว ยิ่งระส่ำระสายมากยิ่งขึ้น

ตกเป็นเบี้ยล่างหลายด้านทั้งกลไกรัฐธรรมนูญไม่เอื้อต่อพรรคใหญ่ การออกแคมเปญเก็บแต้มตีกินของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หรือการใช้เทคนิคแบ่งเขตเลือกตั้งชิงความได้เปรียบ

เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา บีบอดีตผู้แทนย้ายพรรคยกขบวน ป้อมปราการของหลายพรรคถูกทลาย

ยิ่งเส้นตายสังกัดสมาชิกพรรคครบ 90 วัน วันที่ 26 พ.ย.นี้ งวดเข้ามา ยิ่งเห็นภาพอดีต ส.ส.ย้ายค่ายถี่ขึ้นเรื่อยๆ

ที่อลหม่านหนักที่สุดขณะนี้คือ พรรคเพื่อไทย ที่อดีต ส.ส.หลายจังหวัดชิงสละเรือหนีตายก่อนครบเดดไลน์

ป้อมค่ายที่เคยเข้มแข็งหลายพื้นที่ กวาดผู้แทนยกจังหวัดต่างทิ้งพรรค เพื่อความอยู่รอด

ล่าสุดคือ นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ขุนพลคู่บุญพรรคเพื่อไทยที่อยู่กันมายาวนาน เตรียมนำอดีต ส.ส. กำแพงเพชร ไปเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ

หรือพื้นที่ของตายอย่าง จ.ลำปาง เชียงใหม่ ลพบุรี ก็มีแนวโน้ม ไม่ร่วมลงเรือลำเดียวกับเพื่อไทยอีก

แม้กระทั่ง นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี ที่โยกจากพรรคชาติไทยพัฒนา มาอยู่พรรคเพื่อไทย ก็หอบเสื้อผ้ากลับไปคืนดีกับค่ายเดิมแล้ว

ทั้งๆที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ก็เพิ่งลงพื้นที่ไปสร้างฐานคะแนนที่ จ.สุพรรณบุรีมาไม่นาน

สะท้อนปรากฏการณ์ภายในพรรค “เจ๊หน่อย” คุมทัพไม่อยู่ ลูกทีมกระเจิดกระเจิงตีจากเป็นว่าเล่น ไม่ย้ายเข้าคอกในสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ก็พลิกขั้วไปสวามิภักดิ์ “ลุงตู่”

ของเดิมที่มีในมือแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ พวกที่ดูดมาแล้วก็เปลี่ยนใจไม่ไปต่อด้วย

เอาไม่อยู่ ห้ามเลือดกันไม่ไหวแล้วจริงๆ.

ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: