PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

จับตา “2 ขั้ว” ชิงอำนาจเกมใหม่เงื่อนไขเก่า

กึ๋นประชาชน ชี้ขาดเลือกตั้ง

ฝนยังตกประปราย ทั่วประเทศอุณหภูมิลดลง บรรยากาศปลายฝนต้นหนาว

เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนพฤศจิกายน ห้วงเวลาสำคัญของคนการเมือง ตามเงื่อนไขสถานการณ์สังกัดพรรคครบ 90 วัน เพื่อการันตีสิทธิลงสนามเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดเส้นตายในวันที่ 26 พ.ย.นี้

โดยนับย้อนหลังจากกำหนดเข้าคูหากาบัตรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

นั่นหมายถึงคิวเลือกตั้งต้องเป็นไปตามโรดแม็ปที่คสช.ล็อกปฏิทินไว้

ถึงตรงนี้แล้ว ถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉิน ปัจจัยแทรกกะทันหันแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แนวโน้มไม่น่าจะมีอะไรทำให้คิวหย่อนบัตรเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.ปีหน้าต้องเลื่อนออกไป

แบบที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยัน

ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 2 คน ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม พิจารณาเสร็จแล้ว คือนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายฐิติเชฎฐ์ นุชนาฏ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ

ถือว่าครบองค์คณะ เต็มตามจำนวน 7 เสือ กกต.

เหลือแค่รอความชัดเจนในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายที่ คสช.นัดประชุมใหญ่ร่วมกับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ยืนยันความชัวร์เลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะมีจังหวะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการแบ่งเขตเลือกตั้งออกไป

ซึ่งนั่นก็แค่การปลดล็อกเทคนิคทางข้อกฎหมายให้ส่งผู้สมัครได้จนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ได้เกี่ยวกับ “เดดไลน์” สังกัดพรรค 90 วันแต่อย่างใด

“เส้นตาย” ยังเป็นไปตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 พฤศจิกายน

การย้ายพรรค ย้ายสังกัด ส.ส.จะปิดตลาดในอีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ ต้องตีทะเบียนให้ทัน

ตามบรรยากาศสถานการณ์ที่ฝุ่นควันตลบอบอวล

พวกที่ดึงจังหวะรอตัดสินใจนาทีสุดท้าย ถึงเวลาหงายไพ่ เปิดหน้าเปิดตัวโชว์ความชัดเจน

และตามฟอร์ม “น้องใหม่” ที่ขยับขึ้นชั้นเป็น “ตัวเต็ง”

ทุกสายตาจับจ้องไปที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มีทีมรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นแกนนำขับเคลื่อนหลัก เป็นพรรคที่รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า คือฐานต้นทุนทางการเมืองของ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หัวหน้า คสช.

ใส่ชื่ออยู่ในบัญชี “นายกฯพรรค” ตีตั๋วไปต่ออย่างชอบธรรมฐานะ “นายกฯคนใน”

ซึ่งก็เป็นอะไรที่ถึงจุดทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ได้แสดงให้เห็นถึงขุมพลังที่จับต้องได้ ไม่ใช่ตัวเลขที่มโนกันลอยๆ

เริ่มออกตัวนับกันจากแต้มศูนย์

จากต้นทุน “มวยเกรดเอ” ที่เซียนเลือกตั้งใส่ตัวเลขล่วงหน้าได้

ไล่ตั้งแต่คิวที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา นำทีมกลุ่มสามมิตรเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ ตามด้วยทีมงานของ

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข จากจังหวัดเลย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ทีมนครราชสีมา กลุ่มอุบลราชธานี ที่มีนายสุพล ฟองงาม เป็นหัวขบวน รวมกับทีมภาคกลาง ภาคตะวันออกที่มาตามนัด

แต่ที่จัดว่าเซอร์ไพรส์หนักมาก นั่นคือทีมกำแพงเพชรของนายวราเทพ รัตนากร แกนนำระดับหัวแถวพรรคเพื่อไทยที่ถอนกำลังจากทีม “ทักษิณ” มาใส่เสื้อ “พลังประชารัฐ”

กระตุกแรงสั่นสะเทือนขุมข่าย “นายใหญ่” ระดับหลายแมกนิจูด

ถึงจะออกแนวพูดโม้ปั่นแต้ม 350 เสียง “วาทกรรมกลอนพาไป” แบบที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกตัวเขินๆแค่ลีลาปลุกอารมณ์ฮึกเหิม

แต่การเสริมหน้าตักทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ดูแล้วไม่ธรรมดา

ที่สำคัญไม่ใช่แค่ฐานแน่น กำลังพลชัด มันยังมีรายการ “ปล่อย ของ” อัดโปรโมชัน ตามจังหวะสถานการณ์ที่ประชุม ครม.นัดล่าสุด อนุมัติงบประมาณกว่า 8.69 หมื่นล้านบาท เดินหน้าอัดฉีดมาตรการช่วยคนจน ผู้มีรายได้น้อย คนชรา ข้าราชการเกษียณ เกษตรกร

แน่นอน อานิสงส์บุญของ “นายกฯลุงตู่” ส่งผลถึงยี่ห้อ “พลังประชารัฐ” โดยอัตโนมัติ

และโดยปรากฏการณ์เปรียบเทียบ จังหวะที่ทีมหนุน

“ลุงตู่” กำลังแรงขึ้นมา สวนทางกับยี่ห้อ “ทักษิณ” ที่แรงถดถอยลงไปตามกาลเวลา จากยุครุ่งเรืองสมัยไทยรักไทย มาพลังประชาชน จนมาพรรคเพื่อไทย

นายห้างดูไบ ขายแต่ของเก่ายี่ห้อ “ทักษิณ” ตีกินประชานิยม

ขณะที่คนคิดนโยบายตัวจริงเสียงจริงยุคไทยรักไทยอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ

วันนี้มาเป็นคลังสมองให้ยี่ห้อ “พลังประชารัฐ”

ลุยอัดมาตรการใหม่ๆแบบ “คิดเลย ทำเลย” ประชาชนแตะต้องสัมผัสได้

เสิร์ฟรัฐสวัสดิการ ซื้อใจชาวบ้านให้ลืมของเก่าที่เน่าเพราะแฝงเชื้อคอร์รัปชัน

เอาเป็นว่าเทียบกันตามเงื่อนไขสถานการณ์ ถ้าเลือกตั้งกันวันนี้ จากทรงมวยพรรคพลังประชารัฐน่าจะเป็นค่ายที่พร้อมขึ้นเวทีมากกว่าใคร

ฝั่งพรรคเพื่อไทย ทีมงาน “นายใหญ่” เสียอีก ที่โวยวายจะเลื่อนเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า ถึงขั้นอาละวาดด่า “หน้าด้าน” คสช.ออกมาตรา 44 ยืดเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งออกไป

แต่ในอาการแฝงความปั่นป่วนวุ่นวายในกระบวนการจัดทัพ จากแยกกันเดิน รวมกันตี กลายเป็นแยกกันเดิน ตีกันเอง ยุทธการแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ปล่อยแถวลูกข่ายพรรคเพื่อไทยสลับฉากกับป้อมค่ายไทยรักษาชาติ ต่างคนต่างแย่งชิงโอกาสในการหาพื้นที่ยืนชิง ส.ส.

“เจ๊ฟัดเจ๊-เจ๊โซ้ยเฮีย” ล่อกันเองเลือดกบปาก

จากสถานการณ์ลักลั่นแบบที่เห็นกันเลยว่า แกนนำขาใหญ่พากันชิ่งหนี “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ไปต่อแถวเด็กในพรรคไทยรักษาชาติ ยังไม่รวมคิวของพรรคเพื่อชาติ ที่ฉีกตัวออกไปรวบรวมไพร่พลคนเสื้อแดง

แย่งคิว เบียดโควตา ตัดแต้มกันวุ่นวาย ส่อเลือดไหลไม่หยุดจนนาทีสุดท้าย

“เจ๊แดง” กระจาย “เจ๊หน่อย” เอาไม่อยู่

อะไรไม่เท่ากับภาพสะท้อนยี่ห้อ “ทักษิณชัวร์” ส่อโตไม่ทัน

อาการแบบที่ต้องปล่อยกระแส “ลูกเจ๊เบียบ” นายปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ คือ

ตัวจริงเสียงจริงที่อยู่เบื้องหลังการขุดคุ้ยนาฬิกาหรูถล่ม

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เจ้าของผลงานหักเหลี่ยม “พี่ใหญ่ คสช.”

อัปเกรดโปรไฟล์แบบทางลัด ลบภาพ “แก๊งไอติม” ของ “น้องปู”

ดูจากยุทธศาสตร์ มันฟ้องทีม “ทักษิณ” ไม่แน่นปึ้กสมฟอร์มแชมป์เก่า

แต่อย่างไรก็ตาม โดยประวัติศาสตร์การเลือกตั้งหลังรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา

มันคือการชิงกระแสกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝั่งเผด็จการทหาร

ตามแบบฟอร์มการต่อสู้ที่จับทางได้ ทีม “ทักษิณ” ที่เคลมบทพระเอกฝ่ายประชาธิปไตย สู้กับผู้ร้ายคือฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจ

“บีบ” ประชาชนเลือกข้างประชาธิปไตยเสรีหรือเผด็จการ

งานนี้ “นายใหญ่” ชิงถือแต้มต่อในกติกาสากล บวกกับเงื่อนไขสถานการณ์ที่รัฐบาล คสช.อยู่มานาน และสภาวะปากท้องที่กระตุกอารมณ์ชาวบ้านได้ง่าย ในภาวะเศรษฐกิจซึมยาวทั่วโลก

ยกแรก ออกตัวด้วยฟอร์มนี้ ยังไงผู้นำทหารก็แต้มเป็นรอง

แต่ก็ต้องไม่ลืม ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม ต่างจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะตลอด 4–5 ปี รัฐบาลของ “นายกฯลุงตู่” ทำการบ้านอย่างต่อเนื่อง

ทั้งในเรื่องเนื้องานด้านเศรษฐกิจที่เป็นจุดอ่อนก็เห็นกันชัดๆจากการ

ฟื้นจากสถานการณ์ติดลบจากวิกฤติการเมืองกลับมาเป็นบวก แถมการวางฐานการพัฒนาระยะยาวด้วยสารพัดเมกะโปรเจกต์อีอีซี รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า

เดินหน้าปักหมุดหมดแล้ว ตามแนวโน้มบ้านเมืองก็สงบ ปราศจากม็อบป่วนเมือง

เป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ “บิ๊กตู่” ทำให้ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

ไม่นับกติการัฐธรรมนูญที่เอื้อให้ในห้วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดยเฉพาะ 250 ส.ว.ที่ร่วมโหวตเลือกนายกฯได้

จะมี “รอยด่าง” ที่ “นายกฯลุงตู่” ลบไม่ออก ก็ตรงเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ “มอมแมม” ให้นักการเมืองขยายแผลจิกตี หักลบกับแต้มต้นทุนส่วนตัวที่โปร่งใส หลังบ้านแน่น เจาะไม่เข้า

สรุปเอาเป็นว่า ในจังหวะเข้าห้วง “เดดไลน์” ต่างฝ่ายต่างมีจุดเด่น จุดด้อย

ข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ถึงตรงนี้แทบจะเห็นกันหมดแล้ว

ตามแนวโน้มศึกชิงอำนาจประเทศไทยวนกลับมาฉากเดิม ศึกเก่า สงครามรอบใหม่

ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์เดิมพันแบบแพ้ไม่ได้

“ทักษิณ” สู้ตายครั้งสุดท้าย ประกาศชัด “ถึงตายแล้วก็ยังสู้”

ขณะที่ “บิ๊กตู่” ก็ไม่ยอมปล่อย “เสียของ” ซ้ำซากอีกแน่

แต่ที่สุดเลย ผลแพ้ ชนะ มันอยู่ที่ประชาชนคนไทย

จะตัดสิน บนปรากฏการณ์เลือกตั้งยุค 4.0 ภายใต้บริบทใหม่ เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร สื่ออยู่ในมือผู้คนทั่วไป โซเชียลมีเดียใช้เป็นเครื่องมือได้ทั้งด้านบวก ด้านลบ

ท้าทายกึ๋นคนไทย ได้ใช้วิจารณญาณกำหนดทิศทางอนาคตตัวเอง

ชั่งน้ำหนักระหว่างอารมณ์กับเหตุผล

กับผลการเลือกตั้งประชาธิปไตยแบบไทยๆที่จะเป็นกรณีศึกษาของโลก.

“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: