PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

รวมรายชื่อนักโทษการเมือง

คนที่อยู่ในเรือนจำ ด้วยข้อกล่าวหาที่เกิดจากการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสันติ บางคนเรียกว่า #นักโทษทางการเมือง บางคนเรียกว่า #นักโทษทางความคิด เท่าที่ไอลอว์ติดตามและบันทึกข้อมูล ในเดือนกรกฎาคม 2560 ยืนยันจำนวนนักโทษทางความคิดที่อยู่ในเรือนจำได้ 37 คน
บางคนยินดีเปิดเผยชื่อ บางคนไม่ยินดีเราจึงตั้งชื่อสมมติให้เขา
ถ้าอยากรู้มากขึ้นว่าพวกเขาเป็นใคร? ทำอะไรมาบ้าง? ถูกดำเนินคดีอย่างไร? ลองเข้าไปดูตารางการตั้งข้อหาได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged
หรือหากอยากรู้เรื่องคดีเสรีภาพการแสดงออกมากขึ้นเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราที่ freedom.ilaw.or.th
ไอลอว์ ทำหน้าที่ติดตามสังเกตการณ์ และบันทึกข้อมูล การปิดกั้นการใช้ #เสรีภาพการแสดงออก โดยกฎหมายและอำนาจรัฐมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี และยังคงทำงานเหล่านี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ใครมีข้อมูลเพิ่มเติมกว่านี้ ส่งให้เราได้ที่ ilaw@ilaw.or.th

รอกำหนดโทษ 1 ปี #คดีกำแพงใจ 22 ฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย

รอกำหนดโทษ 1 ปี #คดีกำแพงใจ 22 ฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย
วันนี้(24 กรกฎาคม 2560) เพจเหมืองแร่เมืองเลย รายงานว่า เวลา 09.00 น. ที่ ศาลจังหวัดเลย มีคำพิพากษาให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลยทั้ง 22 คน มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง ปี 2535 มาตรา 38, 39, 71 และ 72 แต่ให้รอกำหนดโทษ 1 ปี
คดีนี้เนื่องจากเมื่อปี 2556 ชาวบ้านร่วมกันก่อสร้าง “กำแพงใจ” ถึง 3 ครั้ง เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำลำธาร และวิถีชีวิตชุมชน ทั้งนี้การสร้างกำแพงใจเป็นมติร่วมกันของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทั้ง 6 หมู่บ้าน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อป้องกันรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 15 ตัน และรถบรรทุกสารเคมีอันตราย จนนำมาสู่การฟ้องโดยบริษัทและองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงฟ้องร้องในข้อหาร่วมกันสร้างสิ่งกีดขวางบนทางสาธารณะและผิวจราจรน่าจะเป็นอันตรายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2556 - วันที่ 11 ตุลาคม 2556 รวม 22 คน
หลังศาลอ่านคำพิพากษา ส. รัตนมณี พลกล้า นักกฏหมายจากศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความจำเลยในคดีกล่าวถึงเนื้อหาคำพิพากษาว่า "นั่นหมายความว่าไม่มีการลงโทษอะไร ไม่ได้เป็นการรอลงอาญา แต่หากภายใน 1 ปีนี้พบว่ามีการกระทำความผิด หรือถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมในคดีอื่นๆ ความผิดในครั้งนี้จะถูกนำมาพิจารณาว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร"
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยร่วมกันสร้างกำแพงใจ 3 ครั้ง แต่ก็ถูกทำลายทั้ง 3 ครั้ง ครั้งแรกสร้างขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2556 แต่ต่อมามีบุคคลที่ปิดบังใบหน้าพร้อมอาวุธครบมือเข้ามาทำลายกำแพงดังกล่าว
จากนั้น 22 กันยายน 2556 ชาวบ้านมีมติรวมกันก่อสร้างกำแพงใจขึ้นเป็นครั้งที่ 2 กระทั่ง 11 ตุลาคม 2556 มีพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงร่วมกันรื้อทำลายกำแพงใจของชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 100 นายให้การคุ้มกัน หลังจากนั้นชาวบ้านประชุมหารือกันสุดท้ายมีมติให้สร้างกำแพงใจครั้งที่ 3 ในวันเดียวกันนั้นเอง ก่อนที่กำแพงแห่งจะถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยฝีมือชายฉกรรจ์ 200 กว่านาย ปิดบังใบหน้า พร้อมอาวุธครบมือเข้ามาทำร้ายและกักขังชาวบ้าน จากนั้นทำลายกำแพงใจของชาวบ้าน เปิดทางให้นำรถบรรทุกพ่วงเข้าไปขนแร่จากเหมืองออกไปจากพื้นที่
โดยการสร้างกำแพงทั้ง 3 ครั้งนั้น นำมาซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านถึง 6 คดี เรียกค่าเสียหายกว่า 270 ล้านบาท
นอกจากคดีนี้แล้ว วันพรุ่งนี้ (25 กรกฎาคม 2560) ยังมีคดีเสรีภาพของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย อีกคดีหนึ่ง อัยการจังหวัดเลยจะมีคำสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้อง แม่หญิง 7 คน
ในข้อหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นหรือของผู้อื่น จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น, เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้ได้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนดและในวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ตำรวจได้เพิ่มข้อหาต่อแม่หญิง 7 รายด้วยข้อหา ร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ
ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเหมืองแร่เมืองเลย
อ่านรายละเอียดคดีแม่หญิง 7 คน เพิ่มเติมได้ที่ --->https://freedom.ilaw.or.th/case/797

ประชาธิปไตยไม่มีศาลเตี้ย

ประชาธิปไตยไม่มีศาลเตี้ย

เดือนสิงหาคมที่กำลังจะมาถึงกลายเป็น “เดือนแห่งการพิพากษา” คดีนักการเมือง เนื่องจากการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับนักการเมืองก้าวมาถึงวันที่ต้องตัดสินหลายคดี มีระดับอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยถึง 3 คน ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในคดีสลายการชุมนุมการเมือง

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งรับฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 ในความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฐานไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ประเทศเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง เพื่อยึดอำนาจและทำลายพรรคเพื่อไทย โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้รับเคราะห์ คดีนี้คือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายนิยมเผด็จการ ผู้พิพากษาไม่ได้มีเพียง 9 คน เพราะยังมีประชาชนอีกหลายสิบล้านทำหน้าที่ผู้พิพากษา

มีคำถามว่าถ้าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย สมควรหรือไม่ที่จะต้องเคารพกฎหมาย เคารพรัฐธรรมนูญ เคารพศาล ไม่กดดันศาล ยอมรับคำตัดสินของศาล ศาลที่จะตัดสินคดีนี้คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ไม่ใช่เพิ่งจะตั้ง แต่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านการลงประชามติเสียงข้างมากของคนไทยทั่วประเทศ หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ บัญญัติไว้ตรงกันว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เป็นอำนาจของศาล ซึ่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ไม่ได้บอกว่าการพิพากษาคดีเป็นอำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะมากมายมหาศาลเพียงใด

ถ้าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องยอมรับว่า อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติไม่มีอำนาจพิพากษาคดี ส่วนประชาชนไม่ต้องพูดถึง แม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์ที่มี “ศาลประชาชน” แต่ในความเป็นจริงประชาชนทั่วไปก็ไม่มีอำนาจตัดสินคดี แต่ถ้ามีการปลุกระดมประชาชนเพื่อตัดสินคดีเอง จะกลายเป็นระบบ “ศาลเตี้ย” ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

การที่รัฐบาลสั่งระดมกำลังตำรวจและทหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงเวลาที่จะมีคำพิพากษาสำคัญๆ

ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา การที่กลุ่มผู้สนับสนุนจำเลยจะระดมประชาชนเพื่อให้กำลังใจก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นการรวมตัวกันอย่างสงบ เคารพกฎหมาย และพร้อมที่จะยอมรับ คำพิพากษา แต่ต้องไม่ใช่เพื่อกดดันหรือต่อต้านคำพิพากษา.

ทุ่มเท-คุ้มค่า?

ทุ่มเท-คุ้มค่า?

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่จีรังยั่งยืน มีลาภก็อาจ เสื่อมลาภ มียศก็อาจเสื่อม ยศ เป็นธรรมดาของโลก
ในห้วงของการจัดกระบวนทัพพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ระดับสูง ต้อนรับฤดูเกษียณ อายุราชการปลายเดือน ก.ย.นี้

เมื่อมีนโยบายจากทั่นผู้นำ “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. สั่งการให้ทุกกระทรวงเร่งมือจัดทำโผแต่งตั้งให้รวดเร็วกว่าปกติ เพื่อเตรียมงานรองรับพิธีสำคัญ

พร้อมทั้งให้ทุกกระทรวงจัดทำแผนโยกย้ายข้าราชการระดับรองๆลงมาแบบเป็นแพ็กเกจ เพื่อให้เห็นโครงสร้างผู้บริหารกระทรวงชุดใหม่ได้ชัดเจนถนัด ตายิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงทยอยอนุมัติแต่งตั้งบิ๊กๆปลัดกระทรวง แทนคนที่จะเกษียณอายุราชการออกมาเป็นลอตๆ

ไล่เรียงตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดสำนักนายกฯ

รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

แน่นอน เมื่อมีคนสมหวัง ก็ย่อมต้องมีคนผิดหวัง เป็นธรรมดา เพราะเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงาน มีอยู่ตัวเดียวโด่เด่เท่านั้นเอง

คนที่สมหวังก็แฮปปี้ ส่วนคนผิดหวัง อดนั่งเก้าอี้ใหญ่ ก็ต้องทำใจก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป!!!

และนอกจากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือนแล้ว กระทรวงกลาโหมและกองทัพ ต้องมีการแต่งตั้งโยกย้าย นายทหารประจำปีเช่นกัน

ล่าสุด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว. กลาโหม นัดประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับนายพล วันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาโผแต่งตั้งที่เหล่าทัพเสนอขึ้นมา

โดยปีนี้ มีระดับบิ๊กตำแหน่งหลัก ที่เกษียณอายุราชการ อาทิ “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม “บิ๊กปุย” พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุด และ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.
ส่วน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. ยังคุมกองทัพต่อไป รอเกษียณอายุราชการปีหน้า 2561

และจากโผที่แพลมๆกันออกมา “บิ๊กเข้” พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. จะนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ เสนาธิการทหาร ขึ้นแท่น ผบ.ทหารสูงสุด
“บิ๊กต้อ” พล.อ.สสิน ทองภักดี เสนาธิการทหารบก จะขึ้นเป็นรอง ผบ.ทบ. “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และ “บิ๊กอ้อม” พล.ท.วีรชัย อินทุโศภน ผบ.นรด. จะขยับเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. นั่งเก้าอี้ผู้ช่วย ผบ.ทบ.

ขณะที่กองทัพเรือ “บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ จะฝ่าคลื่นขึ้นแท่น ผบ.ทร.
โผจริงออกมาจะตรงเผงหรือไม่ ต้องรอผลสรุปจากที่ประชุมฯ แต่รับ ประกันซ่อมฟรี การแต่งตั้งปรับย้ายปีนี้ ไม่มีปัญหากระเพื่อมกระฉอกแน่นอน เพราะทหารยุคนี้เคร่งครัดระเบียบวินัยเป๊ะ!!!

เหนืออื่นใด บิ๊กๆทุกกระทรวงที่ สมหวังได้ครองตำแหน่งในฝัน ประดับบารมีกันแล้ว อย่ามัวแต่ฉลองกันเพลิน

โปรดทุ่มเททำงาน ให้คุ้มค่าภาษีประชาชนด้วยนะโยม!!!

“พ่อลูกอิน”

ให้นายตัดสินใจ

"เป็นการตัดสินใจของ ผู่บังคับบัญชา"

พลเอกทวีป เนตรนิยม เลขาฯสมช. เผย พลเอกประวิตร ในฐานะผู้รับผิดชอบ งานความมั่นคง เสนอชื่อ เลขาฯสมช.คนใหม่ ต่อสภา มช. แค่ชื่อเดียว ที่ท่านเห็นว่า เหมาะสม โดยที่ประชุม มีการหารือถึงความเหมาะสมกัน จากนั้นก็เห็นพ้องกัน  โดยไม่ได้มีการโหวต ลงคะแนน ใดๆ

โดยให้ เสนอชื่อ เข้า ครม. ในวันอังคารหน้า

ทั้งนี้ ตนเอง ไม่ได้มีปัญหาอะไร  เพราะเป็นการตัดสินใจของ ผู่บังคับบัญชา ในการเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด

ทั้งนี้ มีรายงานว่า  ที่ประชุม เห็นชอบตามที่ พลเอกประวิตร เสนอ คือ พลเอกวัลลภ รักเสนาะ ผอ.สนผ.กลาโหม. ที่มีอายุราชการ2 ปี

จำเป็นยิ่งยวดข้ามห้วย

เรียบร้อย โรงเรียน "ป้อม"
ได้ เลขาฯ สมช.ลายพราง..."พลเอกวัลลภ"ข้ามห้วย

หลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ สภา สมช.) ที่ใช้เวลา กว่า 3 ชม. แม้ พลเอกประยุทธ์ ประธาน สภา มช. จะไม่บอกว่า มีมติเลือกใคร เป็น เลขาฯสมช. คนใหม่  ก็ตาม

แต่ พลเอกประยุทธ์ ก็ยอมรับว่า จำเป็นต้อง ไม่เป็นไปตามนโยบาย ที่เคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ ที่ว่า ไม่ข้ามห้วย ยกเว้นจำเป็น อย่างยิ่งยวด. แต่ตอนนี้ มันเกิดความจำเป็น อย่างยิ่งยวดแล้ว

พร้อมยืนยัน ที่จะดูแล คนในสมช. ให้ได้ขยับ

จึงเป็นการบอกเป็นนัยๆว่า  ได้เห็นชอบ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผน กห. มาเป็น เลขาฯ สมช.คนใหม่

ทั้งนี้ เป็นไปตามการเสนอชื่อของ พลเอกประวิตร รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่เสนอชื่อ พลเอกวัลลภ

โดยจะนำเข้าครม. ในสัปดาห์หน้า

ไม่ตายในห้วย

"บิ๊กตู่ " รับปากดูแล คนในสมช. ให้ได้ขยับ ..ยัน ไม่ตายในห้วย! หาตำแหน่งให้"สมเกียรติ" แทน หลังพลาดเก้าอี้ เลขาฯสมช.

นายกฯบิ๊กตู่  ยอมรับว่า จำเป็นต้อง ไม่เป็นไปตามนโยบาย ที่เคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ ที่ว่า ไม่ข้ามห้วย ยกเว้นจำเป็น และตัองทีเหตุผล ไม่อย่างนั้น ผมไม่ทำให้  ยัน เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด. จึงต้องให้ "ข้ามห้วย" แต่ตอนนี้ มันเกิดความจำเป็น อย่างยิ่งยวดแล้ว เพราะสถานการณ์ ด้วย

พร้อมยืนยัน ที่จะดูแล คนในสมช. ให้ได้ขยับ ยัน จะไม่ปล่อยให้"คนใน" ตายในห้วย  ก็ต้องหาตำแหน่งอะไรให้เขาได้ แต่ไม่บอก ว่าจะให้ตำแหน่งอะไร  ยันผมแก้ปัญหาของผมเอง

ทั้งนี้ ถูกมองว่า เป็นไป ตามสูตร เช่นที่ผ่านมา ,..ถ้า คนในสมช.พลาดเก้าอี้ ก็ต้องหาตำแหน่งให้ ช่น ที่ปรึกษานายกฯ ที่ปรึกษา รัฐมนตรี.....

ครั้งนี้ก็เช่นกัน คาด นายกฯจะหาตำแหน่ง ให้ "รองเกลี้ยง" นายสมเกียรติ ศรีประเสริฐ

สั่งทำแผนต้านก่อการร้าย

“บิ๊กตู่” ประชุม สมช. สั่ง ทำ "แผนต่อต้านก่อการร้าย" สั่งทยอยปรับปรุงคุณภาพCCTVทั่วปท. 3แสนตัว ให้เชื่อมโยง ทั้งของรัฐ-เอกชน-รัฐวิสาหกิจ

                
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.แถลงภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ที่ประชุมได้พูดถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศ ให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ในโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านความมั่นคงภายใน ภายนอก และประชาคมต่างๆ 

 ซึ่งสิ่งที่สหประชาชาติมีความห่วงใย คือเรื่องสภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ โรคติดต่อร้ายแรง และเรื่องเศรษฐกิจ พันธะสัญญา พันธะกรณีต่างๆ ซึ่งตนได้ให้แนวทางไปว่า เราต้องคำนึงถึงความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ในเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ความมั่นคงภายในและการก่อการร้าย
                
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้มีการกล่าวถึงยุทธศาสตร์ของสมช.ด้านความมั่นคง ที่จะต้องครอบคลุมทุกมิติ และต้องมีแผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ 

"วันนี้เราเพึ่งจัดทำแผนต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเรายังไม่ได้ทำตรงนี้ จะต้องมีคณะกรรรมการขับเคลื่อนมาทำงาน เพื่อให้ประสานสอดคล้องเกิดความร่วมมือกับนานาประเทศ เราต้องคำนึงความปลอดภัยของประเทศ 

อยากจะให้ใช้เวลาที่ตนและรัฐบาลนี้ยังอยู่ ทำแผนเหล่านี้ให้พร้อม เพื่อที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  และแผนของสมช. 5 ปีก็ต้องให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุกอย่างจะต้องสอดคล้องกันทั้งหมด และสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายใน 5 ปี 

รวมถึงยังได้ให้แนวทางเรื่องโครงสร้างการทำงานสมช. ซึ่งรัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยน ทั้งในรูปแบบขององค์กร คน และเครื่องมือ เพื่อที่จะผลิตข้อมูลต่าง ๆ ให้รัฐบาลได้ใช้ประโยชน์และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายมั่นคงของรัฐบาลอย่างแท้จริง ซึ่งมีความสำคัญที่ต้องครอบคลุมทุกด้าน
                
 นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินการปรับปรุงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ซึ่งตนได้สั่งการให้ซ่อมแซมกล้องCCTVทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นของรัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ที่มีอยู่ ราว 3 แสนตัว

โดยใช้เวลาให้สั้นที่สุดไม่ว่าจะเป็นของหน่วยใดก็ต้องขอความร่วมมือ ถ้าเป็นของภาคเอกชน ตนได้ให้กระทรวงการคลังไปช่วยเหลือในเรื่องของภาษีและราคาได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องประโยชน์ของประเทศชาติ 

ในส่วนของรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่มีผลต่อประชาชนต้องเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมหรือติดตั้งเพิ่มก็ต้องเสนอเป็นแผนงาน เพื่อขอใช้งบประมาณ ฉะนั้นระยะแรกต้องทำให้ครบทุกพื้นที่ก่อน 

ส่วนระยะ 2 คือการปรับเปลี่ยนคุณภาพของกล้องให้ดีขึ้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนทั้งหมด 3 แสนกว่าตัวทั่วประเทศ ทั้งนี้จะให้ปรับเปลี่ยนที่เดียวทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะใช้งบประมาณจำนวนมาก หากจะให้สมบูรณ์ที่สุด คงยังไม่ถึงตรงนั้น

 สิ่งสำคัญคือ กล้องที่ติดไปแล้วต้องมีคุณภาพเท่าเทียมกัน อย่างการบันทึกภาพที่จะต้องบันทึกได้ 30 วัน  รวมถึงการให้ความมือการใช้ประโยชน์จากกล้องซีซีทีวีตามกฎหมาย เพราะเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเอกชนหรือหน่วยงานอื่นจะต้องให้ความร่วมมือ และต้องไม่มีการอ้างว่ากล้องเสียโดยจะต้องมีระบบควบคุมและการตรวจสอบ

ปรามอีกครั้งระวัง116มาชุมนุมให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

"นายกฯ" ชี้ อายัดทรัพย์ "ยิ่งลักษณ์"ยังแค่ขั้นเตรียมการ  รอศาลชี้ขาดก่อน /งัด ม.116 เอาผิด พวกมาชุมนุม หน้าศาล  เตือน พวกละเมิดศาล และ เขียนในเวบฯ เพจ ผิด พรบ.คอมฯ ถามคดี"ยิ่งลักษณ์"สำคัญอยู่คดีเดียว รึไง/ ระบุการปรองดอง เขียนชัดทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาทุกรัฐบาล แต่ถ้าสถานการณ์ไม่สงบจน แก้ไขไม่ได้ คนใช้อาวุธห้ำหั่นกันเอง ก็จำเป็นต้องออกควบคุม ย้อนเหตุการณ์ยิง"วัดพระแก้ว"
 

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการพิจารณาคดีสำคัญหลายคดีในช่วงเดือนส.ค.ว่า ทุกคดีมีความสำคัญ มีตั้งหลายคดีทำไมต้องสำคัญแค่คดีเดียว และตนเองยังไม่ได้บอกว่าใครผิดหรือถูกเป็นเรื่องของศาล ขออย่าไปละเมิดศาลก็เท่านั้นเอง 
 
"การเคลื่อน ไหวข้างนอกบางทีมันก็ผิดกฎหมาย การปลุกระดมต้องระวัง ถ้าพูดอะไรที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง ทำให้กระทบต่อความสงบเรียบร้อย กฎหมายมีบัญญัติไว้ตามมาตรา 116 

นอกจากนี้ยังมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พวกที่เขียนอยู่ในเว็บต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงระวังจะโดนทั้งหมด"
 
นายกฯกล่าวว่า สิ่งที่อยากประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน คือเรื่องการบังคับ หรือการยึดทรัพย์ต่าง ๆ นั้น ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันตอนนี้ เพราะเป็นเพียงขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ เขาต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อที่อนาคตหากมีการตัดสินอะไรขึ้นมา ก็จะมีการถามกันว่าไม่ได้เตรียมอะไรกันไว้เลยหรือ เจ้าหน้าที่ก็จะโดนอีก 

วันนี้เขาจึงต้องมีการเตรียมการ มีการตรวจสอบกัน ช่วงที่ผ่านมาบุคคลที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการการเมืองก็จะต้องมีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน ต้องมีการตรวจสอบเมื่อออกจากตำแหน่งแล้วตามขั้นตอน เพียงแต่พอมีข่าวหลุดออกมาในสังคมก็กลายเป็นว่าเขาผิด ซึ่งความจริงวันนี้เขายังไม่ผิด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสิน และเมื่อศาลตัดสินแล้วถึงจะมีการดำเนินการต่างๆ ได้ ไม่ใช่ว่าจะไปตั้งใจยึดทรัพย์ก่อน เป็นเพียงขั้นตอนการทำงานของข้าราชการที่เขาต้องทำงานแบบนี้ 
 
"ผมบอกให้กรมบังคับคดีดำเนินการชี้แจงต่างๆ แล้ว ว่าไม่ใช่เรื่องของการไปยึดทรัพย์อะไร กระทรวงการคลังที่เขาพูดออกมาเพราะเขาได้ทำข้อมูลไปแล้ว เขาก็ไม่อยากให้พวกสื่อไปซักเขามาก 

ผมก็ได้บอกเขาว่าอะไรที่ยังไม่ใช่เวลาก็ยังไม่ต้องพูด มันจะกลายเป็นว่าเราไปรังแกเขา 

จึงอยากฝากไปถึงพ่อ แม่ พี่ น้องข้างนอกด้วย ให้เข้าในระบบข้าราชการว่าต้องมีการเตรียมการเอาไว้ ทั้งหมด สุดแต่ว่าผลทางคดีจะว่าอย่างไร ถ้าไม่ผิดก็จบ ไปยึดทรัพย์อะไรใครไม่ได้ ก็แค่นั้น 

แต่ถ้าผิดขึ้นมาก็ต้องดำเนินการต่อให้ได้ ต้องเตรียมความพร้อมไว้เท่านั้นเอง 

วันนี้ยังไม่ได้ยืนยันว่าใครผิด ใครถูก เพราะเป็นหน้าที่ของศาล ผมไม่ใช่ศาล"นายก กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้คนส่วนใหญ่สนใจที่ปลายเหตุ หรือปลายทางในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะหมดไปได้อย่างไร หากจิตใจ หรือจิตสำนักยังไม่มี ประเทศก็จะเป็นอยู่แบบนี้ ใครพูดอะไรก็เชื่อไปหมด เคลื่อนไหวกันไปมา แล้วก็เรียกร้องว่าต้องการไปเลือกตั้ง ในข้อเท็จจริงพวกคุณจะต้องทำให้สถานการณ์สงบก่อน 
 
"ผมเองก็ยังไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างเป็นเรื่องของพวกคุณทั้งนั้นที่ทำกันมา 

ในส่วนของการปรองดองที่เขียนไว้ 10 ข้อ ก็มีเขียนชัดเจนว่าทหารมีหน้าที่ทำอะไร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนทหารก็จ้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล 

ผมก็เคยเป็นข้าราชการในรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่ใช่หรือ เว้นแต่มีเรื่องราวเกิดขึ้นสถานการณ์ไม่สงบ มันก็จำเป็นแค่นั้นเอง ถ้ามันไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ ไม่มีเรื่องคดีความ ไม่ทำให้บ้านเมืองแตกแยก ไม่ทำให้ประชาชนต้องนำอาวุธมายิงมาฆ่ากันจนทำงานไม่ได้ ผมก็ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว 

การที่จะนำทหารมาปราบปรามก็ต้องไปดูว่ากลุ่มไหนทำอะไร ไม่ใช่มัวแต่คิดว่าวันนี้ทำไมไม่ทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันคนละอย่างต้องไปดูที่พฤติกรรม ถ้าพฤติกรรมที่ไปยิงใส่สถานที่ราชการ ศาล ทหารจำเป็นต้องทำหรือไม่ แต่ถ้าไปตีกันข้างนอก ห้ามปราบเดี๋ยวก็หยุด อย่ามัวไปเปรียบเทียบว่าวันนี้เขาเดินขบวนกันอย่างนี้

 ยืนยันว่าวันนี้ผมไม่ได้เข้าข้างใคร แต่เราต้องมีหลักการที่มั่นคง ถ้าไม่ทำร้ายประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต ไม่ทำให้สถานที่ราชการเสียหาย ไม่ยิงใส่วัดพระแก้ว คลังน้ำมัน ถามว่าแล้วใครยิงก็ต้องไปสอบสวนกันมา  ซึ่งความเป็นจริงแล้วเจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากทำ เพราะเป็นประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย แต่ต้องไปหาวิธีว่าคนที่ลงมือกระทำต้องทำอย่างไร กฎหมายผิดตรงไหนก็ไปว่ากันมา"นายกฯ กล่าว