PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

‘ลุงตู่’ สู้แบบพาร์ตไทม์


ไฮโลเปิดถ้วยแทง แทบไม่ต้องลุ้นตื่นเต้น
ก็มันรู้ผลตั้งแต่เห็นตัวเลขอดีต ส.ส.ลงชื่อรับรองคนสมัครชิงเก้าอี้ คนเข้าป้ายหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ หนีไม่พ้น “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจ้าของเก้าอี้คนหน้าเดิม
ส่วนเต็งสองอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่รู้อยู่เต็มอกว่าแพ้ แต่เสนอตัวมาเทียบ ก็ได้ยกระดับอัปเกรดตัวเองมาอยู่ชั้นเดียวกับ “อภิสิทธิ์”
ถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล นั่นหมายถึงมีสิทธิ์คั่ว “รัฐมนตรีว่าการ”
ด้านเต็งบ๊วย “เสี่ยจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะ “คนนอก” ที่กระโดดร่วมวงสู้เหมือนมวย “แก้บน” แต่ผลก็คือการได้กลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ในระดับแถวหน้าแบบเนียนๆ
นี่คือวิถีของเซียนเขี้ยวยี่ห้อประชาธิปัตย์
โชว์เป็นค่ายแรกที่นำร่องการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้ “ไพรมารีโหวต” ในการเลือกผู้นำพรรค
สร้างสีสัน กระตุ้นเรตติ้ง ชิงพื้นที่ข่าวให้กองเชียร์ได้คึกคัก
แต่เมื่อถึงจุด “หักดิบ” นี่คือการปูทางลงนุ่มๆให้ “อภิสิทธิ์” หลังเลือกตั้ง ในสภาพของผู้นำทัพ พ่ายแพ้เลือกตั้ง ต้องแสดงสปิริตลาออก เปิดทางหัวหน้าพรรคคนใหม่
นำประชาธิปัตย์ไปหนุน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตีตั๋วต่อได้แบบไม่เขิน
สรุปเลย เกมนี้ วิน วิน ทุกฝ่าย
ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ “ตัวแปร” ประชาธิปัตย์ก็เล่นแต้มได้แค่นี้
แต่ที่เดิมพันสูงในฐานะเต็งหนึ่ง “แพ้ไม่ได้” ก็คือลูกข่ายยี่ห้อ “ทักษิณ” ตามฉากสถานการณ์ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยแห่บินไปพบ “นายใหญ่” ระดมวางแผนชิงคืนอำนาจประเทศไทยกันที่ฮ่องกง
ในอารมณ์แบบที่ลูกหาบชักเริ่ม “งง” กับยุทธศาสตร์การต่อสู้
ไม่รู้ว่าเป้าหมายแท้จริงๆคืออะไรกันแน่ กับเกมรบแบบแยกกันเดินรวมกันตี ผุดสารพัดยี่ห้อ “เพื่อ” มาเป็น “นอมินี” จนถึงตรงนี้มีทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ
ยังไม่นับพันธมิตรแบบที่ยื่นมือเข้าไปแตะกันใกล้ชิด ทั้งพรรคอนาคตใหม่ของ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคเสรีรวมไทยโดยการนำของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์
เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ไปยันค่ายประชาชาติภายใต้การนำของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา
เปิดหน้า โชว์ตัว เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายชัดเจน
เป็นยุทธศาสตร์ที่ผสมปนเปตามเงื่อนไขแก้โจทย์ปัญหานอกพรรคในพรรค
ทั้งรองรับเหตุฉุกเฉินยุบพรรคเพื่อไทย ตีคู่ไปกับการแก้ปมขบเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างเจ๊ๆเฮียๆขาใหญ่ในทีม “นายใหญ่” ที่เหยียบตาปลา ไม่ลงรอยกัน พร้อมๆกับตั้งพรรคมารองรับผู้สมัครที่ล้นจากพรรคเพื่อไทย ไหนจะต้องเก็บแต้มตกหล่น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม
สรุปคือแก้เหลี่ยมกติกาที่ออกแบบมาสกัด “ทักษิณ” กลับมาครองเกมอำนาจการเมือง
ไม่ว่ามาล็อกยังไง “ทักษิณ” ก็หาเหลี่ยมเล็ดลอดจนได้
นั่นก็เพราะทีม “ทักษิณ” เล่นการเมืองแบบ “full time” เต็มเวลา คิด วางแผน แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง
วางแผนชิงอำนาจแบบโคตรเซียนเลือกตั้งมืออาชีพ
แต่เทียบกับทีม “นายกฯลุงตู่” ที่เล่นการเมืองแบบ “part time”
แบบที่ตัว “นายกฯลุงตู่” ต้องค่อยๆแง้มไพ่ตีตั๋วต่อหลังเลือกตั้ง ยังเคอะๆเขินๆ
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เปิดตัวสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ต้องพูดเรื่องการเมืองนอกเวลาราชการ
ในเวลาบริหารต้องปั่นเนื้องาน แบบที่ “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ ต้องเร่งรับมือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่จะส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างหลีกไม่พ้น
แค่งานประคองเศรษฐกิจก็ล้นมือ เหลี่ยมการเมืองสู้ยังไงก็แต้มเป็นรอง
แต่ก็มีจุดที่ “ลุงตู่” สู้ได้ นั่นคือผลงานเชิงประจักษ์ หักมุมกับเกมกระแทกด้วยลมปาก
แบบที่อ้างอิงได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดการเจริญเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลกเพราะผลจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน แต่ทั้งไอบีเอฟและธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทยเพิ่มทั้งในปี 2561 และปี 2562
สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจริง ยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้
เสริมน้ำหนักทีม “ลุงตู่” มีจุดขายเนื้องานที่จับต้องได้ ณ ปัจจุบันต่อเนื่องทิศทางอนาคต
สู้กับ “บุญเก่า” ยี่ห้อ “ทักษิณ”.

ทีมข่าวการเมือง