PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

อ.สุขุมรธน.เราจะไปทางไหน?

เราจะไปทางไหน#1: สุขุม นวลสกุล "พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือพรรค ส.ว."

<--break- />

ประชาไทสำรวจหน้าตาการเมืองไทยหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เผยโฉมไปเมื่อ 29 มีนาคมที่ผ่านมา  อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทยจะเดินไปทางไหน แลกเปลี่ยนพูดคุยผ่านมุมมองและประสบการณ์นักวิชาการหลายคน

รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ คือผู้ผ่านประสบการณ์การเมืองยุครัฐธรรมนูญ 2521 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในฐานะที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับร่าง’มีชัย มากที่สุด เพราะส.ว.มีบทบาทอย่างสูง  เขาบอกเล่าบรรยากาศการเมืองในช่วงนั้น

บทเฉพาะกาล รธน.2521 ใช้ ส.ว. ค้ำอำนาจนายกฯ คนนอก

สุขุม อธิบายว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2521 และมีการจัดเลือกตั้งปี 2522 ในเวลานั้นมีบทเฉพาะกาล 4 ปีเช่นเดียวกับตอนนี้ โดยบทเฉพาะกาลกำหนดให้ข้าราชการมีอำนาจทางการเมืองหลายอย่าง เช่น สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร ซึ่งส่งผลให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้

“พอเลือกตั้งกันเสร็จเรียบร้อย วุฒิสภาซึ่งมีอำนาจร่วมตั้งนายกฯ ด้วย ผลก็เลยออกมาเป็นเกรียงศักดิ์”

สภาพตอนนั้นต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองเป็นพรรคขนาดกลางเป็นหลัก ยังไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองภาคใต้หรือพรรคเพื่อไทยครองภาคอีสาน พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงๆ อยู่ที่ประมาณ 70-40 ที่นั่ง การจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นรัฐบาลผสมอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่เนื่องจากพลเอกเกรียงศักดิ์มีวุฒิสภาเป็นกำลังหลัก พลเอกเกรียงศักดิ์จึงเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคขนาดกลางอย่างกิจสังคม ชาติไทย ประชาธิปัตย์ ประชากรไทย จับมือกันไม่เอารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

“เกรียงศักดิ์จึงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ไม่ต้องห่วงเพราะรัฐธรรมนูญมีบทเฉพาะกาลอยู่ว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ความมั่นคง กฎหมายเร่งด่วน ให้ ส.ว. โหวตด้วย ซึ่งก็อาศัยตรงนี้ผ่านไปได้ กระทั่งผ่านไปเกือบปี บริหารประเทศไม่เป็นที่ถูกใจของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกรียงศักดิ์ต้องลาออกคือการขึ้นราคาน้ำมัน”

“พอสี่พรรคนี้ขออภิปราย เกรียงศักดิ์ก็รู้ตัว เพราะเขามาด้วย ส.ว. ก่อนหน้าจะถึงวันอภิปราย เขาก็เรียก ส.ว. มาประชุม ส.ว. 200 กว่าคนมาประชุมไม่ถึง 20 คน เพราะสมัยก่อน ส.ว. ก็คือพวกข้าราชการ แม่ทัพ แนวคิดเดียวกันคือให้มาอยู่ตรงนี้จะได้ไม่ปฏิวัติ เกรียงศักดิ์ก็รู้ชะตา วันที่ต้องถูกอภิปราย ฝ่ายค้านไม่ได้อภิปราย เพราะเขาแถลงลาออก ก็มาเลือกนายกฯ ใหม่ พลเอกเปรมก็ขึ้นมา”

ระบบเลือกตั้งเอื้อพรรคขนาดกลาง ทำการเมืองป่วน

ยุคตั้งแต่พลเอกเกรียงศักดิ์จนถึงยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงถูกเรียกว่า ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้องแบ่งอำนาจให้กับทหารและข้าราชการที่เข้ามามีอำนาจทางการเมืองผ่านวุฒิสภา บวกกับที่ระบบเลือกตั้งเอื้อให้มีแต่พรรคการเมืองขนาดกลางก็ทำให้ต้องหา ‘คนนอก’ อย่างพลเอกเปรมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

“เมื่อก่อนนี้ก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่านักการเมืองไม่ได้สนใจเรื่องนโยบาย สนใจแต่การเข้าสู่ตำแหน่ง เวลาหาเสียงไม่ได้ขายนโยบายเป็นหลัก ก็มีแต่พรรคกิจสังคมนี่แหละที่พยายามเสนอนโยบาย ขณะที่พรรคขนาดกลางทุกพรรคก็หวังจะเป็นนายกฯ เมื่อมารวมกัน เขาต้องตีกันไม่ให้หัวหน้าพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นมาเป็นนายกฯ ไม่อย่างนั้นจะทำให้พรรคนั้นเด่นกว่าพรรคตัวเอง จึงทำให้ต้องหาคนกลาง

“ตัวอย่างที่เด่นชัดคือการเลือกตั้งปี 2526 เป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้บทเฉพาะกาล แต่ว่าอีก 3 วันจะหลุด ตอนนั้นฝ่ายทหาร คือพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก บีบให้เลือกตั้งก่อนหมดบทเฉพาะกาล เพราะเขาขอแก้รัฐธรรมนูญให้บทเฉพาะกาลมันยืด แต่ทำไม่สำเร็จ เขาก็บีบจนเลือกตั้งก่อนหมดบทเฉพาะกาล 3 วัน ผลออกมาไม่เป็นอย่างที่เขาคิด พรรคการเมืองสี่พรรคขนาดกลางได้ แต่ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก หัวหน้า 2 พรรคก็แย่งกัน คือพรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับประมาณ อดิเรกสาร 3 วันก่อนหมดบทเฉพาะกาล ส.ส. 60 คนไม่ได้สังกัดพรรค เพราะสมัยนั้นไม่ได้สังกัดพรรคก็ลงได้ แต่พอบทเฉพาะกาลยกเลิก ส.ส. ทุกคนต้องสังกัดพรรค ก็วิ่งหาพรรคกัน ย้ายพรรคกัน ปรากฏว่าผลเปลี่ยน”

“ผลเลือกตั้งครั้งแรก กิจสังคมมาที่หนึ่ง ชาติไทยแพ้สี่ห้าเสียง แต่พอ ส.ส. วิ่งกันไปมา ชาติไทยมาที่ 1 ร้อยกว่า พอดีเปรมพูดว่าไม่เอาแล้ว คุณประมาณกับคุณคึกฤทธิ์ก็สู้กันเต็มที่ ปรากฏว่าประมาณรวบรวมคะแนนได้มากกว่า ดึงประชากรไทยกับชาติประชาธิปไตย โหวตประธานสภาได้อุทัย พิมพ์ใจชน คึกฤทธิ์เห็นท่าไม่ดี ชนะกันอยู่ไม่กี่เสียง ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ต้องนั่งคุมเสียงกัน เขาจึงเชียร์เปรม เชิญคุณเปรม”

“คุณเปรมบอกว่ามีข้อแม้หน่อยเดียวว่า อาจารย์ต้องเชิญผมต่อสาธารณะ แกก็พาดหัวสยามรัฐเลย ‘หม่อมป้าถามหาคุณเปรมอยู่ไหน’ ต่อมา กิจสังคมก็ต่อสายถึงประชากรไทย อยู่ฝั่งไหนก็ได้เป็นรัฐบาลเหมือนกัน แต่ถ้าอยู่กับฝั่งนี้อยู่นานนะ ทางนั้นอยู่ไม่นาน ถ้าทหารเขาไม่เอาด้วย ประชากรไทยก็มาเลย แต่คุณสมัครก็โทรไปบอกคุณประมาณเองว่าผมต้องไปเชียร์ทางนั้นแล้วนะ ถ้าคุณประมาณอยากเป็นรัฐบาลต้องไปเชียร์ทางนั้น”

ส.ว.แต่งตั้งคุมการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

สุขุม กล่าวว่า ในยุคนั้น ข้าราชการสามารถเป็น ส.ว. ได้ มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีคนเดียว พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นคนตั้ง ส.ว. ชุดแรก อำนาจของ ส.ว. ตอนนั้นมีอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกมีอำนาจเท่ากับ ส.ส. คือร่วมโหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งโหวตกฎหมายสำคัญๆ และการแก้รัฐธรรมนูญ กล่าวได้ว่าเป็นดุลพินิจของรัฐบาลที่จะให้ ส.ว. ร่วมโหวตในเกือบทุกเรื่อง ส่วนช่วงที่ 2 ส.ว. เหลือเฉพาะหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น แต่ ส.ว. ก็ยังมีบทบาทสูงในทางการเมือง

“ก็ตัวประธานรัฐสภามาจาก ส.ว. สมัยก่อนการเลือกนายกฯ ไม่ได้ระบุว่าต้องทำในที่ประชุมสภา อย่างตอนปี 2526 ที่คุณอุทัยได้เป็นประธานสภาผู้แทน คุณจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นประธานวุฒิสภาและก็เป็นประธานรัฐสภาด้วย คุณอุทัยออกมาบอกว่าเดี๋ยวเราจะประชุมเลือกนายกฯ กันแล้วเอาชื่อไปให้ประธานรัฐสภาเพราะต้องเป็นคนรับสนองพระบรมราชโองการ คุณจารุบุตรบอก เปล่า ผมไม่มีสิทธิ์เรียกประชุม ส.ส. ผมเป็นคนหานายกฯ เพราะฉะนั้นขอให้หัวหน้าพรรคมาเสนอชื่อกับผมว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ ผมจะดูคะแนนตามที่พรรคต่างๆ เสนอ คือเขาไม่ให้ประชุมสภาผู้แทนเพื่อเลือกนายกฯ”

“เรื่องวิ่งเต้นเป็น ส.ว. ไม่ต้องห่วงเลย ทุกยุคทุกสมัย ยุคผม ผมไม่ทราบหรอกครับว่าเขาวิ่งเต้นกันยังไง แต่ว่าก็เคยทราบมา เช่น อาจารย์บางคนในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เป็นอธิการบดีก็ได้เป็น ส.ว. มีคนพูดว่า อาจารย์ไม่รู้เหรอว่าเขาทำยังไงถึงได้เป็น เขาไปกราบเมียของนายพลคนหนึ่ง ปวารณาตัวรับใช้ ซึ่งบางทีเราก็นึกไม่ถึงว่าคนเราจะขายศักดิ์ศรีได้ถึงขนาดนั้น”

พรรค ส.ว. พรรคใหญ่สุดหลังรัฐธรรมนูญ 2559

รศ.สุขุม วิเคราะห์ว่า ตอนนี้ สิ่งที่ผู้ถืออำนาจพยายามทำคือไม่ให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาล ซึ่งด้วยระบบเลือกตั้งที่วางเอาไว้ไม่สนับสนุนให้มีพรรคขนาดใหญ่ พรรคที่จะมีที่นั่งมากสุดก็ไม่น่าเกินร้อยหกสิบ ร้อยเจ็ดสิบ แต่การจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวต้องมีที่นั่ง 260 ขึ้นไป

“ผมไม่แน่ใจว่าพรรคการเมืองขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แต่ผมว่าจะทำอะไรไม่ค่อยได้ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน แล้วมีการเลือกตั้ง มันจะได้รัฐบาลที่ว่านอนสอนง่าย รัฐบาลที่จะถูกควบคุมโดย ส.ว. ถ้า ส.ว. มองดูว่าไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่เขาร่างไว้และกำหนดให้รัฐบาลต้องรายงานทุก 3 เดือน ถ้าไม่ทำก็ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จบ รอบนี้ ดูแล้วเขาจะใช้ ส.ว. นี่แหละ ไม่ให้นายกฯ ไม่ให้รัฐมนตรีกระดิกได้ ในยุคชาติชายไม่มีกฎบังคับว่ารัฐบาลต้องทำอะไรบ้าง แต่รอบนี้มียุทธศาสตร์บอกว่าต้องทำอะไรๆ บ้าง คือถ้า คสช. ตั้งนายกฯ เองอาจจะถูกต่อต้าน จึงมาใช้วิธีคุมด้วยกฎ แล้วเอาองค์กรมากำกับ ก็ต้องคอยดูกันว่าอีกฝั่งเขาจะดิ้นยังไง ถ้าเขาได้ขึ้นมา”

“การเมืองไทยหลังรัฐธรรมนูญ 2559 พรรค ส.ว. น่าจะเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด เพียงแต่ว่าเขาใช้ในทางนิติบัญญัติและควบคุม ไม่ได้ใช้อำนาจบริหาร”

“วันก่อนมีคนให้ผมไปทอล์คโชว์เรื่องประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า ผมบอกว่าถ้าผมปิดตาทุกคน แล้วเดินจูงไป ท่านทั้งหลายก็จะรู้สึกว่าก้าวไปข้างหน้า แต่ทันทีที่ผมเปิดผ้าปิดตาออก พวกท่านก็จะหันมาต่อว่าผม ทำไมพามาเจอของเก่าแบบนี้ เพราะมันไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า แต่เดินเป็นวงกลม”

หน้าตาการเมืองไทยมีโอกาสย้อนหลังกลับสู่ปี 2521 ถึงแม้อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่หลักการแย่งยื้ออำนาจจากนักการเมืองและการควบคุมการเมืองไม่ได้แตกต่างกัน ทว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือบริบทแวดล้อมต่างจากเมื่อ 40 ปีก่อนมาก คำถามคือระบบการเมืองที่ถอยหลังไป 4 ทศวรรษจะตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างไร และหากตอบไม่ได้ มันจะนำไปสู่อะไร

"บิ๊กตู่" ชื่นชม นโยบาย Rebalancing ของ Obama กลับมาสู่ภูมิภาคเอเชีย

"บิ๊กตู่" ชื่นชม นโยบาย Rebalancing ของ Obama กลับมาสู่ภูมิภาคเอเชีย ยันสหรัฐฯมองไทย สำคัญ ไทยก็เช่นกัน ออกตัว เศรษฐกิจไทย ไม่ดีเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและสหรัฐฯ ร่ายยาว แผนการเมือง-ประชารัฐ-เศรษฐกืจ-การลงทุน ชวนนักธุรกิจสหรัฐฯร่วมลงทุนในไทย คาดเศรษฐกิจเติบโตขึ้นกว่าปี 58 พัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืน ประกาศ "การต่อต้านทุจริต" เป็นวาระแห่งชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมงานกาล่าดินเนอร์ โดยสภาหอการค้าสหรัฐ (U.S. Chamber of Commerce)และ สภาธุรกิจสหรัฐฯ - อาเซียน (US-ASEAN Business Council)ร่วมเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ในโอกาสร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 (Nuclear Security Summit)
โดยมีนายAlex Feldmanประธาน USABC และนางTami Overbyรองประธานอาวุโสด้านเอเชีย สภาหอการค้าสหรัฐฯ ให้การต้อนรับ
โดยนายกรัฐมนตรี ชี้แจงความก้าวหน้าการพัฒนาการเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืน ด้วยกลไก "ประชารัฐ"
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (USABC) และสภาหอการค้าสหรัฐ ฯ (USCC) มีความสาคัญต่อประเทศไทย
ไทยก็มีความสำคัญต่อภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา การพบปะวันนี้จะช่วยเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรประเทศไทยและภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาและต่อ ยอดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศกว่า 183 ปี ให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นต่อไป
นายกฯกล่าวว่า สภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ไม่สดใสนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและสหรัฐฯ สายตาของโลกจึงจับจ้องมาที่ภูมิภาคเอเชียซึ่งมีประชากรกว่า 4.5 พันล้านคน มี GDP รวมกันทั้งสิ้น 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการค้ากว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าโลก
นอกจากนี้ เอเชียยังเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีทรัพยากรมาก มีความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน แรงงานที่มีคุณภาพจำนวนมากและเริ่มมีกำลังซื้อสูงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ จึงมีศักยภาพที่จะฟื้นโลกให้ตื่นตัวจากภาวะซบเซาและขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภูมิภาคและของโลก
นายกศ กล่าวชื่นชม ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับไทยและอาเซียน โดยดำเนินนโยบายปรับสมดุลสู่เอเชีย หรือ Strategic Rebalancing ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กลับมามีบทบาทเพิ่มขึ้นทางความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาค ด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
นโยบายดังกล่าวช่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเล็กและใหญ่ในภูมิภาคให้ได้สมดุลขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ตั้งแต่ประเทศหมู่เกาะในอาเซียน และประเทศคู่เจรจาสำคัญนอกกลุ่ม อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐ ฯ
โดยไทยเป็นจุดสำคัญเชื่อมต่อด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ดังนั้น หากรัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจดำเนินนโยบายในภูมิภาคเอเชียอย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความผาสุขให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการเติมนโยบายของภาครัฐให้เต็มขึ้นด้วยกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จับจ้องได้เป็นรูปธรรม
นายกฯย้ำว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เพื่อเป็นรากฐานให้แก่อนาคตประเทศ และให้ประเทศไทยสามารถเป็นหุ้นส่วนที่มีความรับผิดชอบ เข้มแข็งและสร้างสรรค์สำหรับสหรัฐฯ มิตรประเทศ และประชาคมโลก ในการสร้างความเข้มแข็งของประเทศจากภายใน นั้น รัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตั้งอยู่บนหลักสำคัญ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติที่จะขับเคลื่อนโลกนี้สู่โลกที่ยั่งยืน มีเศรษฐกิจที่ครอบคลุมลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไกประชารัฐ (People Public Private Partnership – PPPP) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน โดยร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศจัดคณะทำงานขับเคลื่อนประชารัฐ 13 คณะทำงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs
แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความแปรปรวนและการชะงักงันของเศรษฐกิจโลก แต่ยังสามารถเติบโตได้มากกว่าที่คาดการณ์ในปี 2558 ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่เป็นจุดแข็ง คือ ระดับเงินสำรองสูง อัตราการว่างงานต่ำ แรงงานมีทักษะ ที่มีความขยันขันแข็ง มีคุณภาพและสร้างสรรค์ เป็นต้น ซึ่งเศรษฐกิจ ไทย - สหรัฐฯ ผูกโยงกันอย่างแน่นแฟ้น มูลค่าการค้า ไทย-สหรัฐฯ ในปี 2558 อยู่ที่ 39,841 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทย ในด้านการลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยกว่า 100 ในทุกสาขาอุตสาหกรรม มีมูลค่ารวม มากเป็นลำดับที่ 2
รัฐบาลสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและธรรมภิบาล และประกาศให้ "การต่อต้านทุจริต" เป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มีการกำหนดให้ทำสัญญาคุณธรรม (IP) ว่าจะไม่มีการรับหรือให้สินบน และใช้ระบบ CoST เพื่อประชาชนสามารถตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ลดช่องทางการหารประโยชน์จากผู้มีอำนาจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล
รวมทั้ง ผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ (Ease of doing business) โดยออกมาตรการอำนวยความสะดวก การให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ เช่น การลดหย่อนภาษีนิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร จัดตั้งศูนย์บริการด้านการลงทุน (OSOS) ของ (BOI) เพื่อส่งเสริมการลงทุนต่างชาติในไทย
การปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นำมาซึ่งโอกาสในการกระชับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างในหลายประการ
ประการแรก รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งแบบคลัสเตอร์และซูเปอร์คลัสเตอร์ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้รวมกลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้อง สำหรับการดำเนินกิจกรรมที่เชื่อมโยงกัน อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ส่งเสริมให้กระชับความร่วมมือ เกื้อหนุน และลดอุปสรรค เพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า (value chain) อย่างครบวงจร ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของไทย และช่วยกระจายความเจริญ จากท้องถิ่นไปสู่ภูมิภาค ซึ่งการลงทุนแบบคลัสเตอร์นี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม จากการลงทุนแบบปกติทั่วไป โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร โดยมีมาตรการและสิทธิพิเศษทางภาษี
ประการที่สอง เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป็นก้าวสำคัญ สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้มีความทันสมัยและสะดวกสบาย โดยการพลิกโฉมทั้งระบบบริหารจัดการและการให้บริการ บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การวางระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั่วประเทศ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (data center) การพัฒนาการให้บริการและการทำธุรกรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบดิจิทัล (e-Government) ซึ่งล่าสุดได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ สำหรับเทคโนโลยี 4G ซึ่งเป็นไปอย่างโปร่งใส และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายจำนวน 8 ฉบับ ให้รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล แบบครบวงจร ให้ สนช. พิจารณาภายในเดือนนี้ รวมทั้ง การจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พ.ศ. 2559 – 2563 อีกด้วย ซึ่งจะเปิดโอกาสที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยต่อไป
ประการที่สาม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการส่งเสริม ให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตและขยายผลเป็นอุตสาหกรรมต่อไป เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการการปฏิรูปทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งระบบ ครอบคลุม 4 ด้าน คือ การสร้างสรรค์ การคุ้มครอง การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการป้องปราม โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการชูให้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งปรับปรุงกฎหมาย และการพัฒนาระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยรัฐบาลได้แสดงความจริงใจ จริงจัง ในการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐเพิ่มเติม เช่น เพิ่มอัตรากำลังผู้ตรวจสอบ ให้สามารถรองรับปริมาณคำขอจดทะเบียนที่ตกค้างในอดีต และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งให้ความสำคัญ ในเรื่องการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนทุกวัย รวมทั้งเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ด้วยการสอดแทรกอยู่ในบทเรียน ให้มีความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ประโยชน์ของการคุ้มครอง และผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ เมื่อมีการละเมิด เป็นต้น
โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการเสริมสร้างความเชื่อมโยงประเทศกับอาเซียนด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเดินหน้าการลงทุน โครงสร้างขนาดใหญ่ หลายรายการ (1) ทางราง เช่น รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รถไฟความเร็วสูง ระหว่างเมืองสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด และรถไฟฟ้า 10 เส้นทางใหม่ (2) ทางน้ำ ได้แก่ การปรับปรุงขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือสำราญ และเรือยอร์ช ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง (3) ทางอากาศ ได้แก่ โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 โครงการปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา เพื่อยกระดับให้เป็นหนึ่งในสนามบินนานาชาติ โครงการปรับปรุง สนามบินดอนเมือง ซึ่งได้เริ่มโครงการไปแล้วหลายขั้นตอน
โดยภายในงานประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ กลุ่มพลังงาน ยาและเคมีภัณฑ์ ก่อสร้าง สื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ บริษัท Guardian (ธุรกิจผลิตกระจก) บริษัท Chevron Corporation (พลังงาน) บริษัท Philip Morris International (บุหรี่และยาสูบ) บริษัท Motorola Solutions (โทรคมนาคมและการสื่อสาร) และผู้แทนจากภาครัฐของสหรัฐฯ และคณะทูตานุทูต ร่วมรับฟังความก้าวหน้าการปฏิรูปประเทศและนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

เปลี่ยนโฆษก กอ.รมนใหม่......


เปลี่ยนโฆษก กอ.รมนใหม่......
1เมย.เป็นวันเปลี่ยนตำแหน่ง เลื่อนยศ ของทหาร ตามคำสั่งโยกย้ายทหาร เลยเป็นฤกษ์ เปลี่ยนโฆษกกอ.รมน.ใหม่ ด้วย เสธ.อ้อ พันเอก พีรวัชฌ์ แสงทอง (ตท.21)มาทำหน้าที่ โฆษก กอ.รมน.คนใหม่ ส่วน เสธ.แต้ม พลตรี บรรพต พูลเพียร ที่เป็นโฆษกกอ.รมน.มา3ปี ไม่นับรวมเป็นโฆษก กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้ามาอีกหลายปี ก็ ขยับไปดู ศูนย์ปรองดองฯ ของคสช. ตามการจัดใหม่ของ บิ๊กแกละ พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร. เสธ.ทบ.และเลขาฯกอ.รมน. แคนดิเดท ผบ.ทบ.คนใหม่
เสธ.อ้อ กล่าวว่า จะยึดถือบทบาทหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนร่วมงานของพี่น้องสื่อมวลชนทุกคน ที่ทำหน้าที่แจ้งข้อมูลข่าวสาร และหาคำตอบสำหรับทุกข้อสงสัยในกิจการของกอ.รมน. มาให้พี่น้องสื่อมวลชนทราบ และหากสิ่งใดในการทำงานบางครั้งไปสร้างความไม่พอใจ ก็ต้องขอโทษไว้ตรงนี้ก่อน และจะระมัดระวังที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน โดยหวังว่าทุกท่านจะเอื้อเฟื้อและสนับสนุนการร่วมงานด้วยกัน อย่างมีความสุข

"บิ๊กหมู"สั่งดูแลเข้มสงกรานต์

โฆษกกอ.รมน.ใหม่ เผย บิ๊กหมู สั่งเข้มมาตรการดูแลประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เน้นการข่าว ไม่ประมาท ทั่วประเทศ และชายแดนใต้ / รับหน้าที่ โฆษกกอ.รมน.ใหม่ เผยถือสื่อเป็นเพื่อนร่วมงาน พร้อมแจ้งข้อมูลข่าวสาร หาคำตอบให้ทุกข้อสงสัย ออกตัวหากสร้างความไม่พอใจ ต้องขอโทษไว้ตรงนี้ก่อน
พันเอกพีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ได้มอบหมายให้ กอ.รมน. เตรียมความพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์
โดยได้เตรียมการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ผ่านกลไกคือ กอ.รมน.ภาค, ส่วนแยก และจังหวัด พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและเครือข่ายทั้งปวงที่มีอยู่ในลักษณะมวลชนจิตอาสา เช่น ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) กองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ (กนช.) หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) หมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งต้านภัยยาเสพติด ผู้ประกอบการโรงงาน เครือข่ายเฝ้าระวังสถานที่ประกอบการท่องเที่ยว ฯลฯ ให้ร่วมกันเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส พฤติกรรมของกลุ่มบุคคล ที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อสังคมอย่างร้ายแรง เพื่อเตรียมคลี่คลายปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ การดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ จะให้ความสำคัญกับงานด้านการข่าวด้วยความไม่ประมาท และเพิ่มความเข้มงวดต่อมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงที่มีการจัดงาน รวมทั้งย่านคมนาคมสำคัญทั่วทุกพื้นที่
สำหรับการเตรียมการรองรับสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. ที่ยังคงเกิดเหตุรุนแรงเป็นครั้งคราวอยู่นั้น กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้จัดเตรียมมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในทุกมิติไว้แล้ว เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งรักษาภาพลักษณ์ของประเทศตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์
โฆษกกอ.รมน.คนใหม่ กล่าวถึงการทำหน้าที่ใหม่ ว่า จะยึดถือบทบาทหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนร่วมงานของพี่น้องสื่อมวลชนทุกคน ที่ทำหน้าที่แจ้งข้อมูลข่าวสาร และหาคำตอบสำหรับทุกข้อสงสัยในกิจการของกอ.รมน. มาให้พี่น้องสื่อมวลชนทราบ และหากสิ่งใดในการทำงานบางครั้งไปสร้างความไม่พอใจ ก็ต้องขอโทษไว้ตรงนี้ก่อน และจะระมัดระวังที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน โดยหวังว่าทุกท่านจะเอื้อเฟื้อและสนับสนุนการร่วมงานด้วยกัน อย่างมีความสุข

ไม่ได้พูดเล่นนะ !!...บิ๊กหมู เอาจริง ส่งอบรมหลักสูตรใหม่ คสช. 7วัน ถึง 3 จ.ชายแดนใต้



ไม่ได้พูดเล่นนะ !!...บิ๊กหมู เอาจริง ส่งอบรมหลักสูตรใหม่ คสช. 7วัน ถึง 3 จ.ชายแดนใต้
"พลเอกธีรชัย "เผย หลักสูตรอบรมเสร็จแล้ว สัก 7วัน มีรายชื่อคนที่จะถูกเรียกเข้าอบรมแล้ว เป็นคนหน้าเดิม ที่ไม่ยอมเข้าใจ เผยเตรียมค่ายทหารไว้ทั่วประเทศ รวมทั้ง3จ.ใต้
ที่ สถานที่พักฟื้นและพักผ่อน ของกองทัพบก (บางปู) จ.สมุทรปราการ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ไป เปิดโครงการ "อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน" โดยได้ปลูกต้นโกงกาง จำนวน 840,000 ต้น. เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมี พลเอกวลิต โรจนภักดี รอง ผบ.ทบ. และ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผช.ผบ.ทบ. ร่วมด้วย
พลเอกธีรชัย ผบทบ. ในฐานะ เลขาธิการ คสช. ให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้าการจัดทำหลักสูตรอบรมนักการเมือง ที่เคยถูกเรียกปรับทัศนคติแล้ว แต่ทำผิดซ้ำ อีกของ คสช. ว่า ได้จัดทำหลักสูตรเสร็จสิ้นแล้ว
เบื้องต้น หลักสูตรนี้ จะอบรมในระยะเวลา 7 วัน โดยเน้นไปที่กลุ่มคนที่ยังไม่เข้าใจการทำงานของรัฐบาลและคสช.
ส่วนจะเป็นใครบ้างนั้น พลเอกธีรชัย กล่าวว่า. เรามีรายชื่อของบุคคลที่ต้องเข้ารับการอบรมอยู่ในมือแล้ว เพราะเป็นบุคคลหน้าเดิมๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ส่วนสถานที่จัดอบรมนั้น พลเอกธีรชัย เผยว่า ได้เตรียมไว้แล้ว มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึง ชายแดนภาคใต้. เช่น ปัตตานีและ ด้วย ยะลา

คำต่อคำ! ‘รอง ผอ.อผศ.’ ตอบปมจ้างช่วงขุดคลอง สอบถึงไหน-เอาผิดใครได้ยัง?

30มีนาคม 2559
“…แจ้งความกับกลุ่มผู้ที่แอบอ้างชื่อ หรือกลุ่มบุคคลที่ปรากฏตามข่าวว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ต่าง ๆ ก็แล้วแต่ นำมาจากข่าวที่สื่อนำเสนอ รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างชื่อรองนายกรัฐมนตรีด้วย ถามว่ามีชื่อหรือไม่ ผมก็ไม่มีชื่อ แต่มันก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป…”
PIC swattt 30 3 59 1
ประเด็นร้องเรียนเรื่ององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) จ้างช่วงเอกชนให้เข้าไปดำเนินการขุดลอกคูคลองแทนทั่วประเทศ ทั้งที่ อผศ. ได้สิทธิพิเศษในการดำเนินการดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว และมีระเบียบห้ามจ้างช่วงอย่างเด็ดขาด กำลังเป็นเรื่องที่สาธารณชนติดตามอย่างใกล้ชิด 
ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกาะติดและนำเสนอข้อเท็จจริงกรณีนี้มานานกว่า 2 เดือน โดยพบว่าหลายจังหวัดใน ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างถูกร้องเรียนเรื่องนี้ทั้งสิ้น ประกอบกับกลุ่มผู้รับเหมาที่เริ่มอดทนไม่ไหว เนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าจ้าง และเพิ่งทราบว่าแท้จริงแล้วงานตอนแรกมีวงเงินสูงกว่าที่ตัวเองทำมาก
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2559 พล.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผอ.อผศ. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่มี พล.ท.สวัสดิ์ ทัศนา รอง ผอ.อผศ. เป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบและแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว
ปัจจุบันผ่านมาเกือบสองเดือนแล้ว มีความคืบหน้าถึงไหนบ้าง ? 
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดต่อไปยัง พล.ท.สวัสดิ์ เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการตรวจสอบดังกล่าว มีรายละเอียดแบบ ‘คำต่อคำ’ ดังนี้
@ความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีถูกร้องเรียนว่าปล่อยจ้างช่วงงานให้เอกชน และมีการเรียกรับหัวคิว
พล.ท.สวัสดิ์ : เรื่องนี้ขอตอบเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก เรื่องของการแอบอ้างชื่อของรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และการเรียกรับผลประโยชน์ ตรงนี้เราไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่กระทำการดังกล่าวกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และ สน.พญาไท คงต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนขยายผลต่อ
ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องที่ผมต้องจัดการตอนนี้ คือการปัดกวาดภายในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องกระบวนการทำงาน ส่วนนี้ก็เสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง ในขณะที่พวกผมสอบกันไป เจ้าหน้าที่ก็ต้องเร่งที่จะเอางานออก เอาเช็คออกไปให้สำหรับพวกกลุ่มผู้รับเหมาที่เราเช่าเครื่องมือเครื่องจักรจากเขา แล้วยังไม่ได้เงินอะไรต่าง ๆ ที่พวกเขารอ เราก็กำลังเร่งรัดเช็ค และทยอยออกอยู่ ซึ่งปัจจุบันพยายามเร่งให้ไวขึ้นแล้ว 
ส่วนเรื่องการขอข้อมูล หรือที่บุคคลภายนอก ทั้งบริษัทเอกชนที่เราเช่าเครื่องมือเครื่องจักรมาให้ข้อมูลนั้น ก็ดำเนินการไปส่วนหนึ่ง แต่ข้อมูลมันก็ซ้ำ ๆ กันเหมือนเดิม และยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
@กลุ่มบุคคลที่แจ้งความมีใครบ้าง
พล.ท.สวัสดิ์ : ก็แจ้งความกับกลุ่มผู้ที่แอบอ้างชื่อ หรือกลุ่มบุคคลที่ปรากฏตามข่าวว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ต่าง ๆ ก็แล้วแต่ นำมาจากข่าวที่สื่อนำเสนอ รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างชื่อรองนายกรัฐมนตรีด้วย ถามว่ามีชื่อหรือไม่ ผมก็ไม่มีชื่อ แต่มันก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป
@หมายถึงกลุ่ม ‘คุณนาย อ.’ กับเครือข่ายใช่หรือไม่
พล.ท.สวัสดิ์ : ก็ไม่ทราบ ใครก็แล้วแต่ที่ทำตรงนี้ ไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง
@ได้ประสานข้อมูลกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่อยู่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่
พล.ท.สวัสดิ์ : ในส่วนนี้ผมดูในเรื่องของเอกสารหลักฐานของเราเองว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเราทำงานเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ข้อบกพร่องเป็นอย่างไร จะได้ช่วยกันแก้ไข แต่ยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปกับลงพื้นที่สอบกับ สตง. หรือ ป.ป.ท. แต่ถ้าทั้งสองหน่วยงานจะส่งข้อมูลมาให้ เราก็ยินดี และพร้อมจะตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้น หรือจะเป็นข้อมูลจากสื่อมวลชนก็ตาม เราพร้อม เพราะเราต้องการข้อมูลทั้งหมดเพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์
@ประเมินว่าปัจจุบันตรวจสอบไปแล้วประมาณกี่เปอร์เซ็นต์
พล.ท.สวัสดิ์ : ขณะนี้น่าจะได้ประมาณ 70% แล้ว โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ผมก็ดูแล และประสานข้อมูลกันตลอด
@เจอเจ้าหน้าที่รายใดที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายกับคนที่แอบอ้างหรือไม่
พล.ท.สวัสดิ์ : ตรงนี้ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเขา มันอาจจะมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่อง หรือความล่าช้า เนื่องจากปริมาณงานที่มาก หรือข้อผิดพลาดอะไรมากกว่า
แต่ที่จะไปมีพฤติการณ์ หรือการเรียกรับผลประโยชน์แบบเดียวกับกลุ่มบุคคลที่ถูกแจ้งความไป ผมยังไม่พบ แต่จะดูในเรื่องเอกสาร หรือเรื่องของการทำงานตรงนั้นเป็นหลักมากกว่า

บทเรียนจากการสอดส่องประชาชนในต่างประเทศ: เมื่อรัฐลุแก่อำนาจและทำลายเศรษฐกิจดิจิทัล

บทเรียนจากการสอดส่องประชาชนในต่างประเทศ: เมื่อรัฐลุแก่อำนาจและทำลายเศรษฐกิจดิจิทัล

ชุดกฎหมายมั่นคงดิจิทัลกำลังจะกลับมา หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จสิ้น ก่อนที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ในหลักการและเนื้อหาสาระของกฎหมายยังคงมีปัญหาที่ควรถกเถียงกันอีกมา โดยบทเรียนจากต่างประเทศก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในกฎหมายจนเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนเหล่านี้ ไม่มีประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำความผิด และเสี่ยงต่อการใช้ในทางที่ผิด รวมถึงอาจส่งผลเสียต่อสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” อีกด้วย
 
 
 
ประเทศไทยเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่รัฐบาลกำลังพิจารณากฎหมายที่ให้อำนาจ สอดส่องประชาชน หรือที่ภาคประชาสังคมเรียกกันว่า  “ชุดกฎหมายมั่นคงดิจิทัล” ทั้งนี้ ชุดกฎหมายมั่นคงดิจิทัลเคยถูกภาคประชาสังคมคัดค้านถึงผลเสียในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวกับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และรัฐบาลจึงผ่อนคลายท่าทีในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวลง พร้อมทั้งมีสัญญาใจกับประชาชนว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ใหม่ให้ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ดี ชุดกฎหมายดังกล่าวกำลังจะกลับมาอีกครั้ง ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาแบบเดิมจึงขอทวนความจำปัญหาของกฎหมายและส่องดูปัญหาเท่าที่ทราบของร่างกฎหมายใหม่ รวมถึงลงละเอียดให้ชัดว่ากฎหมายสอดส่องไม่มีประสิทธิภาพและเสี่ยงต่อการใช้ในทางที่ผิดอย่างไร
 
ปัญหาเดิมของชุดกฎหมายมั่นคงดิจิทัลคือ เปิดช่องให้ สอดส่อง-คัดกรอง-ปิดกั้นข้อมูลได้อย่างอิสระ และการคุ้มครองข้อมูลค่อนข้างต่ำ
 
ตัวอย่างของกฎหมายบางฉบับในชุดกฎหมายมั่นคงดิจิทัลที่มีปัญหา ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ฯ จุดเด่นของร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คือ มาตรา 35 เพราะมาตราดังกล่าวให้อำนาจเจ้าพนักงานสามารถเรียกให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ หรือนำส่งเอกสารต่างๆ และยังสามารถส่งหนังสือ "ขอความร่วมมือ” ให้หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานเอกชน ดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ รวมไปถึงให้อำนาจเจ้าพนังานเข้าถึงข้อมูลการติดต่อ สื่อสาร ทั้งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงไซเบอร์ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดได้อีกด้วย
 
กล่าวโดยสรุปก็คือ เจ้าพนังงานมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสาร โดยไม่ต้องมีหมายศาล และยังสามารถปิดกั้น บล็อก แบน เนื้อหา ได้อย่างอิสระ
 
แม้ว่าในกฎหมายในชุดดังกล่าว จะมี ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ด้วยแต่ว่า ในมาตรา 23 (5) ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กลับเปิดช่องไว้อีกว่า การเก็บรวมรวมข้อมูลส่วนบุคคลบางกรณีไม่จำเป็นต้องได้ “มาตรฐาน” เช่นเดียวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ให้เป็นไปตามกฎหมายอื่น นั้นเท่ากับว่า สิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ก็จะถูกลดทอนลง เช่น หากเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ก็สามารถละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนดในภายหลัง
 
ร่างแก้ไขใหม่เพิ่มอำนาจปิดกั้นเนื้อหา แต่มาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายยังไม่ดีขึ้นเท่าไร
 
จากข้อมูลของ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งติดตามร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิดได้สรุปชุดกฎหมายมั่งคงดิจิทัลบางฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้ดังนี้
 
ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ร่างใหม่จากกฤษฎีกา – เพิ่มมาตรา 14/1 เพิ่มบทลงโทษเนื้อหาด้านความมั่นคง-สร้างความตื่นตระหนก ทำให้ร่างกฎหมายนี้ยังเปิดช่องให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองได้
 
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ร่างใหม่จากกฤษฎีกา – คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เป็นอิสระ มีแนวโน้มทำงานคุ้มครองไม่ได้จริง เนื่องจากทำงานใต้โครงสร้างกระทรวง และต้องพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ อย่างมาก (ตามมาตรา 16) นอกจากนี้กรรมการยังมาจากหน่วยงานรัฐในสัดส่วนสูง ทำงานไม่เต็มเวลา และอาจมีประโยชน์ขัดกัน
 
ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ – ยังไม่มีร่างใหม่ให้ประชาชนเห็น ทั้งที่ใกล้ส่งเข้าสนช.แล้ว
 
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ยังตั้งข้อสังเกตไว้อีกด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะดักรับข้อมูลของประชาชน เช่น มีการจัดตั้งคณะทำงาน-จัดซื้อเครื่องมือ และจะใช้มาตรา 33, 34 และ 35 ของ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ เพื่อให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ถูกกฎหมาย
 
ซึ่งจากข้อมูลในส่วนนี้ก็เพียงพอจะบอกกับสังคมได้ว่า ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับคำว่า "ความมั่นคงของชาติ" ก็คือ ประชาชนจะต้องพกพาดวงตาและใบหูของรัฐไปด้วยทุกหนทุกแห่งซึ่งสอดแทรกอยู่ตามโครงข่ายการสื่อสาร ไม่ว่าคุณจะติดต่อผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ มิใช่แค่นั้น รัฐยังมีฝ่ามือในการปิดบังดวงตาของคุณเมื่อรัฐเห็นว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับคุณได้อย่างอิสระอีกด้วย หากว่าชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัลยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง
 
บทเรียนจากต่างประเทศ: กฎหมายสอดส่องไม่มีประสิทธิภาพและมีโอกาสถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
 
ถึงแม้ว่าหลายประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับการก่อการร้ายมีท่าทีจะสนับสนุน “กฎหมายสอดส่อง” แต่ทว่า บทเรียนจากสหรัฐอเมริกาหนึ่งในประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาการสอดส่องข้อมูลส่วนบุคคลไม่แพ้ชาติใดในโลก กลับมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวว่า “ไม่ได้มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมอย่างที่คิด” โดย ข้อมูลจากมูลนิธิ New America ระบุว่า จากการศึกษาและวิเคราห์ข้อมูลจากผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายพบว่า การสอดส่องของฝ่ายความมั่นคงตามกฎหมาย “รัฐบัญญัติรักชาติสหรัฐฯ ปี 2001” หรือ Patriot Act สามารถช่วยระบุผู้ต้องสงสัยได้ 1.8 เปอร์เซ็น จากจำนวนคดีความมั่นคงที่จับกุมได้ทั้งหมด
 
อีกทั้ง การสอดส่องบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ ตามกฎหมาย “รัฐบัญญัติสอดส่องข่าวกรองต่างประเทศ” หรือ FISA ช่วยระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้ 4.4 เปอร์เซ็น ส่วนการสอดส่องโดยไม่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจนช่วยให้ระบุตัวผู้ต้องสงสัย ได้ 1.3 เปอร์เซ็น ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวระบุอีกว่า การสอบสวนด้วยวิธีการปกติอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่รัฐใช้การสอดส่องสอดแนมมาใช้ในทางที่ผิดอีก เช่น เอธิโอเปีย ที่มีรายงานของ Human Rigth Watch ว่ารัฐบาลใช้ข้ออ้างเรื่องการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายเพื่อสอดส่องข้อมูลการสื่อสาร แต่ในความเป็นจริงแล้วใช้ไปเพื่อจำกัดความเห็นต่าง นำไปสู่การจับกุมคุมขัง การสอบสวนโดยไม่ชอบโดยเฉพาะกับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และยังมีกรณีที่เจ้าหน้าหน่วยงานข่าวกรองอเมริกัน หรือ National Security Agency (NSA) ใช้ระบบสอดแนมในทางมิชอบหลายกรณี เช่น สอดแนมคนที่สนใจเพื่อจะจีบเป็นแฟน 
 
บทเรียกจากอเมริกา: อย่าให้ความมั่นคงดิจิทัลมาทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
 
จากบทความ “หัวใจของเศรษฐกิจดิจิทัล” โดย สฤณี อาชวานันทกุล แสดงให้เห็นถึงความเห็นของนักธุรกิจในสายไอทีเกี่ยวความเสียหายจากการสอดส่องสอดแนมความเป็นส่วนตัวของประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น
 
อีริก ชมิตท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กูเกิล ยักษ์ใหญ่ในวงการ ยืนยันออกสื่อตลอดมาว่า มหกรรมการ “ลุแก่อำนาจ” ของเอ็นเอสเอกระทบต่อธุรกิจอย่างมหันต์ อีกทั้ง งานวิจัยจาก Information Technology and Innovation Foundation ประเมินว่าเฉพาะอุตสาหกรรม คลาวด์ คอมพิวติ้ง (cloud computing) หรือธุรกิจให้บริการใช้หรือเช่าใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ เช่น บริการพื้นที่ฝากไฟล์บนอินเทอร์เน็ต อย่าง iCloud บน iPhone, iPad หรือ Google Drive ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะสูญธุรกิจมูลค่าถึง 22,000-35,000 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า
 
หรือ แบรด สมิธ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของไมโครซอฟท์ ที่ประสานเสียงและเสริมชมิตท์ว่า “คนไม่ไปฝากเงินกับธนาคารที่พวกเขาไม่ไว้ใจ เช่นกัน คนจะไม่ใช้อินเทอร์เน็ตที่พวกเขาไม่ไว้ใจ”
 
และ แรมซีย์ ฮอมซานี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของดร็อพบ็อกซ์ (Dropbox) บริการฝากไฟล์ออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในโลก ย้ำว่า “ความไว้วางใจ” คือหัวใจของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต แต่ความไว้วางใจนี้กำลังถูก “บ่อนทำลายจากภายใน” ด้วยนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐที่ทำเกินกว่าเหตุ
 
จากความคิดเห็นของนักธุรกิจไอทีชั้นนำของโลก ก็เป็นภาพสะท้อนอีกมุมหนึ่งว่า หากประชาชนไม่มีความไว้วางใจต่อความเป็นส่วนตัวบนโลกอินเทอร์เน็ตและความมั่นคงปลอดภัยในข้อมูล เพราะเสี่ยงต่อการสอดส่องสอดแนมของรัฐได้ตามอำเภอใจแล้วล่ะก็ ความมั่นคงและยั่งยืนของเศรษฐกิจดิจิทัลจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไป
 
 
โดยหลักแล้ว ไม่ใช่ว่ารัฐไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้เลย แต่การเข้าถึงนั้นต้องไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน และมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่เชื่อถือได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุแก่อำนาจ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น หากรัฐจำเป็นจะต้องมีกฎหมายสอดส่องเพื่อรับมือกับภัยก่อการร้ายอย่างแท้จริง ก็ต้องมีการรับประกันว่า
 
การเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเป็นไปโดยมีเหตุผลรองรับชัดเจนว่า ข้อมูลที่เข้าถึงจะถูกใช้เพื่อสิ่งใด และกฎหมายต้องกำหนดมาตรฐานการเข้าถึง การเก็บข้อมูล ให้เป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน เช่น ต้องมีความโปร่งใสให้ตรวจสอบได้ว่าใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบใด เก็บข้อมูลชนิดใดบ้าง เป็นระยะเวลาเท่าใด รวมไปถึงต้องมีกลไกตรวจสอบประสิทธิภาพ และตรวจสอบว่าการใช้อำนาจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ และต้องจัดให้มีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนหรือทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจ และมีกระบวนการเยียวยาหากเกิดความเสียหายขึ้นอีกด้วย