PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

24มิ.ย.2475

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คือ การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

      เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป
      หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า (ถ้าหันหน้าไปทางเดียวกับหัวม้า จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ) มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ" เป็นหลักฐานถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมื่อ 72 ปีก่อน ข้อความเหล่านี้นับวันแต่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา

      คณะราษฎรที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้นประกอบด้วยคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศ และกลุ่มนายทหารในประเทศไทยบุคคลทั้งสองกลุ่มพื้นฐานการศึกษาคล้ายกัน คือ ศึกษาวิชาพื้นฐานหรือวิชาชีพจากประเทศทางตะวันตก ใกล้ชิดกับการปกครองของประเทศที่ตนไปศึกษา คือ ได้สัมผัสกับบรรยากาศการปกครองในระบอบประธิปไตย เห็นความเจริญก้าวหน้าจากการที่ประชาชนในยุโรปตะวันตกมีส่วนร่วมในการปกครอง ประกอบกับบุคคลทั้งสองกลุ่มเป็นบุคคลที่มีสติปัญญาสูง ส่วนใหญ่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง จึงกำหนดในความคิดว่าตนควรจะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ
      คณะผู้ก่อการยึดอำนาจการปกครอง ได้รวมกลุ่มกันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. 2469 ได้มีข้อขัดแย้งกับผู้ดูแลนักเรียนไทยในฝรั่งเศสซึ่งเป็นพระราชวงศ์องค์หนึ่ง ซึ่งกล่าวหาว่านักเรียนไทยเป็นพวกหัวรุนแรง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย ควรเรียกบางคนกลับประเทศไทยำให้นักเรียนในต่างประเทศมีพื้นฐานการไม่พอใจสถานการณ์บ้านเมืองเป็นส่วนตัว คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นนักเรียนไทยในต่างประเทศเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ก็ได้เตรียมการวางแผนยึดอำนาจโดยชักชวนให้กลุ่มนายทหารเข้าร่วมด้วย การยึดอำนาจการปกครองของประเทศไทยมีผู้กระทำมาครั้งหนึ่งแล้วใน ร.ศ.130 กระทำไม่สำเร็จ ดังนั้นคณะราษฎรจึงได้วางแผนอย่างดีป้องกันข้อบกพร่องที่อาจมีขึ้น และการชัดชวนทหารเข้าร่วมด้วยจึงทำให้เกิดความสำเร็จเพราะทหารมีอาวุธ ผู้บริหารประเทศยินยอมให้คณะราษฎรยึดอำนาจไม่โต้แย้ง ด้วยเกรงว่าพระบรมวงศานุวงศ์จนถึงประชาชนจะเป็นอันตรายเพราะอาวุธ
      ชนวนที่ทำให้คณะราษฎรลงมือวางแผนยึดอำนาจมีหลายสาเหตุ สาเหตุแรก ได้แก่ สภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาอภิรัฐมนตรีสภาซึ่งสมาชิกทั้งหมดเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ด้วยเหตุผลที่จำให้แก้สถานการณ์ที่กล่าวว่า พระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่แตกแยกกัน อภิรัฐมนตรีสภาช่วยแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้หลายประการแต่ความคิดของผู้ใหญ่และของผู้เยาว์กว่าย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นการยับยั้งข้อเสนอบางเรื่องโดยเฉพาะพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเย้าอยู่หัวที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ประชาชนชาวไทยในวาระราชวงศ์จักรีทรงปกครองแผ่นดินมาครบ 150 ปี จึงทำให้คณะราษฎรและกลุ่มหนังสือพิมพ์มองว่า พวกเจ้าหลงกับอำนาจ สาเหตุที่สอง ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศรายได้ไม่พอกับรายจ่าย สืบเนื่องจากเศรษฐกิจของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และการใช้จ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว การแก้ไขคือ การดุลข้าราชการ ยุบเลิกหน่วยงานต่าง ๆ ตัดทอนค่าใช้จ่ายของกระทรวง กรม กอง และเก็บภาษีบางประการเพิ่มการแก้ไขดังนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้เสียประโยชน์ ในวงการทหารก็เช่นกัน การขัดแย้งเรื่องงบประมาณกระทรวงกลาโหม จนถึงเสนาบดีกระทรวงกลาโหมขอลาออกจากราชการ จึงเป็นเหตุให้นายทหารคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในขณะที่มีการดุลข้าราชการออก ก็มีกลุ่มบุคคลมองว่าดุลออกเฉพาะสามัญชน ส่วนข้าราชการที่เป็นเจ้าไม่ต้องถูกดุล แล้วยังบรรจุเข้าทำงานแทนสามัญชนอีก ความแตกต่างทางฐานะด้านสังคมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
      สาเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ ความล่าช้าในการบริหารราชการแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะฝึกข้าราชการในสภากรรมการองคมนตรีให้เรียนรู้วิธีการประชุม ปรึกษาแบบรัฐสภาเพื่อเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็ทำได้อย่างไม่มีผลเท่าไรนักพระราชบัญญติเทศบาลซึ่งจะเป็นรากฐานของการปกครองตนเองก็ยังไม่ได้ประกาศออกใช้ และข้อสุดท้ายคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ผู้ชำนาญการร่างไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่ได้พระราชทานแก่ประชาชน
      การเปลี่ยนแปลงการปกครองกระทำได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน การปกครองของประเทศจึงเปลี่ยนไป คือมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ
76 ปี ประชาธิปไตยไทย
การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในยุครัตนโกสินทร์ ยั่งยืนมา 150 ปี จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) จนบัดนี้กำลังล่วงลุสู่ปีที่ 76 ในวันที่ 24 มิถุนายน 2551 ที่จะถึงนี้
เมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติได้ออกประกาศเรียกว่า ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 อ้างเหตุผลความจำเป็นในการต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองความว่า
"เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิมทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย มิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆได้กระทำกัน ..... ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว"
"ฯลฯ.......เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงม าก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว"
คณะผู้ก่อการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์ ได้ประกาศนโยบาย โดยเรียกว่า "หลักใหญ่ๆที่คณะราษฎรวางไว้" มีอยู่ว่า 
1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง 
2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก 
3.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 
4.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักสี่ประการดังกล่าวข้างต้น 
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติ ได้ให้ความหวังแก่ประชาชนในแถงการณ์สุดท้ายว่า "ราษฎรทั้งหลาย จงพร้อมกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมาย พึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใดๆอันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาส พวกเจ้าหมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า"
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งความเสียหายแก่บ้านเมือง และเนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรดังกล่าว เหตุการณ์บ้านเมือง มีความสับสนวุ่นวาย อาญาสิทธิในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลายเป็นการผูกขาดอำนาจเผด็จการในระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎรกำหนดให้ จนมีคำกล่าวขานเป็นคำคล้องจองว่า "พระยาพหลต้นคิด หลวงประดิษฐ์ต้นเรื่อง โค่นอำนาจพระราชา ปล่อยหมูปล่อยหมามานั่งเมือง"
วันที่ 2 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสละราชสมบัติ โดยพระราชหัตถเลขา ความว่า
"ข้าพเจ้าเห็นว่า คณะรัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรม ตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน"
76 ปีที่ผ่านมาจนบัดนี้ สถานการณ์บ้านเมืองดังที่คณะราษฎรได้หยิบยกขึ้นมาประกอบเพื่อเป็นเหตุผลในการปฏิวัติยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วนทุกประการ ซ้ำร้ายหลายประการยิ่งเลวร้ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่า"คนสอพลอไร้คุณงามความรู้ขึ้นดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ การไม่ฟังเสียงราษฎร การปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในการรับสินบนทุจริตคอรัปชั่น การหากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน การปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม การทำตนอยู่เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้" หลักใหญ่ 5 ประการที่เสมือนนโยบายดังได้ประกาศไว้ และให้ความหวังไว้ว่าจะนำความสุขความเจริญอย่างประเสริฐเยี่ยง "ศรีอาริย์"มาบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า ดูเหมือนกำลังจะนำพาประเทศชาติไปสู่ "กลียุค" เข้าทุกขณะ
ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และฉบับต่อมาหลายฉบับ คือการ "ล้มเจ้า" และบังอาจจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยและร้ายแรงที่สุดต่อสาธารณะ
วันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชย์ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยพระราชปณิธานว่า "เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
62 ปี ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาล และทศพิธราชธรรมที่มั่นคง เป็นสิ่งที่นำพาชาติไทยให้ร่มเย็นเป็นสุขและอยู่รอดตลอดมา
ข้อมูลจาก :
http://www.rakbankerd.com
http://www.naewna.com

ทำไม ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงก่อ ‘ปฏิกิริยา’

ทำไม ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงก่อ ‘ปฏิกิริยา’

บทเรียนจากคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 กับบทเรียนคณะราษฎรเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 มีมากมายอย่างยิ่งทั้งในทางการเมืองและในทางการทหาร
บทเรียน 1 ก็คือ แม้มีความตั้งใจแน่วแน่แต่ก็มิได้หมายความว่าจะสำเร็จ
คำว่า “สำเร็จ” หากประเมินจากคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 ก็คือ ถูกจับกุมเสียก่อนที่จะสามารถลงมือปฏิบัติการ
เนื่องจาก “ความลับ” แตก
ขณะเดียวกัน แม้ว่าในวันก่อการคณะราษฎรจะประสบความสำเร็จ สามารถยึดอำนาจและสถาปนาตนเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษา “ความสำเร็จ” ได้อย่างยั่งยืน
เพียงไม่ถึง 1 ปีก็เกิดความขัดแย้ง แตกแยก
เป็นความขัดแย้ง แตกแยก จาก “ภายใน” โดยอีกฝ่าย “เสี้ยม” และเจาะทะลวงเข้าไป ทั้งโดยกระบวนการทางการเมือง และกระบวนการทางทหาร
พอถึงเดือนพฤศจิกายน 2490 คณะราษฎรก็เรียบโร้ย

หากถามว่า “ปัจจัย” อะไรทำให้คณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 ต้องล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติการ อะไรทำให้คณะราษฎรต้องถูกทำลายในอีก 15 ปีต่อมา
คำตอบในแบบ “สมัยใหม่” คือ การบริหารจัดการ
คำตอบในแบบ “ซ้ายเก่า” ไม่ว่าอยู่ในยุคของเลนิน ไม่ว่าอยู่ในยุคของเหมาเจ๋อตุงก็คือ การจัดตั้งภายในไม่เข้มแข็งอย่างเพียงพอ
นั่นเพราะมิได้นำโดยความคิดของชนชั้นกรรมาชีพ
คำตอบประการหลังนี้เป็นคำตอบในเชิงทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงแม้จะมีการจัดตั้งในแบบลัทธิเลนินก็ยังมีคนที่ต้านพรรค เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค
ไม่ว่าจะภายใน “บอลเชวิก” ไม่ว่าจะภายใน “กุงฉานตั๋ง”
กระนั้น ลักษณะจัดตั้งก็สามารถอธิบายความล้มเหลวของคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 ได้ ลักษณะจัดตั้งก็สามารถอธิบายความไม่ยั่งยืนของคณะราษฎร2475 ได้
ลักษณะ “จัดตั้ง” จึงสำคัญในทางการเมือง
ใครก็ตามที่ศึกษาชัยชนะของกองทัพในการเล่นบทของ “นักรัฐประหาร” มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ยุค 2475 กระทั่งยุค 2557 ก็จะประจักษ์ในจุดเด่น
นั่นก็คือ ลักษณะจัดตั้งของ “กองทัพ”
เนื่องจากกองทัพเป็นกองกำลังติดอาวุธจึงมีความจำเป็นสูงอย่างยิ่งในการจัดระบบการจัดตั้ง การบังคับบัญชาอย่างเข้มงวด เพราะหากกองทัพ “ไร้วินัย” ก็ไม่ต่างไปจาก “กองโจร”
ความเข้มแข็งและแข็งแกร่งของกองทัพนี้เองทำให้ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวก่อนเดือนกันยายน 2549 ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ในที่สุด ก็ต้องออก “บัตรเชิญ” ไปยังกองทัพ
บทสรุปก็คือ เท่ากับปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับ “รัฐประหาร”
ในห้วงที่ ดร.ซุนยัดเซ็น เคลื่อนไหวปลุกระดมชาวจีนโพ้นทะเลให้รวมตัวกันเพื่อนำไปสู่การเกิดกบฏซินไฮ่ในเดือนตุลาคม 1911 คือ เรียกร้องให้ชาวจีนสามัคคีกัน
ที่ชาวจีนอ่อนแอและอยู่ในฐานะ “คนไข้แห่งเอเชีย” ก็เพราะขาดความสามัคคี
นั่นก็คือ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด เท่ากับเป็นการดำรงอยู่อย่างตัวใครตัวมันเหมือนกับทรายที่ร่วนซุย ไม่สามารถผนึกพลังอย่างเป็นหนึ่งเดียว
แต่เมื่อรวมพลังกันได้ก็จะก่อสถานการณ์อันใหญ่หลวงขึ้นได้
คนรุ่นใหม่หลังยุคกำแพงเบอร์ลินพังทลาย ชมชอบความเป็นอิสระ ชมชอบลักษณะปัจเจกนิยม ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง
เห็นว่าลักษณะจัดตั้งทำให้ขาดเสรีภาพ
จึงไม่แปลกที่เพียง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เอ่ยว่าปัญญาชนนักวิชาการทุกวันนี้ไม่สนใจการเมืองภาคประชาชน ก็ถูกเสียงตอบโต้อย่างดุเดือดกลับมา
ทั้งๆ ที่ทุกคนล้วนรู้ว่าลักษณะจัดตั้งก่อให้เกิดกำลัง

“จักรทิพย์” สั่งเด็ดขาด ห้าม ผตห.จ้อผ่านสื่อ ปรามตร.อย่าทำตัวสนิทสนม หวั่นกระทบค.เชื่อมั่น

“จักรทิพย์” สั่งเด็ดขาด ห้าม ผตห.จ้อผ่านสื่อ ปรามตร.อย่าทำตัวสนิทสนม หวั่นกระทบค.เชื่อมั่น


เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) มีวิทยุในราชการ ศปก.ตร.ด่วนที่สุด เลขที่ 0001(ศปก.ตร.)96 ลงวันที่ 22 มิถุนายน60 เกี่ยวกับการแถลงข่าว การให้ข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ถึงรองผบ.ตร. จนถึงผู้บัญชาการและผู้บังคับการทุกหน่วย ใจความว่า เนื่องจากที่ผ่านมาปรากฏมีการให้ข่าว ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ตร. ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
“จึงกำชับ ห้ามนำ จัดให้ หรือยินยอมให้ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการควบคุมของตำรวจ มาให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทุกแขนง โดยเด็ดขาดในทุกกรณี ห้ามจัดให้ ยินยอม หรืออนุญาตให้บุคคลใด บันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะอยู่ร่วมกับผู้ต้องหา เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ และห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แสดงกิริยาอาการในลักษณะที่อาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจในทำนองว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้ต้องหาเป็นการส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ”คำสั่งผบ.ตร.ระบุ และกำชับให้ทุกหน่วยและผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะถูกพิจารณาข้อบกพร่องทั้งทางวินัยและการปกครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคำสั่งนี้มีขึ้นหลังจาก ตร.นำตัวนายวัฒนา ภุมเรศ อายุ62ปี อดีตวิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้ต้องหาคดีวางระเบิดต่อเนื่อง 6 จุดในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2560 ล่าสุดเหตุที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า โดยในการแถลงข่าวนายวัฒนาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงเหตุจูงใจในการก่อเหตุระเบิด ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงรายถ่ายภาพคู่กับนางสาวปรียานุช โนนวังไชย หรือเปรี้ยว ผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพ

เรื่องมันก็น่าอัดอั้นจริง

เรื่องมันก็น่าอัดอั้นจริง

มองในมุมดราม่าการเมือง ถึงคิวตัวพระ-ตัวนางครองจอก็ไม่ผิดอะไร
ทั้งคิวของ “อดีตนายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับการทำบุญวันเกิด 50 ปี พร้อมน้ำตาสะอื้นไห้ และโปรแกรมลงพื้นที่ต่างจังหวัดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.
โดยฉากร่ำไห้ในวันเกิดของ “อดีตนายกฯปู” อีกมุมก็เป็นบทจริงที่น่าเห็นใจ
คดีหนักๆอย่างโครงการรับจำนำข้าวงวดเข้ามา
ตามโปรแกรมลุ้นระทึก รอการไต่สวนพยาน 3 นัดสุดท้าย ก่อนแถลงปิดคดีลุ้นคำพิพากษา ในข้อหาปล่อยปละละเลย ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว
ลุ้นโทษถึงขั้นคุก-ไม่คุก ไม่น่าจะเกินปลายปี 2560 นี้
เจอเข้ากับใคร ก็เบรกบทโศกในใจได้ยากเหมือนกัน
เป็นอย่างที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ย้อนคำถามที่ว่า ปมจำนำข้าวสร้างความกังวลใจให้อดีตนายกฯหญิงหรือไม่
“ใจเขาใจเรา”
หันโฟกัสมาที่อีกมุมหนึ่งของประเทศไทย “นายกฯลุงตู่” กำลังกลับมาครองจอ คืนสู่ไมค์อีกครั้ง แต่ละวันนอกจากกล่าวเปิดงาน ยังคัมแบ็กตอบคำถามนักข่าว ไม่รวมที่จัดโปรแกรมเดินสาย “จับเข่าคุย” สื่อ
และวันเดียวกับที่อดีตนายกฯหญิงทำบุญวันเกิด “นายกฯลุงตู่” ไปทัวร์เมืองขอนแก่น เล่นครบทั้งทักทายพูดคุย เซลฟี่ถ่ายรูปกับแฟนๆ โดยไม่ลืมบทเข้มในภาคเดี่ยวไมโครโฟน
ติดหน้าจอครองหน้าสื่อเหมือนกัน
และแน่นอน คิวทอล์กโชว์ของ “บิ๊กตู่” มีรายการแฉลบมากระแทกคนตระกูลชินฯ
จากที่ก่อนหน้านี้เคยสวนกลับ ไม่สนยอดไลค์เฟซบุ๊ก เพราะมุ่งแต่ทำงาน
เหน็บคิวฉลอง 6 ล้านไลค์แฟนเพจ “อดีตนายกฯปู”
ล่าสุดยังกระแทกไปถึงต้นขั้วเครือข่าย “ทักษิณ” เต็มๆ โดยเรียกร้องไม่ให้เอาความขัดแย้งมาสู้กัน เอ่ยลอยๆ อย่าบอกว่ามีการไปไล่ล่า เรียกร้องขอให้ยอมรับกติกากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“ก็ไม่กลับมาเองไม่ใช่หรือ หนีแล้วไปนั่งด่าโก้ๆ ไม่รักประเทศไทยเหรอ”
เอาเป็นว่าพี่น้องชินวัตรอาการไม่สู้ดีจริงๆ
โดยเฉพาะอดีตผู้นำหญิงต้องรีบเคลียร์ปมคาดเดาหลังคิวทำบุญทั้งน้ำตา
บอกปัดเตรียม “เผ่น”
เพียงแต่คิวนี้ ก็ไม่เหนือการคาดเดาเท่าใดนัก เพราะนอกจากคดีอาญาที่ยังเหลือเวลาสู้คดี อีกด้านก็ยังมีกรณียึดทรัพย์ 3.5 หมื่นล้านบาท ที่ร้องคัดค้านเพิกถอนคำสั่งไปยังศาลปกครอง
แม้ล่าสุดมือกฎหมายรัฐบาลอย่าง “ดร.วิษณุ” ไม่เคลียร์ชัด เหตุคิวยึดทรัพย์จำนำข้าวยังอืด
แต่ก็ไม่ได้หมายความจะวางใจได้ว่า “รอด”
เพราะตั้งแต่ลงจากเก้าอี้ผู้นำ ชะตาชีวิตของ “อดีตนายกฯปู” ก็ดูเหมือนจะเป็นกราฟดิ่งลง ทั้งถูกถอดถอนจากปมจำนำข้าว พร้อมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต้องขึ้นศาลสู้คดีอาญา ยื้อสู้คิวยึดทรัพย์
ในห้วงที่ปมชนักคดี มีสัญญาณไม่สู้ดีมาต่อเนื่อง
ขณะที่อ่านทางผู้คุมเกมอย่าง “บิ๊กตู่” เล่นบทเข้มตลอด ทั้งยืนยันในหลักการ เรียกร้องทุกฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
และปมจำนำข้าว ถึงขั้นใช้มาตรา 44 ไฟเขียวกรมบังคับคดีทำหน้าที่ยึดทรัพย์
สัญญาณบวกไม่มี สัญญาณดียังไม่มา ส่วนพี่ชายก็อยู่ไกล แถมยังหามุกชิ่งออกจากมุมอับไม่พ้น
ต้องถอยไปสู้ไป “ยิ่งลักษณ์” จะน้ำตาไหลร่วงก็คงไม่แปลก.
ทีมข่าวการเมือง

บิ๊กตู่....สั่ง ห้าม นำผู้ต้องหามาแถลงข่าว ชี้ พูดเลอะเทอะ

บิ๊กตู่....สั่ง ห้าม นำผู้ต้องหามาแถลงข่าว ชี้ พูดเลอะเทอะ
นี่น่าจะเป็น สาเหตุ ที่ ผบ.ตร.ออกคำสั่งด่วน เรื่องการแถลงข่าว และการถ่ายรูป ผู้ต้องหา!!!
"นายกฯ บิ๊กตู่" ระบุ ในตอนหนึ่ง ในงานวันยาเสพติด ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา ว่า อยากให้มีการปรับรูปแบบการแถลงข่าว โดยไม่ต้องนำผู้ต้องหามานั่งแถลงให้สื่อมวลชนซักถาม มีเพียงรูปภาพประกอบก็น่าจะเพียงพอแล้ว
"ไม่ใช่ต้องออกมาพูดเลอะเทอะ เพราะผู้ต้องหา ไม่มีสิทธิ์พูดกับสื่อ แต่ต้องไปพูดในชั้นศาล"
ทั้งนี้ นายกฯระบุว่า หากมีผลกระทบต่อคดีสื่อต้องผู้รับผิดชอบด้วย เข้าใจว่าทุกคนอยากได้ข่าว แต่ให้คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นด้วย

"บิ๊กป้อม"ไม่ฟันธง มีใครอยู่เบื้องหลัง"วัฒนา ภุมเรศ"

"บิ๊กป้อม"ไม่ฟันธง มีใครอยู่เบื้องหลัง"วัฒนา ภุมเรศ" แม้พบDNA ที่สายไฟ วงจรระเบิด รอตำรวจสืบสวน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังไม่ชี้ชัด กรณีการตรวจพบ DNAของบุคคลอื่นที่สายไฟ ที่พบที่บ้าน นายวัฒนา ภุมเรศ ผู้ต้องหา วางระเบิดรพ.พระมงกุฎเกล้า จนทำให้เชื่อว่ามีผู้ก่อเหตุมากกว่า 1 คน
"ให้เป็นเรื่องของ ฝ่ายสอบสวนดำเนินการไป หากพบว่ามีใครที่เกี่ยวข้องหรือร่วมกระทำการ ก็จะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย"
แต่เบื้องต้น ผู้ก่อเหตุ ยืนยันว่ากระทำคนเดียว
ส่วน ข้อสงสัยว่า มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ นั้น พลเอกประวิตร ระบุว่า ส่วนตัวไม่ขอฟันธง ขอให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการไป