PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ฤทธิ์โซเชียล

ปมอันตราย ต้องดับไฟกันทันควัน
ตามอาการที่ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รีบออกมาเคลียร์กระแสข่าวลือในโลกโซเชียลมีเดียที่ว่า รัฐบาลกำลังจะล้มเลิกโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” เนื่องจากรับภาระงบประมาณจำนวนมากไม่ไหว
เป็นการออกมาปฏิเสธซ้ำอีกรอบ
หลังจากที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ก็ได้ยืนยันข่าวรัฐบาลพยายามยกเลิกโครงการ “บัตรทอง” ไม่เป็นความจริง
ทั้งรัฐมนตรี ทั้งโฆษกรัฐบาล ต้องช่วยกันเคลียร์ข่าวลือ 2-3 รอบ
ตามปรากฏการณ์แบบที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุเลยว่า เรื่องงบบัตรทองที่เป็นกระแสสังคมอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถือเป็นสวัสดิการภาครัฐที่ให้กับประชาชนในด้านการรักษาพยาบาล โดยครอบคลุมผู้มีสิทธิถึง 48 ล้านคน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ดังนั้น เมื่อมีข่าวกระทบความรู้สึกประชาชนจึงกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหว แม้ว่าข้อเท็จจริงจะไม่ได้เป็นไปตามข้อมูลที่นำเสนอ
นี่แหละปัญหาใหญ่ของรัฐบาลทหาร คสช.
ปมอ่อนไหวแท้ๆ แต่กลายเป็นว่า คนเชื่อข่าวลอยๆในโซเชียลฯมากกว่าทางการ
นั่นหมายถึงสถานการณ์ของกระแสที่บริหารลำบาก
โซเชียลมีเดียคือปัจจัยที่เข้ามาเพิ่มความยากให้รัฐบาลท็อปบูตในการคุมเกม
ตามสถานการณ์ที่อิทธิฤทธิ์ของโลกโซเชียลฯทำให้รัฐบาลปวดหัวต่อเนื่องกับกรณีของวัดพระธรรมกายที่ปฏิบัติการชิงพื้นที่ข่าว ปล่อยข้อมูลกระตุกเครือข่ายสาวกผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ
เล่นเอาล่อเอาเถิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ เหนื่อยไปตามๆกัน
ล่าสุดในอารมณ์แบบที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม และภรรยา โดนทีมพระฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดพระธรรมกายเอาเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวโพสต์ลงเฟซบุ๊กให้เหล่าศิษย์ธรรมกายโทร.ไปป่วนจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน
ย้อนศรฝ่ายรัฐบาลที่งัดดาบมาตรา 44 ล้อมกรอบเจ้าสำนัก “ธัมมชโย”
และฝ่ายรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม แนะนำให้ รมว.ยุติธรรมเปลี่ยนเบอร์ใหม่เพื่อหนีการรังควาน
โดยอาการของฝ่ายคุมเกมอำนาจที่ต้องตกอยู่ในวงล้อมโซเชียลฯ
ที่สำคัญเป็นโลกโซเชียลฯแบบไทยๆ ที่ยังไม่ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ ส่วนใหญ่แชร์ ไลค์ คอมเมนต์ โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เน้นอิงความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวเป็นหลัก
นั่นทำให้กระแสบางเรื่องผิดเพี้ยนจากหลักการความเป็นจริงไปเลย
และจุดนี้ก็ถือว่าไม่เป็นผลดีกับสถานการณ์ของรัฐบาล คสช.ที่อยู่ในภาวะขาลง คะแนนนิยมลดลงตามโพลช่วงหลังๆ ถ้าเจอพลังโซเชียลฯโหมข่าวปลอมผสมข่าวจริงกระหน่ำบ่อยๆ
เพลี่ยงพล้ำ ถึงขั้นงานกร่อยได้เหมือนกัน
สถานการณ์อ่อนไหวแค่ไหน ดูจากอาการของ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ที่หงุดหงิด “เสธ.ไก่อู” ฐานแถลงข่าวปมโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่รู้เรื่อง
ทำให้ปมยังร้อนต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะสั่งให้กลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่
ฝ่ายต้านก็ระแวงว่ารัฐบาลไม่จริงใจ แค่แกล้งถอย เพื่อรอลุย ฝ่ายหนุนก็ด่ารัฐบาลแหยงม็อบเกินไปจนไม่ยึดหลักการความจำเป็น
หนีไม่พ้นโดนถล่มทั้งขึ้นทั้งล่อง
ในภาวะที่ “นายกฯลุงตู่” ต้องจำใจถอยตั้งหลัก ไม่กล้าหักดิบตามสถานะผู้นำที่ถืออำนาจพิเศษอยู่ในกำมือ จากภาวะภูมิคุ้มกันลดลง ต้นทุนหน้าตักส่วนตัวที่เคยหนาๆเจอปัญหาน้องรักอย่าง “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกลาโหม ถลุงไปจนร่อยหรอ
ผลจากฝ่ายต่อต้านล็อกเป้ากัดติด แฉประจานในโซเชียลฯอย่างต่อเนื่อง
แถมส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ออกซะด้วย.

ทีมข่าวการเมือง

ข่าว23/2/60

ธรรมกาย

นายกฯ ย้ำยึด กม. ดำเนินการค้นวัดพระธรรมกาย เน้นเบาไปหนัก ขออย่ารุนแรง แนะ พระธัมมชโย มอบตัว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพิ่มเติมว่า การดำเนินการกับวัดพระธรรมกายมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหน้าที่อยู่แล้ว จึงขออย่าให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง และไม่ว่าประชาชนหรือพระก็ต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นการทำงานภายใต้กฎหมาย จึงไม่อยากให้ใช้กฎหมู่มากดดันเจ้าหน้าที่ เพราะจะทำให้การทำงานยากขึ้นและอาจเกิดการบาดเจ็บสูญเสีย ขณะเดียวกัน ขอสื่อลดการนำเสนอข่าวในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้การสร้างแนวร่วมและมวลชนลดลง ซึ่งยืนยันว่าส่วนตัวรักชีวิตคนทุกคน แต่จะต้องรักษากฎหมายและกติกาของบ้านเมือง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้พิจารณาในการดำเนินการตามกฎหมายจากเบาไปหาหนัก โดยให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นเหล่านี้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้ผู้ที่กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมขอให้พิจารณากันต่อไปว่าสิ่งที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ไม่ใช่ต้องทำลายทิ้งทั้งหมด และเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต้องพิจารณาว่าจะให้เป็นสถานที่ทำบุญต่อไปอย่างไร
-----------
พล.อ.ประวิตร ย้ำ เดินหน้าค้นวัดพระธรรมกาย ไม่ทบทวนยกเลิกคำสั่ง ย้ำ ไม่ใช้ความรุนแรง ยังไม่ออกหมายจับพระ 14 รูป 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกนัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการครบกำหนด 7 ปฏิบัติการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ว่า ยังคงเดินหน้าปฏิบัติการตรวจค้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่มุ่งเน้นการไม่ใช่ความรุนแรงหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ ส่วนจะมีการทบทวนยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 เพื่อให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถจับตัวพระธัมมชโยได้ จึงต้องบังคับใช้ต่อไป และขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่ากฎหมายพิเศษ ดังกล่าวเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ 26 คน นั้น เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย

ขณะที่ในส่วนของการเรียกพระระดับผู้บริหารวัดพระธรรมกาย 14 รูป เข้ามารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการออกหมายจับ
----------
เลขาฯ สมช. รับห่วงสถานการณ์วัดพระธรรมกาย หวั่นมือที่ 3 สั่งเข้มการข่าวยึดกฎหมาย ไม่ยืนยัน "พระธัมมชโย" อยู่ในวัด ไม่พบการเมืองเคลื่อนไหวในวัด

พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เปิดเผยว่า ส่วนตัวยอมรับว่าเป็นห่วงสถานการณ์มือที่สาม ที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งทางการข่าวจะหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ไม่ได้ แต่หน่วยงานความมั่นคงก็มีความระมัดระวังในเรื่องนี้อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านการข่าวก็จะสืบหาข่าวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุอย่างอื่นขึ้น เป็นการป้องปรามไว้ โดยทางการข่าวจะประเมินความเสี่ยงสูงไว้มากที่สุด และจะดูอย่างรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎหมาย หากมีหมายจับก็ต้องมอบตัว และเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดี

นอกจากนี้ พล.อ.ทวีป ยังกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ยืนยันว่า พระธัมมชโย ยังอยู่ในวัดหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติการหาตัวอยู่ และยังไม่พบความเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่

วัดพระธรรมกาย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องภายในและเป็นเรื่องของศิษยานุศิษย์ที่ปกป้องพระธัมมชโย และในประเด็นนี้ทางการข่าวก็ไม่ได้ละเลยแต่อย่างใด
--------------

พระสงฆ์ และคณะศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย ยังปักหลักตั้งเต๊นท์สวดมนต์-พระสงฆ์ 7 รูปยังประท้วงอดอาหาร

ความเคลื่อนไหวที่วัดพระธรรมกายเช้านี้ บริเวณตลาดกลางคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พระสงฆ์ และศิษยานุศิษย์ ที่ยังคงปักหลักตั้งเต็นท์สวดมนต์ตลอดทั้งคืน เริ่มทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ ซึ่งจากการสังเกตุภายในเต็นท์จะมีป้ายข้อความวางไว้เป็นระยะ

ด้านพ่อค้าแม่ค้า เริ่มนำสิ่งของออกเตรียมจำหน่าย โดยมีประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยตักบาตรทำบุญพระสงฆ์ที่เริ่มออกบิณฑบาตรแล้วขณะที่ฝั่งขวามือของตลาดซึ่งเป็นจุดที่พระภิกษุสงฆ์จำนวน 7 รูป ประกาศประท้วงอดอาหาร ขอให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้มาตรา 44 ควบคุมวัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ ซึ่งจากการสังเกตุพบพระสงฆ์ เพียง 5 รูปเท่านั้น แต่จากการสอบถามบุคคลในพื้นที่ ทราบว่า พระสงฆ์อีก2 รูปติดกิจนิมนต์ แต่ไม่ทราบรายละเอียด  ส่วนบริเวณด้านหน้าของตลาดกลาง ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร คอยดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่

ขณะที่ฝั่งทางเข้า ประตูที่5 และ6 วัดพระธรรมกาย พบว่าเจ้าหน้าที่ได้นำแผงรั้วเหล็กมากั้นจุดทางเข้าออกหลายชั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจภูธรภาค2 กระจายกำลังทั้งด้านหน้าถนนและระยะประชิด โดยมีการตรวจคัดดรองบุคคลอย่างเข้มงวด รวมทั้งยังคงอนุญาตให้ศิษยานุศิษย์ที่ต้องการออกจากพื้นที่สามารถเดินทางออกได้ตามปกติ

สำหรับมาตรการการรักษาความปลอดภัย โดยรอบพื้นที่ เจ้าหน้าที่ยังคงตรึงกำลังในทุกจุดสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามวงรอบ และตั้งด่านตรวจค้นตั้งแต่ ทางลงต่างระดับช่วงแยกคลองหลวง
-------
 เจ้าหน้าที่ อนุญาตให้คณะศิษยานุศิษย์ นำอาหารที่ประชาชนตักบาตรพระสงฆ์เช้าที่ตลาดกลางคลองหลวง เข้าพื้นที่ วัดพระธรรมกายได้

  ความเคลื่อนไหว ที่บริเวณประตู5 และ6 วัดพระธรรมกาย พระสงฆ์ และคณะศิษยานุศิษย์ยังนั่งสวดมนต์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนและ ตำรวจภูธรภาค2 ยังคงตรึงกำลังในพื้นที่ และสับเปลี่ยนกำลังตามวงรอบ  ทั้งนี้ บริเวณประตู 5 ช่วงเช้าที่ผ่านมา พระสงฆ์ได้เดินเท้าออกจากวัดมาบิณฑบาตรตามปกติ หลังจากเสร็จแล้วก็ได้เดินเข้าไปภายในประตู 5 เช่นเดิม โดยวันนี้มีศิษย์วัดออกมาช่วยขนอาหารที่รับบิณฑบาตรเข้าไปภายในวัด และเจ้าหน้าที่ได้ทำการจรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาในพื้นที่ได้

โดย พระมหาสุรัตน์ อัคครตโน ดูเเลงานต่างประเทศ วัดพระธรรมกาย ระบุ ขอฝากเจ้าหน้าที่ช่วยเปิดทางวัดพระธรรมกาย ให้พระสงฆ์ทำหน้าที่กิจของสงฆ์โดยสมบูรณ์ เพราะทุกวันต้องเดินอ้อม วันละ 4 กิโลเมตร และเมื่อวานที่ผ่านมา ถนนคลอง3 ปิด พระสงฆ์ต้องเดินเท้า แต่มีศิษยานุศิษย์ขับรถอ้อมมาส่งฝั่งคลอง4 และคลองแอน3 4 แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปได้ ยังคงต้องเดินเท้าเช่นทุกวันแต่ยืนยัน พระสงฆ์ทุกรูปกำลังใจยังดียืนหยัดทำเพื่อพระพุทธศาสนา

ส่วนฝั่งตลาดกลางคลองหลวง กรณีที่เมื่อวานที่ผ่านมา พระครูมงคลกิจจารักษ์ เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง ซึ่งเป็นพระปกครองของวัดพระธรรมกาย พร้อมตัวแทนสำนักพระพุทธศานา แห่งชาติ เข้า
เจรจากับพระสงฆ์และกลุ่มศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย / ที่ปักหลุกชุมนุมภายในตลาดกลางคลองหลวง ฝั่งคลองแอน วัดพระธรรมกาย เพื่อให้ย้ายออกจากพื้นที่ ภายหลังที่ได้รับการประสานงาน

จากเจ้าหน้าที่ ประกอบกับเจ้าของตลาดได้แจ้งความร้องทุกข์ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งตัวแทนพระสงฆ์ ได้ ตอบรับการเจรจาจากเจ้าคณะอำเภอคลองหลวงโดยระบุว่า จะเดินทางออกจากพื้นที่ในช่วงเช้าวันนี้
แต่จากการสังเกตุยังพบว่ามี พระสงฆ์ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ขณะที่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าตรวจค้นบริเวณอาคารบุญรักษา โดยเข้าฝั่งประตู4วัดพระธรรมกายตั้งแต่เวลา 06.00 น. ที่ผ่านมา พร้อมควบคุมตัวพระสงฆ์และฆราวาสจำนวนหนึ่งได้อีกด้วย

-------
เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนค้นพระธรรมกายหน้าประตู 1 พระตั้งแถวขวางให้ถอยพ้นพื้นที่ 

บรรยากาศที่บริเวณประตู 1 วัดพระธรรมกาย ช่วงทางเข้าอาคารบุญรักษา (ฝั่งหน้าโบสถ์) ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 50 นาย เข้าไปรื้อประตู เพื่อจะเข้าไปตรวจค้น ทำให้พระสงฆ์ และขณะกลุ่มลูกศิษย์ ได้ตั้งแถวขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารไว้ และเป็นการตั้งแถวเผชิญหน้ากันแบบหน้ากระดาน ฝั่งของพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์ ได้เดินหน้า พร้อมกับสวดมนต์ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารออกจากพื้นที่ รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิก ม.44 ที่ให้วัดพระธรรมกาย เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ  ขณะที่ฝั่งทหารก็ถอยร่นทีละก้าว ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ เมื่อออกมาถึงบริเวณทางเข้า เจ้าหน้าที่จึงนำรั้วลวดหนามมาขวางไว้ สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ บรรยากาศที่บริเวณกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ได้มี พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางเข้ามาร่วมประชุมประเมินสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้มีการเชิญพระสงฆ์ 6 รูป มาพูดคุยที่ ตชด.ภาค 1 ด้วย
-------
ตร. เสริมกำลัง ตชด. 3 กองร้อยหน้าประตู 7 วัดพระธรรมกายรอรับคำสั่งดีเอสไอ 

พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้นำกำลังตำรวจตระเวนชายแดน จากจังหวัดสระแก้ว และสมุทรสาคร จำนวน 3 กองร้อย มาเสริมกำลำลังที่บริเวณประตู 7 หน้าวัดพระธรรมกาย ตามการร้องขอของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อกระจายกำลังดูแลความเรียบร้อย และรับคำสั่งปิบัติการจาก ดีเอสไอ โดยเมื่อช่วงเช้านั้น ดีเอสไอ ได้มีการประชุม เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1  
----------
ทหารยอมถอนกำลัง พร้อมถอดรั้วลวดหนาว ออกจากประตู 1 วัดพระธรรมกาย แล้ว หลังถูกพระสงฆ์ และคณะศิษย์กดดัน

ความเคลื่อนไหวที่บริเวณประตูทางเข้าอาคารบุญรักษา ของวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ทหารได้นำกำลังกว่า 50 นาย บุกเข้าไปในพื้นที่ เพื่อทำการตรวจค้น แต่พบกับกลุ่มมวลชน คณะพระสงฆ์ และลูกศิษย์วัดพระธรรมกายกว่า 500 คน ตั้งแถวเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ทหาร และเดินหน้าประชิดผลักดันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ ออกจากพื้นที่วัด โดยมีการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ถอยกำลังเข้ามาประชิดประตูรั้ว และนำแผงรั้วลวดหนามและรั้วเหล็กมากันในพื้นที่ แต่คณะลูกศิษย์ยังไม่ยินยอม โดยการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ให้เจ้าหน้าที่ ถอนกำลังพร้อมรื้อรั้วลวดหนามออกไป และมีการลุกขึ้นยืนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อกดดัน เจ้าหน้าที่ทหารจึงถอนกำลังและรื้อถอนรั้วลวดหนามออกไปจากพื้นที่วัด ขึ้นรถออกไปนอกพื้นที่

จากนั้น ทางพระสงฆ์และลูกศิษย์ จึงได้ช่วยกันนำแผงสังกะสีมากั้นทางเข้าออกอาคารบุญรักษา และช่วยกันเข็นท่อปูนซีเมนต์มากั้นตลอดแนวทางเข้า และขึงสแลนรอบพื้นที่ไม่ให้มองเห็นเข้าไปด้านในรวมถึงกางเต็นท์จำนวน 2 เต็นท์ ในพื้นที่
-------
พระสนิทวงศ์ ระบุ เหตุทหารเผชิญหน้าประตู 1 ส่งผลพระสงฆ์บาดเจ็บหลายรูป ยอมรับยังกังวล ม.44

พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้เข้ามาตรวจความเรียบร้อย หลังเกิดเหตุทหาร กับพระสงฆ์เผชิญหน้ากัน โดยระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทหารได้พังประตูเข้ามาในพื้นที่ทางเข้าอาคาร 60 ปี หรือ อาคารบุญรักษา ที่ก่อสร้างไว้สำหรับพักฟื้นพระสงฆ์และลูกศิษย์ที่มีอาการเจ็บป่วย ทางพระสงฆ์ และ ลูกศิษย์จึงกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่ออกไปจากพื้นที่ และรื้อรั้วลวดหนามออกไปด้วย เหตุการณ์ดังกล่าว ยังส่งผลให้เกิดการปะทะและมีพระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายรูป พร้อมร้องขอให้เจ้าหน้าที่ลดกำลัง และงดใช้ยุทโธปกรณ์ ทางทหาร ยืนยัน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นพื้นที่ทั้งหมดแล้ว และมีการวางกำลังเป็นชั้น โดยชั้นแรก เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ชั้นที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และชั้นในเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ทั้งหมด

นอกจากนี้ พระสนิทวงศ์ ระบุด้วยว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการตัดน้ำไฟในพื้นที่ จึงขอให้อย่าดำเนินการดังกล่าว และหากมีการยกเลิก ม.44 ทางวัดก็ยินดีที่จะให้เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชลเข้ามาด้านใน พร้อมยืนยัน พระทัตตชีโว ไม่ใช่ผู้ปฏิเสธการเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นความกังวลของลูกศิษย์เอง และขอความเมตตาจากเจ้าหน้าที่หากจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก เพราะ 3 วันที่ผ่านมา ได้เข้าตรวจค้นพื้นที่ไปทั้งหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทางลูกศิษย์ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นให้กับองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ถึงสถานการณ์การใช้มาตรา 44 ในการควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย โดยอยู่
ระหว่างรวบรวมหลักฐาน เหตุปะทะกันที่คลองแอน ประตู 5 ที่มีผู้มารับบาดเจ็บหลายคน โดยมี 1 คน กระดูกซี่โครงหักหลายซี่ อาการสาหัส และยังพบว่าต่างหูเพชรที่ใส่ถูกกระชากหายไป
-------
ผบช.ภ.1 เผย เตรียมขอคืนพื้นที่หน้าตลาดคลองหลวง ยืนยันเหตุหน้าประตู 1 ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ยืนยัน วันนี้เจ้าหน้าที่ต้องขอคืนพื้นที่ตลาดกลางคลองหลวง เพราะเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ ประกอบกับเจ้าของพื้นที่ได้ไปแจ้งความไว้ว่าได้รับความเดือดร้อน โดยชุดปฏิบัติการจะเน้นการเจรจาเป็นหลักก่อน ซึ่งกำลังเจ้าหน้าที่ยังใช้จำนวน 18 กองร้อย จะเพิ่มเติมหรือไม่ อยู่ระหว่างการหารือ

ส่วนพระภิกษุสงฆ์ ที่เจ้าหน้าที่เชิญมาสอบปากคำเมื่อเช้าที่ผ่านมา เบื้องต้นตรวจพบว่ามีวิทยุสื่อสารและเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ควบคุมพิเศษจึงจำเป็นต้องนำตัวมาสอบสวน

ขณะที่การวางตู้คอนเทนเนอร์โดยรอบวัดพระธรรมกาย อยู่ระหว่างหารือว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มตู้และจุดวางเพิ่มเติมหรือไม่ พร้อมยืนยันว่าเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับลูกศิษย์และพระสงฆ์ บริเวณประตู 1 ในช่วงเช้าวันนี้ว่าไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ตามที่ทางวัดกล่าวอ้าง
-------
ฝ่ายปกครอง ประกาศขอคืนพื้นที่ตลาดกลางคลองหลวง ตัวแทนสงฆ์ปักหลักไม่เคลื่อนย้าย

นายศิริชัย ไตรสารศรี นายอำเภอคลองหลวง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าประชาสัมพันธ์ บริเวณตลาดกลางคลองหลวง ตรงข้ามประตู 5 และ 6 วัดพระธรรมกาย เพื่อให้คณะพระสงฆ์ และลูกศิษย์กว่าพันคน ที่ไม่สามารถเข้าไปในวัดพระธรรมกาย และปักหลักสวดมนต์อยู่ในพื้นที่มาหลายวัน ให้ออกไปจากพื้นที่หลังเจ้าของตลาดเข้าแจ้งความเมื่อวานที่ผ่านมาว่าไม่อนุญาตให้ชุมนุมในบริเวณดังกล่าว

โดย ตำรวจได้นำรถควบคุมผู้ต้องหา ติดตั้งเครื่องขยายเสียงพยายามขับเข้ามาด้านในของตลาดกลางคลองหลวง เพื่อประชาสัมพันธ์โดยประกาศขอคืนพื้นที่และหากมวลชนไม่ยอมออกจากพื้นที่อาจเข้าข่ายความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ พร้อมชี้แจงความผิดตามประกาศมาตรา 44 แต่พระสงฆ์และลูกศิษย์ได้มาตั้งแถวกั้นรถไว้ ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปด้านใน ซึ่งตัวแทนพระสงฆ์ ได้ประกาศแสดงจุดยืนว่าจะไม่ยอมเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เด็ดขาดจนกว่าจะยกเลิกมาตรา 44 และสถานที่เดียวที่จะย้ายไปคือด้านวัดพระธรรมกาย และหากเจ้าหน้าที่มีการกดดันหรือบุกเข้าไปในวัด ก็อาจทำให้มวลชนที่อยู่บริเวณนี้ตกใจและบุกเข้าไปในวัดพระธรรมกายเช่นกัน
-------------
พระสนิทวงศ์ พาพิสูจน์ห้องคอนโทรลรูม หลังมีข่าวว่าเป็นที่หลบซ่อนของพระธัมมชโย

พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้พาสื่อมวลชนไปพิสูจน์ห้องมอนิเตอร์ หรือ ห้องคอนโทรลรูม ที่มีข่าวว่าพระธัมมชโยหลบซ่อนตัวอยู่ ภายในห้องดังกล่าว ระบุว่า อยู่ที่ชั้น 6 ของอาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์ฯ อาคารลักษณะทรงกลมลูกโลก ในพื้นที่โซน A เนื้อที่ 130 ไร่

จากการตรวจสอบพบว่า ห้องมอนิเตอร์รูม อยู่ที่ชั้น 1 ของลานจอดรถ ใกล้กับทางขึ้นชั้น 2 ที่เป็นสำนักงานอาคารภายในห้องดังกล่าวมีจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 30 ตัว ติดตั้งที่ผนังห้อง และมีจอ
คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ พร้อมคีย์บอร์ด รวมแล้วประมาณ 10 ชุด ส่วนกลางห้องมีโต๊ะสำหรับเจ้าในการทำงาน

โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งหมดรวมกว่า 40 ตัว ได้แสดงภาพจากกล้องวงจรปิดรอบ ๆ วัดพระธรรมกาย ที่มีกว่า 200 จุด ทั่ววัด โดยมีเจ้าหน้าที่วัดคอยควบคุมกล้องวงจรปิดทั่วบริเวณวัด ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ชั้น 6 นั้น เป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ ที่แบ่งซอยออก เป็นห้องประชุมขนาดเล็ก 5 - 6 ห้อง และประชุมใหญ่ 1 ห้อง
------------
"วิษณุ" ยังไม่ได้รับรายงาน สนช. เตรียมแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2 มาตรา ปมห้ามพระสงฆ์รับมรดกจากบรรพบุรุษและห้ามรับปัจจัยที่มีมูลค่าสูง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒธนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมตั้งคณะกรรมการพิจาณาแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จำนวน 2 มาตรา เกี่ยวกับข้อห้ามพระสงฆ์รับมรดกจากบรรพบุรุษและห้ามรับปัจจัยที่มีมูลค่าสูง ว่า ยังไม่ได้รับรายงานข้อเสนอดังกล่าว เพียงรับทราบจากสื่อมวลชนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ยังเปิดเผยว่าก่อนหน้านี้เคยสั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการถวายที่ดินให้กับวัด เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายจำกัดจำนวนในการรับบริจาค หากเกินกว่าจำนวนที่กำหนด จะต้องขออนุญาตกรมที่ดิน ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ดังนั้น ประชาชนจึงเลือกขายที่ดินแล้วนำเงินมาบริจาคให้วัด หรืออาจเลือกบริจาคให้พระสงฆ์แทน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เมื่อพระสงฆ์มรณภาพที่ดินที่ได้รับบริจาคจะกลายเป็นมรดกและจัดการได้ยาก ตลอดจน อาจผิดพระธรรมวินัย เหมือนกับกรณีวัดพระธรรมกาย ที่พระสงฆ์รับบริจาคที่ดินและกลายเป็นการยักยอกทรัพย์ ดังนั้นจึงมอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้
-------------
///////////
ปรองดอง

โฆษก กห. ย้ำ ข้อคิดเห็นพรรคเล็กน่าสนใจ ต้องปฏิรูปในทุกด้าน ขอทุกฝ่ายเปิดใจฟัง ทบทวนตัวเอง ร่วมสร้างอนาคตประเทศไปด้วยกัน  

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า จากการรับฟังความเห็น 14 พรรคที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งพรรคขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก โดยถือว่าการรับฟังทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญมาก และตัวแทนพรรคเล็กได้สะท้อนมุมมองของปัญหาที่น่าสนใจว่า โครงสร้างระบบการเมืองไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาเกิดจากบุคคลในทางการเมือง ไม่เคารพสิทธิ กฎหมาย และทุจริตคอร์รัปชั่น โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มการเมืองเก่า, กลุ่มการเมืองใหม่, กลุ่มประชาชน, องค์กรอิสระ และกลุ่มทุนผู้สนับสนุนทุนการเมือง โดยพรรคเล็กยังมองว่าการสูญเสียประโยชน์ของกลุ่มการเมืองเก่า และการได้ประโยชน์ของกลุ่มการเมืองใหม่ เป็นรอยต่อความขัดแย้ง เนื่องจากกลุ่มการเมืองใหม่ต้องการรวบรัดอำนาจ ใช้กลไกกฎหมาย แทรกแซงองค์กรอิสระ เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ยอมรับกติกาต่อกัน องค์กรอิสระถูกแทรกแซง ไม่วางตัวเป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความเป็นธรรม สองมาตรฐาน จนทำให้องค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม

ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนที่สนับสนุนการเมืองเองทั้ง 2 ฝ่าย ก็ต้องการโอกาสธุรกิจ เกิดเป็นกลุ่มทุนใหญ่ขึ้นมา สร้างความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจ ทำให้แข่งขันไม่เป็นธรรมเท่าเทียม ตลอดจนมองว่าสื่อมวลชนเป็นตัวขยายความขัดแย้งที่รุนแรง และหยั่งรากลึกมาก จำเป็นต้องมีองค์กรมาควบคุมวิชาชีพ ดังนั้น จึงต้องเร่งปฏิรูปในทุกกลุ่ม คืนความเป็นธรรมสู่สังคม คืนอำนาจประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

นอกจากนี้ พล.ต.คงชีพ ยังกล่าวด้วยว่า จากช่วง 10 ปี ที่มีปัญหาขัดแย้งเชื่อว่าประชาชนทุกกลุ่ม ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง และไม่มีใครอยากจมอยู่กับอดีต จึงอยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจในการเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ต้องทบทวนตัวเองว่า จะมีส่วนร่วมในการสร้างความปรองดองได้อย่างไร ขอมาร่วมกันสร้างความปรองดองไปด้วยกัน และขอให้เชื่อมั่นในคณะทำงานปรองดอง ด้วยความเป็นกลาง เพื่ออนาคตของประเทศ
------------------
คณะอนุฯ รับฟังความเห็นปรองดองเชิญ 3 พรรคการเมืองเข้าหารือ เป็นวันที่ 8 ขณะโฆษกนัดแถลงรายละเอียดพรุ่งนี้

บรรยากาศการประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมฯ ซึ่งถือเป็นวันที่ 8 แล้ว โดยวันนี้เชิญ 3 พรรคการเมือง เข้ามาให้ข้อคิดเห็นในแนวทางการสร้างความปรองดอง และหาทางออกจากความขัดแย้ง ที่มีมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการให้ความเห็นของ 14 พรรคที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นว่าควรสร้างกระบวนการปรองดองให้สำเร็จก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ยังเห็นตรงกันว่า การปฏิรูปต้องทำพร้อม ๆ กัน ทุกกลุ่ม และทุกฝ่าย โดยจะต้องปฏิรูปการเมืองก่อนเป็นเรื่องแรก ถึงแม้ระบบการเมืองไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่ตัวบุคคล พร้อมให้ทุกฝ่าย
เปิดใจ แก้ปัญหาและเดินหน้าปรองดอง อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2560) จะมีการแถลงประจำสัปดาห์ ในช่วง เวลา 09.00 - 12.00 น.
------------
///////////
7สนช.ขาดประชุม

พีระศักดิ์ ยัน ผลสอบ 7 สนช. ไม่พบขาดลงมติเกินข้อบังคับการประชุม พร้อมเปิดเผยสถิติข้อมูลพรุ่งนี้ รอสอบจริยธรรม

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบจริยธรรมของสมาชิก สนช. 7 คน ที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุม สนช. ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ไม่มี สนช. คนใดขาดการลงมติ เกินกว่าที่ข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ โดยวันพรุ่งนี้ จะเปิดเผยข้อมูลว่า บุคคลทั้ง 7 ลากี่ครั้ง ขาดการลงมติกี่ครั้ง ซึ่งข้อมูลที่พบไม่เป็นไปตามที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ

ทั้งนี้ หากตรวจสอบเรื่องการลงมติของสมาชิกในรอบ 90 วัน แล้ว ไม่พบว่า ขาดลงมติเกินกว่าที่กำหนด ก็ไม่ถือว่าขาดสมาชิกภาพ จากนั้นจะไปพิจารณาเรื่องจริยธรรมที่มีผู้ร้อง ซึ่งต้องพิจารณาเอกสารหลักฐานในการลาว่า ได้ยื่นถูกต้องหรือไม่ และจะพิจารณากรณีคำร้องให้ตรวจสอบการอนุมัติใบลาของประธาน สนช. ว่า ใช้หลักเกณฑ์ใดด้วย ซึ่งจะเชิญทั้งผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ทั้ง 7 คน รวมถึง ประธาน สนช. เข้าให้ข้อมูลต่อกรรมการ โดยการพิจารณากรณีนี้ ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่คาดว่า จะแล้วเสร็จก่อนกรอบเวลาที่กำหนดไว้
----------
ประธาน สนช. ยืนยันตัวเลขการทำงาน สนช. ที่สื่อเสนอ บิดเบือน ไม่เคยเซ็นใบลาถึง 300 วัน เพราะมีวันทำงานเพียง 204 วัน พร้อมขอความเป็นธรรม

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าว ว่า ประธาน สนช. ได้มีการอนุมัติให้สมาชิก สนช. ที่ยื่นใบลาถึง 394 วัน จากการประชุมทั้งหมด 400 วัน โดยยืนยันว่า การทำงานของ สนช. ที่ผ่านมา เกือบ 3 ปี มีวันทำงานเพียง 204 วัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชน เนื่องจากมีการนำไปเขียนคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ตนเองพร้อมเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ตามคำเชิญของ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. เพื่อดำเนินการพิจารณาตรวจสอบจริยธรรมตามคำร้องต่อไป

///////////
มั่นคงใต้

พล.อ.ประวิตร เป็น ปธ. มอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2560 - 62 ย้ำความรุนแรงลดลง ขอทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานมอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2560 - 2562 ให้กับเจ้าหน้าที่กองได้รับทราบ โดยระบุว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีแนวโน้มลดลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามสร้างความรับรู้ประชาชนว่า นโยบายต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์คนที่มีความแตกต่างทางศาสนาภาษาและวัฒนธรรมสามารถได้อย่างสันติ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ต่อแคร์กับพูดแต่เพื่อป้องกันให้ประชาชนสามารถได้อย่างสงบ และในแผนนโยบายในปี 2560 - 2562 รัฐบาล

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และยกให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหา รวมถึงความต่อเนื่องในการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 จังหวัด ให้เทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
-----------
พล.อ.อักษรา แจง วงพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ บรรลุข้อตกลงในหลักการเซฟตีโซน เร่งหารือเพื่อนำสู่การปฏิบัติ แกนนำเห็นต่างเสียชีวิต ไม่มีผลกระทบ 

พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงกรณีสื่อต่างประเทศ ระบุ ไทยบรรลุข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัย ว่า คณะทำงานด้านเทคนิคการพูดคุยสันติสุขฯ ได้พูดคุยถึงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (เซฟตี้โซน) กับกลุ่มเห็นต่าง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการ แต่ต้องมีการพูดคุยเพื่อวางแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการหาคำจำกัดความและขั้นตอนให้ทุกฝ่ายได้ปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งวัตถุประสงค์หลัก ๆ คือ ทำให้ทุกคนที่อยู่ ทุกศาสนา สามารถดำเนินชีวิตได้โดยปลอดภัย ไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงหรือสิ่งคุกคามใด ซึ่งจะมีการพูดคุยในขั้นตอนอีกวันที่ 28 ก.พ. นี้

ทั้งนี้ พล.อ.อักษรา ย้ำว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยนั้น ดำเนินการภายใต้ 3 ประเด็นหลัก คือ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนและและการนำเอาผลวิจัยต่าง ๆ มาช่วยในการพูดคุย ซึ่งทำให้องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และนานาประเทศยอมรับและให้การสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาของไทย ส่วนกรณีที่แกนนำกลุ่มเห็นต่างเสียชีวิต ก็ไม่กระทบต่อการพูดคุยเพราะกลุ่มเห็นต่าง มีแกนนำรุ่นใหม่และลำดับถัดไปเข้ามาร่วมพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับรัฐบาลที่จะต้องมีการพูดคุยต่อไป
-------------
พล.อ.อุดมเดช แจง คณะพูดคุย พล.อ.อักษรา คนละส่วนกับผู้แทน รบ.ส่วนหน้า เชื่อเป็นแนวทางที่จะสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน 

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำคณะเดินทางไปพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี ที่ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 28 ก.พ. นี้ เพื่อร่วมกำหนดพื้นที่ปลอดภัยระดับอำเภอ ว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นความรับผิดชอบของ พล.อ.อักษรา ที่จะรับนโยบายโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี

ซึ่งเป็นคนละบทบาทกับการทำหน้าในฐานะผู้แทนพิเศษรัฐบาล กับงานที่ได้รับมอบหมายในกลุ่มงานที่ 7 การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ที่ทำร่วมกับ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4

ส่วนการรายงานความคืบหน้านั้น ก็จะมีการรายงานมาทางนายกรัฐมนตรีโดยตรง ในการสร้างความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ต้องที่จะแก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุ่นแรง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่า พล.อ.อักษรา มีความตั้งใจในการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุข และนายกรัฐมนตรี ก็ต้องการให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถปฏิบัติงานสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี
----------
พล.อ.อุดมเดช ยัน ผู้แทนพิเศษ รบ.แก้ไฟใต้ ทำงานคืบหน้า ไตรมาส 2 ปี 60 เร่งขับเคลื่อนตามแผนงานของ ที่นายกฯ อนุมัติแล้ว

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของผู้แทนพิเศษรัฐบาลแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 7 กลุ่มงาน ว่า การทำงานของผู้แทนพิเศษรัฐบาล ได้เริ่มมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม จะมีการชี้แจงและทำความเข้าเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 60 - 62 ทั้งระดับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงฯ ได้รับทราบการดำเนินการและความคืบหน้าต่าง ๆ ซึ่งจะสอดรับกับแนวทางปีอื่น ๆ ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ของปี 60 ได้เร่งขับเคลื่อนตามแผนงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) และนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติกรอบการทำงานไปแล้ว
///////
ม.44โละรฟท.

พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 โล๊ะบอร์ด - ปลดผู้ว่าฯ การรถไฟ ให้ไปช่วยงานสำนักนายกฯ พร้อมตั้ง "อานนท์" รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการแทน 

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2560 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
1. ให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ มีผลใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และให้งดการใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28
แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
2. ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ เป็นประธานกรรมการ, นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่, นายบวร วงศ์สินอุดม, นายปิติ
ตัณฑเกษม ,พล.ร.อ.ทวีชัย บุญอนันต์, น.อ.ธนากร พีระพันธุ์, นางอัญชลี เต็งประทีป, นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ และ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ เป็นกรรมการ
3. ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง และให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้า คณะ
รักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 68/2559 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559 จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
4. ให้ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกตำแหน่งหนึ่ง จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
5. ในกรณีเห็นสมควร นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงตามคําสั่งนี้ได้

สั่ง ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
------------
นายกฯ ย้ำ ความเข้มแข็งประเทศไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจ ชี้ภาคประชาชนสำคัญที่สุด หวังเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เข้มป้องกันการทุจริต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ความเข้มแข็งของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับด้านเศรษฐกิจโดยรวมทางด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ความเข้มแข็งของภาคประชาชนมีส่วนสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนไปด้วยกันและมีความคาดหวังว่าจะเกิดการลงทุนมากขึ้น พร้อมสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชนให้ได้ว่า การมีการค้าการลงทุนมากขึ้นเป็นการเพิ่มรายได้มวลรวมของประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ นอกเหนือการใช้ภาษีการส่งออกอย่างเดียวซึ่งไม่เพียงพอ โดยเมื่อวานที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติกองทุนเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลใดทำแต่รัฐบาลนี้ทำ

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการป้องกันแก้ไขการทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งวันนี้กำลังร่างมาตรา 44 ในการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลในโครงการที่มีมูลค่า 5,000 ล้านขึ้นไป ที่ต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ขั้นต้น โดยกรมบัญชีกลางมีหน้าที่ในการออกกฎระเบียบใหม่ในเรื่องของอีบิดดิ้ง ราคากลาง และการมีส่วนร่วมของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องในการกำหนดราคากลาง รวมถึงการคิดโครงการของหน่วยงานกระทรวงต่าง ๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยรัฐบาลดำเนินการอย่างเต็มที่ จึงขอให้ช่วยกันเฝ้าระวัง เพราะคนไม่ดีมีอยู่ทั่วไปจึงพยายามปิดรูรั่วให้ได้มากที่สุด และเอาจริงเอาจังในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากหลายเรื่องเกิดมายาวนานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงต้องเร่งแก้ไขให้ได้โดยเร็วที่สุด
--------
นายกฯ อัด กกต. เสนอทำประชามติ โรงไฟฟ้า ใช่หน้าที่หรือไม่ ยัน EIA ศึกษาใหม่ หรือทบทวนไม่ต่างกัน ยันต้องทำให้ทุกคนยอมรับ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวชี้แจงกรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ว่า ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มกระบวนการใหม่ หรือนำของเก่ามาทบทวนก็ไม่ต่างกัน เพราะหากทำก็ต้องนำของเก่ามาทบทวนด้วย ว่าทุกคนยอมรับหรือไม่ ทั้งของเก่าและของใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จกว่าร้อยข้อ ดังนั้นหากของเก่าไม่เข้าใจ ก็นำมาพิจารณาว่าที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ต่างจากการเริ่มทำใหม่ ส่วนที่มีคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. เสนอให้มีการทำประชามติกรณีโครงการดังกล่าวนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวสั้น ๆ ว่า เป็นหน้าที่ของ กกต. หรือไม่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณี นายศรายุทธ ตันเถียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ยื่นหนังสื่อถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอย้ายไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น ว่า จากการสอบถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับข้อมูลว่า เป็นความต้องของ นายศรายุทธ ที่ขอย้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ไม่ใช่การสั่งย้ายเพราะกระทำผิด ส่วนกรณีที่มีการอ้างว่า ถูกกดดันจากผู้ประกอบการ ให้ลดค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานใหม่นั้น ส่วนตัว มองว่าเมื่อถูกกดดันและเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ต้องให้คนอื่นมาทำ
----
นายกฯ ประชุม กพข. ย้ำต้องเร่งทำความเข้าใจแก้ปัญหา ขอทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นเพื่อเดินหน้าการทำงาน 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ กพข. ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งทำความเข้าใจและร่วมหารือกันในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ วันนี้ต้องมีการพูดถึงขั้นตอนรายละเอียดและความรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากคณะกรรมการทั้งหมดแสดงความคิดเห็นและพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าการทำงาน
//
จับขบวนการลาว

เลขาฯ สมช. รับไป สปป.ลาว คุยเจ้าหน้าที่แล้ว เร่งประสานข้อมูลตามจับกุม 6 ราย หมิ่นสถาบัน "โกตี๋" หมายจับมากสุด 

พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปยังประเทศลาว เพื่อพบปะและหารือกับหัวหน้ากลุ่มใหญ่สันติบาลของประเทศลาว เพื่อประสานความร่วมมือติดตามตัวกลุ่มบุคคลที่ทำผิดกฎหมายในประเทศไทยหนีไปกบดานที่ประเทศลาว

เบื้องต้นทางการลาวเห็นว่าการช่วยให้ผู้ที่ทำผิดกฎหมายในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไปมุ่งร้ายให้กับอีกประเทศหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งสอดคล้องกับทางการไทยที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ยอมให้คนที่มุ่งร้ายอีกประเทศหนึ่งเข้ามาในประเทศของตนเอง และมาโจมตีอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ทางการลาวอยู่ระหว่างขอรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการซึ่งทั้งสองประเทศก็จะประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ประสานกับทางการลาวเป็นบุคคลที่มีหมายจับในประเทศไทย 6 คน อาทิ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ และกลุ่มที่ยังไม่มีหมายจับ แต่มีพฤติกรรมต่อต้านโจมตีสถาบันอีกจำนวนหนึ่ง โดยความผิดส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการหมิ่นสถาบัน ยกเว้น นายวุฒิพงศ์ นอกจากมีหมายจับหมิ่นสถาบันยังมีหมายจับมุ่งร้ายต่อผู้นำประเทศและคดีอื่น ๆ อีก 21 หมายจับ ส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับระดับปฏิบัติงาน

ว่าด้วยคดี"สมยศ พฤกษาเกษมสุข"

ศาลฎีกา ลดโทษ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ตีพิมพ์บทความหมิ่นเบื้องสูง เหลือโทษ 6 ปี พร้อมสั่งนับรวมโทษหมิ่น พล.อ.สพรั่ง อีก 1 ปี ด้วย

(23/2/60)ศาลอาญา รัชดา อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นสถาบัน
เบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณี นายสมยศ ซึ่งเป็นบรรณาธิการนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ได้จัดพิมพ์ จัดจำหน่าย นิตยสาร ซึ่งเป็นบทความที่ไม่เหมาะสม หมิ่นสถาบัน

คดีนี้ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก นายสมยศ 10 ปี คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ให้จำคุก นายสมยศ 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา ศาลฎีกา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดจริง แต่เมื่อพิจารณาจากความเหมาะสมของพฤติการณ์ เพศ อายุ การศึกษา แล้ว ศาลเห็นควรลดโทษจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จากโทษจำคุก 2 กระทง 5 ปี เหลือโทษจำคุก 2 กระทงละ 3 ปี จึงรวม 2 กระทง โทษจำคุก 6 ปี และให้นับโทษจำคุก 1 ปี ในคดีหมิ่น พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 1 ปี ด้วย ดังนั้น จึงรวมจำคุก นายสมยศ ทั้งสิ้น 7  ปี ซึ่งขณะที่จำเลยถูกจำคุกมาแล้วกว่า 5 ปี
////////////////

(2554 - 2560)
กี่ปีก็แสนนาน: การต่อสู้และคำตัดสินสุดท้ายของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ช่วงดึกวันนี้ ( 22 กุมภาพันธ์ 2560) ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุขได้รับแจ้งอย่างเร่งด่วนว่าในวันพรุ่งนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2560) ศาลฎีกานัดสมยศฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาในเวลา 9.30 น. นับเป็น
เรื่องแปลกที่ภรรยาของสมยศได้รับทราบนัดอย่างปัจจุบันทันด่วนเพราะโดยปกติคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือฎีกามักจะเขียนเสร็จก่อนวันที่ศาลนัดอ่านอย่างน้อยก็เป็นเดือนและศาลจะส่งหมายนัด
ให้จำเลยทราบล่วงหน้าเพื่อให้จำเลยมีโอกาสเตรียมตัว

ไม่กี่ปีก่อนหน้าชื่อของสมยศอาจไม่เป็นที่คุ้นหูคุ้นตาสำหรับผู้ที่เพิ่งมาสนใจการเมืองหรือคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 แต่สำหรับผู้ที่ติดตาม
การเมืองมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักสมยศ เขาอยู่ในแวดวงสังคมการเมืองมานานโดยเริ่มจากการเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิแรงงาน หลังรัฐประหาร คมช. 2549 เขาร่วมเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารในนามกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กระทั่งปี 2554 สมยศเข้าร่วมผลักดันให้มีการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่สุดท้ายเขากลับตกเป็นจำเลยเสียเอง

สมยศถูกจับกุมที่ด่านอรัญประเทศเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ขณะนำลูกทัวร์ไปเที่ยวนครวัด หลังจากนั้นก็ถูกคุมขังโดยไม่ได้ประกันตัวมาโดยตลอด เท่าที่บันทึกได้สมยศเคยขอประกันตัวอย่างน้อย 16 ครั้ง เคยวางเงินประกันสูงถึง 4,762,000 บาท ทว่าศาลยกคำร้องในการประกันตัวทุกครั้ง

หากนับจากวันที่เขาถูกฝากขังครั้งแรกในวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 อันเป็น
วันก่อนศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา สมยศจะถูกจองจำรวม 2,124 วัน หรือเกือบ 5 ปี 10 เดือน

สำหรับสาเหตุที่สมยศถูกดำเนินคดีนี้ มาจากบทความสองชิ้นที่เผยแพร่ในวารสาร Voice of Taksin ที่เขาเป็นบรรณาธิการอยู่โดยบทความทั้งสองชิ้นสมยศไม่ได้เป็นผู้เขียนแต่อย่างใด

ส่วนการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น เขาสู้ว่าเนื้อหาของบทความไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ฯและตัวเขาเป็นเพียงบรรณาธิการเท่านั้นไม่ได้เป็นผู้ทำเนื้อหาซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้

บรรณาธิการต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของบทความที่คนอื่นเขียน
ขณะที่อัยการนำสืบว่าบทความเมื่อไม่ได้พูดถึงพระมหากษัตริย์ฯ แต่บริบททำให้ผู้อ่านตีความหรือเข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ฯได้

วันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลอาญานัดสมยศฟังคำพิพากษาโดยมีผู้สังเกตการณ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการทูตกว่าร้อยชีวิตเป็นสักขีพยาน ศาลพิพากษาจำคุกสมยศเป็นเวลา 10 ปี จากการเผยแพร่บทความสองชิ้น ชิ้นละ 5 ปีโดยให้เหตุผลว่า เนื้อหาของบทความทั้งสองชิ้นผู้อ่านสามารถตีความได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ฯ และแม้จะไม่มีกฎหมายใดระบุให้บรรณาธิการรับผิดชอบต่อบทความที่ตนไม่ได้เขียน แต่บรรณาธิการย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาไม่นำบทความเผยแพร่ได้หากพบว่าเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่สมยศกลับปล่อยให้มีการเผยแพร่จึงถือว่าตัวสมยศมีเจตนาที่จะกระทำความผิด

แม้จะแพ้คดีในศาลชั้นต้น สมยศก็เชื่อว่าตนเองบริสุทธิ์และยืนยันที่จะสู้คดีให้ถึงที่สุด ทั้งที่ไม่ได้ประกันตัว โดยต่อสู้ว่าการพิพากษาลงโทษในคดีเขาเป็นการขัดต่อกฎหมาย ด้วยเห็นว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯที่ออกมาบังคับใช้แทนพ.ร.บ.การพิมพ์ฯ ไม่มีบทบัญญัติลงโทษบรรณาธิการผู้จัดพิมพ์แล้ว แต่อัยการต่อสู้ว่า โดยลำพังพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯงดเว้นความรับผิดของบรรณาธิการผู้จัดพิมพ์เพียงแค่ทำให้สมยศไม่มีความผิดตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้พ้นความผิดตามมาตรา 112

ในวันที่ 19 กันยายน 2557 วันครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร 2549 ศาลนัดสมยศฟังคำพิพากษาอุทธรณ์โดยไม่มีการประสานญาติหรือทนายล่วงหน้า ขณะที่ตัวสมยศก็ทราบว่าจะต้องมาศาลในเช้าวันเดียว
กัน และผลการพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกสมยศเป็นเวลา 10 ปี

ถึงจะแพ้คดีทั้งสองชั้นศาล แต่สมยศและครอบครัวก็ตัดสินใจสู้คดีต่อถึงศาลฎีกา การสู้คดีทำให้สมยศไม่มีโอกาสได้รับการลดโทษตามวาระสำคัญ เขาจึงกลายเป็นแขกพักยาวของเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่คอยต้อนรับและบอกลาผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งมีจำนวนมากหลังการรัฐประหารหลายต่อหลายคน ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็พ้นโทษมาแล้ว แม้จะถูกพิพากษาจำคุกหลังสมยศก็ตาม

อ่านเรื่องราวคดีสมยศ ทั้งหมดได้ที่ ---> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/61

112 The Series Give my Dad the right to justice -->https://freedom.ilaw.or.th/112theseriesSomyot

ผู้นำรัฐประหาร รุ่นน้อง-รุ่นพี่ "คสช.กับ รสช."



ผู้นำรัฐประหาร รุ่นน้อง-รุ่นพี่
"คสช.กับ รสช."
จปร.23-จปร.5
บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. นั่งลง สวัสดี และ อำลา และจับเข่า บิ๊กสุ พลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯและผบ.ทบ. วัย84 ปี ด้วยสีหน้าห่วงใย เพราะพล.อ.สุจินดา สุขภาพไม่ค่อยดีนัก....
หลังเป็นประธานพิธีรดน้ำหลวงพระราชทานอาบศพ บิ๊กตุ๋ย พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีตผบทบ. และอยู่ร่วมฟังสวดพระอภิธรรม วันแรก จนจบ...ที่วัดโสมนัสฯ
พลเอกประยุทธ์ เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา บิ๊กตุ๋ย และ บิ๊กสุ พลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อครั้ง รัฐประหาร 23กพ.2534 โดยรสช. นั้น พลเอกประยุทธ์ ร่วมรัฐประหาร ในฐานะ ผบ.ร.21รอ. หน่วยคุมกำลังปฏิวัติ
จนวันนี้ มาเป็นผู้นำรัฐประหารด้วยตนเอง โดยใช้บทเรียน และข้อผิดพลาดจาก รัฐประหาร ในอดีต ที่ผิดพลาดของ นายทหารนักปฏิวัติ รุ่นพี่...จาก บทเรียน พี่ จปร.5 มาถึง รุ่นน้อง จปร.23
ในภาพอาจจะมี 2 คน, ผู้คนกำลังนั่ง และ สถานที่ในร่ม