PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ว่าด้วยคดี"สมยศ พฤกษาเกษมสุข"

ศาลฎีกา ลดโทษ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ตีพิมพ์บทความหมิ่นเบื้องสูง เหลือโทษ 6 ปี พร้อมสั่งนับรวมโทษหมิ่น พล.อ.สพรั่ง อีก 1 ปี ด้วย

(23/2/60)ศาลอาญา รัชดา อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นสถาบัน
เบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณี นายสมยศ ซึ่งเป็นบรรณาธิการนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ได้จัดพิมพ์ จัดจำหน่าย นิตยสาร ซึ่งเป็นบทความที่ไม่เหมาะสม หมิ่นสถาบัน

คดีนี้ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก นายสมยศ 10 ปี คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ให้จำคุก นายสมยศ 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา ศาลฎีกา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดจริง แต่เมื่อพิจารณาจากความเหมาะสมของพฤติการณ์ เพศ อายุ การศึกษา แล้ว ศาลเห็นควรลดโทษจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จากโทษจำคุก 2 กระทง 5 ปี เหลือโทษจำคุก 2 กระทงละ 3 ปี จึงรวม 2 กระทง โทษจำคุก 6 ปี และให้นับโทษจำคุก 1 ปี ในคดีหมิ่น พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 1 ปี ด้วย ดังนั้น จึงรวมจำคุก นายสมยศ ทั้งสิ้น 7  ปี ซึ่งขณะที่จำเลยถูกจำคุกมาแล้วกว่า 5 ปี
////////////////

(2554 - 2560)
กี่ปีก็แสนนาน: การต่อสู้และคำตัดสินสุดท้ายของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ช่วงดึกวันนี้ ( 22 กุมภาพันธ์ 2560) ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุขได้รับแจ้งอย่างเร่งด่วนว่าในวันพรุ่งนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2560) ศาลฎีกานัดสมยศฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาในเวลา 9.30 น. นับเป็น
เรื่องแปลกที่ภรรยาของสมยศได้รับทราบนัดอย่างปัจจุบันทันด่วนเพราะโดยปกติคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือฎีกามักจะเขียนเสร็จก่อนวันที่ศาลนัดอ่านอย่างน้อยก็เป็นเดือนและศาลจะส่งหมายนัด
ให้จำเลยทราบล่วงหน้าเพื่อให้จำเลยมีโอกาสเตรียมตัว

ไม่กี่ปีก่อนหน้าชื่อของสมยศอาจไม่เป็นที่คุ้นหูคุ้นตาสำหรับผู้ที่เพิ่งมาสนใจการเมืองหรือคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 แต่สำหรับผู้ที่ติดตาม
การเมืองมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักสมยศ เขาอยู่ในแวดวงสังคมการเมืองมานานโดยเริ่มจากการเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิแรงงาน หลังรัฐประหาร คมช. 2549 เขาร่วมเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารในนามกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กระทั่งปี 2554 สมยศเข้าร่วมผลักดันให้มีการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่สุดท้ายเขากลับตกเป็นจำเลยเสียเอง

สมยศถูกจับกุมที่ด่านอรัญประเทศเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ขณะนำลูกทัวร์ไปเที่ยวนครวัด หลังจากนั้นก็ถูกคุมขังโดยไม่ได้ประกันตัวมาโดยตลอด เท่าที่บันทึกได้สมยศเคยขอประกันตัวอย่างน้อย 16 ครั้ง เคยวางเงินประกันสูงถึง 4,762,000 บาท ทว่าศาลยกคำร้องในการประกันตัวทุกครั้ง

หากนับจากวันที่เขาถูกฝากขังครั้งแรกในวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 อันเป็น
วันก่อนศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา สมยศจะถูกจองจำรวม 2,124 วัน หรือเกือบ 5 ปี 10 เดือน

สำหรับสาเหตุที่สมยศถูกดำเนินคดีนี้ มาจากบทความสองชิ้นที่เผยแพร่ในวารสาร Voice of Taksin ที่เขาเป็นบรรณาธิการอยู่โดยบทความทั้งสองชิ้นสมยศไม่ได้เป็นผู้เขียนแต่อย่างใด

ส่วนการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น เขาสู้ว่าเนื้อหาของบทความไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ฯและตัวเขาเป็นเพียงบรรณาธิการเท่านั้นไม่ได้เป็นผู้ทำเนื้อหาซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้

บรรณาธิการต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของบทความที่คนอื่นเขียน
ขณะที่อัยการนำสืบว่าบทความเมื่อไม่ได้พูดถึงพระมหากษัตริย์ฯ แต่บริบททำให้ผู้อ่านตีความหรือเข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ฯได้

วันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลอาญานัดสมยศฟังคำพิพากษาโดยมีผู้สังเกตการณ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการทูตกว่าร้อยชีวิตเป็นสักขีพยาน ศาลพิพากษาจำคุกสมยศเป็นเวลา 10 ปี จากการเผยแพร่บทความสองชิ้น ชิ้นละ 5 ปีโดยให้เหตุผลว่า เนื้อหาของบทความทั้งสองชิ้นผู้อ่านสามารถตีความได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ฯ และแม้จะไม่มีกฎหมายใดระบุให้บรรณาธิการรับผิดชอบต่อบทความที่ตนไม่ได้เขียน แต่บรรณาธิการย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาไม่นำบทความเผยแพร่ได้หากพบว่าเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่สมยศกลับปล่อยให้มีการเผยแพร่จึงถือว่าตัวสมยศมีเจตนาที่จะกระทำความผิด

แม้จะแพ้คดีในศาลชั้นต้น สมยศก็เชื่อว่าตนเองบริสุทธิ์และยืนยันที่จะสู้คดีให้ถึงที่สุด ทั้งที่ไม่ได้ประกันตัว โดยต่อสู้ว่าการพิพากษาลงโทษในคดีเขาเป็นการขัดต่อกฎหมาย ด้วยเห็นว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯที่ออกมาบังคับใช้แทนพ.ร.บ.การพิมพ์ฯ ไม่มีบทบัญญัติลงโทษบรรณาธิการผู้จัดพิมพ์แล้ว แต่อัยการต่อสู้ว่า โดยลำพังพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯงดเว้นความรับผิดของบรรณาธิการผู้จัดพิมพ์เพียงแค่ทำให้สมยศไม่มีความผิดตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้พ้นความผิดตามมาตรา 112

ในวันที่ 19 กันยายน 2557 วันครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร 2549 ศาลนัดสมยศฟังคำพิพากษาอุทธรณ์โดยไม่มีการประสานญาติหรือทนายล่วงหน้า ขณะที่ตัวสมยศก็ทราบว่าจะต้องมาศาลในเช้าวันเดียว
กัน และผลการพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกสมยศเป็นเวลา 10 ปี

ถึงจะแพ้คดีทั้งสองชั้นศาล แต่สมยศและครอบครัวก็ตัดสินใจสู้คดีต่อถึงศาลฎีกา การสู้คดีทำให้สมยศไม่มีโอกาสได้รับการลดโทษตามวาระสำคัญ เขาจึงกลายเป็นแขกพักยาวของเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่คอยต้อนรับและบอกลาผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งมีจำนวนมากหลังการรัฐประหารหลายต่อหลายคน ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็พ้นโทษมาแล้ว แม้จะถูกพิพากษาจำคุกหลังสมยศก็ตาม

อ่านเรื่องราวคดีสมยศ ทั้งหมดได้ที่ ---> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/61

112 The Series Give my Dad the right to justice -->https://freedom.ilaw.or.th/112theseriesSomyot

ไม่มีความคิดเห็น: