PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

แกะรอยตั้งพรรคเฉพาะกิจสืบทอดอำนาจ : บอนไซประชาธิปไตย

แกะรอยตั้งพรรคเฉพาะกิจสืบทอดอำนาจ : บอนไซประชาธิปไตย



เป็นนักวิชาการด้านการเมืองรุ่นใหม่ มีผลงานวิจัยโดดเด่น โดยเฉพาะเรื่อง “ทำไมระบอบเผด็จการจึงประสบความสำเร็จในสังคมไทย”
ในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองไทย กงล้อประวัติศาสตร์การเมืองจะหมุนซ้ำรอยอย่างไร โปรดติดตามคำเฉลยจาก นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ท่ามกลางสถานการณ์คนของขั้วอำนาจพิเศษขยับทาบทามนักการเมือง บรรดานักการเมืองเริ่มเคลื่อนไหว
กลไกของรัฐขับเคลื่อนให้ประชาชนตอบ 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ประกาศจัดตั้งพรรคการเมือง สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลุ่มสโมสร ส.ส.บางคนส่งเสียงเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งพรรคการเมืองลงสู้ศึกเลือกตั้ง
โดยอาจารย์พาย้อนอดีตไปดูโมเดลการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร เริ่มจากโมเดลหลังการเลือกตั้งทหารยังคงอำนาจต่อไป เป็นที่มาของการก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผงาดเป็นหัวหน้าพรรคใช้อำนาจรัฐทุกอย่างเอื้อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้ง ได้รับขนานนามว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุด
แม้พรรคเสรีมนังคศิลาได้ตั้งรัฐบาล สุดท้ายประชาชนเดินขบวนขับไล่ จบลงโดยจอมพล ป. ลงจากอำนาจ
ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ จอมพลถนอม กิตติขจร มีพรรคการเมืองทั้งสหภูมิ ชาติสังคม สหประชาไทย ทหารไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อให้แน่ใจว่าทำเพื่อทหาร โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2512 มีการตั้งพรรคสหประชาไทยขึ้นมารองรับ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค
หลังการเลือกตั้งพรรคสหประชาไทยจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่พรรคทหารไม่คุ้นชินในระบอบรัฐสภา ที่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ ถ่วงดุล และ ส.ส.อิสระที่เชิญมาร่วมก็ต่อรองผลประโยชน์งบประมาณแผ่นดิน
สุดท้ายจอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเอง เป็นชนวนให้เกิดชุมนุมใหญ่ 14 ตุลา 16 โมเดลนี้มีจุดจบไม่สวย
ขณะที่โมเดลตั้งพรรคนอมินีสืบทอดอำนาจ ในสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยุคนั้นทหารรับรู้กระแสว่าประชาชนแฮปปี้กับทหารทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลที่ถูกมองว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง
แต่ประชาชนไม่แฮปปี้ทหารที่ขึ้นมามีอำนาจโดยตรงทันที จำเป็นต้องยอมให้พลเรือนขึ้นมา เป็นนายกฯขัดตาทัพ และมีพลเรือนตั้งพรรคสามัคคีธรรม มีเป็นนักการเมืองเด่นดัง พาเหรดเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรค ไม่ใช่โมเดลแบบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร
หลังเลือกตั้งพรรคสามัคคีธรรมคว้าชัยชนะบนความพ่ายแพ้ได้ ส.ส.แค่ 79 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ของจำนวน ส.ส. 360 ที่นั่งทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าล้มเหลว เพราะเป็นพรรคที่ทหารใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาลสนับสนุน
จำเป็นต้องฟอร์มรัฐบาลผสม เมื่อต่อจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นครบแล้วอดคิดไม่ได้เหมือนกันว่ามีการวางแผนล่วงหน้าที่ 5 พรรคจับมือตั้งรัฐบาล เชิญ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกฯ
ฉากสุดท้ายก็จบไม่สวย มีการชุมนุมขับไล่ต้องลงจากอำนาจ พรรคสามัคคีธรรมแตกสลาย
ขณะที่พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเป็นพรรคนอมินีอีกโมเดลที่ล้มเหลว ตอนแรกคาดการณ์ว่าจะชนะถล่มทลาย ปรากฏว่าไม่สมหวัง พรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.ประมาณ 233 คน พรรคประชาธิปัตย์ 165 คน พรรคชาติไทย 37 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 7 คน พรรคประชาราช 5 คน
ชัดเจน การเมืองไทยเดินเข้าสู่ระบบ 2 พรรคใหญ่ เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งดีไซน์ให้เกิดระบบ 2 พรรคใหญ่แบบประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ใครเป็นรัฐบาลก็ผลักดันนโยบายได้เต็มที่ ไม่ต้องตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งมุ้งต่างๆจะต่อรองผลประโยชน์ ตำแหน่ง เก้าอี้รัฐมนตรี และมีการยุบสภาบ่อย
ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เลือกพรรคเล็ก มันพิสูจน์ให้เห็นชัดในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 เหลือ 2 พรรคใหญ่ที่ได้จำนวน ส.ส.ในระดับมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ มีจำนวน ส.ส.ทิ้งห่างพรรคกลาง พรรคเล็ก
พอเกิดวิกฤติความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง เกิดฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านนายทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเร่งทำให้เกิดการเมือง 2 ขั้วใหญ่จริงๆ พรรคเล็กพรรคน้อย ประชาชนมีความรู้สึกว่าเลือกไปแล้วเสียของ
พอถึงเวลาใช้สิทธิ เลือกตั้ง คนที่ต่อต้านนายทักษิณไม่อยากให้คะแนนตกน้ำเสียเปล่า แม้ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ ก็จำใจ จะต้องเลือก เพราะเป็นพรรคที่พอจะต่อสู้กับพรรคไทยรักไทยได้ ขณะเดียวกันคนที่สนับสนุนนายทักษิณหรือไม่ชอบการรัฐประหาร ย่อมไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องหลับหูหลับตาเลือก จะชอบหรือไม่ชอบผู้สมัคร ส.ส.พรรคนี้ ก็ต้องตัดสินใจเทคะแนนเสียงให้
แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ดีไซน์ระบบเลือกตั้งใหม่ เพื่อรื้อฟื้นให้เกิดรัฐบาลผสม ป้องกันพรรคการเมืองชนะแบบเด็ดขาด ขัดกับพฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเสียงบางส่วนเปลี่ยนไปเลือก 2 พรรคใหญ่ พรรคเล็กพรรคน้อยแทบไม่สามารถยืนอยู่บนกระดานการเมืองได้
ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า ทุกโมเดลการสืบทอดอำนาจล้มเหลวหมด
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า การสืบทอดอำนาจในครั้งนี้มีโอกาสสำเร็จได้สูง เพราะว่ากันว่า การรัฐประหารคราวนี้ไม่ใช่เป็นแค่การยึดอำนาจ แต่ได้ศึกษาความล้มเหลวของการรัฐประหารทุกครั้ง เพื่อวางยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจ บริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย
นายประจักษ์ บอกว่า จากบทเรียนการสืบทอดอำนาจตามโมเดลต่างๆ ขอให้เข้าใจว่าการเลือกตั้งมันไม่ใช่เกมของทหาร ทหารไม่ถนัดเกมการเลือกตั้ง ทหารเก่งในแง่มีประสิทธิภาพคุมอำนาจผ่านการรัฐประหาร แต่การเลือกตั้งเกี่ยวข้องกับนโยบายที่จับใจประชาชน
ทหารไม่ใช่พรรคการเมืองจะผลิตนโยบายโดยลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน เคาะประตูหาเสียง นอบน้อมกับประชาชน มันเป็นคำตอบว่าทำไมที่ผ่านมาพอกลับไปสู่สนามเลือกตั้ง ไม่ว่าจะพรรคทหาร พรรคนอมินีของการสืบทอดอำนาจถึงล้มเหลวมาตลอด เพราะเกมมันเปลี่ยน ทหารไม่รู้ในเกมที่ตัวเองถนัด
ถ้ายังขืนไปตั้งพรรคนอมินีขึ้นมา ฝากความหวังไว้กับคนอื่นย่อมมีความเสี่ยง ถ้าตั้งพรรคทหารก็จะมีกระแสตีกลับ ขอให้ดูบทเรียนในอดีตตอนยึดอำนาจประชาชนตอบรับเป็นอย่างดี พอตั้งพรรคทหาร พรรคนอมินี ทำไมประชาชนไม่เลือก
เพราะประชาชนไม่ต้องการให้ทหารอยู่ยาว แค่อยากให้เข้ามาเก็บกวาดบ้านเสร็จแล้วออกไป ไม่ใช่มาจัดเฟอร์นิเจอร์ ตั้งโต๊ะ ตั้งสำรับอาหารแบ่งกันกินแล้ว เริ่มแสดงให้เห็นว่าจะอยู่บ้านยาว
ฉะนั้น ถ้าตั้งพรรคเองหรือตั้งพรรคนอมินีขึ้นมา เชื่อว่ากระแสสนับสนุนจะลดต่ำลงมาก
แต่โครงสร้างกติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อต่อพรรคขนาดกลาง และจะเอื้อต่อพรรคนอมินีอย่างไรบ้าง นายประจักษ์ บอกว่า ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้พิสดารที่สุด เอาระบบการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนีมาบิด เอื้อต่อพรรคขนาดกลาง พรรคเล็กแจ้งเกิดยาก
พรรคทางเลือกใหม่ก็เกิดยาก อยากได้ ส.ส.ใหม่เยอะจะต้องส่งผู้สมัครทุกเขต เพราะทุกคะแนนมีความหมาย และประชาชนกาบัตรเลือกตั้งใบเดียว ยังไม่นับรวมการเซ็ตซีโร่ กกต.ก็จะเป็นคีย์ที่สำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไปดูนักวิชาการที่ทดลองเอาสูตรการเลือกตั้งใหม่มาคำนวณ บนฐานคะแนนนิยมเท่าเดิม พฤติกรรมผู้เลือกตั้งไม่เปลี่ยน ปรากฏว่า พรรคขนาดกลางจะได้ประโยชน์มากที่สุด พรรคใหญ่จะได้ ส.ส.ลดลงเกือบ 40 ที่นั่ง พรรคใหญ่รองลงมาแทบไม่ได้อะไรได้ ที่นั่งเท่าเดิม
ฉะนั้น การสืบทอดอำนาจครั้งนี้คงไม่ทุ่มทรัพยากรให้พรรคนอมินี พรรคเดียว จะต้องทุ่ม 2-3 หรือ 3-4 พรรค ตามไอเดียของการออกแบบ กติกาเพื่อให้มีการฟอร์มรัฐบาลผสม ไปรวมกับเสียงพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดโดยไม่ต้องเลือกตั้งคือ ส.ว. 250 เสียง ต้องการเก็บเสียงเล็ก
ผสมน้อยอีกแค่ 125 เสียง รวมเป็น 375 เสียงจาก 750 เสียง
เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีของตัวเอง
มาถึงเวลานี้ไม่ว่า “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์-ทหาร” ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ จะบริหารประเทศด้วยความยากลำบาก
โดยเฉพาะถ้าทหารก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ก็จะเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยตั้งแต่แรก
เพราะต้องพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ
ฉะนั้นขอปล่อยให้เป็นไปตามกติกาปกติ
อย่าตั้งพรรคนอมินีและเข้าไปแทรกแซง
ไม่เช่นนั้นสุดท้ายจะอยู่ไม่ได้นาน.
ทีมการเมือง

ผ่าทิศทาง “ประยุทธ์” เข็นยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายระส่ำ อำนาจไม่ลงตัว

ผ่าทิศทาง “ประยุทธ์” เข็นยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายระส่ำ อำนาจไม่ลงตัว

กระเพื่อมไปซะทุกจุด
นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับบรรยากาศทางอำนาจของเมืองไทย ณ ห้วงสถานการณ์ที่ผ่านมาถึงกลางเดือนมิถุนายน 2560 ผ่านพ้นครึ่งปีแรกเข้าสู่ครึ่งปีหลัง
โดยเงื่อนเวลาที่ลดลงของโรดแม็ป คสช.ซึ่งแปรผันตามความ “ขลัง” ของอำนาจพิเศษ
หลายเหตุการณ์ที่สะท้อนปฏิกิริยาท้าทายรัฐบาลทหาร ทั้งที่มาจากฝ่ายต่อต้าน และไม่เว้นแม้แต่แนวร่วมฝ่ายเดียวกัน เมื่อสถานการณ์ไหลมาถึงจุดขบเหลี่ยมอำนาจ
ขัดลำกันในแง่ของผลประโยชน์ไม่ลงล็อกลงตัว
เริ่มตั้งแต่ยุทธการ “เซ็ตซีโร่ กกต.” ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติด้วยคะแนนท่วมท้นไม่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันอยู่จนครบวาระ
ต้องล้างกระดานกันใหม่ หลังกฎหมายลูกบังคับใช้
ตามอาการดิ้นสู้ของ “5 เสือ กกต.” ยอมรับมติ แต่ไม่ยอมถอยง่ายๆ
โดยมีมติส่งความเห็นแย้งให้ สนช.ว่าการเซ็ตซีโร่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป
เป็นช็อตต่อเนื่องจากการชงเรื่องตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของ 8 รัฐมนตรี
ที่ถูกมองเป็นเหลี่ยมย้อนศรเอาคืนรัฐบาล คสช.
กกต.เล่นบทต้านอำนาจภายใต้ยุทธศาสตร์ของแม่น้ำ 5 สาย
ก่อแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นจากภายในขุมข่ายฝ่ายคุมเกมอำนาจ
ในจังหวะสถานการณ์ต่อเนื่องกับปรากฏการณ์นักการเมืองในนามกลุ่ม “สโมสร ส.ส.” ที่เป็นการรวมตัวของอดีตผู้แทนราษฎรกว่า 70 คนได้มีการเคลื่อนไหว
นัดปาร์ตี้สังสรรค์กันที่โรงแรมดังกลางกรุง
ก่อนจะมีเหตุให้ล้มเลิกกลางคัน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อ้างมีวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิดไปวางในงาน ทำให้กลุ่มสโมสร ส.ส.ต้องแยกย้ายกันกลับบ้านใครบ้านมัน
แต่โดยรูปการณ์ที่รู้กันเป็นนัย งานนี้เป็นมุกของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องสกัดความเคลื่อนไหว
เพราะขัดคำสั่ง คสช.ห้ามนักการเมืองทำกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม ถือว่านักการเมืองทำได้เข้าเป้า เพราะได้กลับมาเป็นข่าวอยู่ในกระแส
ยิ่งเป็นอะไรที่ล้อไปกับจังหวะการเริ่มเปิดให้ประชาชนได้ตอบ “4 คำถาม” ของ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.
ที่โดยภาพรวมวันแรกๆส่อเค้างานกร่อย มีคนร่วมส่งคำตอบน้อย
อารมณ์แบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบออกตัวเป็นเชิง ไม่ได้คาดหวังให้มาตอบเป็นเรื่องราวใหญ่โต แค่เป็นการสร้างการรับรู้เท่านั้น
เป็นอันว่าประชาชนไม่อินกับมุกขู่ผีนักการเมืองชั่วร้ายของ “นายกฯลุงตู่”
กกต. นักการเมือง กระตุกแรงกระเพื่อมต่อเนื่อง
ในจังหวะเดียวกันยังเกิดแรงสั่นสะเทือนหนักในวงการตำรวจที่กระทบถึงขุมอำนาจ คสช.
ภายหลังนายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำกปปส. ออกมาเปิดปมแฉแหลกการซื้อขายเก้าอี้ผู้กำกับและระดับรองๆ ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 8 และพื้นที่ตำรวจนครบาล
ประจานกันดังๆออกอากาศ
ไล่เลี่ยๆกับการที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งด่วนให้ พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผบช.ภ.8 เข้ากรุมาประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เรื่องไม่จบแค่นั้น ปมร้อนบานปลายกลายเป็นเรื่องที่โยงกับการเมือง
เพราะทั้ง พล.ต.ท.เทศาที่โดนเด้ง และนายวิทยาคนเปิดโปงแฉ ต่างเป็นคนสนิทระดับสายตรงของ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิกปปส.
ส่อเค้าหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างเครือข่ายอำนาจ กปปส.กับทีมงานใกล้ชิด “พี่ใหญ่” อย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กปปส.หันมาล่อกับคนคุมเกม คสช.
ก่อบรรยากาศกรุ่นๆในขุมอำนาจฝั่งเดียวกัน
ทั้งหมดทั้งปวง โดยปรากฏการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นกรณีองค์กรอิสระอย่าง กกต. นักการเมืองกับทหาร หรือ กปปส.กับผู้คุมอำนาจ คสช.
มันล้วนแต่สะท้อนภาวะของการหาจุด “ดุลยภาพ” ไม่เจอ
เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองได้รับ ถึงคราวผลประโยชน์ขัดกันก็ “บรรลัย”
อำนาจการเมืองไทยยังสลัดไม่พ้นวงจรอุบาทว์
เอาเข้าจริง การออกแรงของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเข็นยุทธศาสตร์ชาติไปสู่เป้าหมายยังไปไม่ถึงไหน
“ปฏิรูป” ยังเป็นแค่ภาพมโนที่เลือนราง
ตรงกันข้าม ว่ากันตามไฟต์บังคับ สถานการณ์มาถึงช่วงท้ายโรดแม็ป ปลายเทอมรัฐบาล โดยรูปการณ์มันลำบากที่จะห้ามไม่ให้นักการเมืองขยับตามเงื่อนเวลาที่เร้าใกล้เข้ามา
“นักเลือกตั้งอาชีพ” ต้องแต่งตัวเตรียมลงสนาม
เพราะโดยธรรมชาติของพรรคการเมืองต้องมีขั้นตอนในการเตรียมตัวบุคลากร คิดนโยบาย ค้นหายุทธวิธี รวมถึงการจัดหาทุนในการลงเลือกตั้ง
โดยเฉพาะรอบนี้เป็นการรองรับกติการัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ การนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม
พรรคการเมืองก็ยิ่งจำเป็นต้องวางแผน ทำการบ้านหนักขึ้นอีกหลายเท่า
การจะใช้กฎเหล็ก “ล็อก” ไม่ให้ขยับกันเลย คงเป็นไปไม่ได้
จะสั่งให้ซ้ายหัน ขวาหัน แถวตรง กลับหลังหัน นั่นมันทำได้เฉพาะในค่ายทหาร
เอามาใช้กับนักการเมืองเขี้ยวลากดินไม่ได้
ที่แน่ๆจากนี้ไปยุทธการกดดัน เร่งเกมเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นเป็นระยะ
ตามจังหวะนักการเมืองต้องเร้าสื่อกระแสหลัก กระตุ้นสังคมให้เป็นแนวร่วมในการกดดันรัฐบาล คสช.เดินหน้าตามโรดแม็ป เลือกตั้งตามกำหนด
ดักคอไม่ให้ “นายกฯลุงตู่” เบี้ยวสัญญาประชาคม
ตามเงื่อนไขผสมกับภาวะความไม่ลงตัวทางอำนาจ การขาดดุลยภาพที่กระเพื่อมไปทุกจุด ก็ยิ่งกดดันรัฐบาลทหาร คสช.ให้ลากเกมอำนาจต่อไปอย่างยากลำบาก
โดยแนวโน้มมีแต่ต้องเหนื่อยหนักขึ้นทุกขณะ
สถานการณ์ที่ต้นทุนหน้าตักหนาๆของ พล.อ.ประยุทธ์คงหดลงทุกวัน
บท “ตลกหน้าม่าน” เอาหน้ารอดไปเป็นครั้งเป็นคราว คงถึงวันหมดมุก
ชาวบ้านไม่ขำ ก็ไปไม่เป็นแล้ว
เรื่องของเรื่อง ก่อนที่สถานการณ์จะไหลไปถึงจุดนั้น ทีมงาน “นายกฯลุงตู่” ต้องปรับแผนด่วน
และทางเดียวที่จะประคองเกมได้ นั่นคือการโชว์ผลงานให้ชาวบ้านได้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน
เบื้องต้นเลย กับห้วงเวลาที่เหลืออยู่อีกปีกว่าๆ ทีมงานรัฐบาลทหาร คสช.จำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึง “เนื้องาน” ที่ประชาชนสัมผัสแตะต้องได้
ตามสัญญาการคืนความสุขให้ประเทศไทย
ซึ่งนั่นก็เป็นอะไรที่สอดคล้องกับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจใช้มาตรา 44 ผ่าทางตัน
เปิดทางให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เดินหน้าเมกะโปรเจกต์รถไฟไทย-จีน รถไฟทางคู่ รวมถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี)
หวังให้เม็ดเงินก้อนมหาศาลกระตุ้นการไหลเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ
เดินเนื้องานที่ส่งผลตรงถึงปากท้องชาวบ้าน
เพราะสถานการณ์ผ่านมา 3 ปีแล้ว กับการที่ทีมงาน คสช.อาสาเข้ามานำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายปฏิรูปครั้งใหญ่ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีบ้าง มันแตกต่างจากยุคของนักการเมืองที่ถูกทหารตราหน้าว่าเลวร้ายทำให้บ้านเมืองติดหล่มอย่างไร
ไม่ใช่แค่เป็นฝ่ายตั้งคำถาม 4 ข้อให้ประชาชนตอบเท่านั้น
พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องพร้อมตอบคำถามชาวบ้านด้วย.

“ทีมการเมือง”

ตัวช่วยเขย่าโรดแม็ป

ตัวช่วยเขย่าโรดแม็ป

ได้คิวยืดอกออกสื่อ โชว์ฝีมือกู้ความเชื่อมั่นกลับมา
ตามหน้าฉากที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ฉีกยิ้มยาวๆกับข่าวใหญ่พาดหัวสื่อทุกฉบับ กรณีการจับกุมมือบึ้มโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้สำเร็จ
พี่ใหญ่กลับมาสร้างผลงานเรียกเรตติ้งในฐานะเบอร์หนึ่งด้านความมั่นคงได้อีกครั้ง
การันตีได้มีชื่อติดในหน้าสื่อไปอีกพักใหญ่ หลังจากต้องเก็บตัวอยู่เงียบๆพักฟื้นรักษาสุขภาพ ไม่ได้เป็นข่าวหวือหวามานับเดือน
แต่ที่พลิกความคาดหมายคือ มือก่อเหตุกลับเป็นอดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจวัย 62 ปี ที่รับสารภาพว่าลงมือเพียงคนเดียว เพราะไม่ชอบทหาร เป็นเรื่องความเห็นต่างทางอุดมการณ์การเมือง
ไม่ใช่ฝีมือทหารนอกแถว หรือฝีมือกลุ่มขบวนการตามที่คาดการณ์ไว้แต่แรก
อย่างไรก็ตาม ก็มีปมให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ถึงคำรับสารภาพที่ระบุว่า เป็นผู้ลงมือก่อเหตุระเบิดป่วนเมืองหลายครั้งที่ผ่านมาเพียงคนเดียว อาทิ หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเก่า หน้าโรงละครแห่งชาติ ในตรรกะแห่งความเป็นจริง คนแก่เพียงคนเดียวจะมีศักยภาพก่อเหตุป่วนเมืองได้มากมายขนาดนี้หรือไม่
นั่นก็เป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องไปสอบสวนหาหลักฐานความเชื่อมโยงต่อไป
แต่ที่กำลังไต่ระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆคือ สถานการณ์การเมืองในช่วงปลายโรดแม็ป ท้ายเทอมของรัฐบาลทหาร
จากปม ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ กกต. จ่อส่งข้อโต้แย้งว่า มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญเรื่องการเซ็ตซีโร่
ส่อเค้าได้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย “สนช.–กรธ.–กกต.” มาทบทวนข้อสรุปให้ลงตัวกันอีกครั้ง
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ สนช.เพิ่งกดปุ่มไฟเขียวให้ความเห็นชอบไปหมาดๆ
ก็มีประเด็นถูกตั้งป้อมต่อต้านหนักๆจากตัวแทน กรธ.ที่เป็น กมธ.เสียงข้างน้อย เป็นห่วงข้อเสนอ “ระบบไพรมารีโหวต” ในการเฟ้นตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองต้องผ่านการกลั่นกรองจากสาขาพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้งก่อน
ในอารมณ์ที่ กรธ.เป็นกังวลของใหม่แกะกล่อง “ไพรมารีโหวต” เพิ่มกรรมวิธีมากมายให้พรรคการเมืองในการส่งผู้สมัคร อาจกระทบต่อเงื่อนเวลาการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโปรแกรมเดิม
ตามอาการหนักใจของ นายอุดม รัฐอมฤต กรธ. ที่ยอมรับตรงๆว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองนำไปปฏิบัติจริงได้ยาก
หรือ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. ก็มองว่า จะเป็นภาระแก่พรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองขนาดเล็กมากเกินไป
ประเมินแนวโน้มแล้ว หนีไม่พ้นต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมมาทบทวนแก้ไขเช่นกัน
เส้นทางร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสำคัญยังไม่ราบรื่น นอกจากเจอแรงต้านจากพรรคการเมือง ยังต้องเผชิญแรงเสียดทานจาก กกต. และ กรธ. มีแววต้องมาจับเข่าคุยรายละเอียดกันใหม่อีกยก
เข้าเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงให้โรดแม็ปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ต้องทอดเวลาออกไปอีก
ตามลูกล่อลูกชน สนช.ที่สอดไส้เพิ่มเติมเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับไปไกลเกินกว่าที่ กรธ.กำหนด หวังกำราบฝ่ายการเมืองให้อยู่หมัด และควบคุมเกมเลือกตั้ง เพื่อกุมแต้มต่อทางการเมืองในอนาคต
สนช.กลายเป็นตัวช่วยเขย่าโรดแม็ปโดยอัตโนมัติ
แต่ขณะเดียวกัน สนช.ก็เป็นสายล่อฟ้าในแม่น้ำห้าสายที่ถูกโจมตีให้สะเทือนเครดิต “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. บ่อยครั้ง
ล่าสุด มีข้อครหาเรื่องการลงมติให้ความเห็นชอบแก้ไขข้อบังคับการประชุม สนช.ฉบับใหม่
ตัดทิ้งหลักเกณฑ์การลงมติในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติในรอบ 90 วัน โดยระบุ รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีการบัญญัติไว้
เปิดช่องให้สมาชิก สนช.ขาดการลงมติได้ โดยไม่มีผลต่อการสิ้นสมาชิกภาพ สนช. ป้องกันเหตุซ้ำรอยกรณี 7 สนช. โดดประชุมสนช.จำนวนมาก
อาศัยเหลี่ยมกฎหมายแก้ข้อบังคับให้ไม่ต้องพะวงเรื่องการขาดประชุมอีกต่อไป
ยี่ห้อทหารหรือนักการเมือง มาตรฐานก็ไม่ต่างกัน.
ทีมข่าวการเมือง

สายสัมพันธ์เสี่ยหนูกับบิ๊กป้อมผ่านบิ๊กกี่

แอบส่อง FB ....."เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล" แห่งภูมิใจไทย พรรคที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับทหาร มีเพื่อนพี่น้อง เป็นทหารมากมาย......และยังมีชื่อ ในข่ายที่จะชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง....ซะด้วย.....เสี่ยหนู โพสต์ภาพไปเดิน ถนนช้อปปิ้ง Orchard Road ที่สิงคโปร์ กับ บิ๊กกี่ พลเอกนพดล อินทปัญญา สมาชิก สนช. เพื่อนรัก เพื่อนซี้ ตท.6 ของ บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร รองนายกฯและ รมว.กลาโหม แกนนำคสช.....บิ๊กกี่ ไม่ใช่แค่เพื่อนรัก บิ๊กป้อม แต่เป็นเสมือน เลขาฯส่วนตัว และเป็น ตัวแทน บิ๊กป้อม เลยทีเดียว.....บิ๊กกี่ รู้จักนักการเมือง หลายพรรคหลายขั้ว. รวมทั้ง คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ด้วย
เรื่องนี้ ต้องจับตา!!!!!

"สุเทพ" ไม่พร้อมเลือกตั้ง ไม่กระทบ "ปรองดอง"..

"สุเทพ" ไม่พร้อมเลือกตั้ง ไม่กระทบ "ปรองดอง"...ยันเห็นร่างสัญญาประชาคม ใน7 กค. นี้
‪"บิ๊กเจี๊ยบ" พลเอกเฉลิมชัย ผบ.ทบ. เชื่อจุดยืน "สุเทพ เทือกสุบรรณ"ที่ประกาศไม่พร้อมที่จะเลือกตั้ง นั้นจะไม่กระทบ "ร่างสัญญาประชาคม" ที่กำลังจัดทำ. ชี้เป็นแค่ความคิดเห็นต่าง เชื่อไม่กระทบ ปรองดอง‬.....เผย ที่ประชุม คณะกรรมการเตรียมการสร้างสามัคคีปรองดอง เห็นชอบ "ร่างสัญญาประชาคม" แต่ให้มีการปรับแก้ ถ้อยคำ บางส่วน จากนั้นจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อให้เสร็จเป็น ร่างที่สมบูรณ์ ภายใน7 กค.นี้

ไฟเขียว ร่างสัญญาประชาคม 3 หน้า 10ข้อ

ไฟเขียว ร่างสัญญาประชาคม 3 หน้า 10ข้อ
โฆษกปรองดอง เผย คณะกรรมการเตรียมการสร้างสามัคคีปรองดอง ชุด"บิ๊กป้อม"เห็นชอบ "ร่างสัญญาประชาคม" แต่ให้ปรับแก้บางถ้อยคำ บางส่วน เผย ร่างฯยาว3แผ่น มี10ข้อ เป็นบทนำครึ่งหน้า และบทสรุป อีกครึ่งหน้า แต่ยังจะไม่เปิดเผย จนกว่าจะมีการเปิดเวทีสาธารณะ
พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหมและประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ชี้ ประเด็นที่ตัองเร่งสร้างความเข้าใจ และไม่ให้ความขัดแย้งขยาย เช่น การยึดถือและปฏิบัติตามกม.กม และการใช้ถ้อยคำ ที่ไม่ปลุกระดม หรือสร้างความขัดแย้ง Hate speech
ชี้แม้เป็นเพียงแค่กระดาษ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ประชาชน และเจตน์จำนง จิตวิญญาณของปชช. ในการดำหนดกรอบ การอยู่ร่วมกัน อย่างสันติสุข
เชื่อมั่นว่าครั้งนี้จะประสบความสำเร็จมากกว่าทุกครั้ง เพราะเราได้ศึกษาจากบทเรียนในอดีต
ชี้อารมณ์ของสังคม เริ่มสงบลง และเต็มไปด้วยเหตุผล สร้างสรรค์ เชื่อไม่มีการใช้ความรุนแรง หาก มีบางกลุ่มออกมาต่อต้านการเลือกตั้ง ยันตัองยึดกม. ทั้ง พรบ.การชุมนุมฯ
โดยจะเปิดเวทีฟังความเห็น ต่อ ร่างสัญญาประชาคม ในต้นกค.ให้เสร็จภายใน7กค.
ส่วนการประกาศ ร่างสัญญาประชาคม นั้น ต้องรอการรับฟังความเห็นจากประชาชน แล้วกลับมา ทำร่างฯ ที่สมบุรณ์ แล้วส่งให้คณะ ปยป. จากนั้น จะมีการแถลงให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน. แต่นายกฯหรือใครจะแถลงนั้น ให้รอบทสรุป

"บิ๊กป้อม" เชื่อมั่นร่าง“สัญญาประชาคม”จะเป็นทางออกร่วมกัน

"บิ๊กป้อม" เชื่อมั่นร่าง“สัญญาประชาคม”จะเป็นทางออกร่วมกัน จากความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง /เห็นชอบร่างฯ แต่ให้แก้ไข ถ้อยคำบางส่วน ก่อนเปิดเวทีฟังความเห็น ในต้นกค.ให้เสร็จภายใน7กค./แม้เป็นแค่กระดาษ แต่สำคัญที่เจตน์จำนงประชาชน/ชี้ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะอารมณ์สังคมสงบลง เผย "ความเห็นร่วม" จะเอาไป ใส่ใน ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี
หลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ครั้งที่ 4/60 เมื่อ 19 มิถุนายน 60 ที่ ศาลาว่าการกลาโหม โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯและ รมว.กห. เป็นประธาน
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม/ ประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ เปิดเผย ว่า คณะกรรมการเตรียมการสร้างสามัคคีปรองดอง ชุด"บิ๊กป้อม"เห็นชอบ "ร่างสัญญาประชาคม" แต่ให้ปรับแก้บางถ้อยคำ บางส่วน เผย ร่างฯยาว3แผ่น มี10ข้อ เป็นบทนำครึ่งหน้า และบทสรุป อีกครึ่งหน้า แต่ยังจะไม่เปิดเผย จนกว่าจะมีการเปิดเวทีสาธารณะ
พลตรี คงชีพ กล่าวว่า ในร่างสัญญาประชาคม มี ประเด็นที่ตัองเร่งสร้างความเข้าใจ และไม่ให้ความขัดแย้งขยาย เช่น การยึดถือและปฏิบัติตามกม.กม และการใช้ถ้อยคำ ที่ไม่ปลุกระดม หรือสร้างความขัดแย้ง Hate speech
"แม้เป็นเพียงแค่กระดาษ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ประชาชน และเจตน์จำนง จิตวิญญาณของปชช. ในการดำหนดกรอบ การอยู่ร่วมกัน อย่างสันติสุข"
"เชื่อมั่นว่าครั้งนี้จะประสบความสำเร็จมากกว่าทุกครั้ง เพราะเราได้ศึกษาจากบทเรียนในอดีต"
พลตรีคงชีพ กล่าวว่า ตอนนี้ อารมณ์ของสังคม เริ่มสงบลง และเต็มไปด้วยเหตุผล สร้างสรรค์ เชื่อไม่มีการใช้ความรุนแรง หาก มีบางกลุ่มออกมาต่อต้านการเลือกตั้ง ยันตัองยึดกม. ทั้ง พรบ.การชุมนุมฯ
ส่วนการประกาศ ร่างสัญญาประชาคม นั้น ต้องรอการรับฟังความเห็นจากประชาชน
ในต้นกค.ให้เสร็จภายใน7กค. แล้วกลับมา ทำร่างฯ ที่สมบุรณ์ แล้วส่งให้คณะ ปยป. จากนั้น จะมีการแถลงให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน. แต่นายกฯหรือใครจะแถลงนั้น ให้รอบทสรุป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ผ่านมา และร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นอย่างรอบด้านต่อ "เอกสารความเห็นร่วม" ที่จัดทำขึ้นและการใช้ประโยชน์
รวมทั้ง "ร่างสัญญาประชาคม" เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน
พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีความจริงใจและมีเจตจำนงที่แน่วแน่ ในการสร้างความสามัคคีปรองดองในครั้งนี้ และเน้นถึงเป้าหมาย คือ การรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ การกำหนดกรอบแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุขในอนาคต
โดยประชาชนทั้งประเทศ ต้องได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
พร้อมย้ำให้ร่วมกันสร้างการรับรู้กับประชาชนและสร้างบรรยากาศของความร่วมมือ ให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอย่างแท้จริง
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ร่างสัญญาประชาคมที่ปรับแก้แล้ว จากข้อคิดเห็นของคณะกรรมการ จะสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะ ในรูปแบบของการจัดเวทีสาธารณะทั่วทุกภาคได้ภายใน ปลาย มิ.ย.60 โดยจะจัด 4 ครั้งในพื้นที่จังหวัด พิษณุโลก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และ กทม.
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ในภาพรวม ความขัดแย้งในสังคมไทยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นำมาสู่การต่อต้านคัดค้านรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในแต่ละช่วงเวลา ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันจนลุกลามไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรง ทั้งระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชน และขยายวงกว้างไปสู่การใช้ความรุนแรง จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างประมาณค่ามิได้ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและมั่นคงอย่างมาก

หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามายุติความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในสังคมทันที โดยใช้กฎหมายพิเศษและกำหนดมาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางสังคมที่เข้มข้น โดยเฉพาะการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยึดอาวุธสงครามทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร่วมกับการเสริมสร้างให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน
กว่า2ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ปัญหาวิกฤตชาติและปัญหาฐานรากประเทศที่ถูกละเลย ควบคู่กับการวางรากฐานและอนาคตของประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ขณะเดียวกันต้องบริหารขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการผดุงหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง ด้วยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันและกฎหมายพิเศษตามความจำเป็น ร่วมกับการขอความร่วมมือจากสังคม โดยยังให้ความสำคัญหลักกับปัญหาพื้นฐานทางสังคม ที่มีรากเหง้าความขัดแย้งมานาน เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายอำนาจและรายได้ที่ไม่ทั่วถึงเป็นธรรม และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น ตามผลการปฏิบัติ ที่มีเป็นข่าวปรากฏอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา
ในขณะที่ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ เพื่อยกระดับและวางรากฐานประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
นายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการจำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2) คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3) คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 4) คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อร่วมกันทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชน ในการปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศ. ตามแนวทางและเป้าหมายที่ร่วมกันกำหนด โดยไม่นำความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงกลับมาสู่สังคมอีกในอนาคต
ในส่วนของ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีความมั่นใจว่า โอกาสความสำเร็จของการร่วมสร้างความสามัคคีปรองดองครั้งนี้ มีมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาล มีเจตจำนงที่ชัดเจน
พร้อมทั้งได้ศึกษาบทเรียนและทะยอยแก้ปัญหารากเหง้าความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาแล้วว่า สังคมเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นและไว้ใจกันมากขึ้น ประกอบกับอารมณ์ทางสังคมมีความสงบลง การเปิดโอกาสให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อทางออกและแนวทางป้องกันมิให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นความรุนแรงในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า แนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองที่รัฐบาลทำมา สามารถตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งกระบวนการรับฟังและตรวจทานความคิดเห็นที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างดียิ่ง โดยข้อมูลที่ได้รับเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่ายิ่ง
“เอกสารความเห็นร่วม” ได้จัดทำขึ้น ด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์ตามหลักวิชาการ จากข้อมูล 2 ส่วน คือ 1) ข้อมูลการรวบรวมความเห็นร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น ผ่านเวทีการรับฟังในการสร้างความสามัคคีปรองดองทั่วประเทศ ที่ผ่านการสอบทานแล้วที่ผ่านมา
2) ข้อมูลผลการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีมา โดยจัดทำเป็นประเด็นความเห็นร่วมและความเห็นอื่นๆทั้ง 10 ด้าน
และจำแนกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) ประเด็นที่คสช.และรัฐบาลได้ดำเนินการแล้วหรือกำลังดำเนินการ 2) ประเด็นที่สามารถดำเนินการได้และเกิดผลทันที 3) ประเด็นที่สามารถดำเนินการได้แต่ผลที่เกิดขึ้นอาจต้องใช้เวลา 4) ประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการและสร้างความรับรู้ เพื่อมิให้ขยายไปสู่ความขัดแย้ง และ 5) ประเด็นที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
ข้อมูลจาก “เอกสารความเห็นร่วม” จะถูกเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตาม กรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการบริหารราชการแผ่นดิน
พร้อมทั้ง เสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปการขับเคลื่อนประเทศ ใช้ประโยชน์ควบคู่กันไป
สำหรับประเด็นที่ 4 ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการและสร้างความรับรู้ เพื่อมิให้ขยายไปสู่ความขัดแย้ง และประเด็นอื่นๆที่อ่อนไหวหรือถูกใช้เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งที่ผ่านมา จะถูกแยกไปจัดทำเป็น “สัญญาประชาคม” ต่อไป
สำหรับ “ร่างสัญญาประชาคม” ที่จัดทำขึ้นจากการสะท้อนความเห็นร่วมกันของประชาชน เป็นการกำหนดกำหนดความตกลงของการอยู่ร่วมกัน เพื่อมิให้เกิดเงื่อนไขที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่ขยายไปสู่ความรุนแรงในอนาคต ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดี ที่ประชาชนทุกคนจะได้เข้าใจและร่วมกันปฏิบัติ ด้วยสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศชาติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางดำเนินการสร้างความสามัคคีปรองดองให้บรรลุความสำเร็จเป็นรูปธรรม จากสัญญาประชาคมที่จะเกิดขึ้นนี้ จะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ จากความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการมีส่วนร่วมและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในทุกมิติ ไม่เน้นเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต่อการมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน คือ “ผลประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงและมีส่วนร่วมของประชาชน การมีจิตสำนึกในการยอมรับกฎกติกา และเคารพกฎหมายต่างๆ รวมไปถึงการสร้างความเท่าเทียมกันในทุกด้าน ทั้งกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและการเข้าถึงบริการภาครัฐ
ตลอดจนบรรยากาศของความสมานฉันท์ ความเป็นพี่เป็นน้อง การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งความโปร่งใสในทุกกระบวนการ ซึ่งจัดเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะทำให้ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

"บิ๊กเจี๊ยบ" สั่ง กกล.รส.คสช.ไม่ประมาท คุมเข้ม การรปภ. แม้จับกุม "มือระเบิด" ได้แล้วก็ตาม

"บิ๊กเจี๊ยบ" สั่ง กกล.รส.คสช.ไม่ประมาท คุมเข้ม การรปภ. แม้จับกุม "มือระเบิด" ได้แล้วก็ตาม สั่ง เร่งรัดติดตั้งและเพิ่มประสิทธิภาพ กล้องวงจรปิด
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ./ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวว่า พลเอกเฉลิมชัย ขอให้ทุกหน่วยงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเฉพาะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ยังคงเข้มงวดในมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ต่างๆ ให้มีความรัดกุมและสอดคล้องกับ สถานการณ์เช่นเดิม
แม้ว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จะสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีลอบวางระเบิด
ในพื้นที่ กทม. ได้แล้ว โดยเฉพาะการเร่งรัดติดตั้งและเพิ่มประสิทธิภาพกล้องวงจรปิด ควบคู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างความปลอดภัยสาธารณะ
นอกจากนี้ พลเอกเฉลิมชัย เลขาธิการคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ ยังได้กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนในการจับกุมและปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศ ที่มอบให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยได้ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วง ๔ เดือน ที่ผ่านมาปรากกฎเป็นสถิติการจับกุมยาบ้าได้ถึง ๑๐๐ ล้านเม็ด นับเป็นสถิติที่สูงขึ้นมากอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งการจับกุมของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงการแก้ปัญหาส่วนหนึ่ง
การประชุมในวันนี้ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้แสดงเจตนาที่จะยกระดับการแก้ปัญหายาเสพติดให้ครอบคลุมในทุกมิติยิ่งขึ้น ได้สั่งการให้ทุกส่วนงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณากำหนดกระบวนการและวิธีแก้ปัญหายาเสพติดเพิ่มเติม ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เน้นการขจัดปัญหายาเสพติดที่ต้นเหตุ โดยให้พิจารณามาตรการเพิ่มเติมทั้งในประเทศและการประสานงานร่วมกับมิตรประเทศ
สำหรับงานด้านการจัดระเบียบสังคม ซึ่งบางพื้นที่ดำเนินการได้เรียบร้อย เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน
แต่ในบางพื้นที่อาจต้องปรับรูปแบบหรือการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหายิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามการจัดระเบียบสังคมเป็นงานที่ดำเนินการเพื่อส่วนรวม ซึ่ง พลเอกเฉลิมชัย เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กำชับให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบป้องกันมิให้มีการแอบอ้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์หรือดำเนินการใดๆ ที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย หากตรวจพบให้ดำเนินการทางกฎหมายทันที รวมถึงการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ให้ประพฤติปฏิบัติตนภายใต้กรอบของกฎหมายที่วางไว้อย่างเคร่งครัด