PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ตัวช่วยเขย่าโรดแม็ป

ตัวช่วยเขย่าโรดแม็ป

ได้คิวยืดอกออกสื่อ โชว์ฝีมือกู้ความเชื่อมั่นกลับมา
ตามหน้าฉากที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ฉีกยิ้มยาวๆกับข่าวใหญ่พาดหัวสื่อทุกฉบับ กรณีการจับกุมมือบึ้มโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้สำเร็จ
พี่ใหญ่กลับมาสร้างผลงานเรียกเรตติ้งในฐานะเบอร์หนึ่งด้านความมั่นคงได้อีกครั้ง
การันตีได้มีชื่อติดในหน้าสื่อไปอีกพักใหญ่ หลังจากต้องเก็บตัวอยู่เงียบๆพักฟื้นรักษาสุขภาพ ไม่ได้เป็นข่าวหวือหวามานับเดือน
แต่ที่พลิกความคาดหมายคือ มือก่อเหตุกลับเป็นอดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจวัย 62 ปี ที่รับสารภาพว่าลงมือเพียงคนเดียว เพราะไม่ชอบทหาร เป็นเรื่องความเห็นต่างทางอุดมการณ์การเมือง
ไม่ใช่ฝีมือทหารนอกแถว หรือฝีมือกลุ่มขบวนการตามที่คาดการณ์ไว้แต่แรก
อย่างไรก็ตาม ก็มีปมให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ถึงคำรับสารภาพที่ระบุว่า เป็นผู้ลงมือก่อเหตุระเบิดป่วนเมืองหลายครั้งที่ผ่านมาเพียงคนเดียว อาทิ หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเก่า หน้าโรงละครแห่งชาติ ในตรรกะแห่งความเป็นจริง คนแก่เพียงคนเดียวจะมีศักยภาพก่อเหตุป่วนเมืองได้มากมายขนาดนี้หรือไม่
นั่นก็เป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องไปสอบสวนหาหลักฐานความเชื่อมโยงต่อไป
แต่ที่กำลังไต่ระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆคือ สถานการณ์การเมืองในช่วงปลายโรดแม็ป ท้ายเทอมของรัฐบาลทหาร
จากปม ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ กกต. จ่อส่งข้อโต้แย้งว่า มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญเรื่องการเซ็ตซีโร่
ส่อเค้าได้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย “สนช.–กรธ.–กกต.” มาทบทวนข้อสรุปให้ลงตัวกันอีกครั้ง
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ สนช.เพิ่งกดปุ่มไฟเขียวให้ความเห็นชอบไปหมาดๆ
ก็มีประเด็นถูกตั้งป้อมต่อต้านหนักๆจากตัวแทน กรธ.ที่เป็น กมธ.เสียงข้างน้อย เป็นห่วงข้อเสนอ “ระบบไพรมารีโหวต” ในการเฟ้นตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองต้องผ่านการกลั่นกรองจากสาขาพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้งก่อน
ในอารมณ์ที่ กรธ.เป็นกังวลของใหม่แกะกล่อง “ไพรมารีโหวต” เพิ่มกรรมวิธีมากมายให้พรรคการเมืองในการส่งผู้สมัคร อาจกระทบต่อเงื่อนเวลาการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโปรแกรมเดิม
ตามอาการหนักใจของ นายอุดม รัฐอมฤต กรธ. ที่ยอมรับตรงๆว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองนำไปปฏิบัติจริงได้ยาก
หรือ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. ก็มองว่า จะเป็นภาระแก่พรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองขนาดเล็กมากเกินไป
ประเมินแนวโน้มแล้ว หนีไม่พ้นต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมมาทบทวนแก้ไขเช่นกัน
เส้นทางร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสำคัญยังไม่ราบรื่น นอกจากเจอแรงต้านจากพรรคการเมือง ยังต้องเผชิญแรงเสียดทานจาก กกต. และ กรธ. มีแววต้องมาจับเข่าคุยรายละเอียดกันใหม่อีกยก
เข้าเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงให้โรดแม็ปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ต้องทอดเวลาออกไปอีก
ตามลูกล่อลูกชน สนช.ที่สอดไส้เพิ่มเติมเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับไปไกลเกินกว่าที่ กรธ.กำหนด หวังกำราบฝ่ายการเมืองให้อยู่หมัด และควบคุมเกมเลือกตั้ง เพื่อกุมแต้มต่อทางการเมืองในอนาคต
สนช.กลายเป็นตัวช่วยเขย่าโรดแม็ปโดยอัตโนมัติ
แต่ขณะเดียวกัน สนช.ก็เป็นสายล่อฟ้าในแม่น้ำห้าสายที่ถูกโจมตีให้สะเทือนเครดิต “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. บ่อยครั้ง
ล่าสุด มีข้อครหาเรื่องการลงมติให้ความเห็นชอบแก้ไขข้อบังคับการประชุม สนช.ฉบับใหม่
ตัดทิ้งหลักเกณฑ์การลงมติในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติในรอบ 90 วัน โดยระบุ รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีการบัญญัติไว้
เปิดช่องให้สมาชิก สนช.ขาดการลงมติได้ โดยไม่มีผลต่อการสิ้นสมาชิกภาพ สนช. ป้องกันเหตุซ้ำรอยกรณี 7 สนช. โดดประชุมสนช.จำนวนมาก
อาศัยเหลี่ยมกฎหมายแก้ข้อบังคับให้ไม่ต้องพะวงเรื่องการขาดประชุมอีกต่อไป
ยี่ห้อทหารหรือนักการเมือง มาตรฐานก็ไม่ต่างกัน.
ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: