PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

ชัดแล้วส.ท.ท.ใช้เงิน200ล.ซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ! พนง.หวั่นไม่สง่างามจี้ฝ่ายบริหารแจง

ผอ.ส.ส.ท. แจงปมไทยพีบีเอส ลงทุนซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ตามขั้นตอนปกติ ไม่กระทบการนำเสนอข่าวทีวีสาธารณะ ชี้หน่วยงานราชการอื่นก็ทำกัน แถมผ่านการพิจารณาคกก.บริหารแล้ว เตรียมเรียกพนง.ทำความเข้าใจ ขู่ใครไม่รู้จริงเอาข้อมูลภายในเผยแพร่ทำให้องค์กรเสียหาย มีโทษทางวินัยร้ายแรง ด้านสมาพันธ์พนง.ฯ หวั่นองค์กรไม่สง่างาม จี้ฝ่ายบริหารเปิดเวทีแจง
picsceb13 3 17
แหล่งข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้กำลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่พนักงานไทยพีบีเอส กรณีที่ฝ่ายบริหารได้นำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ทราบจำนวนเงินที่แน่นอน โดยพนักงานบางส่วนมองว่า การนำเงินไปซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ โดยเฉพาะการทำข่าวเกี่ยวกับภาคประชาชน เกษตรกรรายย่อย นอกจากนั้นอาจเป็นการขัดต่อมาตรา 11 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยในเรื่องการนำเงินทุนและรายได้ขององค์การไปใช้ ว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการนโยบายทราบ แต่มิได้รายงานถึงรายละเอียดในการซื้อหุ้นกู้ของซีพีเอฟแต่อย่างใด ทำให้กรรมการนโยบายบางคนได้ซักถามว่า การซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวได้มีการศึกษาว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายจัดตั้งองค์กรหรือไม่ มีการศึกษาเปรียบเทียบการลง ทุนอื่นๆว่า มีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร แต่ ทพ. กฤษดา มิได้ชี้แจงรายละเอียด
ด้าน นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการนโยบาย กล่าวว่า ได้สอบถามเรื่องนี้กับผู้อำนวยการแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มองว่าได้นำเงินประมาณ 100 -200 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ซึ่งตนในตั้งคำถามถึงเรื่องการนำเงินไปใช้ลงทุนขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายจัดตั้งองค์การหรือไม่ เป็นการแสวงหากำไรหรือไม่ รวมถึงความเสี่ยงที่มีการเปรียบเทียบกับการลงทุนอื่นๆและได้สอบถามถึงการทำรายงานศึกษาในเรื่องนี้
นายณรงค์กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องดังกล่าวจะมีการนำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระในการประชุมคณะกรรมการนโยบายในวันที่ 16 มี.ค. 2560 นี้
ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า มีการนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของ ซีพีเอฟ จริง แต่เป็นการลงทุนลักษณะการซื้อตราสารหนี้ ไม่ได้เป็นการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้ เป็นการลงทุนตามปกติ หน่วยงานราชการหลายแห่งก็ทำกันก่อน การลงทุนมีการเปรียบเทียบข้อมูลการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารแล้วด้วย 
“พนักงานที่นำเรื่องนี้ไปพูด มีความเข้าใจผิดเรื่องนี้อย่างมาก ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยตรงแบบนี้ถึงเป็นเรื่อง แต่กรณีนี้เป็นการลงทุนซื้อตราสารหนี้ตามปกติเท่านั้น และไม่มีผลต่อการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับซีพีเอฟอย่างแน่นอน ส่วนข้อมูลเรื่องเงินทุนว่าใช้ไปเท่าไรนั้น ยังบอกไม่ได้ ขอเช็คตัวเลขก่อน”
ทพ.กฤษดา ยังระบุด้วยว่า จะนัดพนักงานไทยพีบีเอส มาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกครั้ง และถ้าใครยังไม่เข้าใจ นำข้อมูลไปสื่อสารภายนอกองค์กรแบบผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้จัดการการจัดจำหน่าย หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โดยหุ้นกู้นี้ผู้ออกหุ้นกู้จะไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทหรือผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดหลังจาก5 ปีแรก และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยค้างชำระไปชำระในวันใดๆ ก็ได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยดอกเบี้ย 5 ปีแรกเท่ากับ 5% ต่อปี และหลังจากนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อไปใช้ในกิจการของบริษัท
ผู้ที่สนใจสามารถจองซื้อได้ที่สาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 23 – 24, 27 – 28 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคมนี้ โดยจองซื้อขั้นต่ำ 1 แสนบาท และทวีคูณครั้งละ 1 แสนบาท บาทสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป และทวีคูณครั้งละ 1 หมื่นบาทสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center 02-777-6784 ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอ ขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่ www.sec.or.th
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจครบวงจรเริ่มตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การแปรรูปเนื้อสัตว์ขั้นพื้นฐาน การผลิตสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรือผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน รวมถึงการดำเนินกิจการค้าปลีกและร้านอาหาร ดำเนินธุรกิจใน 13 ประเทศทั่วโลก โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรในปี 2559 อยู่ที่ระดับ A+ และ อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ A- โดยบริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด (อ่านประกอบ http://www.scb.co.th/th/news/2017-02-22/nws-cpf)
สำหรับ มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.องค์การกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย ระบว่า เรื่องทุน ทรัพย์สิน และรายได้ขององค์การ แห่ง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย
(1) เงินบํารุงองค์การที่จัดเก็บตามมาตรา 12
(2) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 57 หรือตามกฎหมายอื่น
(3) ทุนประเดิมที่รัฐจ่ายให้เป็นการอุดหนุนตามมาตรา 60
(4) ค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนอื่นใดในการให้บริการ
(5) เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้รับจากผู้สนับสนุนองค์การ
(6) รายได้หรือการหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การ
(7) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์การ
การรับเงินตาม (5) ต้องไม่เป็นการกระทําที่ทําให้องค์การขาดความเป็นอิสระในการ ดําเนินงาน หรือให้กระทําการอันขัดหรือแย้งต่อวัตถุประสงค์ขององค์การ
รายได้ในการดําเนินกิจการขององค์การนอกจาก (2) และ (3) ต้องนําไปใช้ในการ สนับสนุนพัฒนาศักยภาพและให้โอกาสสร้างสรรค์แก่ผู้ผลิตรายการอิสระในอัตราที่คณะกรรมการ นโยบายกําหนด แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของรายได้ดังกล่าว
รายได้ขององค์การตามวรรคหนึ่งไม่ต้องนําส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วย เงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ต่อมาในช่วงเย็นวันที่ 13 มี.ค.2560 สมาพันธ์พนักงาน สสสท. ได้ยื่นหนังสือถึงกรรมการนโยบาย ต่อกรณีการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ใจความเนื้อหาตามข้อความดังต่อไปนี้
เรียน ประธานกรรมการนโยบาย และกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.
เรื่อง ให้ชี้แจงกรณีนำเงินขององค์การฯ ไปซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ
ด้วยปรากฎข่าวสารยืนยันจากกรรมการนโยบายและฝ่ายบริหารว่ามีการนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ในบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร สมาพันธ์ฯ ในฐานะตัวแทนพนักงานมีความสงสัยและกังวลใจในการดำเนินการครั้งนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญ คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ดำเนินกิจการโดยถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องธรรมาภิบาล และการผูกขาด กระทั่งบ่อยครั้งเป็นคู่ขัดแย้งกับคนในสังคม การร่วมดำเนินการใดๆ ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองถึงความสง่างามขององค์กรสื่อที่ประกาศตัวว่าเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐหรือกลุ่มทุน
สมาพันธ์พนักงานฯ เห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพนักงาน อนาคตขององค์การฯ ตลอดจนการหยัดยืนต่อประชาสังคมในฐานะเจ้าของภาษี จึงขอให้ผู้บริหารชี้แจงต่อข้อสงสัยดังต่อไปนี้
1. การซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร เป็นจำนวนนวนเงินเท่าไหร่ มาจากงบประมาณส่วนใด และผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายถูกต้องตามระเบียบหรือไม่อย่างไร
2. การนำเงินไปลงทุนในลักษณะนี้ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ว่าอาจขัดกับ พ.ร.บ.องค์การฯ มาตรา 7 และมาตรา 8 ว่าด้วยวัตถุประสงค์ขององค์การ รวมทั้งมาตรา 9 และมาตรา 11 ว่าด้วยการดำเนินกิจการและการหารายได้ขององค์การฯ รวมทั้งขัดกับระเบียบการเงิน การบัญชี และการงบประมาณหรือไม่อย่างไร
3. ดังที่กล่าวมาแล้วว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อคลางแคลงสงสัยในหลักธรรมาภิบาล เหตุใดจึงมีการเลือกลงทุนซื้อหุ้นกู้นี้ อีกทั้งมีการเปรียบเทียบหุ้นอื่นๆ เพื่อประกอบการพิจารณาหรือไม่อย่างไร
จึงเรียนมาเพื่อให้มีการเร่งชี้แจงผ่านการเปิดเวทีพูดคุยภายในวันที่ 16 มีนาคม 2560
ด้านทพ.กฤษดา  ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการนโยบายเคยให้นโยบายไว้ว่าในการลงทุน ต้องลงทุนตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอับดับเป็นระดับเอบวกขึ้นไป เพื่อให้เกิดคามมั่นคง และในวงเงิน500 ล้านบาท จะต้องกระจายการลงทุนอย่างน้อย 3 แห่ง ซึ่งก็ได้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ เป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท ตามข้อเสนอของที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านการบริหารการจัดการกองทุน และมีการเปรียบเทียบถึงความเสี่ยงซึ่งบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับเป็นเอบวกมีอยู่ไม่กี่บริษัท 
"ที่ผ่านมา ส.ส.ท. ได้รับข้อเสนอจากกระทรวงการคลังว่าควรจะต้องนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งก็พยายามทำตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง" ทพ.กฤษดา ระบุ 
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก ไทยรัฐ

ว่าด้วย ร่างพรบ.ศุลกากร

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
28 นาที · 
พฤหัส๙มีค. สภาผ่านร่างพรบ.ศุลกากร โดยใช้เวลากว่า๖ชม.เพราะร่างพรบ.มีมากถึง๒๖๓มาตราไม่นับอัตราค่าธรรมเนียม ร่างกม.นี้เป็นหนึ่งในสองฉบับของกม.ใหญ่ที่เป็นกม.ยกร่างจากกม.เก่าทั้งฉบับ อีกฉบับหนึ่งคือร่างพรบ.แร่ การแก้ไขทั้งฉบับถือเป็นความกล้าหาญของรมต.และปลัดฯ เพราะการยกร่างใหม่ทั้งฉบับจะเปิดโอกาสให้สมาชิกสนช.สามารถแก้ไขได้หมดทุกมาตรา
ร่างพรบ.ศุลกากรมีการแก้ไขมากมายหลายประเด็น แต่ประเด็นที่ใช้เวลาในการอภิปรายในสภานานมากคือ ม.๑๔(๓)ซึ่งอยู่ในส่วนของการเสียอากรในหมวดการจัดเก็บอากรป็นกรณี...ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการผ่านแดนหรือเพื่อการถ่ายลำ ต่อมามีการขอเปลี่ยนเป็นของนำเข้าภายในระยะเวลา๓๐วัน ให้คำนวณอากรตามสภาพ ราคา และพิกัดฯที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรานี้ ต้องการให้ตัดออกทั้งมาตราเพราะกลัวว่าจะเป็นช่องทางในการทุจริต วางแผนดำเนินการโดยไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในขณะผ่านแดนหรือถ่ายลำจากปัญหาธุรกิจ ปัญหาทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ เพราะกมธ.ตัดคำว่าผิดเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดออกไป แล้วไม่ได้เขียนเพิ่มในมาตราอื่น ผลสุดท้ายกมธ.ชนะโหวตด้วยคะแนนฉิวเฉียด
อีกประเด็นคือ ม.๒๕๗ ที่ว่าด้วยเงินรางวัลนำจับและสินบนนำจับ ซึ่งแม้กมธ.จะปรับลดจากเดิมร้อยละ๕๕(ปรับสี่เท่าของราคาที่แจ้งบวกภาษี) เหลือสินบนร้อยละ๒๐และรางวัลนำจับร้อยละ๒๐ จากเงินค่าขายของกลาง(หากขายไม่ได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับ) โดยcapไว้ไม่ให้เกิน๕ลบ.แต่สมาชิกยังเห็นว่าสูงอยู่ และไม่เป็นธรรมกับข้าราชการฝ่ายอื่นไม่ว่าจะเป็นในก.คลังหรือนอกกระทรวง โดยเฉพาะทหารหรือตำรวจที่เสี่ยงชีวิตจากการทำงานเช่นในพื้นที่๓จชต.โดยถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปรกติ และถึงแม้จะมีเงินดังกล่าว การทุจริตในการขนส่งสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกก็ไม่ได้ลดลง น่าจะมีการแก้ไขกม.ตัดมาตรานี้ออกทั้งมาตราเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขกม.อื่นๆที่มีเงินสินบนและรางวัลดังกล่าวเหมือนกัน เช่นตำรวจ สรรพสามิต ปปส.แม้แต่อย.ของสธ.ก็ตาม แต่ผลสุดท้ายกมธ.ก็ชนะเสียงโหวตไปท่ามกลางการอภิปรายของภาคเอกชนในสภาที่ล้วนแต่ยอมรับในอัตราที่ปรับแก้แล้วดังกล่าว

3อดีตนายกฯร่วมเป็นเจ้าภาพสวดศพ"เจ๊ยุ"



นายอานันท์ ปันยารชุน , นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ,น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ นางยุวดี ธัญญสิริ หรือ เจ๊ยุ อดีตผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ภริยา พล.อ.ศิริชัย ธัญญสิริ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
โดยมี คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ ภริยา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ,นายวราวุธ ศิลปอาลา บุตรชาย นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมือง ทหาร และสื่อมวลชนจำนวนมาก มาร่วมสวดพระอภิธรรม คืนที่ 3 ที่วัดโสมนัสฯ
กำหนดพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 19 มีนาคม นี้ โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี จะมาเป็นประธาน

Nation TV - เว็บไซต์สถานีข่าวอันดับ 1 ของเมืองไทย ""สรรพากร" รับสภาพ! หุ้นชิน "จบแล้ว" ไม่มีกม.ใดเรียกเก็บภาษีทักษิณได้อีก ยันหมดอายุความ 31 มี.ค. 2555"

Nation TV - เว็บไซต์สถานีข่าวอันดับ 1 ของเมืองไทย

"กรมสรรพากร แจงคดีภาษีหุ้นชินคอร์ปสิ้นสุดแล้วตั้งแต่ 31 มี.ค.55 ยอมรับไม่มีกฎหมายใดสามารถเรียกเก็บได้อีก ส่วนข้อเสนอขยายอายุการประเมินภาษี ตามมาตรา 3 อัฎฐ แห่งประมวลรัษฎากร ทำได้เฉพาะกรณีเอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เป็นการลงโทษความพยายามในการเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ดูจะล้มเหลว เพราะอายุความจะหมดลงในวันที่ 31 มี.ค.2561 ในขณะที่กรมสรรพากรเอง ยืนยันว่า อายุความของคดีนี้หมดไปตั้งแต่ปี 2555 แล้วแหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรคงไม่ดำเนินการใดๆ อีกเกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นใน บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพราะเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้ดำเนินการมาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งอายุความของคดีได้สิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555ส่วนกรณีที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้เสนอให้ใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีอายุความ 10 ปีนั้น ในกรณีเช่นนี้ กรมสรรพากรไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายแล้ว เมื่อมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการกำหนดอายุความ จะต้องใช้กฎหมายเฉพาะนั้น จะใช้กฎหมายทั่วไป หรือ จะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ตามประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ระบุไว้ว่า อายุความในกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง มีอายุความ 5 ปี แต่กรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบนั้น มีอายุความ 10 ปี แต่สำหรับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้น นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ได้ทำการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2550 แล้ว ดังนั้น อายุความในกรณีนี้จึงอยู่ที่ 5 ปี และหมดอายุความไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555ทั้งนี้ ศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีในคดีหุ้นชินคอร์ปต่อนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ซึ่งหลังจากศาลภาษีอากรกลางพิพากษาแล้ว กรมสรรพากรในขณะนั้น ที่มีอดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายสาธิต รังคสิริ ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ และเสนอให้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ในสมัยนั้น และอัยการสูงสุด ลงนามในการไม่อุทธรณ์ในครั้งนี้แหล่งข่าวกล่าวว่า การเสนอให้ขยายอายุการประเมินภาษี ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาการยื่นภาษี การอุทธรณ์ การเสียภาษีนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ในมาตรานี้ การขยายระยะเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เป็นการลงโทษผู้เสียภาษี เช่น กรณี ภาษี มินิแบร์ ที่กรมสรรพากร ได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่ทางบริษัท เนื่องจาก เป็นปัญหาการตีความที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริษัทเอกชน กรมฯจึงได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่บริษัท เพราะหากไม่ขยายระยะเวลาการยื่นแบบ ทางบริษัทจะต้องถูกค่าปรับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท ขณะที่ เนื้อภาษีที่ต้องจ่ายจริงเพียงไม่กี่พันล้านบาทส่วนการที่จะขอใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น คงไม่สามารถใช้มาตรานี้มาดำเนินคดีนี้ได้อีก เนื่องจาก ในช่วงที่คดีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลภาษีนั้น กรมสรรพากร ได้ใช้มาตรานี้ เพื่อระบุว่า นายพานทองแท้ และพิณทองทา เป็นผู้ที่ลงนามในเอกสารสำคัญ ที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินคือหุ้นชินนั้นแล้ว แต่ศาลภาษี ยกประเด็นเรื่องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุว่า หุ้นทั้งหมด รวมหุ้นที่เป็นกรณีพิพาททางภาษีนี้ด้วย เป็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงไม่สามารถยื่นฟ้องซ้ำในคดีเดียวกันนี้ได้อีก"

โปรดเกล้าฯให้ข้าราชการพลเรือนในพระองค์พ้นจากตําแหน่ง 19 ราย

เว็บไซต์ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกฯ โปรดเกล้าฯให้ข้าราชการพลเรือนในพระองค์พ้นจากตําแหน่ง 19 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.60 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนในพระองค์พ้นจากตําแหน่ง ระบุว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สังกัดสํานักราชเลขาธิการ พ้นจากตําแหน่ง เนื่องจากลาออกจากราชการ จํานวน ๑๙ ราย ดังนี้

๑.นายสัญญา สุเรนทรานนท์ พ้นจากตําแหน่ง รองราชเลขาธิการ ตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ราชการบริหารส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐, ๒.นายสนอง บูรณะ พ้นจากตําแหน่ง รองราชเลขาธิการ ตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ราชการบริหารส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐, ๓.นายประยูร ผ่องแผ้ว พ้นจากตําแหน่ง รองราชเลขาธิการ ตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ราชการบริหารส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐, ๔.หม่อมหลวงอนุพร เกษมสันต์ พ้นจากตําแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ตําแหน่ง ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ราชการบริหารส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๕.พลเอก นิพนธ์ ภารัญนิตย์ พ้นจากตําแหน่ง ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดําริ ตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ราชการบริหารส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๖.นายพันศักดิ์ อ่อนดีกุล พ้นจากตําแหน่ง ผู้ช่วยราชเลขาธิการ ตําแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ราชการบริหารส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๗.นายอดุลย์ สิทธิกูล พ้นจากตําแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ราชการบริหารส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๘.นางสาวดวงฤทัย หิรัญสถิตย์ พ้นจากตําแหน่ง นักอักษรศาสตร์ ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ราชการบริหารส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๙.นายสุวิโรจ ช่วงโชติ พ้นจากตําแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ กองโครงการสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๐.นายสุพิทพัฒน์ หมื่นสะท้าน พ้นจากตําแหน่ง นักวิชาการพัสดุ ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานการคลัง กองกลาง ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๑.นายอุทิศ อารีรักษ์ พ้นจากตําแหน่ง นักวิชาการพัสดุ ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับชํานาญการ กลุ่มงานการคลัง กองกลาง ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๒.นายสําเริง ชินชํานาญ พ้นจากตําแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ตําแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานคอมพิวเตอร์และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กองกลาง ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, 
๑๓.นางสาวณัฏฐวดี ชนะชัย พ้นจากตําแหน่ง นักอักษรศาสตร์ ตําแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ กองการในพระองค์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๔.นายเกตุศักดิ์ ศิลปาภรณ์ พ้นจากตําแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการ ตําแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส กลุ่มงานเสด็จพระราชดําเนิน กองการในพระองค์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๕.นางวรรณดี เทียมมะณี พ้นจากตําแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการ ตําแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส กลุ่มงานอํานวยการและบริหารทั่วไป กองการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๖.นางสมใจ โกเศยะโยธิน พ้นจากตําแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการ ตําแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส กลุ่มงานอํานวยการและบริหารทั่วไป กองการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๗.นายกมลชาย พุทธชาติ พ้นจากตําแหน่ง นักจัดการงานทั่วไป ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานอํานวยการและบริหารทั่วไป สํานักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๘.นางรัตนา เจริญเผ่า พ้นจากตําแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการ ตําแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส กลุ่มงานราชบรรณาคม กองอํานวยการนักบริหาร ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐, ๑๙.นางอมรรัตน์ สวนจันทร์ พ้นจากตําแหน่ง นักจัดการงานทั่วไป ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานอํานวยการและบริหารทั่วไป ศูนย์สารสนเทศ สํานักราชเลขาธิการ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
 ประกาศ ณ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ผู้รับสนองพระราชโองการ 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 นายกรัฐมนตรี