PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อบรมผู้พิพากษาพูดถึงตำรวจ



Siriphon Kusonsinwut
อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 66 วันนี้ พูดอะไรไปบ้าง ขอนำมากล่าวย่อ ๆ
" ขอแสดงความยินดีกับท่านผู้ช่วยผู้พิพากษาที่สามารถสอบผ่านการคัดเลือกมาด้วยความยากลำบาก แต่สิ่งที่จะยากลำบากในชีวิตมนุษย์เราที่สุด คือ การดำรงตนด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เที่ยงตรง ปราศจากอคติทั้งปวง และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสำนึกในเงินภาษีประชาชน เพื่อที่ว่า เมื่อมองหน้าตัวเองในกระจกแล้ว จะยังกล้าสบตากับตัวเองได้
งานตำรวจเป็นงานที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่นเดียวกับผู้พิพากษาเวรชี้ แต่งานตำรวจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ไม่มีใครจัดทำเอกสารให้มาก่อน และต้องทำงานโดยลำพัง ไม่มีผู้ช่วยหรือนิติกร ต้องทำงานด้วยตนเองทั้งกระบวนการ การทำงานของตำรวจเป็นภาระเวร ที่ถือเป็นงานในหน้าที่ ไม่มีค่าเวรหรือค่าตอบแทนจากการทำงานพิเศษนอกจากเงินเดือนปกติ ต่างจากศาลที่มีค่าเวร หรือหมอที่มีค่าเวร ฯลฯ งานร้อยเวร จะมีการบ้านตลอดเวลา งานสะสมต่อเนื่อง หากร้อยเวรไม่ขยันขันแข็ง ไม่จัดตารางเวลาให้ทำงานให้ดี เช่น ปล่อยให้ผู้ต้องหาหลุดฝากขังหรือผัดฟ้อง ร้อยเวรก็อาจจะต้องถูกขังเอง และพ้นหน้าที่ราชการโดยง่าย
อาชีพตำรวจจึงมาพร้อมกับความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องตลอดเวลา และเมื่อถูกฟ้องร้อง คนจะมีฐานคติเชื่อว่า ถ้าตำรวจไม่เลวจริง คนไม่กล้าสู้ตำรวจหรอก ซึ่งความจริงอาจจะไม่ใช่ เช่นกรณีผมเอง เคยถูกทนายฟ้องเป็นคดีอาญา แต่โชคดีที่ศาลท่านเมตตาพิจารณาหลักฐานโดยรอบคอบตั้งแต่แรก จึงไม่ประทับฟ้องในทันที หากประทับฟ้อง ผมก็จะลำบากอย่างแสนสาหัส
ปัจจุบัน มีคดีเกิด ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คดีต่อปี มีสถานีตำรวจราว ๑๖๐๐ แห่ง และมีพนักงานสอบสวนประมาณ ๑๐๐๐๐ คน ทั่่วประเทศ และพนักงานสอบสวนเหล่านี้ เมื่อเฉลี่ยแต่ละสถานี จะมีเพียงไม่กี่คน จึงทำให้คนเหล่านี้ ไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียง เสียสุขภาพ และแก่เร็วกว่าปกติ หน้าที่ร้อยเวร ไม่ใช่เพียงการรวมเอกสาร แต่จะต้องประสานงานกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม การเจรจาไกล่เกลี่ย ฯลฯ ตลอดจนการสืบสวนรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ การไปศาลแต่ละครั้ง จึงอยากให้ศาลช่วยลงมาช่วยเหลือสั่งให้ตรงเวลา เพื่อให้ร้อยเวรที่มีการบ้าน จะได้เดินทางกลับไปทำงานยังสถานีตำรวจที่ห่างไกลออกไปอย่างมาก
ส่วนปัญหาที่สำคัญ ในการทำงานของตำรวจ ไม่ว่าจะคดี เชอรี่แอน ฯ คดีทนายสมชายฯ คดีอื่น ๆ เช่น การข่มขืนบนรถไฟ รวมถึงคดีเกาะเต่า ผมเห็นว่า เกิดปัญหาหลายสาเหตุ เช่น แรงกดดันทางสังคม ทัศนคติในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการขาดแคลนเครื่องมือและกฎหมายในการดักรับข้อมูล หรือเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้การปฏิบัติงานคุ้มครองเหงื่อ และผู้ต้องหา กระทำได้ยาก หรือบางครั้งกระทำไม่ได้เลย จึงควรมีการพิจารณาแก้ไขปัญหากฎหมายต่าง ๆ ให้เหมาะสมและสามารถคุ้มครองทั้งเหยื่อและผู้กระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คดีที่กล่าวมานั้นน่าเสียใจมาก แต่ที่น่าเสียใจกว่านั้น ก็คือ เมื่อคดีอยู่ในอำนาจ ผู้กระทำผิดอยู่ในอำนาจของศาล แต่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมกลับปล่อยให้ขาดอายุความ ตัวอย่างเช่น คดีที่เคยเกิดขึ้นที่ขอนแก่น เป็นคดีเช็คฯ จำเลยในคดีนี้ ต้องคำพิพากษาให้จำคุกที่เรือนจำบางขวาง เมื่อคดีเช็คสอบสวนเสร็จ ก็ส่งสำนวนให้อัยการที่ขอนแก่ พนักงานอัยการก็พยายามฟ้องที่ขอนแก่น แต่ศาลไม่รับเพราะไม่มีตัวจำเลย พนักงานอัยการก็พยายามฟ้องที่ศาลซึ่งจำเลยถูกขังอยู่ ศาลที่กรุงเทพฯ ไม่รับเนื่องจากพยานหลักฐานอยู่ที่ขอนแก่น ไม่สะดวก ตำรวจและอัยการพยายายามขอให้ศาลสั่งเบิกตัวจำเลยไปยังขอนแก่น ศาลปฏิเสธที่จะดำเนินการ จนคดีขาดอายุความไป เช่นนี้ หากเราเป็นผู้เสียหาย เราจะเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก และไม่เชื่อถืออีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ มีความพยายามที่จะนำเข้าที่ประชุมของผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมไทย แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว คดีนี้ ยิ่งน่าเศร้ากว่าคดีที่กล่าวมาข้างบนเสียอีก
....
สุดท้าย ขอให้ศาล เมื่อเจอข้อบกพร่องของพนักงานสอบสวน หรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดีของตำรวจ ขอให้อบรมสั่งสอน อย่าเพียงดุด่า เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะต้องสอนและแนะนำให้ทำให้ถูกต้อง เพราะ การสอนดังกล่าว ก็จะเท่ากับเป็นช่วยเหลือกระบวนการยุติธรรมให้ถูกต้องเป็นธรรมนั่นเอง
ผมเชื่อว่า หากพวกเราทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับหลักจริยธรรม ไม่มีอคติทางการเมือง แต่ยึดหลักความถูกต้องทางกฎหมาย และจริยธรรมแห่งความเป็นธรรม ถูกต้องแล้ว เราจะนอนตาหลับ และเมื่อตื่นมา มองหน้าในกระจก ก็กล้าจะสบตาตนเองได้"
หมายเหตุ : สถาบันพัฒนาข้าราชการตุลาการเชิญ ผบ.ตร. และ ตร. ได้มอบหมาย ให้ร่วมเข้าร่วมเป็นวิทยากร