PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จีนในมุมมองของไทม์ โดย : ดร.ไสว บุญมา



28082558 จีนในมุมมองของไทม์ โดย : ดร.ไสว บุญมา
จีนเป็นข่าวพาดหัวต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ขณะที่เขียนบทความนี้เมื่อค่ำวันอังคาร
เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ได้แก่ จีนลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และดัชนีตลาดหุ้นนครเซี่ยงไฮ้ลดลงมาอีกร้อยละ 7.6 หลังจากเพิ่งลดเมื่อวันจันทร์ร้อยละ 8.5 ทันทีที่เปิดทำการ ตลาดหุ้นในยุโรปต่างพากันพุ่งขึ้นต้อนรับข่าว ผู้มีบทบาทในตลาดเหล่านั้นคงมองกันว่า การลดดอกเบี้ยของจีน จะมีผลดีเกินผลเสียอันเกิดจากปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นนครเซี่ยงไฮ้ ลดลงมากสองวันติดต่อกัน ทั้งที่การลดลงเมื่อวันจันทร์เพิ่งส่งผลให้ดัชนีของตลาดหุ้นใหญ่ๆ ติดลบกันอย่างทั่วถึง ส่วนตลาดหุ้นในนครนิวยอร์กเปิดเป็นบวกแต่ปิดติดลบ ท่ามกลางความผันผวนที่ทำให้โลกดูป่วนปั่นอย่างกว้างขวางนี้ นิตยสารไทม์ประจำวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งพิมพ์ออกมาล่วงหน้าหลายวัน เสนอบทวิเคราะห์จีนขนาดยาว หลังจากนั้น นิตยสารนำการอ่านเหตุการณ์รายวันมาเสนอเพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ต มุมมองของไทม์น่าพิจารณา จึงขอนำมาเล่าต่อ
ไทม์แยกมองจีนเป็นสองส่วน นั่นคือ ในระยะสั้นและในระยะยาว ในระยะสั้น นิตยสารสรุปว่า จีนจะไม่มีปัญหาร้ายแรงมากถึงขนาดควบคุมไม่ได้ ไทม์อ้าง 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ เงินสำรองกองมหึมา และกลไกที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้ทันทีหากมีความจำเป็น
ในขณะนี้จีนมีเงินสำรองในรูปของเงินตราต่างประเทศถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าของญี่ปุ่นเกิน 2 เท่า จีนสามารถใช้เงินสำรองกองมหึมานั้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้ หรือจะใช้ลงทุนในต่างประเทศก็ได้เช่นกัน จากมุมมองของการขยายตัว แม้อัตราจะลดลงมามาก แต่เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวในอัตราราวร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่าของประเทศทั่วโลก การขยายตัวในอัตรานั้น ได้ทำให้ขนาดเศรษฐกิจจีนแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว หากวัดตามความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อ (purchasing power parity) ขนาดที่ใหญ่ และอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าของชาวโลก เศรษฐกิจจีนจะเป็นหัวจักรหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เดินไปข้างหน้าต่อไป นั่นหมายความว่าจีนจะมีอิทธิพลมากขึ้น
มหาอำนาจต่างๆ ทั้งที่เป็นมิตรและปฏิปักษ์ของสหรัฐ มองเห็นภาพดังกล่าว จึงต่างแสดงความเป็นมิตรต่อจีน ทั้งที่สหรัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วย อังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรสนิทของสหรัฐมานานและเยอรมนี จึงเข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Asia Infrastructure Development Bank) ที่จีนเป็นหัวจักรใหญ่ในการก่อตั้ง ส่วนรัสเซียซึ่งกำลังมีปัญหาสาหัสกับประเทศยุโรปตะวันตก ก็หันมาพึ่งตลาดจีนมากขึ้น ในขณะที่อินเดียซึ่งมีประชากรขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับจีน ยังขยายตัวได้ไม่เร็วนัก ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียเป็นเพียงราว 1 ใน 3 ของจีนเท่านั้น
สำหรับในด้านกลไก ไทม์มองว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน สามารถรวบอำนาจไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความจำเป็น เขาจะสามารถใช้อำนาจนั้นสานต่อสิ่งต่างๆ ได้ รวมทั้งการขับเคลื่อนการค้ากับการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเสริมบทบาทของจีนในสังคมโลกให้สูงขึ้นอีก
สหรัฐเข้าใจสภาวการณ์นี้ดี และพยายามที่จะคงไว้ซึ่งอิทธิพลของตนเอง แต่ก็ทำไม่ได้ถนัดนัก เนื่องจากปัญหาใหญ่ๆ ในภาคอื่นของโลกที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในย่านตะวันออกกลาง แม้ไทม์จะมิได้เขียนออกมา แต่บทความตอนนี้อาจตีความหมายได้ว่า สหรัฐกำลังตกอยู่ในสภาพหมาหัวเน่า
สำหรับในระยะยาว จีนจะต้องเผชิญกับปัจจัยในทางลบหลายอย่าง ฉะนั้น จีนจะสามารถขยายบทบาทต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายที่จะใช้กับปัจจัยเหล่านั้น ปัจจัยแรกได้แก่พฤติกรรมตอบสนองของชาวจีน ต่ออิสรภาพที่ตนได้รับเมื่อรัฐเปิดโอกาสให้มีบทบาทมากขึ้น ความผันผวนสูงของตลาดหลักทรัพย์ และค่าเงินพร้อมกับความกดดันในด้านอื่น อาจทำให้ชาวจีนตัดสินใจทำอะไรที่ก่อให้เกิดอุปสรรคใหญ่หลวง จนการพัฒนาเดินหน้าต่อไปไม่ได้
ประการที่สอง นโยบายที่จำกัดให้ครอบครัวจีนมีลูกได้คนเดียว กำลังส่งผลให้อัตราชาวจีนสูงวัยเพิ่มขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรป กำลังเผชิญกับปัญหานี้ แต่พวกเขามีข้อได้เปรียบจีน ตรงที่ตอนนี้เศรษฐกิจของพวกเขาก้าวหน้า และพวกเขาร่ำรวยกว่าจีน เมื่อจีนเริ่มมีประชากรสูงวัยในอัตราสูง จนสูญความได้เปรียบในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน จีนจะยังไม่ร่ำรวยในระดับเดียวกับประเทศเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน สหรัฐร่ำรวยกว่า แต่ไม่เผชิญปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของประชากรเช่นเดียวกับจีน ฉะนั้น ในระยะยาว สหรัฐจะได้เปรียบจีนในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน
ปัจจัยที่สาม เท่าที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ในบรรดาเมืองขนาดใหญ่ของจีน 500 เมือง ไม่กี่เมืองมีสภาพอากาศดีพอ ที่จะใช้หายใจได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แหล่งน้ำบนดินราวหนึ่งในสาม และแหล่งใต้ดินราวร้อยละ 60 สกปรกจนใช้อาบกินไม่ได้ แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไร้ผล การระเบิดของคลังสินค้าที่นครเทียนจิน แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของการควบคุมสารอันตราย
โดยรวม ไทม์มองว่า ในช่วงนี้จีนมีบทบาทสูงจนเรียกได้ว่าเป็น “ทศวรรษของจีน” (The China Decade) แต่มิได้ฟันธงลงไปว่า ทศวรรษของจีนจะจบลงอย่างไร ทั้งนี้ เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาตอบสนองของสหรัฐต่อบทบาทของจีน ไทม์มองว่า ถ้าสหรัฐแสดงความเป็นปฏิปักษ์ออกมา จนจีนไม่สามารถพัฒนาต่อไปตามความปรารถนาอย่างราบราบรื่นได้ โลกจะตกอยู่ในภาวะอันตราย สูงกว่าในกรณีที่จีนพัฒนาได้อย่างราบรื่น แม้จีนจะเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นของสหรัฐก็ตาม
มุมมองของไทม์ชวนให้เกิดคำถาม ผู้นำสหรัฐคนต่อๆ ไปจะฉลาดแค่ไหนหนอ?

ผบทบ. เตือน อย่าตกใจ ตั้ง คปป. เชื่อเป็นเจตนาดีของกมธ.ยกร่างฯ

ผบทบ. เตือน อย่าตกใจ ตั้ง คปป. เชื่อเป็นเจตนาดีของกมธ.ยกร่างฯ แจง 2 พรรคใหญ่ต้าน ร่าง รธน. ให้เป็นหน้าที่ของ สปช.ที่จะพิจารณา ขอบคุณ สปช.ผ่านงบฯ 59 ระบุงบฯกองทัพบก ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ส่วนการปรับเปลี่ยนยุทธโธปกรณ์ เพื่อให้มีศักยภาพทัดเทียบนานาประเทศในประชาคมอาเซียน น่าเกรงขาม
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมว.กลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึง กรณี 2 พรรคการเมืองใหญ่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)นั้น ว่า เป็นเรื่องของสปช.ที่จะต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาเรื่องนี้ว่าจะเหมาะสมอย่างไร ส่วนตนเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ไม่สามารถชี้นำก้าวล่วงได้ แต่คิดว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามที่จะนำปัญหาเดิมที่มีอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไปให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด แต่แนวความคิดและเหตุผลอาจจะต้องดูรายละเอียดกันอีกครั้ง ขอให้สปช.และส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ส่วนตนก็จะติดตามดูเช่นกัน
ส่วนที่นักการเมืองพยายามเรียกร้องให้ คสช.เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นนั้น พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ก็คงพยายามที่จะให้โอกาสอยู่แล้ว และจะดูต่อไปว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะให้ประชาชนรับรู้มากยิ่งขึ้น แต่วิธีการจะดำเนินการอย่างไร ถ้าดูแล้วไม่มีปัญหาเรื่องการก่อความไม่เรียบร้อย ก็คงจะพิจารณาและให้ดำเนินการต่อไป ตนอยากจะสนับสนุนแต่ก็คงต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ในหลักการการสร้างความรับรู้เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้เน้นย้ำเสมอ และปัจจุบันอยากให้ประชาชนส่วนต่างๆ รับรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องนี้ด้วย
ต่อข้อถามว่ามีหลายฝ่ายเห็นว่าการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรองดองและการปฎิรูปแห่งชาติ (คปป.) เป็นอำนาจที่ซ้ำซ้อน พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้ให้ความเห็นแล้วว่าร่างตรงนี้ทำมาเพื่ออะไร บางทีอาจตกใจกันเกินไป แต่ก็เป็นเรื่องความคิดเห็น ซึ่งเราก็ต้องพยายามฟัง ตนเห็นว่าบางครั้งก็ไม่ฟังเหตุผลกัน เมื่อมีการคิดก็พูดออกมา ที่ผ่านมาเราเปิดโอกาสให้หลายส่วนเข้ามาชี้แจงในรายการต่างๆ ของคสช. ขอให้รับฟังกันตรงกัน ถ้ารับไม่ได้ก็เป็นเรื่องการพิจารณาของสปช.ต่อไป
เมื่อถามว่า การลตั้ง คปป.ถือว่าเป็นเจตนาดีของผู้ร่างใช่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเช่นนั้น อย่าไปมองว่าจะแฝงอำนาจเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าพัฒนาทุกด้าน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ สปช.จะพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
รมช.กลาโหม กล่าวถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ผ่านวาระ 3 ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาทว่า ในส่วนของกองทัพบกไม่น่าจะมีอะไร ทาง สนช.มีการปรับบ้างเล็กน้อย แต่เป็นที่น่ายินดีว่าโดยภาพรวมก็ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมมาเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้งบประมาณส่วนใหญ่ของกองทัพบกเป็นงบประมาณด้านกำลังพล เพราะจะต้องดูแลค่าใช้จ่ายให้กำลังพล ทั้งเรื่องเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ประมาณเกือบ 60% ส่วนเรื่องภารกิจและงานพัฒนาอื่นๆ ทางกองทัพบกจะต้องจัดสรรงบประมาณโดยการปรับเปลี่ยนยุทโธปกรณ์ต่างๆ อาจมีบ้าง แต่ไม่มากนัก เราพยายามคงสภาพเพื่อให้ศักยภาพกองทัพบกไม่ลดน้อยลงในสายตาของมิตรประเทศ บางครั้งประชาชนอาจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสริมสร้างยุทโธปกรณ์บางอย่าง ขอชี้แจงว่าทุกอย่างล้วนมีความจำเป็นในศักยภาพ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปทำการรบ แต่เรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นศักยภาพและสิ่งต่างๆ ต้องเกื้อกูลการดำรงอยู่ด้วยกัน มีความทัดเทียมกัน
“ขณะนี้มิตรประเทศหลายประเทศ มีความก้าวหน้าในส่วนนี้มาก แต่ของไทยถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี ไม่ว่าจะกองทัพใดก็ต้องพยายาม ขอให้ประชาชนสบายใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็น ไม่มีใครอยากนำงบประมาณไปใช้สุรุ่ยสุร่ายหรือจับจ่ายใช้สอยในทางที่ไม่เหมาะสม ทุกคนมีความระมัดระวังและระลึกเสมอว่าจะต้องทำให้ประเทศอยู่ในภาพลักษณ์ที่ดีมีความน่าเกรงขามในระดับที่เป็นที่ยอมรับ มีการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นสากลทุกเรื่องตามนโยบายนายกรัฐมนตรี แม้ว่าอาจจะถูกปรับลดบางหมวด แต่ก็ต้องขอบคุณสนช. และคณะกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ กองทัพบกสามารถดำเนินการได้ตามงบประมาณที่ได้รับ”

กมธ.ร่างรธน. ตั้ง4คำถามให้นักการเมืองค้านร่างรธน.ตอบ

Chaiwat Suravichai

28082558 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาอธิบายความ มีหมอชูชัย คุณคำนูญ พลเอกเลิศรัตน์ ดร.จรัส และดร.เอนก ฯ โปรดอ่าน
กมธ.ร่างรธน. ตั้ง4คำถามให้นักการเมืองค้านร่างรธน.ตอบ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กมธ.ร่างรธน. ตั้ง4คำถามให้นักการเมืองค้านร่างรธน.ตอบ
ปมสานต่อปฏิรูป-การแก้ปัญหา-ยอมรับผลประชามติหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเปิดเวทีของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พบสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นที่เกี่ยวข้อง เป็นวันสาม
@ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่หก
ได้ตั้งคำถามไปยังนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวโจมตีร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบว่า
ตนขอตั้งคำถามกลับไปยังนักการเมืองและขอให้ชี้แจงหรือตอบคำถามด้วย
1. หากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรมนูญฉบับปฏิรูป ซึ่งมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ทำหน้าที่ติดตามงานปฏิรูปและแก้วิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมือง จะถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยหรือไม่,
2.ก่อนการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ยอมรับหรือไม่ว่าวิกฤตบ้านเมืองที่เกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มหนึ่งพยายามผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นประชาธิปไตยหรือไม่,
3.รัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 ได้ปฏิรูปในเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องใดบ้าง ขอให้ยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว
อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าวตนในฐานะคณะกรรมการติดตามการปฏิรูปตามมติของสมัชชาการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน และนพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน
ได้ติดตามงานปฏิรูปที่ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ ไม่ปรากฎว่าครม.จะนำประเด็นปฏิรูปเข้าที่ประชุมครม. แม้เพียงวาระรับทราบ
ดังนั้นกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญมีกลไกพิเศษเพื่อทำหน้าที่กำกับการปฏิรูป เพื่อเป็นหลักประกันว่าการปฏิรูปจะได้รับการปฏิบัติ ถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยกว่าที่ผ่านมา และ
4.ร่างรัฐธรมนูญฉบับปฏิรูปมีกลไกที่กำกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐไปในทางที่ไม่รับผิดชอบ ด้วยการกำหนดให้การแปรญัตติปรับลดงบประมาณห้ามไปใช้เพื่อเป็นงบของส.ส.ถือเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เคยเป็นหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีซักถามมีประเด็นเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
ต่อประเด็นกลไกการเสริมสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้ง และให้อำนาจสั่งการในการดำเนินการระงับความขัดแย้งหรือรุนแรงที่เป็นการขัดขวางการปฏิรูป ซึ่งเป็นบทบัญญัติในมาตรา 261 (4) และ (5)จะมีหลักประกันว่าจะไม่เลือกปฏิบัติหรือแบ่งขั้นทางการเมือง
@ โดยกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ช่วยตอบคำถามดังกล่าว ได้แก่
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า
เป็นความพยายามของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการตอบโจทย์ดังกล่าว
ด้วยการกำหนดกลไกหรือเครื่องมือที่ควบคู่กับระบอบการเมืองปกติ
ส่วนหลักประกันของกลไกจะสร้างความปรองดองได้จริง
ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนทุกฝ่ายที่เป็นตัวละครของความขัดแย้ง
ทั้งนี้ยอมรับว่าการปฏิรูปที่มีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
และพรรคการเมืองไม่ทำ
เนื่องจากกระทบต่อฐานคะแนนเสียง
การปรองดองยากจะทำ
เพราะพรรคการเมืองมีจุดยืนของตนเอง
รวมถึงมีมวลชนของตนเองที่ต้องรักษาไว้
ดังนั้นกลไกของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เสมือนเป็นผู้ช่วยรัฐบาล
ในการดำเนินการปฏิรูปเรื่องยาก ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องบริหารของรัฐบาล

@ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษา และโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่มีวาระทำงาน 5 ปี
โดยเริ่มนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจะมีระยะปฏิบัติงานคือช่วง 1 รัฐบาลเท่านั้น อย่าลืมว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
อาทิ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีกลาโหม
หากนายกฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมก็จะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง
ดังนั้นคาดหวังว่ากรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะทำงานเพื่อบ้านเมือง
"ผมไม่อยากให้มองในแง่เลวร้าย หรือแง่ลบว่าจะห้ำหั่นหรือควบคุมกัน
เพราะจะไม่ทำให้บ้านเมืองขับเคลื่อนหรือเดินหน้าไปได้
ผมขอให้มองในแง่ดี ในกรณีที่จะมีกลไกช่วยรัฐบาลในการปฏิรูป
ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเคยบทบัญญัติใดกำหนดไว้
ซึ่งการปฏิรูปเป็นเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาและอนาคต
ดังนั้นอย่าไปมองเรื่องการทะเลาะ หรือแย่งกันทำงาน
ควรมองในสิ่งที่ดี ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่บริหารบ้านเมืองทุกวันนี้
เขาหวังให้ประเทศเดินไปด้วยดี หากคนเหล่านี้จะมีส่วนในการดูแลการปฏิรูปประเทศต่อไป จ
ะไปทำให้ประเทศเสียหาย หรือจะรบราฆ่าฟันกับรัฐบาลใหม่ทำไม
ซึ่งคณะทหารที่เข้ามากี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็กลับไปบ้านทั้งนั้น" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
@ นายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงด้วยว่า
อำนาจในมาตรา 261 (4) และ (5) เป็นอำนาจในการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ
เนื่องจากเป็นวาระที่เสี่ยงที่รัฐบาลหรือใครที่เข้ามาจากการเลือกตั้งรับไปทำทั้งหมด
อย่างน้อยในช่วง 5 ปีแรก จึงต้องมีกลไกในการกำกับไว้
แต่หากช่วงเวลาดังกล่าวคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ใช้อำนาจเกินความจำเป็น
หรือใช้อำนาจที่ไม่เกี่ยวกับการผลักดันปฏิรูป ต้องถูกตรวจสอบผ่านทางศาลและรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ากรณีที่กลุ่มที่มีความคิดตรงข้ามรัฐบาลหรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และดำเนินการเคลื่อนไหว เช่น ตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง หรือโรงเรียนประชาธิปไตย อำนาจที่กำหนดไว้ตาม มาตรา 261 จะใช้ดำเนินการได้หรือไม่
/@ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า
รัฐธรรมนูญไม่ใช่Hand Book ที่จะตอบอะไรได้ทั้งหมด
หน้าที่และความรับผิดชอบของนักการเมืองยังมีและต้องทำงานให้ดี ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐธรรมนูญจัดการทั้งหมด
กรณีที่ถูกตั้งคำถามนั้นต้องสอบถามนักการเมืองด้วยเช่นกัน ว่ากรณีที่กลัวถูกคณะใดข่มเหง หากนักการเมืองทำดี จะเป็นพลังสนับสนุน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่กล้าทำอะไร
ดังนั้นอย่าคิดประเด็นในทางขวา หรือ ดำ
ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ยกร่างด้วยการคิดประเด็นใดล่วงหน้า
หรือจัดการได้ทั้งหมด หรือทุกเรื่อง ขณะที่เนื้อหาในร่างรัฐธรมนูญไม่ได้ปิดกั้นพรรคการเมืองใด

ร่างรธน.! ..ตอบโจทย์10เงื่อนไขรธน.(ชั่วคราว)มาตรา35


28082558 ดอนบวรศักดิ์ ค่อนข้างจะโมเม อ้างว่า ร่างรธน.ตอบโจทย์ ตามรธน.ชั่วคราว ม.35
ร่างรธน.! ..ตอบโจทย์10เงื่อนไขรธน.(ชั่วคราว)มาตรา35
ความเห็นฉันท์สหาย
1. รายการเหมาเข่งพูดคนเดียวของกมธ.ยกร่างและดอนบวรศักดิ์ ที่พูดเป็นวันที่ 3
นอกจากจะค่อนข้างโมเม ว่า ได้ตอบโจทย์ การปฏิรูปแล้ว
ประชาชนไทยและชาวบ้านสบายแล้ว ต่อไปนี้
จะได้มีสิทธิเสรีภาพ ได้รับความเป็นธรรม
และมีความเสมอภาคกันเต็มที่แล้ว
จริงฤา สหาย
ถามง่ายๆ หากรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ได้ตอบโจทย์ การแก้วิกฤตของสังคมไทยได้จริง
แล้ว ทำไมต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อยู่ต่อ อีก 5 ปี
2. ความเป็นสุภาพบุรุษนักวิชาการที่ดีที่ถูกที่ควร
ควรจะให้สปช. คณะอื่นๆอีกกว่า 200 คน ได้แสดงความเห็นบ้าง
โดยคณะปฏิรูปการเมือง ที่ถือหัวรถจักรในการขับเคลื่อนการปฏิรูป
แต่กลับเล่นบท " ช่างขอโทษ " เพียงรูปแบบ แต่ขาดความจริงใจ
แสดงว่า "รักสาว " ไม่จริง หรือ ไม่ชอบสาว
และต้องหัดใจกว้างบ้าง รับฟังข้อทักท้วงจากดร.สมบัติ และ อ.ธีรยุทธ บ้าง
เขามีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และเคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยโดยเอาชีวิตเข้าแลกมาแล้ว
ขณะที่อาจารย์ไม่เคย จ้ะ
3. ควรอย่างยิ่งที่จะต้องพูดข้อท้วงติงของสปช. และต้องหาทางแก้ไข
๑. การที่รัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่าสมบูรณ์ แก้ไม่ได้แล้ว แต่ขาด " คำปรารภ " ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ
๒. การใช้สิทธ ไปลงคะแนน รับไม่รับร่างรธน.6 กันยายน 2558 นี้ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
เอาแค่นี้ก่อน ที่รัก,
..........................
โดย : ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 กำหนดโจทย์ให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ”
ต้องดำเนินการครอบคลุม 10 เรื่อง และประเด็นพิเศษอีก 1 เรื่อง คือ การประเมินการมีอยู่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และมาตรการตรวจวัดประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลขององค์กร ล่าสุดเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ที่เสนอให้ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ได้เผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ซึ่งได้เขียนบทบัญญัติใหม่ที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ครอบคลุมใน 10 โจทย์ คือ
1.การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
จากบทบัญญัติในมาตรา 1 กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ มีส่วนที่เชื่อมโยงการที่เป็นกลไกเพื่อเป็นหลักไม่ให้ราชอาณาจักรหนึ่งเดียวถูกแบ่งแยก ในมาตรา 268 ในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า “การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้”
2.การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
คำว่า การปกครองฯ ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย “กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ให้นิยามไว้ว่า เป็นลักษณะการปกครองไทยที่ได้สถาปนามาตั้งแต่ พ.ศ.2475 คือรากฐานของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล และการปกครองนั้นต้องดำรงไว้ซึ่งประเพณีการปกครอง ซึ่งการปกครองที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยไม่มีสิ่งใดที่ตายตัว ทั้งนี้ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ขยายความไว้ว่า สิ่งที่เหมาะสม คือการไม่มีความขัดแย้ง การชุมนุมที่ทำให้คนต้องเสียชีวิต หรือการรัฐประหาร รวมถึงการบริหารโดยรัฐบาลต้องได้รับการยอมรับจากสากล
ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญมีมาตราที่เกี่ยวโยง อาทิ มาตรา 7 วรรคสอง ที่ให้อำนาจ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เมื่อเกิดการกระทำที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยเป็นบทบัญญัติใหม่เพื่อแก้ไขประเด็นทางการเมืองที่เป็นปัญหา เช่น การขอนายกฯพระราชทาน เป็นต้น
มาตรา 165 ว่าด้วยให้มีบุคคลที่ไม่เป็น ส.ส.ได้รับเลือกจากสภาเป็นนายกฯ เพื่อแก้ปัญหากรณีการไม่ยอมรับในตัวนักการเมือง และมาตรา 138 วรรคสอง กำหนดให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการสามัญคณะสำคัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้
3.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน
มาตรา 28 ว่าด้วยหน้าที่ของประชาชนชาวไทย ใน (5) กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ป้องกัน ปฏิเสธ และต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ พร้อมกำหนดรายละเอียดที่เป็นส่วนขยายความไว้ในบทบัญญัติส่วนของการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของชนชาวไทย มาตรา 69-72 ที่มีสาระสำคัญกำหนดให้บุคคลและกลุ่มบุคคลมีสิทธิเฝ้าระวังติดตามและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ในด้านการดำเนินงาน การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
รวมทั้งโยงหลักประกันของการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐ ในมาตรา 48 วรรคท้าย ที่กำหนดให้รัฐเปิดเผยการจัดสรรงบประมาณที่ซื้อโฆษณาหรือบริหารอื่นจากสื่อมวลชน และมีขอบเขตของการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่นักการเมืองใช้งบประมาณของรัฐเพื่อทำโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตนเองเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตนเองหรือพรรคการเมืองอย่างไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง
4.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันละตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
มาตรา 108 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามบุคคลที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ใน (4) ซึ่งมีบทบัญญัติใหม่ที่ว่า “หลบหนีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือหลบหนีคดีที่มีโทษตามคำพิพากษา หรือกระทำการดังกล่าวจนขาดอายุความดำเนินคดีหรืออายุความลงโทษ” และ (14) ซึ่งมีบทบัญญัติใหม่ที่ว่า “ห้ามบุคคลที่ถูกถอดถอนเพราะส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ทั้งนี้ บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี
5.กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 76 มีบทกำหนดที่ให้พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคต้องปฏิบัติ ในสาระสำคัญ คือ การดำเนินกิจการของพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับของพรรคการเมือง มีการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค โดยไม่ยอมให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดครอบงำหรือชี้นำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อประมวลจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรม สำหรับการรับบริจาคการใช้จ่ายเงินเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ส.ต้องอยู่ในความควบคุมและรับผิดชอบโดยกรรมการบริหารพรรคการเมืองและตามกฎหมาย ส่วนการมีมติพรรคในเรื่องใดๆ ทำได้โดยที่ประชุม ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น
ทั้งนี้ ยังมีบทบัญญัติว่าด้วยการวางระบบการเมืองให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในมาตรา 73-75 พร้อมกำหนดบทลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง มีสิทธิถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
มาตรา 197 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ให้การคุ้มครองข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
มาตรา 233 ว่าด้วยข้อกำหนดห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการที่ขัดต่อบทบาทและตำแหน่ง รวมถึงห้ามกำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎซึ่งเอื้อต่อประโยชน์กิจการของตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดามีส่วนได้เสีย ขณะที่ข้อกำหนดที่ห้ามนายกฯ หรือรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวกาย ได้เขียนเงื่อนไขที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คือการแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ, การแต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง, การให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่พ้นจากตำแหน่งและการแต่งตั้งและการให้กรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่เป็นการทำหน้าที่ตามนโยบาย ทั้งนี้ต้องกำกับไม่ให้คู่สมรสหรือบุตรหรือบุคคลในพรรคการเมืองของนายกฯ หรือรัฐมนตรีดำเนินการด้วย
6.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมและการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ
ในส่วนการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ส.ว. ที่เกี่ยวเนื่องกัน กำหนดให้ไว้ในบทว่าด้วยการสิ้นสมาชิกภาพ ที่กำหนดว่า ขาดประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องการได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภา, การไม่ลงมติในที่ประชุมสภาเกินที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา เพื่อเป็นมาตรการกำกับการทำงานของ ส.ส ส.ว. ในหน้าที่หลักคือการเข้าประชุม
กำหนดบทว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน ให้มีระบบแต่งตั้งข้าราชการพลเมืองด้วยระบบคุณธรรมและใช้ความเป็นกลางทางการเมือง ภายใต้คณะกรรมการดำเนินงานแต่งตั้ง
ในบทว่าด้วยกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น มาตรา 200 กำหนดให้องค์การบริหารท้องถิ่นบริหารงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างความเป็นอิสระและมีมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน และบทที่เกี่ยวข้องนั้นให้สิทธิประชาชนหรือชุมชนร่วมตรวจสอบการดำเนินงาน ถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น และให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายงานผลการดำเนินงาน และรายงานงบการเงินมาบังคับใช้กับองค์กรบริหารท้องถิ่นด้วย ส่วนการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรบริหารท้องถิ่น ให้ยึดหลักระบบคุณธรรมภายใต้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในการบริหารท้องถิ่นและคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น
มาตรา 206 วรรคสาม กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม คู่ความ คู่กรณี และทนายความต้องให้ความร่วมมือกับศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ล่าช้า หากพบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกำหนดให้ต้องรับผิดตามกฎหมาย พร้อมวางหลักให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมต้องเที่ยงธรรม ไม่มีอคติ ไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องทำตามกฎหมาย รวมถึงรัฐธรรมนูญ
7.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
มาตรา 189 ในหมวดการคลังและการงบประมาณ วรรคสอง กำหนดให้มาตรการป้องกันนโยบายที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว โครงการ นโยบาย มาตรการที่จะอนุมัติต้องจัดทำการวิเคราะห์ภาระงบประมาณและภาระทางการคลัง ทั้งระยะสั้น ระยะยาว รวมถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยต้องระบุปริมาณและแหล่งที่มาของเงินในการสนับสนุนดำเนินโยบายดังกล่าว ซึ่งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกันในมาตรา 195 ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันวิญญูชน คือบุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบ พึงเห็นได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง และส่งสำนวนยื่นฟ้องศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณพิจารณาวินิจฉัยให้ยุติการกระทำได้ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้มีการทำนโยบายของพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
8.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
กำหนดไว้ในมาตรา 70–71 ในบทว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของชนชาวไทย กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ องค์การภาคเอกชน อาค์การภาคประชาสังคม หรือองค์กรใด ที่ใช้เงินแผ่นดิน เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อสาธารณะเพื่อให้บุคคลติดตามตรวจสอบ ยกเว้นข้อมูลเรื่องความมั่นคงของรัฐหรือข้อมูลตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามเปิดเผย และกำหนดให้บุคคลมีสิทธิติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ การรับบริจาคและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับ และในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินของบุคคลที่มีธุรกรรมกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีส่วนร่วมในการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
9.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐจะได้วางไว้
มาตรา 77 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตรากฎหมาย กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และจัดทำนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งมีบทบัญญัติกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุน, จัดระบบ, ดำเนินนโยบายที่ยึดหลักการของการเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และจัดบริการสาธารณะ สร้างความมั่นคง รวมถึงพัฒนาในประเด็นสำคัญต่างๆ
บทบัญญัติที่ว่าด้วยการทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รวมถึงกฎหมายอื่นที่จำเป็น มาตรา 276 ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ยกร่าง และเสนอให้ สภานิติบัญญัติ โดยเขียนให้นำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปประกอบการจัดทำและวินิจฉัยกฎหมายฉบับนั้นๆด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มาตรการปฏิรูปหรือปรับปรุงระบบโครงสร้างและบริหารซึ่งเป็นหลักการสำคัญถูกสานต่อโดยอาศัยบทบังคับจากรัฐธรรมนูญ ขณะที่การทำกฎหมายโดยรัฐสภา ได้กำหนดบทควบคุมการตรากฎหมาย ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
10.กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป
มาตรา 259 กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ทำหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปต่อเนื่องจากหน่วยงานที่ดำเนินการ หรือทำแผนมาแล้ว เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ หน่วยงาน อื่นๆ ของรัฐ เพื่อพัฒนาประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม
มีบทว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ ในประเด็นสำคัญ เช่น กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, การบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา, การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม
ขณะที่ประเด็นพิเศษที่ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาถึงความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และมาตรการที่ให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
มาตรา 75 กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติเพื่อประเมินผลองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และองค์กรอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ