PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"Right is Might" หรือ "Might is Right" 2 มุมมอง ในรั้ว ม.สยาม

"Right is Might" หรือ "Might is Right" 2 มุมมอง ในรั้ว ม.สยาม จะสอนวิชากฎหมายอย่างไร หาก กปปส.ได้ชัย?

"นายกฯปูประกาศยุบสภา" เป็นผลพวงที่เกิดจากเสียงนกหวีดที่ดังกึกก้องยาวนานต่อเนื่องของมวลมหาประชาชนที่กดดันให้รัฐบาลต้องประกาศใช้สิทธิอำนาจในขั้นตอนสุดท้ายในการคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง นับว่าเป็นการชุมนุมของม็อบ "นกหวีด" ที่ประสบผลสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่ง

แต่ กปปส.ยืนยันว่านี่ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง!!!

ยังคงกดดันให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องลาออกจากการรักษาการ สร้างภาวะ "สุญญากาศ" อันจะนำไปสู่การใช้มาตรา 7 เพื่อขอ "นายกรัฐมนตรีพระราชทาน" และต่อเนื่องไปยังข้อเสนอ "สภาประชาชน" จึงจะนับว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริงของ กปปส.และมวลมหาประชาชน

ท่ามกลางเสียงขัดแย้งกันของนักวิชาการที่ออกมาโต้แย้งกันทางความคิดในเวทีเสวนาชนิดเรียกว่าวันต่อวัน ว่าข้อเสนอและวิธีการที่ กกปส.นำเสนอนั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่ เป็นข้อขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างนำเอาหลักการ เอาแนวความคิดขึ้นมาสนับสนุนขึ้นมาชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนิติศาสตร์ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ต่างถูกหยิบยกขึ้นมาโต้เถียงกันอย่างต่อเนื่องทั้งมาตรา 3 มาตรา 7 และมาตรา 181

เกิดเป็นคำถามว่าหาก กกปส.ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ การเรียนการสอนในด้านนิติศาสตร์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด?

มาฟังความเห็นจากสองอาจารย์กฎหมายที่ได้แสดงจุดยืนที่แตกต่างในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน ระหว่าง เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ กับ เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสยาม ว่าจะมีความเห็นกับคำถามนี้กันอย่างไร

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก
คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม

อย่ามองเรื่องนี้เป็นการแพ้ชนะ แต่มองว่าข้อเสนอทั้งหลายของ กปปส. สามารถที่จะดำเนินการได้ ก็จะต้องมีการอธิบายรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดจึงทำได้ เช่นเดียวกันกับทางรัฐบาลที่ต้องอธิบายว่าเหตุใดจึงกระทำไม่ได้ ถ้าจะยืนยันแต่แค่บทบัญญัติในตัวบทรัฐธรรมนูญมันไม่ครบถ้วนความเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะที่เรียนมารัฐธรรมนูญนั้นมีอะไรที่มากกว่านั้น 

อย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือรัฐบาลได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่สามารถที่จะทูลเกล้าฯขอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.คืนได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ทำได้ แต่รัฐบาลก็ทำไปแล้ว ขอทูลเกล้าฯพระราชทานไปและได้มีการพระราชทานคืนมาแล้ว ทำไมจึงทำได้ นี่เป็นหนึ่งสิ่งที่สามารถนำมาอธิบายโดยรัฐธรรมนูญได้ว่าเพราะอะไรจึงทำได้ 

แต่ไม่ใช่ว่าจะไปทำตาม กปปส. โดยที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งจะส่งผลให้การสอนหนังสือในอนาคตลำบากมาก ดังนั้น กปปส.ต้องอธิบายว่าการกระทำด้วยกรอบของรัฐธรรมนูญอย่างไร ต้องมีความชัดเจนกว่านี้ว่าเป็นอย่างไร มีกลไกการปฏิบัติจริงอย่างไรจึงสามารถนำไปอธิบายต่อได้ ซึ่งผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านี้จะต้องมีการเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนกว่านี้ และอธิบายว่าความเป็นรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นเพียงแค่ถ้อยคำตามตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดูตามหลักของรัฐธรรมนูญ ทำประชาธิปไตยให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นมาตรา 7 จะไม่มีเสียงอะไรเลย

ถามต่อว่าทุกวันนี้ได้ชี้แจงแก่ลูกศิษย์อย่างไร?

อ.เจษฎ์บอกว่า ให้ดูการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดและข้อเสนอต่างๆ ทั้งหมด และมาพิจารณาในสิ่งที่เราเรียนมาว่า การตีความกฎหมายถ้าหากมีถ้อยคำตามบทบัญญัติและถ้อยคำนั้นชัดเจนก็ตีความตามตัวบท แต่ถ้าถ้อยคำตามตัวอักษรไม่มีความชัดเจนเราจะต้องตีความตามเจตนารมณ์ ซึ่งจะอยู่ในส่วนอารัมภบท ก่อนที่จะเข้าสู่มาตรา 1 

"จะบอกกับนักศึกษาเสมอว่าอย่าเพิ่งไปเชื่อ แต่ให้พิจารณาแล้วเอามาดูว่าจะต้องตีความอย่างไร แล้วทุกคนจะพบทางออกของตัวเอง ไม่ใช่ทางออกของ กปปส. ทางออกของรัฐบาล" 

ก่อนที่จะย้ำทิ้งท้ายว่า ถ้าข้อเสนอต่างๆ ของ กปปส.ถูกนำมาใช้ปฏิบัติ ต้องสามารถอธิบายในกรอบของรัฐธรรมนูญให้ได้ เพื่อที่จะนำมาเป็นหลักในการเรียนการสอนในอนาคตต่อไป


ดร.เอกชัย ไชยนุวัติ
รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม

(หัวเราะเล็กน้อยเมื่อฟังคำถามจบ) ข้อเรียกร้องของ กปปส.หรือกลุ่มต่างๆ รัฐบาลจะต้องรับฟัง เพราะในส่วนของสาระเป็นข้อเรียกร้องโดยชอบธรรมตามหลักของสิทธิมนุษยชนที่ต้องรับฟัง 

แต่วิธีการที่ กปปส.เรียกร้องนั้นผิดกฎหมาย และถือว่าเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้เป็นไปในทางประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้า กปปส.ชนะขึ้นมาก็จะต้องใช้คำเป็นภาษาอังกฤษว่า "Might is Right" ซึ่งแปลว่า "อำนาจ คือ ความถูกต้อง" ซึ่งถ้าเป็นตามหลักนิติรัฐที่แท้จริงแล้วจะต้องสลับกันเป็น "Right is Might" ที่มีความหมายว่า "การกระทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นคืออำนาจ" ดังนั้นการกระทำของ กปปส.ก็มิต่างกับการปฏิวัติโดยอาวุธ คือการใช้อำนาจเพื่อบังคับให้เกิดกฎหมายให้ประชาชนจำยอม ซึ่งเป็นที่พิสูจน์ทั่วโลกแล้วว่า ไม่มีใครยอมรับ

ก่อนที่จะเสริมด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเน้นย้ำว่า ถึงแม้ว่าในประเทศไทย ศาลฎีกาได้ยึดหลักว่าถ้าทำปฏิวัติชนะถือเป็นผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อนิติรัฐ เพราะนิติรัฐคือ Right is Might ไม่ใช่ Might is Right 

"ดังนั้นการเรียนการสอนทั้งหมดคงจะต้องเผาทิ้งไป และถ้าหากมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าการกระทำเช่นนี้คืออะไร การกระทำของ กปปส.เป็นการสร้างแบบอย่างให้แก่สังคม หากในอนาคตมีผู้ที่ไม่ชอบ กปปส. พวกเขาก็จะออกมาทำในแบบที่ กปปส.ทำ มันก็จะไม่จบ"

อ.เอกชัยย้ำ ก่อนที่จะเสริมในกรณีการใช้มาตรา 7 ในข้อเสนอของ กปปส. ว่า เป็นการทำลายหลักการรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้แทนราษฎร ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 171 ปี 2550 นี่คือหัวใจหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าหากคุณจะเป็นนายกฯ คุณต้องเป็น ส.ส. ซึ่งหากเกิดนายกฯคนกลางที่เป็นคนนอกก็ขัดกับเจตนาของรัฐธรรมนูญ

"ซึ่งหากไม่ได้มีระบุไว้ในมาตรา 171 จะเป็นนายกฯคนกลางผมจะไม่ว่าเลยแม้แต่น้อย แต่นี่เขียนตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาถึง 2550 เป็นหลักการที่ใหญ่ที่สุด เพราะอยากให้ประชาชนทุกคนได้เลือกนายกรัฐมนตรี" 

เมื่อถามถึงการสอนต่อไปในอนาคตหาก กปปส.ชนะ อ.เอกชัยตอบกลับมาทันทีว่าจะยังคงสอนต่อไป แต่คงจะสอนแบบคนอมทุกข์ คงไม่มีใครรับได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คงต้องสอนในลักษณะ Might is Right ซึ่งจะไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไป 

---------------------------------------

สองความเห็นในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน ในมุมมองที่แตกต่างกับการเรียนการสอนในอนาคต ที่ไม่สามารถรู้ได้ชัดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เช่นเดียวกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน

ที่ยังคงคลุกฝุ่น ควันฟุ้ง มองไม่เห็นทางที่แน่ชัดข้างหน้าเช่นกัน

.........

(ที่มา:มติชนรายวัน 16 ธ.ค.2556)
1

"นิติราษฎร์ โวยศาลลุอำนาจต้นตอปัญหา อาจารย์ มธ.สวนรัฐสภาตัวดี ไม่ฟังศาลทำบานปลาย"..

มธ.จัดดีเบตหัวข้อวิกฤติ รธน.ไทย อ.แดง โยงศาลไร้อำนาจสอบแก้ รธน. ยันรัฐสภามีอำนาจ ไม่เข้า ม.68 หวั่นศาลรับตีความ สร้างอำนาจใหม่เหนือ รธน. แจงติงศาล แต่ไม่ได้ปัดรับอำนาจ อ้างอธิบายใช้อำนาจก้าวล่วงนิติฯ ชี้ศาลต้นเหตุปัญหาไม่ยอมให้แก้ปกติ อ.กปปส.มองศาลมีหน้าที่ปกป้อง รธน. หนุนตัดสินตาม ม.68 ติงเสนอไม่ฟังศาล ย้อนท่าทีรัฐสภา ทำร้ายชาติ ไม่ฟัง ปชช. ดันล้างผิด ชี้ศาลให้แก้แต่ต้องถูกต้อง ฉะนายกฯ ไม่ฟังศาลทำบานปลาย

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดดีเบตทางวิชาการในหัวข้อวิกฤตรัฐธรรมนูญไทยใครบิดเบือน? ระหว่าง ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการของกลุ่ม กปปส. กับ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในอาจารย์ของคณะนิติราษฎร์

โดย อ.ปิยบุตรกล่าวว่า วิกฤตการเมืองไทยขณะนี้เริ่มต้นจากการพยายามแก้รัฐธรรมนูญ โดยประเทศไทยที่ใช้ระบบรัฐธรรมนูญแบบรวมอำนาจ ซึ่งจะมีเขตอำนาจเฉพาะเจาะจงเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งในส่วนรัฐธรรมนูญของไทยนั้นไม่มีข้อใดที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยในส่วนกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ในต่างประเทศเช่นประเทศเยอรมนีที่จะมีการเข้าไปตรวจสอบหลังจากกระบวนการแก้ทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในกรณีของไทยนั้นมีการใช้อำนาจในการเข้าไปตรวจสอบในระหว่างกระบวนการพิจารณา โดยในส่วนของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่แก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ให้อำนาจไว้ จึงไม่เข้ากับมาตรา 68 อย่างแน่นอน เพราะรัฐสภาไม่ใช่พรรคการเมืองและบุคคล โดยหากมีการตีความตามที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลนั้น ก็เกรงว่าทุกองค์กรก็สามารถใช้ตรรกะเดียวกันในการเป็นข้ออ้างในการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งอำนาจการเลือกรับพิจารณาคดีและพิพากษาก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างมาตรฐานใหม่ในการมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ อ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้มองที่ระบบของศาล ดังเช่น อ.ปิยบุตรมอง แต่ตนมองฐานะและระบบของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องเป็นกลไกในการรองรับเจตจำนงทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชนด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีหน้าที่ในการปกป้องและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็ได้ให้อำนาจประชาชนในการแสดงเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไว้ด้วย ซึ่งในกรณีของไทยที่จำเป็นต้องให้คนกลางคือศาลรัฐธรรมนูญ และการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปตามอำนาจที่ให้ไว้ในมาตรา 68 นั้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้อำนาจไว้ ตนเห็นคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำพิพากษาที่ชอบแล้วในการปกป้องระบอบการปกครอง โดยการตีความของศาลครั้งที่ผ่านมานั้น ศาลไม่ได้ก่อให้เกิดสภาวะที่จะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองเลย กลับกัน คือรัฐสภาต่างหากที่มีความพยายามทำร้ายประเทศและหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างชัดเจน ทั้งกรณีการพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม การเสียบบัตรแทนกัน รวมถึงการไม่ยอมรับอำนาจศาลด้วย ทั้งนี้ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์สามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้ แต่การพยายามออกมาเสนอให้ไม่จำเป็นต้องฟังคำพิพากษาของศาล เพราะศาลทำไม่ถูกต้องนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

โดย อ.ปิยบุตรได้กล่าวโต้แย้ง ยืนยันว่าที่คณะนิติราษฎร์วิจารณ์ศาลนั้น ไม่ได้เป็นการพยายามบอกให้ปฏิเสธอำนาจศาล แต่เป็นการอธิบายว่าศาลได้ขยายอำนาจก้าวล้ำพรมแดนอำนาจการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภา โดยการใช้อำนาจของศาลที่ก้าวเข้ามายังอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ และก็มีการวิพากษ์วิจารณ์และต่อสู้กันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งวิกฤตการเมืองและรัฐธรรมนูญนั้น หากสามารถแก้โดยกรอบปกติก็สามารถทำได้ แต่วิกฤตครั้งนี้เกิดจากการปิดประตูของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามระบบ เพราะกลัวอำนาจทางการเมืองจะเปลี่ยน ถือเป็นผู้ขัดขวางและปิดทางตันจนเป็นต้นเหตุสำคัญอันของปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบันและอนาคต

ทางด้าน อ.กิตติศักดิ์ได้กล่าวโต้แย้งว่า วิกฤตครั้งนี้เกิดจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาไม่ฟังเสียงประชาชน มีการพยายามตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถือเป็นการโกหกประชาชนขั้นร้ายแรง ทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีการตัดสินว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ยืนยันคำวินิจฉัยไม่ได้บอกว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่การแก้ต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ปัญหากลับรุนแรงขึ้นไปอีกเพราะผู้บริหารประเทศกลับประกาศไม่รับอำนาจศาล จึงทำให้ปัญหาการเมืองบานปลายมาถึงปัจจุบัน

http://astv.mobi/AlgZ2aE
2

ปลัด สปน.สรุปเวทีรัฐบาล ยันต้องเลือกตั้งวันเดิมทางออกดีที่สุด

ปลัด สปน.สรุปเวทีรัฐบาล ยันต้องเลือกตั้งวันเดิมทางออกดีที่สุด ส่วนปฏิรูปค่อยว่ากัน แย้มตั้งเครือข่ายนัดหมายพรุ่งนี้ ยังจะแบกหน้าเชิญ กปปส.ร่วม

วันนี้ (16 ธ.ค.) นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการเสวนาหาทางออกประเทศหัวข้อ “ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน” วันที่ 15 ธันวาคม ว่ามีข้อสรุป ดังนี้ 1. จะต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และอื่นๆ ในระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่องกัน 2. เดินหน้าเข้าสู่กระบวนประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภา เนื่องจากเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศไทย และการจะทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุดทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนการปฏิรูปจะทำคู่ขนานกันไปกับกระบวนการประชาธิปไตยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำก่อนการเลือกตั้ง การทำพันธสัญญาระหว่างพรรคการเมือง ผลการประชุมดังกล่าวเป็นข้อเสนอขั้นต้นเท่านั้น รายงานต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว

นายธงทองกล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมได้โทรศัพท์พูดคุยกับผู้ที่เข้าร่วมหลายคน มีความเป็นไปได้ที่ตั้งวงคุยกันเพื่อที่จะเป็นเครือข่าย ทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงทำหน้าที่อำนวยความสะดวก โดยจะนัดหมายกันให้ได้ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคมเป็นต้นไป และมีการจองสถานที่ไว้เบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ โดยพยายามจะเชิญทุกฝ่ายที่ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการประชาชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และพรรคประชาธิปัตย์ แต่จะเข้าร่วมหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องรอคำตอบ หวังว่ามีการพบกันของเครือข่ายแล้วจะมีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าก่อนเลือกตั้งจะมีการทำข้อตกลงร่วมกันอย่างไร และหลังเลือกตั้งจะมีภารกิจร่วมกันอย่างไร
http://astv.mobi/AWnBsMp


รู้จัก... "ศุภชัย สมเจริญ" ประธาน กกต.ป้ายแดง

กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ เห็นพ้องโหวตเลือกดำรงตำแหน่งประธานด้วยมติเอกฉันท์ กระบวนการจากนี้ จะเสนอชื่อไปยังประธานวุฒิสภา นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

เกิด 8 กุมภาพันธ์ 2492 นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา,รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) มธ.

ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุตรดิตถ์, ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาธนบุรี, ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา, รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และภาค 2

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 8 และภาค 4, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 4, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ปี 2552 ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เทียบเท่ากับรองประธานศาลฎีกา ก่อนเกษียณอายุราชการและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

เป็น กต. ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ พิจารณาเรื่องร้องเรียนโยกย้ายและวินัยผู้พิพากษา และเคยเป็น กต.ในชั้นศาลฎีกา

มาจากสายที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 136 คน เลือกเป็นผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งคือ 70 คนเดียวเท่านั้นในการประชุมใหญ่ครั้งแรก

นอกจากนี้ ยังได้คะแนนเสียงเห็นชอบสูงสุด 105 เสียงจากวุฒิสภา จากจำนวนทั้งหมด 5 คนอีกด้วย

ยืนยันหลังได้รับเลือกเป็นว่าที่ประธาน กกต.ว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา ยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลัก ถูกผิดว่าตามข้อเท็จจริง ไม่กลั่นแกล้งผู้ใด

พร้อมกับจัดการเลือกตั้งให้สุจริต โปร่งใส


ทางออกประเทศไทย : จดหมายถึง "มวลมหาประชาชน"

โดย : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
กรุงเทพธุรกิจ : 13ธ.ค.2556

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อขอให้พี่น้องประชาชนที่อยู่กับสุเทพและพวก ลองคิดไปข้างหน้าไกลๆ หน่อยน่ะครับ

เพราะบ้านเมืองเรากำลังถึงจุดแตกหักที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ผมต้องการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนชั้นกลางมากกว่ากลุ่มแกนนำ ก็เพราะลำพังแกนนำอย่างสุเทพกับพวก นั้นไม่มีน้ำยาอะไรหรอกครับ ที่ทำให้เขามีพลังอยู่ได้ก็เพราะพี่น้องชนชั้นกลางที่อึดอัดกับการเมืองแบบที่ตัวเองไม่ชอบออกมาสนับสนุนอย่างมากมาย หากพวกท่านถอนการสนับสนุน สุเทพและพวก ก็จะไม่มีทางทำร้ายประเทศไทยได้อีกต่อไป

เพื่อให้ความที่ผมจะพูดต่อไปนี้มีน้ำหนักขึ้นบ้างในสายตาพี่น้อง ก็ต้องบอกว่าผมและเพื่อนร่วมต่อต้านระบอบทักษิณมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่พวกเราก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 2549 เพราะรู้อยู่ว่าการรัฐประหารนั้นไม่มีผลดีอะไร (พวกเราถูกด่าว่าเป็นพวกสองไม่เอา) และล่าสุดก็ร่วมต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมด้วยเหตุผลสองอย่างคือต่อต้านการลบความผิดให้การคอร์รัปชันและคนสั่งฆ่าประชาชน

สำหรับผมแล้ว การต่อต้านหรือคัดค้านอะไรต้องคิดถึงประเด็นปัญหาไปพร้อมกับเงื่อนไขสถานการณ์ ดังนั้น ความชอบธรรมทางการเมืองของสุเทพและพวกลดลงทันทีที่พวกเขาไม่ยอมหยุดหลังจากที่รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และหมดลงทันทีที่รัฐบาลประกาศยุบสภา

ผมอยากจะบอกพี่น้องว่าการแก้ไขปัญหาการเมืองนั้นมันไม่ง่ายเหมือนที่พี่น้องชนชั้นกลางคิดกัน ที่เชื่อกันว่าหากเอารัฐบาลนี้ออกไปก่อน แล้วเอารัฐบาลชั่วคราวมาสะสางปัญหาการเมืองที่ตัวเองเกลียดแล้วจากนั้นค่อยกลับสู่ระบบประชาธิปไตย แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้นทันตาเห็น เพราะมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกครับ

คำถามง่ายๆ คือ อะไรจะเกิดขึ้น หากระบบราชการ/ระบบการเมือง “เกิดบ้า” ทำตามที่สุเทพปรารถนาโดยปล่อยให้สุเทพเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเอง ผมเชื่อว่ารัฐบาลชั่วคราว (ที่เกิดขึ้นแบบบ้าๆ นี้) ก็จะถูกต่อต้านโดยมวลมหาประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจำนวนน่าจะถึงหรือมากกว่าห้าล้านคน มวลมหาประชาชนฝั่งคุณสุเทพจะทำอย่างไร จะออกมาเดินต่อต้านเพื่อรักษารัฐบาลชั่วคราวที่ตั้งโดยสุเทพซึ่งก็จะปะทะกันแน่นอน หรือจะปล่อยตามยถากรรมให้เผชิญหน้าม็อบเอง ก็ไม่แคล้วว่ารัฐบาลเดิมของยิ่งลักษณ์กลับมารักษาการ ไม่อย่างนั้นก็เกิดการรัฐประหารโดยทหารจริงๆ ไม่ใช่รัฐประหารน้ำลายอย่างที่กำลังเกิด

ไม่ว่าจะออกในรูปไหน มันคือทางเดินไปสู่หุบเหวนรก ความขัดแย้งที่ถูกสุมไฟเพิ่มจากสุเทพและพวกจะนำไปสู่การนองเลือดของสงครามกลางเมืองในอนาคตอันใกล้ พี่น้องต้องการอย่างนั้นหรือ 

ถามตัวเองให้ดี/ตอบตัวเองให้ตรงกับใจจริงๆ ว่าพร้อมจะเห็นและรับสงครามระหว่างคนไทยด้วยกันได้หรือ

สังคมไทยวันนี้ สั่งสมปัญหาต่างๆ มากมายจนเกินกว่าจะแก้ไขด้วยวิธีง่ายๆ อย่างที่เสนอโดยสุเทพและพวกครับ

หากพี่น้องตอบตัวเองว่านองเลือดก็ไม่เป็นไร หลังนองเลือดแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ก็ไม่ต้องอ่านจดหมายนี้ต่อไปนะครับ เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ที่สำคัญ ผมไม่อยากให้สายตาของคนกระหายเลือดมาสัมผัสตัวอักษรของผมอีกต่อไป

หากพี่น้องตอบว่าไม่อยากเห็นการนองเลือดของคนไทยด้วย ผมเสนอว่าให้ถอนการสนับสนุนทุกรูปแบบจากการเคลื่อนไหวของสุเทพและพวก ไม่ว่าจะเป็นแรงกาย แรงใจ และความหวัง แล้วหันมามองหาทางออกอื่นๆ ให้แก่สังคมไทยกันดีกว่า

สิ่งที่ต้องทำก่อน ได้แก่ การทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป โดยยอมให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์รักษาการณ์ไปจนถึงการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็จับจ้องรัฐบาลชั่วคราวว่าจะทำอะไรนอกลู่นอกทางไหม หากนอกลู่ เช่น อนุมัติอะไรที่สำคัญมากๆ ก็เดินขบวนกันอีกที พร้อมกันนั้น ก็ช่วยกันรณรงค์ผ่านสื่อทุกอย่างให้เกิดการเลือกตั้งอย่างที่พี่น้องปรารถนา เช่น หากยังอยากสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ช่วยกันรณรงค์เสนอข้อดีหรือเสนอนโยบายดีๆ ให้พรรคประชาธิปัตย์ได้นำไปขยายต่อ หากจะสู้กับพรรคเพื่อไทย ก็รณรงค์ให้ข้อมูลความล้มเหลวของนโยบายประชานิยม เช่น การจำนำข้าวทุกเม็ดที่ชาวบ้านทางเหนือและอีสานกำลังโกรธเคืองอยู่เพราะไม่ได้เงินซักที

พี่น้องทั้งหมดก็จะเปลี่ยนตนเองมาเป็นพลเมืองผู้สำนึกเกี่ยวข้อง (concerned citizen) ที่สำคัญยิ่งในการรักษาระบอบประชาธิปไตย

ทางออกอีกทางหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดให้ได้ ก็คือ ต้องให้ “กองทัพ” แสดงตนให้ชัดเจนว่าจะรักษาระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ว่าประกาศว่าวางตัวลำบากเหลือเกิน แล้วแอบจัดการการพบปะยิ่งลักษณ์กับสุเทพเพื่อหาทางออกทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งสำหรับผมเอง นั้นรับบทบาทนี้ได้ แต่ต้องบอกว่าไม่พอ เพราะในเมื่อ “กองทัพ” ประกาศว่าไม่รัฐประหารอย่างแน่นอนแล้ว ก็ควรจะต้องแสดงตนให้ชัดว่าไม่เอากับการรัฐประหารน้ำลายนี้ด้วย กองทัพควรจะเห็นแล้วว่าสุเทพและพวกเดินไปไกลกว่าที่ระบอบประชาธิปไตยจะรองรับได้ และหมากการเมืองของสุเทพกำลังจะก่อปัญหาใหญ่หลวงให้แก่สังคมไทย

หาก "กองทัพ" ประกาศว่ารับการยุบสภาแล้วให้ทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการประชาธิปไตย เชื่อได้ว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนสุเทพอยู่จะลดลงทันที และ “กองทัพ” ก็จะเป็นผู้พิทักษ์รักษาสังคมไทยเอาไว้

พี่น้องมวลมหาประชาชนครับ สังคมไทยในวันนี้ ไม่มีใครจะได้หมด/เสียหมดหรอกครับ ขอให้เรามีกฎกติการ่วมกัน เราก็จะอยู่ร่วมกัน แบ่งปันกันได้ต่อไป อนาคตสังคมไทยอยู่ที่การตัดสินใจของพวกท่านครับ

สุริยะใส:ทำไมเครือข่ายระบอบทักษิณ ถึงขวางปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

สุริยะใส ตกะศิลา โพสต์เฟส ว่า ทำไมเครือข่ายระบอบทักษิณ ถึงขวางปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เหตุเพราะว่า
1. ถ้าปฏิรูปได้สำเร็จก่อนเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย อาจไม่ได้เป็นแกนนำ ในการจัดตั้งรัฐบาล ระบอบทักษิณอาจถูกแช่แข็ง ถ้าตัวเองกลับไปเป็นฝ่ายค้าน

2.การปฏิรูปตามข้อเสนอ ของ กปปส. หากสำเร็จระบอบทักษิณ จะอ่อนแรง หรือถึงขั้นสลายไป ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะ การจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ระบอบทักษิณ เอางบแผ่นดินไปหว่านหาเสียง ตามนโยบายประชานิยม ได้เหมือนเดิม

3.รัฐตำรวจ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ ของระบอบทักษิณ จะถูกปฏิรูป ให้ตำรวจยึดโยง กับประชาชนและ สังคมมากกว่าการเป็นบริวาร นักการเมือง

4.ปราบปรามการทุจริต อย่างเข้มข้นด้วยมาตรการ ที่เรียกว่ายาแรง จะทำให้ระบอบ
ทักษิณ ตกที่นั่งลำบาก และ

5.ถ้าเลือกตั้งสำเร็จตามกำหนดการเดิมคือ 2 ก.พ.57 ระบอบทักษิณ จะยังเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และจะเป็นรัฐบาล ที่มีอำนาจในการกำหนดกรอบ เนื้อหาและวาระของการปฏิรูปได้ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ระบอบทักษิณและเครือข่าย เอาการเลือกตั้งมาบังหน้าการปฏิรูป


กลุ่มกรีนจ่อฟัน “อรรถพล” ไม่ทบทวนคดี “แม้ว” ก่อการร้าย ซัดไม่ทำหน้าที่ทนายแผ่นดิน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์15 ธันวาคม 2556 19:11 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
กลุ่มกรีนจ่อฟัน “อรรถพล” ไม่ทบทวนคดี “แม้ว” ก่อการร้าย ซัดไม่ทำหน้าที่ทนายแผ่นดิน
นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (ภาพจากแฟ้ม)

กลุ่มกรีนโวย อัยการสูงสุดไม่ทบทวนฟ้อง “ทักษิณ” คดีก่อการร้าย อ้างหลักฐานไม่พอ คำสั่งเด็ดขาดไปแล้ว ผิดหวังให้โอกาสกู้ภาพทนายแผ่นดินแล้วไม่ทำ เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิด “อรรถพล” แบบเดียวกับ “จุลสิงห์”
      
       วันนี้ (15 ธ.ค.) นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางกลุ่มกรีน ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ให้ทบทวนคำสั่งของนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องคดีก่อการร้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในการชุมนุมเมื่อปี 2553 โดยยื่นไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดทางสำนักงานอัยการสูงสุดเพิ่งทำหนังสือตอบกลับมา โดยแจ้งยืนยันว่า สาเหตุที่นายจุลสิงห์ สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ และคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวถือเป็นเด็ดขาดไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ต้องทบทวนคำสั่งตามที่กลุ่มกรีน และ คปท.ยื่นคำร้องเข้าไป
      
       นายจาตุรันต์ กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มกรีนเห็นว่าเหตุผลที่ทางอัยการสูงสุดตอบกลับมานั้น ถือเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะที่ผ่านมามีพยานหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอลิงก์ การโฟนอิน ปรากฏชัดทั้งภาพและเสียง ที่ชี้ให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความวุ่นวายเมื่อปี 53 ทั้งในฐานะตัวการ และผู้สนับสนุนการกระทำผิด อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับแกนนำ นปช.ที่ถูกสั่งฟ้องในคดีก่อการร้ายอย่างชัดเจน ดังนั้นการที่นายจุลสิงห์สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้างว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร จึงถือว่าเข้าข่ายเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการไม่ตัดสินใจไม่ทบทวนคำสั่งของนายอรรถพล
      
       “การที่ทางกลุ่มกรีนและ คปท.ได้ยื่นหนังสือให้อัยการสุงสุดทบทวน ก็หวังว่าจะเป็นโอกาสให้นายอรรถพล ในฐานะอัยการสูงสุดคนใหม่ กู้ภาพลักษณ์การเป็นทนายแผ่นดินของสำนักงานอัยการสูงสุดให้กลับคืนมา แต่เมื่อนายอรรถพลมีแนวคิดเฉกเช่นเดียวกับนายจุลสิงห์ที่มีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทางกลุ่มกรีนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวนนายอรรถพลฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับที่เคยยื่นคำร้องให้สอบสวนนายจุลสิงห์ไปก่อนหน้านี้แล้ว” นายจาตุรันต์ กล่าว

ครูยุ่น’ ชี้ปราศรัยพาดพิงน้องไปป์ ไม่เป็นธรรมกับเด็ก

(16ธ.ค.2556)นายมนตรี สินธวิชัย หรือครูยุ่น ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัยพาดพิงน้องไปป์ ว่า คำปราศรัยดังกล่าวแสดงออกอย่างชัดเจนว่าถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ น้องไปป์ ก็อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ การเอาลูกมาข่มขู่แม่นั้นถือเป็นการเอาจุดอ่อนของคนเป็นแม่มาพูด ซึ่งการปราศรัยดังกล่าวมีความต้องการให้เกลียดชังตระกูลชินวัตร ไม่เว้นแม้แต่เด็ก โดยการหน้านี้น้องไปป์ได้รับผลกระทบจากเหุตการณ์ทางการเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง คือ การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกดดันทางการเมืองอย่างหนัก การที่ถูกเป่านกหวีดใส่ และการที่ถูกปราศรัยพาดพิง ถือเป็นผลกระทบโดยตรงต่อตัวเด็ก

“การขึ้นพูดให้คนจำนวนมากฟังอาจทำให้เกิดความเกลียดชังเด็กอย่างไม่มีสาเหตุขึ้นมาได้ ทั้งที่จริงเด็กควรได้รับการคุ้มครอง ที่สำคัญไม่ควรนำเด็กมายุ่งเกี่ยวกับเกมการเมืองไม่ว่าในสถานการณ์หรือกรณีใดๆ อีกแง่ที่ต้องคิดคือการที่คนฟังรับเรื่องอย่างนี้ได้ โดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้นถือว่าเป็นเรื่องน่ากลัว และถ้าเรายังปล่อยให้เรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเด็กโดยไม่ที่เรายังฟังได้โดยไม่ตั้งคำถาม ต่อจากนี้ไปการแสดงทัศนคติของผู้ใหญ่ต่อเด็กก็ไม่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอะไรแล้ว ซึ่งผมคิดว่าอันตราย” ครูยุ่น กล่าว



แถลงการณ์2:สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ค้านนายกคนกลาง/สภาประชาชน

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ค้านนายกคนกลาง/สภาประชาชน ยันให้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งชี้ขาด
Mon, 2013-12-16 02:33

แถลงการณ์ฉบับที่ 2
วิพากษ์แนวทาง  กป.ปส.
ฉีกหน้ากาก . กบฏเทพเทือก สัมภเวสีผู้แสวงหาอำนาจทางลัด รัฐประหารเงียบ

ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กป.ปส.) แถลง

ข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553

โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ของ กป.กส. คือ

“ กดดันจนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออก เพื่อให้เกิดสูญญากาศทางอำนาจ และคงต้องใช้การบังคับโดยพลังประชาชน  หรือใช้มวลชนลุกขึ้นยึดอำนาจรัฐจนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และใช้

อำนาจอธิปไตย  ดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนกลาง  และตั้งสภาประชาชน ”

ความคิดเห็นของ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) คือ

1.ไม่ว่า  นายกรัฐมนตรีคนกลาง  หรือ สภาประชาชน  ล้วนเป็นข้อเสนอเพื่อสร้างพื้นที่ทางอำนาจให้กับชนชั้นนำ   สร้างป้อมค่ายที่จะใช้ต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำ  “สภาประชาชน” แท้จริงก็คือสภาขุน

นาง เพื่อเป็นฐานรองรับนายกคนกลางซึ่งสื่อมวลชนก็ วิเคราะห์ฟันธงออกมาแล้วว่าจะมาจากองคมนตรีคนใดคนหนึ่ง แล้วดอกผลอันใดเล่าที่จะตกถึงมือชนชั้นล่างของสังคมอย่างแท้จริง  แม้แต่

มวลชนที่ร่วมสู้กับ นายสุเทพฯ ก็ไม่ได้รับอะไร  นอกจากความสะใจ

2. นายกฯ คนกลาง  คือใคร มาจากไหน  ก็รู้กันอยู่แล้ว ที่ผ่านๆมาก็ ล้วนมาจากการแต่งตั้งจากอำนาจเบื้องบน ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชนโดยตรง  ประชาชนจึงไม่มีช่องทางในการตรวจ

สอบ  ทั้งๆ ที่ กป.ปส. เน้นย้ำเรื่อง “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน”  ตรงนี้ก็ขัดแย้งในตัวเองมากๆ

3. การใช้มาตรการบังคับ กดดัน สร้างความเกลียดชัง ไม่ฟังเหตุผลใดๆ ทำตามอำเภอใจ จนเกินเลยไปสู่สภาวะอนาธิปไตย ในสังคม เพียงเพื่อบีบคั้นให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก หรือสร้าง

เงื่อนไขให้ทหารยึดอำนาจ ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย  ไม่ใช่สันติอหิงสา ตามที่นายสุเทพฯ โฆษณาชวนเชื่ออยู่ทุกครั้งที่ขึ้นเวที  แนวทางการเคลื่อนไหวของ กป.ปส. จึงเข้าลักษณะ “กรรมส่อ

เจตนา”  เจตนาที่ว่า คือ ต้องการให้ทหารทำการรัฐประหาร หรือให้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ เข้ามาแทรกแซงการบริหารของรัฐบาล

4.  แนวทางของ กป.ปส. ที่นายสุเทพฯ ประกาศต่อสาธารณะนั้น  ต้องการให้เว้นวรรคประชาธิปไตย  8- 14 เดือน ให้ “นายกฯ และครม. คนกลาง” รักษาการบริหารประเทศ โดยอ้างว่าต้องให้คน

กลางเข้ามานำการปฎิรูปการเมืองการปกครอง  ให้เสร็จแล้วจึงจัดการเลือกตั้งในภายหลัง

แนวทางนี้เป็นการนำประเทศถอยหลังไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่  และแก้ไขกฎกติกาต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคของมหาอำมาตย์ แต่พ่ายแพ้ในสนาม

เลือกตั้งแบบเสรีประชาธิปไตย มาตลอดระยะเวลา 21 ปี  ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ ฯหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งปลายปี 2551 ก็เพราะกองทัพฯ ช่วยอุ้มชูขึ้นสู่ตำแหนง  มิใช่

เพราะชนะการเลือกตั้ง

กป.ปส.จะใช้ระบอบที่ได้อำนาจรัฐมาจากการ “บีบบังคับปล้นชิง” มาปฏิรูปการเมือง สร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไร

งาช้างจะงอกออกมาจากปากสุนัข ได้อย่างไร
เผด็จการจะสร้างประชาธิปไตย ได้อย่างไร

ดังนั้นสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ( สกต.) ขอสนับสนุนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 และในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแต่ละพรรคการเมืองและ องค์กรต่างๆ ในสังคม ที่ต้องการให้มีการ

ปฎิรูปการเมือง ก็สามารถเสนอนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฎิรูปการเมืองได้ตามความเชื่อของตนเอง  การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557  จะชี้ขาดว่า 48 ล้านเสียงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องการ

ระบบการเมืองแบบใด และ อย่างไร  เสียงข้างมากของประชาชนไทยจะชี้ขาด  เพราะนี่คือเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

อำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของ “มวลมหาประชาชน” ที่อยู่ภายใต้การบัญชาการของนายสุเทพฯ แต่เพียงกลุ่มเดียว หากแต่เป็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน

เดินหน้าประชาธิปไตย  ไปเลือกตั้ง 2 กุมภา 57
ประชาชน  เสรีชน  ผู้รักประชาธิปไตย  จงลุกขึ้นสู้

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้  สกต.

"ศอ.รส." ขู่รายวัน !!! มวลชนต้านเลือกตั้ง ส่อถูกยัดคุก ตามม.309

"ปิยะ" แถลงชัด มวลชนขวางเลือกตั้ง มีโทษถึงขั้นจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบ. หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดม.309 เนื่องจากกดดันขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการ

วันนี้ ( 16 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) แถลงว่า วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุม ศอ.รส. เพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยระบุว่า ในส่วนของกองกำลังที่ปฎิบัติหน้าที่ ทั้งตำรวจนครบาล และกองร้อยควบคุมฝูงชน ได้เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อขอเปิดการจราจรเพิ่มเติมบริเวณราชดำเนินนอกฝั่ง กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่แยกวัดเบญจมพิตรถึงแยกสวนมิกสักวัน,มัฆวานรังสรรค์ ทำให้การจราจรรอบทำเนียบรัฐบาลคล่องตัว ขณะที่ฝ่ายการข่าว ระบุว่าแกนนำจะเดินทางไปกดดันที่สถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แต่ไม่ได้เดินทางไปนั้น ทาง ศอ.รส.ได้กำชับให้ตำรวจนครบาล สน.สวนลุมพินี ประสานกับสถานฑูตฯในการรักษาความปลอดภัยสำหรับกรณีแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ปราศรัยให้มวลชนเดินทางไปขัดขวางการรับสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 22-23 ธ.ค. 56 นั้น ได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยปฎิบัติเพื่อรองรับสถานการณ์ และเตือนไปยังประชาชนว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ถ้ากดดันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด

มีโทษจำคุก 3 ปีปรับไม่เกิน 6,000 บาท และหากกระทำความผิดตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป มีโทษจำคุกเพิ่มเป็น 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับและอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วย จึงขอให้ประชาชนพึงระมัดระวังในการกระทำการดังกล่าว สำหรับในส่วนของการดูแลรักษาความปลอดภัยหน่วยเลือกตั้งนั้น เนื่องจากมีหน่วยลงคะแนนหลายหมื่นหน่วย นอกจากตำรวจแล้ว ก็ยังมีทหารบางส่วนที่เข้ามาดูแลตลอดการเลือกตั้ง

‪#‎ทีนิวส์‬


กปปส.จะชี้แจงผ่านสื่อต่างประเทศ๓ช่องทาง

วันนี้ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๖

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เผยว่า กปปส. จะดำเนินการชี้แจงถึงแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยให้กับชาวต่างชาติให้รับทราบ โดยผ่าน ๓ ช่องทาง คือ 

๑. ชี้แจงผ่านสภาหอการค้า
๒. ชี้แจงกับสื่อมวลชนต่างชาติเป็นกรณีพิเศษ 
๓. ชี้แจงโดยติดต่อผ่านหน่วยงานจากสถานทูตประเทศต่างๆ รวมทั้งจะเดินสายจัดเวทีสมัชชามวลมหาประชาชนในสถานที่ต่าง ดังนี้

- วันที่ ๑๗ ธันวาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- วันที่ ๑๘ ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- วันที่ ๑๙ ธันวาคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เวทีราชดำเนิน


เสนอนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง

ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีก

.....อยากขอเสนอต่อคณะกรรมการ กปปส.ว่า ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ยอมลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี .....ขอให้นัดมวลมหาประชาชนให้ออกมาสู่ท้องถนนอีกครั้ง ในวันที่ 16 ธันวาคม 2556 .....การนัดในครั้งนี้ขอให้ประชาชนออกมาอยู่บนท้องถนนทุกสายของกรุงเทพมหานคร ชั้นใน .....ใครมีรถยนต์ ไม่ว่าเป็นรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ 8 ล้อ 8 ล้อ 4 ล้อ รถยนต์ปิกอัพ หรือรถยนต์เก๋ง รวมทั้งรถจักรยานยนต์ ออกมาขับขี่และจอดบนท้องถนนแล้วพักผ่อนอยู่ในรถยนต์ หรือออกมานั่งคุยกันอยู่ข้างรถยนต์ของแต่ละคน .....คนที่ไม่มีรถยนต์ก็ให้เดินไปสู่จุดหมายที่ถนนราชดำเนิน เหนื่อยก็หยุดพักคุยกับเพื่อน ๆ ที่จอดรถยนต์อยู่บนท้องถนน .....สถานที่ราขการทุกแห่ง บ้านพักผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกคน ก็ควรพิจารณาว่า จะตัดไฟฟ้า น้ำประปา หรือไม่ .....นี่เป็นเพียงข้อเสนอให้พิจารณากัน ครับ