PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"นิติราษฎร์ โวยศาลลุอำนาจต้นตอปัญหา อาจารย์ มธ.สวนรัฐสภาตัวดี ไม่ฟังศาลทำบานปลาย"..

มธ.จัดดีเบตหัวข้อวิกฤติ รธน.ไทย อ.แดง โยงศาลไร้อำนาจสอบแก้ รธน. ยันรัฐสภามีอำนาจ ไม่เข้า ม.68 หวั่นศาลรับตีความ สร้างอำนาจใหม่เหนือ รธน. แจงติงศาล แต่ไม่ได้ปัดรับอำนาจ อ้างอธิบายใช้อำนาจก้าวล่วงนิติฯ ชี้ศาลต้นเหตุปัญหาไม่ยอมให้แก้ปกติ อ.กปปส.มองศาลมีหน้าที่ปกป้อง รธน. หนุนตัดสินตาม ม.68 ติงเสนอไม่ฟังศาล ย้อนท่าทีรัฐสภา ทำร้ายชาติ ไม่ฟัง ปชช. ดันล้างผิด ชี้ศาลให้แก้แต่ต้องถูกต้อง ฉะนายกฯ ไม่ฟังศาลทำบานปลาย

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดดีเบตทางวิชาการในหัวข้อวิกฤตรัฐธรรมนูญไทยใครบิดเบือน? ระหว่าง ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการของกลุ่ม กปปส. กับ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในอาจารย์ของคณะนิติราษฎร์

โดย อ.ปิยบุตรกล่าวว่า วิกฤตการเมืองไทยขณะนี้เริ่มต้นจากการพยายามแก้รัฐธรรมนูญ โดยประเทศไทยที่ใช้ระบบรัฐธรรมนูญแบบรวมอำนาจ ซึ่งจะมีเขตอำนาจเฉพาะเจาะจงเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งในส่วนรัฐธรรมนูญของไทยนั้นไม่มีข้อใดที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยในส่วนกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ในต่างประเทศเช่นประเทศเยอรมนีที่จะมีการเข้าไปตรวจสอบหลังจากกระบวนการแก้ทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในกรณีของไทยนั้นมีการใช้อำนาจในการเข้าไปตรวจสอบในระหว่างกระบวนการพิจารณา โดยในส่วนของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่แก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ให้อำนาจไว้ จึงไม่เข้ากับมาตรา 68 อย่างแน่นอน เพราะรัฐสภาไม่ใช่พรรคการเมืองและบุคคล โดยหากมีการตีความตามที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลนั้น ก็เกรงว่าทุกองค์กรก็สามารถใช้ตรรกะเดียวกันในการเป็นข้ออ้างในการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งอำนาจการเลือกรับพิจารณาคดีและพิพากษาก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างมาตรฐานใหม่ในการมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ อ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้มองที่ระบบของศาล ดังเช่น อ.ปิยบุตรมอง แต่ตนมองฐานะและระบบของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องเป็นกลไกในการรองรับเจตจำนงทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชนด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีหน้าที่ในการปกป้องและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็ได้ให้อำนาจประชาชนในการแสดงเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไว้ด้วย ซึ่งในกรณีของไทยที่จำเป็นต้องให้คนกลางคือศาลรัฐธรรมนูญ และการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปตามอำนาจที่ให้ไว้ในมาตรา 68 นั้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้อำนาจไว้ ตนเห็นคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำพิพากษาที่ชอบแล้วในการปกป้องระบอบการปกครอง โดยการตีความของศาลครั้งที่ผ่านมานั้น ศาลไม่ได้ก่อให้เกิดสภาวะที่จะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองเลย กลับกัน คือรัฐสภาต่างหากที่มีความพยายามทำร้ายประเทศและหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างชัดเจน ทั้งกรณีการพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม การเสียบบัตรแทนกัน รวมถึงการไม่ยอมรับอำนาจศาลด้วย ทั้งนี้ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์สามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้ แต่การพยายามออกมาเสนอให้ไม่จำเป็นต้องฟังคำพิพากษาของศาล เพราะศาลทำไม่ถูกต้องนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

โดย อ.ปิยบุตรได้กล่าวโต้แย้ง ยืนยันว่าที่คณะนิติราษฎร์วิจารณ์ศาลนั้น ไม่ได้เป็นการพยายามบอกให้ปฏิเสธอำนาจศาล แต่เป็นการอธิบายว่าศาลได้ขยายอำนาจก้าวล้ำพรมแดนอำนาจการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภา โดยการใช้อำนาจของศาลที่ก้าวเข้ามายังอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ และก็มีการวิพากษ์วิจารณ์และต่อสู้กันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งวิกฤตการเมืองและรัฐธรรมนูญนั้น หากสามารถแก้โดยกรอบปกติก็สามารถทำได้ แต่วิกฤตครั้งนี้เกิดจากการปิดประตูของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามระบบ เพราะกลัวอำนาจทางการเมืองจะเปลี่ยน ถือเป็นผู้ขัดขวางและปิดทางตันจนเป็นต้นเหตุสำคัญอันของปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบันและอนาคต

ทางด้าน อ.กิตติศักดิ์ได้กล่าวโต้แย้งว่า วิกฤตครั้งนี้เกิดจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาไม่ฟังเสียงประชาชน มีการพยายามตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถือเป็นการโกหกประชาชนขั้นร้ายแรง ทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีการตัดสินว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ยืนยันคำวินิจฉัยไม่ได้บอกว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่การแก้ต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ปัญหากลับรุนแรงขึ้นไปอีกเพราะผู้บริหารประเทศกลับประกาศไม่รับอำนาจศาล จึงทำให้ปัญหาการเมืองบานปลายมาถึงปัจจุบัน

http://astv.mobi/AlgZ2aE
2

ไม่มีความคิดเห็น: